วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

เปิดปาก 'ประวิตร': วิธีการควบคุมตัวครั้งนี้ 'มีนัยสำคัญ'


15 ก.ย. 2558 เวลาประมาณ 18.40 น. ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น ให้สัมภาษณ์ว่า ถูกปล่อยตัวตั้งแต่ 16.00 น. จากกองทัพภาค 1 โดยระหว่างถูกคุมตัวไม่สามารถติดต่อใครได้และไม่ทราบว่าถูกนำตัวไปที่ใด ทั้งนี้ ได้รับการปฏิบัติต่างจากคราวที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนที่ถูกเรียกเพราะข้อความทวีตของตนเองเกี่ยวกับความชอบธรรมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และอีกข้อความเกี่ยวกับการแต่งตั้งเลขา สมช. ซึ่งได้ปฏิเสธไปว่าไม่ใช่ข้อความของตนเอง
ประวิตร ระบุว่า ได้รับการแจ้งว่า มีการแจ้งความ โดยเจ้าหน้าที่ทหารบอกว่าหากยังละเมิดข้อตกลงกับ คสช. จะดำเนินการตามกฎหมาย โดยไม่ได้บอกรายละเอียด โดยข้อหาดังกล่าวมีอายุความ 15 ปี
ก่อนหน้านี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คุมตัวประวิตร ตั้งแต่เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 13 ก.ย. โดย พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ระบุว่าเป็นการคุมตัวเนื่องจากเขานำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษาความสงบเรียบร้อย
อนึ่ง หลังรัฐประหาร 2 วัน ประวิตรถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ที่ 6/2557 และถูกควบคุมตัวไว้ในกองพลพัฒนาที่ 1 จ.ราชบุรี เป็นเวลา 7 วัน

ประยุทธ์ ยกตำราป.โท โลกสรุปแล้ว เมื่อประชาธิปไตยมีความขัดแย้งต้องมีอำนาจแบบตนถึงจะแก้ได้

ระบุทำความเข้าใจร่วม ครม.-คสช. หลัง โรดแมปขยายอีก 20 เดือน ยันไม่มีดีลกับใคร โอดทุกวันนี้ตัวเองขาดทุนให้ประชาชนได้กำไร ชี้กฎหมายของตนที่ประกาศไว้ล่วงหน้านั้น ไม่ได้เขียนกฎหมายให้ลงโทษใครเฉพาะ ถามสุณัยคนไทยหรือเปล่า แย้งผบ.ตร.เหตุระเบิดไม่เกี่ยวส่งอุยกูร์ไปจีน
 
พล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี 15 ก.ย. 2558 ที่มา ทำเนียบ รัฐบาล
15 ก.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่ามีการปรึกษาหารือร่วมระหว่าง ครม. กับ คสช. เพื่อทำความเข้าใจว่าจะบริหารงานกันอย่างไรต่อไป เนื่องจากโรดแมปต้องขยายไปอีก 20 เดือน แต่ยังคงยืนยันว่าเร็วได้ก็จะเร็ว ตนไม่อยากดึงไว้ทุกเรื่องทั้งเรื่องของรัฐธรรมนูญและประชามติ แต่ก็ต้องทำให้ได้ทั้ง 2 อย่างคือเป็นประชาธิปไตยและบ้านเมืองปลอดภัย เจริญเติบโตอย่างแข็งแรง และการปฏิรูปเกิดขึ้นได้จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ประกอบด้วยข้าราชการประจำ ข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้ว นักการเมืองพรรคการเมือง พวกที่รู้เกี่ยวกับกฎหมาย นักวิชาการรู้เรื่องหลักทางวิชาการ มีฝ่ายความมั่นคงทั้งตำรวจทหารที่เกษียณบ้างไม่เกษียณบ้างมาอยู่ในนี้ด้วย รวมทั้งกลุ่มการเมือง และ สปช. เดิมเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง
“การปฏิรูปของเรามีตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มาแล้ว ก็คือการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน ปฏิรูปแรงงานการใช้แรงงานทั้งหมด ทรงทำมาตลอด ประเทศไทยปฏิรูปมาสมัยนั้นแล้วยังไม่ได้ทำอีกเลยนะ ก็ใช้การบริหารแผ่นดินระบบราชการมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 วันนี้ก็ยังเหมือนเดิมเพียงแต่ว่าเพิ่มกระทรวงมาเท่านั้นเอง แต่มันขาดเรื่องการบูรณาการข้ามกระทรวง การใช้งบประมาณข้ามกระทรวงในกิจการเดียวกัน ผมเห็นควรให้มีการบูรณาการ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
โอดทุกวันนี้ตัวเองขาดทุนเพื่อให้ประชาชนได้กำไร
“ผมคิดว่าผมก็ทำดีที่สุดแล้วล่ะ ผมไม่ได้ต้องการมีอำนาจ ต้องการอะไรต่างๆ ผมขาดทุนลงทุกวันนะ ผมขาดทุนอะไรรู้ไหม เพราะผมไม่ได้ผลประโยชน์อยู่แล้ว แต่ขาดทุนของผมคือขาดทุนชื่อเสียงผมถูกทำลายโดยคนใส่ร้ายป้ายสีผมเยอะพอสมควร ต่อต้านอะไรไม่รู้ มันชอบพูดเรื่องที่มันไม่ใช่เรื่อง ผมก็ขี้เกียจโมโหนะ นี่ผมขาดทุนแล้วนะ สองผมขาดทุนในเรื่องชีวิตผม ความปลอดภัยของผมก็ขาดทุนนะ สามคือขาดทุนที่ผมจะไปพักผ่อนของผมเวลาผมก็น้อยลงไปเรื่อยๆ ในการทำงานแบบนี้นะ ความกดดันก็สูง แล้วผมจะได้พักผ่อนเมื่อไหร่ แต่ทั้งนี้ผมก็จำเป็นต้องทำนะ เพื่อรักษาสถานการณ์ให้ได้และเดินหน้าประเทศให้ได้วางพื้นฐานให้ได้ เพราะอะไร เพราะว่าผมคิดแต่เพียงว่าผู้ได้รับกำไรต้องเป็นประชาชน ประชาชนเป็นผู้ได้รับกำไรจากที่ผมได้ขาดทุนไปแล้วนี่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ทั้งหมดนี้อยู่ที่พื้นฐานคือว่าความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน หากทุกคนคิดว่าตนทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจก็สนับสนุนตน ถ้าคิดว่าตนมีนอกมีในนั้น ถ้าจะว่าอะไรก็รับหมด ไม่รู้ว่าจะว่าอย่างไร แต่ยื่นยันว่าตนเองไม่ได้อะไรเลย พร้อมทั้งขอร้องนักการเมือง พรรคการเมือง รวมทั้งสื่อมวลชนช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนว่าจะต้องเผชิญสถาการณ์แบบเก่า ก่อน 22 พ.ค. 57 หรือไม่ โดยที่ทุกคนไปคิดกันมา ส่วนตนจะอำนวยความสะดวกให้
ยันไม่ได้เขียนกฎหมายให้ลงโทษใคร
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ใครจะต่อต้านตนก็ไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากใช้ความรุนแรงไม่ได้ แม้แต่เรียกมาพบยังเกิดปัญหาได้เลย เพราะมีการขยายความ ส่งผลให้ตนถูกต่างประเทศเล่นงานมากขึ้น อยากให้มองว่าถ้าจะมีการขัดขวางแล้วปล่อยไปไม่ทำอะไรนั้นจะสามารถทำอะไรสำเร็จได้
“สิ่งที่ทำไป ใช้มาตรา 44 นี้ ผมไม่ได้อยู่ดีๆ ไม่ชอบไอ้คนนี้ไปเอาคนนี้มา ไม่ชอบคนนี้เอาคนนี้มา ไม่ใช่เลยนะ ในเมื่อมาตรา 44 เขาเขียนไว้แล้ว กฎหมายเขาก็เขียนไว้แล้ว กฎหมายทุกกฎหมายทุกคนต้องปฏิบัติไม่ว่าจะมาจากไหนล่ะ ตอนนี้มาจากผมก็ต้องยึดถือตามนี้ เพราะผมไม่ได้เขียนให้ลงโทษใคร ผมเขียนว่ามาตรา 44 มีไว้เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงมีเสถียรภาพในทุกๆ ด้าน เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ทำขัดคำสั่ง มันก็ผิดกฎหมายไง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าถ้าไม่ทำผิดกฎหมาย ตนก็ไม่สามารถเรียกตัวมาได้ ควรเข้าใจตรงนี้ ไม่ใช่ยิ่งขยายความเดี๋ยวสิทธิมนุษยชนไปต่อไปร้องเรียนโน้นนี่ มันแก้อะไรไม่ได้หรอก
ถามสุณัยคนไทยหรือเปล่า
“อย่างเช่นคุณสุณัย (ผาสุก)อะไรนี่ นี้ไปใหญ่แล้ว ไปเรียกร้องให้เขาอะไร มาดำเนินคดีโน้นนี่ ผมเสียดายนะ เขาเกิดเป็นคนไทยหรือเปล่า ผมไม่รู้คนพวกนี้ ผมไม่ได้ว่าอะไรท่านทำหน้าที่เพื่ออะไร เพื่อโลกเพื่ออะไรของท่าน ท่านทำหน้าที่เพื่อโลกจริงหรือเปล่าผมยังไม่รู้เหมือนกัน เพราะบางครั้งด้วยหลักการเหตุผลง่ายๆ มองก็รู้ว่ามันเจตนาผิดไม่ผิดไอ้คนทำ แต่ท่านก็เข้าข้างไอ้คนนั้นตลอด นั่นคือสิ่งที่ผมมองเขานะ และเพราะเขาใช้กลไกจากการปกป้องตนเองจากองค์กรโน้นองค์กรนี้มาเรื่อยๆ ตลอด แล้วมันจะไปได้ไหมล่ะ”
กรณีการควบคุมตัว ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สื่อบางคนที่ตนเรียกไปคุย ตนก็ไม่อยากไปรบกับสื่อ แต่ถามว่าคนคนนี้พูดจาอย่างนี้มาตลอดหรือไม่ พูดมานานหรือยัง ท่านก็รู้ดี เพราะฉะนั้นคือสิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับกติกาว่าวันนี้เรามีกติกาอะไรบ้างแล้วเราสร้างกติกานั้นไว้เพื่ออะไร เพื่อความสงบสุขของสังคมใช่ไหม เพื่อรักษาช่วงระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใช่ไหม ในขณะเดียวกันไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่ที่ผ่านมาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง จึงต้องมีกลไกที่มารักษาความสงบ
“ก็เขาทำความผิด ท่านจะไปให้เครดิตเขาทำไม ไม่ใช่อยู่ดีๆ ผมไม่ชอบหน้าเขาเมื่อไหร่เล่า ใครผิดผมก็เรียกมาหมดล่ะ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับสื่อมวลชน ต่อกรณีการนำเสนอข่าวผู้ที่ถูกเรียกมารายงานตัว
มีกฎหมายของตนที่ประกาศไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปเอาใครมาคุม
“ถ้าผมคิดว่าผมทำความดี แล้วคนส่วนหนึ่งเขาเห็นความดีของผมผมก็จะสู้ให้เขา สู้กับคนพวกนี้ โดยที่ผมมีกฎหมายของผมอยู่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประกาศไว้ล่วงหน้าแล้ว จำคำพูดไว้ด้วยนะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เอาคนโน้นมาคุมมาอะไร ประกาศไว้แล้วว่าเรื่องต่อไปนี้อย่าทำ เหมือนท่านห้ามลูกของท่าน ห้ามหลานของท่านอย่าทำนี้ทำโน้น ห้ามไปเล่นน้ำเดี๋ยวจมน้ำตาย แล้วไปเล่นน้ำกับเพื่อนกลับมาบ้านต้องตีไหม ก็ต้องตี นี่ล่ะตัวอย่างง่ายๆ ทำไมไม่คิดแบบนี้เล่า” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
บริหารเพื่อเป็นแนวทาง-ทบทวนวาระแห่งชาติ-ปฏิรูป
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้รัฐบาลก็จะต้องเร่งบริหารราชการแผ่นดิน ในลักษณะเชิงบูรณาการโดยการเอายุทธศาสตร์ชาติที่ร่างไว้ของรัฐบาลมาพิจารณาดูว่าจะบริหารงานอย่างไร เพื่อให้เกิดการปฏิรูปให้ได้ เรื่องของรัฐบาลนั้น หนึ่งบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารสืบไปข้างหน้า สอง วาระแห่งชาตินั้นนำมาทบทวนว่าไปถึงไหนแล้ว ทำให้สัมฤทธิ์ สาม คือทำเรื่องปฏิรูป มาจัดระบบกัน โดยที่ประเทศไทยที่จะเดินไปสู่การมีประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นไม่ใช่แค่มีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะไปสู่ประชาธิปไตยเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะหลังจากนั้นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งต้องบริหารประเทศที่มีธรรมาภิบาล บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เที่ยงธรรมถึงจะเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนตำบลที่อนุมัติให้ไปนั้นควรจะไปทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น เอาอบรม เอาไปขุดบ่อน้ำ ทำท่อให้ประหยัดน้ำ ส่วนโครงการของตำบลก็ทำในส่วนของภาพรวม เช่น ทำอ่างน้ำอ่างเก็บกักน้ำ เรียกว่าเป็นการใช้เงินให้เกิดรายได้ในอนาคต ต่างจากที่ผ่านมาที่สักแต่ว่าให้ๆ กันไป แล้วก็จบ ไม่เห็นแข็งแรงขึ้นมาเลย เงินเหล่านี้มามานานแล้ว แต่ไม่เป็นประชาชนแข็งแรงขึ้นมาเลย
ยันไม่มีดีลกับใคร
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึง การปรองดองในระยะที่ 1 นั้น ต้องมาดูว่าจะปรองดองอะไรกันบ้าง ปรองดองทางกฎหมายมีหรือไม่ เรื่องคดีไม่หนักได้ไหม แต่ต้องมีการรับผิดไปก่อน อยู่ดีๆ จะยกผิดไม่ได้ เช่นคดีตั้งแต่ปี 53 นั้นติดคุกมาหลายปีแล้วต้องเอามาดูกัน ว่ากระทำผิดด้วยตัวเองหรือไม่ เพื่อจะใช้ความเมตาจากศาล โดยไปหามาว่าใครเป็นผู้ที่สั่งเขาเหล่านั้นทำ เพื่อให้เกิดความชัดเจน
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันด้วยว่าตนเองปรองดองกับคนที่กระทำผิดกฎหมายไม่ได้ ไม่มีการไปดีลกับใคร
ชี้มีสมาคมสื่อก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่สามารถคุมสื่อให้มีจรรยาบรรณได้
สำหรับการทำงานของสื่อ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สื่อสามารถช่วยตนได้ เพราะตนพูดเองการรับรู้ก็ไม่เหมือนกับสื่อเขียน สื่อไม่เคยเขียนผิดอย่างที่ตนพูด แต่กลับเขียนให้อีกฝ่ายหนึ่งดูรุนแรงขึ้น ต่างประเทศก็จะมองว่าประเทศไทยยังไม่สงบ สถานการณ์ทางการเมืองไม่มีเสถียรภาพ การค้าการลงทุนก็เสียหาย คนมาเที่ยวก็ลดลง ดังนั้นสื่อควรมองในมิติเหล่านี้ด้วยเวลาเขียน ดังนั้นสมาคมสื่อตั้งมาก็ไม่มีประโยชน์เนื่องจากไม่สามารถคุมสื่อให้มีจรรยาบรรณได้
สำหรับเรื่องกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กำลังหารือกันอยู่ ต้องมีนักกฎหมายด้วย
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า มีการประชุมเรื่องของการเงินการคลัง ซึ่ง รมว.คลัง ก็สรุปให้เห็นว่าสถานการณ์ตอนนี้ก็ไม่ถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เพียงแต่ประเทศเราคนที่ได้รับผลกระทบมีจำนวนมากจึงได้รับผลกระทบมาก ทั้งที่สถานการณ์โดยรอบไม่ได้เลวร้ายไปกว่าหลายประเทศ เพราะพื้นฐานเรายังดีอยู่ เพียงแต่คนที่ได้รับผลกระทบคือผู้มีรายได้น้อย
ชี้ทั้งโลกสรุปแล้ว เมื่อประชาธิปไตยมีความขัดแย้ง ต้องมีอำนาจแบบตนไปแก้
Matichon TV เผยแพร่วีดิโอคลิปเพิ่มเติมด้วยว่า โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า
“ในการสอนในตำราปริญญาโทเขาเขียนไว้อยู่แล้วว่าทุกประเทศในโลก ประชาธิปไตยดีที่สุด แต่เมื่อใดที่ประชาธิปไตยมีความขัดแย้ง มีอำนาจแบบผมเท่านั้นล่ะถึงจะไปแก้ได้ จะบอกให้ ทั้งโลกเขาสรุปมาแล้ว”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ ปวิน ชัชวาลพงศ์ โพสต์ในเฟซบุ๊กกรณีจะไปประท้วงตนที่จะไปประชุมที่ยูเอ็นนั้น ว่า ให้ไปดูว่าเขาทำผิดอะไร ท่านยอมหรอ 112 (ม.112) คนละเมิด 112 ท่านไม่รู้สึกอะไรกับเขาเลยหรอ ท่าไปโฆษณาให้เขารวมคนมาต่อต้านตน สนุกหรอ แม้อาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นสิ่งที่ให้ท้ายคนเหล่านี้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ตนเองบอกกับบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ อย่าสนใจตนได้ไหม ที่ตนขอเวลาอย่างนี้ แต่ตนกลับถูกใส่ความผิดเพิ่มทำให้เหมือนเป็นคนผิด ทั้งที่ตนก็ยอมรับผิดอาจมีเพียง 1 อัน แต่ตนก็ทำถูกอีกเป็นพันอย่าง
“องคุลิมาลยังให้อภัยเลย แล้วผมไม่ใช่องคุลิมาลซะหน่อย ผมไม่ได้ตัดนิ้วใครถึงพันนิ้วซักหน่อย ผมตัดนิ้วร้ายไปนิ้วเดียว คิดแบบนี้สิ”    
แย้ง ผบ.ตร.เหตุระเบิดไม่เกี่ยวส่งอุยกูร์ไปจีน
จากที่วันนี้(15 ก.ย.58) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ยอมรับว่า สาเหตุของการระเบิดสี่แยกราชประสงค์ และท่าเรือสาทรเหตุเกิดจาการที่ทางการไทยไปทำลายให้ธุรกิจผิดกฎหมายการของขบวนการค้ามนุษย์ต่างชาติ ที่ถูกขัดขวาง จึงทำให้เกิดความโกรธเคือง รวมถึงประเด็นที่ทางการไทยส่งตัว ชาวอุยกูร์ 109 คนกลับประเทศจีน(อ่านรายละเอียด) ขณะที่ Voice TV รายงานความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อกรณีดังกล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าอาจจะยังไม่เกี่ยวข้องกับกรณีทางการไทยส่งตัวอุยกูร์กลับประเทศจีน แต่แนวทางการสืบสวนขณะนี้ยังไม่ตัดประเด็นใดทิ้งไป ทั้งอาชญากรรม ขบวนการค้ามนุษย์ และชาวอุยกูร์แต่ยืนยันว่าการดำเนินการกับผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองก็เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอน ถูกต้องที่สุดแล้ว  

ทหารคุมเข้ม เวทีฟังความเห็นเหมืองโปแตชอุดรฯ ชาวบ้านครวญถูกทำเหมือนเป็นผู้ก่อการร้าย


วันที่ 15 ก.ย.58 เวลาประมาณ 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  ประมาณ 200 คน เดินทางจากหมู่บ้านในพื้นที่ต.ห้วยสามพาด และต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม ไปที่ค่ายทหารพระยาสุนทรธรรมธาดา ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการจัดประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี เจ้าของโครงการ ซึ่งเวทีจัดอยู่หอประชุมภายในค่ายทหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า ตามรายทางมีกำลังทหารพร้อมรถฮัมวี่จอดเป็นระยะ และมีการตั้งกล้องอยู่บนสะพานลอย เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหว ด้านหน้าค่ายทหารมีการตั้งเตนท์เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ ที่ประตูทางเข้ามีการใช้กำลังทหาร ตรวจสอบรถที่จะเข้าไปร่วมประชุมอย่างเข้มงวด พร้อมใช้กระจกส่องใต้ท้องรถยนต์ทุกคัน และมีกำลังตำรวจตั้งกรวยกันพื้นที่บริเวณถนนด้านหน้าค่ายทหารเป็นระยะทางยาว ประมาณ 500 เมตร
ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการจัดเวที ที่ด้านหน้าเต้นท์รับเรื่องราวร้องทุกข์  โดยมีหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม จ.อุดรธานี มารับหนังสือ จากนั้นตัวแทนชาวบ้านได้อ่านแถลงการณ์ "เหตุผลในการคัดค้านการจัดประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช ในค่ายทหาร" และร้องเพลงปลุกใจ ต่อสู้โครงการเหมืองแร่โปแตช ก่อนแยกย้ายเดินทางกลับบ้าน
ข้อความบางส่วนในแถลงการณ์ระบุถึงเหตุผลในการคัดค้านการจัดประชุมว่า การจัดประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงการดำเนินโครงการฯ หรือการทำประชาคมหมู่บ้านในค่ายทหาร ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์การมีส่วนร่วมในคู่มือวิธีปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องการให้ความเห็นในการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ พ.ศ.2545 และเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ในการแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการฯ เนื่องจากว่าสถานที่ดำเนินการจัดประชาคมหมู่บ้านในค่ายทหาร ไม่ได้อยู่ในพื้นที่หมู่บ้าน ต.ห้วยสามพาด และต.นาม่วง ตามเขตคำขอประทานบัตร นอกจากนี้ในการประชุมก็จะมีกองกำลังของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และอส. มาคอยคุ้มกันอย่างแน่นหนาเพื่อให้เวทีผ่านไปอย่างเรียบร้อย ดังนั้นจึงทำให้บรรยากาศของการประชุมไม่เอื้ออำนวยต่อการรับฟังการชี้แจง และแสดงความคิดเห็น และถือว่าไม่เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง
โดยพิกุลทอง โทธุโย ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า รู้สึกเสียใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ที่ทหารเอื้ออำนวยให้มีการเปิดประชุมประชาคมในค่าย จากภาพที่เห็นการคุ้มกันเวทีอย่างเข้มงวด มีจุดตรวจสกัดตามที่ต่างๆ ซึ่งมันดูแล้วเหมือนกับว่ามาเตรียมขัดขวางชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ และหากมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นก็พร้อมที่จะใช้กำลัง จับกุมกับชาวบ้าน นอกจากนี้ในวันก่อนจะจัดประชุมก็มีทหารเข้าไปหาชาวบ้านที่เป็นแกนนำถึงที่บ้าน และมีตำรวจคอยโทรเช็คความเคลื่อนไหวของชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตนก็อยากถามว่าทหารไปรับจ๊อบใครมาหรือเปล่าถึงได้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทถึงขนาดนี้
"ภาพวันนี้เห็นได้ชัดว่าทหารมีมุมมองที่ไม่ดีต่อชาวบ้านเลย กระทำกับชาวบ้านเหมือนเป็นกลุ่มก่อการร้าย ทั้งๆที่พวกเราต่อสู้คัดค้านเพื่อปกป้องวิถีชีวิตความเป็นอยู่บ้านเจ้าของ และรักษาทรัพยากรของประเทศชาติ" พิกุลทอง กล่าว
ขณะเดียวกันการจัดเวทีเพื่อรับฟังการชี้แจงโครงการเหมืองแร่โปแตช ในค่ายทหารดังกล่าว ก็ได้เกิดประเด็นข้อถกเถียงของภาคประชาสังคมในจังหวัดอุดรธานี อย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
โดย เสกสรรค์ ศิริมา กลุ่มธรรมาธิปไตยอุดรธานี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า พอทราบข่าวว่ามีการจัดเวทีในค่ายทหารภาคประชาชนคนอุดรฯ ก็เข้าใจว่าเป็นที่เรื่องที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานราชการ ทหาร และตำรวจ มีจิตใจที่เอนเอียงเข้าข้างนายทุนเหมืองโปแตช และข้อมูลที่นำมาพูดในเวทีก็เป็นการปลุกระดมชาวบ้านเพื่อให้เห็นด้วยกับบริษัท
"โดยเฉพาะทหารคงได้รับคำสั่งถ่ายทอดลงมาตามลำดับขั้นเพื่อให้เปิดทาง จัดเวทีในค่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียความรู้สึกของภาคประชาชนเป็นอย่างมากว่าไม่มีความยุติธรรม" เสกสรร กล่าว  

เกษียรแนะแนวหลักสูตร ป.เอก มธ. "ประชาธิปไตยกับความขัดแย้ง" ให้ประยุทธ์


หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวตอนหนึ่งในแถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วานนี้(15 ก.ย.58) ว่า “ในการสอนในตำราปริญญาโทเขาเขียนไว้อยู่แล้วว่าทุกประเทศในโลก ประชาธิปไตยดีที่สุด แต่เมื่อใดที่ประชาธิปไตยมีความขัดแย้ง มีอำนาจแบบผมเท่านั้นล่ะถึงจะไปแก้ได้ จะบอกให้ ทั้งโลกเขาสรุปมาแล้ว” (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้(16 ก.ย.58) เมื่อเวลา 8.19 น. ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Kasian Tejapira’ แย้งถึงประชาธิปไตยกับความขัดแย้ง โดยระบุว่าด้วยความเคารพ ที่โครงการปริญญาเอกรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เราอธิบายเรื่อง "ประชาธิปไตยกับความขัดแย้ง" แบบนี้
เนื้อหาอธิบายว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่เริ่มจากฐานคิดว่าสังคมแบ่งแยกกันและหาทางให้ความขัดแย้งแบ่งแยกนั้นดำเนินไปโดยสันติ หากมิใช่เริ่มจากฐานคิดว่าสังคมควรต้องสมานฉันท์เป็นเอกภาพ รู้รักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว การสร้างเสริมประชาธิปไตยโดยเรียกร้องให้สังคมต้องไม่แบ่งแยกกันจึงผิดฝาผิดตัว
การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่ล้มเหลวมักเกิดจากเหตุ 3 ประการ คือ คู่ขัดแย้งทางกาเมืองไม่มีฉันทามติร่วมกันเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานเรื่องกรอบกฎกติกาของการดำเนินความขัดแย้ง เกิดสภาพแบ่งแยกเป็นเสียงข้างมากถาวร เสียงข้างน้อยถาวร อุดมการณ์อย่างตายตัว และเดิมพันได้เสียของคู่ต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่แค่อำนาจ แต่รวมถึงทรัพย์สินด้วย แบบนี้คู่ขัดแย้งมักออกนอกแถว ไม่ยอมรับที่จะเล่นการเมืองอยู่ในกฎกติกาเกมประชาธิปไตย

จำคุกแกนนำ นปก. 4 ปี 4 เดือน-คดีชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์

เหตุการณ์ชุมนุมเมื่อ 22 ก.ค. 2550 (ที่มา: แฟ้มภาพ)

กรณีสลายชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ปี 50 - ศาลตัดสินณัฐวุฒิ-วิภูแถลง-หมอเหวง มั่วสุมเกิน 10 คน ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ระหว่างจับแกนนำ ผู้ชุมนุมใช้เก้าอี้และอิฐปาใส่ จนท. จำเลยไม่ยอมห้ามปรามจริงจัง จึงให้จำคุก 4 ปี 4 เดือน - 'นพรุจ พิราบขาว 2006' เจอข้อหาทำร้ายเจ้าพนักงาน คุก 2 ปี 8 เดือน ส่วนวีระกานต์ป่วย-ศาลนัดอีกหน 30 ก.ย.
16 ก.ค. 2558 - กรณีผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ชุมนุมที่แยกสี่เสาเทเวศร์ หน้าบ้านพักราชการของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมปี 2550 เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้แก๊สน้ำตาและกระบองสลายการชุมนุมเพื่อยึดพื้นที่คืน ขณะที่ผู้ชุมนุมถอนไปอยู่ที่สนามหลวงก่อนสลายการชุมนุมนั้น
ล่าสุด ศาลอาญา อ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง แกนนำ 7 คน ได้แก่ นพรุจ วรชิตวุฒิกุล, วีระศักดิ์ เหมะธุลิน, วันชัย นาพุทธา, วีระกานต์ มุสิกพงศ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ วิภูแถลง พัฒนภูมิไทย และ นพ.เหวง โตจิราการ ข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และร่วมกันเดินแถว เดินเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจร และร่วมกันกระทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน กรณีนำขบวนผู้ชุมนุมไปประท้วงที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์นั้น
โดยตามรายงานในมติชนออนไลน์ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมกลุ่มแกนนำที่อยู่บนรถซึ่งผู้ชุมนุมได้ขัดขวางโดยใช้เก้าอี้และอิฐปาใส่เจ้าหน้าที่ ไม่ใช่การป้องกันตัวตามที่จำเลยกล่าวอ้าง และพิจารณาคำปราศรัยของแกนนำแล้วเห็นว่า ไม่มีเจตนาที่จะห้ามปรามผู้ชุมนุมอย่างจริงจัง พิพากษา จำคุก ณัฐวุฒิ, วิภูแถลง และ นพ.เหวง คนละ 4 ปี 4 เดือน
ส่วนนายนพรุจ ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำร้ายเจ้าพนักงานฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือน และให้ยกฟ้องนายวีระศักดิ์ และนายวันชัย ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และ 3 เนื่องจากหลักฐานยังมีข้อสงสัยว่าร่วมกระทำผิดหรือไม่
ส่วน วีระกานต์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 4 ไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัด แต่มอบอำนาจให้ตัวแทน ขอเลื่อนฟังคำพิพากษา เนื่องจากนายวีระกานต์ ป่วยมีอาการเลือดออกในลำไส้ เข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีใบรับรองแพทย์ยื่นยันต่อศาล โดยศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาเฉพาะวีระกานต์ โดยให้มาฟังคำพิพากษาวันที่ 30 ก.ย. นี้ เวลา 09.00 น.
ซึ่งภายหลังศาลมีคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวจำเลยลงมาที่ห้องขังใต้ถุนศาลอาญาทันที และขณะนี้ทนายความอยู่ระหว่างยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก

'ประวิตร' เผยถูกขอให้ออกจากเนชั่น มีผลสิ้นเดือนนี้



16 ก.ย. 2558 หลังถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คุมตัวตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.จนถึงเย็นวานนี้ ล่าสุด ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ให้สัมภาษณ์ว่า เขาลาออกจากเนชั่นแล้ว โดยเขาถูกขอให้ออก เนื่องจากเนชั่นถูกกดดันจากสารพัดกลุ่ม โดยจะมีผลสิ้นเดือน ก.ย.นี้ หลังจากนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ
"เรารักเนชั่น ไม่ต้องการให้บ้านไฟไหม้ เราช่วยอะไรได้ก็ช่วย" ประวิตรกล่าว
เมื่อถามถึงค่าชดเชย ประวิตรกล่าวว่า ยังคุยกันไม่ลงตัว
"คงทนไม่ได้ที่จะยื่นฟ้องเนชั่นและสู้กัน เนชั่นอยู่ในสภาพตั้งรับอยู่แล้ว" ประวิตรกล่าวและว่า "เพราะไม่มีความจำเป็นเลยที่คนในเนชั่นต้องมาทะเลาะกัน"
วานนี้ กนก รัตน์วงศ์สกุล พิธีกรเครือเนชั่น โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า "วันนี้มีความเคลื่อนไหวของพนักงานกลุ่มใหญ่ ร้องขอให้ผู้บริหารปรับท่าที และแยกแยะให้ชัดเจน เพราะนายประวิตรแสดงความเห็นในพื้นที่ส่วนตัวของเขา ไม่ได้ใช้ฐานะสื่อมวลชน ทำไมองค์กร หรือบริษัท จึงต้องเข้าไปปกป้อง โดยอ้างเสรีภาพการทำหน้าที่ของสื่อ? แล้วตลอดเวลาที่นายคนนี้ แสดงความเห็นหมิ่นกระแสสังคม สวนความรู้สึกคนส่วนใหญ่ หรือแสดงทัศนะต่อสถาบันฯ ทำไมบริษัทหรือองค์กรสื่อ จึงไม่ออกมาห้ามปราม ยับยั้ง เสรีภาพการแสดงความเห็นของสื่อนั้น..กว้างขวางขนาดนั้นเชียวหรือ? คนๆเดียว ทำไมจัดการไม่ได้ ปล่อยให้แสดงความเห็นหมิ่นน้ำใจสังคมตลอดมา พอยามที่สื่อถูกแทรกแซง กลับร่ำร้องขอให้สังคมเป็นแนวร่วม" 
"ผมได้รับข่าวแว่วๆมาว่า จะมีการ "จัดการ" กรณีนายประวิตร โรจนพฤกษ์ "อย่างเด็ดขาด"" กนก ระบุ

เปิดปาก ประวิตร เต็มๆ: ชีวิตในค่าย


ประวิตร โรจนพฤกษ์ เล่าเหตุการณ์ถูกนำตัวเข้าค่าย "ปรับทัศนคติ" รอบที่สอง 

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นให้สัมภาษณ์ประชาไท กรณีถูกเรียกเข้าค่ายรอบสอง โดยถูกถามข้อความในโซเชียลมีเดีย 2 ข้อความ หนึ่งคือ ข้อความในทวิตเตอร์ของตนเอง เรื่องความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และข้อความจากไลน์ยาว 3 หน้า เกี่ยวกับการแต่งตั้งเลขา สมช. ซึ่งได้ปฏิเสธไปว่าไม่ใช่ข้อความของตนเอง
หลังถูกสอบอยู่ราว 1 ชั่วโมงที่กองทัพภาคที่ 1 เขาถูกนำตัวไปราบ 11 โดยถูกถามถึงจุดยืนทางการเมือง ความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทางการเมืองและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ และสาเหตุที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 โดยเขาได้ปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่คนเสื้อแดง หรือพวกของทักษิณ ชินวัตร เพียงแต่มีจุดยืนไม่เอารัฐประหารเท่านั้น ส่วนกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นไม่ได้โกรธหรือเกลียดเขาเป็นการส่วนตัว เพียงแต่แสดงความเห็นในหลักการเท่านั้น ทั้งยังเคยแสดงความไม่เห็นด้วยการล้อเลียนเขาทางกายภาพด้วย
ประวิตรระบุว่า ระหว่างการพูดคุยพบว่า เจ้าหน้าที่ทหารกังวลกับโซเชียลมีเดีย
"เขาพารานอยด์ทวีต ไม่ได้สนใจอะไรในเนชั่น" ประวิตรกล่าวและว่า เขาถูกมองเป็นผู้นำทางความคิดคนหนึ่ง เนื่องจากถูกรีทวีตข้อความ
"คนที่เกลียดทำให้ฉันดูใหญ่เกินจริง" เขากล่าวและมองว่า ทหารกำลังทำสิ่งที่เกินจำเป็น
หลังอยู่ที่นั่นและถูกสอบตั้งแต่ 15.30-21.00 น. ประวิตรถูกนำตัวขึ้นรถตู้ไปยังอีกสถานที่หนึ่งใช้เวลาชั่วโมงเศษ แต่เขาไม่รู้ว่าเป็นที่ไหน เพราะถูกปิดตาด้วยผ้า
ห้องขนาด 4*4 ตร.ม. ที่เขาอยู่มีเพียงแสงไฟนีออน ส่วนแสงธรรมชาติอื่นถูกปิดหมด ในห้องมีกล้องวงจรปิด มีทีวีหนึ่งเครื่องที่รับได้เพียงช่อง 3 และไทยพีบีเอส เครื่องปรับอากาศตั้งพื้นที่มีป้าย "กาญจนบุรี" และน้ำดื่ม และเขาถูกล็อคอยู่ในห้อง
ราว 7-8 โมงเช้าวันจันทร์ มีคนนำอาหารเข้ามาให้ (ซึ่งเป็นเมนูที่ถูกถามไว้ตั้งแต่อยู่กรุงเทพฯ)
20 ชั่วโมงแรก เขาไม่ได้พูดคุยกับใคร นอกจากเคาะประตูขอออกไปสูดอากาศนอกห้อง เพราะเขารู้สึกว่าในห้องไม่มีอากาศ  เขาได้รับอนุญาตให้ออกมานั่งนอกห้อง 6 ครั้งโดยทุกครั้งต้องถูกปิดตาก่อน ต่างจากการเข้าค่ายหนแรกที่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้เอง และบางคนที่ถูกคุมตัวก็เตะบอลกัน
ค่ำวันนั้น มีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงมาพูดคุยเรื่องการเมืองกับเขาและถามว่าต้องการอะไรหรือไม่ เขาได้ขอแสงอาทิตย์ อากาศ และแชมพู
เช้าวันถัดมา เขาได้ "อากาศ" โดยถูกให้นั่งหันหลังให้ประตู และเปิดประตูไว้ให้ราว 30 นาที
ราวบ่ายสองของวันอังคาร มีการนำใบหยุดเคลื่อนไหวเหมือนคราวก่อนมาให้เซ็น และถูกนำตัวกลับไปที่กองทัพภาค 1 ตอนบ่ายสาม ในสภาพถูกปิดตาเหมือนกับขามา
เขาได้พบกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งแจ้งเขาว่า มีการแจ้งความกับเขาแล้ว แต่ยังไม่ให้ดำเนินเรื่อง จะปล่อยค้างไว้ก่อน เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน โดยย้ำว่า ถ้าผิดคำสั่ง คสช.จะดำเนินคดี ทั้งนี้ เขาไม่ทราบว่าเป็นข้อหาอะไร รู้แค่เพียงว่าข้อหานี้มีอายุความ 15 ปี
"แม้ไม่ได้ถูกทรมาน แต่รู้สึกถูกคุกคามอย่างมาก" ประวิตรกล่าว
สุดท้ายก่อนที่จะปล่อยตัว เจ้าหน้าที่จะขอไปส่งที่บ้าน แต่เขาขอให้ส่งที่รถไฟฟ้า BTS