วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

'Big Cleaning Weekend' องค์กรเก็บขยะแผ่นดินระดมรายงานคนกดไลค์เพจหมิ่นอีกที


11 ต.ค. 2558 เพจเหรียญทอง แน่นหนา ของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้ก่อตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน ได้จัดกิจกรรม Big Cleaning Weekend ระดมชาวเน็ตกดรายงานผู้เล่นเฟสบุ๊กรายหนึ่ง ที่ พล.ต.นพ.เหรียญทอง ระบุว่าแม้ผู้เล่นเฟสบุ๊กรายนี้จะไม่ได้มีการโพสต์หมิ่นสถาบันในเฟสบุ๊กส่วนตัว แต่ก็มีการสนับสนุนการหมิ่นสถาบันด้วยการกดไลค์โพสต์จากเพจที่ พล.ต.นพ.เหรียญทอง ระบุว่ามีการหมิ่นสถาบัน
 
นอกจากนี้ พล.ต.นพ.เหรียญทอง ยังระบุว่าหากผู้เล่นเฟสบุ๊กรายนี้คิดว่าตนเองหมิ่นประมาทก็กรุณาฟ้องตน แล้วตนจะขอให้ศาลมีคำสั่งสืบพยานที่ผู้เล่นเฟสบุ๊กรายนี้กดไลค์โพสต์หมิ่นสถาบัน เพื่อฟ้องกลับในหลายกรรมหลายวาระ
 

รัฐธรรมนูญไทย 101: #3 ความหมายและองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญ


คลิปรายการรัฐธรรมนูญไทย 101: #3 ความหมายและองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญ
รายการ "รัฐธรรมนูญไทย 101" กับ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ หลังจากตอนที่แล้วว่ากันด้วยเรื่องที่มาของรัฐธรรมนูญในบริบทโลกจนถึงเมืองไทยแล้ว (รับชมตอนก่อนหน้านี้)
ตอนนี้ว่ากันด้วยเรื่องความหมายของรัฐธรรมนูญ ทั้ง (1) ความหมายเชิงบวกที่มองรัฐธรรมนูญเป็นการวางรูปแบบทางการของรัฐ (2) ความหมายเชิงสัมบูรณ์ มองรัฐธรรมนูญเป็นระเบียบระดับมูลฐานในสังคม และเป็นรากฐานของระเบียบอื่นๆ (3) ความหมายเชิงหน้าที่ มองรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องสำแดงออกของการดำรงอยู่ขององคาพยพต่างๆ และ (4) ความหมายเชิงเครื่องมือ ในการกำกับการใช้อำนาจของสังคมและการเมือง
ในองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ (1) คำปรารภ (2) การจัดองค์กรของรัฐและการปกครอง (3) การรับรองสิทธิของปัจเจกบุคคล รวมถึง (4) กำหนดวิธีการแก้ไข เพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ แก้ง่ายหรือแก้ยาก แก้ด้วยเงื่อนไขอย่างไร ฯลฯ
บัณฑิตกล่าวด้วยว่า โดยหลักการทั่วไปของรัฐธรรมนูญ จะมีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าองค์ประกอบ 4 ส่วนตามที่กล่าวมา ในรายละเอียดจะพบว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดเรื่องเหล่านี้ด้วย เช่น ระยะเวลาในการเลือกตั้ง คุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง คุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงคะแนนและเงื่อนไข สิทธิหน้าที่พลเมือง ขอบข่ายของการใช้อำนาจรัฐ อำนาจของฝ่ายตุลาการ วิธีการเข้าสู่อำนาจของฝ่ายบริหารและการตั้งรัฐบาล บทบาทและอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ บทบาทและอำนาจของประมุขแห่งรัฐ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น

ศาลปกครองรับฟ้องสมศักดิ์ ขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ


เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า สำนักงานศาลปกครองกลางมีหนังสือถึงทีมทนายความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 58 แจ้งคำสั่งรับฟ้องคดีที่สมศักดิ์ฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
โดยศูนย์ทนายฯ สรุปเนื้อหาคำฟ้องประเด็นต่างๆ ไว้ ดังนี้

  • เหตุแห่งการไล่ออกจากราชการ
4 ก.ย. 58 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นจำเลยที่ 1 และ ก.พ.อ. เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง โดยมอบอำนาจให้ทีมทนายความยื่นฟ้องและดำเนินคดีจนถึงที่สุด จากกรณีที่มีคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 เรื่องลงโทษไล่ออกจากราชการ ให้ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 57 เป็นต้นไป โดยมหาวิทยาลัยยังไม่อนุมัติคำขอไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ และยังไม่มีคำสั่งอนุมัติหนังสือขอลาออกจากราชการของผู้ฟ้องคดี ต่อมาวันที่  16 มี.ค. 58 ผู้ฟ้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ต่อ ก.พ.อ. แต่เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 58 ก.พ.อ. มีมติให้ยกอุทธรณ์
  • สถานการณ์ก่อนรัฐประหาร ภัยคุกคามต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ
ก่อนรัฐประหาร ผู้ฟ้องคดีได้ถูกข่มขู่ คุกคาม อันอาจมีอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดีถูกแจ้งความดำเนินคดีที่ สน.นางเลิ้ง ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้การในรายละเอียด เพราะประสงค์จะสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง
อย่างไรก็ดี 6 ก.พ. 57 พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ว่าได้ให้ฝ่ายกฎหมายของกองทัพตรวจสอบและจะใช้มาตรการทางสังคมกดดันผู้ฟ้องคดี
ต่อมา วันที่ 12 ก.พ. 57 ขณะที่ผู้ฟ้องคดีอยู่ในบ้านเวลากลางวัน มีคนร้ายไม่ทราบชื่อจำนวน 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงบ้านของผู้ฟ้องคดีจำนวนหลายนัด เป็นเหตุให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แม้จะไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่ผู้ฟ้องคดีรู้สึกหวาดกลัว มีผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นการพยายามฆ่า
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 57 ผู้ฟ้องคดียื่นเรื่องขออนุญาตไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ เรื่องปรัชญาประวัติศาสตร์และสังคมของเฮเกล ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 57 ถึงวันที่ 31 ก.ค. 58 โดยทางหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์มีความเห็นควรอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีลาไปปฏิบัติงานได้ และให้เสนอความเห็นให้คณะกรรมการประจำคณะศิลปศาสตร์ต่อไป ในระหว่างนั้นผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ
  • สถานการณ์หลังรัฐประหาร
ภายหลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่ง เมื่อวันที่ 24 พ.ค.58 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้ คสช. มีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัว อีกทั้ง คำสั่งดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุเหตุผลในการเรียกให้ไปรายงานตัวและไม่ปรากฎผลภายหลังการรายงานตัว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ไปรายงานตัว
  • เหตุแห่งการไม่ไปรายงานตัว
ผู้ฟ้องคดีให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า การรัฐประหารถือเป็นการกระทำความผิดข้อหากบฏ เป็นการล้มล้างการปกครองประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ตนจึงไม่ประสงค์จะเข้าร่วมกับ คสช. ไม่ยอมรับอำนาจการรัฐประหารของ คสช. จึงไม่ไปรายงานตัว
อีกทั้งเห็นว่าตนไม่ได้กระทำการใดๆอันเป็นความผิดต่อกฎหมาย ประกอบกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ ได้บัญญัติให้บุคคลมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และบุคคลมีหน้าที่จะต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ตามมาตรา 69 และมาตรา 70 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร
ผู้ฟ้องคดีให้เหตุผลตามคำฟ้องอีกว่า โดยข้อเท็จจริงในขณะนั้นยังมีประชาชนออกมาต่อต้านการรัฐประหาร สถานทูตและองค์การระหว่างประเทศได้แสดงความห่วงกังวลและขอให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว อีกทั้งยังไม่ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้า คสช. แต่อย่างใด จึงอาจเป็นไปได้ว่าการรัฐประหารของ คสช. ยังไม่สำเร็จ หากไปรายงานตัวอาจจะถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มกบฏ และอาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในภายหลัง ซึ่งตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย เคยมีกลุ่มคณะทหารหรือคณะบุคคลที่ได้กระทำการรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ และถูกดำเนินคดีข้อหากบฏ เช่น กรณีกบฏยังเติร์ก หรือกบฏเมษาฮาวาย เมื่อวันที่ 1-3 เม.ย. 24 เป็นต้น หากผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ก็อาจจะถูกเรียกว่าไปเข้าร่วมกับคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ
แม้ความปรากฎภายหลังว่าการรัฐประหารกระทำการสำเร็จ  แต่ก็ยังถือว่าเป็นความผิดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เมื่อประเทศกลับไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย คณะรัฐประหารและผู้ที่เข้าร่วมกับการรัฐประหารก็อาจจะถูกดำเนินคดีย้อนหลังได้ ดังกรณีตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น กรณีเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 57 ศาลประเทศตุรกีพิพากษาจำคุกนายทหารที่ก่อการรัฐประหารในปี 2523 เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดียังทราบจากสื่อมวลชนว่า บุคคลที่ไปรายงานตัวหรือถูกจับจะถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วัน  โดยไม่มีความผิด ซึ่งการควบคุมตัวดังกล่าวจะไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว และไม่ให้ติดต่อกับญาติหรือทนายความ ไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าเยี่ยม ทำให้ไม่ทราบชะตากรรมว่า เมื่อถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกแล้วจะมีความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และจิตใจแค่ไหนอย่างไร ทั้งยังปรากฏว่า มีการร้องเรียนถึงการถูกซ้อมทรมานหรือปฏิบัติที่เลวร้ายต่อผู้ถูกควบคุมตัว  และบางรายถูกดำเนินคดีอาญาภายหลังจากไปรายงานตัว และถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัวผู้ฟ้องคดีอาจต้องถูกกักขังอันเป็นการละเมิดเสรีภาพของผู้ฟ้องคดี และอาจจะต้องถูกดำเนินคดีในภายหลังได้ด้วย
ประกอบ คสช. ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ให้บุคคลที่ไม่รายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เป็นความผิดอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจ และออกประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาความผิดตามประกาศคำสั่ง คสช. และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาบางมาตรา ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พ.ค. 57
กรณีดังกล่าวคณะรัฐประหารจึงเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แบบเบ็ดเสร็จ การประกาศให้คดีของผู้ฟ้องคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้น อีกทั้งขณะนั้นอยู่ระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร มาตรา 36 และมาตรา 61 กำหนดให้เป็นศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ห้ามคู่ความไม่ให้อุทธรณ์ฎีกาได้ เป็นศาลทหารชั้นเดียว  คำพิพากษาของศาลทหารชั้นต้นถึงที่สุด
  • การดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีไม่มีความชอบธรรม
กรณีที่เกิดขึ้นเห็นได้ว่า หากผู้ฟ้องคดียังอยู่ในประเทศไทย จะต้องถูกข่มขู่คุกคามทั้งโดยกระบวนการทางกฎหมาย และที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยเหตุจากการเป็นผู้ที่มีความเห็นต่างกับอำนาจรัฐซึ่งมีที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีความชอบธรรมใดๆทั้งสิ้น
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวที่เป็นเหตุให้ ผู้ฟ้องคดีจะได้รับภัยอันตรายต่อเสรีภาพและความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ทำให้ไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ และเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 58 ประเทศฝรั่งเศสได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ผู้ฟ้องคดี และอนุญาตให้พักอาศัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสอย่างถาวร ตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย (Convention Relating to the Status of Refugees)
อีกทั้งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการเรียกรายงานตัวโดย คสช. ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความขัดแย้งกับตน จะเกิดภัยคุกคามแก่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ผู้ฟ้องคดีจึงเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้อันเป็นเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง  และหลังการเข้ายึดอำนาจของ คสช.  ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดอีก ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภายใต้การปกครองในระบอบทหารต่อไป
ทั้งยังเห็นได้ชัดว่าการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้เป็นไปอย่างล่าช้า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 57 ผู้ฟ้องคดีจึงทำหนังสือขอลาออกจากราชการ เพื่อไปประกอบอาชีพใหม่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 57 ทั้งที่ความจริงแล้ว ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไป แต่ในวันเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และแม้ผู้ฟ้องคดีจะอุทธรณ์แล้ว แต่ ก.พ.อ. ก็มีมติให้ยกอุทธรณ์
  • ขอให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลงโทษไล่ออกจากราชการ และคำสั่ง ก.พ.อ. ที่ยกอุทธรณ์ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงฟ้องร้อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผู้ถูกฟ้องคดีที่  1 และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 เรื่อง ลงโทษออกจากราชการ และขอให้เพิกถอนผลการอุทธรณ์คำสั่งที่ ศธ.0592 (3) 1.9/6266 สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ลงวันที่ 7 มิ.ย. 58

ศาลอนุมัติหมายจับทักษิณ คดีทบ.ฟ้องหมิ่นวิจารณ์คสช.


12 ต.ค.2558 ที่ห้องพิจารณา902เวลา 09.30 น. ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำ อ.1824/2558 ที่กองทัพบก มอบอำนาจให้ พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญ ทหารบก เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีที่ได้มีการเผยแพร่คำสัมภาษณ์ของอดีตนายกฯ ทักษิณ จากประเทศเกาหลี เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการยึดอำนาจการปกครองของ คสช ซึ่งกระทบถึงกองทัพบกและองคมนตรี
สำหรับคดีนี้ กองทัพบก โจทก์ ยื่นฟ้องคดีเอง เมื่อวันที่ 26 พ.ค.58 โดยบรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 19 -22 พ.ค.58 จำเลย ได้ใส่ความ กองทัพบก โจทก์ว่า เป็นบุคคลน่ารังเกียจ เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ และเป็นบุคคลที่ทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยจำเลยได้ให้สัมภาษณ์ ถึงการเมืองในประเทศไทย ที่มีการเผยแพร่ผ่านยูทูปและสื่อออนไลน์ ซึ่งการกระทำนั้น ส่งผลให้ให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ขณะที่ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ส.ค.58 ให้ประทับรับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาต่อไป
ทั้งนี้เมื่อถึงเวลานัด มีเพียง พล.ต.ศรายุทธ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญ ทหารบก ผู้แทนโจทก์ และทนายความจำเลยมาศาล โดยโจทก์ได้แถลงต่อศาลว่า จำเลย รับทราบหมายเรียกโดยชอบแล้วไม่เดินทางมาศาล ซึ่งขณะนี้ตัวจำเลยอยู่ต่างประเทศ จึงขอให้ศาลพิจารณาออกหมายจับหรือตามเห็นสมควร
ขณะที่ ทนายความจำเลย แถลงว่า จำเลยอยู่ระหว่างลี้ภัยทางการเมือง และก่อนที่จะถูกฟ้องคดีตัวจำเลยก็ไม่ได้เข้ามาในประเทศไทย จึงขอให้ศาลพิจารณาคำร้องตามเห็นสมควร
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตัวจำเลยเองได้รับทราบนัดโดยชอบแล้วแต่ไม่เดินทางมาศาล และขณะนี้ตัวจำเลยไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักร จึงมีพฤติการณ์หลบหนี ดังนั้นให้ออกหมายจับจำเลย เพื่อให้ได้ตัวมาพิจารณาภายในอายุความ ซึ่งกรณีไม่แน่ว่าจะจับตัวจำเลยได้เมื่อใด ศาลจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวไว้ก่อน และหากมีการจับตัวจำเลยได้แล้ว ก็ให้พิจารณาคดีต่อไป
พล.ต.ศรายุทธ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญ ทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ ตนได้แถลงต่อศาลว่า จำเลยไม่มาศาลตามนัด ก็ให้พิจารณาออกหมายจับ ขณะที่ฝ่ายทนายความจำเลย ก็แถลงว่าตัวจำเลยอยู่ที่ต่างประเทศ ดังนั้นศาลจึงให้ออกหมายจับเพื่อตามตัว จำเลยมาดำเนินคดีตามกระบวนการของกฎหมายต่อไปภายในอายุความซึ่งไม่แน่ใจอายุความชัดเจน อาจจะอยู่ประมาณ 5 -7 ปี โดยศาลก็ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเป็นการชั่วคราวด้วย ทั้งนี้เรื่องการติดตามตัวก็ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยฐานะโจทก์ จะนำคำสั่งศาลที่ออกหมายจับนี้ ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( สตช.)  เพื่อดำเนินการติดตามตัวต่อไป ส่วนคดีหมิ่นประมาทฯ กองทัพบก ขณะนี้มีเพียงคดีเดียวที่ตนได้รับมอบอำนาจให้ยื่นฟ้อง
ขณะที่นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของนายทักษิณ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการแถลงว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ แต่ขณะนี้ก็ไม่ทราบว่าอยู่ประเทศใด ซึ่งการที่ศาลได้มีคำสั่งออกหมายจับเป็นไปตามกระบวนการ

ยิ่งลักษณ์ออกจม.ถึงประยุทธ์ ขอหลักประกันแห่งความยุติธรรม ปมจำนำข้าว



        12 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Yingluck Shinawatra’ ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมาตรี ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และนายกรัฐมนตรี ขอหลักประกันแห่งความยุติธรรม
โดยมีรายละเอียดดังนี้
        ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ ทำจดหมายเปิดผนึกถึงท่าน เพราะดิฉันไม่มีโอกาสได้พบและติดต่อใด ๆ กับท่านมานับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ท่านได้เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลากว่า 1 ปีเศษแล้ว ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ดิฉันได้ถูกดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ทั้งที่เป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา เกี่ยวกับ “นโยบายรับจำนำข้าว” ดังนี้


  • 1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ดำเนินการถอดถอนดิฉันออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่ ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีอยู่และรัฐธรรมนูญได้สิ้นสุดลงแล้ว
  • 2. มีการแถลงสั่งฟ้องคดีดิฉันต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนหน้าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติถอดถอนดิฉัน เพียง 1 ชั่วโมง
         ทั้ง 2 กรณี ท่านอาจจะกล่าวได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับท่านโดยตรง เพราะเป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อัยการสูงสุด และของศาลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งที่ดิฉันจะกล่าวต่อไปนี้ล้วนเกี่ยวกับตัวท่านโดยตรงทั้งสิ้น คือ

         การดำเนินการให้มีการเรียกร้องค่าเสียหายทางคดีแพ่งต่อการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว ที่ท่านออกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2558 และท่านยืนยันว่า “ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก หากผิดก็มีกลไกอยู่แล้ว เรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายทางคดีแพ่ง และยืนยันใช้มาตรฐานเดียวกับทุกพวกทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ”

       ดิฉันคาดหวังว่า ท่านคงต้องให้นโยบายต่อคณะกรรมการฯ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยไม่ละเลยประเด็น “ความยุติธรรม” ตามกลไกของระเบียบที่มีอยู่อย่างไม่เร่งรีบและไม่รวบรัด ให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอและเป็นธรรม
       ตามที่ปรากฏต่อสาธารณะโดยทั่วไปว่าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลของท่าน มีความหนักใจที่รัฐต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายซึ่งต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาลเป็นจำนวนมาก แต่ในอดีตที่ผ่านมาถือได้ว่า “ศาล” เป็น “กลไกตามกระบวนการยุติธรรม” เพื่อการเรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่ง ซึ่งต้องใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริต
        แต่ฝ่ายกฎหมายของท่านกลับ “พลิกมุมกฎหมายและกลไก” ในการเรียกค่าเสียหายใหม่ โดยหากพบว่ามีความผิด รัฐจะไม่ฟ้อง แต่ใช้วิธีให้ท่านออกคำสั่งทางปกครอง (โดยไม่ต้องเข้าคณะรัฐมนตรี) สั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องชำระหนี้เหมือนคำสั่งยึดทรัพย์ เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมในการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จะต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งเท่ากับว่าท่านได้ใช้อำนาจหน้าที่ของท่านเสมือนหนึ่งเป็นคำพิพากษาของศาล เป็นกลไกในการชี้ถูกผิดว่าจะให้ผู้ใดรับผิดชอบในค่าเสียหายต่อการดำเนินนโยบาย รับจำนำข้าว ทั้งที่การพิจารณาคดีของศาลในคดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น
         ดิฉัน เห็นว่าเรื่องที่ดิฉันกล่าวมาทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องระหว่างตัวของดิฉันในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีผู้เคยดูแลการแก้ปัญหาสินค้าข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม มีกลไกบริหารนโยบาย คือ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว โดยมีท่านเป็นประธาน
         อย่างไรก็ตามที่ดิฉันเสนอว่าควรให้ศาลเป็นผู้พิจารณานั้น เพราะดิฉันเห็นว่า ทุกคนควรได้รับ “หลักประกันแห่งความยุติธรรม” ที่จำต้องมี เพราะการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าวเป็นการกระทำทางการบริหารตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันกับส่วนราชการหลายส่วนที่ต้องปฏิบัติงาน ดังนั้น เพื่อความโปร่งใสและคงไว้ซึ่งความเป็นกลาง ท่านในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีตำแหน่งเป็น “ประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว และในฐานะนายกรัฐมนตรี” ที่ต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาในเรื่องข้าวในขณะนี้ ซึ่งอาจเห็นแตกต่างกันในเชิงนโยบายและกลไกในการบริหารนโยบายในเรื่องข้าวในอดีต ที่ในสมัยรัฐบาลดิฉันได้ดำเนินนโยบายดังกล่าวไป จึงมิใช่ “ผู้ที่เป็นกลาง” แต่เป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” เพราะเห็นต่างกันในนโยบายการแก้ปัญหาในเรื่องข้าว ดังนั้นการใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นผู้ตัดสินความถูกผิดโดยการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อสั่งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระค่าเสียหาย ทั้ง ๆ ที่ศาลยังไม่มีคำตัดสิน ถือเป็นการขัดต่อ “หลักนิติธรรม” อย่างยิ่ง

         ดิฉันจึงเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ดิฉันขอให้ท่านควรจะได้มีการดำเนินการดังนี้

  • 1. พิจารณาทบทวน และยุติการดำเนินการใด ๆ ที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลเสนอ และดำเนินการให้ท่านใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าวในปัจจุบัน ลงนามทำคำสั่งทางปกครองใดๆ อันขัดต่อหลักความเป็นกลาง และเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อมีคำสั่งให้บุคคลใดชำระหนี้ค่าเสียหาย อันเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าว ที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา แทนการพิจารณาและพิพากษาคดีของศาล
  • 2. ภายหลังการสอบสวนโดยกระบวนการสอบสวนที่ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เสร็จสิ้น หากพบความเสียหาย รัฐเองควรให้หน่วยงานของรัฐฟ้องคดีต่อศาล เพื่อแสดงให้เห็นว่าท่านมีความยุติธรรมและเที่ยงธรรมต่อทุกคนที่ถูกกล่าวหา
  • 3. การพิจารณาคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่เสร็จสิ้น และอายุความในคดียังเหลือเวลาอีกนาน ตามที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลแถลง จึงไม่ควรเร่งรีบ รวบรัด ในการทำสำนวนการตรวจสอบความรับผิดทางละเมิด ควรให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องหรือผู้เสียหายได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอ และเป็นธรรมต่อดิฉัน ซึ่งดิฉันได้มีหนังสือหลายฉบับมายังท่านและคณะกรรมการฯ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาและไม่แจ้งเหตุ ซึ่งท่านสามารถตรวจสอบความมีอยู่จริงของหนังสือนั้นได้
        ทั้งนี้ดิฉันได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นหนังสือถึงท่านในวันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล และหวังว่าเมื่อท่านได้รับหนังสือแล้ว ท่านคงจะไม่เพิกเฉย และจะได้พิจารณาด้วยความเป็นธรรม เพราะท่านได้ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

เว็บไซต์ข่าวพม่าถูกแฮ็ก แถมกุข่าวออง ซาน ซูจีป่วยเป็นมะเร็งรังไข่

ภาพหน้าแรกของเว็บไซต์อิระวดีภาคภาษาพม่าที่ถูกแฮก เมื่อวันที่ 12 ต.ค. เวลา 09.12 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ที่มา: สำนักข่าวอิระวดี)

ในขณะที่บรรยากาศการเมืองในพม่ากำลังทวีความเข้มข้นเนื่องจากจะมีการเลือกตั้งทั่วไป 8 พฤศจิกายนนี้ ล่าสุดเมื่อเช้าวันจันทร์เว็บไซต์ของสำนักข่าวอิระวดี ภาคภาษาพม่า ถูกแฮกอีกคำรบ และถูกโพสต์ข่าวปลอมกล่าวหาว่า "ออง ซาน ซูจี" เป็นมะเร็งรังไข่
12 ต.ค. 2558 - เช้าวันจันทร์นี้เว็บไซต์สำนักข่าวอิระวดี ภาคภาษาพม่า ถูกแฮกเป็นครั้งที่ 2 ในรอบไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยแฮกเกอร์ไม่ทราบฝ่ายดังกล่าวยังโพสต์ข่าวปลอมแถมหาว่าออง ซาน ซูจี เป็นมะเร็งรังไข่
สำนักข่าวอิระวดี รายงานวา โดยข่าวปลอมที่ถูกแฮกเกอร์โพสต์ดังกล่าว ได้กุเรื่องสุขภาพของออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านพม่า  โดยปลอมบทสัมภาษณ์แพทย์ประจำตัวออง ซาน ซูจี โดยหาว่าผู้นำฝ่ายค้านของพม่าเป็นมะเร็งรังไข่ นอกจากนี้ข่าวปลอมดังกล่าวซึ่งมีวัตถุประสงค์มุ่งดิสเครดิตผู้นำพรรคเอ็นแอลดี ยังแพร่ข่าวความสัมพันธ์ระหว่างออง ซาน ซูจี และผู้นำชายคนอื่นในพรรค
เว็บไซต์อิระวดี ภาคภาษาพม่า ยังถูกแฮกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9 ต.ค.) ทำให้ไม่สามารถเปิดอ่านได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง
ขณะที่ยังไม่ทราบถึงแรงจูงใจของแฮกเกอร์ แต่การโจมตีทางไซเบอร์ต่อเว็บไซต์ของสื่อพม่าดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่มีความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศ และเป็นช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าในอีก 4 สัปดาห์ข้างหน้า หรือ 8 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
สำนักข่าวอิระวดีให้ข้อมูลด้วยว่า เว็บไซต์ของสำนักข่าวทั้งภาคภาษาพม่าและภาษาอังกฤษถูกแฮกหลายครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งนี้เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน แฮกเกอร์ซึ่งเรียกตัวเองว่า "Blink Hacker Group" ได้แฮกเว็บและเปลี่ยนหน้าภาษาอังกฤษเป็นข้อความที่กล่าวหาสำนักข่าวอิระวดีว่าสนับสนุนกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง
ขณะเดียวกัน บรรยากาศการเมืองในพม่าค่อนข้างละเอียดอ่อน เนื่องจากกลุ่มพุทธสุดโต่ง "มะบะต๊ะ" พยายามเข้ามามีอิทธิพลทางการเมือง และบีบให้พรรคการเมืองหลักทั้งพรรครัฐบาล พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา หรือยูเอสดีพี และพรรคฝ่ายค้าน เอ็นแอลดี ไม่ส่งผู้สมัครที่เป็นมุสลิม