วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อิหร่านและระบอบเทวาธิปไตย

อิหร่านและระบอบเทวาธิปไตย

ผู้เขียนจะขอวิเคราะห์ผ่านโครงสร้างทางการเมืองและการปกครองของอิหร่านรวมไปถึงบริบทการเมืองรอบข้าง แต่ก่อนอื่นในที่นี้ขอนิยามของการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบง่ายๆ คือการปกครองของประชาชนที่ประชาชนมีส่วนร่วมหรือมีอำนาจปกครองตัวเองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกหมู่เหล่า
(จากเว็บไซต์ของบีบีซี)
โครงสร้างเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าอิหร่านมีโครงสร้างที่ผสมผสานระหว่างรัฐสภาแบบตะวันตกอันมีประมุขสูงสุดคือ ประธานาธิบดี (President) และรัฐสภา (Parliament) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (Electorate) ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ที่ต้องได้รับการยอมรับจากรัฐสภา อย่างไรก็ตามอิหร่านมีสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอันได้แก่ท่านประมุขสูงสุด (Supreme Leader) ท่านเป็นผู้รับรองผลลัพธ์การเลือกตั้งประธานาธิบดี และยังมีอำนาจแต่งตั้งสถาบันสำคัญอื่นๆ คือกองทัพ (Military)  ประมุขฝ่ายตุลาการ (Head of Judiciary) และ Expediency council (สภาพิเศษซึ่งทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐสภาและ สภาผู้ชี้นำ (Guardian council)  หรือแม้แต่สภาอีกสภาหนึ่งคือสภาผู้ชำนาญการ (Assembly of experts) ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งท่านประมุขสูงสุดและมีอำนาจในการปลดออกถ้าท่านประมุขสูงสุดกระทำความผิดร้ายแรง
ถ้าเราพิจารณาเส้นเชื่อมโยงแล้วก็ถือได้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบทางอ้อม (Indirect Democracy) เพราะประชาชนเป็นผู้เลือก สภาผู้ชำนาญการ ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งหรือรับรองท่านประมุขสูงสุด ดังนั้นไม่มีสถาบันไหนเลยที่ไม่ได้มาจากประชาชนเพียงแต่ว่าจะมาจากการมีอิทธิพลโดยตรงหรือทางอ้อม (อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างระหว่างคำว่า elect อันแปลว่า"เลือกตั้ง" กับ appoint อันแปลว่า "แต่งตั้ง" หรือ approve อันแปลว่า "รับรอง" )  เรื่องเช่นนี้ก็เหมือนกับสหรัฐฯ ที่ ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีไม่ใช่ประชาชนเลือกโดยตรงเหมือนกันระบบเวสมินสเตอร์ ของอังกฤษที่คณะรัฐมนตรีมักมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (แต่คณะรัฐมนตรีของสหรัฐฯ ต้องได้รับการยอมรับจากวุฒิสภาเสียก่อน)
อย่างไรก็ตามสถาบันสุดท้ายที่ต้องหยิบมาพิจารณาคือสภาผู้ชี้นำที่สมาชิกมาจากการเลือกของรัฐสภา 6 คน (ทั้งหมดเป็นปราชญ์ทางกฎหมายหรือตุลาการ)และจากการแต่งตั้งของท่านประมุขสูงสุดกับหัวหน้าตุลาการ 6 คน(ทั้งหมดเป็นนักเทววิทยา) สถาบันนี้ถือว่าทรงอิทธิพลที่สุด มีบทบาทสำคัญคือเป็นผู้รับรองกฎหมายที่ผ่านจากสภาว่ามีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายของอิสลามหรือไม่ ที่สำคัญยังเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประธานาธิบดีและ สภาผู้ชำนาญการ  อย่างเช่นในการเลือกตั้งของปี 2013 นี้จากเดิมมีผู้มาสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมีจำนวน  686  คน แต่ก็ถูกคัดเลือกให้มีคุณสมบัติเหมาะสมเพียง 8 คน  คนที่ถูกตัดสิทธิก็มักจะเป็นพวกกลุ่มเสรีนิยมหรือปฏิรูปนิยม ที่ชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคือนาย   อักบาร์ ฮัสเชมี ราฟซานจานีซึ่งเคยเป็นประธานาธิบดีของอิหร่านหัวเสรีนิยมในช่วงปี 1989-1997  และที่น่าสนใจคือผู้หญิง 30 คนที่ลงสมัครก็ถูกสภาผู้ชี้นำตัดสิทธิ์อันสะท้อนถึงความเหยียดเพศสุดขั้วของพวกอนุรักษ์นิยม อิหร่านจึงแทบหมดโอกาสในการมีประธานาธิบดีผู้หญิง
ถ้าหากมองในเชิงอุดมคติ การเมืองอิหร่านมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยแบบมุ่งให้มีการคานอำนาจกันระหว่างสถาบันที่เลือกตั้งโดยตรงกับทางอ้อมที่อิงอยู่หลักศาสนา ถ้าประชาชนมีอำนาจในการเลือกท่านประมุขสูงสุดอย่างจริงๆ อย่างที่เรียกกันว่าอย่างเสรีและยุติธรรม (free and fair) แต่การที่โครงสร้างทางการเมืองอิหร่านกำหนดให้อำนาจมีการล็อกตัวเองแบบงูกินหาง คือท่านประมุขสูงสุดสามารถกำหนดให้สภาผู้ชี้นำเลือกเอาบุคคลที่อยู่ในอำนาจได้เข้ามาในสภาผู้ชำนาญการ ที่จะเลือกท่านประมุขสูงสุด จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าเหตุใดในเวลากว่า 30 ปี ท่านประมุขสูงสุดจึงมีผู้ดำรงตำแหน่งเพียง 2 คน คือ               อายะตุลลอฮ์  โคมัยนี และ อายะตุลลอฮ์ คามัยนัย สิ่งอื่นๆ ที่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนคืออำนาจของประธานาธิบดีในฐานะตัวแทนของประชาชนก็มีขีดจำกัดไม่สามารถควบคุมกองทัพซึ่งเป็นเครื่องมือในการถือครองอำนาจของรัฐ ท่านประมุขสูงสุดยังมีอำนาจบัญชาการพลเรือนติดอาวุธอย่างเช่นบาซิจในการควบคุมความสงบเรียบร้อยของประเทศซึ่งแท้ที่จริงมีไว้เพื่อเข้าปราบปรามกลุ่มผู้เป็นปรปักษ์ของรัฐบาล  รวมไปถึงสื่อมวลชนเช่นโทรทัศน์หรือวิทยุของอิหร่านซึ่งสมควรจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดตามระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญท่านประมุขสูงสุดยังมีอิทธิพลเหนือนโยบายพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ดังนั้นตะวันตกจึงไม่สามารถเจรจากับประธานาธิบดีอิหร่านในเรื่องนี้ได้เลย
อิหร่านจึงมีการปกครองคือประชาธิปไตยแบบอิหร่านหรือประชาธิปไตยผสมเทวาธิปไตย (Theocracy) ไม่ใช่ประชาธิปไตยตามความหมายของตะวันตก หลักฐานที่ชัดเจนได้แก่การพิจารณาดัชนีความเป็นประชาธิปไตยที่จัดทำโดย Economist Intelligence Unit ที่บ่งชี้ความเป็นประชาธิปไตยของ 167 ประเทศทั่วโลกในปี 2011 แล้วจะพบว่าอิหร่านอยู่ในอันดับ 159 พร้อมกับผู้สำรวจได้ระบุว่ามีการปกครองแบบระบบการปกครองแบบเผด็จการแบบอำนาจนิยม (Authoritarian regime)   กระนั้นการปกครองเช่นนี้ไม่ได้ดีหรือร้ายในตัวเอง ถ้ามองในเชิงอุดมคติแล้ว น่าจะเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำเพราะท่านประมุขสูงสุดและสภาผู้ชี้นำเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายอิสลามน่าจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ประเสริฐ มีการพิจารณาตัวผู้สมัครตามหลักของศาสนา ด้วยแต่ละประเทศในโลกนี้ล้วนมีลักษณะโครงสร้างทางการเมือง วัฒนธรรมการเมืองที่แตกต่างกันออกไป ประชาธิปไตยของอิหร่านจึงไม่ใช่ของประชาชนและโดยประชาชนเสียทั้งหมด แต่มีพระผู้เป็นเจ้าทรงมาช่วยชี้นำทาง เพื่อยังผลประโยชน์แก่ประชาชน
อย่างไรก็ตาม ได้เกิดการรุกฮือขึ้นประท้วงของชาวอิหร่านทั่วประเทศเมื่อปี 2009 ที่แสดงความไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งได้นักการเมืองหัวขวาตกขอบเช่นนายอะห์มะดีเนจาดมานั่งเก้าอี้อีกครั้ง (วาระแรก 2005-2009)  รัฐบาลทำการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคนและมีผู้ถูกจับกุมกว่า 4,000 คน จะด้วยเหตุผลอย่างไรของฝ่ายปกครองเช่นว่า ผู้ประท้วงถูกตะวันตกล้างสมองหรือปลุกปั่นหรือเป็นคนบาป ไม่รักชาติ ฯลฯ ฝ่ายรัฐบาลเองก็ใช้หลักตรรกะเช่นเดียวกับในหลายประเทศที่ปฏิบัติกับผู้ประท้วงราวกับเป็นผู้ก่อการร้าย จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักคำสอนทางศาสนาอิสลามที่เน้นสันติวิถี ประชาธิปไตยแบบอิหร่านจึงเป็นการนำเอาศาสนามารับใช้การเมืองและยังส่งผลถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพราะในสถาบันการเมืองล้วนเต็มไปด้วยนักการศาสนาหัวอนุรักษ์นิยมที่เน้นนโยบายแบบเหยี่ยวเพื่อสร้างอำนาจของประเทศตนเหนือภูมิภาคตะวันออกกลางเช่นเป็นปรปักษ์กับซาอุดิอาระเบียและกับอิสราเอลรวมไปถึงสหรัฐฯ  
อนึ่งถ้าอิหร่านเป็นมิตรกับตะวันตกเสมอมาอย่างเช่นประเทศในเอเชียกลาง ซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน อิหร่านก็จะไม่มีปัญหากับตะวันตกถึงจะเป็นเผด็จการ เพราะความเป็นผู้มือถือสากปากถือศีลของตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ  เอง อย่างไรก็ตามตั้งแต่ ปี 1979 ที่ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯขาดสะบั้นเพราะนักศึกษาหัวรุนแรงของอิหร่านยึดครองสถานทูตและการจับเจ้าหน้าที่ในสถานทูตเป็นตัวประกันของไว้นานกว่า 444 วัน  มีหลายครั้งที่กลุ่มผู้นำหัวเสรีนิยมของอิหร่านพยายามคืนดีกับสหรัฐฯ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็ถูกสกัดกั้นโดยหัวอนุรักษ์นิยมด้วยความเกรงว่าอิทธิพลของสหรัฐฯจะเข้ามาแทรกแซงอำนาจของตน ในขณะที่สหรัฐฯ เองพร้อมจะคืนดีกับอิหร่านเพราะต้องการมีอิทธิพลแทรกแซงในตะวันออกกลางแข่งกับมหาอำนาจอื่นเช่นรัสเซีย ผู้นำหัวอนุรักษ์นิยมผู้จุดประกายกระแสเกลียดสหรัฐฯ ก็คงไม่พ้นผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านคือโคมัยนีในช่วงปฏิวัติ 1979  ซึ่งท่านเองก็มีเหตุผลเหมือนกันเพราะตะวันตกเคยเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากอิหร่านในเรื่องน้ำมันโดยสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการของ พระเจ้าชาห์ ปาห์ลาวี มาก่อน
สุดท้ายนี้แน่นอนว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ในปี 2013  ถึงแม้จะมีใครเป็นประธานาธิบดี นโยบายการต่างประเทศของอิหร่านก็จะเหมือนเดิมเพราะ 8 คนที่หลุดเข้ามาได้ก็เป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่เป็นเด็กดีของคามัยนัยซึ่งจำบทเรียนจากกรณีพยศของนายอะห์มะดีเนจาดซึ่งเคยเป็น "เด็กดี" มาก่อนแต่ก็ต้องมาพยศแย่งชิงอำนาจคามัยนัยในภายหลัง  ดังนั้นจึงคาดเดาได้ว่าปฏิกิริยาของอิหร่านต่อตะวันตกหลังการเลือกตั้งจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร นอกจากการกลยุทธ์ของฝ่ายอนุรักษนิยมเพียงฝ่ายเดียว

สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาประกาศยุติการชุมนุม

สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาประกาศยุติการชุมนุม


15 มิ.ย. 56 - สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ประกาศยุติการชุมนุม เผยแม้จะมีข้อตกลงที่ดีร่วมกัน แต่พร้อมชุมนุมอีกหากรัฐบาลเบี้ยว โดยรายละเอียดของแถลงการณ์ทั้งหมดมีดังต่อไปนี้


แถลงการณ์สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา
ฉบับที่ 2/2556 วันที่ 15 มิถุนายน 2556


         ประกาศยุติการชุมนุมอย่างสงบ สันติ อหิงสา หลังจากที่พวกเราออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนหัวนา มาตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2556 มาถึงวันนี้เป็นเวลา 4 วัน เพื่อติดตามการประชุมเจรจาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวที่มีรองนายกรัฐมนตรี นสพ.ยุคคล ลิ้มแหลมทอง เป็นประธาน ในวันที่ 14 มิถุนายน 2556 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล จากผลการประชุมถือเป็นมติร่วมกัน 3 ข้อ ดังนี้
  • 1. รัฐบาลพร้อมจะจ่ายค่าชดเชยที่ดินทำกิน (ค่าขนย้าย) ให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบในราคาไร่ละ 45,000 บาท และพร้อมที่จะจัดสรรที่ดินแปลงอพยพให้กับราษฎรอย่างยุติธรรม
  • 2. รัฐบาลพร้อมจะจ่ายค่าชดเชยในขอบเขตน้ำท่วมถึงจริง โดยจะนำเสนอให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
  • 3. รัฐบาลพร้อมดำเนินการตามแผนงานลดและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนหัวนา

        บัดนี้ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าราษฎรผู้ได้รับผลกระทบในนามสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาได้เคลื่อนไหวมานานกว่า 15 ปี และผ่านรัฐบาลมาแล้ว 10 รัฐบาล เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจ ด้วยกระบวนมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง จากผลการดำเนินการร่วมกับรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยรองนายกรัฐมนตรี นสพ.ยุคคล ลิ้มแหลมทอง และกรมชลประทาน ทำให้การแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมานามได้มีแนวทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นตามข้อความข้างต้น

         บัดนี้แม้ว่าการประชุมร่วมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ จะมีข้อตกลงที่ดีร่วมกัน แต่จะต้องเร่งรัดให้เกิดการจ่ายค่าชดเชยให้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม เราจะติดตามการแก้ไขปัญหาร่วมของรัฐบาลและกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด และจะมีไม่ยอมให้กระบวนการแก้ปัญหายืดเยื้ออีกต่อไป เพราะเพื่อนเรา พ่อ แม่พี่น้องเรา ได้เสียชีวิตไปแล้วหลายคน การสร้างเขื่อนที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ก็จะเกิดปัญหาสังคมตามอีกมากมาย ซึ่งจะต้องเป็นบทเรียนราคาแพงในการพัฒนาประเทศนี้ต่อไป เราจึงขอประกาศว่า

         พวกเราไม่ใช้ผู้ที่จะต้องเสียสละ แต่พวกเราเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนาที่พวกเราไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจมาตั้งแต่ต้น รัฐบาลจะต้องจ่ายค่าชดเชย เพื่อทดแทน ให้กับพวกเราอย่างยุติธรรม โดยมีตัวชี้วัด คือ วิถีชีวิตของพวกเราจะต้องดีขึ้นกว่าเดิม ไม่เช่นนั้นเราจะออกมาเคลื่อนไหวโดยไม่มีที่สิ้นสุดหากวิถีชีวิตของพวกเราเลวร้ายลง

        สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาจึงขอประกาศยุติการชุมนุมในครั้งนี้ ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2556  แต่พวกก็เราพร้อมที่ออกมาชุมนุมอย่างสันติ อหิงสา เพื่อรักษาสิทธิ์และกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ภาครัฐได้ละเมิดสิทธิของเรากลับคืนจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ 
          
สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา
15 มิถุนายน 2556
ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา

หน้ากากขาวคือกลุ่มเดิม คนน้อยก็ปิดหน้ากากซะ

"ภูมิธรรม" ฟันธง! "หน้ากากขาวคือกลุ่มเดิม คนน้อยก็ปิดหน้ากากซะ"

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เขาถูกเชิญตัวเข้าบ้าน "เกษะโกมล" ไปพบผู้นำยึดอำนาจเขาเป็นคนที่ถูกคณะรัฐประหารมองว่าเป็น "สายเหยี่ยว" และเป็น "หัวใจ" ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นคนหนึ่งที่ "พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เค้นความลับมากที่สุด
วันนี้ "ภูมิธรรม เวชยชัย" ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แก้ต่างว่า ตนเองไม่เคยเป็น "สายเหยี่ยว" แต่เป็น "สายพิราบ" 

พุทธศักราช 2556 จังหวะที่ "พรรคเพื่อไทย" กำลังถูกรุมกระหน่ำจากขบวนการสมคบคิดล้มล้างรัฐบาล "ภูมิธรรม" จึงใช้สายตาของ "เหยี่ยว" อ่านกับดักในมือศัตรู มองทะลุ "หน้ากาก" ที่ปกปิดใบหน้าอันแท้จริง

เขายืนยันกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กลุ่มอำนาจเก่าไม่สามารถเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลได้ง่ายเหมือนในอดีตอีกแล้ว !! 

- มีกลุ่มจ้องล้มรัฐบาลจริงหรือไม่

ไม่อยากจะพูดสรุปว่าเป็นอย่างไร สาธารณชนน่าจะมีวิจารณญาณที่สุด ถ้าดูจากประสบการณ์ทางการเมืองก็มีความพยายามที่จะขยับกันเข้ามา จะโดยรู้เห็นเป็นใจ ร่วมไม้ร่วมมือกันหรือไม่ ก็ต้องมาวิเคราะห์ แต่หลายส่วนเป็นเรื่องที่เขาเดือดร้อนจริงมีปน ๆ กัน บางทีไปพูดว่าล้มรัฐบาล มันอาจไปเหมารวมทั้งหมด ไม่ตรงความเป็นจริง

แต่ถ้าถามว่ามีกลุ่มที่คิดไม่เอารัฐบาลมีบ้างไหม เขาก็ประกาศตัวชัดเจนว่า เขาไม่อยากเอารัฐบาลนี้ บางส่วนก็ยังไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ ต้องจับตาดูต่อว่าเขามุ่งหวังเจตนาอะไร นอกจากนี้เวลานี้มีเรื่องรุมเร้าเข้ามาหลายอย่าง เนื่องจากรัฐบาลได้แถลงต่อประชาชนในเรื่องที่จะทำ ไม่ทำก็เสียหาย แต่เมื่อทำแล้วยังมีปัญหา ก็ค่อย ๆ หาทางออก ตลอดเวลาที่เป็นรัฐบาลมา 2 ปี ทำได้แค่นี้ก็ช้ามาก

แล้ว เพราะอุปสรรคมันเยอะ แต่เราไม่สิ้นความอดทนวันนี้มีข่าวลือเยอะ กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ คนนั้นคนนี้ นักธุรกิจส่วนนั้นส่วนนี้ สนับสนุนเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กลุ่มมวลชน กลุ่มที่ไม่เอารัฐบาล พยายามจะขับเคลื่อนล้มรัฐบาล ผมก็ไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้วมีมากมีน้อย แต่จะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร ก็ต้องสนับสนุนบนพื้นฐานของวิถีประชาธิปไตย 

- ทำไมนโยบายของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยถึงติดกับดักตลอดเวลา

แนวนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เป็นนโยบายมุ่งแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ หลายนโยบายมีลักษณะคิดนอกกรอบ ออกไปจากกรอบเดิมที่เคยปฏิบัติ ความจริงถ้าทำให้มันง่ายและดีที่สุดโดยคำนึงถึงแต่ตัวเราเองก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ทำไปตามกรอบที่เป็นอยู่ก็สบาย 

แต่การเมืองไทยเป็นอย่างนี้มานานแล้ว และคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร สิ่งที่เราพยายามทำคือพยายามคิดกรอบใหม่ ๆ เพื่อทำให้การบริหารจัดการทั้งหมดมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าคิดสิ่งใหม่ก็มีจุดอ่อน บางทีเป็นเรื่องบกพร่องที่เราคาดการณ์ไม่ถึง บางทีทำดีแล้ว แต่การประชาสัมพันธ์ไม่เพียงพอ เช่น นโยบายจำนำข้าว วันนี้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่บริหารโครงการต้องหยิบเอารายละเอียดมา 

ความจริงต้องเข้าใจว่าการทำจำนำข้าว คือการดูแลเกษตรกร หรือดูแลคนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้คิดเรื่องกำไร หรือขาดทุน คิดแต่ว่าดูแลเกษตรกรอย่างไร ขาดทุนก็ยังต้องยอม 

ในอดีตพรรคประชาธิปัตย์เคยทำเรื่องประกันราคาข้าว ปีหนึ่งขาดทุนเกือบแสนล้านบาทเหมือนกันเขามีหน้าที่ไปดูแลเกษตรกร ดังนั้นเรื่องการขาดทุนจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ 

- การทำงานของรัฐบาลตอนนี้ถือว่าเพลี่ยงพล้ำให้ฝ่ายตรงข้ามหรือไม่

ผมไม่คิดว่าเพลี่ยงพล้ำหรือไม่ แต่เรายังเดินหน้าทำในสิ่งที่ยึดมั่น เชื่อมั่น และสิ่งที่เราตัดสินใจทำให้ประชาชน เพียงแต่เราอาจใช้เวลาประชาสัมพันธ์งานน้อยไป นายกฯก็มุ่งมั่นทำงานไป รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ไปผลักดันนโยบายจนลืมชี้แจงประชาชนคู่ขนาน 

วันนี้เราต้องปิดจุดอ่อนที่เราให้ความสำคัญน้อยให้มันมากขึ้น ต้องชี้แจงทำความเข้าใจมากขึ้น แล้วหลายเรื่องผมคิดว่าถ้าเอามาแบให้เขาดูแล้วคนจะเข้าใจ

- ประเมินว่าฝ่ายตรงข้ามจะใช้วิธีเดิม ๆ ในการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือไม่ 

เราไม่ประมาท ก็พยายามจะดูว่ามีตำหนิติเตียนอะไร เคลื่อนไหวยังไง หน้าที่ของเราก็มีเพียงทำให้ประชาชนได้เห็น ได้ทราบ แล้วเราก็มุ่งมั่นทำงานของเราให้เต็มที่ และต้องใช้วิจารณญาณให้มากหน่อย ไม่ยอมตกไปอยู่ในหลุมพรางของเขาที่พยายามขุดล่อเรา อะไรที่หลีกเลี่ยงได้ก็หลีกเลี่ยง อะไรที่เป็นหลักการก็ให้ประชาชนตัดสินใจ ผมคิดว่าต้องสู้กันอย่างนี้ ใครที่เป็นฝ่ายยืนอยู่ข้างการเปลี่ยนแปลงที่อำนวยประโยชน์ให้คนส่วนใหญ่ หรือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประเทศสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น คนนั้นก็จะได้รับการปกป้องดูแลจากคนส่วนใหญ่ 

- ประเมินไพ่ในมือศัตรูอย่างไร 

ผมไม่ค่อยสนใจไพ่ในมือศัตรูเท่าไหร่ ผมสนใจเพียงว่าเรายืนหลักตัวเองให้มั่น ทำความเข้าใจประชาชนให้เยอะ ทำสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนให้หมด และรับฟังข้อคิดเห็นดี ๆ จากมิตร เพื่อนมิตร และรับฟังข้อคิดเห็นดี ๆ จากคนที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย เอามาใช้แก้ปัญหาให้มากที่สุด

- วันนี้มิตรอย่างคนเสื้อแดงบางฝ่ายก็แปรพักตร์ ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำอยู่บางเรื่อง

เป็นเรื่องธรรมดา ผมไม่ได้คิดว่าเป็นวิกฤตที่น่ากังวลใจหรือห่วงใย แม้คนเสื้อแดงส่วนใหญ่จะมีความไม่สบายใจบ้าง ก็วิจารณ์บนพื้นฐานที่รัก และอยากเห็นระบอบประชาธิปไตยเดินหน้า และเราพยายามตอบสนองคนทุกส่วนให้มากที่สุดและแก้ปัญหา ลำพังเพียงตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่กับแก้ปัญหาให้ได้มันก็หนักแล้ว ยังมีแรงต้านจากคนที่คอยเตะขัดขาอีก มันก็เป็นความยากลำบากมากขึ้น 

- ยังมั่นใจว่ามีเสียงข้างมากจะอุ้มรัฐบาลต่อไปได้

วันนี้ขอให้รักษาระบอบประชาธิปไตย รักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ แต่ถ้าดูจากการเลือกตั้งใน กทม.ก็ถือว่าครึ่ง ครึ่ง หรือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็ห่างกันไม่ถึง 2-3 เปอร์เซ็นต์ ผมไม่คิดว่าฝ่ายที่รักษาอำนาจเดิมของกลุ่มตนจะมีพลังที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามใจปรารถนาของตัวเอง วันนี้กระแสโลกเป็นกระแสประชาธิปไตย แล้วเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ตื่นตัวขึ้นมาไม่เหมือนในอดีต เพราะเป็นสังคมข่าวสาร การรับรู้ของคนมันกว้างขวางขึ้น ทุกฝ่ายต้องปรับตัว ฝ่ายที่ต้านการเปลี่ยนแปลงเขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้ถนัดเหมือนเดิม ผมไม่เชื่อว่าเขาจะประสบความสำเร็จได้ทุกครั้ง 

- การออกมาเคลื่อนไหวของหน้ากากขาวก็ไม่มีพลังพอที่จะล้มรัฐบาลได้เหมือนที่กลุ่มพันธมิตรฯเคยทำ

กลุ่มหน้ากากขาวในสายตาผมก็เป็นสิทธิที่จะเคลื่อนไหวแสดงออก แต่ความเป็นจริงก็คือคนกลุ่มเดิม แต่เปลี่ยนรูปแบบ ในเมื่อเขารู้ว่าไม่มีคนจำนวนมากยืนอยู่ข้างเขา เขาก็ใช้คนจำนวนน้อยปกปิดใบหน้า แล้วทำให้เห็นว่ามีอยู่ทั่ว ๆ ไป 

- เป็นเรื่องปกติหรือไม่ที่กลุ่มต่าง ๆ 

หาเรื่องมาดิสเครดิตรัฐบาล ในช่วงที่รัฐบาลบริหารประเทศมาครึ่งเทอม เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมไทย มีแค่ยุคไทยรักไทยเท่านั้นที่พิสูจน์ตนเองได้ว่าครบ 4 ปี ที่ผ่านมาเราไม่อดทนพอเหมือนกับสังคมประชาธิปไตยที่เขาพัฒนาแล้วที่รอไป แต่หน้าที่เราไม่มีปัญหา ยิ่งเขาออกมาเคลื่อนไหวก็เหมือนกับเป็นกระจกช่วยเราส่อง บางเรื่องเกินความจริงเราก็ต้องระมัดระวัง ที่สำคัญเราต้องยืนยันว่านายกฯ รัฐบาล เราไม่มีเจตนาหาประโยชน์ หรือคอร์รัปชั่นจากการทำนโยบายต่าง ๆ 

- หลังจากนี้รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน และบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เต็มสูบ

เราชัดเจนตลอดว่าเราจะทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนจะทำไปได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงของประเทศ ติดขัดตรงไหนก็ต้องว่ากัน 

- กลัวติดกับดักไหม เพราะโครงการ 2 ล้านล้าน ฝ่ายค้านเตรียมไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส่วนโครงการน้ำ ป.ป.ช.ก็จับตาการทุจริต

ถ้าเรามั่นใจว่าเราคิดดีกับประเทศและคนส่วนใหญ่ และยอมรับฟัง ยินดีรับฟังคนที่มองจากมุมนอก ก็ไม่น่ามีอะไรน่ากังวลใจ การตรวจสอบ คอยดูแล เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว อย่างเรื่องน้ำ พอรู้ว่า ป.ป.ช.สนใจ คนของรัฐบาลก็เข้าพบทำความเข้าใจ

- พรรคเพื่อไทยมักมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. คือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล กลัวไหมว่าจะติดกับดัก

ผมไม่เคยพูดว่าอยู่คนละฝ่ายกับเรา แต่เมื่อกลไกต่าง ๆ ไม่เอื้ออำนวยนัก ก็ต้องไปพึ่งประชาชนเป็นหลัก แต่ไม่น่ากังวลใจอะไร เมื่อถึงที่สุด ทุกอย่างก็ต้องเดินไปตามหลักการที่ถูกต้อง ไม่มีใครสามารถบิดพลิ้วหลักการ หรือหลักที่ดี ๆ ถูกต้องไปได้ 

- ถ้ารัฐบาลผลักดันโครงการต่าง ๆ ในช่วงครึ่งเทอมหลัง จะอยู่ยาวเหมือนพรรคไทยรักไทยไหม

วันนี้... เราคิดว่าเรามีหน้าที่ทำงานตามแนวนโยบายที่เราผลักดัน ถ้าตราบใดเรายังมีประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างเต็มที่ ประโยชน์ยังตกอยู่ในมือของประชาชน ประชาชนก็จะปกป้องเรา เมื่อประชาชนปกป้องเรา ใครก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าเขาทำอะไร เขาก็กำลังยืนอยู่ตรงข้ามประชาชนส่วนใหญ่ เขาก็อยู่ไม่ได้ 

ขอขอบคุณประชาชาติธุรกิจ