วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คำสั่ง คสช. 25/2557 เรียก จ.ส.ต.มานัส-พ.ต.ท.สันธนะ



คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 25 เรียกบุคคมารายงานตัวเพิ่ม รอบนี้มี จ.ส.ต.มานัส หรือ "เซียนอ้วนลอยฟ้า" - พ.ต.ท.สันธนะ ที่ปรึกษาบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ ผู้รับเหมาสร้างโรงพัก อดีตแกนนำ พธม.บุกสนามบินปี 51 - ธนิก มาสีพิทักษ์ อดีต ส.ส.เพื่อไทย - รวมทั้งแกนนำเสื้อแดงภาคเหนือที่เคยมีคดีกับ "พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม"
27 พ.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า เมื่อเวลา 21.21 น. มีคำสั่ง คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 25/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม มีรายละเอียดดังนี้
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ 25/2557
เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม
เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ในวันที่ 28 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เวลา 10.00 – 11.00 ตามรายชื่อดังต่อไปนี้
1. จ่าสิบตำรวจมานัส เติมธนะศักดิ์
2. พันตำรวจโทสันธนะ ประยูรรัตน์
3. นายสุวัฒน์ วุฒิศักดิ์
4. นายวิชา พร้อมเพรียงชัย
5. นายธนิก มาสีพิทักษ์
6. นายกฤษณะ มานะการ
7. นายอิทธิพล สุขแป้น
สั่ง ณ วันที่ 27 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
000
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับบุคคลในคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 25/2557 ดังกล่าว มีหลายรายที่เป็นบุคคลมีชื่อเสียง เช่น จ.ส.ต.มานัส เติมธนะศักดิ์ หรือ เซียนอ้วนลอยฟ้า มีชื่อเสียงวงการพระเครื่องเปิดร้านเช่าพระย่านท่าพระจันทร์และปิ่นเกล้า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2549 เคยถูกจำรวจศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ สตช. ค้นบ้านซึ่งเปิดเป็นบ่อนลอยฟ้า
ส่วน พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตรอง ผกก.สันติบาล 2 เป็นที่ปรึกษาบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน ในปี 2552 เคยถูกตำรวจ สภ.เชียงแสน จ.เชียงราย จับกุม พร้อมลูกน้องกลุ่มใหญ่ ตรวจค้นรถยนต์ 2 คัน พบอาวุธปืนจำนวนมาก อ้างมาสำรวจข้อมูลปัญหาชาวบ้านเพื่อนำไปรายงานรัฐบาล นอกจากนี้ถูกฟ้องเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยึดสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเดือนธันวาคมปี 2551
นายวิชา พร้อมเพรียงชัย เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทพร้อมเพรียงชัย ก่อสร้าง จำกัด เมื่อปี 2556 เคยมีกรณีพิพาทกับชาวบ้านเมืองเอก กรณีนิติบุคคลนำท่อระบายน้ำคอนกรีตมาวางกั้นกีดขวางจราจร ปิดกั้นไม่ให้มีการนำรถยนต์สัญจรผ่านเข้า-ออก ถนนเอกเจริญในหมู่บ้านเมืองเอก
นอกจากนั้น นายธนิก มาสีพิทักษ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ส่วนนายกฤษณะ มานะการ เป็นแกนนำ นปช. ในภาคเหนือ อิทธิพล สุขแป้น หรือ "ดีเจน้องเบียร์" เป็นแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ถูก พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ และอดีตผู้บัญชาการตำรวจภาค 5 ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทและบุกรุกสำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 คราวกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 บุกชุมนุม 

สรุปยอดผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมหน้าหอศิลป์-แมคฯ ราชประสงค์ 13 ล่าสุดเหลือ 4




27 พ.ค.56 ผู้สื่อข่าวรายงานจากกองบังคับการปราบปรามว่า ปัจจุบันมีผู้ถูกจับกุมตัวโดยทหาร จากการประท้วงการยึดอำนาจตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ถูกควบคุมตัวที่ห้องขังกองปราบฯ ทั้งสิ้น 13 ราย ปัจจุบันยังคงเหลืออยู่ 4 ราย โดยแบ่งเป็น

-กรณีทหารจับกุมที่หน้าหอศิลป์ (23 พ.ค.) เป็นชาย 4 ราย ได้รับการปล่อยตัวในวันรุ่งขึ้น 1 รายเป็นนักศึกษาแพทย์ อีกรายถูกส่งไปคุมตัวยังค่ายทหารคือ นายธนาพล อิ๋วสกุล บก.ฟ้าเดียวกัน เนื่องจากมีประกาศของครส.ให้เข้ารายงานตัว คงเหลืออีก 2 รายเป็นเจ้าหน้าที่คณะปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) อายุ 25 ปี และเป็นชาวบ้านย่านบางกะปิ อาชีพส่งหนังสือพิมพ์ อายุ 49 ปี

-กรณีทหารจับกุมตัวที่หอศิลป์ (24 พ.ค.) เป็นชาย 6 ราย ได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำวันที่ 26 พ.ค.ทั้งหมด โดยต้องลงนามในเอกสารยินยอมไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง

-กรณีทหารจับกุมตัวที่ราชประสงค์ (ใกล้แมคโดนัลด์) 3 ราย ยังถูกควบคุมตัว ได้รับการปล่อยตัว 1 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ คปก.ที่ถูกควบคุมตัวนั้นเรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกำลังศึกษาในหลักสูตรบัณฑิอาสาสมัคร (บอ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทางคณาจารย์และนักศึกษา บอ.ได้ยื่นเรื่องถึงมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการช่วยเหลือ ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ได้เดินทางเข้าเยี่ยมผู้ถูกคุมขังรายดังกล่าว และแจ้งว่าทางทหารได้แจ้งว่าเขาน่าจะได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลา 17.00 น.ยังไม่มีการปล่อยตัว

ทหารมาเยี่ยม Book Re:public - รวบเสื้อแดงเชียงใหม่เพิ่ม 10 คน



ทหารไปเยือนร้านหนังสือ Book Re:public แต่ร้านปิดจึงเคลื่อนกำลังกลับ - นอกจากนี้มีเหตุจับคนเสื้อแดงที่ร้านซ่อมรถตรวจค้นอาวุธได้หลายรายการ ภายใน 1 วันควบคุมตัวเสื้อแดงเพิ่ม 10 คน – และมีรายงานบุกค้นวิทยุรักเชียงใหม่ 51 – บ้านบุญทรง เตริยาภิรมย์ - ขณะเดียวกันมีการปล่อยแกนนำเสื้อแดงที่ถูกควบคุมตัวช่วงทำรัฐประหารทั้งสิ้น 11 ราย
เชียงใหม่คุมเข้มเคลื่อนไหวต้านรปห.-สองวันรวบเสื้อแดงเพิ่ม 10 ราย
27 พ.ค.57 - ที่ จ.เชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการต่อต้านรัฐประหารในช่วงวันนี้ และวันก่อนหน้านี้เป็นไปอย่างค่อนข้างเงียบเชียบ ภายหลังทหารรวบตัวผู้ที่เคลื่อนไหวที่ประตูช้างเผือกช่วงวันที่ 24-25 พ.ค.ที่ผ่านมาหลายคน (ข่าวก่อนหน้านี้) อีกทั้งเจ้าหน้าที่ทหารยังมีการตรึงกำลังรอบคูเมืองเชียงใหม่อย่างหนาแน่น โดยมีเจ้าหน้าที่จากหลายกองพันประจำการอยู่ในจุดต่างๆ จำนวนหลายร้อยนายทั่วเมือง ทำให้การเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมืองในที่สาธารณะเป็นไปได้ยาก
ในวันเดียวกัน สำนักข่าวเห็ดลมนิวส์ รายงานว่า เวลา 14.00 น. วันที่ 27 พ.ค. ทหารจับกุมคนเสื้อแดง 5 คน ในร้านซ่อมรถย่านมหาวิทยาลัยพายัพ ตรวจค้นอาวุธประกอบด้วย ปืนไทยประดิษฐ์ขนาด .22 จำนวน 1 กระบอก กระสุน 30 นัด ประทัดยักษ์ 3 กล่อง มีด ขวาน สนับมือ พร้า ธงแดง และผ้าคาดสีแดงทั้งหมดถูกนำตัวพร้อมของกลางมายังค่ายกาวิละ มณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) เมื่อเวลา 14.20 น. โดยยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อแต่อย่างใด
ด้าน ข่าวสดออนไลน์ ยังรายงานว่าเจ้าหน้าที่ทหารค่ายมณฑลทหารบกที่ 33 จำนวน 20 นาย ยังเข้าจับกุมแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงในเชียงใหม่ได้เพิ่มอีกจำนวน 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ “ดีเจต้อม” หรือนายภูมิใจ ไชยา แกนนำกลุ่มอิสระของคนเสื้อแดง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้ (26 พ.ค.57) เวลา 20.00 น. บริเวณร้านอาหารคุ้มเสือ ทหารราว 20 นายยังได้บุกเข้ารวบตัวคนเสื้อแดงชื่อนายพิเศษ นภาชัยเทพ หรือ “Thai Redrock” หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแดงเสรีชนล้านนา และอดีตประธานกลุ่มไทยเรดออสเตรเลีย ขณะกำลังรับประทานอาหาร โดยมีเพื่อนชื่อนายจิตตาภา คันทะลอม ที่นั่งอยู่ด้วยกันขอติดตามไปด้วย โดยนายจิตตาภาได้รับการปล่อยตัวมาในช่วงดึกวันเดียวกัน ขณะที่นายพิเศษยังถูกควบคุมตัวอยู่

ปล่อยตัวแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ชุดแรก 11 ราย - ระบุมีผู้ถูกควบคุมตัวอีกอย่างน้อย 7 ราย
ขณะเดียวกันมีรายงานว่าได้มีการปล่อยตัวแกนนำของกลุ่มนปช.แดงเชียงใหม่, กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และแดงอิสระอื่นๆ จำนวน 11 คน ที่ถูกควบคุมตัวไว้ตั้งแต่ช่วงวันที่ 22-23 พ.ค. 57 (ข่าวก่อนหน้านี้) ในจำนวนนี้ เช่น ด.ต.พิชิต ตามูล, นายศรีวรรณ จันทร์ผง, นางสุชีรา รักษาภักดี หรือ “แม่อุ๊”, สุดารัตน์ พรหมแก้ว, “หมึกยักษ์” และ “แดงสองแคว” แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เป็นต้น
ด.ต.พิชิต ตามูล แกนนำกลุ่มนปช.แดงเชียงใหม่ แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้มีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมตัวในช่วงเช้าจำนวน 8 คน และช่วงเย็นอีก 3 คน ทั้งหมดถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 7 หรือค่ายขุนเณร บริเวณอำเภอแม่ริม โดยในช่วงที่ถูกควบคุมตัวได้รับการดูแลจากทหารอย่างดี ไม่ได้มีเรื่องการทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด แต่ก็ล้วนถูกจำกัดเรื่องอิสรภาพ ทั้งในด้านการติดต่อสื่อสาร และการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ทำไม่ได้ โดยเงื่อนไขในการปล่อยตัวในเบื้องต้น คือไม่ออกไปเคลื่อนไหวหรือปลุกระดมมวลชนอีกจนกว่าบ้านเมืองจะสงบ โดยเท่าที่ทราบในขณะนี้ ยังมีผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 7 อีกจำนวน 7 คน

ทหารส่งกำลังเข้าสังเกตการณ์ร้าน Book Re:public แต่ร้านปิดจึงไม่ได้เข้าร้าน
ร้านหนังสือ Book Re:public ล่าสุดมีรายงานว่าเมื่อวันที่ 27 พ.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร 30 นายนำกำลังไปตั้งสังเกตการณ์หน้าร้าน แต่ร้านปิดจึงไม่ได้เข้าไปในร้าน (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

วันเดียวกัน ช่วงเวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 30 นาย ได้เดินทางไปที่ร้านหนังสือ Book Re:public ถนนเลียบคลองชลประทาน ผู้เห็นเหตุการณ์ให้ข้อมูลว่ามีรถจีเอ็มซี รถฮัมวี่ และรถตำรวจสองคันนำกำลังเจ้าหน้าที่มาจอดหน้าร้าน แต่เนื่องจากร้านปิดทำการในวันนี้และไม่มีใครอยู่ที่ร้าน เจ้าหน้าที่จึงไม่ได้บุกเข้าไปในร้านแต่อย่างใด
แหล่งข้อมูลกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าในเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีอะไรในบริเวณร้านเสียหาย เป็นไปได้ว่าการนำกำลังเจ้าหน้าที่มาครั้งนี้ เป็นการมาติดตามนักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ร้านนี้ ซึ่งเป็นร้านหนังสือที่มีการจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการในหัวข้อต่างๆ บ่อยครั้ง รวมทั้งหัวข้อเกี่ยวกับการเมืองในแง่มุมต่างๆ ด้วย จึงกลายเป็นที่จับตาของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยภายหลังวันที่เกิดการรัฐประหารมีการตั้งด่านโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ห่างร้านออกไปราว 500 เมตร แต่ในสองสามวันที่ผ่านมาไม่มีด่านดังกล่าวแล้ว อีกทั้งในช่วง 2-3 วันมานี้ ยังมีรถทหารวิ่งเข้าออกในซอยวัดอุโมงค์ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณร้านอีกด้วย

ทหารบุกวิทยุกลุ่มรักชม.51-บ้าน “บุญทรง”
ขณะเดียวกัน ข่าวสดออนไลน์รายงานว่าในช่วงเวลา 10.00 น. กำลังทหารจากกองพลทหารราบที่ 7 กว่า 20 นาย ได้เข้าตรวจค้นภายในโรงแรมวโรรส แกรนด์พาเลซ หลังวัดพระสิงห์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุชุมชนคลื่น 92.5 MHz ของคนเสื้อแดงกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 การตรวจค้นไม่พบตัวนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล แกนนำกลุ่ม ซึ่งถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกให้เข้ารายงานตัว
ในการตรวจค้นมีการยึดเอกสารและอุปกรณ์การชุมนุมของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และอุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ โน๊ตบุ๊ค 5 เครื่อง กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูป กระสุนปืน 7 นัด พร้อมเสื้อเกราะกันกระสุน 1 ตัว รวมถึงอุปกรณ์ที่อาจจะนำไปสร้างสถานการณ์ เช่น ประทัดลูกบอล เพื่อนำไปตรวจสอบ โดยครั้งนี้เป็นการบุกค้นสถานีวิทยุของกลุ่มเป็นครั้งที่สามแล้วตั้งแต่มีการรัฐประหาร โดยครั้งแรกคือเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น.ของวันที่ 23 พ.ค. ครั้งที่สองเมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.ของวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา
สำนักข่าวเห็ดลมนิวส์ ยังรายงานว่าในช่วงเวลา 16.40 น. เจ้าหน้าที่ทหารเดินทางด้วย รถฮัมวี่ 2 คัน เข้าไปตรวจค้นบ้านพักของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ตั้งอยู่บนถนนทุ่งโฮเต็ลด้วย โดยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของผลการตรวจค้น

ยังไม่นำตัว 'จาตุรนต์' ขึ้นศาลทหารวันนี้ คาดสำนวนไม่เสร็จ



28 พ.ค.2557 เช้าวันนี้ มีรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถูกควบคุมตัวเมื่อเย็นวานนี้ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำประเทศไทย เนื่องจากการไม่ไปรายงานตัวตามประกาศของ คสช. จะยังไม่ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหารในวันนี้ คาดว่าพนักงานสอบสวนยังทำสำนวนคดีไม่แล้วเสร็จ
พ.อ.กิตติยุทธ กิตติยุทธโยธิน ผู้อำนวยการกองกลาง กรมพระธรรมนูญ กล่าวว่า ได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ควบคุมตัว นายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า วันนี้ไม่สามารถนำตัวนายจาตุรนต์มาขึ้นศาลได้ โดยไม่ได้บอกเหตุผล แต่คาดว่าคงเกิดจากเจ้าหน้าที่ทหารเพิ่งควบคุมตัวได้เมื่อเย็นวานนี้ ทั้งนี้ มีรายงานว่า พนักงานสอบสวน ทำเรื่องสำนวนคดีไม่ทัน และจะส่งศาลทหารภายใน 7 วัน ตามอำนาจอัยการศึก
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์เพิ่มเติมด้วยว่า ภรรยาและบุตรสาวของนายจาตุรนต์ ได้เดินทางมารอที่กรมพระธรรมนูญ และสำหรับคดีนี้ ในระหว่างพิจารณาคดี สามารถฝากขังได้ครั้งละ 12 วัน จนครบ 84 วัน ซึ่งคาดจะใช้เรือนจำของกรมราชทัณฑ์ในการควบคุมตัว ทั้งนี้ในคดีความที่ฝ่าฝืนหรือขัด คำสั่ง คสช. ต้องระวางโทษ จำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกรณีนายจาตุรนต์ ถือเป็นพลเรือนคนแรกที่ถูกนำขึ้นศาลทหาร

ประกาศ คสช. ฉ.43 เด็ก-เยาวชนไม่ขึ้นศาลทหาร ฉ.44 เรือนจำปฏิบัติตามกม.ศาลทหาร



ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 43/2557 การทำผิดของเด็กหรือเยาวชนต้องขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัว ฉบับที่ 44/2557 เรือนจำทั้งหลายที่อยู่ในสังกัดกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายของศาลทหาร
เมื่อวันที่ 27 พ.ค. มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 43/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร และฉบับที่ 44/2557 เรื่อง ให้เรือนจำในสังกัดกรมราชทัณฑ์กระทรวงยุติธรรมปฏิบัติตามกฏหมายของศาลทหาร
000
ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ฉบับที่ 43/2557
เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร
ตามที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 นั้น เพื่อให้การดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนเป็นไปอย่างเหมาะสม หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงประกาศให้การกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชนตามประกาศฉบับดังกล่าว เป็นคดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัว และไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 27 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
000
ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ฉบับที่ 44/2557
เรื่อง ให้เรือนจำในสังกัดกรมราชทัณฑ์กระทรวงยุติธรรมปฏิบัติตามกฏหมายของศาลทหาร
ตามที่คณะความรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และฉบับที่ 38/2557 เรื่องคดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 นั้น เพื่อให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลทหาร หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงประกาศให้เรือนจำทั้งหลายที่อยู่ในสังกัดกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายของศาลทหารด้วย
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 27 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

คำสั่ง คสช.26/2557 ระงับทำธุรกรรม 'จ่าประสิทธิ์-บก.ลายจุด' เหตุไม่มารายงานตัว



หลังจ่าประสิทธิ์-สมบัติ บุญงามอนงค์ ไม่เข้ารายงานตัว คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงออกคำสั่ง 26/2557 ระงับทำธุรกรรม พร้อมเรียกสถาบันการเงิน-นิติบุคคลส่งข้อมูลการทำธุรกรรมของทั้งสองที่เกิดขึ้นระหว่าง 1 มี.ค. - 27 พ.ค. 57 มาให้หัวหน้า คสช. ภายใน 3 วัน ฝ่าฝืนคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่น
ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ "บก.ลายจุด" ระหว่างการประท้วงรัฐประหารเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2557 ล่าสุดมีคำสั่ง คสช. ที่ 26/2557 ระงับการทำธุรกรรมของนายสมบัติ และ จ.ส.อ.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ เนื่องจากไม่ยอมมารายงานตัว คสช. (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. มีคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 26/2557 มีรายละเอียดเกี่ยวกับระงับการทำธุรกรรม และให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลการทำธุรกรรมของ 1.นายสมบัติ บุญงามอนงค์ 2.จ่าสิบตำรวจ ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ หลังจากไม่เข้ารายงานตัว คสช. โดยมีรายละเอียดดังนี้
000
คำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ 26/2557
เรื่อง ห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม
ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และคำสั่งที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติมนั้น เนื่องจากปรากฏว่าบุคคลที่มีรายชื่อต้องมารายงานตัว บางรายฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น เพื่อป้องกันระงับมิให้บุคคลทั้งสองกระทำการช่วยเหลือหรือสนับสนุนด้านการเงินแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำการหรือมีการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงออกคำสั่ง ดังนี้
ข้อ 1 ห้ามมิให้สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคารตามที่ได้มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ บริษัทหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย และสหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้บริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด นิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจการซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ทำนิติกรรมสัญญา หรือการดำเนินการใดๆ ทางการเงิน ทางธุรกิจ หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน และห้ามมิให้บุคคลหรือนิติบุคคลใดรับซื้อหรือรับแลกเปลี่ยนเช็ค ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน หรือตราสารทางการเงินอื่นๆ ที่สั่งจ่ายให้บุคคลดังต่อไปนี้
1.นายสมบัติ บุญงามอนงค์
2.จ่าสิบตำรวจ ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ
ข้อ 2. ให้สถาบันการเงิน และนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจตามข้อ 1 แจ้งและส่งข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวที่ได้กระทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2557 จนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 ส่งให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ภายในสามวันนับตั้งแต่วันที่มีคำสั่ง
ข้อ 3. การขอเพิกถอนคำสั่งห้ามทำนิติกรรมสัญญาหรือการดำเนินการใดๆ ทางการเงินทางธุรกิจ หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินกับบุคคลทั้งสอง เฉพาะรายครั้งแล้วแต่กรณี ให้บุคคลทั้งสองพร้อมด้วยสถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจ ตามข้อ 1 ยื่นคำขอ และแสดงตนต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พร้อมด้วยหลักฐานที่แสดงว่าการทำนิติกรรม สัญญาหรือการดำเนินการใดๆ ทางการเงิน ทางธุรกิจ หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามข้อ 1 ไม่ได้เป็นการกระทำ หรือสนับสนุนการกระทำเพื่อให้เกิดเหตุแห่งความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ข้อ 4. ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 27 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ส.ส.กลุ่มประเทศอาเซียนวิจารณ์รัฐประหารไทย เรียกร้องหยุดควบคุมตัวปชช.


กลุ่ม ส.ส. อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์การทำรัฐประหารผู้นำทหารของไทยอย่างหนัก ประณามว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและเรียกร้องให้ปล่อยตัวทุกคนที่ถูกจับกุมด้วยสาเหตุทางการเมือง รวมถึงเรียกร้องให้ผู้นำทหารเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
27 พ.ค. 2557 อีวา กุสุมา ซันดารี ประธานกลุ่มส.ส.อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) กล่าวว่า "กองทัพไทยพยายามปราบปรามศัตรูทางการเมืองทุกคน และเป็นศูนย์รวมของการละเมิดสิทธิมนุษยชนนับตั้งแต่ทำรัฐประหารยึดอำนาจเป็นต้นมา พวกเขาควรยกเลิกการใช้อำนาจละเมิดสิทธิเช่นนี้โดยทันที และโดยถาวร"
เว็บไซต์ของ APHR ระบุว่ามีคนหลายร้อยคนถูกจับกุมโดยกองทัพไทยภายในช่วงไม่ถึง 1 สัปดาห์ ขณะที่สื่อมวลชนก็ถูกข่มขู่และถูกปิดกั้นอย่างหนัก อีกทั้งยังมีการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น สิทธิในการชุมนุม
"พวกเราได้เห็นความตกต่ำของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วและน่าตื่นตระหนกมากที่สุดในประเทศแถบภูมิภาคของเราซึ่งไม่ได้เห็นมาเป็นเวลานานแล้ว จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้คำตอบในเรื่องนี้โดยทันที" ซันดารีกล่าว
ทาง APHR กล่าวอีกว่าวิกฤติการเมืองไทยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการลงโทษประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองหรือทางอุดมการณ์ ทาง APHR ไม่ได้มีจุดยืนเข้าข้างฝ่ายใดในความแตกแยกทางการเมืองของไทย แต่ขอแสดงจุดยืนว่าการตอบโต้ด้วยการกดขี่บังคับอย่างเข้มงวดถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขาดความเป็นธรรม และบกพร่องอย่างร้ายแรง มันจะยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่กว่าเดิม ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา
กลุ่ม ส.ส.อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนยังแสดงความเป็นห่วงอย่างมากต่อการกักขังหน่วงเหนี่ยวและการข่มขู่คุกคามผู้คนจำนวนมากตามอำเภอใจ โดยมีทั้งนักการเมือง, นักกิจกรรม, นักวิชาการ และประชาชนธรรมดา รวมถึงคนที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวกับทหาร โดยขู่ว่าจะมีการจับเข้าคุกและการปรับ ผู้คนที่ไปรายงานตัวจำนวนมากจะถูกนำตัวไปกุมขังโดยไม่ทราบสถานที่และไม่สามารถติดต่อกับบุคคลภายนอกได้ อีกทั้งยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลเหล่านี้ ขณะที่อีกบางส่วนต้องหนีออกจากประเทศ
"สิ่งที่เราได้เห็นดูเหมือนเป็นการล้างบางผู้มีบทบาททางการเมืองและเริ่มการ 'ล่าแม่มด' ต่อผู้ที่ต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพหรือต่อต้านทัศนคติต่ออนาคตประเทศของกองทัพ" วอลเดน เบลโล ส.ส.ฟิลิปปินส์ผู้เป็นรองประธาน APHR กล่าว
เบลโล ได้เรียกร้องให้ประเทศไทยกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตยโดยทันที เขาบอกอีกว่าการรัฐประหารในไทยเป็นตัวถ่วงแรงผลักดันไปสู่ประชาธิปไตยของกลุ่มประเทศอาเซียน และกลายเป็นภัยสำหรับประเทศที่สนับสนุนแนวคิดแบบประชาธิปไตย
เว็บไซต์ของ APHR ระบุอีกว่ากองทัพยังพยายามโยงคดีกลายเป็นคดีต่อต้านระบอบกษัตริย์หรือเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติภายใต้ศาลทหาร ซึ่งเป็นการดำเนินคดีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ทนายพลเรือนเป็นตัวแทนในการว่าความ
ทาง APHR เห็นว่าผู้ที่กองทัพควบคุมตัวนับเป็นนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิด (ผู้ที่ถูกคุมขังเนื่องจากมีความคิดเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ) และเรียกร้องให้กองทัพเปิดเผยรายชื่อรวมถึงสถานที่ควบคุมตัวและสาเหตุในการควบคุมตัวพวกเขา ผู้ถูกควบคุมตัวควรได้รับอนุญาตให้พบปะกับสมาชิกในครอบครัวและทนายความได้ หากมีการดำเนินคดีที่พวกเขากระทำจริงก็ควรถูกตั้งข้อกล่าวหาโดยศาลพลเรือนหรือมิเช่นนั้นก็ควรมีการปล่อยตัวโดยทันที
"อนาคตของไทยจะมืดมนถ้าหากว่าจะมีคนถูกจับกุมโดยศาลทหารเพียงเพราะใช้คำพูดหรือแสดงความคิดเห็น พวกเราจึงของวิงวอนให้ ส.ส. ของไทยทุกคนไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตามเล็งเห็นปัญหาการคุกคามและกล่าวต่อต้านการคุกคามที่เลวร้ายที่สุดต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน" เบลโลกล่าว
"เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ พวกเขาต้องเปิดโอกาสให้มีการหารือระดับชาติแบบเน้นการมีส่วนร่วมซึ่งต้องมีการเคารพความคิดเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้บรรยากาศในแบบปัจจุบัน" เบลโลกล่าว
การที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนภายนอกและถูกกักตัวอยู่ในสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกทรมานและการละเมิดสิทธิอื่นๆ ทาง APHR แสดงความกังวลในเรื่องนี้โดยเฉพาะผู้ถูกควบคุมตัว 30 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเคยโจมตีผู้อื่นด้วยแรงจูงใจทางการเมืองมาก่อน
APHR เล็งเห็นอีกว่าการที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงทางการเมืองลอยนวลไม่ได้รับโทษเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิกฤติการเมืองไทยเลวร้ายลง และได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ติดตามสืบสวนรวมถึงดำเนินคดีต่อผู้ที่ก่ออาชญากรรมโดยมีแรงจูงใจทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ กระนั้นเอง APHR ยังเน้นย้ำเรื่องการให้ผู้ถูกดำเนินคดีมีสิทธิเข้าถึงทนายและกระบวนการศาลแบบพลเรือน
ภายใต้กฎอัยการศึก ทหารมีอำนาจสั่งจับกุมบุคคลได้เป็นเวลานานที่สุด 7 วันโดยไม่ต้องมีหมายจับหรือการตั้งข้อกล่าวหาอีกทั้งยังไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของทหารที่บังคับใช้กฎหมาย อำนาจดังกล่าวนี้ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของนานาชาติ
อีกประเด็นหนึ่งที่กลุ่มส.ส.อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนกังวลคือการพยายามปิดกั้นสื่อและปราบปรามการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งทางกองทัพได้ประกาศห้ามไม่ให้เผยแพร่สิ่งที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพหรือสัมภาษณ์บุคคลที่วิจารณ์กองทัพหรือสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน
ชาร์ลส์ ซานติอาโก ส.ส. ชาวมาเลเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่ม ส.ส. เพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า "สถานการณ์น่าเป็นห่วงในประเทศไทย พวกเราเห็นว่ามีนักวิชาการและอาจารย์พากันหลบหนีเพราะกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี มีประชาชนธรรมดาถูกจับ มีทหารติดอาวุธบุกเข้ารื้อค้นบ้านในช่วงกลางดึก"
ซานติอาโกกล่าวอีกว่า กลุ่ม APHR รู้สึกว่าควรต้องพูดถึงเรื่องนี้ เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นวงกว้างในปัจจุบันไม่มีเหตุผลชอบธรรมใดๆ รองรับ และเผด็จการทหารควรหยุดการกระทำโดยทันทีมิเช่นนั้นจะต้องถูกประณามและมีปฏิกิริยาโต้ตอบจากต่างชาติรวมถึงในระดับภูมิภาค
APHR ระบุเตือนอีกว่า ขณะที่คนไทยจำนวนมากชื่นชมการยึดอำนาจของกองทัพ และคิดว่ามันเป็นวิธีการเพื่อให้ประเทศกลับมามีเสถียรภาพได้อีกชั่วคราว แต่ผู้นำกองทัพมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนในไทยไม่เพียงแค่คนที่เห็นด้วยกับพวกเขาเท่านั้น

ประมวลภาพ ปชช.ต้าน-หนุนรัฐประหาร อนุสาวรีย์ชัยฯ

27 พ.ค.2557 เวลาประมาณ 17.00 น. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิกลุ่มประชาชนหลานร้อยคนรวมตัวเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วและคัดค้านการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กลุ่มดังกล่าวสลายการชุมนุมไปอย่างสงบในเวลา 18.10 น.  
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ ทั้งบริเวณสกายวอล์คและด้านลางมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมรอบพื้นที่ รวมทั้งมีผู้เดินทางมาให้กำลังใจและมอบอาหาร ดอกไม้ให้กับเจ้าทหาร พร้อมสนับสนุนการทำรัฐประหารด้วย
 
 
 
 
 
 
 
 
ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ 'ผู้กองปูเค็ม' (คนเสื้อขาวขวามือ) มาสังเกตุการณ์อยู่กับกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ
เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้กองปูเค็มออกไปโดยรถเครื่องขยายเสียง หลังผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารไม่พอใจ