วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ศูนย์ทนายสิทธิฯ เผย ‘DSI’ เรียกพยานคดีสลายแดง 53 ให้ปากคำเพิ่มเติม


6 พ.ค.2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนว่า ผู้บาดเจ็บหรือญาติผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันที่ 10 เม.ย. 2553 และเคยลงทะเบียนขอรับเงินเยียวจากรัฐ จำนวน 4 ราย ได้รับหมายเรียกให้ไปให้ปากคำกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เกี่ยวกับเหตุการณ์ในปี 53
โดยรายละเอียดในหมายเรียกระบุว่าเป็นการเรียกสอบปากคำในฐานะผู้เสียหาย ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2553 ให้คดีที่เกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่ปลายปี 2552 ที่ให้เป็นคดีพิเศษ โดยระบุสถานที่ในการสอบปากคำที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ อาคาร บี ศูนย์ราชการฯ หรือให้ติดต่อกับ พ.ต.ท.บรรณฑูรย์ ฉิมกรา พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ  

‘Front Line Defenders’ วอนรัฐไทยยุติสอบ-ปล่อยตัวประธานเครือข่ายยุติธรรมผดุงสันติทันที


เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่มีชื่อว่า “Front Line Defenders” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์  ออกแถลงการณ์ให้ยุติการสอบสวนและปล่อยตัวประธานเครือข่ายยุติธรรมผดุงสันติ นายมูหาหมัดยากี สาและทันที
แถลงการณ์ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา นายมูหาหมัดยากี ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตัวต่อโดยอาศัยอำนาจพรก.ฉุกเฉิน นักต่อสุ้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนนี้ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 2558 เขาอาจจะต้องถูกควบคุมตัวจนครบ 30 วันตามที่กฎหมายให้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉิน นายมูหาหมัดยากี สาและประธานเครือข่ายยุติธรรมผดุงสันติที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 เป็นเครือข่ายของนักกิจกรรมด้านสันติภาพและสิทธิมนุษยชนที่เน้นการทำงานอย่างอหิงสาเพื่อส่งเสริมงานด้านสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมและยุติการปล่อยให้คนผิดลอยนวลในประเทศไทย
เครือข่ายยุติธรรมผดุงสันติส่งเสริมให้มีการตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือเหยื่อของการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อต่อสู้เพื่อความยุติธรรม งานของพวกเขาเน้นการสร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชนในจังหวัดชายแดนใต้ และให้ชุมชนสร้างมาลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของเขาได้
นายมูหาหมัดยากี ถูกควบคุมตัวครบ 7 วันภายใต้กฎอัยการศึกและเข้าสู่กระบวนการสอบสวนตามที่กฎหมายพิเศษให้อำนาจไว้ และการขยายการควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจพรก.ฉุกเฉินนั้นอาจจะขยายไปได้สูงสุดถึง 30 วัน นายมูหาหมัดยากีถูกจับกุมเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่สถานีตำรวจเมืองยะลา และถูกนำตัวไปค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ. ปัตตานี นายมูหาหมัดยากี ยังคงถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธจนถึงปัจจุบัน
เจ้าหน้าที่กล่าวหาเขาอย่างผิดผิดว่าเขามีส่วนร่วมในการก่อเหตุระเบิดที่ยะลาเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2556 นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนนี้จริงๆได้เดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตัวเองตามคำร้องขอ และเมื่อถึงสถานีตำรวจเขาแสดงความบริสุทธิ์ใจและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ความเสี่ยงต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนนในจังหวัดชายแดนใต้มีสูงขึ้นเรื่อยๆ ในสองสามปีที่ผ่านมา รัฐปล่อยให้มีคนผิดลอยนวลในการปฏิบัติการทางทหารที่มีความโน้มเอียงว่าได้ปฏิบัติการทางทหารต่อชุมชนมุสลิมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี นราธิวาสและปัตตานี ที่ซึ่งมีรายงานถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายรูปแบบ โดยบ่อยครั้งที่เห็นเป็นการทั่วไปคือการฆ่านอกระบบกฎหมาย องค์กรฟรอทไลน์ ขอแสดงความห่วงใยต่อการควบคุมตัวนายมูหาหมัดยากี สาและ ที่เราเชื่อว่าเป็นเพราะได้พยายามจะแสวงหาแนวทางสันติภาพโดยการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
องค์กร Front Line Defenders ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย
1. ยุติการสอบสวนนายมูหาหมัดยากี สาและและปล่อยตัวเขาโดยทันที เพราะองค์กรฟรอทไลน์เชื่อว่าเขาถูกควบคุมตัวเพียงเพราะว่าเขาทำงานที่มีความชอบธรรมในการส่งเสริมการสร้างสันติโดยการทำงานด้านสิทธมนุษยชน
2. ขอให้รับรองว่าไม่ว่าจะสถานการณ์ใดใด นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจะต้องสามารถทำงานด้านสิทธิมนุษยชที่มีความชอบธรรมของพวกเขาต่อไปโดยปราศจากข้อจำกัดที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวและมีการโต้ตอบเกิดขึ้นจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของพวกเขา

ศาลออกหมายจับเทพไท หลังเบี้ยวฟังฎีกาคดีหมิ่นประมาท ปลอดประสพ


ศาลออกหมายจับ เทพไท เสนพงศ์ ให้มาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีหมิ่นประมาท ปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นพวกล้มเจ้า หลังไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุ
7 พ.ค. 2558 เว็บสำนักข่าวไทย รายงานว่า ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยื่นฟ้องนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีนายเทพไท ให้สัมภาษณ์ทำนองว่านายปลอดประสพเป็นคนในระบอบทักษิณ เป็นพวกล้มเจ้า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553
คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า โจทก์เป็นนักการเมืองย่อมอยู่ในฐานะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ อีกทั้งจำเลยให้สัมภาษณ์โดยแสดงความคิดเห็นเชิงตั้งคำถามต่อโจทก์ว่ากระบวนการล้มเจ้ามีจริงหรือไม่ ไม่ใช่การใส่ร้าย แต่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม โจทก์ยื่นฎีกา
โดยวันนี้ โจทก์มีผู้แทนเดินทางมาศาล ขณะที่จำเลยไม่มาและไม่มีผู้แทนมาแจ้งใดๆต่อศาล
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยได้รับหมายโดยชอบแล้วแต่ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง แสดงให้เห็นว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลยให้มาฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ เวลา 9.00 น.

พล.อ.ประยุทธ์ระบุทำประชามติ รธน. ต้องใช้เงิน 3 พันล้าน - ถ้าไม่ผ่านต้องเสียอีก 3 พันล้าน


นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม. ระบุว่าไม่สามารถใช้มาตรา 44 มาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ การแก้ไขอยู่ที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับนักการเมืองไม่สามารถลงพื้นที่ทำกิจกรรมการเมืองได้ ยกเว้นร่วมประชุมปรองดองกับสภาปฏิรูป พร้อมขอร้องครูทั่วประเทศอย่าเคลื่อนไหวกดดันกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินทำข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา
7 พ.ค. 2558 - วันนี้ เวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถงตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี สรุปประเด็นสำคัญในเว็บไซต์รัฐบาลไทยมีดังนี้
1. เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญที่วางไว้ ส่วนจะแก้ไขหรือไม่แก้รัฐธรรมนูญในแต่ละมาตรานั้น ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัวเองไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ ทางคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เสนอข้อคิดเห็นแต่ละมาตราของรัฐธรรมนูญส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สำหรับขั้นตอนต่อไปถ้ามีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ จะเป็นขั้นตอนการลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่เห็นด้วยต้องกลับมาเริ่มต้นร่างใหม่อีกครั้ง ถ้าทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน จะเป็นขั้นตอนของการทำประชามติเพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการประมาณ 3 พันล้านบาท และใช้เวลาในการดำเนินประมาณ 1 – 3 เดือน ถึงจะประกาศเป็นรัฐธรรมนูญได้ แล้วจึงจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งภายใน 90 วัน พร้อมกล่าวยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป ขอให้ทุกคนช่วยกันเพื่อนำพาประเทศชาติเดินไปข้างหน้า และมองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรมและสงบสุขอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงขั้นตอนของการลงประชามติของประชาชนเกี่ยวกับการลงความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญว่าพรรคการเมืองไม่สามารถลงพื้นที่ไปพบปะกับประชาชนเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง แต่สามารถเข้าร่วมประชุมในการสร้างความปรองดองกับสภาปฎิรูปแห่งชาติได้
2. เรื่อง ครูทั่วประเทศนัดแต่งชุดดำคัดค้าน กรณีนายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทำข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ว่าการปฏิรูปการศึกษาที่จำเป็นจะต้องร่าง พ.ร.บ.ขึ้นใหม่ 13 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องกระจายอำนาจจัดการการศึกษาสู่ท้องถิ่นโดยถ่ายโอนโรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปอยู่ในการกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นเพียงข้อเสนอในสภาปฎิรูปยังไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ต้องผ่านการพิจารณาตามวาระอีกหลายขั้นตอน พร้อมขอความร่วมมือครูทั้งประเทศอย่าออกมาเคลื่อนไหวกดดันการทำงาน
3. เรื่อง ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 58 – 59 ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวผ่านการพิจารณาแล้ว ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะโอนอำนาจทั้งหมดกลับไปให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำดำเนินการไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติต่อไป
4. เรื่อง การช่วยเหลือชาวโรฮิงญา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นปัญหาที่สำคัญ เป็นเรื่องของขบวนการข้ามชาติ ทั้งนี้ ประเทศไทยจะอำนวยความสะดวกให้ชาวโรฮิงญาเดินทางไปยังประเทศที่สาม ในกรณีชาวโรฮิงญาที่ลักลอบเข้าประเทศเพราะประเทศไทยเป็นประเทศอยู่ตรงกลาง และมีบุคคลอยู่เบื้องหลัง ต้องนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างเด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ ประชาชาติธุรกิจ เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นเรื่องประชามติว่า การทำประชามติต้องใช้เงินกว่า 3 พันล้านบาท เงินสามพันล้านอันเก่าไปอยู่ไหนก็ไม่รู้ สามพันล้านใหม่มาอีก แล้วถ้าไม่ผ่านอีกทีก็ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ แล้วก็ต้องทำประชามติใหม่กันอีกรอบหนึ่ง เสียเงิน สามพันล้านอีก  
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐมีเงินเพียงพอในการทำประชามติหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ถ้าอยากให้ทำประชามติ ก็ต้องยอมรับสภาพและใช้เงินที่มีอยู่ แทนที่จะนำเงินไปทำอะไรที่มันเข้มแข็ง เอาเงินไปซื้อวัสดุ ไปลดต้นทุนชาวนา แต่ต้องมาทำเงินหายไปครั้งละ 3 พันล้านหลายครั้ง แล้วมันได้อะไรขึ้นมากับตรงนี้หรือไม่ ตนเองก็ยังไม่รู้ แต่อาจจะได้ก็ได้นะ ถ้าถามตนว่าคนจะยอมรับทั้งหมดหรือไม่ ก็ไม่หมดหรอก เผลอๆ ก็เท่าเดิม ผ่านไม่ผ่านจะยอมรับไปก่อนหรือไม่ นั่นแหละอันตราย ถ้าผ่านก็ต้องผ่านทั้งหมด ไม่ผ่านก็ไม่ผ่านทั้งหมด นั่นแหละถึงจะเลิกทะเลาะกันเสียที