วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2558

สื่อทำเนียบงดตั้งฉายา รบ. เพราะมาด้วยวิธีพิเศษ ด้านสื่อรัฐสภางดด้วย หวั่นถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

สื่อทำเนียบแถลงงดตั้งฉายารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ระบุเนื่องจากเข้ามาด้วยวิธีพิเศษ ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แจงเมื่อสถานการณ์การเมืองไม่ปกติจะไม่มีการตั้งฉายา ด้านสื่อรัฐสภางดตั้งฉายาฝ่ายนิติบัญญัติเช่นกัน หวั่นถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ยันพร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบ สปช. สนช. และ กมธ.รธน.
1 ม.ค.2558 คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์กรณีการตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี ตามที่เคยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เพื่อสะท้อนถึงความคิดเห็นของสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลต่อการทำงานของรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี แต่ในปีนี้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยวิธีพิเศษและไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ดังนั้นตามหลักปฏิบัติที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลกำหนดไว้สืบเนื่องตลอดมาว่ากรณีรัฐบาลรักษาการ รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือในสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติจะไม่มีการตั้งฉายา ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลจึงมีมติงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปีตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ทั้งนี้การงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อาทิ รัฐบาลรักษาการของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้มีการประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จนมีรัฐบาลรักษาการหรือเมื่อครั้งมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังเกิดการปฏิวัติเมื่อปี 2549 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังการประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในปี 2550 รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช รัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 2551
สื่อรัฐสภางดตั้งฉายาฝ่ายนิติบัญญัติ หวั่นถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
วันเดียวกัน เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ลงความเห็นว่า สมควรงดการตั้งฉายารัฐสภา ประจำปี 2557 โดยได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า "เป็นประจำทุกปีที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาจะมีการตั้งฉายาแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อสะท้อนถึงการทำงานของผู้แทนปวงชนชาวไทยตลอดทั้งปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากในปี 2557 ได้เกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ คือ การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ดังนั้น สื่อมวลชนประจำรัฐสภา จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะงดการตั้งฉายา ซึ่งเป็นการยึดถือตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา"
     
"กล่าวคือ ถ้าเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปีใด สื่อมวลชนประจำรัฐสภาจะงดตั้งฉายาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติในปีนั้น เพื่อไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำฉายารัฐสภาที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งขึ้นด้วยความสุจริตไปเป็นเครื่องมือในทางการเมือง เหมือนกับที่เคยงดการตั้งฉายารัฐสภาเมื่อปี 2549 ภายหลังเกิดการรัฐประหาร และ ปี 2556 ภายหลังรัฐบาลในขณะนั้นได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร"
     
ทั้งนี้ สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ระบุด้วยว่า ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ติดตาม และตรวจสอบการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบจรรยาบรรณของสื่อมวลชนต่อไป
ประวัติศาสตร์การตั้งฉายานักการเมือง
สำหรับการตั้งฉายาของรัฐบาลนั้น ณรรธราวุธ เมืองสุข ผู้ช่วยบรรณาธิการเว็บไซด์ไทยพีบีเอส เขียนไว้ใน ‘มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์’ ระบุว่า การตั้งฉายานักการเมืองครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงปี พ.ศ. 2523-2531 นักข่าวกลุ่มแรกที่มีประเพณีการในการตั้งฉายาให้กับแหล่งข่าว ก็คือ “นักข่าวการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาล” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “นักข่าวสายทำเนียบฯ”  นอกจากฉายานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแล้วนักข่าวทำเนียบฯ ยังมีการเลือก “วาทะแห่งปี” ซึ่งมาจากวลีเด็ดของนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นๆ ด้วย ในขณะที่นักข่าวประจำรัฐสภาเริ่มมีการตั้งฉายานักการเมืองในสมัยรัฐบาลชวน 2 หรือเมื่อประมาณ 20  ปีที่ผ่านมา
แต่ก็มีบางปีที่สื่อประจำทำเนียบฯ และสภาฯ  งดเว้นการตั้งฉายาให้แก่รัฐบาล เช่น ช่วงพฤษภาทมิฬฯ เมื่อปี 2535 ซึ่งเกิดวิกฤตการเมืองรุนแรง หรือในปีที่รัฐบาลในขณะนั้นดำรงตำแหน่งไม่ครบ 1 ปี เช่น สมัยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และ รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รวมทั้งปี 2556 ที่มีการยุบสภา และบ้านเมืองอยู่ในสภาวะความขัดแย้ง 

ศาลสูงสุดอียิปต์สั่งพิจารณาคดี 'นักข่าวอัลจาซีรารายงานเท็จ-เอี่ยวภราดรภาพมุสลิม' ใหม่

http://www.matichon.co.th/online/2015/01/14201678681420167878l.jpg
ศาลสูงสุดของอียิปต์ยกเลิกคำตัดสินคดีที่นักข่าวอัลจาซีราถูกกล่าวหาว่ารายงานข่าวเท็จและมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและถูกสั่งจำคุก 7-10 ปีและให้พิจารณาคดีใหม่

2 ม.ค. 2558 สถานการณ์ผู้สื่อข่าวอัลจาซีราที่โดนจับกุมตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 และถูกดำเนินคดีในช่วง 2557 เริ่มมีความหวังขึ้นบ้าง เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของอียิปต์ยอมรับคำอุทธรณ์ให้มีการพิจารณาคดีใหม่อีกครั้งและยกเลิกคำตัดสินเดิมที่สั่งให้มีการจำคุกนักข่าวต่างชาติ 7-10 ปี
นักข่าวที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีประกอบด้วย โมฮัมเหม็ด ฟาห์มี ชาวอียิปต์-แคนาดา ผู้เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการอัลจาซีราประจำกรุงไคโร, ปีเตอร์ เกรสเต นักข่าวชาวออสเตรเลีย และบาเฮอร์ โมฮัมเหม็ด โปรดิวเซอร์ฝ่ายข่าวภาษาอังกฤษของอัลจาซีรา พวกเขาถูกขังอยู่ในคุกมาเกิน 1 ปีแล้วในช่วงที่มีการพิจารณาคดี
ถึงแม้ญาติของนักข่าวอัลจาซีราจะมีความหวังมากขึ้นหลังจากที่ศาลสูงสุดยอมรับให้มีการพิจารณาคดีใหม่อีกครั้ง แต่ก็ไม่คิดว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นบวกมากเท่ากับที่หวังเอาไว้ ทนายความของจำเลยและครอบครัวพวกเขายังหวังว่าจะมีการอนุญาตให้ประกันตัวโดยสั่งห้ามการเดินทาง แต่ไม่มีใครทราบว่าศาลสูงสุดในอียิปต์มีอำนาจสั่งปล่อยตัวพวกเขาหรือไม่
มาร์วา โอมารา คู่หมั้นของฟาห์มีที่เคยบอกว่าจะแต่งงานกับเขาในคุกกล่าวว่าเธอยังคงเป็นกังวลต่อเรื่องสุขภาพของฟาห์มี โดยฟาห์มีผู้เป็นโรคตับอักเสบซี และมีอาการปวดไหล่แต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีขณะอยู่ในคุกทำให้เกิดความเสียหายอย่างถาวร
ก่อนหน้านี้กลุ่มนักข่าวถูกจับกุมด้วยข้ออ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาชิกกลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งถูกประกาศให้เป็นกลุ่มต้องห้ามในอียิปต์ และยังถูกกล่าวหาอีกว่าสร้างข่าวเท็จ แต่ในการพิจารณาคดีดังกล่าว ศาลอียิปต์ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการปาหี่ ไม่เป็นไปตามกระบวนการ มีการแสดงหลักฐานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย ส่วนนักข่าวที่ตกเป็นจำเลยให้การว่าพวกเขาแค่ทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว
การดำเนินคดีในศาลอียิปต์ยังมีความน่าสงสัยจากการที่พวกเขาไม่ให้นักข่าวเข้าไปร่วมฟังการพิจารณาคดี อีกทั้งยังมีการไต่สวนพิจารณาคดีในแต่ละครั้งด้วยระยะเวลาที่สั้นมาก นอกจากนี้ทนายความฝ่ายจำเลยยังกล่าวอีกว่าพวกเขาถูกกีดกันไม่ให้สามารถเข้าถึงหลักฐานได้
หลังจากการจับกุมตัวนักข่าวอัลจาซีราก็มีการรณรงค์ในระดับนานาชาติให้มีการปล่อยตัวพวกเขา โดยในอินเทอร์เน็ตมีการใช้แฮชแท็ก #FreeAJstaff หรือ #FreeAJEStaff เพื่อบ่งบอกถึงการรณรงค์ในเรื่องนี้
ครอบครัวของฟาห์มียังคงพยายามหาวิธีการที่ทำให้ฟาห์มีที่เป็นพลเมืองของทั้งแคนาดาและอียิปต์ถูกเนรเทศออกนอกประเทศในฐานะผู้ต้องหาชาวต่างชาติที่ถูกดำเนินคดีในอียิปต์ภายใต้กฎหมายใหม่ของประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตารื อัลซีซี แต่ฟาก์มีต้องยกเลิกความเป็นพลเมืองชาวอียิปต์เสียก่อนถึงจะมีผลบังคับใช้ได้
ทางด้านเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศอียิปต์กล่าวแสดงความกังวลอย่างมากในเรื่องการดำเนินคดีต่อนักข่าวและหวังว่าการเปิดพิจารณาคดีใหม่จะกระทำด้วยความรวดเร็วและมีความโปร่งใส
ญาติของฟาห์มีกล่าวอีกว่าพวกเขามีความหวังว่าเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกาตาร์กับอียิปต์ดีขึ้นอาจจะทำให้นักข่าวที่ถูกดำเนินคดีมีโอกาสรอดมากขึ้น เพราะพวกเขามองว่านักข่าวเหล่านี้เป็นแค่ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกสังเวยท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศเพราะทางการกาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารอียิปต์ และสื่ออัลจาซีราก็มีฐานที่ตั้งอยู่ในประเทศกาตาร์ทำให้อาจจะถูกโยงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกัน

เรียบเรียงจาก
Cautious optimism on New Year's Day for detained Al Jazeera journalists, Globalpost, 01-01-2015
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/middle-east/egypt/150101/cautious-optimism-new-years-day-detained-al-jazeera-j

'อภิสิทธิ์' ติงรัฐบาลแก้ปัญหาข้าวไม่ถูกจุด-ท่องเที่ยวยังติดขัดกฎอัยการศึก


ระบุรัฐบาลแก้ปัญหาราคาข้าวไม่ตรงจุด เพราะนายทุนเห็นรัฐช่วยเหลือเกษตรกรจึงไปกดราคารับซื้อข้าว แนะรัฐต้องมีนโยบายชัดแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร พร้อมชี้ท่องเที่ยวยังติดขัดกฎอัยการศึก ด้านชาวไร่อ้อยระบุหากจะให้คุ้มต้นทุนปลูกต้องกู้ ธ.ก.ส.ถึง 3 หมื่นล้าน
 
2 ม.ค. 2558 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญราคาข้าวตกต่ำว่า รัฐบาลชุดนี้ยังแก้ไขปัญหาราคาข้าวไม่ตรงจุด เนื่องจากรัฐบาลไปเน้นเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 1,000 บาท ต่อไร่ แทนการสนใจราคาในตลาด เพราะเมื่อนายทุนเห็นว่ารัฐช่วยเหลือเกษตรกร ก็จะทำให้นายทุนไปกดราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกร ทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาต่ำ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง  และกรณีที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ชาวนางดการปลูกข้าวในฤดูการผลิตข้าวนาปรังปี 2557/2558 เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ  ตนมองว่ารัฐบาลไม่มีความชัดเจนว่ารายได้ของเกษตรกรจะมาจากทางไหน จึงควรหาวิธีการที่ชัดเจนในการช่วยเหลือ
 
สำหรับการแก้ไขปัญหายางพารานั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาคือสต๊อกยางพาราที่รัฐบาลชุดที่แล้วรับซื้อไว้ ฉะนั้นการที่รัฐบาลชุดนี้จะแก้ไขได้รัฐบาลต้องสร้างความชัดเจนว่าจะนำยางพาราเหล่านั้นไปทำอะไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าจะไม่นำออกมาขายอีก แต่เมื่อรัฐบาลไม่มีความชัดเจนทำให้ตลาดโลกเข้าใจว่ายางในส่วนนี้อยู่ ทำให้ราคายางในตลาดโลกตกลง
 
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง แต่รัฐบาลกลับมีนโยบายปรับขึ้นค่าแท็กซี่ ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้องในเชิงหลักการ เพราะประชาชนควรที่จะได้ใช้พลังงานในราคาต้นทุน และเป็นการซ้ำเติมปัญหากำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันดีเซลและเบนซินเท่ากันนั้นจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ยาก
 
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ยังกล่าวถึงการท่องเที่ยวในประเทศ ว่า แม้ขณะนี้จะฟื้นตัวแล้ว แต่ยังติดเรื่องของกฎอัยการศึกที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถซื้อประกันได้ รวมถึงการลงทุนของต่างชาติที่อาจจะรอให้ประเทศเกิดความสงบอย่างแท้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องรอการตัดสินใจของรัฐบาล การทบทวนเรื่องต่าง ๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการเร่งให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นว่าไทยจะยังสามารถเดินต่อไปได้
 
ชาวไร่อ้อยระบุหากจะให้คุ้มต้นทุนปลูกต้องกู้ ธ.ก.ส.ถึง 3 หมื่นล้าน
 
ด้านนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นต้นสำหรับฤดูการผลิตปี 57/58 ประกาศออกมาที่ตันละ 900 บาท ถือเป็นราคาที่ยังต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยที่ปีนี้อยู่ประมาณตันละ 1,222 บาท ขณะที่ผลกระทบจากภัยแล้งส่งผลให้ภาพรวมการผลผลิตอ้อยลดลงคาดว่า จะลดลงจากปีที่แล้วที่มีกว่า 103 ล้านตัน เหลือ 95 ล้านตัน ขณะที่ราคาน้ำตาลโลกตกต่ำ บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ยังขายในตลาดโลกไปได้เพียงร้อยละ 17 ของโควตา ข. เท่านั้น
 
ชาวไร่อ้อยจึงต้องการให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เพื่อนำมาเป็นเงินเพิ่มค่าอ้อย ซึ่งหากจะให้คุ้มกับต้นทุนการปลูกจริง ก็อาจต้องกู้สูงถึงกว่า 30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จะต้องรอผลการพิจารณาจากคณะทำงานที่มีนายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานจะพิจารณาในการประชุมนัดแรกในต้นปีนี้ก่อน
 
อย่างไรก็ตาม ฤดูการผลิตอ้อยปีที่ผ่านมาได้กู้ไปแล้วกว่า 15,000 ล้านบาท และยังคงชำระหนี้กับธ.ก.ส.อยู่ ชาวไร่อ้อยไม่ต้องการให้กู้มากจนเกินไป ส่วนจะกู้เงินมากน้อยเพียงใดต้องรอผลการพิจารณาของคณะทำงานก่อน แต่ชาวไร่อ้อยจะมุ่งรณรงค์ชาวไร่อ้อยด้วยกันให้การตัดอ้อยให้ฤดูการผลิตนี้ ให้ได้อ้อยที่มีคุณภาพสูงมขึ้น เพื่อจะได้ค่าความหวานที่ดีขึ้น เพราะจะส่งผลต่อราคาอ้อยที่ดีขึ้นด้วย ก็จะช่วยส่งผลให้การกู้เงินจากธ.ก.ส.เพื่อจะนำมาเป็นเงินเพิ่มค่าอ้อยลดลงตามไปด้วย