วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555


คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ?!
นิติราษฎร์ออกแถลงการณ์คำสั่งศาลรธน.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

         เว็บไซต์คณะนิติราษฎร์ เผยแพร่แถลงการณ์เรื่อง  "คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญกรณีรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ไว้พิจารณา และคำสั่งให้รัฐสภา รอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ "  

           โดยชี้แจงเหตุและผลพร้อมสรุปว่า ศาลรัฐธรรมนูญ   ไม่อาจรับ 5 คำร้องไว้พิจารณาได้ เนื่องจากการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกระบวนการและขั้นตอน ตามที่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และเห็นว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภาชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลผูกพันให้รัฐสภาต้องทำตาม แต่หากรัฐสภายอมรับคำสั่งนี้  จะส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายแดนอำนาจ จนกลายเป็นองค์กรเหนือรัฐธรรมนูญ และเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตยในที่สุด

ส่วนเนื้อหาของแถลงการณ์มีดังนี้ 
         " ตามที่มีบุคคลเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งฉบับ อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

         โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏตามข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2555  ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2555 นั้น 

         คณะนิติราษฎร์พิจารณาแล้ว มีความเห็นต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวในสามประเด็น ดังนี้...
        1. การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการเสนอคำร้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 ให้สิทธิแก่บุคคลผู้ทราบการกระทำอันเป็นการแถลงการณ์เพื่อวิจารณ์คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการ ศาลใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตาม วิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สามารถเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว เหตุแห่งการเสนอคำร้องตามมาตรา 68 ต้องเป็นการกระทำของบุคคลหรือพรรคการเมือง แต่ข้อเท็จจริงในกรณีนี้เป็นการใช้อำนาจของรัฐสภาในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กรณีจึงไม่ใช่เป็นการกระทำของ "บุคคล" หรือ "พรรคการเมือง" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 

         รัฐสภาได้ใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่ บัญญัติไว้ในหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกรณีที่รัฐสภาใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้แก่บุคคลและพรรค การเมือง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีนี้เป็นการกระทำตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนหรือทั้งฉบับ ตราบเท่าที่การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมิได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอัน มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ 
           การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอันมีผลเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ นั้นเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อคราวที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ซึ่งก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และคราวที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 โดยการจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พุทธศักราช 2540

2. ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
            รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 วรรคสอง กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หมายความว่า บุคคลต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดก่อน ภายหลังอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมีมูล อัยการสูงสุดจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ 
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความว่า การเสนอคำร้องตามมาตรา 68 วรรคสองนั้น อาจทำได้สองวิธี คือ
         หนึ่ง บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
        สอง บุคคลมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้โดยตรง โดยไม่ต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน 
        คณะนิติราษฎร์เห็นว่า กรณีตามมาตรา 68 วรรคสอง ไม่อาจตีความตามที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า เฉพาะแต่อัยการสูงสุดเท่านั้น ที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุดก็ไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หากปราศจากการเสนอ เรื่องของบุคคลผู้ทราบการกระทำตามมาตรา 68 วรรคแรก กรณีคำร้องตามมาตรา 68 วรรคสอง จึงต้องดำเนินการเป็นสองขั้นตอนตามลำดับได้แก่ บุคคลเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไปมิได้ 

         นอกจากนี้ เมื่อได้ตรวจสอบบันทึกรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 27/2550 เกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 68 พบว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเข้าใจตรงกันว่าผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 วรรคสอง คือ อัยการสูงสุดเท่านั้น 

          หากพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะเห็นได้ว่าในกรณีที่รัฐธรรมนูญ มุ่งประสงค์ให้สิทธิแก่บุคคลทั่วไปในการ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งดังกรณีปรากฏในมาตรา 212 ว่าบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ และไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่ง กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ 

           คณะนิติราษฎร์เห็นว่าการตีความมาตรา 68 วรรคสองของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ขัดกับหลักการตีความกฎหมายทั้งในแง่ถ้อยคำ ประวัติความเป็นมา เจตนารมณ์ ตลอดจนระบบกฎหมายทั้งระบบ เป็นการตีความกฎหมายที่ส่งผลประหลาดและผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง 

3. อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการกำหนด "วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา" 

         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ไม่ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัย แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำเอาวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 264  มาใช้ โดยอาศัยข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ ข้อ 6
         วิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัย  เป็นมาตรการสำคัญในกระบวนพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคดีรัฐธรรมนูญ การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจดังกล่าว  ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญมุ่งประสงค์ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อน มีคำวินิจฉัย ต้องบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 

           คณะนิติราษฎร์เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจก่อตั้งอำนาจกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยได้ ด้วยตนเอง โดยอาศัยแต่เพียงข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ ข้อ 6 เพื่อนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 มาใช้ เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นำวิธีการชั่วคราว  ก่อนมีคำวินิจฉัยมาใช้ระงับ ยับยั้งกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นการเข้าแทรกแซงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยไม่มีอำนาจกระทำได้

           ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้น  เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และทำให้กลไกต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ดำเนินการไปได้ ตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ แต่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้กลับมีผลเป็นการทำลายกลไกการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจนี้ไว้ให้แก่รัฐสภาเท่านั้น 
          อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญรูปแบบหนึ่ง ที่มีลำดับชั้นทางกฎหมายสูงกว่าอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งอำนาจทั้งสามเป็นเพียงอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง
          ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตุลาการ เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการควบคุมตรวจสอบการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถควบคุมตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังเช่น การควบคุมตรวจสอบพระราชบัญญัติมิให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้

อาศัยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด คณะนิติราษฎร์เห็นว่า

         1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องในกรณีนี้ไว้พิจารณาได้ เนื่องจากการยื่นคำร้องในกรณีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกระบวนการและขั้นตอนตามที่ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 

          2. คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ จึงไม่มีผลผูกพันรัฐสภาให้ต้องรอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ 

          หากรัฐสภายอมรับให้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้มีสภาพบังคับทางรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ย่อมส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่ อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ และมีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ-ประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิงในที่สุด

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร 
ท่าพระจันทร์, 4 มิถุนายน 2555
3 มิถุนายน 2555 เวลา 23:41 น.
http://redusala.blogspot.com