วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

ประยุทธ์ห้ามรณรงค์ทั้ง Vote No/Yes ไม่ว่าปชช.หรือนักวิชาการ ขู่ถ้าพ.ร.บ.ออกมามีโทษ 10 ปี


19 เม.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวบางช่วงในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐม­นตรี ถึงการเคลื่อนไหวรณรงค์รับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า กฏหมายยังไม่ออกมาเขากำลังรอโปรดเกล้าอยู่ ถ้าลงมาก็โดนหมดนั่นล่ะ เขาห้ามพูดรณรงค์ไม่ใช่หรือ
ต่อกรณีคำถามว่าการรณรงค์ที่เป็นความผิดนั้นร่วมถึงนักวิชาการด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ใครล่ะ ใครรณรงค์ เขาเขียนว่านักวิชาการรณรงค์ได้ ประชาชนทั่วไปรณรงค์ไม่ได้อะไรหรือเปล่า เขาเขียนว่าห้ามรณรงค์ รับหรือไม่รับ แค่นี้ทำไม่ได้หรือไง เออ ไม่เข้าใจหรอภาษาไทยแปลเป็นไทยไม่เข้าใจหรอ อืม"
"รณรงค์ไม่ให้รับ หรือรับ พูดยังไม่เข้าใจอีกไอ้นี่ รณรงค์ประชามติผมยังไม่อยากให้ทำเลย เดี๋ยวมีปัญหาอีกนะ ถ้าอยากให้บ้านเมืองก็แล้วแต่ท่านเลือกเอาเอง กำหนดเอาผมทำให้ได้แค่นี้ ทำให้เต็มที่แล้ว"
"เดี๋ยวกฏหมาย พ.ร.บ.ประชามติออกมามันมี ลงโทษ 10 ปี ไม่กลัวกันก็ตามใจกลัวไหมเล่า สื่อก็โดนด้วยนะ จะบอกให้ ไปบอกนายทุนของพวกเธอด้วย ยังปล่อยก่อน ถ้า พ.ร.บ.มาเมื่อไหร่วันนั้นโดนเมื่อนั้น ฟ้องศาลกันหมดล่ะ พวกนักวิจารณ์นี่ ก็เขาเขียนกฏหมาย กฏหมายคือกฏหมาย ท่านว่ากฏหมายไม่เป็นธรรม ก็เขาออกกฏหมาย เพราะฉะนั้นกฏหมายที่ผ่านมาก็ไม่เป็นธรรมหมดสิ หรือเพราะรัฐบาลนี้มาเลยไม่เป็นธรรมทั้งหมด ก็ทำสิ่งที่ดีมาตั้งเยอะตั้งแยะ บางเรื่องขอกันบ้านให้บ้านเมือมันเรียบร้อยก็ให้ไม่ได้อีก แล้วมันจะเอาอะไรกันล่ะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

กต.รุดเข้าเลคเชอร์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้ EU หวั่นไม่เก็ท หลังลูกวัฒนาร้องละเมิดสิทธิฯ

20 เม.ย. 2559 กรณีที่วานนี้ (19 เม.ย.59) วีรดา เมืองสุข บุตรสาว วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ถูก คสช. ควบคุมตัวหลังแสดงความเห็นคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสหภาพยุโรป (EU) เพื่อร้องทุกข์และเรียกร้องให้องค์การระหว่างประเทศหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสิทธิมนุษยชนสากล ตรวจสอบว่าการจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมืองของ คสช. นั้น ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ประยุทธ์สั่งกต.แจงหลังลูกวัฒนาร้อง EU 

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า ก็ไปร้องสิ ตนก็จะให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงไป จะไปร้องเรื่องอะไร หากร้องเรื่องละเมิดสิทธิ์ แล้วกฎหมายมีหรือไม่ ว่าห้ามทำอะไรบ้าง ต้องพูดตรงนี้ก่อนอย่าไปพูดเรื่องละเมิดสิทธิ์ คุณไม่รังเกียจหรือที่วัฒนาละเมิดกฎหมาย แล้วคุณละเมิดหรือเปล่า ถ้าเมื่อไรที่ละเมิดก็โดนจับเหมือนกัน ต้องรู้ว่าอะไรคือกฎหมาย อย่าไปมองเฉพาะปลายเหตุ ถ้ามองเฉพาะปลายเหตุก็ตีกันอยู่อย่างนี้ แทนที่ประเทศเราจะดีขึ้น กลายเป็นว่าไอ้นั่นก็ไปไม่ได้ ประชามติเดินหน้าไม่ได้ เลือกตั้งก็ไปไม่ได้แล้วจะเอาอะไร ทำไมไม่ช่วยกันแก้ให้จบไปทีละเรื่อง กลับไปกลับมากันอยู่แบบนี้
“สื่อต้องช่วยกันชี้แจงเขาหน่อย ว่าเขาทำผิดกฎหมาย ให้อภัยมาหลายครั้งแล้ว กฎหมายและคำสั่งเขียนไว้ และคำสั่งก็คือกฎหมาย หากจะบอกว่ากฎหมายไม่ชอบ อ้าว ก็ผมมาอย่างนี้ จะเอาอะไรกับผม แล้วถ้าผมไม่มาจะเกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่คิดแบบนี้หรือมันดีอยู่แล้ว ก็เชิญเสด็จเถอะ ผมจะได้เลิกทำทั้งหมด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ต่อกรณีคำถามที่ว่าการควบคุมตัววัฒนา ถูกมองว่าเพราะออกมาแสดงความคิดเห็นในร่างรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า แล้วมันควรหรือไม่ เป็นการกระทำที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ขัดต่อความสงบบ้านเมือง ต้องไปดูคำสั่ง ส่วนเรื่องจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของท่าน ตนไม่ได้บังคับอยู่แล้วจะทำอะไรก็ทำ อยากได้อะไรก็ได้ทำไปเถอะ ทำดีได้ดี ทำไม่ดีก็ได้อย่างนั้น บ้านเมืองจะกลับไปที่ไหนก็แล้วแต่ท่าน ตนพูดจนเหนื่อยพูดมาสองปีกว่าแล้ว ถ้ายังกลับไปที่เดิมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ประเทศไทยจะกลับไปสู่กลียุคใหม่ก็เอาสิ ถ้าปล่อยให้วัฒนาพูด ก็จะมีคนอื่นออกมาพูดอีก มีอีกพวกออกมาพูด อีกหน่อยจะห้ามพูดทั้งหมด ถ้ามันจำเป็นก็ต้องทำ บ้านเมืองต้องการความสงบอยากถามว่าคนที่เขาประกอบอาชีพทั่วไปเดือดร้อนอะไรไหม มีแต่การเมืองที่วุ่นวายจะเป็นจะตาย พูดแต่อนาคต ประเทศชาติ ประชาชน ปั้ดโธ่
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตัดตอนการสัมภาษณ์ประเด็นของวัฒนา โดยกล่าวเสียงดัง ว่า “ยังไม่เลิกถามเรื่องวัฒนาอีก ไป โอย เลิกพูดแล้ว ให้ค่าอยู่นั่นแหล่ะ ผมไม่ให้ค่าคนพวกนี้อยู่แล้ว เขาไม่เคยให้เกียรติผมอยู่แล้ว ผมทำไมต้องให้เกียจเขาหล่ะ เขาเคยให้เกียรติใครบ้าง มายกกันเป็นประเด็นอยู่นั่นแหล่ะ ผมจะไม่พูดอะไรอีกต่อไป จะดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งหมด ใครอยากจะลองก็เอาสิ”
จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบคำถามอีกครั้ง ถึงกรณีที่นักการเมืองต้องการให้ควบคุมตัวเพื่อจะร้องเรียนต่อองค์กรต่างชาติใช่หรือไม่ ว่า ก็ใช่สิ เขาอยากอยู่แล้ว ตนยืนยันว่าดำเนินการตามกฎหมาย ตนไม่ได้อยากควบคุมตัว แต่นักการเมืองอยากให้มีการควบคุมตัวเพื่อจะได้ฟ้องร้อง สื่อก็รู้อยู่ยังมาถาม เขาให้โอกาส 4-5 ทีแล้ว ปกติเขาให้โอกาสกันที่ไหน นั่นแหล่ะแสดงว่าเขาจงใจต้องการจะสื่อไปตามนโยบายโลกล้อมประเทศของใครบางคน แล้วคุณจะให้เขาล้อมเหรอ คุณจะไปเป็นปากเสียงให้เขามาบริหารจัดการประเทศแทนตน ก็ตามใจไม่ว่าอะไรอยู่แล้ว

กต.รีบเข้าชี้แจง EU หลังลูกวัฒนาฟ้องละเมิดสิทธิฯ


ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้พบกับเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ในช่วงบ่ายวันนี้ (19 เม.ย.) เพื่อหารือในหลายเรื่อง ซึ่งรวมทั้งกรณีของวัฒนา โดยจะอธิบายให้อียูเข้าใจสถานการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และชี้แจงบทบาทของทหารที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงตามประวัติศาสตร์การเมืองของไทย โดยเฉพาะช่วงปี 2557-2559 ที่อยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศตามโรดแม็ปของ คสช.ที่ทหารเข้ามาแก้ปัญหา และวางพื้นฐานให้กับประเทศ เนื่องจากทูตจากประเทศอียูอาจไม่เข้าใจความเป็นมา และสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่าที่ควร และหลายสิ่งที่เกิดขึ้นมีปัจจัยที่ต่างประเทศไม่ควรมองเพียงผิวเผิน หรือเฉพาะหน้า เพราะมีหลายมิติที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย ตนเชื่อว่าหลังจากที่เราชี้แจงไปแล้ว เขาจะเข้าใจข้อเท็จจริงต่างๆ มากขึ้น
 
ต่อกรณีคำถามว่ากรณีของวัฒนา จะถูกนำไปตอกย้ำกับรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2558 ที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่ายังพบว่ามีการละเมิดสิทธิในไทยหรือไม่ ดอน กล่าวว่า ประเทศที่มีปัญหาสิทธิมนุษยชนไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่มีคนจำนวนหนึ่งออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยมีประชากรเกือบ 70 ล้านคน ขอให้ไปถามคนส่วนใหญ่ว่าถูกลิดรอนหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้ และจากการที่ตนได้พูดคุยกับบุคคลจากหลายวงการ พูดตรงกันว่าไม่ได้ถูกลิดรอนสิทธิจากสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ นอกจากนี้หากอ่านรายงานดังกล่าวอย่างละเอียดจะเห็นว่าไทยไม่ใช่ตัวปัญหา และแม้จะมีการระบุถึงข้อห่วงกังวล แต่จะเห็นว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยมีความก้าวหน้า โดยภาพรวมถือว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยไม่ได้มีปัญหา และในรายงานพบว่าบางส่วนมีต้นตอมาจากต่างประเทศ ที่ให้ข้อมูล เนื่องจากทางอียูและสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับการใช้ล็อบบี้ยิสต์ โดยข้อมูลส่วนใหญ่เราสามารถโต้แย้งและชี้แจงให้เขาเข้าใจได้

6 องค์กรนักกฎหมายสิทธิ เรียกร้องปล่อยตัว 'วัฒนา' ทันที

19 เม.ย. 2559 กรณีที่นายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ถูก คสช. ควบคุมตัวไว้ หลังเดินทางไปรายงานตัวที่ มทบ. 11 ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (18 เม.ย.)
ล่าสุด สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายวัฒนา โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข พร้อมขอให้ยุติการคุกคาม แทรกแซงและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่อร่างรัฐธรรมนูญ
รายละเอียดมีดังนี้ 

แถลงการณ์
ขอให้ยุติการคุกคาม แทรกแซงและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่อร่างรัฐธรรมนูญ
         

รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดในการปกครองประเทศซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐต่อกันเองและต่อประชาชน รัฐธรรมนูญจึงเป็นกติกาที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งปวงดังนั้น กติกาที่จะออกมาบังคับใช้ดังกล่าวจำเป็นต้องผ่านการมีส่วนร่วมอย่างเข็มข้นและกว้างขว้างของประชาชน และประชาชนต้องสามารถแสดงเจตจำนงได้อย่างเสรีในการยอมรับหรือไม่ยอมรับกติกาดังกล่าว
       
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นต้นมา การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องด้วยการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญกระทำโดยคนเพียงบางกลุ่มและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างเพียงพอในกระบวนการร่างส่วนในเชิงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ก็ถูกตั้งคำถามในหลายประเด็น อาทิ ประเด็นเรื่องสิทธิในการศึกษา สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค ที่มาของนายกรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. อำนาจขององค์กรอิสระ การรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำและการใช้อำนาจจาก คสช. เป็นต้น
       
แม้ผู้มีอำนาจจะกำหนดให้มีการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่บรรยากาศการมีส่วนร่วมและการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมฉบับนี้ก็ยังถูกจำกัดอยู่ โดยเฉพาะการจำกัดหรือปิดกั้นการแสดงออกในทางที่ไม่เห็นด้วยหรือวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญดังจะเห็นได้จากการที่ผู้มีอำนาจออกมาข่มขู่อยู่เสมอๆอาทิ การขู่ห้ามไม่ให้ใส่เสื้อ Vote No หรือแม้แต่ขู่ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ทำการรณรงค์ในทางที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น และเห็นได้ชัดจากการพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่งมีมติเห็นเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีการกำหนดโทษเกี่ยวกับการทำประชามติไว้ค่อนข้างสูง[1] ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายภายใต้สถานการณ์ที่ลุแก่อำนาจเช่นนี้ย่อมมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกตีความตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจในการไปจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
       
การควบคุมตัวนายวัฒนา เมืองสุข เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 ที่ผ่านมาโดยเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากที่เขาแสดงความคิดเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการจำกัดและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นกรณีล่าสุด ซึ่งกรณีดังกล่าวนอกจากจะเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นแล้ว ยังเป็นการควบคุมตัวโดยอำเภอใจ ไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่เป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ในความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 39/2557 ก็ตาม แต่คำสั่งเหล่านี้ต่างเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ/นิติธรรม (Rule of Law) เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกมาอย่างไร้เหตุผลหรือตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ[2] อีกทั้งไม่สอดคล้องกับหลักแห่งความจำเป็นและหลักสัดส่วน (necessity and proportionality)[3] ประกาศหรือคำสั่งในลักษณะเช่นนี้  จึงไม่ควรถูกรับรองว่าเป็นกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ การควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามประกาศหรือคำสั่งของ คสช.ในกรณีดังกล่าวจึงขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่ถูกรับรองไว้ในมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 9
       
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ ยืนยันว่า เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิทธิที่ได้รับการประกันตามมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 19 ที่กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะถือเอาความเห็นใดก็ได้โดยปราศจากการแทรกแซงและบุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและกระจายข่าวและความคิดเห็นทุกรูปแบบโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน[4] เนื่องจากถือว่า หลักการนี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการที่จะส่งเสริมให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์[5]และเสรีภาพดังกล่าวถือเป็นกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนซึ่งความคิดเห็นอันนำไปสู่การพัฒนาทางสังคม ส่งเสริมให้หลักความโปร่งใส (transparency) และความรับผิดชอบ (accountability) เกิดขึ้นเป็นจริงได้ และที่สำคัญหลักการดังกล่าวจะนำมาซึ่งการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
       
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและ คสช. ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
       
1. ให้ปล่อยตัวนายวัฒนา เมืองสุข โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข เพราะการกระทำของเขาถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเชื่อหรือความคิดเห็นโดยสันติ ภายใต้ขอบเขตที่พันธกรณีระหว่างประเทศระบุไว้ และการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวถือเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบและตามอำเภอใจ อีกทั้งมีการควบคุมตัวในสถานที่ไม่เปิดเผย ทำให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การใช้อำนาจดังกล่าวย่อมขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
       
2. รัฐจะต้องเคารพและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเชื่อและความคิดเห็นโดยสันติวิธี รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนสามารถรณรงค์ทั้งในทางสนับสนุนหรือคัดค้านได้ ซึ่งจะนำไปสู่การลงประชามติที่ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองอย่างแท้จริง (Rights to Self-Determination)
       
3. รัฐต้องยุติการคุกคาม ข่มขู่ แทรกแซงและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกความเห็น ตลอดจนยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ถูกสร้างขึ้นตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจมาปิดกั้นและจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เห็นต่างจากแนวทางของรัฐ

ด้วยความเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
[1] โปรดดูรายละเอียดในพระราชบัญญัติตามลิ้ง http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/d040759-01.pdf(ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
[2] Siracusa Principles on the Limitation and Derogation of Provisions in the International Covenant on Civil and Political Rights ข้อ 15 - 18
[3] Human Rights Committee, International Covenant on Civil and Political Rights, General Comment No.34, 12 September 2011, para.22
[4] International Covenant on Civil and Political Rights article 19 (1) (2)
[5] Human Rights Committee, International Covenant on Civil and Political Rights, General Comment No.34, 12 September 2011, para.2

ปล่อยแล้ว 5 พลเมืองโต้กลับ หลังนำชุมนุมเรียกร้องปล่อยวัฒนา


พลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมเรียกร้องปล่อย "วัฒนา เมืองสุข" อานนท์-สิรวิชญ์-วรรณเกียรติ-ณัธพัช เจอรวบก่อนได้อ่านแถลงการณ์ ด้านประชาชนเดินทางให้กำลังใจที่ สน.พญาไท พร้อมทำกิจกรรมประชามติจำลอง ส่วน "วัฒนา" ยังคงถูกควบคุมตัวเป็นวันที่สอง
19 เม.ย. 2559 กรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับนัดหมายใส่เสื้อสีขาวชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในเวลา 18.00 น. เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ตั้งแต่วานนี้หลังจากถูกเรียกรายงานตัวที่ มทบ.11 จากการโพสต์เฟซบุ๊กว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเขาถูกควบคุมตัว "ปรับทัศนคติ" ครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่
เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าไม่ต้องเป็นห่วงนายวัฒนาอยู่สบายดี ส่วนการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยฯ นั้นทำไม่ได้ วัฒนาทำผิดข้อตกลงเอง
ต่อมา เวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมาก ได้เตรียมพร้อมอยู่บริเวณใกล้อนุสาวรีย์ชัยฯ แล้ว ด้านนายสิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า มีโทรศัพท์ลึกลับแจ้งว่าหากไปชุมนุมในเย็นนี้จะโดนจับกุม แต่นายสิริวิชญ์ยังคงยืนยันที่จะไป โดยระบุว่าไม่ว่า คสช.คุมตัวใคร ก็ถือเป็นการคุมตัวที่ไม่ชอบอยู่แล้ว

พลเมืองโต้กลับปรากฏตัวชุดขาว ไม่กี่นาทีโดนตำรวจคุมตัว

เวลาประมาณ 18.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อานนท์ นำภา, สิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ, ณัธพัช อัคฮาด ตัวแทนจากกลุ่มพลเมืองโต้กลับปรากฏตัวในชุดสีขาว บริเวณทางเดินบีทีเอส อนุสาวรีย์ชัยฯ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเป็นจำนวนมากและกองทัพนักข่าว โดยมีประชาชนสวมเสื้อขาวจับกลุ่มยืนอยู่ใกล้เคียงราว 10-20 คน
จากนั้นเกิดเหตุชุลมุนเล็กน้อย เมื่อมีผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนต่อว่า แสดงความไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมดังกล่าว โดยระบุว่า เหตุการณ์สงบเรียบร้อยดีแล้วและไม่ต้องการให้พวกเขามาทำกิจกรรมสร้างความปั่นป่วน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงกันทั้งสามคนลงมาด้านล่าง จากนั้นก็นำตัวขึ้นรถตำรวจไปยัง สน.พญาไท โดยที่อานนท์เตรียมแถลงการณ์มาอ่าน แต่ไม่ทันได้อ่านแถลงการณ์หรือทำกิจกรรมใดก็ถูกควบคุมตัว รวมเวลาปรากฏตัวเพียงไม่กี่นาที

สิรวิชญ์-อานนท์-วรรณเกียรติ



 

ตำรวจตีวงล้อมกรอบรถคันที่จะควบคุมตัวอานนท์และพวกไป สน.

อานนท์ ถูกนำตัวขึ้นรถตำรวจ
18.20 น. สิรวิชญ์ โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ให้รอติดตามข่าว โดยทหารจะนำตัวเขาไปที่ค่าย แต่เขาไม่ทราบว่าเป็นค่ายใด
18.35 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าแกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับจะถูกควบคุมตัวไปแล้วจากอนุสาวรีย์ชัยฯ แต่ประชาชนที่มาชุมนุมยังคงมีการรวมกลุ่มกันตะโกน "ปล่อยตัววัฒนา" จากนั้นประชาชนราว 30-50 คนเดินลงจากสกายวอลล์ BTS อนุสาวรีย์ชัยฯ มุ่งหน้าไป สน.พญาไท
ขณะที่บรรยากาศที่ สน.พญาไท หลังควบคุมตัวกลุ่มพลเมืองโต้กลับทั้ง 4 รายอยู่พักหนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้นำตัว อานนท์ นำภา, สิริวิชญ์ หรือจ่านิว, วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ และณัทพัช อัคฮาด ขึ้นรถตู้สีขาวไปโดยยังไม่แจ้งข้อกล่าวหาและไม่มีการแจ้งจุดหมายปลายทาง อย่างไรก็ตาม นายณัชพัช น้องชายของกมลเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตเมื่อ 19 พ.ค. 2553 ได้ขอให้นางพะเยาว์ มารดาขึ้นรถตู้ไปด้วย

เจ้าหน้าที่จากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ร่วมสังเกตการณ์ (เสื้อกั๊กสีฟ้า)

ณัทพัช ขณะถูกนำตัวขึ้นรถตู้

ประชาชนหน้า สน.พญาไท จัดประชามติจำลอง ก่อนแยกย้าย

19.00 น. ประชาชนที่มาให้กำลังใจ ร้องเพลงเพื่อมวลชนและจุดเทียนหน้า สน.พญาไท พร้อมตะโกน "ปล่อยเพื่อนเรา"
19.15 น. ประชาชนจำลองการลงประชามติ โดยมี "โตโต้" และ "แชมป์ 1984" เป็นผู้มาแถลงจัดกิจกรรม ขณะที่ตำรวจกำลังขอให้เลิกกิจกรรม โดยอ้างว่าตอนนี้คนที่ถูกควบคุมคงจะถูกปล่อยกลับแล้ว
19.25 น. ในขณะที่กิจกรรมกำลังจะไปถึงช่วงการนับประชามติ ตำรวจปิดไฟด้านหน้า สน. ประชาชนตะโกนเรียกร้องขอให้ตำรวจมีความเป็นธรรม
19.30 น. กำลังนับคะแนนว่ามีผู้รับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่าใด โดยระหว่างรอนับก็มีคนตะโกนว่าไม่รับรัฐธรรมนูญโจร และโหวตโน
19.33 น. คะแนนการจำลองลงประชามติ ผู้ใช้สิทธิ 76 คน ไม่รับร่างทั้งหมด และประกาศยุติการชุมนุม



ประชาชนร่วมกิจกรรมลงประชามติจำลอง

เจ้าหน้าที่ดับไฟหน้า สน.

นับคะแนนประชมามติจำลอง

ปล่อยแล้ว 5 คนพลเมืองโต้กลับ ไม่เซ็น MOU ไม่แจ้งข้อกล่าวหา

20.30 น. อานนท์ นำภา ทนายความ ให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 20.00 น.โดยทหารนำส่งทั้ง 5 คนบริเวณบิ๊กซี สะพานควาย ใกล้ที่ทำงานของเขา
เขากล่าวว่า พวกเขาถูกนำตัวไปจาก สน.พญาไท ไปยัง พล.ม.2 รอ. เพื่อกรอกประวัติเพียงครู่หนึ่งก็ถูกปล่อยตัว ไม่มีการสอบปากคำ ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่ารู้อยู่แล้วว่าพวกเขาจะไม่เซ็นข้อตกลง
อานนท์กล่าวอีกว่า กิจกรรมในครั้งนี้ถือว่าได้แสดงจุดยืนแล้วว่าประชาชนไม่พอใจการใช้อำนาจตามอำเภอใจของทหาร และหากมีการจับกุมประชาชนโดยพลการอีกก็จะออกมาทำกิจกรรมอีก เป็นกิจกรรมบนพื้นฐานของการเรียกร้องโดยสันติ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตต่อการควบคุมตัวดังกล่าวว่า แม้เจ้าหน้าที่จะไม่ได้ตั้งข้อหา หรือบังคับให้ลงชื่อยอมรับเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่การควบคุมตัวดังกล่าวยังคงเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบและเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก ซึ่งสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมติดตามและตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป 
อย่างไรก็ตาม เย็นวันนี้ นายวัฒนายังคงไม่ได้รับการปล่อยตัว   

ลูกสาววัฒนา เดินหน้าต่อยื่นสถานทูตสหรัฐฯ สอบละเมิดสิทธิฯ


20 เม.ย. 2559 ที่สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย  วีรดา เมืองสุข บุตรสาววัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และแกนนำพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นหนังสือต่อสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้องค์การระหว่างประเทศหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสิทธิมนุษยชนสากลช่วยตรวจสอบว่า การดำเนินการกับผู้เห็นต่างทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ หลังจาก คสช. ได้ควบคุมตัววัฒนา ตั้งแต่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
วีรดา กล่าวว่า ได้หยุดเรื่องการเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศไว้ก่อนเพื่อช่วยพ่อ ซึ่งจะมีการยื่นข้อเรียกร้องจนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว และพ้นจากการคุมขังของ คสช. ซึ่งทาง คสช.ได้ติดต่อมาเพื่อแจ้งสถานที่คุมขัง แต่ไม่ได้แจ้งว่าจะควบคุมตัวกี่วัน และทางพ่อได้ติดต่อมาขอให้ใจเย็นและไม่ต้องกลัวสิ่งที่เกิดขึ้น
สำหรับการยื่นหนังสือในวันนี้ วีรดา ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยื่นหนังสือและพูดคุยภายในสถานทูต แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด ขณะที่การรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยนั้นเป็นไปอย่างเข้มงวด มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลทั้งในและนอกเครื่องแบบมาดูแลความปลอดภัยอยู่บริเวณโดยรอบด้วย
หลังจากยื่นหนังสือ วีรดา ได้มาขอบคุณสื่อมวลชนและเดินทางกลับเพื่อไปติดตามข่าวสารของพ่อว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว หลัง คสช.ไม่อนุญาตให้วัฒนาเดินทางมาศาล
เรียบเรียงจาก เนชั่น และมติชนออนไลน์

80 นักวิชาการยื่นจดหมายถึง มธ. ขอยุติการอุทธรณ์คำพิพากษาไล่ออก สมศักดิ์


นักวิชาการไทย อาทิ เกษียร เตชะพีระ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เชษฐา พ่วงหัตถ์ ยศ สันตสมบัติ,พวงทอง ภวัครพันธ์ ฯลฯ  ส่งจม.เปิดผนึกถึง นรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภามหาวิทยาลัย ขอให้ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครอง กรณีการเพิกถอนคำสั่งไล่ออก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย ติงว่าอาจถูกครหาว่าไม่มีความเป็นธรรม โดยขอให้อธิการพิจารณาหนังสือขอลาออกแทน
20 เม.ย. 2559 หลังจากที่ศาลปกครองกลางได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ลงโทษไล่ออกอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (ประชาไท 11 เม.ย.59) แต่ต่อมา ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดต่อเรื่องนี้ว่ากำลังให้ฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่ โดยแสดงความเห็นส่วนตัวว่า “คงต้องอุทธรณ์” เพราะไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาล (ประชาไท 13 เม.ย.59)

จดหมายเปิดผนึกลงนาม 80 รายชื่อจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการแสดงท่าทีของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังกล่าว ว่าทำให้รู้สึกเป็นกังวลใจในกรณีการปฏิบัติต่อนักวิชาการผู้สอนในสถาบันการศึกษาด้วยความเป็นธรรม  และได้เสนอว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรที่จะยุติเรื่องนี้ได้ ตามที่ศาลปกครองได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งไล่ออกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปแล้ว และขอให้นายสมคิด เลิศไพทูรย์ อธิการบดี พิจารณาจดหมายลาออกของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยในจดหมายยังได้ระบุว่าหากมีกระบวนการฟ้องร้องกันต่อไป ในขณะที่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองอาศัยอยู่ในต่างประเทศ  จึงอาจถูกมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

0000
จดหมายเปิดผนึกถึงสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง ขอให้สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสนอให้อธิการบดีมหาวิทยาธรรมศาสตร์พิจารณาอนุมัติใบลาออกจากราชการของอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และยุติการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครอง
เรียน ศาสตราจารย์ (พิเศษ) นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตามที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 ลงโทษไล่อาจารย์ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากราชการ ต่อมา อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) และ ก.พ.อ.วินิจฉัยยกอุทธรณ์ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์จึงฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออก และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 78/2559 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559 โดยพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออก และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวนั้น อย่างไรก็ดี ภายหลังจากมีคำพิพากษาศาลปกครอง ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน แสดงความต้องการจะอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้คำสั่งไล่ออกยังคงมีผลต่อไป

คณาจารย์ทั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ดังรายชื่อข้างท้ายหนังสือนี้ ได้ติดตามกรณีที่เกิดขึ้นด้วยความเป็นห่วงและมีความเห็นต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ดังนี้

1. ก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งไล่ออกจากราชการ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ยื่นเรื่องขอไปปฏิบัติงานเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการเพื่อทำงานวิจัยมีกำหนด 1 ปี โดยมีระยะเวลาเริ่มต้นงานวิจัยในวันที่ 1 สิงหาคม 2557 และสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 โดยที่คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มีคำสั่งอนุมัติแล้ว แต่หนังสือดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิจารณาจากมหาวิทยาลัย จนกระทั่งวันที่ 18 ธันวาคม 2557 คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ได้แจ้งให้อาจารย์ ดร.สมศักดิ์กลับมาปฏิบัติราชการ และมอบหมายภาระงานสอน

2. ในส่วนของการพิจารณาอนุมัติหนังสือขอไปปฏิบัติงานเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการเพื่อทำงานวิจัยนั้น กลับปรากฏเป็นคำสั่งโดยรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมีคำสั่งยกเลิกการขออนุมัติลาไปปฏิบัติงานฯ ลงวันที่ 28 มกราคม 2558 อันเป็นการสั่งการภายหลังจากที่หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์และคณบดีคณะศิลปศาสตร์มีหนังสือแจ้งให้อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ กลับมาปฏิบัติราชการนานกว่าหนึ่งเดือน

3. หลังจากที่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ได้รับหนังสือแจ้งให้กลับมาปฏิบัติราชการ และมอบหมายภาระงานสอน จึงได้มีหนังสือลาออกจากราชการลงวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ภายหลังจากวันที่มีหนังสือให้กลับมาปฏิบัติราชการเพียงหนึ่งวัน

4. ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นชอบตามหัวหน้างานวินัยและสอบสวนที่เห็นว่า วันที่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ยื่นหนังสือลาออก คือวันที่หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ ได้รับหนังสือขอลาออก ตรงกับวันที่ 6 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นการยื่นหนังสือขอลาออกล่วงหน้าน้อยกว่า 30 วัน และไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากอธิการบดี หรือไม่ได้ระบุวันลาออก จึงถือว่าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นวันขอลาออก จากนั้น อธิการบดี ได้ลงนามในคำสั่งลงโทษไล่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ออกจากราชการในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558

จากลำดับเวลาดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ไม่ได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติราชการดังปรากฏในคำพิพากษาศาลปกครองกลาง

ประการสำคัญ เป็นที่ทราบกันดีว่า ภายหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ยิ่งตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงจากการคุกคามมากขึ้น โดยก่อนหน้านั้น อาจารย์ ดร.สมศักดิ์เคยประสบกับการถูกลอบสังหารไปแล้วครั้งหนึ่ง ดังนั้น อาจารย์ ดร.สมศักดิ์จึงจำเป็นต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลที่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์พำนักอาศัยอยู่ หากพิจารณาเงื่อนไขการพิจารณาให้สถานะผู้ลี้ภัยตามข้อตกลงระหว่างประเทศแล้ว ย่อมยืนยันได้ว่า การที่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ได้สถานะผู้ลี้ภัยเช่นนี้ ย่อมหมายความว่า หากอาจารย์ ดร.สมศักดิ์กลับมาประเทศไทย อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพได้

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเงื่อนเวลาการพิจารณาอนุมัติหนังสือขอไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการแล้ว จะเห็นได้ว่ามีการพิจารณาหลังจากที่มีหนังสือเรียกตัวอาจารย์ ดร.สมศักดิ์กลับมาปฏิบัติราชการ ทั้งต่อมายังมีคำสั่งไล่ออกลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 หลังจากที่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ได้มีหนังสือขอลาออกแล้ว ทำให้สังคมมองได้ว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ยอมพิจารณาหนังสือลาออก แต่ต้องการจะกลั่นแกล้งเพื่อให้อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ถูกไล่ออกจากราชการแทน ซึ่งส่งผลให้อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ไม่ได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญตามสิทธิที่ควรได้รับ ทั้งๆที่ได้รับราชการมาเป็นเวลาหลายปี

ดังนั้น หากอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังยืนยันที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครอง เพื่อให้คำสั่งไล่ออกยังคงมีผลต่อไป ก็ยิ่งทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยขึ้นไปอีกว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมูลเหตุจูงใจใดอยู่ จึงไม่ยอมพิจารณาอนุมัติให้อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ลาออก แต่เลือกที่จะใช้วิธีไล่ออกแทน

ตลอดระยะเวลาที่อยู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ได้ทำหน้าที่นักวิชาการ ทั้งในฐานะอาจารย์ผู้สอนและให้ความรู้แก่สังคม จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาประวัติศาสตร์และการเมืองไทยร่วมสมัย การแสดงความคิดเห็นทางวิชาการและการเมืองของอาจารย์ ดร.สมศักดิ์อย่างตรงไปตรงมาถือเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์นั่นเอง

อนึ่ง สมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ในสมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีนักศึกษาและอาจารย์จำนวนมากที่ประสบภัยคุกคามจากเผด็จการจนต้องหลบหนีลี้ภัยไป ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้ใช้อำนาจข่มเหงรังแกหรือใช้มาตรการรุนแรงถึงขนาดไล่นักศึกษาออกหรือไล่อาจารย์ออกจากราชการ แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยนั้นได้พยายามหาวิธีการช่วยเหลือนักศึกษาและอาจารย์ จนในท้ายที่สุดนักศึกษาก็สามารถกลับมาศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาและอาจารย์ก็กลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป

ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังประสบกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิและเสรีภาพเช่นนี้ คณาจารย์นักวิชาการ ตามรายชื่อข้างท้าย จึงขอเรียกร้องมายังสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พิจารณาปกป้องสิทธิและเสรีภาพของสมาชิกประชาคมธรรมศาสตร์อย่างจริงจังมากขึ้น ให้ความเป็นธรรมและแสดงน้ำใจกับอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ โดยเสนอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิจารณาหนังสือลาออกของอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ซึ่งได้ยื่นไว้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2557 และยุติความพยายามของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองต่อไป ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังไม่ได้ละทิ้งหลักการประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยสิ้นเชิง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

รายนามนักวิชาการที่ลงชื่อ
1. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์
2. กฤษณ์พชร โสมณวัตร
3. กิตติ วิสารกาญจน
4. กิตติกาญจน์ หาญกุล
5. เกษียร เตชะพีระ
6. กุลธีร์ บรรจุแก้ว
7. คงกฤช ไตรยวงค์
8. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
9. คมลักษณ์ ไชยยะ
10. คารินา โชติรวี
11. คำแหง วิสุทธางกูร
12. จักเรศ อิฐรัตน์
13. จิรธร สกุลวัฒนะ
14. ชลิตา บัณฑุวงศ์
15. ชัชวาล ปุญปัน
16. ชัยพงษ์ สำเนียง
17. ชาญณรงค์ บุญหนุน
18. เชษฐา พวงหัตถ์
19. ชำนาญ จันทร์เรือง
20. ณรุจน์ วศินปิยมงคล
21. ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
22. ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล
23. ธนาวิ โชติประดิษฐ
24. ธิกานต์ ศรีนารา
25. ธีระพล อันมัย
26. บัณฑิต ไกรวิจิตร
27. บารมี ชัยรัตน์
28. บุญเลิศ วิเศษปรีชา
29. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
30. เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว
31. ปราการ กลิ่นฟุ้ง
32. ปราโมทย์ ระวิน
33. ปวินท์ ระมิงค์วงศ์
34. ปิยบุตร แสงกนกกุล
35. พกุล แองเกอร์
36. พงษ์ศักดิ์ รัตนวงศ์
37. พรรณราย โอสถาภิรัตน์
38. พวงทอง ภวัครพันธ์
39. พันธ์พิพิธ พิพิธพันธุ์
40. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
41. พิพัฒน์ สุยะ
42. พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
43. พุทธพล มงคลวรรณ
44. ไพรินทร์ กะทิพรมราช
45. ภัควดี วีระภาสพงษ์
46. ภาสกร อินทุมาร
47. มรกตวงศ์ ภูมิพลับ
48. มาตยา อิงคนารถ
49. ยศ สันตสมบัติ
50. ยอดพล เทพสิทธา
51. ยุกติ มุกดาวิจิตร
52. รามิล กาญจันดา
53. รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช
54. วรยุทธ ศรีวรกุล
55. วันพิชิต ศรีสุข
56. วิจักขณ์ พานิช
57. วิทยา อาภรณ์
58. วินัย ผลเจริญ
59. วีรบูรณ์ วิสารทสกุล
60. ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา
61. ศักรินทร์ ณ น่าน
62. สร้อยมาศ รุ่งมณี
63. สมิทธิรักษ์ จันทรักษ์
64. สามชาย ศรีสันต์
65. สุเจน กรรพฤทธิ์
66. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ
67. สุรพศ ทวีศักดิ์
68. สุรัช คมพจน์
69. อนุรัตน์ ฝันถึงภูมิ
70. อรรถพล อนันตวรสกุล
71. อภิชาต สถิตนิรามัย
72. อรอนงค์ ทิพย์พิมล
73. อลงกรณ์ ดาคะนานันท์
74. อัจฉรา รักยุติธรรม
75. อันธิฌา แสงชัย
76. อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ
77. อาทิตย์ ศรีจันทร์
78. อิสราภรณ์ พิศสะอาด
79. อุเชนทร์ เชียงเสน
80. เอกพล เธียรถาวร

พลเมืองโต้กลับนัดรวมพล คนยืนเฉยๆ แต่งขาว ร้องปล่อยวัฒนา เย็นนี้ที่ BTS ช่องนนทรี


20 เม.ย.2559 จากกรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับนัดหมายใส่เสื้อสีขาวชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วานนี้ (19 เม.ย.59) ในเวลา 18.00 น. เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ตั้งแต่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากถูกเรียกรายงานตัวที่ มทบ.11 จากการโพสต์เฟซบุ๊กว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเขาถูกควบคุมตัว "ปรับทัศนคติ" ครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่ โดยในการจัดกิจกรรมดังกล่าวแกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวก่อนปล่อยตัวในเวลาต่อมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
 

นัดรวมพลยืนเฉยๆ แต่งขาว ร้องปล่อยวัฒนา เย็นนี้ ที่ BTS ช่องนนทรี

ล่าสุดวันนี้ เวลา 12.59 น. ทีผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen' ได้โพสต์ข้อความ เชิญชวนร่วมแสดงออกโดยสันติ เรียกร้องให้คณะรัฐประหารปล่อยตัววัฒนา โดยการแสดงตัวและยืนเฉยๆ อย่างสงบสันติ วันนี้ (20 เม.ย.59) เวลา 18.00 น. ที่สกายวอร์ค สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี
พร้อมระบุด้วยว่า หากยังไม่ปล่อยตัววัฒนาภายในวันศุกร์นี้ เราขอเชิญชวนร่วมชุมนุมใหญ่กดดันอย่างเต็มรูปแบบ ในวันศุกร์นี้ เวลาที่จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ลั่นจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทุกเย็นตลอดสัปดาห์นี้ จนกว่าจะปล่อย

บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า วันนี้กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดย อานนท์ อำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดแถลงข่าวกรณีที่เป็น 1 ใน 5 ผู้ชุมนุมคัดค้านการควบคุมตัว วัฒนา โดยคสช. จนตนและพวกถูกจับกุมและมีการปล่อยตัวเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (19 เม.ย.) ว่า ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับกำหนดจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทุกเย็นตลอดสัปดาห์นี้ และเชิญชวนให้ประชาชนที่เห็นด้วยมาร่วมชุมนุมกดดัน หากไม่มีการปล่อยตัวนายวัฒนาภายในศุกร์นี้
อานนท์ กล่าวว่า กิจกรรมในวันศุกร์จะเป็นการจัดชุมนุมและกดดันในทุกรูปแบบเพื่อให้ปล่อยตัวนายวัฒนา ซึ่งจะดำเนินไปภายใต้กฏหมาย โดยคาดว่าจะมีพี่น้องจากหลายจังหวัดเข้าร่วม สำหรับสถานที่หรือจะมีการกำหนดสัญลักษณ์ในการชุมนุมอย่างไรนั้น จะแจ้งให้ทราบในภายหลัง ทั้งนี้ คาดว่ากิจกรรมจะยืดเยื้อและใช้เวลาตลอดช่วงเย็น
เมื่อถามถึงความเสี่ยงที่ผู้ชุมนุมอาจถูกดำเนินการทางกฏหมายนั้น อานนท์ กล่าวว่าทุกการแสดงออกในวันนี้ล้วนมีความเสี่ยง ด้วยเพราะสังคมอยู่ภายใต้ข้อกฏหมายที่ไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ดี ทางกลุ่มฯ ได้ปรึกษาทีมกฏหมายแล้ว หากมีการริดรอนสิทธิหรือการควบคุมตัวระหว่างการชุมนุม ก็จะเรียกร้องต่อองค์กรต่างประเทศ จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหา
ในส่วนที่หลายคนอาจมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งนั้น อานนท์ บอกว่าทางกลุ่มฯ ไม่ได้มองวัฒนาในฐานะนักการเมือง แต่มองในแง่พลเมืองคนหนึง ซึ่งความอยุติธรรมที่เกิดกับคนนึง คือความอยุติธรรมที่เกิดกับคนทั้งสังคม นี่จึงเป็นการเรียกร้องเพื่อพลเมืองทุกคน
โดย อานนท์ ระบุอีกว่ากรณีการจับกุม วัฒนาเป็นตัวอย่างการกดดันการแสดงความคิดเห็นคัดค้านการทำประชามติที่จะมีขึ้น และต่อไปหากมีพลเมืองถูกริดรอนสิทธิ ก็จะเรียกร้องในลักษณะเดียวกัน แม้แต่พรรคการเมืองขั้วตรงข้าม ในอนาคตหากถูกริดรอนสิทธิ จะออกมาปกป้องเช่นกัน