วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559

ศาลยกฟ้องคดี ‘ไมตรี’ พ.ร.บ.คอมฯ ชี้เผยแพร่ข้อมูลโดยเข้าใจว่าเป็นความจริง ไม่ถือเป็นความผิด


8 มี.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของนายไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้สื่อข่าวพลเมืองชาวลาหู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทหาร จากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารไปตบหน้าชาวบ้านหลายคน ซึ่งมีทั้งเด็กและคนแก่ ขณะนั่งผิงไฟอยู่ที่บ้านกองผักปิ้ง อำเภอเชียงดาว ในช่วงคืนวันที่ 31 ธ.ค.57 และยังได้นำคลิปวีดีโอเป็นภาพเหตุการณ์ทหารโต้เถียงกับประชาชนเมื่อวันที่ 1 ม.ค.58 มาเผยแพร่ (อ่านรายละเอียดคดี และประมวลสรุปการสืบพยานในศาล)
ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุป โดยเห็นว่าแม้โจทก์จะมีพยานโจทก์ คือร้อยเอกพนมศักดิ์ กันแต่ง และจ่าสิบเอกมานพ ปานวิเศษ มาเบิกความยืนยันว่ามีคลิปวีดีโอและข้อความเผยแพร่กล่าวหาว่าทหารทำร้ายประชาชนทางเว็บไซต์เฟซบุ๊กของจำเลยก็ตาม แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใด ที่ระบุว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่คลิปและข้อความดังกล่าว และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่ หรือได้มีการดัดแปลงตัดต่อคลิปวีดีโอแต่อย่างใด ในเอกสารตามฟ้องก็เป็นการคัดลอกข้อความมาเรียงต่อกัน ไม่ปรากฏที่มาของข้อความ หรือยูอาร์แอล (URL) ที่ระบุถึงที่อยู่ของข้อความในระบบคอมพิวเตอร์ จึงไม่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นความผิดของจำเลยได้
ศาลยังได้วินิจฉัยว่าการนำเข้าข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จะเป็นความผิดเมื่อผู้นั้นทราบว่าเป็นข้อมูลปลอมหรือเท็จ แม้จำเลยจะยอมรับว่าเป็นผู้เขียนข้อความบางส่วนตามฟ้อง แต่พยานจำเลยจำนวน 5 ปาก ซึ่งมีทั้งเด็กและคนแก่ เบิกความตรงกันว่าถูกบุคคลที่มากับเจ้าหน้าที่ทหารทำร้าย การที่จำเลยเผยแพร่ข้อมูลโดยเข้าใจว่าเป็นความจริง จึงไม่ถือว่าเป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง
ภายหลังการพิพากษา นายไมตรี จำเริญสุขสกุล กล่าวว่า ก่อนหน้าวันนี้ก็รู้สึกตื่นเต้น และพยายามตั้งใจฟังทุกอย่างที่ศาลพูดในวันนี้ พอได้ยินศาลอ่านว่ายกฟ้อง ก็รู้สึกดีใจมาก ทำให้รู้สึกว่าความยุติธรรมยังไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว อย่างน้อยก็ยังได้รับในคดีนี้ ถึงแม้คำขอโทษที่ชาวบ้านต้องการมาตั้งแต่ต้น ยังไม่สามารถได้มา แต่ความยุติธรรมในระดับหนึ่ง ก็ได้รับมาแล้วจากศาลในวันนี้ 
ไมตรีระบุว่าปัญหาที่เขาประสบจากการถูกดำเนินคดีนี้ คือการเดินทาง ซึ่งต้องมาที่ศาลหลายครั้ง โดยที่หมู่บ้านที่เขาอยู่ อยู่ไกลเกือบ 100 กิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงใหม่ และในตอนต้นของกระบวนการทางคดี เขายังรู้สึกกลัว โดยเฉพาะในตอนนัดสมานฉันท์ ที่เดิมเข้าใจว่าจะเป็นคุยทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายตามข้อเท็จจริง แต่กลับปรากฏว่าการพูดคุย มีลักษณะระบุว่าเขากระทำความผิดแล้ว และต้องการให้มีการรับสารภาพ แต่จากคดีนี้ ก็ทำให้เรียนรู้เรื่องความอดทนในการต่อสู้คดี และการได้ทบทวนตัวเอง
“หลังจากโดนคดีนี้ ผมมานั่งทบทวนตัวเองหลายครั้ง ว่าที่ได้เผยแพร่ข้อมูลไปนั้นเป็นเรื่องถูกหรือผิด รู้สึกเสียใจหรือไม่ แต่คำตอบที่ได้ทุกครั้งยังเหมือนเดิมว่าไม่ได้รู้สึกเสียใจ การยืนยันทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้ชาวบ้านเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว ถ้าคิดจะทำหน้าที่ลักษณะนี้ ก็ต้องเตรียมใจไว้ว่าอาจจะเจอปัญหาในลักษณะนี้ได้” ไมตรีกล่าว
ด้านทนายจำเลย ระบุว่าศาลได้วินิจฉัยประเด็นตามที่มีการยื่นเอกสารคำแถลงปิดคดีไปก่อนหน้านี้ แม้จะรวบวินิจฉัยแต่ละประเด็นเพียงสั้นๆ ทั้งในเรื่องหลักฐานข้อมูลที่โจทก์ฟ้องว่าถูกนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ไม่ได้เชื่อมโยงถึงจำเลย และเรื่องข้อเท็จจริง ซึ่งพยานจำเลยหลายปากมาชี้ให้เห็นว่าจำเลยเชื่อว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง จึงได้มีการเผยแพร่ข้อมูล แม้ในประเด็นสุดท้ายที่ทางฝ่ายจำเลยยื่นคำแถลงต่อศาลคือเรื่องเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ที่ไม่ได้ต้องการใช้กับข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลจะไม่ได้วินิจฉัยด้วยก็ตาม (อ่านสรุปคำแถลงปิดคดี) โดยหลังจากนี้คงต้องติดตามว่าทางอัยการโจทก์จะมีการยื่นอุทธรณ์คดีอีกหรือไม่
สำหรับ ไมตรี ปัจจุบันอายุ 32 ปี พื้นเพเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ มีบทบาทในการเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง “กลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่” เพื่อทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ ให้ห่างไกลยาเสพติด โดยในภายหลังยังได้ร่วมกับกลุ่มกิจกรรมดินสอสี ทำโครงการ “พื้นที่นี้ดีจัง” ในพื้นที่บ้านกองผักปิ้ง เขายังมีทักษะในการทำภาพยนตร์ โดยเคยเข้าร่วมโครงการอบรมการทำภาพยนตร์ของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และกำกับภาพยนตร์สั้นของตนเองมาแล้วหลายเรื่อง รวมทั้งยังมีบทบาทในการเป็นผู้สื่อข่าวพลเมืองให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวลาหู่ให้กับสังคมได้รับรู้

ไปไม่ถึงขบวนสตรีสากล ตร.ยึดป้าย ค้านพลเรือนขึ้นศาลทหาร ของคนงาน TRY ARM

เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ายึดป้ายดังกล่าว

8 มี.ค. 2559 วันสตรีสากล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 8.00 น. ที่ผ่านมา ในระหว่างที่มีการจัดกิจกรรมเดินขบวนเพื่อรำลึกเนื่องในวันสตรีสากลและรณรงค์สิทธิแรงงานหญิง จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่นำโดยกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี และเครือข่ายแรงงานหญิงกว่า 400 คน  เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ชนะสงคราม ได้เข้ายึดป้าย "หยุดพลเรือนขึ้นศาลทหาร  ม.44(พร้อมเครื่องหมายขีดทับ) กรรมกรต้องมีสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการ และสิทธิทำแท้งคือสิทธิสตรี" ของคนงานจากสหกรณ์คนงาน TRY ARM 
ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง วิภา มัจฉาชาติ สมาชิกกลุ่มสหกรณ์คนงาน Try Arm ผู้ถูกยึดป้าย เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุตนกำลังเดินจาก ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อไปร่วมขบวนกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีฯ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยที่ยังไม่ได้มีการชูป้ายดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแค่ถือเพื่อที่จะไปร่วมขบวน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เข้าแสดงตัวเพื่อยึดป้าย โดยแจ้งว่าไม่อนุญาตให้ถือป้ายที่มีข้อความทางการเมืองแบบนี้ พร้อมทั้งขอดูบัตรประชาชน และสอบถามด้วยว่าเป็นคนไทยหรือไม่
วิภา กล่าวด้วยว่า วันนี้เป็นวันสตรีสากล ตนออกมาใช้สิทธิของสตรี มาใช้สิทธิผู้ใช้แรงงาน เพราะตนก็ออกมาทุกปี วันนี้มากัน 2 คน แต่กลุ่มอื่นนั้นไม่รู้เนื่องจากตนเพียงมาร่วมกับเขา ก่อนถูกยึดป้ายตนได้ต่อรองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยว่าสามารถตัดเอาข้อความประเด็นศาลทหารและ ม.44 ออก แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต แต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยึดป้ายไปทั้งหมด
ภาพป้ายพร้อมวิภาก่อนถูกยึด
"รู้สึกตอนนั้น น้อยใจมากเลยว่าสังคมเราทำไมเป็นแบบนี้ แล้วก็ไม่ได้เดินชูไปด้วยนะ แค่แนบไป จะไปชูแค่ที่อนุสาวรีย์ก็เท่านั้น" วิภา เล่าถึงความรู้สึกที่ถูกยึดป้ายดังกล่าว
วิภา กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่ตนคัดค้านการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารนั้น ว่า เนื่องเรายังคงมีศาลยุติธรรมอยู่ หากพลเมืองถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็ควรขึ้นศาลยุติธรรมตามปกติ รวมทั้งความกังวลในเรื่องความเป็นอิสระของศาลทหารหรือกรมพระธรรมนูญที่อยู่กับกระทรวงกลาโหม ซึ่งอาจเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลได้ ที่ต่างจากศาลยุติธรรมที่จะเป็นอิสระจากรัฐบาล 
"เราต่อต้านเขาแล้วไปขึ้นศาลเขา เราก็รู้อยู่ว่ายังไงเขาก็ว่าเราผิดอยู่แล้ว ใช่ไหม" วิภา กล่าว
ป้ายข้อความที่ถูกยึด
สำหรับข้อเรียกร้องอื่นๆ เช่น สิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการนั้น วิภา กล่าวว่า เป็นข้อเรียกร้องที่พวกเราเคลื่อนไหวมานานแล้ว เพราะเราต้องการได้ตัวแทนที่อยู่ในที่ทำงานของเรา เนื่องจากเกือบตลอดทั้งวันคนงานแทบจะมีชีวิตอยู่บริเวณสถานที่ทำงาน จึงอยากมีผู้แทนเป็นคนงานของเราเองในพื้นที่ๆ ทำงาน เพื่อคอยเป็นปากเป็นเสียงแก้ปัญหาและผลักดันสวัสดิการให้คนงาน ต่างจากตัวแทนในปัจจุบันที่อยู่ต่างจังหวัดนั้นมักไม่ค่อยรู้เรื่องหรือใส่ใจกับกลุ่มคนงานที่เป็นแรงงานอพยพในเมือง
วิภา เสนอด้วยว่าอาจใช้บัญชีผู้มีสิทธิตามทะเบียนในระบบประกันสังคมก็ได้ 
สำหรับเหตุผลที่แรงงานอพยพเข้ามาในเมืองหรือตามนิคมอุตสาหกรรมแล้วไม่โอนทะเบียนบ้านจากต่างจังหวัดเข้ามาเพื่อให้ได้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยนั้น วิภา อธิบายว่า เนื่องจากคนงานส่วนมากจะอยู่ตามหอพัก ซึ่งไม่สามารถโอนชื่อเข้าทะเบียนบ้านได้ ส่วนถ้าจะโอนได้ต้องซื้อบ้านซึ่งรายได้ของคนงานส่วนมากก็ไม่เพียงพอที่จะจ่าย
ขณะที่ข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิการทำแท้งที่ถูกกฏหมายและถูกหลักอนามัยนั้น วิภา กล่าวว่า นอกจากผิดกฏหมายแล้ว ทุกวันนี้สังคมไม่ยอมรับคนทำแท้ง โดยตราหน้าว่าเป็นบาป ผิดหลักศาสนา แต่สำหรับตนผู้หญิงควรมีสิทธิที่จะเลือกทำแท้งได้อย่างถูกหลักอนามัย และสังคมก็ควรยอมรับสิทธิตรงนี้ เนื่องจากหลายคนที่ท้องโดยไม่พร้อม แล้วไม่สามารถทำแท้งได้ก็ต้องมีลูกส่งผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว
วิภา ยังเล่าถึงสภาพของคนงานหญิงด้วยว่า การท้องไม่พร้อมนั้นไม่ได้มีแต่ในวัยรุ่นเท่านั้น บางครั้งคนงานที่มีลูกมีครอบครัวแล้ว อาจลืมกินยาคุมหรือยาไม่มีคุณภาพ ก็อาจท้องได้ บางคนอายุ 40 กว่าปีแล้วยังต้องเลี้ยงลูกอ่อนก็มี โดยเฉพาะบางคนมีลูกแล้ว 2 คน แล้วยังต้องมีลูกคนที่ 3 โดยไม่พร้อมนั้นยิ่งลำบากมาก นอกจากที่จะมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังกระทบต่อการทำงานด้วย
"คนเรามันไม่จำเป็นมันไม่ไปทำแท้งหรอก มันเจ็บตัวเองไง นั่นล่ะถึงอยากจะทำให้มันปลอดภัย ไม่ใช่ว่าจ้องแต่จะท้องแล้วไปทำแท้ง มันไม่ใช่ มันไม่มีหรอก" วิภา กล่าว
วิภา กล่าวด้วยว่า แม้แต่เด็กวัยรุ่นที่ท้องไม่พึงประสงค์ก็ควรมีสิทธิที่จะทำแท้งที่ถูกหลักอนามัย เพราะหากท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นนั้นนอกจากจะเป็นภาระที่ตัววัยรุ่นเองแล้วยังมีผลกระทบต่อครอบครัวอีกด้วย
นอกจากนี้ บีบีซีไทย สอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ชนะสงคราม ระบุว่าไม่ได้มีการห้ามเดินรณรงค์ของแรงงานหญิงในวันนี้ และการเดินขบวนผ่านไปด้วยดีแม้จะมีผู้เข้าร่วมราว 400 คน แต่ที่ต้องยึดแผ่นป้ายดังกล่าวเนื่องจากขณะนี้ไม่อนุญาตให้เคลื่อนไหวในเชิงต่อต้านรัฐบาล

PeoplePoll เผย 92% ชี้คสช.สืบทอดอำนาจผ่าน ส.ว.สรรหาช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี 93.6% ร้องยี้


8 มี.ค.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการ PeoplePoll Thailand ซึ่งดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่น PeoplePoll บนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ระหว่างวันที่ 7 มี.ค. 2559 เวลา 12.30 น. ถึงวันที่ 8 มี.ค. 2559 เวลา 12.30 น. เกี่ยวกับความเห็นต่อการเปลี่ยนที่มาของ ส.ว. เพื่อทำหน้าที่ในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ซึ่งมีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,618 คน ได้ผลการสำรวจความคิดเห็นดังนี้
เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คสช.ที่จะให้ ส.ว.ทั้งหมดมาจากการสรรหาเพื่อทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีหรือไม่? จำนวน 3.7% เห็นด้วย ขณะที่ 93.6% ไม่เห็นด้วย โดยมี 2.7% ที่ตอบว่าไม่แน่ใจ/ไม่แสดงความคิดเห็น
สำหรับคำถามที่ว่า คิดว่าข้อเสนอของ คสช.ที่จะให้ ส.ว.ทั้งหมดมาจากการสรรหาเพื่อทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เป็นความพยายามสืบทอดอำนาจหรือไม่? นั้น  92.0% เห็นว่า เป็นการสืบทอดอำนาจ 3.8% เห็นว่า ไม่เป็นการสืบทอดอำนาจ และ 4.2% ไม่แน่ใจ/ไม่แสดงความคิดเห็น
ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสำรวจทั้ง 2,618 คน สามารถจำแนกเป็นกลุ่มต่างๆดังนี้
- เพศกำเนิด
ชาย 47.6%
หญิง 6.8%
ยังไม่ให้ข้อมูล 45.6%
- อายุ
ต่ำกว่า 18 ปี 0.9%
18-25 ปี 7.8%
26-40 ปี 24.2%
41-60 ปี 12.7%
มากกว่า 60 ปี 1.0%
ยังไม่ให้ข้อมูล 53.4%
- การศึกษา
ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 0.5%
มัธยมศึกษาตอนต้น 1.1%
มัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. 5.7%
ปวส./อนุปริญญา 2.9%
ปริญญาตรี 30.4%
สูงกว่าปริญญาตรี 12.6%
ยังไม่ให้ข้อมูล 46.8%
- รายได้เฉลี่ยต่อเดือน
ต่ำกว่า 5,000 บาท 4.6%
5,000-10,000 บาท 3.9%
10,001-15,000 บาท 6.9%
15,001-25,000 บาท 11.2%
25,001-50,000 บาท 12.0%
50,001-100,000 บาท 7.0%
มากกว่า 100,000 บาท 4.6%
ยังไม่ให้ข้อมูล 49.8%

สำหรับ โครงการ PeoplePoll Thailand ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะหรือประเด็นเชิงนโยบายต่างๆ ทุกๆวัน วันละ 1 ประเด็น ผ่านแอพพลิเคชั่น PeopolPoll บนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดยจะสรุปผลการสำรวจและรายงานผลผ่านเว็บไซต์ www.peoplepollthailand.com และแฟนเพจ PeoplePoll Thailand (www.facebook.com/peoplepollthailand) ทุกช่วงบ่ายของทุกวัน
อนึ่ง โครงการ PeoPlePoll Thailand เป็นโครงการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ โดยความร่วมมือในลักษณะภาคีของ 5 หน่วยงาน คือ 1. คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 2. วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ 3. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล 4. วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ 5. ทีมงาน PeoplePoll (กลุ่มอิสระ)
โดยขณะนี้ PeoplePoll กำลัง สำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 009/59 เรื่อง “องค์กรพุทธเคลื่อนไหวล่ารายชื่อถอดถอนผู้ตรวจการแผ่นดินฯ” โดยจะปิดรับความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวในวันที่ 9 มีนาคม เวลา 12.30 น.
ทั้งนี้ทุกท่านสามารถร่วมตอบโพลโดยการติดตั้งแอพพลิเคชั่น ‪PeoplePoll
สำหรับ iPhone และ iPad เข้าไปที่ https://goo.gl/Om8GAA สำหรับ สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตระบบแอนดรอยด์ เข้าไปที่ https://goo.gl/6frLF8

ศาลทหารให้ประกัน ‘ฐนกร’ ถูกกล่าวหาเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง หลังถูกคุมขัง 3 เดือน



8 มี.ค.2559 อานนท์ นำภา ทนายความให้สัมภาษณ์ว่า หลังยื่นคำร้องขอประกันตัว ฐนกร หนุ่มโรงงานวัย 28 ปีไปเมื่อเช้านี้ด้วยหลักทรัพย์ 900,000 บาท ซึ่งเป็นเงินระดมทุนจากการบริจาคในกองทุนประกันตัวของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย โดยเรียกหลักทรัพย์ 500,000 บาทโดยมีเงื่อนไขแนบท้าย ห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้เป็นที่สนใจและมีสื่อต่างประเทศรายงานเป็นจำนวนมาก หลังมีคำสั่งให้ประกันแล้ว คาดว่าจะมีการปล่อยตัวจำเลยจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเย็นวันนี้ หลังจากถูกคุมขังระหว่างสอบสวนมา 3 เดือน ส่วนกระบวนการต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะนัดสอบคำให้การจำเลยเมื่อใด
ทั้งนี้ การยื่นประกันครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 นับจากวันที่ฐนกรถูกจับกุมเมื่อ 8 ธ.ค.2558 และถูกคุมขังเรื่อยมา โดย 2 ครั้งแรกเป็นการประกันชั้นสอบสวน  โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง, กดไคล์ข้อความหมิ่น, แชร์ผังทุจริตราชภักดิ์
อานนท์กล่าวด้วยว่า การเขียนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลทหารในครั้งนี้ เป็นการสรุปความจากหนังสือขอความเป็นธรรมที่ได้ยื่นต่ออัยการศาลทหารไปแล้วก่อนหน้านี้ (อ่านที่นี่) นอกจากนี้ยังแนบใบรับรองแพทย์ของพ่อแม่จำเลย และจดหมายจากแม่ของจำเลยต่อศาลด้วย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากของครอบครัวที่มีฐานะยากจน มีจำเลยเป็นเสาหลักเพียงคนเดียว อย่างไรก็ตาม สำหรับเงินประกันตัวนั้น กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้เปิดบัญชีรับบริจาคเพื่อประกันตัวผู้ถูกกกล่าวหาในคดีการเมือง ระดมทุนได้ 900,000 บาทและได้นำเงินส่วนนี้มายื่นประกันฐนกรถึงสองครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ศาลเรียกหลักทรัพย์ประกันเพียง 500,000 บาท ทำให้ยังเหลือเงิน 400,000 บาทสำหรับประกันตัวสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับอีกหลายคนที่ถูกกล่าวหาอีกหลายคดี