สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ข่าวที่เป็นเรื่องฮือฮาตามหน้าหนังสือพิมพ์ในขณะนี้ก็คือ ปัญหาในวงการสงฆ์ เรื่องที่มีผู้ติดตามมากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องของพระวีรพล สุขผล หรือหลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก ซึ่งล่าสุดก็ยังคงมีข่าวอื้อฉาวบรรเลงกันสนุกบนหน้าสื่อทุกวัน คำเรียกหาหลวงปู่ก็เปลี่ยนไป วันนี้เรียกกันอย่างทำลายศักดิ์ศรีว่า “ไอ้คำ”บ้าง “สมีคำ”บ้าง “โล้นคำ”บ้าง และบางสื่อก็โยงกลับไปถึงตำนานอดีตพระภิกษุ ที่เคยมีข่าวอื้อฉาวในลักษณะเดียวกัน เช่น พระยันตระ พระนิกร ภาวนาพุทโธ ฯลฯ
ตามประวัติ พระวีรพล เกิดเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2522 ที่ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี เริ่มปฏิบัติธรรมตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ต่อมา บวชเณรเมื่ออายุ 15 ปี แล้วไม่ได้สึก จนได้บวชเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ.2542 ได้ฉายาว่า ฉัตติโก พระวีรพลกลายเป็นพระที่มีชื่อเสียงอย่างรวดเร็วมาก จากการแสดงความรอบรู้ในพระธรรมวินัย และความสามารถในการอธิบายหลักธรรม จนในที่สุดเป็นพระภิกษุที่มีสานุศิษย์มาก ทั้งที่อายุยังน้อย ตั้งตัวเป็นหลวงปู่ตั้งแต่อายุไม่ถึง 30 ปี และได้รับบริจาคที่ดินจนสามารถนำมาสร้างสำนักสงฆ์สันติธรรม ที่อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีษะเกษ ตั้งแต่ พ.ศ.2542 จากนั้น ก็มีผู้เสื่อมใสถวายที่ดินจนทำให้มีการขยายสาขาเป็นสำนักสงฆ์ขันติบารมี จำนวนถึง 202 สาขา รวมทั้งสาขาเลคเอลซินอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ต่อมา ตามตำนานของหลวงปู่ เล่าว่า ท้าวสักกะเทวราชได้มาอาราธนาให้หลวงปู่สร้างพระแก้วมรกตใหญ่ที่สุดในโลกที่วัดป่าขันติธรรม จึงได้เรี่ยไรเงินบริจาคมาสร้างเป็นพระปางสมาธิสูงถึง 18.5 เมตรทำด้วยหินหยกสีเขียวจากอินเดีย หลวงปู่เล่าว่า พระแก้วมรกตนี้ทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานดอกไม้สด 4 พาน ให้แก่หลวงปู่เณรคำเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556
หลวงปู่เณรคำได้รับนิมนต์ให้ไปร่วมงานวิสาขบูชาที่กรุงปารีส ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมานี้ แต่ก็เหมือนกับมีมารมาผจญให้ชีวิตหักเห เพราะในระหว่างที่หลวงปู่ยังอยู่ฝรั่งเศส ในวันที่ 16 มิถุนายน นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ได้เปิดเผยว่า ได้มีการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากในเชิงตำหนิติเตียนว่า พบเห็นภาพพระสงฆ์บางรูปมีเครื่องบินส่วนตัว มีรถยนต์หรู และมีเครื่องใช้ไม้สอยราคาแพง ฟุ่มเฟือยมาก ผิดจากสถานะแห่งความเป็นสงฆ์ โดยมีภาพแสดงเป็นคลิป พระ 3 รูปนั่งอยู่บนเครื่องบินส่วนตัว หูเสียบหูฟังไอโฟน สวมแว่นตาเรย์แบรนด์สีดำและกระเป๋ายี่ห้อดังหลุยวิกตอง เมื่อมีการสอบสวนต่อมา พบว่า หนึ่งในพระเหล่านั้น คือ หลวงปู่เณรคำ ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่ภาพในเฟซบุคของตนเอง เพื่อต้องการที่จะอวดความร่ำรวย
ข่าวนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นนำมาซึ่งการขุดคุ้ยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหลวงปู่เณรคำ จนล่าสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษเปิดเผยว่า พระวีรพล จะถูกแจ้งดำเนินคดี 8 คดี คือ
- 1.ใช้สื่อสารสนเทศลงโฆษณาอันเป็นเท็จ
- 2.กระทำชำเราเด็กหญิง และพรากผู้เยาว์
- 3.หลบเลี่ยงภาษีรถหรู
- 4. กรณีเสพยาเสพติดให้โทษ
- 5. กรณีวุฒิการศึกษาเป็นเท็จจากการอ้างว่า จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก
- 6.คดีฆ่าคนตายโดยประมาทจากการขับรถชนคนตาย
- 7. ความผิดฐานฟอกเงินกรณีการเบียดบังเงินบริจาคไปซื้อทรัพย์สินและนำเงินไปฝากในต่างประเทศ และ
- 8.การอวดอุตริ อภินิหาร
นอกเหนือจากนี้ ยังมีหนังสือพิมพ์บางฉบับพยายามกล่าวหาเพิ่มเติมว่า หลวงปู่เณรคำ สร้างความร่ำรวยมาจากการค้ายาเสพติดข้ามประเทศ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่จะต้องมีการขุดคุ้ยติดตามต่อไป
สรุปแล้ว เรื่องหลวงปู่เณรคำกลายเป็นละครเรื่องยาวที่ช่วยกันเขียนบทโดยตำรวจกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสื่อทั้งหลาย และเป็นแนวเรื่องแบบเมโลดรามา คือ ตัวละครเวลาดีก็ดีใจหาย เป็นพระทรงปริยัติธรรมที่ผู้คนนับถือเลื่อมใสทั่วแผ่นดิน พอถึงบทเลวก็เลวสุดขีดราวกับมารร้ายมาจากขุมนรก ซึ่งผมเห็นว่า กรณีของหลวงปู่เณรคำ สะท้อนลักษณะของปัญหาทางวัฒนธรรมและความคิดเรื่องใหญ่ในสังคมไทยที่น่าจะต้องรีบแก้ไข มิฉะนั้นแล้ว ศรัทธาในศาสนาของคนคงเสื่อมลงยิ่งกว่านี้
พระสงฆ์ในสังคมไทย ถือเป็นผู้สืบศาสนา รักษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ชายที่เข้ามาบวชในผ้ากาสาวพัตรต้องปฏิบัติพระวินัยจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญคือต้องถือศีลพรหมจรรย์ จะมีความสัมพันธ์กับสตรีมิได้ สังคมไทยมักจะถือกันว่า พระภิกษุเหล่านี้เป็นเนื้อนาบุญ เป็นตัวแทนความดีในสังคม เป็นที่มาแห่งศรัทธาในพระศาสนา ทายกจำนวนมากก็จะทำบุญ บริจาคเงินทองและข้าวของให้แก่พระเหล่านี้ โดยหวังว่าตนเองจะได้ส่วนบุญที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีในภายภาคหน้า นอกจากนี้ ยังต้องให้เงินและสิ่งของตอบแทนในกรณีของการประกอบพิธีกรรม เช่น งานพิธีศพ การทำบุญในเทศกาลสำคัญ การสะเดาะเคราะห์ สังฆทาน และอื่นๆ
และจากการที่ศาสนาพุทธเป็นสถาบันหลักอันหนึ่งของสังคม เราจึงแกล้งลืมกันว่า วัดจำนวนมากนั้นร่ำรวยจนถึงร่ำรวยมาก ไม่ใช่วัดป่าขันติธรรมเท่านั้นที่ร่ำรวย วัดระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จำนวนมากก็ร่ำรวยและมีทรัพย์สินมาก ยิ่งวัดสำคัญในส่วนกลาง หรือวัดที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ก็ร่ำรวยและมีทรัพย์สินมหาศาล ตัวอย่างเช่น วัดหลวงพ่อโสธร วัดพระปฐมเจดีย์ วัดบวรนิเวศ วัดเทพศิรินทร์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดบ้านแหลม วัดไร่ขิง ฯลฯ วัดเหล่านี้ล้วนร่ำรวย ถ้ามีการตรวจสอบ ทรัพย์สินคงมหาศาล เงินบริจาคก็คงเป็นจำนวนมากโขแทบทุกวัน วัดหลวงพ่อคูณที่นครราชสีมา หรือแม้กระทั่งวัดสวนแก้วของหลวงพ่อพระพยอม วัดสวนโมกข์ที่ไชยา ก็มีเงินจำนวนมิใช่น้อย แต่ผู้บริจาคก็ไม่ได้คิดว่า การที่วัดมีเงินมาก หรือพระจะร่ำรวย เป็นปัญหา เพราะเชื่อกันว่า พระเหล่านี้ ก็จะนำเงินไปใช้ในทางที่เป็นบุญกุศล และผู้บริจาคเงินก็จะได้รับผลบุญด้วย
ปัญหาสำคัญจากเรื่องนี้ คือ การคาดหมายต่อพระสงฆ์ที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และเกินจากความเป็นจริง โดยไม่พิจารณาว่า ชายที่เป็นพระสงฆ์เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา ที่ยังอาจตัดกิเลสไม่ได้ เมื่อสังคมคาดหมายความดีอย่างมาก แต่พระเหล่านี้ปฏิบัติจริงไม่ได้ ก็ต้องถูกบีบให้หลอกลวง กลายเป็นนักลวงโลก พระภิกษุหลอกลวงจึงมีอยู่ทั่วไป และจากการที่ที่มีเงินบริจาคอันมหาศาล ทำให้การเป็นพระภิกษุกลายเป็นอาชีพที่หาเงินคล่องอาชีพหนึ่ง จึงกลายเป็นว่า พระภิกษุเหล่านี้ ก็จะเป็นเหยื่อรอวันเปิดโปง ว่าวันไหน จะมีพระรูปไหนถูกเปิดเผยตัวตนออกมาอีก แล้วสังคมก็จะรุมประณามราวกับไม่ใช่มนุษย์
แต่ก็อยากจะตั้งข้อสังเกตว่า พระที่จะถูกเปิดเผย มักเป็นพระบ้านนอก หรือ พระชั้นกลาง ที่ไม่เจียมตัว ทำอะไรผิดพลาด การโจมตีไม่เคยขึ้นไปถึงพระชั้นผู้ใหญ่ ที่มีพัดยศสมณศักดิ์ปกป้องตัว เราไม่เคยตั้งตำถาม หรือคิดจะตรวจสอบกันว่า พระชั้นผู้ใหญ่ ที่มีสมณศักดิ์สูง อยู่ในมหาเถระสมาคม หรือเป็นเจ้าอาวาสวัดระดับใหญ่ในกรุงเทพฯ จะมีวัตรปฏิบัติอย่างไร นั่นรถยนต์หรูอะไรหรือไม่ ไปต่างประเทศอย่างไร มีเงินบริจาคเท่าใด มีทรัพย์สินขนาดไหน และมีการใช้จ่ายเงินในทางไหนบ้าง นำไปให้พ่อแม่พี่น้องครอบครัวอย่างไรหรือไม่
ดังนั้น แทนที่ตั้งหน้าตั้งตาโจมตีเปิดโปงพระเณรคำ หรือคอยหาเหยื่อว่าจะมีพระรูปใด ที่มีวัตรปฏิบัติอันนอกรีต จะได้มาเปิดโปงกันอีก เราหาทางมาแก้ปัญหาต้นเหตุกันให้ตรงจุดไม่ดีกว่าหรือ ด้วยการดำเนินการให้วัดทั่วประเทศ และเจ้าอาวาสของวัดเหล่านี้ ต้องทำบัญชีทรัพย์สินและเงินบริจาค แล้วรายงานให้สำนักงานพระพุทธศาสนาทราบทุกปี โดยเฉพาะวัดขนาดใหญ่ และพระเจ้าอาวาสที่มีสมณศักดิ์สูง และแม้แต่พระชั้นผู้ใหญ่ในมหาเถระสมาคมก็ควรทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อจะได้เปิดเผยและโปร่งใสว่า วัดและพระเหล่านี้มีรายได้เท่าไร อย่างไร มีทรัพย์สินขนาดไหน และเพิ่มขนาดไหนต่อปี เอาเงินไปใช้อะไรกันบ้าง
การทำให้วัดโปร่งใส และตรวจสอบได้ จะเป็นมาตรการหนึ่งช่วยทำให้พระเหล่านี้ ได้เป็นพระภิกษุที่วัตรปฏิบัติอันงามได้อย่างแท้จริง และจะเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดพระภิกษุอื้อฉาวในลักษณะนี้อีก และ พระศาสนาก็จะยั่งยืนเป็นที่นับถือกันสืบไป