วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แอมเนสตี้ฯ ร้อง 'สหภาพรัฐสภา' จี้ไทยยุติ 'ปรับทัศนคติ' อดีต ส.ส.เห็นต่าง


16 ต.ค. 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สหภาพรัฐสภากระตุ้นรัฐบาลไทยให้ยกเลิกข้อกฎหมายที่ส่งผลให้เกิดการจำกัดการใช้สิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งอำนาจในการควบคุมตัวผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบโดยพลการ ชี้ทางการไทยต้องทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มีเสรีภาพเพื่อให้อดีตสมาชิกรัฐสภาและพลเมืองไทยทุกคนรู้สึกได้ว่าตนสามารถพูดหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ นโยบายของรัฐบาล หรือประเด็นอื่นๆ ได้อย่างสงบโดยไม่กลัวว่าจะถูกลงโทษ
00000
แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องสหภาพรัฐสภากระตุ้นรัฐบาลไทย ยุติการคุกคามอดีตสมาชิกรัฐสภาที่แสดงความเห็นต่างจากรัฐบาล
              
เนื่องในโอกาสที่สหภาพรัฐสภา (Inter Parliamentary Union) จัดการประชุมประจำปีสมัยที่ 133 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้กระตุ้นให้ตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมหาแนวทางแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เช่น กรณีที่มีการลงโทษอดีตสมาชิกรัฐสภา และมีการจำกัดบทบาทของในการแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองผู้เข้าร่วมประชุมควรเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการจับกุมโดยพลการ การข่มขู่คุกคามและการดำเนินคดีต่ออดีตสมาชิกรัฐสภาและผู้ที่แสดงความเห็นอย่างสงบคนอื่นๆ อีกทั้งให้ยกเลิกอำนาจที่นำไปสู่การจำกัดสิทธิมนุษยชนโดยพลการ ซึ่งเป็นการขัดขวางการมีส่วนร่วมอย่างอิสระตามขั้นตอนของ “โรดแม็ปสู่ประชาธิปไตย” ของประเทศที่กำลังถูกยืดเวลาออกไป
การควบคุมตัวอดีตสมาชิกรัฐสภาและบุคคลอื่นโดยพลการเนื่องจากการแสดงความเห็นอย่างสงบ หรือเนื่องจากการสมาคมทางการเมือง ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากกองทัพได้ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยมีการควบคุมอดีตสมาชิกรัฐสภาหลายคน รวมทั้งอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่นนายการุณ โหสกุลและนายพิชัย นริพทะพันธุ์ซึ่งถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกเป็นเวลาหลายวันในช่วงเดือนกันยายน 2558 เนื่องจากพวกเขาได้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการ ซึ่งทั้งสองถือเป็นอดีตสมาชิกรัฐสภารายล่าสุดที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ และเป็นกรณีที่มีการรับรู้โดยทั่วไป โดยพวกเขาถูกคุมขังในสถานที่ซึ่งไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ และไม่มีการตั้งข้อหาหรือไต่สวนดำเนินคดี แต่เป็นไปตามที่ทางการไทยเรียกว่า “การปรับทัศนคติ” ซึ่งใช้เวลานานเกือบสัปดาห์ เพื่อ “ให้แน่ใจว่าพวกเขาจะให้ความร่วมมือ”
              
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กำลังถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นและต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งเขาจะไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำตัดสิน เนื่องจากเขาใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสงบต่อต้านการทำรัฐประหาร และขัดขืนคำสั่งของกองทัพที่เรียกให้เขามารายงานตัว ถือว่ากลุ่มอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นกลุ่มคนจำนวนหนึ่งจากบุคคลหลายร้อยคนที่ถูกกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขหลังจากได้รับการปล่อยตัวจากการถูกควบคุมตัวโดยพลการ โดยเงื่อนไขการปล่อยตัวเป็นเหตุให้พวกเขาไม่สามารถมีบทบาทใน “กิจกรรมทางการเมือง” ถ้าไม่เช่นนั้นพวกเขาจะถูกดำเนินคดีและถูกคุมขัง สำหรับอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ไปรายงานตัวกับกองทัพจะถูกสั่งลงโทษโดยพลการ ซึ่งมีทั้งการสั่งอายัดทรัพย์สิน และการยกเลิกหนังสือเดินทาง โดยมีอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกยกเลิกหนังสือเดินทางแล้วอย่างน้อยสามคน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้สหภาพรัฐสภากระตุ้นรัฐบาลไทยให้ยกเลิกข้อกฎหมายที่ส่งผลให้เกิดการจำกัดการใช้สิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งอำนาจในการควบคุมตัวผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบโดยพลการ แม้ก่อนหน้านี้ทางกองทัพสัญญาว่า มาตรการที่ละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเหล่านี้รวมถึงมาตรการที่ละเมิดสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม จะเป็นเพียงมาตรการที่นำมาใช้เพียงชั่วคราว แต่ที่ผ่านมากองทัพกลับขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการที่กดขี่เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลทหารยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาอย่างชัดเจนว่าจะมีการยกเลิกอำนาจที่จำกัดสิทธิเหล่านี้เมื่อใด
ทั้งนี้ การยกเลิกอำนาจในการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้ในขณะนี้ ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างเพียงพอ และ “โรดแม็ปสู่ประชาธิปไตย” ของกองทัพก็ยังคงยืดเวลาออกไปซึ่งหลังจากสภาที่ทหารแต่งตั้งได้ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อใด และเป็นที่น่าเคลือบแคลงใจว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยหรือไม่ ทางการไทยต้องทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มีเสรีภาพเพื่อให้อดีตสมาชิกรัฐสภาและพลเมืองไทยทุกคนรู้สึกได้ว่าตนสามารถพูดหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ นโยบายของรัฐบาล หรือประเด็นอื่นๆ ได้อย่างสงบโดยไม่กลัวว่าจะถูกลงโทษ
 

จำคุก 1 ปี 6 เดือน คดี 112 คดีที่สอง 'โอภาส' เขียนผนังห้องน้ำ


ศาลสั่งพิจารณาลับ ตัวแทนทูตหลายประเทศต้องออกจากห้องพิจารณา เจ้าหน้าที่คุมเข้ม กลับเรือนจำทันทีหลังศาลอ่าน ภรรยาระบุ รู้ว่าโชคดีโทษน้อยแต่ก็ยังเยอะสำหรับครอบครัวอยู่ดี
16 ต.ค.2558 ที่ศาลทหาร มีนัดสอบคำให้การจำเลยในคดี 112 นายโอภาส (ขอสงวนนามสกุล) วัย 68 ปี จากกรณีเขียนผนังห้องน้ำห้างซีคอนสแควร์ เป็นคดีที่สอง จำเลยรับสารภาพ ศาลพิจารณาคดีลับ พิพากษาจำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงเหลือ 1 ปี 6 เดือน โดยให้นับโทษต่อจากคดีแรก ซึ่งก็ได้รับโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือนเช่นเดียวกัน จากกรณีเขียนผนังห้องน้ำที่ห้างเดียวกันแต่คนละชั้น รวมสองคดีจำเลยถูกลงโทษจำคุก 3 ปี  ทั้งนี้ กำหนดปล่อยตัวจำเลยในคดีแรก คือ วันที่  2 ม.ค. 2559
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในศาลทหาร มีเจ้าหน้าที่ศาล สห. รวมถึงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาดูแลการพิจารณาคดีมากเป็นพิเศษ โดยในวันนี้นอกจากภรรยาจำเลยแล้ว ยังมีผู้สังเกตการณ์เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ตัวแทนจากสถานทูตหลายแห่งร่วมฟังคดี เช่น สหภาพยุโรป เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ เดนมาร์ก สวีเดน เบลเยียม แคนาดา รวมถึงองค์กรสิทธิอย่างแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล
เวลาประมาณ 9.30 น. หลังจำเลยถูกเบิกตัวจากเรือนจำมายังห้องพิจารณา อัยการทหารแถลงขอให้ศาลสั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ โดยระบุเหตุผลว่า "คำบรรยายฟ้องซึ่งเป็นข้อความของจำเลย มีข้อความพาดพิงสถาบัน หากข้อความถูกเผยแพร่สู่ประชาชน จะกระทบต่อจิตใจของประชาชนโดยรวม เพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อย ขอให้ศาลพิจารณาคดีลับ" ด้านทนายจำเลยแย้งว่า นัดนี้เป็นเพียงการสอบคำให้การและจำเลยก็ได้อ่านคำฟ้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่จำเป็นต้องอ่านทวนข้อความตามฟ้องอีก ขอให้ศาลพิจารณาโดยเปิดเผยเพื่อให้สาธารณชนได้ทราบถึงกระบวนการ จากนั้นศาลวินิจฉัยและสั่งให้พิจารณาลับ โดยให้เหตุผลว่า "คดีนี้โจทก์ฟ้องเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ กระทบต่อความรู้สึกประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เห็นควรให้พิจารณาคดีลับ" จากนั้นทั้งหมดจึงออกจากห้องพิจารณาคดี ยกเว้นโจทก์ จำเลย และทนายจำเลย
เวลาประมาณ 10.30 น.จำเลยและทนายจำเลยเดินออกมาจากห้องพิจารณาและแจ้งข่าวกับภรรยาจำเลยว่า ศาลลงโทษจำคุก 3 ปีเนื่องจากสารภาพจึงลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน โดยให้นับโทษต่อจากคดีแรก จำเลยและภรรยาจับมือกันแต่ไม่ได้ทันได้พูดคุยอะไร เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็นำตัวจำเลยลงไปยังห้องขังด้านล่าง แล้วนำตัวจำเลยกลับเรือนจำในทันที ทำให้ภรรยาไม่สามารถเยี่ยมและพูดคุยกับจำเลยได้ทัน ทั้งนี้ โดยปกติจำเลยที่มาจากเรือนจำจะถูกคุมตัวในห้องขังศาลทหารหลังพิจารณาคดีเสร็จสิ้นและจะกลับเรือนจำในช่วงบ่าย ทำให้ญาติสามารถเข้าเยี่ยมและพูดคุยได้
"รู้ว่าแกโชคดีได้โทษน้อยแล้วสำหรับคดีแบบนี้ แต่มันก็ยังมากสำหรับแม่อยู่ดี นึกว่าแกจะได้ออกปีใหม่นี้" ภรรยาโอภาสกล่าว
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ทนายได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลยเพื่อให้ศาลรอการลงโทษ หรือนับโทษพร้อมไปกับโทษเดิม ซึ่งหากศาลเห็นควร และลงโทษเท่ากับคดีเดิม จะทำให้จำเลยได้ออกตามกำหนดเดิมคือ 2 ม.ค. 2559 ในการพิจารณาวันนี้ อัยการได้แถลงแย้งขอให้ตัดข้อความในคำร้องออกบางส่วนเนื่องจากอัยการเห็นว่าไม่ใช่การรับสารภาพแต่เป็นการปฏิเสธข้อกล่าวหา และหากยืนยันข้อความจะขอสืบพยานเพื่อสืบเจตนาจำเลย ข้อความดังกล่าวได้แก่การระบุว่า "คดีนี้เป็นคดีแรกของจำเลย" "จำเลยกระทำการไปโดยหลงผิด" ทนายจำเลยขอให้ศาลวินิจฉัยว่าข้อความดังกล่าวเท่ากับเป็นการปฏิเสธและสู้คดีหรือไม่ แต่ศาลแจ้งว่าเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยต้องตกลงกัน ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัย ทนายจำเลยและจำเลยหารือกันแล้วจึงเห็นพ้องกันในการตัดข้อความดังกล่าวในคำร้องประกอบคำรับสารภาพ จากนั้นศาลวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีร้ายแรง พิจารณาแล้วปรากฏว่าไม่อยู่ในเกณฑ์รอการลงโทษ และศาลลงโทษต่ำแล้ว ไม่มีเหตุผลสมควรให้นับโทษพร้อมกันกับคดีเดิม จึงให้นับโทษต่อ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2558 ศาลทหารลงโทษนายโอภาส จำคุก 3 ปี จากคดีเขียนผนังห้องน้ำห้างสรรพสินค้า ผิดมาตรา 112 แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษจำคุกลงกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน
โอภาสถูกคุมขังมาแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2557 โดยเจ้าหน้าที่ของห้างซีคอนสแควร์เป็นผู้นำตัวส่งทหาร หลังเขายอมรับและเสียค่าปรับฐานทำห้องน้ำห้างสกปรก 2,000 บาท ต่อมา พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ (ยศในขณะนั้น) ได้นำตัวโอภาสมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่กองบังคับการปราบปรามก่อนนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลทหาร และถูกคุมขังมาจนปัจจุบัน
ข้อความที่โอภาสเขียนถูกแจกจ่ายให้กองทัพนักข่าวที่มาในวันแถลงข่าว เนื้อหาแบ่งเป็น 7 บรรทัดสั้นๆ ทั้งหมดเป็นการวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารที่ทำการรัฐประหาร โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอยู่ 1 ประโยคที่พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ โดยเป็นการระบุว่าคณะรัฐประหารมีการ “โหน” สถาบันกษัตริย์
โอภาสถูกขังในชั้นสอบสวน มีความพยายามยื่นประกันหลายครั้ง โดยอ้างเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้วและผู้ต้องหามีปัญหาสุขภาพ เป็นโรคเส้นเลือดในจอรับภาพบวมซึ่งอาจแตกและทำให้ตาบอด โดยปกติผู้ต้องหาต้องพบแพทย์ทุก 2-3 เดือน แต่ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่าเป็นคดีร้ายแรง