วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

ยิ่งลักษณ์เตือนไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ-รัฐต้องส่งเสริมคนมีบุตร ดูแลผู้สูงวัย


อดีตนายกรัฐมนตรี 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' เตือนสัดส่วนประชากรวัยพึ่งพิงเพิ่มขึ้นสูงปี 2583 คนวัยทำงาน 10 คน ต่อผู้สูงอายุ+เด็ก 8 คน โดยเสนอรัฐบาล-สังคมเตรียมพร้อมระยะยาว ส่งเสริมคนมีบุตร จูงใจภาษีให้พ่อแม่มีลูกมากขึ้น มีศูนย์เลี้ยงดูและส่งเสริมสิทธิประโยชน์ลาคลอด รวมทั้งเสริมการออมผู้สูงอายุ ดูแลผู้ป่วยติดเตียง
ที่มา: เฟซบุ๊คยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
17 ก.ย. 2558 - วันนี้ ในสเตตัสของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนบทความนำเสนอถึงภาวะสังคมผู้สูงอายุของไทยและข้อเสนอเพื่อเตรียมความพร้อมมีรายละเอียดดังนี้
"ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 โดยมีประชากรผู้สูงอายุมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และใน 20 ปีนับจากนี้ ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” โดยประชากรทุก 5 คน จะมี 1 เป็นผู้สูงอายุ ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการเกิดของประเทศเรายังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนประชากรวัยพึ่งพิงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยจากข้อมูลของสภาพัฒน์ ในปี 2553 มีสัดส่วนประชากรวัยทำงาน 10 คน ต่อประชากรวัยพึ่งพิงเพียง 5 คน แต่ในปี 2583 หรือในอีก 25 ปี ประชากรวัยทำงาน 10 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุและเด็กประมาณ 8 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 60%
แม้ว่าในขณะนี้จะเป็นช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่รัฐบาล รวมถึงสังคม คงไม่อาจจะละเลยที่จะช่วยกันเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสภาพของสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตระยะยาว ซึ่งนอกจากจะต้องส่งเสริมให้คนมีบุตร โดยควรต้องเตรียมการในแง่มาตรการการจูงใจทั้งทางด้านภาษี เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้ให้กับผู้มีบุตร หรือลดหย่อนภาษีนิติบุคคลให้กับเอกชนที่สนับสนุนการสร้างสิ่งจูงใจให้พ่อแม่สมัยใหม่มีลูกกันมากขึ้น โดยไม่ต้องละทิ้งหน้าที่การงานเพื่อมีบุตร เช่น ศูนย์เลี้ยงดูเด็ก หรือสิทธิประโยชน์ในการลาคลอด เป็นต้น
และในเรื่องผู้สูงอายุ นอกจากการให้สวัสดิการผู้สูงอายุ และการส่งเสริมการออมแล้ว ยังอาจจะต้องพิจารณาหามาตรการที่จะรับมือกับค่ารักษาพยาบาล และจำนวนผู้ป่วยติดเตียงที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยในหลายประเทศ อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ก็ใช้กลไกของประชาชน ในการจัดศูนย์และให้การดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้อยู่ในสภาพที่คุ้นเคยแล้ว ยังสามารถลดความแออัดของโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ อาจพิจารณาสนับสนุนให้ทั้งเอกชน และราชการ ออกแบบ หรือปรับปรุงสิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้ผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้พิการ สามารถดูแลตัวเองทั้งในการเดินทางสัญจรไปมาและการทำกิจกรรมนอกบ้านได้สะดวกมากขึ้น
การวางทิศทางในการดูแลสังคม โดยเฉพาะประชากรเป็นเรื่องระยะยาว แต่ก็เป็นเรื่องที่รอไม่ได้ค่ะ เพราะทั้งการสร้างคนที่มีคุณภาพ และสภาพสังคมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุล้วนเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมองไกล เพื่อไม่ให้ปัญหาเร่งด่วนระยะสั้น มาบดบังการเตรียมพร้อมระยะยาว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยค่ะ"

จาตุรนต์เสนอ ‘สูตร3-3, 3-2’ ย่นเวลาร่างรธน.


18 ก.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Chaturon Chaisang’ เสนอปรับเวลาโรดแมปร่างรัฐธรรมนูญใช้สูตร 3-3, 3-2 โดยระบุว่า เป็นเรื่องดีที่มีความคิดว่าจะย่นระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญให้สั้นเข้า ความจริงการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ในครั้งนี้สังคมไทยก็ได้เรียนรู้พอสมควรแล้วว่าเรื่องอะไรพอรับกันได้และเรื่องอะไรรับไม่ได้ จึงไม่ใช่การมานับหนึ่งกันใหม่ แต่สามารถรวบรวมเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญที่เคยมีมาแล้วคัดเลือก ส่วนที่เป็นมาตรฐานกับส่วนที่คิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะรับได้ออกมาเสียก่อน ส่วนประเด็นยากๆ คือ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากๆ ก็รวบรวมเข้าแล้วก็เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางสักรอบสองรอบ ก็น่าจะตัดสินใจกันได้ในเวลาสั้นๆ 3 เดือนก็น่าจะเกินพอ
จาตุรนต์ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อๆ ไปก็ยังสามารถย่นย่อได้อีกทั้งนั้น ขั้นตอนการลงประชามติเหลือสัก 3 เดือน ร่างกฎหมายลูกหลายฉบับสามารถหาทีมงานร่างไว้ตั้งแต่ตอนนี้เลย พอได้รัฐธรรมนูญก็นำมาพิจารณา ใช้เวลา 3 เดือนก็พอ ส่วนขั้นตอนสุดท้าย คือ เตรียมการเลือกตั้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 4 เดือน เพราะปรกติการเลือกตั้งที่รู้กำหนดเวลาล่วงหน้า ใช้เวลา 30 - 45 วันก็ยังได้ ถ้าจะให้เวลานานเป็นพิเศษก็ไม่ควรเกิน 2 เดือน
“6-4 6-4 จึงสามารถเปลี่ยนเป็น 3-3 3-3 หรือ 3-3 3-2 ก็พอ ใช้เวลารวมทั้งหมดก็จะประมาณ 11 เดือนหรือ 1 ปีเท่านั้น” จาตุรนต์ กล่าว
จาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนระยะเวลาของโรดแมปนี้ยังไม่อาจแก้ปัญหาได้จริง เพราะโรดแมปนี้เป็นแบบเปิดปลาย เนื่องจากเมื่อมีการลงประชามติก็ย่อมหมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญอาจผ่านความเห็นชอบของประชาชนหรือไม่ผ่านก็ได้ และถ้าไม่ผ่านกระบวนการทั้งหมดก็จะถูกยืดออกไป ดังนั้น สิ่งที่ควรทำนอกเหนือจากการให้ร่างรัฐธรรมนูญกันในเวลาที่สั้นลงและแก้โรดแมปทั้งหมดเสียใหม่แล้ว ยังควรกำหนดเสียให้ชัดเจนว่า ถ้าลงประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร ซึ่งก็คือ มีทางเลือกให้ประชาชนเลือกในการลงประชามติ ไม่ใช่ให้เลือกระหว่างร่างของกรรมาธิการกับการร่างกันใหม่อีกไม่รู้จักจบเท่านั้น
“หากไม่ผ่านการลงประชามติก็ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ไปก่อนเพื่อให้มีการเลือกตั้งและมีการบริหารประเทศไปได้ แล้วก็กำหนดให้มีการเลือกสสร. มาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่โดยประชาชนจริงๆ แนวโน้มคงต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเกี่ยวกับเงื่อนไขในการลงประชามติอยู่แล้ว ก็น่าจะนำประเด็นเหล่านี้ไปรวมแก้เสียด้วยในคราวเดียวกันเลย” จาตุรนต์ เสนอ

กรุงเทพโพลล์เผย 51% หนุนมีชัยนั่งประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ


ด้าน วิษณุ เผยไม่รู้มีชัยตอบรับนั่งประธาน กรธ. หลังมีกระแสข่าวเจ้าตัวตอบรับ โพลล์ระบุหากมีชัย นั่งประธานความเชื่อมั่นในการร่างรธน.ให้ผ่านประชามติได้ 41.5% ขณะที่ 22.1% ไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ และ 36.4%ไม่แน่ใจ
18 ก.ย.2558 ไทยรัฐฉบับพิมพ์ รายงานถึงความคืบหน้าการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า เริ่มมีความชัดเจน หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ได้สั่งการให้คณะทำงาน คสช.เสนอชื่อและติดต่อทาบทาม โดย มีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. ยังเป็นคนที่ คสช. มีความต้องการให้มาเป็นประธานกรธ. มากที่สุด เพราะมีความเหมาะสมที่สุดในเวลานี้ เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และทำงานร่วมกับ คสช. มาตั้งแต่ต้น ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจนถึงฉบับแก้ไข
โดยช่วงแรก มีชัย ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งดังกล่าว แต่ล่าสุดได้ตอบตกลงที่จะมาทำหน้าที่นี้แล้ว และมีความเป็นไปได้ที่ มีชัย จะดึงคณะทำงานในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาร่วมเป็น กรธ. ด้วย โดยเฉพาะ ปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำกฤษฎีกา ซึ่งทำงานกับ มีชัย มาตลอด
วิษณุไม่รู้มีชัยตอบรับนั่งประธาน กรธ.
สนุกดอทคอม รายงาน ความเห็นของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต่อกระแสข่าว มีชัย ตอบรับจะทำหน้าที่ประธานกรธ. ด้วย โดย วิษณุ กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และไม่รู้ว่ามีการทาบทามหรือไม่ เพราะขณะนี้นายมีชัยเป็นตัวแทนรัฐบาลไปประชุมสหภาพยุโรป (อียู) เกี่ยวกับปัญหาประมงที่ต่างประเทศ ซึ่งส่วนตัวทราบว่า มีชัย ไม่ต้องการรับหน้าที่ดังกล่าว แต่หากถึงที่สุดแล้วไม่สามารถหาผู้เหมาะสมได้ก็อาจมีการส่งตัวแทนทาบทาม ทั้งนี้ สำหรับรายชื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 กันยายนนี้ แต่อาจยังไม่ประกาศ เพราะบางคนอาจต้องการเวลาเตรียมตัว ซึ่งเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ที่กำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องละเว้นทางการเมือง 2 ปี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนลังเล
อย่างไรก็ตาม วิษณุ ยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ให้คำปรึกษานายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
กรุงเทพโพลล์เผย 51% หนุนมีชัยนั่ง ปธ.กรธ.
วันนี้(18 ก.ย.58) กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความเห็นของประชาชนต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,062  คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 51.0 เห็นว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ มีความเหมาะสมหากจะมาดำรงตำแหน่งประธาน กรธ. ขณะที่ร้อยละ 10.4 เห็นว่าไม่เหมาะสม ทั้งนี้มีถึงร้อยละ 38.6 ที่ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้เมื่อถามว่า “หากมีชัย ฤชุพันธุ์  นั่งเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อมั่นหรือไม่ว่าจะสามารถร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านประชามติได้” พบว่าร้อยละ 41.5 เชื่อมั่นว่าจะทำได้ ขณะที่ร้อยละ 22.1 ไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ และร้อยละ 36.4 ไม่แน่ใจ
สุดท้ายเมื่อถามว่า “คิดว่าควรมีบุคคลจากคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดเดิม เข้าร่วมในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ด้วยหรือไม่” ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 60.0 เห็นว่า ควรมี เพราะเป็นผู้ที่ทราบข้อมูลร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขณะที่ร้อยละ 25.5 เห็นว่า ไม่ควรมี เพราะไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่าน สปช. ได้ ส่วนที่เหลือร้อยละ 14.5 ยังไม่แน่ใจ         
โดยรายละเอียดการสำรวจของกรุงเทพโพลล์ดังกล่าวมีดังนี้
ประชากรที่สนใจศึกษา : การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบ Simple Random Sampling แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error) : การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน  ± 4% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
วิธีการรวบรวมข้อมูล : ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล              :  15 – 17 กันยายน 2558

ศูนยทนายสิทธิร่อน จม.เปิดผนึกถึง คสช.-ผบ.ตร. สอบละเมิดสิทธิคุมตัวประวิตร


18 ก.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดย เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำหนังสือเปิดผนึกถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สำเนาถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการควบคุมตัวนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น
รายละเอียดมีดังนี้
หนังสือเปิดผนึกกรณีการควบคุมตัวนายประวิตร โรจนพฤกษ์
วันที่ 18 กันยายน 2558
เรื่อง  ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการควบคุมตัวนายประวิตร โรจนพฤกษ์
เรียน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
สำเนาเรียน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
   
ตามที่นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวระหว่างวันที่ 13 -15 กันยายน 2558 เนื่องจากได้แสดงความคิดเห็นวิจารณ์รัฐบาล หลังจากได้รับการปล่อยตัวนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ได้เปิดเผยว่าถูกเจ้าหน้าที่ซักถามในคืนวันแรกเป็นเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง และถูกควบคุมตัวในห้องที่คับแคบ ปิดทึบ ไม่มีแสงแดด ไม่มีอากาศถ่ายเท และถูกปิดตาตลอดเวลาที่ถูกนำตัวออกจากห้องขัง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการควบคุมตัวดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด การซักถามในเวลากลางคืนเป็นเวลายาวนาน การปิดตา และควบคุมตัวไว้ในห้องแคบที่ปิดทึบ จนทำให้นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ได้รับอันตรายต่อจิตใจอย่างสาหัส จนถึงขนาดต้องร้องขอแสงแดดและอากาศภายนอก เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้ปิดตาและพาตัวนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ออกมานั่งด้านนอกห้องประมาณ 20 นาทีและพาตัวกลับเข้าไปในห้องคุมขังเช่นเดิม การกระทำดังกล่าวเป็นการทรมานและข่มขู่ให้กลัวเพื่อให้นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ให้ข้อมูลและยุติการวิจารณ์รัฐบาล อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันละเมิดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ข้อ 1 และข้อ 16 ที่ประเทศไทยลงนามเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นสิทธิเด็ดขาดและเจ้าหน้าที่จะทรมานบุคคลใดไม่ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ
นอกจากนี้ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยจะปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้ ดังนั้นผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามคำสั่งดังกล่าวยิ่งต้องมีสิทธิและได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด อีกทั้ง เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่หากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐเสียเองแล้ว ประชาชนย่อมขาดหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไป
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการควบคุมตัวนายประวิตร โรจนพฤกษ์ โดยพลันและปราศจากความลำเอียง หากได้ผลการตรวจสอบแล้ว ขอให้มีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่จะป้องกันไม่ให้มีการปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวต่อบุคคลอื่นๆ อีก
   
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการ

ขอแสดงความนับถือ
(นางสาวเยาวลักษ์ อนุพันธุ์)
หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

‘ลูกเกด-การ์ตูน NDM’ เล่ารัฐประหารครั้งแรก ชี้บทเรียน 9 ปี ไม่ใช่ทางออกการเมือง


18 ก.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement – NDM’ เผยแพรวิดีโอคลิปสัมภาษณ์ ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ ‘การ์ตูน’ อายุ 24 ปี และ ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ‘ลูกเกด’ อายุ 22 ปี สอสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเองรับรู้ในเหตุการณ์การรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 พร้อมจุดเปลี่ยนทางความคิด  
ชนกนันท์ เล่าถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ว่า ขณะนั้นอยู่ ม.2 ซึ่งตอนมีความสนใจการเมืองอยู่ เนื่องจากทางบ้านมีญาติลงการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดนนทบุรี ทำให้ตนสนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่ได้รับรู้การเมืองของอีกฝ่าย
ทางบ้านและตนไปชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ขณะที่ในบ้านก็ไม่ค่อยพูดประเด็นทางการเมืองกัน โดยใช้ชีวิตเหมือนกับครอบครัวปกติทั่วไป
สำหรับเหตุผลที่ทราบถึงเหตุการณ์การรัฐประหารนั้น ชนกนันท์ กล่าวว่า ทราบจากที่มีการหยุดเรียน และดีใจที่ได้หยุด พร้อมทั้งเห็นภาพข่าวที่ออกมาว่ามีรถทหารมาประจำอยู่กรุงเทพฯ และมีคนคอยแจดอกไม้ให้ ซึ่งขณะนั้นทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องดีเพราะมองว่าเป็นการขับไล่คนโกงออกไป  
สำหรับการเปลี่ยนความคิด ชนกนันท์ กล่าวว่า มีจุดเปลี่ยน 2 จุด โดยจุดแรกคือตอนที่ได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกา ได้พบเห็นการที่ทุกคนมีสิทธิมีเสียง อยากคิดอะไรก็คิด อยากพูดอะไรก็พูด ทำให้เรารู้สึกว่าได้เสรีภาพมากกว่าตอนที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนจุดเปลี่ยนที่สองคือเมื่อได้เข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อได้เข้ามาในมหาวิทยาลัย อาจารย์จะโยนคำถามมาเพื่อให้ตนไปหาคำตอบเอง ซึ่งตอนนั้นมันทำให้ตนได้ไปหาอะไรหลายอย่างที่ตนไม่เคยอ่านมาก่อน
“ตอนนี้รู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะว่าการรัฐประหาร มันเป็นการยึดอำนาจโดยไม่ชอบ” ชนกนันท์ กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ ชลธิชา เล่าว่าเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 นั้น ตนอยู่ ม.ต้น ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป โดยที่พ่อของตนเป็นทหาร วันที่มีการรัฐประหารนั้น พ่อตนไม่ได้กลับบ้าน จึงเกิดความกังวลว่าพ่อตนจะเป็นอะไรหรือไม่ เพราะไม่ได้กลับบ้านมาหลายวันมาก แต่ท้ายที่สุดเมื่อเห็นภาพผ่านโทรทัศน์ที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมายื่นดอกไม้ให้กำลังใจกับทหารก็ได้แต่ตั้งข้อสงสัยกับตัวเองว่าทำไมมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ออกมาสนับสนุนรัฐประหาร
สำหรับเหตุการณ์ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดนั้น ชลธิชา เล่าว่าเป็นเหตุการณ์ปี 53 ทำให้ตนสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมถึงมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และด้วยความเป็นเด็กขณะนั้นเดินผ่านร้ายหนังสื่อได้เห็นภาพจากหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเป็นภาพประชาชนที่ถูกทำร้ายและนอนตายอยู่ในกรุงเทพฯ โดยสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกหดหู่คือ ทำไมสังคมไทยกลับถึงยอมรับเรื่องของการใช้ความรุนแรง ได้อย่างน่าตาเฉยภายในสังคมนี้ ทั้งๆ ที่มีคนจำนวนมากที่สูญเสียจากตรงนั้น
“เราเห็นภาพความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เห็นความขัดแย้งปี 49 ปี 50 ปี 53 ต่างๆ จนกระทั่งมาถึงรัฐประหารปี 57 ที่ผ่านมา ระยะเวลา 9 ปีช่วงตรงนี้มันทำให้เราเรียนรู้อย่างหนึ่งก็คือว่าบทเรียนสำคัญคือรัฐประหารมันไม่ใช่วิถีทางในการแก้ปัญหาทางการเมือง มันเป็นบทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งที่คิดว่าสังคมไทยควรที่จะเรียนรู้ ควรที่จะตระหนักและปฏิเสธระบอบเผด็จการระบอบรัฐประหารแบบเดิมๆ ได้แล้ว” ชลธิชา กล่าว
โดยตอนท้ายของวิดีโอคลิปดังกล่าวมีข้อความ “ร่วมลุกขึ้นประกาศอิสรภาพจากระบอบเผด็จการทหาร วันที่ 19 เดือนกันยา 58 เวลา 13.00 – 16.00 น. จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”

ข้อเสนอต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับหลังรัฐประหาร V.2

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ ถูกล้มไปในสภาปฎิรูปแห่งชาติ ซึ่งมีข้อสังเกตสำคัญคือ เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น หากนับเฉพาะทหารและตำรวจ จำนวน 31 คน มีผู้ลงมติไม่เห็นชอบมากถึง 28 เสียง ขณะที่กลุ่มข้าราชการทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีคะแนนไม่เห็นชอบสูง ในทางกลับกันกลุ่มที่เห็นชอบกลับกลายเป็นกลุ่ม NGOs นักวิชาการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และกลุ่มสื่อ
อย่างไรก็ตามเมื่อร่างรัฐธรรมนูญตกไปแล้ว เส้นทางที่ต้องเดินต่อไปตามที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 คือ คสช. จะเป็นผู้เลือกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ภายใน 30 วัน (นับจากวันที่ 6 ก.ย.) โดยเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด จะให้ประชาชนลงประชามติ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และเปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในกรณีที่ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป ซึ่งนั้นหมายความว่าประชามติผ่านแล้ว ซึ่งจะผ่านโดยได้คะแนนเสียงข้างมากจากผู้มีสิทธิ ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในช่วง มีนาคม 2560
กระนั้นก็ตาม วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้มีการบริหารเวลา โดยใช้สูตร 6+4+6+4  คือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลาร่างประมาณ 6 เดือน ร่างเสร็จทำประชามติภายใน 4 เดือน หลังประชามติผ่านใช้เวลาอีก 6 เดือนในการทำกฎหมายลูก เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ จากนั้นอีก 4 เดือนจะให้เวลาหาเสียงเลือกตั้ง จึงเท่ากับ 6+4+6+4 = 20 เดือน โดยประเทศไทยจะได้มีการเลือกตั้งช่วง มิถุนายน 2560
ทั้งนี้ในขั้นตอนของการทำประชามติ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปหากยึดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 คือการกลับไปเลือกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งโดย คสช.  ซึ่งข้อเสนอที่ว่า หากประชามติไม่ผ่าน จะให้มีการหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใด ฉบับหนึ่งมาใช้แทน ยังไม่มีความชัดเจนที่จะมีการเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องทางดังกล่าว
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีกลุ่มต่างๆออกมาแสดงจุดยืน และข้อเสนอต่อการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ประชาไทรวบข้อเสนอดังกล่าวจากกลุ่มต่างๆ พบว่า กปปส. ไม่ขัดการดำเนินการตามโรดแมปของ คสช. ย้ำยังหนุนปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเช่นเดิม ด้านประชาธิปัตย์เห็นด้วยตามโรดแมป แต่ต้องการให้ย่นระยะเวลา พร้อมเอาอำนาจพิเศษออก ขณะที่ นปช. เสนอให้เอารัฐธรรมนูญ 2540 มาประกาศใช้ และเปิดให้มีการเลือกตั้ง สสร. เช่นเดียวกับกัน ปิยบุคร แสงกนกกุล คณะนิติราฏร์ เสนอยกเลิกรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แล้วนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้เป็นการชั่วคราว เปิดทางการร่างรัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชน ด้านฝั่งเพื่อไทยเสนอให้มีการแก้ รัฐธรรมนูญชั่วคราว เปิดโอกาสประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่จาตุรนต์ ฉายแสงเสนอ สูตรใหม่ 3+3+3+2 ย่นเวลาการร่างรัฐธรรมนูญ และหากประชามติไม่ผ่านให้นำรัฐธรรมนูญเก่ามาใช้ เปิดการเลือกตั้งทั่วไป และเลือกตั้ง สสร. โดยประชาชน
ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เสนอให้มีการนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ และให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว พร้อมให้องค์กรต่างๆ หลังประหารหมดอำนาจไป เหลือแต่เพียงรักษาการคณะรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง
ในฝั่งของนักศึกษา นักกิจกรรม อย่างขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และกลุ่มนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประกาศจุดยืนไม่ยอมรับอำนาจ คสช. เพราะระบุ การร่างรัฐธรรมนูญต้องมีที่มาจากประชาชนเท่านั้น
กปปส. ใส่เกียร์ว่าง ยังไม่มีข้อเสนอ พร้อมหนุนปฎิรูปก่อนเลือกตั้ง
หลังมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า "ขอส่งกำลังใจถึงพี่น้องประชาชนผู้รักชาติรักแผ่นดินทุกท่าน เราได้แสดงเจตนารมณ์แทนพี่น้อง มวลมหาประชาชนว่าเราต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศไทยอย่างจริงจังต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะถูกควํ่าไปเสียแล้ว พวกเราก็อย่าเสียกำลังใจขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศให้จงได้ สุขุม หนักแน่น เอาไว้" (อ่านข่าวที่นี่)
ขณะเดียวกัน เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โพสต์ผ่านเฟชบุ๊กแฟนเพจ ‘เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ (ขิง)’ ยืนยัน อุดมการณ์ไม่เปลี่ยน สนับสนุนรัฐบาลปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเหมือนเดิม หนุนรัฐบาลปฎิรูปก่อนเลือกตั้ง
นปช. เสนอเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ นำประเทศกลับสู่การเลือกตั้ง และให้ประชาชนเลือก สสร.
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์” ออกแถลงการณ์ถึงกรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เมื่อผู้มีอำนาจปฏิเสธเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของ นปช. จึงขอใช้พื้นที่ของสื่อมวลชนทุกแขนงแสดงท่าทีต่อการลงมติไม่รับร่างรัฐ ธรรมนูญของ สปช. โดย นปช. เห็นว่า กระบวนการสถาปนารัฐธรรมนูญที่ตั้งกันเอง ร่างกันเอง และคว่ำกันเองนี้ไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่กระบวนการประชามติอีกต่อไป การกล่าวอ้างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ยิ่งมิอาจยอมรับได้ เพราะแท้จริงแล้วเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์กำหนดแนวทางขึ้นบังคับใช้ให้ ประเทศไทยเดินตาม หาใช่กฎหมายสูงสุดที่ยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยของประชาชนไม่ และไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจากกระบวนการนี้
นายจตุพร ระบุอีกว่า เมื่อกระบวนการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวไร้ความชอบธรรม จึงขอเสนอให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยทันที เพื่อนำประเทศไปสู่การเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตยและให้กลไกรัฐที่มาจาก ประชาชนจัดให้มีการเลือกตั้งสสร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตลอดจนเดิน หน้ากระบวนการปฏิรูปต่อไป (อ่านข่าวที่นี่)
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หนุนโรดแมปของ คสช. แนะให้นำเอาร่างเดิมมาปรับแก้ ตัดอำนาจพิเศษออกจากรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 58 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 21 คน ว่า ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมาย และเข้าใจปัญหาบ้านเมือง ทำตามเป้าหมายปฏิรูปของ คสช. ซึ่งสิ่งสำคัญต้องเปิดกว้างรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นที่ยอมรับ และผ่านประชามติจากประชาชน
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการร่าง ควรนำร่างเดิมของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาปรับแก้ไข รวมถึงนำข้อดีของรัฐธรรมนูญ ปี 40 และ 50 มาปรับใช้ด้วย โดยที่ไม่ต้องเริ่มใหม่ทั้งฉบับ ขณะเดียวเห็นว่า คสช. ต้องมีเป้าหมายการปฏิรูปที่ชัดเจน สามารถนำประเทศเดินหน้าได้ โดยให้ประชาชนต้องเป็นเจ้าของมีส่วนร่วม

อย่างไรก็ตาม หากเขียนหลักการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมมีเนื้อหา สาระชัดเจน ก็ไม่ต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการ หรือกลไกพิเศษมาควบคุมอำนาจของรัฐบาล เพราะหากรัฐบาลไม่ดำเนินการปฏิรูปก็จะขัดรัฐธรรมนูญ(อ่านข่าวที่นี่)
เพื่อไทย แนะ คสช. แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เปิดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2558 พรรคเพื่อไทยได้เผยแพร่เอกสารความเห็นต่อการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีรายละเอียดบางส่วนดังนี้
“พรรคเพื่อไทยเห็นว่า หากยังคงร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะบุคคลที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ภายใต้กระบวนการยกร่างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ กระทำแบบปิดลับเช่นที่ผ่านมา มีแต่จะยิ่งสร้างความขัดแย้งจนไปสู่วิกฤตที่เลวร้าย และไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่ดี เป็นประชาธิปไตย และใช้เวลายาวนานเท่าใด พรรค เพื่อไทยจึงเสนอให้ คสช. แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การใช้กระบวนการสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือกระบวนการอื่นใดที่เหมาะสม และให้กระบวนการในการยกร่างเป็นไปอย่างเปิดเผยเป็นกลาง ภายในระยะเวลาที่แน่นอน เพื่อจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้เกิดความชอบธรรมและเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการเยียวยาและแก้ไข ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ทุกวันนี้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงการจัดให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด” (อ่านข่าวที่นี่)
จาตุรนต์ ฉายแสง เสนอสูตรใหม่ 3+3+3+2 ย่นเวลาร่าง หากประชามติไม่ผ่าน หยิบรัฐธรรมนูญเก่าประกาศใช้
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Chaturon Chaisang’ เสนอปรับเวลาโรดแมปร่างรัฐธรรมนูญใช้สูตร 3-3, 3-2 โดยระบุว่า เป็นเรื่องดีที่มีความคิดว่าจะย่นระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญให้สั้นเข้า ความจริงการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ในครั้งนี้สังคมไทยก็ได้เรียนรู้พอสมควร แล้วว่าเรื่องอะไรพอรับกันได้และเรื่องอะไรรับไม่ได้ จึงไม่ใช่การมานับหนึ่งกันใหม่ แต่สามารถรวบรวมเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญที่เคยมีมาแล้วคัดเลือก ส่วนที่เป็นมาตรฐานกับส่วนที่คิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะรับได้ออกมาเสียก่อน ส่วนประเด็นยากๆ คือ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากๆ ก็รวบรวมเข้าแล้วก็เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางสักรอบสอง รอบ ก็น่าจะตัดสินใจกันได้ในเวลาสั้นๆ 3 เดือนก็น่าจะเกินพอ
จาตุรนต์ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อๆ ไปก็ยังสามารถย่นย่อได้อีกทั้งนั้น ขั้นตอนการลงประชามติเหลือสัก 3 เดือน ร่างกฎหมายลูกหลายฉบับสามารถหาทีมงานร่างไว้ตั้งแต่ตอนนี้เลย พอได้รัฐธรรมนูญก็นำมาพิจารณา ใช้เวลา 3 เดือนก็พอ ส่วนขั้นตอนสุดท้าย คือ เตรียมการเลือกตั้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 4 เดือน เพราะปรกติการเลือกตั้งที่รู้กำหนดเวลาล่วงหน้า ใช้เวลา 30 - 45 วันก็ยังได้ ถ้าจะให้เวลานานเป็นพิเศษก็ไม่ควรเกิน 2 เดือน
“หากไม่ผ่านการลงประชามติก็ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ไปก่อนเพื่อ ให้มีการเลือกตั้งและมีการบริหารประเทศไปได้ แล้วก็กำหนดให้มีการเลือกสสร. มาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่โดยประชาชนจริงๆ แนวโน้มคงต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเกี่ยวกับเงื่อนไขในการลงประชามติ อยู่แล้ว ก็น่าจะนำประเด็นเหล่านี้ไปรวมแก้เสียด้วยในคราวเดียวกันเลย” จาตุรนต์ เสนอ(อ่านข่าวที่นี่)
ข้อเสนอจาก ปิยุบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ในหนึ่งกลุ่มนิติราษฎร์
เสนอให้มีการประกาศยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แล้วนำเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้เป็นการชั่วคราว จากนั้นเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดช่องทางให้มีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อได้สภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้ระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญภายใน 90 วัน โดยหลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนลงประชามติก่อนประกาศใช้(อ่านข่าวที่นี่)
ศูนย์ทนายสิทธิฯ เสนอให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ และเลือกตั้งโดยเร็ว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เสนอให้มีการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อเป็นประชาธิปไตยและกระบวนการร่างที่มี ส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางแต่กลับถูกยกเลิกโดยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อนำประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด
โดยในการคืนอำนาจให้กับประชาชนและจัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อให้อยู่ภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยและมีสิทธิเสรีภาพที่สุด เสนอให้องค์กรรัฐที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหารได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติ สิ้นสภาพลงทันทีรวมถึงประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งหมดในฐานะ สิ่งแปลกปลอมในระบบกฎหมายต้องถูกยกเลิกทั้งหมด
ทั้งนี้ ให้คงเหลือรักษาการคณะรัฐมนตรีอยู่ทำหน้าที่เพียงบริหารให้เกิดการเลือกตั้งในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเท่านั้น(อ่านข่าวที่นี่)
ม.เที่ยงคืน ออกแถลงการณ์ รธน.ต้องอยู่ในมือประชาชน อย่าปล่อยให้ใครกลุ่มใดกำหนดตามอำเภอใจ
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2558 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์ เรื่อง รัฐธรรมนูญต้องอยู่ในกำมือของประชาชน เรียกร้องให้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ต้องร่วมกันผลักดันให้รัฐธรรมนูญกลับมาอยู่ในกำมือของประชาชน และเพื่อร่วมกันแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ก่อนที่จะตัดสินใจร่วมกันว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยความเชื่อมั่นว่าการแก้ไขปัญหาและความยุ่งยากในสังคมไทยนั้นจะสามารถ ผ่านพ้นไปได้ก็ด้วยการยอมรับอำนาจและสิทธิของประชาชนอย่างเท่าเทียมในการ ร่วมกันกำหนดชะตากรรมของสังคมไทย มิใช่ปล่อยให้กลุ่มบุคคลบางกลุ่มซึ่งไม่เห็นความสำคัญของความเสมอภาค เสรีภาพ และการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นผู้กำหนดทิศทางของสังคมไทยตามอำเภอใจ(อ่านข่าวที่นี่)
ต่อมาวันที่ 14 ก.ย. 2558 คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แถลงเชิญชวนร่วมกันเสนอชื่อสมาชิกที่มาจากประชาชนธรรมดาในการออกแบบร่างรัฐ ธรรมนูญ โดยวิจารณ์กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ที่เพิ่งถูกคว่ำร่างไปเมื่อกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมชี้ว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะดำเนินตามรอยของการจัดทำรัฐ ธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ทั้งในแง่ของการแต่งตั้ง กระบวนการร่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้กำมือของคนกลุ่มเดียวกัน ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ยอมรับฟังเสียงของกลุ่มอื่นๆ และไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงโต้แย้งเกิดขึ้นอย่างเสรี รวมถึงบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งก็คาดหมายได้ว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัย สำคัญต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เชิญชวนให้ประชาชนร่วมเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นว่ามี ความเหมาะสมในการทำหน้าที่จัดทำร่าง “รัฐธรรมนูญในฝัน” ของสังคมไทย โดยบุคคลดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ ต้องมีความยอมรับและยึดมั่นในหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย โดยมีการเปิดรับความเห็นผ่านทาง Facebook“รัฐธรรมนูญในฝัน” แต่ละคนสามารถเสนอรายชื่อได้ไม่เกิน 5 คน ตั้งแต่วันที่ 14 - 21 กันยายน 2558 (อ่านข่าวที่นี่)
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ชี้ การล้มร่างรธน. แค่ปาหี่ ย้ำ คสช. หมดความชอบธรรม รธน.ต้องมาจากประชาชน
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา หลัง สปช. มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้จัดงานแถลงข่าวต่อกรณีการล้มร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. โดยระบุว่า การล้มร่างรัฐธรรมนูญครั้งเป็นเพียงการแสดง ปาหี่ เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปของ คสช. คสช. ไม่มีความชอบธรรมที่จะปกครองอีกต่อไป พร้อมเสนอว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องเป็นกระบวนการที่ประชาชน มีส่วนร่วมมากที่สุด คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน(อ่านข่าวที่นี่)