วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

บิ้กตู่ย้ำ อย่าห่วงเรื่องเผด็จการใน รธน. พร้อมเชิญ มีชัย คุยรับไม่รับตำแหน่งประธาน กรธ.


นายกฯ เชิญ มีชัย ถามพร้อมจะเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมระบุรายชื่อ สปท. มีทุกพรรค คาดเปิดรายชื่อก่อน 5 ต.ค. ย้ำอย่าห่วงเรื่องเผด็จการนัก
2 ต.ค. 2558 ผู้จัดการออนไลน์ASTV รายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรายชื่อประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ขณะนี้กำลังทำอยู่และบ่ายวันเดียวกันนี้ได้เชิญ มีชัย ฤชุพันธ์ สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้าพบซึ่งถือเป็นขั้นต้นที่จะพูดคุยกัน ยังไม่ถือว่าเป็นการตกลง       
"ส่วนที่เชิญนายมีชัย มาหารือกันวันนี้ก็เพื่อถามว่าท่านพร้อมจะรับตำแหน่งหรือไม่ และนายมีชัย เองก็ต้องดูด้วยว่ารายชื่ออื่นๆ ที่จะเข้ามาร่วมเป็นกรธ.นั้นเหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นคนที่ต้องทำงานร่วมกับท่าน ซึ่งบ่ายวันนี้อาจารย์มีชัย ก็จะมาพบกับผมและไม่ว่าอย่างไร รายชื่อของ กรธ. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)จะได้ก่อนวันที่ 5 ตุลาคม วันนี้อย่าไปสนใจว่าใคร ต้องสนใจว่าจะได้อะไรกลับมาจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญจะบอกว่าต้องมาจากคนทั้งประเทศมันก็ใช่ ซึ่งวันนี้เขาก็มีส่วนร่วมกันอยู่แล้วในแต่ละขั้นตอนต่างๆ ในการไปรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดต่างๆ ไม่มีใครเอาคน 70 ล้านคนมาร่างรัฐธรรมนูญ อย่าไปฟังคนที่พูดบิดเบือนว่าทุกคนต้องร่วมมือกัน มันไม่จำเป็นเพราะ กรธ. เองก็มีผลตามกฎหมายอยู่แล้วก็จะนำแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญของทุกประเทศมาดู รวมถึงเอาของประเทศไทยมาดูด้วยและเปรียบเทียบและดูว่าสำหรับประเทศไทยแล้วใน วันข้างหน้าระยะเวลาหนึ่งจะต้องทำอย่างไรให้ประเทศมันปลอดภัย ระหว่างนี้ก็จะพิจารณาไปทีละหมวด สร้างความเข้าใจเปิดเวทีในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งทุกครั้งก็ทำแบบนี้แล้วจะมากล่าวหาว่าประชาชนไม่มีส่วนร่วมได้อย่างไร ก็มีอยู่ 2 - 3 เรื่อง ทั้งเรื่อง คปอ. เรื่องที่มานายกฯ วุฒิสภา ถามว่าวันนี้บ้านเมืองมันปลอดภัยแล้วหรือยัง ถ้าปลอดภัยแล้วก็ว่ากันมา แต่ถ้าคิดว่าวันข้างหน้ายังไม่ปลอดภัยก็ต้องไปหาวิธีการมา ผมให้หลักการไปแค่นี้"นายกรัฐมนตรีกล่าว
เมื่อถามว่า บ่ายวันนี้จะรู้ว่านายมีชัย จะรับหรือไม่รับตำแหน่งใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ต้องรอฟังว่านายมีชัย จะรับหรือเปล่า ถ้าไม่รับก็ต้องหาคนใหม่ สื่อมีใครหรือไม่ ขอให้เสนอเข้ามา ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายและรัฐธรรมนูญและคณะทำงานก็ ต้องมาจากหลายภาคส่วน ทั้งจากฝ่ายกฎหมาย สปช. สศช. และที่ปรึกษาต่างๆ เมื่อเสนอชื่อขึ้นมาตนก็จะพิจารณาดู ทั้งหมดก็คือ 20 บวก 1 ประธาน
เมื่อถามว่า หากนายมีชัย ไม่รับ จะมีการทาบทามนายอานันท์ ปันยารชุณ อดีตนายกรัญมนตรีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปพูดว่ารับหรือไม่รับเลย เพราะเดี๋ยวบ่ายวันเดียวกันนี้ก็รู้
เมื่อถามว่า ในส่วนประธาน สปท.ได้รายชื่อแล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของประธานสปท. นั้นเมื่อมีการแต่งตั้งเข้ามาแล้วเขาก็จะเลือกในส่วนตัวประธานกันเอง ซึ่ง สปท.มีหน้าที่ในการปฏิรูปเป็นคนละเรื่องกับการร่างรัฐธรรมนูญ และต้องจำว่าการขับเคลื่อนในครั้งนี้เป็นการทำต่อจากครั้งที่แล้ว ซึ่งก็ต้องเอาข้อมูลเก่าทั้งหมดคือ 36 ประเด็น 7 วาระพัฒนา มาเรียบเรียงใหม่ดูว่า สิ่งไหนเหมาะที่จะทำ สิ่งไหนที่ยังไม่เหมาะหรือสิ่งไหนที่จะต้องเพิ่มเติมและทั้งหมดก็จะแบ่งเป็น ระยะ1-2-3 โดยระยะที่ 1 ตนจะเป็นคนเอามาทำ ระยะ 2 รัฐบาลหน้าเป็นผู้ทำ ถ้าไม่เสร็จคือระยะที่ 3 ต้องไปทำต่อ ปัญหาวันนี้อยู่ที่ว่าใครจะเป็นคนทำ หากรัฐบาลหน้าเขาไม่ทำ จะทำอย่างไร เรื่องการปฏิรูปทั้งหมดมีเป็นร้อยเรื่องก็ต้องถามว่าทุกคนอยากปฏิรูปกันหรือ ไม่ หรือจะปล่อยไว้แบบเดิม
"ทำไมเป็นห่วงเรื่องเผด็จการกับผมนักหนา ทำไมไม่ไปห่วงเรื่องของรัฐสภา และอีกหลายอย่าง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล. อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของ สปท.มีจากหลายภาคส่วน มีการส่งชื่อเข้ามาแล้ว มีจากทุกพรรคการเมือง ซึ่งเขาเข้ามาเพื่อการปฏิรูป ซึ่งรัฐบาลมองว่าวันข้างหน้าที่จะทำให้ประเทศสงบนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งก็ต้องเอาปัญหาเดิมมาดู ซึ่งก็ มี 1.เรื่องการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะใช้เวลา เท่าไหร่ 5-10 ปี หรือไม่ตนไม่รู้ เพราะตนไม่ได้อยู่นานขนาดนั้นอยู่แล้ว 2.เรื่องการปรองดองซึ่งทุกคนอยากให้มีการปรองดอง แต่วันนี้ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเรื่องราวทั้งหมดยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม คดีต่างๆ ยังไม่ได้มีการตัดสินเลย ถ้าตัดสินแล้วจึงจะมาพูดได้ว่าเราจะปรองดองกันอย่างไร แล้วถึงจะไปพูดถึงเรื่องการออกกฎหมายต่างๆ และ 3.ทำอย่างไรจะไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก ต้องไม่มีการเดินขบวนจนเต็มถนน วันนี้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชนประกาศใช้แล้ว ใครที่มาชุมนุมโดยไม่ขออนุญาตถือว่ามีความผิดแล้ว วันนี้มีการบันทึกไว้แล้วทั้งหมด อยู่ที่จะดำเนินการเมื่อไหร่เท่านั้น วันข้างหน้าก็จะถูกเรียกมาเหมือนหลายๆ คดี เข่น การปิดสนามบินที่ผ่านมา ก็ขอให้ระมัดระวังด้วย โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาต่างๆ ตนไม่อยากให้มีคดีติดตัว เพราะมันจะกระทบทั้งชีวิต
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ทุกประเทศอยากมาเที่ยวประเทศไทย แต่ทำไมคนไทยถึงเอาความเป็นไทยมาก่อให้เกิดความขัดแย้ง การเมืองคือการเมือง เมื่อเลือกตั้งเข้ามา ท่านก็เข้ามาเป็นรัฐบาล ถ้าทำดีก็ไม่มีเรื่อง สำหรับประชาชนเองถ้าอยากได้อะไรก็ให้ขอมาตามปกติ ตามกฎหมาย ในระบอบประชาธิปไตย แต่จะมาก่อให้เกิดความรุนแรงไม่ได้ แต่วันนี้มีคนพยายามจะใช้ความรุนแรงแต่ตนไม่ยอม เพราะที่ไปชวนกันมาแล้วยังต้องติดคุกตลอดชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้ มีพวกไหนแล้วยังต้องปรองดองกันอีกหรือไม่ ติดคุกอย่างนี้น่าสงสารหรือไม่ มีใครไปดูแลบ้างไปชวนเขาเข้ามาจนต้องถูกติดคุกตลอดชีวิตในคดีเผาศาลากลางไม่ มีใครไปดูแล ส่วนไอ้พวกที่ไปปลุกระดมเขาเข้ามา ไม่เห็นมีใครติดคุกสักคน เพราะฉะนั้นอย่ามาพูดส่งเดช
เมื่อถามว่า จะมีวิธีการปรองดองอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ผมก็พูดอยู่นี่ไง การปรองดองต้องไปอยู่ข้างหน้า จะต้องมีรัฐบาลเลือกตั้งเข้ามา แล้วก็มีคณะทำงานเรื่องปรองดอง เขาถึงได้มีแนวคิดเรื่อง คปป.ขึ้นมา ที่ทำหน้าที่ 3 เรื่องคือการปฏิรูป ลดความขัดแย้งใหม่ โดยมีกระบวนการในการแก้ปัญหาไม่ใช่พอมีปัญหาแล้วต้องมีการปฏิวัติขึ้นมาอีก สุดท้ายคือเรื่องการปรองดอง ซึ่งกฎหมายยังไม่ได้ตัดสินอะไรออกมา วันนี้ยังตัดสินไม่ครบ ในทุกๆ คดี ถ้าตัดสินได้ครบเมื่อไหร่ก็ค่อยมาพิจารณาและพูดถึงการลดโทษหรือนิรโทษแต่ไม่ ใช่อยู่ดีๆ แล้วจะให้มายกโทษ เพราะมีคนได้รับบาดเจ็บเสียหาย
เมื่อถามว่า จะมีโอกาสนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ติดคุกหรือไม่ เพราะหัวใจหลักของการปรองดองคือการนิรโทษกรรม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ก็ต้องเป็นเรื่องกฎหมายก่อน ต้องถามว่าทำผิดกฎหมายหรือเปล่า คดีอีกเกือบ 2 หมื่นคดีตั้งแต่ปี 2553 จะต้องยกโทษให้ทั้งหมดหรือเปล่า มันเป็นคนละเรื่อง ต้องแยกเรื่องออกมา หากเป็นคดีอาญาก็ต้องเป็นอาญา ส่วนจะปรองดองหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของกระบวนการ ถามว่าใครจะเป็นคนทำ รัฐบาลใหม่จะทำหรือไม่ อยากให้ไปถามคนที่กำลังพูดอยู่ขณะนี้ว่า อยากจะให้ปรองดองอย่างไร แล้วฝากถามด้วยว่าจะปฏิรูปประเทศกันอย่างไร และหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเหมือนครั้งที่ผ่านมา มีการใช้อาวุธสงคราม มีการใช้ระเบิด มีการประท้วงทั้งกรุงเทพ จะแก้ปัญหากันอย่างไร ถ้าไม่มีอำนาจเต็ม ถ้าตอบได้แล้วถึงค่อยมาถามและบอกผมว่าไม่ควรมี คปป. วันนี้อย่าเพิ่งมาถามผม"

ศูนย์ไซเบอร์กองทัพ เชื่อป้องกันเว็บกองทัพบกได้ ด้าน ปอท. ชี้ F5 ถล่มเว็บ คุก 5 ปี


ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร มั่นใจป้องกันเว็บกองทัพบกได้ มีเครื่องมือด้านเทคนิค และเจ้าหน้าที่ดูแลทุกวัน ด้าน ปอท. ชี้ใครก่อกวนเว็บไชต์หน่วยงานราชการ ผิด พ.ร.บ. คอมฯ
2 ต.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพ กล่าวถึงมาตรการการป้องกันเว็บไซต์ของกองทัพบก ภายหลังกลุ่มผู้คัดค้านโครงการซิงเกิล เกตเวย์รุมถล่มเว็บกระทรวงไอซีทีและหน่วยงานของรัฐบาลหลายเว็บไซต์ว่า เบื้องต้นได้รายงานให้ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ได้รับทราบแล้ว แต่ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพราะเชื่อมั่นว่ากองทัพบกสามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ เพราะมีเครื่องมือด้านเทคนิคและจัดเจ้าหน้าที่ดูแล 7 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง
พล.ต.ฤทธีกล่าวว่า เว็บไซต์ส่วนราชการหลายหน่วยงานที่ถูกโจมตีนั้น ส่วนใหญ่จะโดน DDOS แบบ Volumetric Attack (การโจมตีแบบสร้างช่องทางพร้อมกันในจำนวนมหาศาล) และ fragmentation (การกระจายตัวออกไปในวงกว้าง) ผลจากสืบสวนสอบสวนทั้งนี้ Volumetric Attack เป็นการโจมตีประเภทหนึ่งของ DDOS การโจมตีประเภทนี้จะสร้างการเดินทางจำนวนมหาศาล ส่วนแนวทางการป้องกันการโจมตีแบบนี้คือ Anycast (ระบบการจัดการคำร้องขอข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์) ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับที่ใช้การทำ CDN (content delivery network ระบบเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยศูนย์ข้อมูลจำนวนมากที่เชื่อมต่อด้วยอินเตอร์เน็ต) ทำให้สามารถป้องกันการโจมตีได้
ปอท. ชี้ก่อกวนเว็บหน่วยงานราชการ ผิด พ.ร.บ. คอมฯ คุก 5 ปี  
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ รักษาราชการแทนที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านสืบสวนทางเทคโนโลยีและนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. กำลังตรวจสอบความเสียหาย เพื่อดำเนินการเอาผิดผู้ที่เข้ามาก่อกวนเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการทั้งหมด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 10 รบกวน ขัดขวาง ระบบคอมพิวเตอร์ โทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 13 การจำหน่าย / เผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อใช้กระทำความผิด โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อการทำงานของภาครัฐ

พลเมืองต้าน Single Gateway ประกาศยุติกิจกรรม "F5" พาชมหน่วยงานราชการไทย


กลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gateway ประกาศยุติกิจกรรม " F5 " พาชมหน่วยงานราชการไทย ระบุสองวันที่ผ่านมาเสียงกระซิบของประชาชนไปยังรัฐบาลไทย ว่า ปชช.รู้สึกอย่างไรกับนโยบายนี้ เผยเตรียมผุดมาตรการต่อไป
1 ต.ค.2558 เมื่อเวลา 23.25 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘พลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall’ โพสต์ประกาศว่า จากนี้ไป อีกประมาณ ครึ่งชั่วโมง ในเวลา 24.00 น. ทางกลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall ขอประกาศยุติกิจกรรม " F5 " พาชมหน่วยงานราชการไทย ไว้เพียงเท่านี้
พร้อมระบุว่า ในสองวันที่ผ่านมานี้ ทางกลุ่มฯ ถือว่า กิจกรรมทั้งหมด เป็นส่งสารคำเตือน หรือเสียงกระซิบของประชาชนไปยังรัฐบาลไทย ในประเด็น นโยบาย Single Gateway ว่า ประชาชนนับแสนคน ที่เข้าร่วมกิจกรรมใน ยี่สิบกว่าชั่วโมงที่ผ่านมา รู้สึกอย่างไรกับนโยบายนี้ เป็นการแสดงการไม่ยอมรับนโยบาย Single Gateway อย่างเป็นทางการ และทางกลุ่มฯ จะรอดูท่าทีและคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการต่อไป
อนึ่งในวันที่ 2 ตุลาคม 58 เวลา 20.00 น. ทางกลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gatewy จะมีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ถึงมาตรการต่อไปอีกครั้ง หลังจากประเมินท่าทีของทุกฝ่าย รวมถึงคำตอบจาก รัฐบาลในเรื่องนี้
ทางกลุ่มฯ ขอแจ้งให้ทุกฝ่ายทราบว่า ทางกลุ่มฯได้มีการประเมินผลได้ ผลเสียจากกิจกรรมต่างๆ มีอาจมีขึ้นต่อทุกฝ่ายอย่างรอบคอบชัดเจนแล้ว รวมทั้งได้ประเมินในทุกระดับด้วย พวกเราไม่ได้ทำด้วยความคึกคะนองใดๆ พวกเราเข้าใจดีในประเด็นที่ละเอียดอ่อนดังกล่าว แต่หากภาครัฐยังไม่จริงใจและยังคงเดินหน้าเข้าสู่ โหมดการสร้างรัฐเกาหลีเหนือ ในประเทศนี้ต่อไป ซึ่งจะส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อคนไทยทุกคน รวมถึงลูกหลานของพวกเราทุกกคนในอนาคต
ประกาศระบุด้วยว่า ทางกลุ่มฯ จะยกระดับมาตรการของกิจกรรมฯ โดยร้องขอให้ประชาชนร่วมกัน ทำให้ "เสียงกระซิบเบาๆของประชาชน" ที่ไม่มีใครได้ยินนี้ ดังยิ่งขึ้น โดยขอให้ประชาชนช่วยกันร้องขอให้ดังมากยิ่งขึ้น จนเป็นเสียงตะโกน ให้กึกก้อง ว่า "ประชาชนชาวไทยไม่ต้องการ Single Gateway"
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าเพจนี้ ตั้งขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันที่ 30 ก.ย.58 ซึ่งหลังเหตุการณ์เว็บไซต์ราชการหลายเว็บไซต์ล่มเมื่อช่วงค่ำวันที่ 30 ก.ย.58 ล่าสุดเพจนี้มีผู้กดถูกใจประมาณ 5,500 ถูกใจ

เปิดจม.เหรียญทอง-พุทธอิสระจี้สหรัฐคุ้มครอง‘สิทธิมนุษยชนส่วนพระองค์’–ปลดสุณัย ผาสุก


วานนี้ (1 ต.ค.2558) เวลา 13.00 น. นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และผู้ก่อตั้งเครือข่ายผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ในนาม องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน และพระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือพระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม พร้อมผู้ชุมนุมราว 60 คน เดินทางไปที่สถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือประท้วงการทำงานของ Human Right Watch และให้ปลดสุณัย ผาสุก (รายละเอียดหนังสือ 2 ฉบับอ่านด้านล่าง) 
เพจiLaw ระบุว่า หลังจากยื่นหนังสือมีการรวมตัวกันที่สวนลุมฯ เพื่อทำกิจกรรมต่อ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 20 - 25 คน มายืนสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ บริเวณทางเข้าสวนลุม แต่จากการสังเกตไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเดินเข้าไปสังเกตการณ์ถึงที่ชุมนุมหรือถ่ายภาพผู้ร่วมกิจกรรมดังเช่นการชุมนุมของกลุ่มอื่นๆ โดยหลังแถลงข่าวเสร็จผู้ชุมนุมร่วมกันร้องเพลง สดุดีมหาราชา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นพ.เหรียญทองเริ่มต้นเชิญชวนประชาชนให้ชุมนุมหน้าสถานทูตอเมริกาผ่านเฟซบุ๊กในวันที่ 29 ก.ย. 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ข้อเรียกร้องทั้งสองประเด็นนี้เกิดขึ้นเนื่องจากก่อนหน้าที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไม่กี่วัน นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการเรียกร้องที่ประชุมกดดันพล.อ.ประยุทธ์ให้ยุติการละเมิดสิทธิและคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนโดยเร็วที่สุด และฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ระบุถึงประเด็นต่างๆ หลายเรื่อง รวมถึงการเสนอแนะแนวทางต่อประเทศไทย เช่น ขอให้ยกเลิกใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ในส่วนของมาตรา 112 และ 116 ของประมวลกฏหมายอาญานั้น ฮิวแมนไรท์วอทช์เสนอให้ยุติการใช้กฎหมายเหล่านี้ในทางละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างสันติ

ทนายเตรียมขอกรมคุ้มครองสิทธิยื่นประกัน 3 ผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลาง มุกดาหาร


จากการที่ศาลจังหวัดมุกดาหารได้อ่านคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ในคดีเผาศาลากลางจังหวัดในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง 19 พฤษภาคม 2553 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 เวลา 11.00 น.โดยมีคำสั่งให้ลดโทษจำคุกลง 1 ใน 4 คงเหลือจำคุกคนละ 15 ปี จากที่ ศาลชั้นต้นสั่งจำคุกจำเลยทั้ง 13 คนๆละ 20 ปี
ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลดโทษสำหรับจำเลยทั้ง 12 คนลง โดยให้ความเห็นว่าจำเลยได้ให้การนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา โดยยอมรับว่าอยู่ในเหตุการณ์จริงตามที่ปรากฎในภาพหลักฐาน แม้ว่าจะให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำการเผาสถานที่ราชการตามข้อกล่าวหาของโจทก์

นายอานนท์ นำภา ทนายความ ได้ทำการกำลังติดต่อกรมคุ้มครองสิทธิ์ เพื่อขอเงินกองทุนคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรมมาเพื่อประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป

ในวันพิพากษา ได้มีจำเลยมาฟังคำพิพากษา ได้แก่ นายวิชัย อุสุพันธ์ นายสมัคร ลุนรีลา และนายณัฐวุฒิ พิกุลศรี เพียงแค่ 3 คน สำหรับนายประคอง ทองน้อย 1 ใน 13 ผู็ต้องหาในชั้นอุทธรณ์ได้เสียชีวิตไปในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี สำหรับ นายดวง คนยืน นายทวีศักดิ์ แข็งแรง นายณัฐวุฒิ พิกุลศรี นายไมตรี พันธ์คูน นายวิชิต อินตะ นายพนม กันนอก นายวินัย ปิ่นศิลปชัย  นายแก่น หนองพุดสา นายทินวัฒน์ เมืองโคตร รวม  9 คน ไม่ได้มาฟังคำพิพากษาตามหมายศาล

เหตุการณ์การเผาศาลากลาง จ.มุกดาหารได้เกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 หลังจากที่ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทิอกสุบรรณ พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.บริเวณแยกราชประสงค์ ทำให้คนเสื้อแดงในภูมิภาคเกิดความโกรธแค้น และได้ทำการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีการเผาศาลากลาง และสถานที่ราชการในภาคอีสานถึง 4 แห่ง ได้แก่ที่จังหวัด อุบล,อุดร,ขอนแก่่นและมุกดาหาร

ในกรณีการเผ่าสถานที่ราชการ จ.มุกดาหาร โดยเบื้องต้นได้มีการจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด 29 คน เป็นชาย 28 คน หญิง 1 คน ต่อเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2554 ศาลชั้นต้นจึงได้ตัดสินให้เอาผิดจำเลยเพียง 13 คน อีก 16 ผู้ต้องขัง อัยการ(โจทก์)ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ คดีจึงถือว่าสิ้นสุด โดย 13 ผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษหลักสี่ หลังถูกขังมาเป็นเวลาเกือบปี

ศาลชั้นต้น จังหวักมุกดาหารได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2554โดยพิจารณาจากภาพถ่ายทำให้ศาลเชื่อว่าจำเลยช่วยกันขนยางเข้าไปและมีการวางแผนและแบ่งหน้าที่กันจึงให้จำคุกจำเลยจำนวน 13 คนๆละ 20 ปี ส่วนที่เหลืออีก 16 คนให้ยกฟ้อง

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555  ศาลจังหวัดมุกดาหารจึงได้มีคำสั่งให้ประกันตัวจำเลยคดีเผาศาลากลาง จ.มุกดาหาร ทั้ง 13 ราย  ตามคำร้องของสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ในการร้องขอให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ได้ใช้งบประมาณจากกองทุนยุติธรรมจำนวน 26 ล้านบาทเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวโดยเฉลี่ยตกรายละ สองล้านบาท

ประธานคณะกรรมการบริหาร 'ทรู' ค้าน ซิงเกิล เกตเวย์ ชี้ละเมิดสิทธิ


ศุภชัย เจียรวนนท์ ค้านซิงเกิล เกตเวย์ ชี้ละเมิดสิทธิการเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ กระทบการประกอบธุรกิจ หากปิดกั้นทุกช่องทาง หลายฝ่ายจะออกมาต่อต้าน
2 ต.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จุดยืนของสมาคมคือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ดำเนินโครงการซิงเกิล เกตเวย์ เนื่องจากโครงการดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิการเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต โครงการดังกล่าวจะต้องมาศึกษารายละเอียดก่อนว่าจะมีระดับในการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ มากน้อยเพียงใด โดยหากเป็นแบบประเทศจีนที่ปิดกั้นทุกช่องทาง จะมีหลายฝ่ายออกมาต่อต้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยไม่มีอำนาจเหมือนจีน

"ซิงเกิล เกตเวย์ ถ้าเป็นในเรื่องของความมั่นคง สิ่งที่จะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศก็คงต้องหาวิธีทางอื่นๆ ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นซิงเกิล เกตเวย์ เพราะจะต้องดูในเรื่องของความเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการประกอบธุรกิจ หรือบุคคล ทางสมาคมจะมีการหารือกับสมาชิกและประกาศจุดยืนต่อไป" ศุภชัยกล่าว