วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ตาย (ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน) แล้วไปไหน


9 พ.ย. 2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Matra Law’ โพสต์เมื่อเวลา 20.21 น. ระบุว่า โดยปกติเมื่อปรากฎแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีบุคคลตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานที่ไม่ใช่การตายโดยประหารชีวิตตามกฎหมาย จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพโดยแพทย์ร่วมกับพนักงานสอบสวนแล้วทำบันทึกรายละเอียดการชันสูตรพลิกศพเพื่อรายงานสภาพศพและแสดงสาเหตุการตายเท่าที่จะทำได้
ในทางตรงกันข้าม หากไม่ใช่กรณีที่บุคคลนั้นตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานก็ไม่จำเป็นต้องชันสูตรพลิกศพแต่อย่างใด โดยระบุถึง มาตรา 148, 150 และ 152 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน iLaw โพสตผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจด้วยว่า จากการศึกษาข้อกฎหมาย พบว่า การเสียชีวิตของบุคคลที่อยู่ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ จะต้องมีการชันสูตร และไต่สวนการตายในทุกกรณี โดยศาลจะเป็นผู้สั่งว่าผู้ตาย เสียชีวิตด้วยสาเหตุใด
เพราะหากเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตาย จะได้มีการดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป เช่นคดีอากง sms ที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก็มีการไต่สวนการตาย
ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา : 
มาตรา 148 เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใด ตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของ เจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพเว้นแต่ตายโดยการประหาร ชีวิตตามกฎหมาย
การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ
(1) ฆ่าตัวตาย
(2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
(3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
(4) ตายโดยอุบัติเหตุ
(5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
มาตรา 150 ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงาน สอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตร หรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทำการชันสูตรพลิกศพ โดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติ หน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ ประจำโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจำ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวง สาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ให้แพทย์ ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ให้พนักงาน สอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตร พลิกศพทันที และให้แพทย์ดังกล่าวทำรายงานแนบท้ายบันทึกราย ละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับ แจ้งเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสอง ครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็น ในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ รายงาน ดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนชันสูตรพลิกศพ และในกรณีที่ ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวน ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้นการ ชันสูตรพลิกศพโดยเร็วและให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไปตาม มาตรา 156
ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนแจ้งแก่ผู้มีหน้าที่ไปทำการ ชันสูตรพลิกศพทราบ และก่อนการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบ สวนแจ้งให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบเท่าที่จะทำได้
ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความ ควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้ พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัด อำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิก ศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ตามวรรคหนึ่ง และให้นำ บทบัญญัติในวรรคสองมาใช้บังคับ
เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการ เข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวันแต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้ง ไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำ คำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่ สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึง เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็น ผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ สำนวน ถ้ามีความจำเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสอง ครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็น ในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง วรรคสาม วรรคสี่ และ วรรคห้า ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการ
ในการไต่สวนตามวรรคห้า ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่ จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาล และให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรมผู้อนุบาล หรือญาติของ ผู้ตายตามลำดับอย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่จะทำได้ทราบก่อนวันนัด ไต่สวนไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและให้พนักงานอัยการนำพยานหลักฐาน ทั้งปวงที่แสดงถึงการตายมาสืบ
เมื่อศาลได้ปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนแล้ว และก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิยื่น คำร้องต่อศาลขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบ และ นำสืบพยานหลักฐานอื่นได้ด้วย เพื่อการนี้ สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิ แต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนได้ หากไม่มีทนายความที่ได้รับ การแต่งตั้งจากบุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ให้ศาลตั้งทนายความขึ้น เพื่อทำหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย
เมื่อศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะ เรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติม หรือเรียกพยานหลักฐานอื่น มาสืบก็ได้และศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความ เห็นเพื่อประกอบการไต่สวนและทำคำสั่ง แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิของผู้ นำสืบพยานหลักฐานตามวรรคแปดที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือ ผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว
คำสั่งของศาลตาม มาตรานี้ ให้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึง สิทธิฟ้องร้องและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงาน อัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้อง หรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น
เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยัง พนักงานอัยการเพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป
แพทย์ตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานผู้ได้ทำการชันสูตรพลิกศพ และผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นตาม มาตรานี้ มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พัก ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความ เห็นชอบของกระทรวงการคลัง ส่วนทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรนี้ มีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับทนายความที่ศาลตั้ง ตาม มาตรา 173
มาตรา 150ทวิ ผู้ใดกระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อม ในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่า จะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป เว้นแต่ จำเป็นต้องกระทำเพื่อป้องกันอันตรายแก่อนามัยของประชาชนหรือ เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำโดยทุจริต หรือเพื่ออำพรางคดีผู้กระทำ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษ ที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 152 ให้แพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลปฏิบัติดั่งนี้
(1) ทำรายงานถึงสภาพของศพ หรือส่วนของศพ ตามที่พบเห็น
หรือตามที่ปรากฏจากการตรวจพร้อมทั้งความเห็นในเรื่องนั้น
(2) แสดงเหตุที่ตายเท่าที่จะทำได้
(3) ลงวันเดือนปีและลายมือชื่อในรายงาน แล้วจัดการส่งไปยัง เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ

มีชัย ‘ปลาบปลื้มใจ’ หลัง 'พุทธะอิสระ' บุกสภาฯ ขอ 'ปฏิรูปวงการพุทธศาสนา'


เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม พร้อมด้วยมวลชนกว่า 50 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือ เรียกร้องให้ผลักดันการปฏิรูปวงการคณะสงฆ์และกิจการพระพุทธศาสนา ต่อ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
โดย พระสุวิทย์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)’ เวลา 17.38 น. ถึงข้อเรียกร้องที่ยื่นซึ่งสรุปได้ 4 ประเด็น คือ
  • 1. ขอให้มีการปฏิรูปคณะสงฆ์กิจการรพระพุทธศาสนาและเสนอร่าง พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ฉบับปฏิรูป
  • 2. ขอให้คงร่างสมัชชาพลเมืองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบแก่ข้าราชการนักการเมืองในภาคท้องถิ่นและระดับชาติ
  • 3. ขอให้คงร่างสมัชชาคุณธรรมเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดมาตรฐานในการตรวจสอบทางจริยธรรมของข้าราชการนักการเมืองและบุคคลทุกภาคส่วนของสังคม
  • 4. เรียกร้องให้พิจารณากลั่นกรองผู้ที่จะถูกเสนอชื่อ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ว่าไม่ควรเป็นบุคคลที่มีมลทินในพระธรรมวินัย จักเป็นการระคายเคืองเบื้องยุคลบาท

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า พระพุทธะอิสระ กล่าวว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถลงโทษแก่ผู้ละเมิดพระธรรมวินัยให้สาสมกับความเสียหาย ที่ผู้ละเมิดได้กระทำต่อศาสนา การที่สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ก็มีผู้นำเอาพระวินัยมาแสวงหาผลประโยชน์ ไม่เว้นแม้แต่กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะองค์คณะปกครองสูงสุดของสงฆ์ เห็นได้จากกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีวินิจฉัย พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก ข้อหายักยอกเงินวัด แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการก็มีการวิ่งเต้นจนอัยการสั่งไม่ฟ้อง มหาเถรสมาคมก็ช่วยเหลือกลบเกลื่อนความผิด
ขณะที่ นายมีชัย กล่าวว่า ขอบคุณที่หลวงปู่มีความกรุณาห่วงใย ตนรู้สึกปลาบปลื้มใจที่พระคุณเจ้าอยากให้มีการปฏิรูปพุทธศาสนาของประเทศไทย โดยประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปพุทธศาสนานี้ กรธ.ก็ตระหนักเช่นกันว่า ศาสนาพุทธกำลังตกอยู่ในอันตราย จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดหน้าที่เพื่อแก้ปัญหา เบื้องต้น กรธ.ได้ร่างเนื้อหารัฐธรรมนูญไว้แล้วว่า จะกำหนดให้ฝ่ายฆราวาสเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้การปฏิรูปแก้ปัญหามีความหนักแน่น ส่วนประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรม คุณธรรม กรธ.มองว่า ทุกภาคส่วนในสังคมต้องมาเป็นเจ้าภาพร่วมกันกำหนดคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งต้องมีข้อบังคับว่า ทุกองคาพยพต้องอยู่ภายใต้คุณธรรมและจริยธรรม ที่ร่วมกันกำหนดขึ้นมา หากใครฝ่าฝืนจะต้องมีโทษ กำหนดให้ไม่สามารถกลับมาได้อีกตลอดชีวิต เช่นเดียวกับการทุจริต การซื้อสิทธิ์ขายเสียงการเลือกตั้ง ที่กรธ.กำหนดให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต ทั้งหมดนี้คือ 3 ประเด็นที่กรธ.สามารถคิดออกในตอนนี้
นายมีชัย กล่าวต่อว่า ประเด็นการปฏิรูปเป็นทั้งเรื่องของรัฐธรรมนูญ และเรื่องของกฎหมายทั่วไป ตนพอมีความรู้เรื่องกฎหมายอยู่บ้าง ก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาหลวงปู่ หากมีประเด็นปฏิรูปที่เกี่ยวกับกฎหมาย ก่อนจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รับผิดชอบหน้าที่นี้อยู่ดำเนินการต่อไป

สมาคมนักกม.สิทธิ เรียกร้องไต่สวนการตาย 'หมอหยอง'-ตั้งกก.สอบมาตรฐาน รพ.ราชทัณฑ์


9 พ.ย. 2558 กรณีการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง โดยกรมราชทัณฑ์แถลงว่า สันนิษฐานว่า ระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีแต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระเพื่อสอบสวนมาตรฐานการรักษาพยาบาลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และดำเนินกระบวนการไต่สวนการตายของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างเคร่งครัด ทันที
รายละเอียดมีดังนี้

แถลงการณ์ขอให้มีการไต่สวนกรณีการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์
ตามที่กรมราชทัณฑ์แถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ว่านายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ผู้ต้องขังความคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งอยู่ระหว่างฝากขังผลัดที่ 2 ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2558 สันนิษฐานว่า ระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตและระบุว่าการเสียชีวิตครั้งนี้เป็นการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุม เจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ ต้องแจ้งให้พนักงานสอบสวน แพทย์ พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครอง รวม 4 ฝ่าย มาชันสูตรพลิกศพ ซึ่งในกรณีนี้ได้แจ้งพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ซึ่งเป็นท้องที่ที่พบศพ และส่งศพให้สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ทำการตรวจพิสูจน์ศพเรียบร้อยแล้ว เรือนจำได้แจ้งญาติผู้เสียชีวิตให้มาขอรับศพเพื่อไปดำเนินการตามประเพณีต่อไป นั้น
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เห็นว่า การเสียชีวิตนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ถือเป็นการตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 กล่าวคือ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการต้องทำการชันสูตรพลิกศพ และพนักงานอัยการต้องทำคำร้องให้ศาลไต่สวนเพื่อให้ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ทำให้ตาย และในชั้นการชันสูตรพลิกศพได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ญาติทราบเท่าที่จะทำได้ก่อนมีการชันสูตร แต่ในการแถลงของกรมราชทัณฑ์ไม่ปรากฏว่ามีญาติร่วมในกระบวนการชันสูตร
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายนี้
จึงขอเรียกร้องให้
1. แต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระเพื่อสอบสวนมาตรฐานการรักษาพยาบาลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในการรักษาพยาบาลนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์
2. ดำเนินกระบวนการไต่สวนการตายของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างเคร่งครัด ทันที เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม หลักนิติธรรมและเพื่อให้สังคมได้มีความเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมจะอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกคนทุกฐานความผิดอย่างเสมอหน้ากัน
ด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

ยังไม่ยุบ ‘TCDC-TK Park’ ประยุทธ์เผยรอประเมินหากใช้เงินไม่ตรงเจตนารมณ์ต้องยุบทิ้ง



Tue, 2015-11-10 16:35


10 พ.ย. 2558 กรณีมีกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ยุบสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) (อ่านรายละเอียด) ล่าสุดวันนี้(10 พ.ย.58)มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ยืนยัน ยังไม่ได้สั่งยุบ OKMD TCDC อุทยานการเรียนรู้ ทีเค-ปาร์ค และมิวเซียมสยาม แต่ให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร.ประเมินผลงานและบุคลากร ภายใน 3-6 เดือน ว่าการใช้งบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่

ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ตรงกับวัตถุประสงค์และไม่ตรงตามเจตนารมณ์ ก็ต้องยุบทิ้ง เหมือนกับกองทุนต่างๆ ที่ได้ตรวจสอบก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการทบทวนเท่านั้น ดังนั้น ขอทุกฝ่ายอย่ากังวล โดยส่วนตัวเห็นว่ากองทุนทุกกองทุนมีประโยชน์ทั้งหมด และไม่อยากทำร้ายใคร แต่ขอให้ร่วมกันสร้างผลงานให้ตรงวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

ขออย่ามโน พล.อ.ไพบูลย์ ชี้ตายในคุกไม่ใช่เรื่องแปลก พร้อมเปิดมทบ.11 ให้สื่อพิสูจน์


10 พ.ย. 2558 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง ผู้ต้องหาคดี ม.112 ว่าได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบเรื่องดังกล่าวเป็นการส่วนตัวแล้ว แต่ไม่ได้หยิบยกมาหารือในที่ประชุม ครม.ในวันนี้ และในฐานะที่ตนรับผิดชอบในส่วนของกรมราชทัณฑ์ จึงได้สั่งให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เข้าดูแลตรวจสุขภาพผู้ต้องหาคดี ม.112 ที่เหลืออีก 1 คน คือนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ หรืออาร์ท คนสนิทของหมอหยอง
รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าการเสียชีวิตของผู้ต้องขังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะกรมราชทัณฑ์ต้องดูแลผู้ต้องหาทั่วประเทศกว่า 300,000-400,000 ราย ย่อมต้องมีคนที่ฆ่าตัวตายและเจ็บป่วยล้มตายบ้าง ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติ ที่ผ่านมาทั่วประเทศก็มีผู้เสียชีวิตในเรือนจำหลายกรณี แต่ไม่ตกเป็นข่าวเท่านั้น ขอให้สื่อมวลชนรอฟังข้อชี้แจงจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯด้านความมั่นคงและรมว.กลาโหม และ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. อย่างเป็นทางการ วอนอย่าเสนอข่าวตามกระแสโซเซียล เพราะอาจทำให้ผู้ถูกพาดพิงได้รับความเสียหาย
กรณีที่มีการเรียกร้องให้มีการปิดเรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครไชยศรี ภายในมทบ. 11 ภายหลังมีผู้ต้องขังคดีความผิดมาตรา 112 เสียชีวิตขณะถูกคุมขังในเรือนจำ 2 ราย ดังกล่าว พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า อนุมัติให้เปิดเรือนจำชั่วคราวตามคำร้องขอของหน่วยงานความมั่นคงและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรือนจำดังกล่าวคุมขังผู้ต้องขัง 2 คดี คือคดีระเบิดราชประสงค์ และคดีความผิดมาตรา 112
โดยทั้งหมดเป็นคดีที่อยู่ในความผิดชอบของตำรวจ ยืนยันว่าเรือนจำชั่วคราวไม่ใช่เรือนจำทหาร เป็นเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ มีระเบียบการดูแลในเรือนจำดังกล่าวเหมือนเรือนจำอื่น เปิดใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการเบิกตัวและการประสานงานต่างๆให้มีความรวดเร็วขึ้น เพราะมีผู้ต้องขังจำนวนน้อย
"ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเรือนจำทหารนั้น ขอชี้แจงอีกครั้งว่าเรือนจำเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ไม่เกี่ยวกับกองทัพหรือตำรวจ สำหรับข้อเสนอให้มีการเปิดเรือนจำให้สื่อเข้าไปตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่เพื่อตอบข้อสงสัยในประเด็นการคุมขังนั้น ถือเป็นแนวคิดที่ดีแต่ต้องสอบถามอธิบดีกรมราชทัณฑ์ถึงความเหมาะสม และระเบียบขั้นตอนว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ โดยล่าสุดได้สั่งการให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้เข้มงวดกับการตรวจสอบสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ต้องขังจะได้ไม่มีข้อสงสัยเมื่อเกิดเหตุขึ้น" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณี ที่มีการออกมาแสดงความเห็นถึงการเสียชีวิตภายในเรือนจำชั่วคราวผ่านสื่อโซเชียลอย่างกว้างขวางว่า ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและหลักการต่างๆ ไปแล้ว ทุกฝ่ายดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย คดีดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 112 ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากนำเรื่องมาปะติดปะต่อเองก็เหมือนการมโนไปเอง ต้องใช้ความระมัดระวัง โดยเฉพาะกระบวนการนำเสนอข่าวก่อนที่จะมีความชัดเจน การเขียนข้อมูลในโลกออนไลน์ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่หากตนพูดออกไป ต้องเป็นคนรับผิดชอบ ดังนั้นควรให้เกียรติกับผู้ที่ถูกพาดพิงด้วย อย่าเร่งรัดผู้ที่ทำงาน เพราะต้องสอบสวนให้ชัดเจนก่อน ตำรวจจึงแถลงได้ชัดเจน หากไม่อยากให้เกิดความสับสนทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกัน และต้องระวังผู้ที่จะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์