วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

รมว.ศึกษาธิการระบุนักเรียนส่งกระดาษเปล่าคือเด็ก 1 ใน 10 ล้าน สื่อไม่ควรสร้างประเด็น


รองหัวหน้า คสช. ฝ่ายสังคมจิตวิทยา และ รมว.ศึกษาธิการ ระบุว่าไม่ได้คิดอะไรเรื่องนักเรียน ม.6 ส่งกระดาษคำตอบเปล่าวิชาหน้าที่พลเมือง ทั้งนี้นักเรียนคิดแบบนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก และเป็นเด็กคนเดียวในสิบล้านคน สื่อไม่ควรสร้างประเด็น ส่วนโรงเรียนต้องสั่งสอนให้เข้าใจอย่างถูกต้อง
23 ก.ค. 2558 - กรณีที่มีนักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ส่งข้อสอบเปล่าเพื่อประท้วงเชิงสัญลักษณ์ที่รัฐบาลบังคับให้เรียนวิชาหน้าที่พลเมืองนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) ในวันนี้ (23 ก.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. และ รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ ระบุว่าตัวเขาไม่ได้คิดอะไร เพราะถือเป็นเด็กคนเดียวในสิบกว่าล้านคน การที่เด็กจะคิดแบบนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สื่อไม่ควรนำเสนอให้เป็นประเด็น ทั้งนี้ ในฐานะหน้าที่พลเมือง โรงเรียนก็ต้องสั่งสอนให้เด็กเข้าใจให้ถูกต้อง คิดว่าโรงเรียนน่าจะทำความเข้าใจและครูต้องเข้าไปดูอยู่แล้ว
ส่วนกรณีการที่มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบนั้นเป็นเรื่องปกติ ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยของรัฐที่ออกนอกระบบไปแล้วเป็นจำนวนมาก เท่าที่สำรวจดูค่าใช้จ่ายที่เรียกจากเด็กก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ขอให้สังคมอย่าห่วงเรื่องค่าเทอมที่จะแพงขึ้นเพราะจะมีการดูแลและพิจารณาอย่างดีอยู่แล้ว อาทิเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่หลังจากออกนอกระบบก็ไม่ได้ทำให้ค่าเทอมแพงขึ้นแต่ประการใด
ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์มติชน กรอบบ่าย 23 ก.ค. 58 ได้ลงข้อความ ระบุว่าสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยไม่ระบุชื่อผู้บริหาร โดยระบุว่านักเรียนคนดังกล่าวมีอาการป่วย และพ่อแม่ได้พาไปรักษามา 2 ปีแล้ว และยังอยู่ในระหว่างการกินยา และข้อสอบวิชาพลเมืองไปกระตุ้นทำให้เด็กเกิดอาการหัวเสีย
ขณะที่นักเรียนชั้น ม.6 คนดังกล่าว ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว ส่วนครอบครัวก็เปิดกว้างทางความคิด การส่งกระดาษคำตอบเปล่าไม่ได้เกิดจากการหัวเสีย และคิด วิเคราะห์ และไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว

‘เจษฎา’ เซ็ง กม.พืชไร่จีเอ็มถูกถอนจาก สปช. ท้า ‘รสนา’ ดีเบตใครกันแน่ที่ทำลายโอกาสเกษตรกรไทย


23 ก.ค.2558 เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณ์สาธารณะ ‘Jessada Denduangboripant’ ระบุเซ็งมาก หลังร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... ถูกถอนออกจากการพิจารณาของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
โดย เจษฎา กล่าวด้วยว่า หลังจากตนกลับมาจากการอบรมดูงานที่อเมริกาเรื่องพืชไร่จีเอ็ม ก็ได้ไปเดินสายอธิบายให้องค์กรต่างๆ เช่น สปช. สนช. มหาวิทยาลัย เกษตรกร ฯลฯ เห็นความสำคัญและจำเป็นของการนำเอาเทคโนโลยีนี้มาช่วยการเกษตรของประเทศไทย ที่ล้าหลังลงไปทุกทีจนเพื่อนบ้านเราจะแซงกันไปหมดแล้ว
ทั้งนี้ พบว่า ยังมีคนจำนวนมากที่เข้าใจเรื่องนี้แบบผิดๆ ด้วยชุดข้อมูลเก่าๆ พร้อมท้า รสนา โตสิตระกูล สปช. มาดีเบตให้ประชาชนฟังกันดีกว่า ว่ารู้เรื่องจีเอ็มโอดีกว่าตนแค่ไหน และใครกันแน่ที่กำลังทำลายโอกาสของเกษตรกรของประเทศไทย

กลุ่มค้านถ่านหินกระบี่บุกทำเนียบ นายกยอมตั้งคณะทำงานพลังงานหมุนเวียน

23 ก.ค.2558 ข้างทำเนียบรัฐบาล กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ราว 300  คน รวมตัวกันเพื่อยื่นข้อเรียกร้องและรอฟังคำตอบจากตัวแทนรัฐบาล กรณีที่ต้องการให้ยุติการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน จ.กระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการศึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และ กฟผ.กำลังจะเปิดประมูลการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในวันที่ 5 สิงหาคมที่จะถึงนี้
กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นข้อเรียกร้อง ดังนี้
1. ยกเลิกรายงาน EIA EHIA
2. หยุดการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าและท่าเรือ
3.ให้ตั้งคณะทำงานพลังงานหมุนเวียนกระบี่
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์ องค์กรผู้บริโภค และอดีต ส.ว. สมุทรสงคราม กล่าวว่า นายกฯ อยู่กับข้าราชการมาทั้งชีวิต หากนายกฯ บอกให้ชาวบ้านเปลี่ยนอาชีพ อยากเสนอว่าให้นายกฯ เปลี่ยนอาชีพจากการเป็นทหารจะยอมรับหรือไม่ อย่างไรก็ตามบุญยืนระบุว่ามาให้กำลังใจทั้งนายกฯ และชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายวัลลภตังคณานุรัตน์ สมาชิก สนช. และที่ปรึกษานายกฯ และนายทหารติดตามนายกฯ ได้ออกมารับข้อเสนอในช่วงเช้าของวันนี้ และมีการแจ้งต่อผู้ชุมนุมว่าจะมีคำตอบในเวลาประมาณ 15.00น. แต่จนถึงเวลา 18.00 น. ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากนายกรัฐมนตรี
จากนั้นตัวแทนของผู้ชุมนุมได้นำผลมาแจ้งว่า นายทหารที่ปรึกษานายกฯ ได้คำตอบของนายกฯ มาแจ้งว่า นายกฯ มีบัญชาโดยรวมว่าให้ทำตามข้อเสนอตามข้อที่ 3 ของผู้ชุมนุม และที่ปรึกษานายกฯ ได้ขยายความว่าสืบเนื่องจากการดำเนินการในข้อ 3 ทำให้กระบวนการทั้งหมดตามข้อ 1 และ 2 จะต้องยุติไปด้วย อย่างไรก็ตาม ทางผู้ชุมนุมประกาศว่ายังไม่สามารถไว้วางใจได้ต้องการการยืนยันเป็นลายลักษณือักษร ที่ปรึกษานายกฯ จึงสรุปให้ประสาน สผ. กฟผ.และกระทรวงพลังงานมาประชุมร่วมกับตัวแทนผู้ชุมนุมเพื่อจัดทำข้อตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรในวันพรุ่งนี้ ที่ตึก กปร. ชั้น2  เวลา 9.00 น.  
จากนั้นผู้ชุมนุมจึงทยอยเดินทางกลับ โดยส่วนใหญ่จะกลับไปรวมพลที่จ.กระบี่ พร้อมตัวแทนหอการค้าและผู้ประกอบการการท่องเที่ยง เพื่อรอฟังผลการเจรจาอย่างเป็นทางการและเอกสารของตัวแทนที่เข้าเจรจากับหน่วยงานภาครัฐที่กรุงเทพฯ ในวันพรุ่งนี้ 

ศาลเชียงรายพิพากษาคดีติดป้ายแยกประเทศล้านนา ผิดม.116 จำคุก 3 ปี รอลงอาญา


22 ก.ค.58 ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษาคดีนายออด สุขตะโก และพวกรวม 3 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันติดป้ายที่มีข้อความว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา” บริเวณสะพานลอยหน้าห้างเซ็นทรัลพลาซ่าเชียงราย เมื่อวันที่ 26 ก.พ.57 ช่วงเดียวกับที่มีการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ที่กรุงเทพมหานคร
ในคดีนี้มีทั้งสารวัตรป้องกันปราบปรามสภ.เมืองเชียงรายและเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ โดยจำเลยทั้งสามได้แก่ นายออด สุขตะโก, นางถนอมศรี นามรัตน์ และนายสุขสยาม จอมธาร เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงในอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ถูกจับกุมในช่วงเดือนมิ.ย.57 ภายหลังการรัฐประหาร ก่อนได้รับการประกันตัว และให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา (ดูรายงานข่าวก่อนหน้านี้)
ศาลจังหวัดเชียงรายได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปให้ฟัง โดยพิจารณาในสามประเด็นหลัก ได้แก่ มีการติดป้ายข้อความตามฟ้องจริงหรือไม่ ศาลรับฟังจากพยานหลักฐานของโจทก์เห็นว่าได้มีการนำแผ่นป้ายไปติดที่สะพานลอยที่เกิดเหตุจริง โดยมีภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดที่ระบุวันเวลาไว้ และปรากฏภาพบุคคล 6 คนนำแผ่นป้ายไปติด
ศาลพิจารณาต่อว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนึ่งใน 6 บุคคลตามภาพหรือไม่ โดยเห็นว่าจากภาพของกล้องวงจรปิดที่พนักงานสอบสวนจัดทำเป็นภาพนิ่ง มีใบหน้าตรงกับจำเลยทั้งสาม ทั้งได้มีผู้ใหญ่บ้านของจำเลยมาเบิกความยืนยันภาพว่าเป็นจำเลยทั้งสามจริง
ในประเด็นสุดท้าย ศาลพิจารณาว่าข้อความตามป้ายมีความผิดตามมาตรา 116 หรือไม่ โดยศาลพิเคราะห์ว่าการนำสืบของจำเลยเจือสมกับโจทก์ เรื่องที่สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลาเกิดเหตุ มีความแตกแยกในหมู่ประชาชน มีการจัดตั้งกลุ่มการเมืองต่างๆ ป้ายข้อความดังกล่าวจึงอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้น
ข้ออ้างที่ว่าไม่มีความยุติธรรมต่อกลุ่มการเมืองของจำเลยทั้งสามเป็นการคิดเอาเองฝ่ายเดียว ถ้อยคำ “ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” มีความหมายว่าไม่ยอมรับการยกคำร้องของศาลอาญาในการขอออกหมายจับแกนนำกลุ่มกปปส.ในช่วงนั้น เป็นการปฏิเสธอำนาจของศาลอาญาที่มีกฎหมายให้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ไว้ มิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต จึงมีเจตนาทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
ศาลจึงพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามม.116 ให้จำคุกคนละ 4 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงให้ลดโทษ 1 ใน 4 เหลือจำคุก 3 ปี และจำเลยทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ เป็นระยะเวลา 5 ปี
ดูรายละเอียดคดี โดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ (ไอลอว์) http://freedom.ilaw.or.th/th/case/638

‘ไนซ์’ โต้ไม่ได้ป่วย หลังผู้บริหาร ร.ร. ให้ข่าวกล่าวหา ‘พ่อแม่ไม่ได้พาไปรักษามา 2 ปีแล้ว


หลังจากเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ณัฐนันท์ วรินทรเวช หรือ ‘ไนซ์’ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และอดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Nattanan Warintarawet’ ถึงการอารยะขัดขืนส่งกระดาษคำตอบเปล่าการการสอบวิชาหน้าที่พลเมือง โดยระบุว่าเป็นการส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา หัวหน้า คสช. เนื่องจากวิชาดังกล่าว เป็นวิชาที่รัฐบาลเผด็จการบังคับให้พวกเราเรียน ที่มีลักษณะยัดเยียดแนวคิดแบบเดียวและปฏิเสธการโต้แย้งแสดงความเห็นต่างตามวิถีประชาธิปไตย (อ่านรายละเอียด)
วันนี้ (22 ก.ค.58) Pipob Udomittipong ได้โพสต์ภาพข้อความ โดยระบุว่ามาจากมติชน กรอบบ่าย 23 ก.ค.58 ซึ่งข้อความการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารโรงเรียนเตรียมอุดมเกี่ยวกับ ณัฐนันท์ โดยกล่าวหาว่า มีอาการป่วย และพ่อแม่ได้พาไปรักษามา 2 ปีแล้ว และยังอยู่ในระหว่างการกินยา

 

ด้าน ณัฐนันท์ โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ ด้วยว่า
“ไม่ทราบว่าทางผู้บริหารโรงเรียนได้ชี้แจงตามนี้จริงๆหรือเปล่า แต่หากเป็นเรื่องจริง เราขอชี้แจงสั้นๆ นะคะ เราไม่ได้ป่วยมีอาการทางจิต หรือต้องรับการรักษาเป็นเวลา 2 ปีตามที่ในข้อความนี้ได้กล่าว ครอบครัวเรามีความสุขดีค่ะ พ่อแม่เราเปิดกว้างทางความคิด สอนให้เรารู้จักการวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่ก่อนเราจะรู้จักคำว่า critical thinking เสียอีก
การกระทำอารยะขัดขืนของเรา ไม่ได้เกิดจากการ"หัวเสีย" แต่เกิดจากการวิเคราะห์และไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว เพื่อที่จะแสดงออกถึงความคิดและมโนธรรมของตนเอง
หากผู้บริหารได้กล่าวไว้ตามนี้จริง เราถือว่าเป็นการกระทำที่น่าเกลียดมากๆและหากผู้บริหารคนนั้นไม่ได้กล่าวไว้ สื่อที่นำข้อความนี้มาเผยแพร่ก็ขาดจรรยาบรรณมาก”

นอกจากนี้ ณัฐนันท์ ยังโพสต์ในลักษณะเตรียมดำเนินคดีกับผู้บริหารโรงเรียนคนดังกล่าวด้วย

‘ก.พ.อ.’ ยืนตามมติ ‘มธ.’ ลงโทษ ‘สมศักดิ์’ ไล่ออกจากราชการ


เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ไทยโพสต์ รายงานว่า พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.)ได้มีหนังสือลงวันที่ 9 มิ.ย. 58 ถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องขอแจ้งผลการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
หนังสือระบุว่า ตามที่หนังสือที่อ้างถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ส่งเอกสารและพยานหลักฐานไปยังสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.)กรณีนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการตามคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 ลงวันที่ 23 ก.พ. 58 ต่อก.พ.อ.ตามมาตรา 62 แห่งพรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาพ.ศ.2547 นั้น
สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาขอเรียนว่า ก.พ.อ.ในการประชุมครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 58 ได้พิจารณาอุทธรณ์แล้วมีความเห็นดังนี้
1.นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ยื่นเรื่องขอลาไปปฏิบัติงานในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 57 ถึงวันที่ 31 ก.ค. 58 ต่อมาวันที่ 18 ธ.ค. 57หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ได้แจ้งให้นายสมศักดิ์ ทราบถึงการพิจารณาอนุมัติการลาดังกล่าวว่าการพิจารณาเป็นไปด้วยความล่าช้าและระยะเวลาได้ล่วงเลยไปถึง 6 เดือนแล้วยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากมหาวิทยาลัย และแจ้งให้นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กลับมาปฏิบัติราชการและรับมอบภาระงานสอน แต่นายสมศักดิ์ ไม่กลับมาปฏิบัติราชการตามที่ภาควิชาได้แจ้งดังกล่าว ต่อมาเมื่อคณะศิลปศาสตร์ได้มีบันทึกลงวันที่ 26 ธ.ค. 57 แจ้งให้นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กลับมาปฏิบัติราชการโดยด่วน นายสมศักดิ์ ก็ยังเพิกเฉยไม่กลับมาปฏิบัติราชการแต่อย่างใด ซึ่งในท้ายที่สุกชด มหาวิทยาลัยได้พิจารณาไม่อนุมัติการลาของนายสมศักดิ์ ดังกล่าว พฤติการณ์จึงถือเป็นการจงใจไม่ปฏฺบัติหน้าที่ราชการตามระเบียบแบบแผนของทางราชการในเรื่องการลาและการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยและทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินเดือนและสวัสดิการอื่นๆ ที่่มหาวิทยาลัยและคณะศิลปศาสตร์ได้จ่ายให้แก่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในระยะเวลาระหว่างนั้น เป็นความผิดวินัยร้ายแรง ตามมาตรา 39 วรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติระเบียบราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 57 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อ 55 (6) ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 ด้วย
2.ข้อกล่าวอ้างของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่อ้างว่าถูกข่มขู่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากคณะบุคคลซึ่งเข้าแย่งชิงอำนาจการปกครอง ทำให้ไม่สามารถไปปฏิบัติราชการตามปกติ การขอลาไปปฏิบัติงานในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการดังกล่าวจึงมีเหตุผลสมควรนั้น ไม่ปรากฎพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น อีกทั้ง การที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ขอให้ ก.พ.อ. ทบทวนการใช้ดุลพินิจโดยเห็นว่าการใช้ดุลพินิจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไล่ตนออกจากราชการนั้นไม่เหมาะสมนั้น เห็นว่า ด้วยมติคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 36 กำหนดให้การละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และไม่กลับมาปฏิบัติราชการอีกเลย เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงซึ่งควรลงโทษไล่ออกจากราชการ แม้จะมีเหตุอันควรปรานีอื่นใดก็ไม่เป็นเหตุลดหย่อนลงเป็นปลดออกจากราชการ ซึ่งส่วนราชการจะต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ตามมติคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 31
"ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลงโทษไล่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากราชการ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก.พ.อ. จึงมีมติยกอุทธรณ์ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" หนังสือก.พ.อ.ระบุ
โดยเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา สมศักดิ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Somsak Jeamteerasakul’ ระบุยื่นหนังสือต่อ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) เพื่ออุทธรณ์คำสั่งไล่ออกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อ่านรายละเอียด)
สำหรับ คำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่ 356/2558 เรื่อง ลงโทษสมศักดิ์ ไล่ออกจากราชการ โดย สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิบการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ลงนามนั้นออกเมื่อ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุเหตุผลเนื่องจากกระทำผิดข้อบังคับมหาวิทยาลัย (อ่านรายละเอียด)