วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


ทำไมไทยไม่เป็นภาคี ศาลอาญาระหว่างประเทศ ?

รายงาน: ตอบทุกประเด็น “ศาลอาญาระหว่างประเทศ” ทำไมไทยไม่เป็นภาคี?
Tue, 2012-05-15 02:52  (อ้างอิงจากเวบไซท์ ประชาไท)
วรางคณา อุ๊ยนอก รายงาน

             เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเรื่องบทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ(ICC) ในคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ประเทศไทยกับกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ” มีวิทยากรรวม 5 คน ได้แก่ วารุณี ปั้นกระจ่าง ผู้อำนายการกองกฎหมายจากกระทรวงการต่างประเทศ, พนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.และนักกฎหมาย, ปิยบุตร แสงกนกนกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สุดสงวน สุธีสร อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

             สุนัย จุลพงศธร สส.และประธานการกรรมาธิการฯ กล่าวถึงการสลายการชุมนุมในช่วงเม.ย.- พ.ค. 53 ว่ามีการฆ่าประชาชนในที่สาธารณะ ทั้งๆ ที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมการเมืองของไทยได้พัฒนาไปมากแล้ว ดังนั้นจึงต้องหากติกามาคุ้มครองชีวิตคนไทย แต่กติกาในประเทศมีความซับซ้อนมาก จึงต้องหันมองต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงเข้ามาศึกษาเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้นายแพทย์เหวง โตจิราการ ก็ได้ล่ารายชื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไปตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 55 เพื่อขอให้พิจารณาธรรมนูญแห่งกรุงโรม มาตรา12 (3) ที่ใช้มติคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษเพื่อดำเนินการในคดีใดคดีหนึ่ง โดยไม่ได้มีเจตนาเอาผิดกับใคร แต่เพื่อลดทอนความรุนแรงลง เพราะแน่นอนว่าญาติผู้เสียชีวิตซึ่งมีจำนวนมาก ย่อมรู้สึกโกรธ ดังนั้นจึงต้องลดความรุนแรงทางจิตใจลง

ประเด็นการสัมมนามี 5 ข้อ ได้แก่
1. ศาลICCคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
          2. บทบาทอำนาจหน้าที่ ฐานความผิดกว้างขวางเพียงใด
          3. เงื่อนไขบังคับก่อนสำหรับการใช้เขตอำนาจศาลมีอะไรบ้าง
          4. ผู้ที่เสียหายคือใคร และมีแนวทางดำเนินการเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมอย่างไร การร้องทุกข์กล่าวโทษ กระบวนการสืบสวน การพิจารณา การพิพากษา การอุทรหรือทบทวนคำพิพากษา ตลอดจนความร่วมมือด้านต่างๆระหว่างภาคีสมาชิกต้องทำอย่างไร
          5. การให้สัตยาบรรณของไทยมีผลดีหรือผลเสียในภาพรวมด้านใดบ้าง

1. ศาลอาญาระหว่างประเทศ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร



          วารุณีกล่าวว่าธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ(International Criminal Court: ICC) เป็นสนธิสัญญาที่เกิดขึ้นจากการประชุม ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อจัดตั้งศาลที่มีลักษณะถาวรสำหรับพิจารณาความผิดของบุคคลธรรมดาที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงสูงสุด เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีในลักษณะนี้เป็นเพียงศาลเฉพาะ ธรรมนูญกรุงโรม ได้รับการรับรองเมื่อปี2541 โดยสมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ160 ประเทศ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่1 ก.ค. 2545 ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่สนับสนุนธรรมนูญกรุงโรมและได้ลงนามเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2543

          การก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่สุดถูกปล่อยไปโดยไม่ได้รับการลงโทษ เป็นการยับยั้งการก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่อาจจะเกิดในอนาคต ส่งเสริมความยุติธรรมในระดับสากลและเสริมความยุติธรรมของรัฐภาคี

          ปิยบุตรขยายความ ความหมายของศาลอาญาระหว่างประเทศ ว่าไม่ใช่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก การดำเนินคดีมุ่งไปที่ตัวคน ไม่ใช่รัฐกับรัฐ มีลักษณะพิเศษคือเป็นศาลถาวร ไม่เฉพาะเจาะจงกับคดีใดคดีหนึ่ง เป็นศาลเสริมอำนาจศาลภายในคือ ต้องให้มีกระบวนการยุติธรรมในประเทศก่อน และศาลอาญาระหว่างประเทศเกิดขึ้นเพราะความสมัครใจของแต่ละรัฐเอง แม้ว่าจะลงนามแล้วแต่ก็ต้องให้สัตยาบรรณด้วยจึงจะมีผลใช้บังคับ ปัจจุบันมี 121 ประเทศ ที่ลงนามแล้ว และให้สัตยาบรรณแล้ว และมี 32 ประเทศที่ยังไม่ให้สัตยาบรรณ ประเทศที่ลงแล้วถอนก็มีเช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ไม่ลง เช่น จีน อินเดีย

2. บทบาทอำนาจหน้าที่ ฐานความผิดกว้างขวางเพียงใด

           วารุณีให้ข้อมูลว่า ความผิดที่ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจพิจารณาคดี ไม่ใช่อาชญากรรมทั่วไป แต่มีเขตอำนาจเหนืออาชญากรรมร้ายแรงที่สุด4ประเภท คือการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน

          สำหรับอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน มีการประชุมทบทวนเพื่อกำหนดคำนิยาม องค์ประกอบความผิดและเงื่อนไขที่ให้ศาลใช้เขตอำนาจในภายหลัง คือเมื่อ 31พ.ค.- 11 มิ.ย. 2553 ที่ประเทศอูกันดา ซึ่งตามกำหนดต้องแก้ไขทบทวนธรรมนูญเมื่อครบ 7 ปีหลังจากที่ธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ผลการประชุม สามารถกำหนดคำนิยามและองค์ประกอบความผิดที่ค้างอยู่ได้ กำหนดเงื่อนไขที่ให้ศาลใช้เขตอำนาจ เพิ่มฐานความผิดย่อยเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามจากเดิมที่ได้กำหนดไว้แล้ว และเลื่อนเวลาสำหรับเขตอำนาจศาล

          พนัสกล่าวว่านอกจากกรณีการฆ่าสังหาร การเอาคนไปลงโทษจำคุกก็เข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรง เพราะการดำเนินคดีไม่ได้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม ทำให้คนติดคุกจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผิดต่อมนุษยชาติซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นระบบ ในส่วนของประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ก็เข้าข่ายด้วย ถ้ามีการรับดำเนินคดี การบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้มีความผิดแน่นอน

3. เงื่อนไขบังคับก่อนสำหรับการใช้เขตอำนาจศาลมีอะไรบ้าง

           วารุณีกล่าวถึงการใช้เขตอำนาจศาลว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจเฉพาะกับอาชญากรรมที่กระทำขึ้นหลังจากที่ธรรมนูญมีผลบังคับใช้คือวันที่1 ก.ค. 2545 ดังนั้นศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันดังกล่าว ส่วนรัฐที่เข้าเป็นภาคีภายหลังที่ธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศอาจใช้อำนาจได้เฉพาะกับอาชญากรรมที่กระทำขึ้นหลังจากที่ธรรมนูญมีผลบังคับใช้ในประเทศที่เข้าเป็นภาคีนั้น

          สำหรับเงื่อนไขการใช้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ การที่รัฐใดรัฐหนึ่งเข้าเป็นภาคีธรรมนูญถือเป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในอาชญากรรม 4 ประเภท ที่กล่าวมา ศาลฯ อาจใช้เขตอำนาจ ตามกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ
          (1)เมื่อรัฐภาคีเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่อาชญากรรมถูกกระทำขึ้น หรือเป็นรัฐที่จดทะเบียนเรือหรืออากาศยานในกรณีที่อาชญากรรมกระทำขึ้นบนเรือหรืออากาศยาน
          (2)รัฐภาคีนั้นเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรม
          (3)สำหรับรัฐที่ไม่ใช่ภาคี รัฐนั้นๆ อาจตกลงยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะกรณีได้ เมื่ออาชญากรรมกระทำขึ้นในดินแดนของตน บนเรือ หรืออากาศยานของตนหรือโดยคนชาติของตน ด้วยการส่งมอบคำประกาศให้แก่นายทะเบียน และรัฐดังกล่าวต้องให้ความร่วมมือแก่ศาลโดยไม่ชักช้าและโดยไม่มีข้อยกเว้นใด

          อย่างไรก็ตามศาลอาญาระหว่างประเทศมีฐานะเสริมอำนาจศาลภายในของรัฐภาคีเท่านั้น ดังนั้นก่อนอื่นเป็นหน้าที่ของรัฐภาคีที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับอาชญากรรมมากที่สุดจะต้องใช้อำนาจศาลภายในก่อน แต่เมื่อศาลภายในไม่สามารถ หรือไม่สมัครใจพิจารณาคดี ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงเข้ามาใช้เขตอำนาจเหนือคดีนั้นได้

          วารุณีขยายความของคำว่าไม่สามารถและไม่สมัครใจว่า ไม่สามารถ(unable) หมายถึงรัฐไม่สามารถดำเนินกระบวนการยุติธรรมภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถใช้อำนาจตุลาการได้ เช่นในประเทศที่มีการสู้รบอย่างรุนแรง หรือเกิดอาชญากรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง รัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่สมัครใจ(unwilling) หมายถึงรัฐมีความมุ่งประสงค์ที่จะปกป้องผู้กระทำความผิด ทำให้กระบวนการพิจารณาล่าช้า ไม่เป็นอิสระหรือไม่เป็นกลาง แต่ศาลฯจะไม่รับพิจารณาในกรณีที่ ศาลในประเทศรับพิจารณาคดีอยู่ หรือคดีไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

          ด้านปิยบุตร กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของธรรมนูญนี้ว่า หลักกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องสนธิสัญญามีว่า รัฐใดแม้ลงนามแล้วแต่ยังไม่ให้สัตยาบรรณ ก็ห้ามกระทำการที่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของธรรมนูญ เช่น หากประเทศไทยจะเขียนรัฐธรรมนูญว่า จะไม่ให้สัตยาบรรณกับธรรมนูญ ถือว่าทำไม่ได้ นั่นคือธรรมนูญยังไม่ผูกมัด แต่ก็ห้ามเขียนกฎหมายภายในต่อต้าน หรือไม่ดำเนินการเกี่ยวกับธรรมนูญนี้

          เงื่อนไขของการรับคำร้อง แบ่งตามเขตอำนาจดังนี้

1. เขตอำนาจในทางเวลา

           สำหรับรัฐที่ลงนามและให้สัตยาบรรณแล้ว ธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ค. 45 ไม่มีการย้อนหลัง และสำหรับรัฐที่ให้สัตยาบรรณหลังจากนั้น ธรรมนูญก็จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่หลังให้สัตยาบรรณ 60 วัน ดังนั้นสมติว่าประเทศไทยให้สัตยาบรรณวันนี้ ก็ไม่สามารถนำความผิดที่เกิดก่อนหน้านี้มาเข้าสู่ศาลฯได้

           ในประเด็นนี้ปิยบุตรได้เสนอช่องทางการเอาผิดต่อผู้กระทำอาชญากรรมโดยที่ไม่ต้องให้สัตยาบรรณว่า รัฐที่ไม่ใช่รัฐภาคี สามารถทำคำประกาศฝ่ายเดียวเพื่อยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีได้ ซึ่งมีประเทศที่ทำสำเร็จมาแล้ว คือ อูกันดา และไอวอรีโคสต์ ในกรณีไอวอรีโคสต์ไม่ได้ให้สัตยาบรรณ ก็ได้ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลในวันที่ 18 เม.ย. 46 แต่ขอยอมรับเขตอำนาจศาลตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 45 เพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศจัดการกับความผิดที่เกิดก่อนหน้าการประกาศ หมายความว่าสามามารถถอยหลังกลับไปได้ แต่ถอยได้ไม่เกินวันที่ 1 ก.ค. 45 ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง เพราะได้ลงนามกับธรรมนูญกรุงโรมไว้แล้ว

          ทั้งนี้การประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลก็ไม่ได้หมายความว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศจะเข้ามาจัดการกับคดีได้ทันที แต่มีเงื่อนไขอื่นๆ อีกมาก กระนั้นก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 คือ คณะรัฐมนตรีไม่ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้และไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา แต่นายกรัฐมนตรีสามารถลงนามได้ทันที

          อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ พนัสเห็นว่า น่าจะเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักว่าต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ เพราะการกระทำต่างๆ ต้องเข้าสู่สภา จึงต้องมีการทบทวนกันให้ถ่องแท้ว่าทำกันได้มากน้อยเพียงใด ส่วนการให้สัตยาบรรณก็น่าจะผ่านสภาไปได้ยากมาก

2. เขตอำนาจในทางเนื้อหา คือความผิด 4 ประเภทที่กล่าวมา
3. เขตอำนาจในทางพื้นที่ คือความผิดเกิดในดินแดนของรัฐภาคี
4. เขตอำนาจในทางบุคคล คือ ผู้ที่ถูกกล่าวหามีสัญชาติของรัฐภาคี
           แต่เงื่อนไขสุดท้ายคือต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศทำหน้าที่ก่อน เพื่อไม่ให้ขัดต่อหลักอำนาจอธิปไตย และที่สำคัญต้องเป็นกรณีที่ร้ายแรงเพียงพอ ซึ่งสามารถดูได้จากเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเสียหาย และดูผู้เสียหายว่าได้รับความทุกข์ทรมานมากเพียงใด และสุดท้ายผู้ที่ถูกกล่าวหาจะต้องไม่ถูกศาลพิพากษาซ้ำในการกระทำเดียวกัน

           ในกรณีของซูดาน ประชาชนไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม และจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่กระทำความผิด ซึ่งก็หมายความว่ารัฐไม่สมัครใจ(unwilling)ที่จะดำเนินคดี ฉะนั้นศาลอาญาระหว่างประเทศจึงเข้ามาได้

           เช่นเดียวกับพ.ร.บ.ปรองดอง ของไทยซึ่งจะมีการนิรโทษกรรมก็มีความชัดเจนว่า จะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาดำเนินการกับนายอภิสิทธิ์ได้ ส่วนที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ได้ยื่นฟ้องไปก่อนหน้านี้ก็อาจอาศัยช่องทางที่นายอภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศภาคีให้จัดการได้ แต่เมื่อดูที่ตัวเลขของการร้องเรียน มีคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศมากกว่า 3000 คำร้อง แต่มีคดีอยู่ในศาลเพียงแค่ 15 คดี และมีเพียง 7 คดี ที่มีการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นทางการแล้ว และมีเพียง 1 คดีที่ตัดสินไปแล้ว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยมากและการดำเนินการทุกขั้นตอนต้องใช้เวลานาน

           พนัสได้เสนอ ว่า ในกรณีการประกาศรับรองเขตอำนาจศาล น่าจะศึกษากรณีฮอนดูรัส ซึ่งมีการรัฐประหารและมีการประกาศภาวะฉุกเฉินคล้ายกับไทย คนที่ฝ่าฝืนการประกาศถูกจับไปเป็นพันคน แต่ส่วนใหญ่ถูกขังในช่วงเวลาสั้นๆ แค่ 12ชั่วโมง มีการกระทำทารุณกรรมเกิดขึ้นไม่มาก การรัฐประหารมีความรุนแรงทำให้คนเสียชีวิตไป 20 คน ที่เจตนาฆ่าจริงๆ มีเพียง 8 คน นอกนั้นเป็นการทำเกินกว่าเหตุ ซึ่งแน่นอนว่าการสลายการชุมนุมของไทยรุนแรงกว่า

           นอกจากนี้ปิยบุตรยังเสนอช่องทางในการร้องเรียน การถูกกระทำจากรัฐอีกช่องทางหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นไปได้มากกว่า คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยลงนามไว้แล้ว มีการรับรองสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ถ้าเอกชนเห็นว่ารัฐละเมิดสิทธิตัวเองก็จะร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำสหประชาชาติ แล้วจะมีการดำเนินการต่อไป หากเห็นว่ารัฐกระทำการขัดกับหลักสิทธิตามที่ระบุไว้ ก็จะมีการออกมาตรการ เช่น ให้แก้กฎหมายภายใน หรือชี้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการถูกดำเนินคดีตามาตรา112 ก็สามารถไปร้องเรียนได้ แต่ทุกกรณีจะร้องเรียนได้ต่อเมื่อรัฐได้ลงนามพิธีสารอีกฉบับหนึ่งที่เสริมขึ้นมา แต่ไทยยังไม่ได้ลง แต่ประชาชนสามารถกดดันให้รัฐบาลไปลงได้

4. ผู้ที่เสียหายคือใคร และมีแนวทางดำเนินการเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมอย่างไร การร้องทุกข์กล่าวโทษ กระบวนการสืบสวน การพิจารณา การพิพากษา การอุทธรณ์หรือทบทวนคำพิพากษา ตลอดจนความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างภาคีสมาชิกต้องทำอย่างไร

                ในส่วนของการริเริ่มคดี วารุณีกล่าวว่ากำหนดให้ รัฐภาคี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เสนอต่ออัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศหรืออัยการเป็นผู้ริเริ่มคดีเองก็ได้ หลังจากนั้นก็จะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศต่อไป โดยที่

              - รัฐภาคี ต้องเสนอข้อมูลต่ออัยการ ให้เอกสารสนับสนุน มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
              - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เช่นตัวอย่างการสังหารประชาชนโดยรัฐบาลในเขตดาฟู เพราะมองว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาลระหว่างปีค.ศ.
2003-2008 กรณีนี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้เสนอเรื่องต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ หลังจากตรวจสอบพยานหลักฐานสืบพยานผู้เชี่ยวชาญกว่า 50 ปาก ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีค.ศ.2005
               - อัยการเป็นผู้ริเริ่มคดีเอง โดยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากรัฐ องค์กรสหประชาชาติ องค์การระหว่างรัฐบาลหรือองค์การที่ไม่ใช่รัฐบาลหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆที่น่าเชื่อถือ


              เมื่ออัยการพิจารณาแล้วลงความเห็นว่ามีหลักฐานสมเหตุผลที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป หรือผู้เสียหายอาจยื่นคำให้การต่อองคณะพิจารณาคดีเบื้องต้นได้ เมื่อองค์คณะตุลาการพิจารณาคดีเบื้องต้นพิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูลเหตุที่สมเหตุผลที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อและกรณีดังกล่าวดูเหมือนว่าจะอยู่ภายในเขตอำนาจศาล จึงจะอนุญาตให้อัยการเริ่มการสืบสวนสอบสวนได้ หากองค์คณะฯ ปฏิเสธคำร้องขอของอัยการที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ อัยการก็มีสิทธิ์ยื่นคำร้องในภายหลังได้ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่

               เมื่ออัยการยื่นสืบสวนสอบสวนข้อมูลด้วยตัวเองและวิเคราะห์ความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับแล้วเห็นว่าข้อมูลนั้นไม่มีพื้นฐานที่สมเหตุผลสำหรับการสืบสวนสอบสวน อัยการจะต้องแจ้งแก่ผู้ให้ข้อมูลได้ทราบ แต่ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิ์อัยการในการพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติม
              สุดสงวน กล่าวถึงบุคคลที่สามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลได้ ได้แก่ ผู้เสียหายหรือเหยื่อเอง องค์กรเอ็นจีโอ เช่น Human right watch และAmnesty หลังจากนั้นอัยการจะพิจารณาว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นภายในเขตอำนาจหรือไม่ ต่อมาอัยการจะจะต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงพอหรือไม่ เช่นในกรณีของประเทศไทย 90 กว่าศพมากพอหรือไม่ ซึ่งไม่มีความจำเป็นว่าจะต้องมีการตายเยอะๆ การสั่งฆ่าประชาชนเพียงคนเดียวก็ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติแล้ว ต่อมาอัยการจะสืบสวนสอบสวนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วจะยื่นหลักฐานทั้งหมดที่ควรจะดำเนินคดีไปที่หน่วยการพิจารณาคดีเบื้องต้น แล้วผู้พิพากษาจะพิจารณาสิ่งที่อัยการทำขึ้นมา ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะรับหรือปฏิเสธคดีก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจ โดยส่วนตัว สุดสงวนเชื่อว่าผู้พิพากษามีความเป็นกลางและไม่มีส่วนได้เสียกับประเทศไทย และหากผู้พิพากษารับแล้วก็จะมีหมายจับไปยังบุคคลที่ต้องถูกดำเนินคดี ในระหว่างการสอบสวน ไม่สามารถประกันตัวผู้ต้องหาได้ และจะถูกควบคุมตัวไว้ที่ศูนย์ควบคุมประเทศเนเธอแลนด์ จนกระทั่งการพิจารณาคดีจนเสร็จ ในขั้นตอนก่อนการตัดสิน จะมีผู้พิพากษา 3 คนที่จะฟังกรณีและตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด หากผิดจะถูกจำคุกตามคำสั่งผู้พิพากษาซึ่งอาจมากถึง 30 ปีหรือตลอดชีวิต แต่ไม่มีโทษประหารชีวิต

               อย่างไรก็ตาม ICC ไม่มีคุกเป็นของตัวเอง ดังนั้นจะส่งนักโทษกลับไปยังประเทศสัญชาติ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนของ ICC หากจำเลยถูกตัดสินว่าไม่ผิด ก็ไม่ได้หมายความว่าความผิดจบลง แต่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานยื่นฟ้องได้อีก ซึ่งเมื่อถูกพิพากษาว่ามีความผิดและถูกออกหมายจับแล้ว จำเลยยังอยู่ที่ประเทศสัญชาติของตน ICC ก็ไม่มีอำนาจเข้าไปจับกุมตัว เว้นแต่บุคคลนั้นจะเดินทางออกนอกประเทศ แต่พนัสกล่าวว่าต้องไปดูในธรรมนูญภาค10 การบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในข้อ103 ศาลจะต้องตั้งรับ ว่ารัฐใดซึ่งเป็นภาคสมาชิกจะสมัครรับเอานักโทษไป ส่วนเรื่องการจับกุม รัฐภาคีที่มีตัวผู้กระทำผิดอยู่ในพื้นที่ก็ต้องให้ความร่วมมือ ถ้าพบตัวผู้กระทำความผิดในรัฐใด รัฐก็ต้องส่งตัวให้กับศาล ไม่ว่ารัฐนั้นจะให้สัตยาบรรณแล้วหรือไม่ก็ตาม

               พนัสให้ข้อมูลว่าโครงสร้างของศาลประกอบด้วยอัยการ 1 คน ผู้ช่วย 1 คน และผู้พิพากษาหรือตุลาการ รวม 18 คน โดยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือฝ่ายไต่สวนก่อนพิจารณาคดี ฝ่ายพิจารณาคดี และฝ่ายรับเรื่องอุทธรณ์ ซึ่งอัยการเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะกลั่นกรองว่าคดีมีมูลหรือไม่ ตรงนี้แตกต่างกับอัยการของไทย เพราะทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนและฟ้องคดีอยู่ในตัว ขั้นตอนที่ว่าจึงเป็นการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างอัยการกับศาล ต่อเมื่ออัยการเห็นว่าคดีมีมูลจึงขอให้ฝ่ายไต่สวนก่อนพิจารณาสอบสวนคดีนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อฝ่ายไต่สวนก่อนพิจารณาเห็นว่าสิ่งที่อัยการส่งมามีหลักฐานเพียงพอที่จะสอบสวน ศาลก็จะอนุมัติให้อัยการทำการสอบสวนได้ เมื่ออัยการสอบสวนแล้ว ก็จะได้ข้อสรุปว่าต้องเอาผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดีหรือไม่ ถ้าสมควรก็ขอให้ศาลออกหมายเรียก โดยที่ศาลก็มีดุลพินิจคานกันอยู่ จะไม่ถูกผูกพันโดยการตัดสินหรือวินิจฉัยของขั้นตอนก่อนหน้า นี่คือระบบที่แตกต่างกับศาลไทย ดังนั้นการพิจารณาคดีแต่ละขั้นจึงมีความยุ่งยาก โดยเฉพาะข้อพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีหรือไม่

5. การให้สัตยาบรรณของไทยมีผลดีหรือผลเสียในภาพรวมด้านใดบ้าง
 


              วารุณีชี้ว่าประเทศไทยลงนามธรรมนูญกรุงโรมเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2543 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณ จึงยังไม่ได้เป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม คณะกรรมการพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ จัดการประชุมแล้ว สรุปว่าหากประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีจำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติ รวมทั้งแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมนูญกรุงโรม ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้กำหนดฐานความผิด ครอบคลุมความผิดที่เป็นอาชญากรรม 4 ประเภทที่ระบุในธรรมนูญกรุงโรม รวมทั้งกำหนดบทลงโทษ จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติส่งผู้ร่ายข้ามแดน พ.ศ.2542 ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ.2527 ต้องแก้ไขพ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 เป็นต้น

               “ตอบคำถามที่ว่า เหตุใดประเทศไทยจึงไม่เข้าเป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ข้อ27 ของธรรมนูญกรุงโรม กำหนดให้ประมุขของรัฐไม่ได้รับการยกเว้นจากความรับผิดทางอาญาตามธรรมนูญศาลนี้ ไม่ว่ากรณีใดและจะไม่เป็นมูลเหตุให้ลดหย่อนโทษ หมายความว่าถ้าไทยเข้าเป็นภาคีก็จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีข้อนี้ด้วย แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 8 ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ นี่เป็นข้อติดขัดประการหนึ่ง ซึ่งหากไทยจะเข้าเป็นภาคี ก็จำเป็นจะต้องมีการดำเนินการเพื่อรองรับพันธกรณีตามข้อ27 ซึ่งไทยจะต้องคำนึงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีสถานะพิเศษในบริบททางสังคม การเมืองและกฎหมายของไทย จะต้องมีการศึกษาพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ โดยคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา”

                แต่ในกรณีนี้ปิยบุตรเสนอว่า ธรรมนูญกรุงโรม ในมาตรา27เขียนไว้ว่า เอกสิทธิ์ความคุ้มกันต่างๆ ที่ให้กับประมุขของรัฐทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ให้เอามาใช้กับธรรมนูญกรุงโรม ประเทศไทยน่าจะกังวลเรื่องนี้ และน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ไม่ยอมให้สัตยาบรรณ แต่ใน 121 ประเทศที่ให้สัตยาบรรณไปมีหลายประเทศที่มีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ และมีตัวบทเหมือนมาตรา 8 ของไทย คือองค์พระมหากษัตริย์ละเมิดมิได้ แต่หมายถึงว่า องค์พระมหากษัตริย์จะไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ว่าในทางใดๆ ทั้งวินัย แพ่งหรืออาญา ซึ่งไม่รวมถึงการถูกวิพากษ์วิจารณ์ กระนั้นประเทศเหล่านี้ก็สามารถให้สัตยาบรรณได้ ไม่ว่าจะเป็น สเปน สวีเดน อังกฤษ เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น แต่ของไทยกลับยังเป็นปัญหา ทั้งที่ในความจริงแล้ว มาตรา 8 จะบังคับใช้ไม่ได้ในทันที แต่ต้องเข้าเงื่อนไขว่าพระมหากษัตริย์จะไม่กระทำการใดๆ ตามลำพัง คนที่กระทำและรับผิดชอบผลของการกระทำคือผู้รับสนองพระบรมราชองโองการ จึงไม่ต้องกังวลเลยว่าพระมหากษัตริย์จะถูกนำตัวไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะคนที่รับผิดชอบคือผู้ลงนามรับสนองฯ

                ก่อนเข้าสู่การซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วารุณีกล่าวว่าในเร็วๆ นี้กระทรวงการต่างประเทศจะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิจารณาตัวธรรมนูญกรุงโรมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคำนิยามต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาการเข้าเป็นภาคี โดยที่จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย มิใช่ของกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายเดียว ต้องผ่านครม. รัฐสภา ซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรา190 โดยคณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมนูญนี้และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อไป

ดูข้อมูลอ้างอิงในเรื่องนี้  http://pchannelnews.com/index.php?name=saad&file=readknowledge&id=1962
http://redusala.blogspot.com