วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

ส.ส.น่าน อาจได้ลองหลักสูตรอบรมฯ คสช.เผยกำลังพิจารณา เหตุแจกขันแดง

ภาพขันแดงที่ จนท.ยึดจาก ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย

ตร. เผยดำเนินคดี ม.116 กรณีขันแดง ดูที่เจตนา ระบุบ้านเมืองต้องการความสงบดินหน้าปฏิรูปประเทศ ขณะที่คสช. เผยกำลังพิจารณานักการเมือง จ.น่าน แจกขันเข้าข่ายต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้นำการสร้างชาติอย่างสร้างสรรค์หรือไม่ 
5 เม.ย.2559 ความคืบหน้าคดีถ่าภาพคู่กับขันแดง ถูกดำเนินคดีกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นทางการเมืองที่ จ. เชียงใหม่ นั้น วานนี้ (4 เม.ย.59) พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยกรณีทหารร่วมกับตำรวจเข้าตรวจค้นสำนักงานที่ทำการของอดีต ส.ส.จังหวัดน่าน พร้อมยึดขันแดงที่มีลายเซ็นอดีตนายกรัฐมนตรีหลายพันใบที่เตรียมแจกประชาชน ว่า ขณะนี้ทางตำรวจ สภ.แม่ปิง เชียงใหม่ ได้แจ้งข้อหา กับธีรวรรณ เจริญสุข กระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นทางการเมือง หลังถ่ายภาพคู่กับขันแดง ซึ่งการแจ้งข้อหานี้ดูที่เจตนาเป็นหลักเนื่องจากขณะนี้บ้านเมืองต้องการความสงบเรียบร้อยเดินหน้าปฏิรูปประเทศ หากมีกลุ่มหรือบุคคลใดละเมิดก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและเตรียมขยายผลผู้ที่เข้าข่ายต่อไป พร้อมปฏิเสธตำรวจเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการจัดการฝ่ายเห็นต่าง ชี้ตำรวจเป็นกลไกทำงานเพื่อประเทศชาติ
วันเดียวกัน พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ส่วนงานรักษาความสงบ สำนักงานเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ คสช.กำลังพิจารณานักการเมือง จ.น่าน แจกขันแดงให้กับประชาชน เข้าข่ายต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้นำการสร้างชาติอย่างสร้างสรรค์หรือไม่ เพราะขณะนี้หลักสูตรดังกล่าว พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช.ได้พิจารณาแล้ว โดยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ที่ต้องเข้าอบรม ทาง คสช.ได้กำหนดไว้ว่า ผู้นำ หรือแกนนำประชาชนที่กระทำผิดกฎหมาย ทำผิดกติกาสังคม และฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติ จนทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาล และ คสช.เกิดความเสียหาย รวมไปถึงมีพฤติกรรมที่มีแนวโน้มสร้างความขัดแย้งระหว่างคนในสังคม ตลอดมีพฤติกรรมแปลกแยกไปจากสังคม ส่วนระยะเวลาของหลักสูตรนี้จะใช้เวลาทั้งสิ้น 7 วัน จำนวน 168 ชั่วโมง

รธน.50 'รับๆไปก่อน' แก้ได้ฝ่ายเดียวทีหลัง ฉบับมีชัย59 แก้ยากเช่นกัน สุดท้ายศาลรธน.ชี้ขาด

ย้อนดูประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ภายใต้ 'รับๆ ไปก่อน แล้วแก้ทีหลัง' แต่ความเป็นจริงกลับแก้ได้ฝ่ายเดียวทีหลัง iLaw ชี้ฉบับมีชัย ก็แก้ยาก ต้องได้เสียงจาก ส.ว. 1 ใน 3 และพรรคการเมือง 20% หากแก้ไขบททั่วไป การแก้ไขเพิ่มเติม รธน. หรืออำนาจศาลและองค์กรอิสระ ต้องทำประชามติก่อน และให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า จะแก้ได้หรือไม่ได้
การทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่เป็นสิ่งสำคัญแล้ว หากผ่านประชามติไปแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลังก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ซึ่งกระบวนการแก้ไขก็จะระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ หากย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีกระแส 'รับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง' ซึ่งเป็นอีกความหวังหนึ่งที่แม้ร่างรัฐธรรมนูญที่อาจไม่เห็นด้วยในทุกมาตรา แต่การโหวตให้ผ่านประชามติก็สามารถเริ่มกระบวนการแก้ไขใหม่ได้ อย่างที่ อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนรณรงค์รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า "ผมมั่นใจว่า ฉบับนี้แก้ไขได้ แล้วก็ถ้ารับไปบ้านเมืองก็เดินหน้าได้ กลับคืนสู่สภาวะปกติ มันไม่เลิศเลอมันไม่สมบูรณ์ แต่มันก็ไมได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนกลัว" 

รับๆ ไปก่อน แต่แก้ได้ฝ่ายเดียวทีหลัง

อย่างไรก็ตามการแก้ไขโดยการนำของพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐบาลปี 54 ทั้ง มาตรา 93-98 เรื่องระบบการเลือกตั้ง และมาตรา 190 เรื่องการทําหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 มี.ค.54 ขณะที่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 56 มีการเสนอแก้ไขประเด็นที่มาของ ส.ว. นั้นกลับถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดมาตรา 68 วรรค 1 เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 

ฉบับมีชัย ก็แก้ยาก

สำหรับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ ล่าสุดนั้น โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) วิเคราะห์ว่าในส่วนความสามารถสามารถขอให้แก้ไขในร่างฯ นี้ กำหนดว่าผู้ที่มีสิทธิขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แก่ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ ส.ส. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภา และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อกัน
โดยการพิจารณานั้น ต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ ได้แก่ วาระแรก ขั้นรับหลักการ ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. วาระที่สอง เป็นขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมาก แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3
 
ส่วน วาระที่สาม เป็นขั้นสุดท้าย ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

ต้องได้เสียงจาก ส.ว. 1 ใน 3 และพรรคการเมือง 20%

iLaw วิเคราะห์ต่อว่าถ้าเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ยิ่งพบว่าการแก้รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติเป็นไปได้ยากกว่าเดิมมาก เพราะฉบับ 2540 2550 ใช้เสียงข้างมากธรรมดา และไม่มีการแบ่งแยก ส.ส. ส.ว. โดยกำหนดคล้ายกันว่าวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ ส่วนวาระที่ 3 ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
 
ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนจะได้ลงประชามตินี้ กลับกำหนดตั้งแต่วาระแรกเลยว่า นอกจากจะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาแล้ว ยังต้องมี ส.ว. เห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน  3 ของจำนวน ส.ว. ด้วย ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยฉบับที่แล้วก็กำหนดไว้ 
 
อย่างไรก็ดี อีกเงื่อนไขที่เพิ่มความยากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คือ การพิจารณาในวาระ 3 เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญมีชัยก่อนหน้านี้ระบุว่า ต้องมี ส.ส. จากทุกพรรคที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 คน ลงมติเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ของจำนวน ส.ส. ทุกพรรคดังกล่าว แต่หากพรรคใดมี ส.ส.ต่ำกว่า 10 คน ให้รวมกันทุกพรรคและต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 แต่ทว่า ร่างฉบับล่าสุดกลับเพิ่มเงื่อนไขอีกว่า ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน ซึ่งยากกว่าของเดิมที่แก้ไขยากมากอยู่แล้ว 
 

แก้ไขบททั่วไป การแก้ไขเพิ่มเติม รธน. หรืออำนาจศาลและองค์กรอิสระ ต้องทำประชามติก่อน

ส่วนกรณีที่จะแก้ไขเกี่ยวกับหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ให้จัดทำประชามติก่อน หากผลประชามติเห็นชอบ จึงจะดำเนินการแก้ไขได้
 

ให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า จะแก้ได้หรือไม่ได้

iLaw ระบุต่อว่า ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้สิทธิ ส.ส.หรือ ส.ว. หรือทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภา หรือของสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี เข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างนั้น นายกฯ จะนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ได้
 
มีข้อสังเกตว่า ในร่างรํฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 49 กำหนดว่า ถ้าผู้ใดทราบว่ามีบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบการปกครอง ผู้นั้นสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ได้ ซึ่งอาจมีการนำมาใช้ในกรณีที่มีผู้ขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย