วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ ร้องเหตุละเมิดสิทธิในเรือนจำ-‘อังคณา’ รับปากตามเรื่อง คุ้มครองผู้ร้อง


หลังถูกคุมขังมา 5 ปีในแดน 1 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ เข้มงวดขึ้นมากหลังการรัฐประหาร 2557 สมยศตัดสินในร่างหนังสือร้องเรียนกรรมการสิทธิ เรื่อง การยึดที่นอนผู้ต้องขัง, การไม่อนุญาตให้อ่านหนังสือพิมพ์รับข่าวสารใดๆ , การจำกัดการฝากเงินของญาติ ทำให้ญาติต่างจังหวัดและต่างประเทศลำบาก
16 มิ.ย.2559 เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ มีการยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยสุวรรณา ตาลเหล็ก เป็นผู้ยื่นหนังสือแทน สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นคนร่างเนื้อหาในหนังสือฉบับนี้ คดีของเขาอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและถูกคุมขังอยู่ในแดน 1 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
เนื้อหาในหนังสือร้องเรียนระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2554 เป็นต้นมาเป็นเวลา 5 ปีแล้วที่เขาถูกควบคุมตัว สภาพโดยทั่วไปในเรือนจำมีการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังตามอัตภาพ แต่ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2559 เป็นต้นมา กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบและคำสั่งหลายด้านที่ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของนักโทษตกต่ำลง ส่งผลต่อการดำรงชีวิตปกติของผู้ต้องขัง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก่อความเสียหายด้านเศรษฐกิจของผู้ต้องขังและสูญเสียงบประมาณของรัฐ โดยมีประเด็นที่ร้องเรียนแก่กรรมการสิทธิมนุษยชน ดังต่อไปนี้
1. การยึดที่นอนของผู้ต้องขัง ตั้งแต่วันที่ 6-8 มิ.ย.2559 เจ้าหน้ากรมราชทัณฑ์ได้ทำการยึดที่นอน หมอนหนุนศีรษะ ผ้าห่ม ซึ่งผู้ต้องขังซื้อจากเรือนจำ โดยเอาชุดเครื่องนอนดังกล่าวไปทิ้งทำลาย ในขณะเดียวกันกรมราชทัณฑ์ออกคำสั่งเพิ่มเติมให้ผู้ต้องขังแต่ละคนมีเครื่องนอนได้เฉพาะผ้าห่มที่ทางเรือนจำแจกให้ 3 ผืนซึ่งเป็นผ้าห่มคุณภาพต่ำ การกระทำนี้ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ต้องขัง ซึ่งมีทั้งคนป่วย คนชรา
2. การจำกัดข้อมูลไม่ให้ผู้ต้องขังรับรู้ข่าวสาร แต่เดิมเรือนจำเคยมีบริการหนังสือพิมพ์ให้ผู้ต้องขังเข้าถึงข่าวสารสาธารณะและบริการสารสนเทศ แต่ปัจจุบันไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังอ่านหนังสือพิมพ์ และไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังสั่งซื้อหนังสือได้ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ญาติผู้ต้องขังนำส่งหนังสือให้ได้เดือนละ 3 เล่มเท่านั้น และจำกัดประเภทหนังสือหรือนิตยสาร
3. การจำกัดวงเงินและจำนวนครั้งของญาติที่ต้องการฝากเงินให้ผู้ต้องขัง โดยผู้ต้องขังมีเงินในบัญชีสำหรับซื้อสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวได้ไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท และญาติฝากเงินให้ได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง สร้างความลำบากกับผู้ต้องที่มีญาติอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ไม่สามารถฝากเงินให้ล่วงหน้าได้
สุวรรณา กล่าวว่า เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาได้ไปเยี่ยมสมยศและพูดคุยกันจึงได้รับทราบเรื่องร้อนใจที่เกิด การเปลี่ยนแปลงระเบียบจำนวนมากสร้างความอึกอัดใจให้แก่ผู้ถูกขุมขังจำนวนไม่น้อย กรณีที่นอนผู้ต้องขัง โดยปกติผู้ต้องขังใช้เงินส่วนตัวซื้อที่นอนที่เรือนจำขายราคาประมาณ 900-1,000 บาทซึ่งเป็นที่นอนคุณภาพดีขึ้นมาหน่อย การยึดไปสร้างความกดดันอย่างมาก กรณีการจำกัดการอ่านหนังสือนั้น เกิดมาตรการนี้อย่างชัดเจนหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ทำให้ผู้ต้องขังไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์และจำกัดประเภทหนังสือเพื่อไม่ให้รับรู้ข้อมูลทางการเมือง
“ถ้านักโทษต้องถูกจองจำในนั้น 3 ปี 5 ปี ถ้าหากเขาไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มาจากโลกภายนอกนั้นเลย เมื่อเขาพ้นโทษออกมาใช้ชีวิตก็จะลำบาก มีการพูดเล่นที่นักโทษในเรือนจำถามว่าในตอนนี้โทรศัพท์ที่มีปุ่มกดเขายังใช้กันอยู่ไหม เขาติดคุกจนไม่รู้ว่าโทรศัพท์เป็นรูปแบบไหน หนังสือพิมพ์ไม่ได้มีเฉพาะการเมือง มีเรื่องเทคโนโลยี ข่าวสารความรู้ การเรียนรู้ฝึกอาชีพเกษตร น่าที่จะให้นักโทษมีสิทธิตรงนี้บ้าง” สุวรรณากล่าว
สุวรรณา กล่าวต่อว่า อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือร้องเรียนฉบับนี้คือ กรณีหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 มีการจำกัดผู้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้เพียง 10 คน ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้ต้องขังที่มีญาติพี่น้องอยู่ต่างจังหวัด ทำให้การเยี่ยมเยียนขาดหาย และกรณีการยุบเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ซึ่งเป็นเรือนจำของนักโทษทางการเมืองก็สร้างความกดดันและคับแค้นให้ญาติผู้ถูกคุมขัง ญาติของนักโทษหลายคนไม่สามารถมาพูดคุยหรือร้องเรียนได้ อาจทราบเพียงว่ามีองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแต่ไม่รู้ว่าจะเข้ามาอย่างไร
“วันนี้จึงมาขอความช่วยเหลือ คุณสมยศเองตั้งหลักเอาไว้ว่า การร้องเรียนในครั้งนี้อาจมีอะไรที่เข้าไปควบคุมเขาในเรือนจำอีกชั้นหนึ่ง อันที่จริงหลังจากคุณสมยศถูกคุมขังในเรือนจำนั้นก็มีหลายชั้นที่เข้าไปควบคุมการเคลื่อนไหวของคุณสมยศ หนังสือฉบับนี้ใช้เวลา 2 วัน ในการที่จะเขียนออกมาซึ่งเนื้อหานำมาจากการพูดคุยกับคุณสมยศที่ต้องการจะร้องเรียน พอทำหนังสือเสร็จแล้วก็ส่งให้คุณสมยศลงนามที่เรือนจำ และคุณสมยศแจ้งไว้ว่าเขาได้เขียนจดหมายเป็นลายมือส่งมาที่คณะกรรรมการสิทธิมนุษยชนแล้วด้วย แต่ไม่มั่นใจว่าถึงหรือไม่เลยให้ดิฉันทำหน้าที่ตรงนี้ด้วยอีกทางหนึ่ง” สุวรรณากล่าว
สุวรรณา กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นที่ยังไม่มีรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ในกรณีของการแยกนักโทษทางความคิดหรือนักโทษทางการเมืองออกไปจากนักโทษทั่วไป ประเด็นหนึ่งที่พวกเราคิดและถกเถียงกันมาตลอดคือ กรณีของนักโทษ ม.112 บางกรณีปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นนักโทษทางความคิดที่จะพยายามลุกขึ้นรณรงค์และถูกคุมขังด้วยความผิดมาตรา 112 สมยศเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

อนุกรรมการสิทธิพลเมืองรับปากติดตาม ‘จอน’ ชี้เรื่องที่ร้องเรียนเป็นปัญหาส่วนรวม

อังคณา นีละไพจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้รับมอบหนังสือร้องเรียน และแจ้งว่า เนื่องจากคณะกรรมการสิทธิชุดนี้มีการแยกคณะอนุกรรมการสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ออกเป็น 2 คณะ เรื่องที่ร้องเรียนอยู่ในความดูแลของอนุกรรมการด้านสิทธิทางการเมือง ซึ่งมีชาติชาย สุทธิกลม เป็นประธานโดยตรง อย่างไรก็ตาม เธอรับปากว่าจะส่งเรื่องต่อไปยังอนุฯ สิทธิทางการเมืองและดำเนินการติดตามเรื่องให้
อังคณากล่าวด้วยว่า หลังจากที่สมยศออกมายื่นเรื่องร้องเรียนแล้ว หากรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยหรือได้รับการปฏิบัติที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ขอให้รีบแจ้งต่อคณะกรรมกาสิทธิฯ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิฯ ห่วงกังวล ให้ความสำคัญ และต้องให้ความคุ้มครอง
“จำได้ว่าปลัดกระทรวงยุติธรรมพูดว่าถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ต้องขัง จำคุกต้องไม่ใช่เพื่อการแก้แค้นแต่เป็นเพื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมากกว่า ความคิดเหล่านี้ดีแต่จะตามอย่างไรเพื่อให้ไปสู่การปฏิบัติอันนี้เราก็จะต้องติดตามเพื่อที่จะช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้” อังคณากล่าว
จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองกล่าวว่า คิดว่าประเด็นที่คุณสมยศร้องเรียนมานั้นไม่ใช่เรื่องแค่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของผู้ต้องขังทั้งหลายด้วย ประเด็นเหล่าการละเมิดสิทธิในเรือนจำเหล่านี้นี้เคยมีการพูดคุยกัน ยกตัวอย่างเรื่องประเด็นการจำกัดคนเข้าเยี่ยมซึ่งปัญหาใหญ่มากทีเดียว แต่เรื่องที่ไม่ทราบมาก่อนคือการจำกัดสิทธิผู้ต้องขังไม่ให้มีโอกาสได้อ่านหนังสือพิมพ์หรือเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีความเห็นว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะมาปิดกั้นการอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและการพัฒนาคนด้วย ประเด็นที่ร้องเรียนมาเราจึงควรนำมาพิจารณา
สมชาย หอมลออ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง กล่าวว่า ขณะนี้มันมีข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ที่เรียกว่า 'ข้อกำหนดแมนเดลา' ซึ่งหลักการของกฎนี้ก็คือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง ภายใต้ข้อจำกัดของเสรีภาพในเรื่องที่อยู่ การรักษาความสงบเรียบร้อย การใช้ชีวิตของผู้ต้องขังต้องให้มีความปกติที่สุดเท่าที่จะมากได้ เครื่องหนุ่มห่มที่เหมาะสมในข้อกำหนดก็มีเขียนไว้ การกระทำของกรมราชทัณฑ์ตามคำร้องนั้นหากเป็นความจริงจะทำให้มาตรฐานของเรือนจำต่ำลงไป แน่นอนว่าเรือนจำบางแห่งยังไม่สามารถทำให้ได้ระดับมาตรฐาน แต่ผู้ต้องขังบางคนที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับตัวเองได้ก็ไม่ควรไปลดทอนเขาด้วยความคิดว่าทุกคนต้องถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายเหมือนกันเท่ากันหมด อย่างนี้ไม่ถูกต้อง
จินตนา แก้วขาว อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง กล่าวว่า ประเด็นการละเมิดสิทธิในที่คุมขังต่อผู้ต้องขังในประเด็นที่ร้องเรียนมานั้นยังไม่มีการพูดถึงมากนัก ในเรื่องการยึดที่นอน หมอน ผ้าห่ม ของผู้ต้องขัง จาประสบการณ์กรมราชทัณฑ์จะอ้างว่ามีที่ไม่เพียงพอเพราะความคับแคบ ส่วนกรณีเรื่องหนังสือไม่มีห้องสมุดในบางแดนนั้น ส่วนตัวคิดว่าอาจจะมีห้องสมุดกลางอยู่แต่นักโทษเข้าไม่ถึง แต่บางเรือนจำก็ไม่มีห้องสมุด เช่น เรือนจำที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้โทรทัศน์ก็ห้ามดูเพราะกลัวผู้ต้องขังติดตามเรื่องการเมือง หากมีหนังสือให้อ่านก็เป็นหนังสือเก่าล้าหลังหลายสิบปี ทำให้ผู้ต้องขังไม่ได้รับรู้เรื่องราวปัจจุบันได้เลย ประเด็นที่ร้องเรียนในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
ที่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
33 ถนนงามวงศ์วาน  แขวงลาดยาว
เขตจตุจักร  กรุงเทพ ฯ  10900
วันที่ 14 มิถุนายน 2559
เรื่อง     ร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เรียน    ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  (คุณอังคณา นีละไพจิตร)
กระผม นช.สมยศ  พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โดยมิได้รับสิทธิการประกันตัว หรือการปล่อยตัวชั่วคราว จึงถูกคุมขังเหมือนนักโทษอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 เป็นต้นมา เป็นเวลา 5 ปีแล้ว อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ฉะนั้นก็ตามระหว่างที่ถูกคุมขังเป็นนักโทษสังกัดอยู่แดน 1 โดยทั่วไปมีการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัยตามอัตภาพ จากการบริหารงานราชทัณฑ์ด้วยความเมตตาธรรมต่อผู้ต้องขัง แต่ทว่าตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 เป็นต้นมา กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบและคำสั่งหลายด้านด้วยกัน อันกระทบต่อการดำรงชีวิตปกติของผู้ต้องขัง  มาตรฐานความเป็นอยู่ตกต่ำลง สร้างความทุกข์ยากแสนสาหัสเพิ่มมากขึ้น โดยปราศจากเหตุอันควร และเป็นการเปลี่ยนแปลงระเบียบที่ไม่เป็นคุณต่อผู้ต้องขังหลายประการ ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังก่อให้เกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจของผู้ต้องขัง และสูญเสียงบประมาณของรัฐ  จึงขอร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนดังต่อไปนี้
1.       ระหว่างวันที่ 6 – 8  มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ตามคำสั่งของกรมราชทัณฑ์ได้ทำการยึดที่นอน หมอนหนุนศีรษะ (ขนาด 7.5 x 180 เซนติเมตร  หนา 3 เซนติเมตร) ผ้าห่ม ซึ่งผู้ต้องขังซื้อจากเรือนจำ เรือนจำเป็นผู้จำหน่ายราคาชุดละ 800 – 1,000 บาท โดยเอาชุดเครื่องนอนดังกล่าวจำนวนหลายพันชิ้นไปทิ้งทำลาย ประมาณความเสียหายไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท (จำนวนนักโทษ 5,000 คน) ในขณะเดียวกันได้ออกคำสั่งเพิ่มเติมให้ผู้ต้องขังแต่ละคนให้มีเครื่องนอนได้เฉพาะผ้าห่มที่ทางเรือนจำแจกให้จำนวน 3 ผืนเท่านั้น โดยใช้สำหรับปูนอน สำหรับห่อ สำหรับทำเป็นหมอนหนุนศีรษะ  ผ้าห่มทั้ง 3 ผืนนี้เป็นผ้าห่อคุณภาพต่ำ ทำความสะอาดยาก เป็นที่สะสมของฝุ่นและเชื้อโรค คำสั่งดังกล่าวกระทบต่อสุขภาพกาย และจิตใจผู้ต้องขัง  ผู้ต้องขังจำนวนมากเป็นผู้ป่วย เป็นคนชรา เป็นผู้ป่วยกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก อีกทั้งยังไม่อาจกันความหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวของเดือนธันวาคม – เดือนมกราคมของทุกปีได้ การยึดที่นอน หมอน ผ้าห่ม ซึ่งซื้อมาจากเรือนจำเป็นการทำลายทรัพย์สินของผู้ต้องขัง สร้างความเดือดร้อน ทุกข์ทรมานจากระเบียบที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
2.      เรือนจำเคยจัดให้มีหนังสือพิมพ์อ่านเพื่อพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้เข้าถึงข่าวสารสนเทศน์  ข่าวสารสาธารณะ  และบริการสารสนเทศน์ และส่งเสริมการอ่านเพื่อคืนคนดีสู่สังคม แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันได้งดบริการให้อ่านหนังสือพิมพ์ และไม่อนุญาตให้สั่งซื้อได้ ผู้ต้องขังจึงไม่ได้รับรู้ข่าวสารภายนอก นอกจากนี้อนุญาตให้นำส่งหนังสือได้เดือนละ 3 เล่มเท่านั้น และยังจำกัดประเภทหนังสือ หรือนิตยสารอีกด้วย นับเป็นการจัดต่อนโยบายส่งเสริมการอ่านของรัฐบาล และการเรียนรู้ด้วยตนเองตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์ นับได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
3.      เรือนจำอนุญาตให้ผู้ต้องขังมีเงินในบัญชีเงินฝากสำหรับซื้อสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวของผู้ต้องขังในเรือนจำได้ไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท และญาติฝากเงินให้ได้คราวละ 3,000 บาทต่อครั้ง สร้างความลำบากให้กับผู้ต้องขังที่มีญาติอยู่ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ ไม่สามารถฝากเงินให้ผู้ต้องขังใช้ได้ล่างหน้า ย่อมกระทบต่อการดำรงชีวิตคามปกติของผู้ต้องขังและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งอื่น ๆ อีกมากมายที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดทั้งกับผู้ต้องขัง และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ผู้ควบคุมผู้ต้องขัง ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความทุกข์ยากแสนสาหัส ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทรมาน ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันอาจขัดต่อวิสัยทัศน์และภารกิจของกรมราชทัณฑ์ที่กำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และข้อเสนอแนะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์การสหประชาชาติซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน มีพันธกรณีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญามาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง  ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ได้รับความทุกข์ทรมานจากคำสั่ง และระเบียบซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาความแออัดยัดเยียดแม้แต่น้อย หรือไม่อาจแก้ปัญหายาเสพติดได้ แต่กลับเป็นการซ้ำเติมให้ผู้ต้องขังมีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
กระผมและผู้ต้องขังจำนวนมากขอร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้กรมราชทัณฑ์ยกเลิกระเบียบ คำสั่ง ตามที่ได้ร้องเรียนมานี้ และกำหนดให้ระเบียบหรือคำสั่งใดที่กระทบต่อมาตรฐานความเป็นอยู่ที่แย่ลง หรือขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนให้มีการแก้ไขให้ดีขึ้น หรือให้การบริหารงานของกรมราชทัณฑ์เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง
ทั้งนี้ขอให้เร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป และขอได้โปรดให้มีการคุ้มครองต่อการร้องเรียน ไม่ให้มีการกลั่นแกล้ง กดดัน ต่อผู้ร้องเรียนในรูปแบบต่าง ๆ  จึงใคร่ขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
(นช.สมยศ  พฤกษาเกษมสุข)
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แดน 1

ประวิตร ให้ จนท.ดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง หลังศาลอังกฤษยึดทรัพย์คนขาย GT200


17 มิ.ย.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลประเทศอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) จาก เจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแมคคอร์มิคและพรรคพวกซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
วันนี้ (17 มิ.ย.59) มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง กรณีดังกล่าวถึงคำถามที่ว่า ทางการไทยจะเรียกค่าเสียหรือไม่นั้น  พล.อ.ประวิตร กล่าว่า ตนยังไม่ทราบ เพราะคดีเพิ่งตัดสิน ต้องให้เจ้าหน้าที่พิจารณาว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ
ส่วนจะนำปลดการใช้งานเครื่อง GT200 หรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ได้ใช้งานเครื่อง GT200 เพราะถ้าใช้แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะนำไปใช้ตรวจจับระเบิด เพราะเครื่อง GT200 ได้มีการสั่งซื้อมาตั้งแต่รัฐบาลเก่า และยังไม่มีคำสั่งให้นำไปใช้งานได้

เผยเรื่องปกติ อุทยานราชภักดิ์ของบฯ เทศบาลหัวหิน ไม่ให้ก็จบ

กรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอุทยานราชภักดิ์ ที่ค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ขอให้ทางเทศบาลเมืองหัวหินทำการสนับสนุนงบประมาณในการบำรุงรักษาภูมิทัศน์ภายในอุทยานราชภักดิ์จำนวน 1.2 แสนบาทต่อเดือน นั้น สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประวิตร กล่าวกรณีดังกล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องของบสนับสนุน หากเทศบาลไม่สนับสนุนก็จบและขออย่าทำให้เป็นประเด็น
ส่วนที่สังคมมองว่าอุทยานราชภักดิ์ไม่มีเงินดูแลนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตามหลักการจะต้องมีการแต่งตั้งคนเข้ามาดูแลเงินบริจาค ถ้าคนไม่บริจาค ก็ไม่มีเงิน

นปช. เชิญ UN ร่วมตรวจสอบประชามติ ขณะที่ทหารสั่งปิดศูนย์ปราบโกงฯ หลายจังหวัด


นปช. ยื่นจม.ถึงยูเอ็นแจงวัตถุประสงค์และการดำเนินงานของศูนย์ปราบโกงประชามติและเชิญร่วมตรวจสอบการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับประชาชนไทย ขณะที่ธิดาเผยทหารบุกห้ามปรามตั้งศูนย์ฯ ที่ สกลนคร ระยอง และ ปราจีนบุรี 
17 มิ.ย. 2559 เมื่อเวลา 13.00 น. ทีมงานเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ' รายงานว่า  แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ ธิดา ถาวรเศรษฐ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และคณะ ได้เดินทางไปองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อยื่นหนังสือชี้แจงวัตถุประสงค์และการดำเนินงานของศูนย์ปราบโกงประชามติและเชิญร่วมตรวจสอบการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับประชาชนไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ความคืบหน้ากรณีการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ของ นปช. ซึ่งเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้เข้าปลดป้ายศูนย์ดังกล่าวที่ร้านค้าซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ใกล้แยกศรีชุมด้านในเทศบาลนครลำปาง ขณะที่ จ.พะเยา เจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 34 ได้ติดต่อเรียกตัวสองแกนนำเสื้อแดง เพื่อพูดคุยภายในค่ายขุนเจืองธรรมิกราช ในประเด็นการก่อตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ โดยทหารระบุห้ามเปิดศูนย์ดังกล่าวในพื้นที่ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้ (17 มิ.ย.59) แฟนเพจ 'อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ' รายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าห้ามปรามการตั้งศูนย์ดังกล่าว ทั้งที่ จ.สกลนคร จ.ระยอง และ ปราจีนบุรี ด้วย
ศูนย์ปราบโกงประชามติ จ.ระยอง

จตุพรตอบเรื่องศูนย์ปราบโกงประชามติ: จนท.ยึดได้แค่ป้าย-แต่ไม่อาจยึดหัวใจประชาชน

สัมภาษณ์จตุพร พรหมพันธุ์ ยืนยัน ‘ศูนย์ปราบโกงประชามติ’ จะเปิดเต็มพื้นที่ครบทุกจังหวัด หวังเป็นสื่อกลางให้ประชาชนสื่อสารถึงผู้ถืออำนาจรัฐหากเกิดเหตุตุกติกช่วงประชามติ หวังคนรับ-ไม่รับรัฐธรรมนูญมีพื้นที่รณรงค์เสมอภาค เจ้าหน้าที่อยากปลดป้ายเชิญเพราะไม่ใช่สาระสำคัญ ชูคำขวัญประชามติต้อง ‘ไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า’ เผยชื่นชมประชาชนพม่าแม้อยู่ใต้เผด็จการ 50 ปี แต่เมื่อมีโอกาสก็เข้าคูหาเปลี่ยนพม่าให้เป็นประชาธิปไตยด้วยปลายปากกา
000
หลังจากเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, ธิดา ถาวรเศรษฐ, วีระกานต์ มุสิกพงศ์, นพ.เหวง โตจิราการ ยงยุทธ ติยะไพรัช ฯลฯ เปิดตัว "ศูนย์ปราบโกงประชามติ" เพื่อเชิญชวนประชาชนมาใช้สิทธิลงประชามติ รวมทั้งเฝ้าจับตาหากมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในช่วงรณรงค์ประชามติ
นับตั้งแต่เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ภาครัฐก็เฝ้าจับตาอย่างเต็มที่ โดยในวันเปิดศูนย์ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว มีทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.โชคชัย เข้ามาห้ามไม่ให้จัดงาน ขณะที่ผู้จัดงานอ้างคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่บอกว่าไม่ห้ามการตั้งศูนย์ และย้อนด้วยว่าหากใครที่มาสั่งห้ามก็เท่ากับไม่รักษาคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์
แกนนำ นปช. มีแผนเปิดศูนย์ปราบโกงในระดับจังหวัดทั่วประเทศภายในวันที่ 19 มิถุนายน อย่างไรก็ตามก่อนวันเปิดตัวทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ทหารก็เข้าไปห้ามปรามเช่นที่ จ.ลำปาง มีการปลดป้ายศูนย์ ขณะที่ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ประสานเสียงอย่างแข็งกร้าวไม่ให้มีการตั้งศูนย์
อย่างไรก็ตามในการให้สัมภาษณ์กับประชาไท จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ยืนยันเดินหน้าตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ แม้การรณรงค์เพื่อวิจารณ์เนื้อหารัฐธรรมนูญจะไม่สามารถทำได้เต็มที่ แต่เขาก็หวังกระตุ้นให้คนไปใช้สิทธิลงคะแนนประชามติ ทั้งฝ่ายรับและฝ่ายไม่รับควรมีพื้นที่อย่างเสมอภาค ไม่ใช่รัฐให้การคุ้มครองเฉพาะฝ่ายรับเท่านั้น นอกจากนี้ยังหวังเป็นตัวกลางสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจ หากประชาชนต้องการร้องเรียนเรื่องไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนประชามติ
ศูนย์ปราบโกงประชามติยังมุ่งหวังสิ่งใดบ้าง ทำไมต้องชูคำขวัญ "ไม่ล้ม ไม่โกง และไม่อายพม่า" ถูกปลดป้าย-ปิดศูนย์คืออุปสรรคหรือไม่ จะทำอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์
000

สามารถกล่าวได้หรือไม่ว่าศูนย์ปราบโกงประชามติ เป็นการรณรงค์เพื่อไม่รับรัฐธรรมนูญ หรือเป็นเพียงการรณรงค์ให้คนออกไปลงประชามติเท่านั้น
จตุพร - ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เป็นการเขียนกันฝ่ายไม่รับรัฐธรรมนูญ ห้ามไม่ให้มีการรณรงค์เรื่องการทำประชามติ แต่ขณะเดียวกันในซีกผู้มีอำนาจในแม่น้ำทุกสาย ก็ใช้วิธีอบรมครู ก - ข - ค นี่คือโดยเปิด และแบบไม่เป็นทางการทั้งข้าราชการทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ถึงขนาดจะฟื้นอาสาสมัครลูกเสือชาวบ้าน ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) ขึ้นมาด้วยซ้ำ ยังไม่นับอาสาสมัคร รด. และอาสาสมัครสาธารณสุข ใช้ กศน. และเครือข่ายครูต่างๆ รวมกำลังใช้คนเป็นล้าน เพราะฉะนั้นทั้งงบประมาณและอำนาจครบถ้วน เต็มพื้นที่
มีกลไกภาครัฐที่รณรงค์ก่อนหน้านี้ แต่เป็นการรณรงค์ให้คนออกไปลงประชามติเท่านั้น แต่เท่าที่ติดตามสถานการณ์ มีกรณีที่พบการรณรงค์ชี้ชวนให้คนไปรับรัฐธรรมนูญหรือไม่
กรณีนครสวรรค์ มีการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ทหารจัดทำแผ่นพับและไปชี้ว่าให้ไปรับประชามติ การเขียนกฎหมายมันลักลั่น เพราะต้องการปิดทางคนที่ไม่รับร่าง จึงเขียนกฎหมายในลักษณะว่าไปพูดข้อดีได้ แต่ว่าห้ามพูดว่ารับ
ส่วนในโครงการของฝ่ายรัฐที่ลงไปประชาสัมพันธ์เนื้อหารัฐธรรมนูญ จะไปพูดแต่ข้อดีเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งผิดหลักธรรมชาติ เพราะเมื่อพูดดี ทุกอย่างดีหมด แต่ไม่บอกประชาชนให้รับหรือไม่รับก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าประชาชนถามกลับว่าให้ฉันทำอย่างไร แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตอบว่าให้ไปรับก็ผิดกฎหมายประชามติ คือกฎหมายให้คนพูดว่ารับหรือไม่รับได้ แต่ชวนคนอื่นไม่ได้ แบบก็ผิดธรรมชาติมาตั้งแต่ต้น เพราะความกลัวแพ้จึงต้องลงเอยแบบนี้
เราจะเห็นทุกทีจะองค์กรภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในเวลาเลือกตั้ง เช่น มี กกต. ก็มีมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือ PNET ที่มี พล.อ.สายหยุด เกิดผล และเคยมีสมชัย ศรีสุทธิยากร ทำงาน แต่ที่ผ่านมา PNET ก็เคลื่อนไหวอย่างที่เห็นตามความปรากฏ
มาครั้งนี้การทำประชามติความจริงเป็นหัวใจที่จะกำหนดอนาคตของประเทศ เพราะว่าที่ใหญ่กว่าการปล้นทรัพย์คือการปล้นสิทธิ เป็นสิทธิของประชาชน ประชามติจะเป็นประตูนำไปสู่ประชาธิปไตยก็ได้ สู่เผด็จการก็ได้ เราเองเห็นว่า ถ้าประชามติครั้งนี้เต็มไปด้วยการทุจริตเพราะทั้งขบวนทุจริตมาแต่ต้นหาความถูกต้องไม่ได้ ทั้งคนตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการใช้กลไกรัฐทุกอย่างเคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อพรรณาถึงข้อดี แต่ฝ่ายเห็นต่างไม่สามารถทำอะไรได้เลย ฉะนั้น จึงมีความคิดเรื่องการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติซึ่งจะเป็นองค์กรคู่ขนาน โดยกำหนดคำขวัญขึ้น 3 คำ คือ ไม่โกง ไม่ล้ม ไม่อายพม่า
“ไม่ล้ม” เพราะ คสช. เคยล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผ่าน สปช. เพราะฉะนั้นเราวิตกกัน เพราะเขาเคยทำมาแล้ว กลัวว่าจะเดินไปไม่ถึงวันที่ 7 สิงหาคม ถ้าเขาเดินไปสักระยะแล้วเห็นว่าประชาชนจะตัดสินใจอย่างไร เราจึงย้ำว่า ไม่ล้มวันที่ 7 สิงหาคม
ทั้งนี้เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 61 วรรค 2 จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รีบพูดว่าถ้าขัดรัฐธรรมนูญจะยกเลิกทำประชามติ ประสานเสียงกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ซึ่งเคยล้มการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เราจึงยืนยันว่าไม่ให้ล้ม และก็พยายามสื่อสารกับศาลรัฐธรรมนูญว่าให้เร่งพิจารณา เพราะถ้าตัดสินในตอนที่ประชาชนเขาเดินมาไกลแล้ว ประเทศจะเสียหายทั้งงบประมาณแผ่นดิน และอีกหลายเรื่องราว โดยเฉพาะประชาชนจะเสียความรู้สึกด้วย
“ไม่โกง” เพราะวิธีใช้กำลังคนแบบนี้ส่อสัญญาณชัดเจน แค่วิธีคิดก็โกงแล้ว และถ้าไม่มีองค์กรใดไปคานจะหนักกว่านี้ พูดง่ายๆ ว่าจะทำอะไรก็ได้
“ไม่อายพม่า” เราเองเห็นว่าคนพม่าเขาอยู่ภายใต้เผด็จการมา 50 ปี แต่วันนี้เขามีโอกาสที่จะได้ประชาธิปไตย เขาไม่รอช้าเลย และเขาทำทุกวิถีทาง โดยไม่เกรงฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าเวลานั้น แม้จะออกกติกาเอาเปรียบอย่างไร ท้ายที่สุดก็พา อองซานซูจี ที่ถูกล็อกเป็นประธานาธิบดีไม่ได้ ไปสู่เส้นชัย พูดง่ายๆ คนเลือกอองซานซูจี 90 เลือกทหารแค่ 10 ขนาดคนพม่าถูกกดขี่ด้วยเผด็จการมาถึง 50 ปี ในวันที่เขามีโอกาสจะสู้ เขาเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยปลายปากกาไม่ต้องกระบอกปืนเลย เขาไม่รีรอที่จะเข้าคูหาเข้าไปเปลี่ยนแปลง
เพราะฉะนั้นก็เป็นการกระตุ้นให้คนไปใช้สิทธิ์ ทั้งฝ่ายรับและฝ่ายไม่รับควรมีความเสมอภาค ไม่ใช่รัฐให้การคุ้มครองเฉพาะฝ่ายรับเท่านั้น เพราะฉะนั้น ศูนย์ปราบโกงประชามติเป็นองค์กรที่มาคานกับอำนาจทั้งปวง โดยหวังจะเป็นตัวกลางบอกสังคม และยื่นเรื่องต่อ กกต. โดย กกต. เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย เราก็เป็นประชาชนตามกฎหมาย มีสิทธิที่จะรับเรื่องส่งต่อ ประชาชนอาจกลัวทหาร องค์กรของเราถือเป็นองค์กรคั่นกลาง เพื่อลดความกลัวของประชาชน และบอกความจริงกับประชาชนทั้งประเทศและโลกว่าเกิดอะไรขึ้น
เพราะฉะนั้นศูนย์ปราบโกงประชามติจะมีการเปิดพร้อมกันวันที่ 19 มิถุนายนทุกจังหวัด
000
“ไม่อายพม่า” เราเองเห็นว่าคนพม่าเขาอยู่ภายใต้เผด็จการมา 50 ปี แต่วันนี้เขามีโอกาสที่จะได้ประชาธิปไตย เขาไม่รอช้าเลย และเขาทำทุกวิถีทาง โดยไม่เกรงฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าเวลานั้น แม้จะออกกติกาเอาเปรียบอย่างไร ท้ายที่สุดก็พา อองซานซูจี ที่ถูกล็อกเป็นประธานาธิบดีไม่ได้ ไปสู่เส้นชัย พูดง่ายๆ คนเลือกอองซานซูจี 90 เลือกทหารแค่ 10 ขนาดคนพม่าถูกกดขี่ด้วยเผด็จการมาถึง 50 ปี ในวันที่เขามีโอกาสจะสู้ เขาเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยปลายปากกาไม่ต้องกระบอกปืนเลย เขาไม่รีรอที่จะเข้าคูหาเข้าไปเปลี่ยนแปลง

ในสโลแกนมีคำว่า "อย่าอายพม่ามีเรื่องอะไรที่กลัวจะอายหรือน้อยหน้าพม่า
คือคนพม่า เขารอเวลามาถึง 50 ปี และเขาไม่รอช้าเมื่อเขาได้โอกาส เขาเปลี่ยนพม่าด้วยปากกา ไทยเราเริ่มเป็นประชาธิปไตยจริงอยู่เมื่อ 84 ปีก่อนแต่ก็ล้มลุกคลุกคลาน เวลาของเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเราบอกคนไทยว่าอย่าอายหัวใจคนพม่าในเรื่องประชาธิปไตย และเขาอยู่ภายใต้การปกครองของทหารนะในวันที่ทหารมีอำนาจเขายังกล้าออกมาใช้สิทธิ เพราะฉะนั้นประเทศไทยเราจะอายพม่าในเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ คนพม่าใช้สิทธิเกิน 80% เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องอายพม่า และผมเชื่อว่าประชาชนคิดเป็น ไม่จำเป็นต้องบอกว่าให้เขาจะทำอะไร วันเวลาที่โลกสื่อสารไร้พรมแดน ประชาชนเขารู้ว่าต้องตัดสินใจอย่างไร
ในการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ต้องรณรงค์กับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดก่อนนั้นเมื่อเปรียบเทียบบรรยากาศการรณรงค์กับยุคนี้แล้ว มีบรรยากาศแตกต่างกันหรือไม่
ในปี 2550 เขาเอาเปรียบแค่ประกาศกฎอัยการศึก 48 จังหวัด แต่ไม่ได้ห้ามเรื่องการรณรงค์ และทุกพรรคการเมืองยกเว้นพรรคพลังประชาชนในขณะนั้นให้เหตุผลว่าบอกว่ารับไปก่อนแล้วไปแก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลัง ไม่เว้นภาคประชาชนอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บอกว่าจะเข้าชื่อ 50,000 เพื่อแก้ไข
รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อย่าง จรั ภักดีธนากุล บอกให้รับไปก่อนและแก้ไขทีหลังแบบแก้ไขมาตราเดียวเพื่อจัดทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และคณะกรรมาธิการยกร่างบอกให้รับร่างเพื่อจะมีรัฐบาลของประชาชนทหารจะได้ไป ถ้าไม่รับร่าง คมช. จะเอารัฐธรรมนูญมาประกาศใช้ภายใน 1 เดือน
เพราะฉะนั้นวาทะส่วนใหญ่คือ "รับไปก่อนแล้วแก้ไขที่หลัง" ยกเว้นพรรคพลังประชาชน และ นปก. ในขณะนั้นที่รณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญ แต่ก็ทำอย่างจำกัดจำเขี่ยผลคือแพ้ ไม่รับรัฐธรรมนูญ 10.7 ล้าน รับรัฐธรรมนูญ 14.7 ล้าน
ในการรณรงค์ประชามติปี 2559 ใช้บุคลากรลงพื้นที่ทุกพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน ในการรณรงค์ปี 2550 ไม่มีรณรงค์แบบนี้ และก็ไม่ได้ห้ามการณรงค์ แต่มาครั้งนี้พรรคการเมืองแทบทุกพรรคไม่มีใครกล้าพูดว่ารับไปก่อนแล้วแก้ที่หลัง มีเพียง กปปส. ที่ประกาศรับรัฐธรรมนูญ และระบุว่าเห็นด้วยกับทั้งคำถามพ่วงและรัฐธรรมนูญ
000
กรณีพรรคประชาธิปัตย์ก็พูดถึงข้อไม่ดีของรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยสุดตัวกับคำถามพ่วงประชามติ ผมเชื่อว่าความเห็นแบบนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไปรับรัฐธรรมนูญก็เสียคน เพราะได้พรรณาข้อไม่ดีของรัฐธรรมนูญทั้งหมด ถ้าไปรับรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นคนละเรื่องราว

ประเมินจุดยืนทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ อย่างไร โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีการรณรงค์ เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามจุดยืนของพรรคขนาดกลาง เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา แกนนำพรรคผู้ล่วงลับคือ บรรหาร ศิลปอาชา กล่าวว่าจะรับรัฐธรรมนูญแต่ถือเป็นความเห็นส่วนตัวไม่ใช่ความเห็นพรรค
ผมเพิ่งอ่านความเห็นของ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ต่อเรื่องการจัดเวทีชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญให้กับตัวแทนพรรคการเมือง โดยพูดชัดว่าถ้าเชิญมาในค่ายทหารเขาไม่ไป กรณีพรรคประชาธิปัตย์ก็พูดถึงข้อไม่ดีของรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยสุดตัวกับคำถามพ่วงประชามติ ผมเชื่อว่าความเห็นแบบนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไปรับรัฐธรรมนูญก็เสียคน เพราะได้พรรณาข้อไม่ดีของรัฐธรรมนูญทั้งหมด ถ้าไปรับรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นคนละเรื่องราว
บรรยากาศปีนี้แตกต่างจากปี 2550 ผมเชื่อว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ถ้าฟังจาก สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ก็พอคิดได้ว่าขืนใครเอา คสช. มาแบกไว้ คงไม่ได้แบกตอนประชามติเท่านั้น แต่ต้องแบกไปถึงเลือกตั้ง แล้วจะพาให้พรรคสูญพันธุ์ ถ้าอ่านที่คุณสมศักดิ์นำเสนอ ก็พอจะรู้ว่าเขาคิดอย่างไรในใจ
กรณี กปปสประกาศจัดยืนว่ารับรัฐธรรมนูญ ประเมินว่าจะมีกลุ่มย่อยภายในพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมเพื่อรณรงค์ให้รับรัฐธรรมนูญไหม
เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ตามไป ผมประเมินเป็นวิทยาศาสตร์ เราเป็นแกนนำประชาชน ผมรู้ว่าประชาชนเขามอบความไว้วางใจให้ก็จริง แต่ว่าเอาความไว้วางใจประชาชนไปทำสิ่งที่สวนต่อความรู้สึกของเขา ผมเชื่อว่าประชาชนไม่ตามไป ยกเว้นบางพวกที่คลั่งไคล้เป็นการเฉพาะส่วนตัว หรือความอคติกับอีกฝ่ายหนึ่งจนเกินตัว ซึ่งเป็นจำนวนไม่มาก เพราะฉะนั้นมวลมหาประชาชนจะไม่อยู่ในสภาพเท่าเดิม
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองมีพื้นที่ในภาคใต้ แต่ในกรุงเทพมหานคร พรรคก็มีปัญหากับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่อดีตมาจากพรรคเดียวกันคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร คุณสุขุมพันธ์บริหาร กทม. 2 รอบ ผมเห็นว่ามีเครือข่ายระดับหนึ่ง ที่สำคัญคนกรุงเทพฯ เขาได้รับผลกระทบจากการยึดอำนาจเต็มๆ สมมติว่าถ้าประชาธิปัตย์ประกาศรับรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์ในการเลือกตั้งที่กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นท่วงทำนองของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือองอาจ คล้ามไพบูลย์ โดยเฉพาะองอาจที่เขาอยู่ในขบวนการประชาชนมานานเขามองเห็น การรับรัฐธรรมนูญเป็นการการันตีคณะยึดอำนาจ เท่ากับไปรับแทนผลของคณะยึดอำนาจ ในเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน และเรื่องประชาธิปไตย และแน่นอนขณะยึดอำนาจทุกยุคทุกสมัย ใครอิงแอบกับทหาร หรือพรรคการเมืองพรรคทหาร เหมือนพรรคเทพพรรคมารสมัยพฤษภาคม 2535 จะแพ้ชนิดที่ว่าหาเส้นทางชนะไม่เจอ และยิ่งจะแพ้หนักกว่าเดิม
ผมจึงไม่แปลกใจที่พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอความคิดแบบนั้น แม้จะไม่ฟันธงว่าจะรับหรือจะไม่รับ แต่ถ้าไปรับผมว่าก็ไม่ใช่คนแล้ว เพราะข้อความจากพรรคประชาธิปัตย์คือไม่เห็นด้วยประเภทสุดโต่งอยู่แล้ว
ดูเหมือนพรรคการเมืองหลักทั้ง พรรค แถลงว่าไม่ชอบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าจะให้ลงแรงออกมารณรงค์แบบที่ นปชทำนั้น คิดว่าจะมีฝ่ายการเมืองอื่น ขั้วอื่น หรือพรรคการเมืองลงแรงแบบนี้ไหม
คือนักการเมืองอาจมีความระมัดระวัง อาจจะกลัวเรื่องตัดสิทธิการเมือง 10 ปี แต่ผมเองมองข้ามแบบนักการเมืองมอง ผมมองว่าในส่วนของภาคประชาชนต้องไม่ปล่อยให้ประเทศเข้าสู่มุมอับ ดังนั้นก็จะทำหน้าที่ และในส่วนพรรคเพื่อไทยแสดงความชัดเจนว่ามีจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ประกาศตรงไปตรงมา
เพราะฉะนั้นประชาชนผู้เลือกตั้งต่างก็ได้ยินกันครบถ้วนจึงเป็นอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นหมากบังคับเหมือนกัน และบรรยากาศแตกต่างจากปี 2550 ไม่มีพรรคการเมืองมาโอ้โลมกับรัฐธรรมนูญ มีแต่สุเทพ เทือกสุบรรณ และวิทยา แก้วภราดัย ในซีก กปปส. ซึ่งผมเชื่อว่าการตัดสินเรื่องนี้เท่ากับปิดฉากทางการเมือง
เท่าที่เคยเรียกร้องเชิญชวนให้มีการอภิปรายโต้วาทีหรือดีเบตเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีใครตอบรับการอภิปรายหรือไม่
โดยหลักในเรื่องการตั้งเวที เป็นการวางกติกาหยุมหยิมไว้เยอะ แม้แต่เวทีที่ กกต. จัดที่หอประชุมกองทัพบกก็พยายามบีบคั้นเรื่องเวลาในการที่จะพูด คือต้องการให้เป็นเวทีของคนที่พูดไม่ได้ พอตั้งคำถามพวกนี้ก็ตอบแบบนักเรียนถามครู ซึ่งคนที่ไปประชุมไม่ได้อยู่ในฐานะนั้น คนที่ไปเขาไปเพราะมองเห็นปัญหาและจะเสนอว่าควรแก้ไขปัญหาอย่างไร
ทาง กกต. พยายามนำเสนอว่าในส่วนของโทรทัศน์ต่างๆ จะเชิญคนที่มีความเห็นแตกต่าง ปัญหาในขณะนี้คือหาคนจากฝ่ายที่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญมาดีเบตยาก ในขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญมีพร้อมกันหมด
เพราะฉะนั้นฝ่ายรับรัฐธรรมนูญไม่พร้อมจัดเวทีดีเบตประเภทตัวต่อตัว นั่งซักไล่ประเด็นกัน แต่ว่าเป็นเวทีเปิดแบบกว้างๆ ให้พูดสั้นๆ ไม่กี่พยางค์ พูดสั้นๆ เป็นความจำกัดจำเขี่ยเต็มที่ เพราะฉะนั้นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญก็มีพื้นที่น้อย และเมื่อเปิดพื้นที่ก็ไปเปิดในค่ายทหารเสียอีก
000
ถ้าเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามายึดป้าย อย่าได้ขัดขวาง แต่ให้พูดคุยกันโดยดีกับเจ้าหน้าที่ เพราะป้ายศูนย์นั้นไม่ใช่แกนหลัก แกนหลักคือหัวใจประชาชน ป้ายและสถานที่เป็นเรื่องสมมติ เรื่องจริงคือความรู้สึกของประชาชนที่จะต้องเดินหน้าต่อไปในการณรงค์ประชามติ

ขณะที่ภาครัฐมีการอบรมครู  ครู  จนถึงครู  เพื่อรณรงค์ในระดับท้องถิ่น เรื่องการรณรงค์ของศูนย์ปราบโกงประชามติ หลังจากที่จะเปิดในระดับจังหวัดแล้ว จะมีการฟื้นกลไก นปชเพื่อรณรงค์คู่ขนานไปถึงระดับพื้นฐานไหม
ผมพูดชัดกับคนทั้งประเทศว่าไม่ได้เป็นเรื่อง นปช. อย่างเดียว ไม่ได้เป็นเรื่องกลุ่มการเมืองใดหนึ่ง พรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง สีใดสีหนึ่ง แต่เป็นเรื่องคนสองฝ่าย คือฝ่ายเผด็จการและประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องคนเสื้อแดง หรือเรื่องของพรรคเพื่อไทย เป็นเรื่องใครก็ได้ ที่คุณศรัทธาเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย คุณก็ร่วมทางกันได้
คำถามคือแล้วกลไกจะถึงหมู่บ้านหรือไม่ เฉพาะพวกผมก็มีครบกันอยู่ แต่ถ้าคนในชาติบ้านเมืองนี้ เราเอาส่วนที่เห็นต่างกันวางไว้ก่อน แล้วเอาเรื่องที่มีจุดร่วมกันคือเอาประชาธิปไตยตั้ง ผมเชื่อว่าทุกหน่วยเลือกตั้งจะมีคนครบ คือจะมีผู้สังเกตการณ์ อยู่ที่่ว่าการเจรจาในวันข้างหน้ากับ กกต. นั้น จะสามารถส่งผู้สังเกตการณ์ในหน่วยลงคะแนนได้หรือไม่ ถ้าเข้าไม่ได้ก็อยู่นอกหน่อย และมีการตรวจสอบเท่าที่จะทำได้ ในวันลงประชามติ โดยจะทำทุกภาคไม่เว้นแม้แต่ภาคใต้ และใครเห็นอะไรผิดปกติก็จะรายงานเข้ามาในศูนย์ ตั้งเป้าไว้หน่วยเลือกตั้งละ 3 คน ในทุกภาครวมทั้งภาคใต้
หลังจากเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติพร้อมกันทั่วประเทศ และหากพบว่ามีเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการโกง ในวันนั้นก็จะเดินทางไปพบ กกต. อีกครั้ง เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ปราบโกงประชามติเข้าไปสังเกตการณ์ในคูหา โดยที่ผู้สังเกตการณ์เป็นคนในพื้นที่
ในพื้นที่ต่างจังหวัดมีมาตรการเรื่องความปลอดภัยอย่างไรบ้าง หลังจากมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่เข้าไปปลดป้ายของศูนย์ หรือมีการควบคุมตัวผู้ปฏิบัติงานในระดับจังหวัด รวมทั้งขอให้แกนนำในพื้นที่อย่าเคลื่อนไหว
ในระดับจังหวัด มีแกนนำของศูนย์ปราบโกงประชามติส่วนกลางที่มีอำนาจรับผิดชอบภูมิภาคได้ลงไปประสานกับตัวแทนแต่ละจังหวัด และได้ปรึกษากันไว้แล้วว่าถ้าเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามายึดป้าย อย่าได้ขัดขวาง แต่ให้พูดคุยกันโดยดีกับเจ้าหน้าที่ เพราะป้ายศูนย์นั้นไม่ใช่แกนหลัก แกนหลักคือหัวใจประชาชน ป้ายและสถานที่เป็นเรื่องสมมติ เรื่องจริงคือความรู้สึกของประชาชนที่จะต้องเดินหน้าต่อไปในการณรงค์ประชามติ
ส่วนตัวมีความเชื่อว่าทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนจะได้แค่ป้ายไป ส่วนบางพื้นที่ซึ่งมีการควบคุมตัวผู้รณรงค์ของศูนย์ เชื่อว่าจะไม่มีการควบคุมตัวไว้นาน นอกจากนี้ นปช. ส่วนกลางได้ไปร้องเรียนกับองค์การสหประชาชาติด้วย และแต่ละพื้นที่หากเกิดเหตุใดขึ้น ก็ให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษไว้เป็นหลักฐานด้วย
เรื่องการยึดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามตินั้น ได้บอกผู้สนับสนุนในแต่ละพื้นที่ว่าอย่าถือเป็นสาระสำคัญ เพราะแก่นของการรณรงค์คือการทำหน้าที่ของประชาชน ทำหน้าที่ของพลเมือง และข้อความในป้าย ก็ไม่ต่างจากข้อความในเสื้อยืด นั่นคือ “ประชามติ ไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า” ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การถูกยึดป้าย แต่อยู่ที่เจตนาที่จะเดินหน้าต่อไปของประชาชนในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ต่างๆ
เมื่อทราบผลประชามติ ศูนย์ปราบโกงประชามติจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป
ขึ้นอยู่กับว่าการจัดการประชามติเป็นไปด้วยความโปร่งใสและยุติธรรมหรือไม่ ถ้ายึดหลักนี้และเป็นไปตามหลักนี้ ไม่ว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไรก็น้อมยอมรับ ผมพูดชัดมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ผมก็ไม่ลงสมัคร ส.ส. อยู่แล้ว เราเป็นนักกีฬาพอ แต่โชคร้ายที่เจอคู่ต่อสู้ที่ไม่ใช่นักกีฬาเท่านั้นเอง