วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

'จาตุรนต์' หวั่น 'มีชัย' ปูทางนายกคนนอก 'อภิสิทธิ์' จี้ กรธ.แจงที่มานายก


'จาตุรนต์' ระบุ 'มีชัย' วางกลไกให้กาบัตรเลือกตั้ง 1 ได้ 3 สร้างเงื่อนไขเพื่อให้คนนอกนั่งนายกหากร่าง รธน. กติกาไม่เป็นประชาธิปไตย 'อภิสิทธิ์' จี้ กรธ.ขอความชัดเจนที่มานายก ด้านโฆษก กรธ. ระบุยังไม่ได้ข้อยุติ
 
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอ กรธ. ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง และการให้มีบัตรเลือกตั้ง 1 ใบเลือกได้ 3 คน คือ เลือกตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต เลือกระบบบัญชีรายชื่อ และเลือกตัวนายกรัฐมนตรีในคราวเดียวกัน ว่า เป็นการสร้างความสับสน ผู้ที่ออกเสียงต้องชั่งน้ำหนัก ไม่รู้ว่าที่เลือกไปเลือกอะไรกันแน่ ต่างจากมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งผู้ออกเสียงอาจนิยมตัวผู้สมัครสูง แต่อาจจะเลือกไม่ตรงกับพรรคการเมืองที่นิยม เลือกบัตร 2 ใบคนละอย่างได้ และการใช้คะแนนดิบที่ได้แต่ละเขตเลือกตั้ง มาคำนวณบัญชีรายชื่อ โดยคำนวณ ส.ส.ทั้งสภาของแต่ละพรรค พรรคที่ได้ ส.ส.เกินครึ่งจากเขตเลือกตั้ง จะกลายเป็นเสียงข้างน้อยในสภา ก็จะไปเอื้อประโยชน์คนนอกมาเป็นนายก
 
“ทำให้สงสัยกลไกนี้เป็นการปูทางให้คนนอกเป็น นายกฯ หรือไม่ โดยอาจฝากชื่อกับพรรคบางพรรค เป็นวิธีการกินทีละคำ คือ ให้เกิดเงื่อนไขให้ได้ นายกฯ คนนอก ได้ก่อน แล้วสร้างสภาพแวดล้อม ซึ่งต้องยอมรับว่า ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ กรธ. เป็นจอมยุทธ์ในทางเทคนิคกฎหมาย วางแผน สร้างเงื่อนไขอย่างแนบเนียน จนในที่สุดเกิดสภาพการมี นายกฯ คนนอก และมีการครอบงำจากอำนาจนอกระบบ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” นายจาตุรนต์ กล่าว
 
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า กลไกเหล่านี้ ยังขัดแย้งกับแนวทางป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองพรรคใดที่เสียงข้างมาก หรือมีการฮั๊วกันด้วย เพราะพรรคเล็กๆ อาจเสนอชื่อคนเป็น นายกฯ ซ้ำกับพรรคใหญ่ก็ได้ ก็จะไปร่วมมือกับบางพรรค ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ต้องจับตาดูการสร้างเงื่อนไขการมี นายกฯ คนนอก และการมีอำนาจนอกระบบที่จะเกิดขึ้น จะอยู่ที่เงื่อนไขหลายๆ อย่างประกอบกัน เท่าที่เห็นบ้างแล้ว เช่น การที่ นายมีชัย พูดถึงเรื่องถ้ามี ส.ส.พรรครัฐบาลได้ใบแดง รัฐบาลก็ต้องล้มไป เป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้ต่างอะไรกับการลงโทษเหมาเข่ง ยุบพรรคการเมืองทั้งพรรค และมีผลทำให้รัฐบาลต้องล้มไปเหมือนอย่างในอดีต อาจจะมีเงื่อนไขอีกหลายอย่างที่ทำให้รัฐบาลล้มไปได้โดยง่าย และบ้านเมืองก็อยู่ในสภาพวิกฤติอีก ถ้าให้มีการยุบสภา และมีการเลือกตั้ง ก็จะเจอเงื่อนไขที่ กรธ.แย้มไว้บ้างแล้ว ก็คือ ถ้าในเขตเลือกตั้งใด ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่มีคนใดได้คะแนนมากกว่าโหวตโน ก็จะทำให้ไม่มี ส.ส.ในเขตนั้น
 
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แค่เร่ิมต้นก็เห็นแล้วว่า กรธ.กำลังคิดเงื่อนไขในการที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของประเทศ และในที่สุดก็จะต้องหาอำนาจนอกระบบ
 
เพราะฉะนั้นคิดว่า เราจำเป็นต้องดูประเด็นต่างๆ ที่ กรธ.กำลังเสนอ และในที่สุด ต้องดูภาพรวม ดูจุดหมายปลายทาง กรธ.กำลังต้องการอะไรกันแน่ ฝ่ายการเมืองน่าจะหารือกันย้ำให้สังคมเข้าใจว่า ถ้ากติกาไม่เป็นประชาธิปไตย ทำเสียงประชาชนไม่มีความหมาย วันนี้ยังไม่ต้องมีการเลือกตั้งดีกว่า และถ้าต้องรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็จะทำ นักการเมืองควรช่วยกันทำให้ผู้มีอำนาจเข้าใจว่า พรรคการเมือง และนักการเมือง ไม่ใช่จะอย่างไรก็ได้เพื่อให้มีเลือกตั้งเร็วๆ การแสดงความคิดเห็นจะมาหวังสนับสนุนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเปิดฟังความเห็นต่างด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไปปิดประตูร่าง แล้วประกาศใช้ไปเลย ถ้าจะให้ได้ร่างที่ดีต้องให้แสดงทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ให้สนับสนุนอย่างเดียวนั้น ไม่ใช่ขอความร่วมมือ เป็นการยุประเทศให้ลงเหวไปมากกว่า และถ้าร่างนี้ผ่านประชามติ บ้านเมืองวิกฤติอีกแน่
 
'อภิสิทธิ์' จี้ กรธ.ขอความชัดเจนที่มานายก
 
ด้านเว็บไซต์ไทยรัฐรายงานวันนี้ (15 พ.ย.) ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี กรธ.เสนอโมเดลที่มาของนายกรัฐมนตรี โดยให้พรรคการเมืองเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯซึ่งอาจเป็นคนที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. ว่า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ ตามหลักการนายกฯต้องเป็น ส.ส. ทุกอย่างก็จะง่าย เพราะใครจะมาเป็นนายกฯต้องผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าผ่านกระบวนการตรวจสอบระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้ามองว่าพรรคการเมืองจะไม่โปร่งใส ก็ต้องหามาตรการ ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้อนกันอยู่ 2 เรื่อง คือ ความพยายามของ กรธ. ที่ต้องการให้ประชาชนทราบล่วงหน้า กับอีกด้านหนึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาหรือไม่ จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์หวาดระแวงว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่ จึงอยากให้ กรธ.มีความชัดเจนทีละประเด็น ว่าประเด็นนายกฯต้องเป็น ส.ส.หรือไม่ ถ้าไม่เป็นจะใช้เงื่อนไขอะไร การให้เปิดเผยรายชื่อมีจุดประสงค์เพื่ออะไร หาก กรธ.มีความชัดเจนจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ เพราะถ้าเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก อาจกังวลว่าพรรคการเมืองจะไม่เปิดเผย ทำให้ประชาชนไม่ทราบล่วงหน้า ดังนั้นต้องให้ได้ข้อยุติก่อนว่า จะมีนายกฯคนนอกหรือไม่
 
โฆษก กรธ.แนะ 'จาตุรนต์' อ่านคำชี้แจงของประธาน กรธ.ให้ครบถ้วน
 
สำนักข่าวไทยรายงานว่าวันนี้ (15 พ.ย.) นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุแนวคิดของ กรธ.เรื่องการเปิดชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นการปูทางให้อำนาจนอกระบบ ว่า ขอให้กลับไปอ่านคำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ที่ชี้แจงสื่อมวลชนโดยละเอียด 6-7 ข้อ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่มีสาระว่า 1.กรธ.ไม่ได้เป็นผู้เสนอชื่อของบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ที่ให้ระบุชื่อก็เพื่อเป็นการบอกกล่าวให้สังคม หรือประชาชนได้รับทราบว่าแต่ละพรรคการเมืองจะเสนอให้ใครขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เสนอได้ไม่เกิน 5 ชื่อ 2.หากพรรคการเมืองต่าง ๆ เห็นพ้องกันว่าจะไม่เสนอชื่อคนนอก หรือผู้ที่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะไม่มีคนนอกขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรี 3.เป็นเรื่องของสภาฯ ที่จะเลือกบุคคลใดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่เกี่ยวกับ กรธ. เราเพียงทำหน้าที่ตอบโจทย์ให้ประชาชนรู้ตามสิทธิว่าใครจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หากพรรคการเมืองนั้นชนะเลือกตั้ง ดังนั้นหากพรรคการเสืองเสนอชื่อคนที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมดเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีใครแทรกแซงได้ ขอให้ดูให้ครบถ้วนก่อน
 
ส่วนที่แกนนำพรรคเพื่อไทยระบุในลักษณะขู่ว่าจะรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านการทำประชามตินั้น นายนรชิต กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน ตนคงไม่ตอบโต้ใด ๆ แต่อยากถามกลับเช่นกันว่าถ้าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการบัญญัติให้มีการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกคน ถามว่ายังคิดจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
 
เมื่อถามว่า ที่ระบุเช่นนี้เหมือนจะชี้ให้เห็นว่าถ้าพรรคการเมืองหรือนักการเมืองได้ประโยชน์ก็จะรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ นายนรชิต กล่าวว่า ต้องให้สังคมคิดเอง แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าถ้าพรรคหรือตัวเองได้ประโยชน์ ก็จะไม่มีใครคัดค้านในการออกกฎหมายต่าง ๆ ใช่หรือไม่  และที่ออกมาค้านนี้ก็อยากให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม ระบบเดิม ๆ หรือไม่ แต่ขอให้ดูผลสำรวจโพลต่าง ๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยกับการปฏิรูป การวางระบบเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น ส่วนคำตอบนั้นขึ้นอยู่ที่ประชาชนต้องคิดเองว่าจะเลือกอย่างไร

แพทย์ชนบทร่อนจม.เปิดผนึกถึงประยุทธ์ คืนความเป็นธรรมแก่เลขาธิการ สปสช.


 
16 พ.ย. 2558 ชมรมแพทย์ชนบท โดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมออกจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอคืนความเป็นธรรมแก่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 
 
โดยจดหมายดังกล่าวระบุว่า ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขหลากหลายวิชาชีพ ขอนายกรัฐมนตรีคืนความเป็นธรรมให้ นพ.วินัย หลังใช้ ม.44 แขวน นพ.วินัย รวมทั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ต่างตั้งข้อกล่าวหาอย่างอึกทึกครึกโครมจนชาวบ้านเข้าใจผิดคิดว่าทุจริตนั้น ปัจจุบันเวลาผ่านมาเกือบ 5 เดือนแล้วได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าไม่มีการทุจริต รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อแสดงถึงธรรมาภิบาลในยุคสมัยการปฏิรูปที่มีอยู่จริง
 
รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก :
 
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี
ขอคืนความเป็นธรรมแก่เลขาธิการ สปสช. นพ.วินัย สวัสดิวร

ชมรมแพทย์ชนบท
16 พฤศจิกายน 2558
เรื่อง ขอคืนความเป็นธรรมแก่เลขาธิการ สปสช. นพ.วินัย สวัสดิวร
กราบเรียน ฯพณฯนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
สืบเนื่องจากการที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  โดยใช้ ม.44 แขวนนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558  รวมทั้ง คตร. และ สตง. ต่างตั้งข้อกล่าวหาอย่างอึกทึกครึกโครมจนชาวบ้านเข้าใจผิดคิดว่าทุจริต นั้น
บัดนี้ เวลาผ่านมาเกือบ 5 เดือนหลังจากใช้คำสั่งมาตรา 44 แล้ว ปรากฏเหตุการณ์ที่สำคัญ  ดังนี้
1.     คตร.ได้ออกมายอมรับว่าไม่มีทุจริต มีเพียงแต่มีแนวคิดและแนวทางในการตีความกฎหมายที่ต่างกัน
2.     สตง.และกรรมการทุกชุดที่ตั้งขึ้นมา ต่างก็สรุปไปในแนวทางเดียวกันว่าไม่มีการทุจริต
3.     ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเองก็ได้นำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปอวดชาวโลกในเวทีการประชุมสหประชาชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา จนเป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศ
4.     องค์การอนามัยโลกประกาศชื่นชมประเทศไทย ประกาศให้ไทยเป็นหัวขบวนและเป็นศูนย์เรียนรู้ของโครงการนำไปสู่การพัฒนาหลักประกันสุขภาพในระดับนานาชาติ
5.     กระทรวงการคลังได้มอบรางวัลองค์กรที่มีการบริหารจัดการดี มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาลดีเด่น เป็นปีที่7ติดต่อกัน โดยท่านนายกประยุทธ์มามอบรางวัลด้วยตนเอง
6.     กพร.ได้พิจารณาประเมินองค์กรมหาชนภายใต้กำกับของรัฐทั้งหมดทุกหน่วยงาน ด้านการบริหารจัดการที่โปร่งใสมีประสิทธิภาพ และได้ประกาศให้ สปสช.เป็นองค์กรมหาชนที่มีคะแนนสูงที่สุด เสนอให้ ครม.รับทราบ
ปรากฏการณ์ทั้ง 6 ประการนี้ ชมรมแพทย์ชนบทเห็นว่า สปสช. ผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้ ในท่ามกลางมรสุมแห่งความอิจฉาและการกล่าวหาใส่ความจากฝ่ายแพทย์พาณิชย์และกลุ่มผู้เสียประโยชน์  ได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่า “ไม่มีการทุจริต”  อีกทั้งยังได้รับรางวัลมากมายที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการบริหารงานในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา  ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ  แต่จนถึงปัจจุบัน   5 เดือนที่ผ่านมา ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่คืนตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้กับ นายแพทย์วินัย  สวัสดิวร แต่ประการใด
ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขหลากหลายวิชาชีพ จึงขอความเป็นธรรมแทนนายแพทย์วินัย สวัสดิวร  โดยขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้โปรดคืนความเป็นธรรมให้กับนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ผู้ไม่มีความผิดใดๆ รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ  ทั้งนี้ เพื่อแสดงถึงธรรมาภิบาลในยุคสมัยการปฏิรูปที่มีอยู่จริง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
                                                        ด้วยความเคารพอย่างสูง

                                                (นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ)
                                                       ประธานชมรมแพทย์ชนบท 
 

ประยุทธ์ชี้อุทยานราชภักดิ์ไม่เกี่ยวคสช ยันรับผิดชอบอยู่แล้ว รับผิดชอบอยู่ทุกเรื่อง

16 พ.ค. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในงานเปิด “GovChannelศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน” ตอนหนึ่งว่า ตนเคยบอกหลายครั้งแล้วว่าความเท่าเทียมคือกฎหมาย ที่ละเว้นไม่ได้ แม้แต่รัฐมนตรี แม้แต่โครงการของกองทัพบก ก็ต้องมีการตรวจสอบ ลงโทษทางวินัย ข้าราชการก็ทำ แต่มีบางพวกไม่สนใจระเบียบ ถูกทุกอย่าง ไม่เคยผิด ไม่เข้ากระบวนการยุติธรรมกล่าวอ้างคนอื่นทั้งที่ตัวเองทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนโครงการราชภักดิ์กำลังสอบไม่เกี่ยวกับคสช. ตนรับผิดชอบอยู่แล้ว รับผิดชอบอยู่ทุกเรื่อง ถ้าผิดก็ดำเนินคดี โครงการนี่ก็เป็นโครงการหนึ่งที่อาจจะเกี่ยวข้องกับมาตรสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันแย่ทั้งหมด หรือประเทศแย่ทั้งหมด กระทรวงแย่ทั้งหมด ตนจำเป็นต้องพูดแบบนี้เพราะรำคาญ และจะไม่เข้าใจกันใหญ่โต
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า รัฐบาลไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะเป็นโครงการที่กองทัพบกจัดสร้างขึ้น และงบประมาณทั้งหมด ก็มาจากการระดมทุน ไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐบาล โดยคงต้องรอผลการสอบสวนที่ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้คณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ
ขณะที่ นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ได้ให้เลขาธิการ ป.ป.ช. ประสานการดำเนินงานไปทางกองทัพแล้ว โดยเบื้องต้นจะให้ทางฝ่ายทหารตรวจสอบให้เสร็จก่อน จากนั้นก็จะขอข้อมูลมาดำเนินการต่อ

คุยกับ ‘เอกชัย’ อยู่จน ‘ชนป้าย’ 2 ปี 8 เดือน คดีขายซีดีสารคดีการเมือง-วิกิลีกส์


 


วันนี้ (15 พ.ย.2558) เอกชัย ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังจากถูกคุมขังนาน 2 ปี 8 เดือน เอกชัยเป็นจำเลยที่ต่อสู้คดีนี้จนถึงชั้นฎีกา และถูกจำคุกจนพ้นโทษตามที่ศาลมีคำพิพากษา
กรณีของเขาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2554 ชายหนุ่มผู้มีอาชีพขายหวยบนดิน ถูกจับกุมตัวหลังจากเขานำซีดีสารคดีการเมืองไทยจัดทำโดยสำนักข่าวเอบีซี ประเทศออสเตรเลีย ไปจำหน่ายในที่ชุมนุมของกลุ่มแดงสยาม บริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสา ข้างสนามหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการล่อซื้อซีดีแผ่นละ 20 บาทจากนั้นจึงจับกุมและแจ้งข้อหาความผิดตามมาตรา 112 รวมถึงข้อหาจำหน่ายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ จากนั้นได้ทำการยึดซีดีรวมถึงเอกสารวิกิลีกส์ฉบับแปลไทยซึ่งเป็นบทสนทนาขององคมนตรีถึงอนาคตการเมืองไทยด้วย
เขาถูกคุมขังอยู่ราว 9 วันก่อนที่ครอบครัวจะนำเงินสด 5 แสนบาทยื่นประกันตัวและศาลอนุญาตให้ประกันตัว ท่ามกลางความงุนงงของเขาเองและบุคคลอื่นๆ เนื่องจากคดีนี้มีน้อยรายนักที่จะได้รับการประกันตัว
เอกชัยเคยกล่าวถึงเหตุผลที่เขานำซีดีสารคดีสำนักข่าวต่างประเทศ และวิกีลีกส์ฉบับแปลไทยไปจัดจำหน่ายในที่ชุมนุมว่า เขาไม่ได้ตั้งใจจะหารายได้ แต่อยากให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากมุมมองของคนที่เป็นกลาง ในความคิดของเขาก็คือ สำนักข่าวต่างประเทศ เขาเห็นว่าการแบ่งฝักฝ่ายทำให้คนฟังและเชื่อแต่ข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตนเอง ก่อนหน้านี้เขาไม่ได้สนใจการเมืองมากนัก แต่หลังจากรัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารในปี 2549 จากนั้นหวยบนดินถูกยกเลิกทำให้เขาว่างงาน จึงเล่นอินเตอร์เน็ต ศึกษาข้อมูลต่างๆ มากขึ้น เขายังกล่าวด้วยว่า เอกสารวิกิลีกส์ฉบับแปลไทยก็นำมาจากในอินเตอร์เน็ตนั่นเอง
ในการต่อสู้คดีนี้ นอกเหนือจากการที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาเป็นพยานให้จำเลยแล้ว คดีนี้ฝ่ายจำเลยยังขอศาลให้ออกหมายเรียกองคมนตรี 2 คนมาให้ปากคำด้วย นั่นคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และพล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เนื่องจากเอกสารวิกิลีกส์เกี่ยวพันกับบทสนทนาของทั้งสอง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ทนายยื่นขอให้ออกหมายเรียกนั้น ศาลได้อธิบายกับทนายว่า การสืบในข้อเท็จจริงนั้นหากสืบได้ว่าจริงก็เป็นการหมิ่น และหากสืบได้ว่าไม่จริงก็ยิ่งหมิ่นมากขึ้นอีก การมุ่งสืบเรื่องข้อเท็จจริงจึงอาจไม่เป็นประโยชน์มากนัก แต่หากฝ่ายจำเลยยังประสงค์จะต่อสู้ในเรื่องข้อเท็จจริงก็เป็นสิทธิที่กระทำได้ ศาลเปิดโอกาสให้สู้คดีเต็มที่ และยืนยันว่าพร้อมจะรับฟังทุกฝ่ายอย่างเป็นกลาง มิได้ต้องการชี้นำ แต่เป็นการหารือกันเพื่อความชัดเจน หลังจากนั้นทนายและจำเลยได้ขอเวลานอกเพื่อหารือกันแล้วจึงแถลงต่อศาลว่า จะต่อสู้เรื่องเจตนาของจำเลยเป็นหลัก แต่ก็จะต่อสู้ในเรื่องข้อเท็จจริงด้วย แต่ฝ่ายจำเลยก็ยินยอมระงับคำร้องในการเรียกพยานองคมนตรีทั้ง 2 ปาก
วันที่ 28 มี.ค.2556 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ลงโทษจำคุกตามมาตรา 112 เป็นเวลา 5 ปี และลงโทษปรับตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ เป็นเงิน 1 แสนบาท แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเลือกโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน และโทษปรับเหลือ 66,666 บาท

จากนั้นเขาก็ถูกคุมขังในเรือนจำเรื่อยมา
วันที่ 8 พ.ค.2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
วันที่ 9 ต.ค.2558 ศาลฎีกาเบิกตัวเขาไปฟังคำพิพากษาเพียงลำพังโดยที่ทนายและญาติพี่น้องไม่ทันได้ทราบข่าว ทราบอีกทีศาลก็พิพากษาลดโทษจำคุกให้จำเลยแล้ว จาก 5 ปี เหลือ 4 ปี เมื่อลดโทษลง 1 ใน 3 เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงคงเหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน (ลดลงจากเดิม 8 เดือน)
หลังเขาออกจากเรือนจำ เขายินดีให้สัมภาษณ์เป็นคลิปวิดีโอสั้นๆ บอกเล่าถึงความรู้สึกที่ได้ปล่อยตัว 
เขากล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้กลับบ้าน กลับมาในที่เดิม แม้จะแปลกใจเล็กน้อยที่ได้ออกก่อนที่คาดไว้เนื่องจากศาลฎีกาลดโทษให้ ทำให้ได้ออกเร็วกว่าเดิม 8 เดือน เขายังวางแผนจะหางานทำและเขียนหนังสือเรื่องราวชีวิตในเรือนจำด้วย

"สารพัดโปรโมชั่นในเรือนจำช่วยดึงใจให้คนเลือกที่จะไม่สู้ ยอมแพ้ เพื่อจะได้จบคดีเร็วๆ แล้วได้วันลด แต่เราเลือกที่จะสู้ เรามีความรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด"

"ก็มีว่อกแว่ก ก่อนศาลฎีกาจะรับใช้เวลา 7 เดือน ตั้งแต่อุทธรณ์ตัดมาจนถึงฎีการับ ช่วงนั้นเป็นช่วงท้อ ทำไมนานนัก แล้วคนก็พูดว่าเมษาปีหน้าอภัยจะมาแล้ว ยอมไปเถอะ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจ ไหนๆ ก็สู้มาแล้ว เอาให้ถึงที่สุดเลย...คนก็มองว่าบ้า โง่"

"ที่หายไปก็คือ อิสรภาพ เราต้องอยู่ในพื้นที่สองไร่ครึ่ง ในเรือนจำแบ่งเป็น 8 แดน เราอยู่แดน 1 ตลอด ซึ่งมีพื้นที่สองไร่ครึ่ง เท่ากับโลกของเรามีแค่สองไร่ครึ่งเท่านั้นเอง นานๆ จะได้ออกจากพื้นที่น้ไป เวลามีทนายมาเยี่ยม หรือญาติมาเยี่ยม แต่สิ่งที่เราได้มาก็คือประสบการณ์...อย่านึกว่าในเรือนจำมีแต่คนเลวนะ จริงๆ คนดีเยอะกว่าคนเลวด้วยซ้ำ เป็นอะไรที่เรานึกไม่ถึง"

"เรื่องความคิดทางการเมืองมีทั้งสิ่งที่เปลี่ยนและไม่เปลี่ยน แต่เอาเป็นว่าเราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ก่อนหน้านี้อาจจะเป็นแบบ อย่างที่ตอนที่เคยทำงานกับอ.ธิดา แกเคยพูดว่า ผมน่ะ เรื่องการเมืองแค่เด็กอนุบาล อันนี้ผมยอมรับว่าเรื่องจริง พอมาอยู่ มาเจอแบบนี้ เรามีความรู้สึกว่า ความคิดเรื่องการเมืองเราเมื่อก่อนนี้อนุบาลจริงๆ เด็กๆ เลย แล้วตอนนี้ก็ดีขึ้น แต่ก็แค่เด็กประถมเท่านั้นแหละ มหาลัยยังอีกยาวไกล" เอกชัยกล่าว