|
ระบอบทักษิณ
ระบอบทักษิณ บันทึกเรื่องราวของคำสร้างคำหนึ่ง (ตอนต้น)
โดย เกษียร เตชะพีระ มติชนรายวัน วันที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10681
“ระบอบทักษิณ” … เป็นคำนิยามทางการเมืองที่นักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ เช่น นายธีรยุทธ บุญมี ดร.เกษียร เตชะพีระ และ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ได้กล่าวไว้ในงานศึกษาวิจัยของตน…โดย ดร.เกษียร เตชะพีระ ได้กล่าวถึง “ระบอบทักษิณ” มาตั้งแต่ปี 2546 ในการปาฐกถาเรื่อง “2 ปีระบอบทักษิณ กับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ”
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ, คำวินิจฉัยที่ 1 – 2/2550, เรื่องอัยการสูงสุดขอให้มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และพรรคประชาธิปัตย์,
30 พฤษภาคม พ.ศ.2550
คือเรื่องของเรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ…..
ตอนหัวค่ำคืนหนึ่งต้นเดือนกุมภาพันธ์สี่ปีก่อน หลังจากนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 29, 30 และ 31/2546 ลงวันที่ 28 มกราคม 2546 เปิดฉากทำสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดทั่วประเทศนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไปได้ไม่นาน
ในสภาพที่ยอดตัวเลขผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติดซึ่งถูก “วิสามัญ-ฆ่าตัดตอน” รายวันพุ่งพรวดขึ้นอย่างรวดเร็วนับพันคน และถูกขึ้นบัญชีดำอีก 44,700 คน เสียงทักท้วงทัดทานวิตกวิจารณ์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมและการที่ผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อก็เริ่มดังเซ็งแซ่ขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยรัฐบาลไม่แยแส….
คุณสมชาย หอมลออ เพื่อนเก่ารุ่น 6 ตุลาฯ 2519 ผู้รอดชีวิตอย่างอาบเลือดจากเหตุการณ์ฆ่าหมู่ในธรรมศาสตร์ และหันมายึดวิชาชีพทนายความสิทธิมนุษยชน ได้โทร.มาหาผมที่บ้านเพื่อชักชวนในนามของ “คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” ให้ช่วยไปปาฐกถานำทางวิชาการ ในเวทีสาธารณะเรื่อง “2 ปีระบอบทักษิณ กับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ศกเดียวกัน ในหัวข้อเกี่ยวกับ “ระบอบทักษิณ”
นั่นนับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้ยินคำคำนี้และออกจะลังเลว่ามันหมายถึงอะไร?
หลังจากหารือคุณสมชายอยู่ครู่หนึ่ง ผมจึงตอบรับแต่เลี่ยงไปว่าแทนที่จะพูดถึง “ระบอบทักษิณ” โดยตรงซึ่งผมยังไม่แน่ใจนัก เอาเป็นว่าผมขอพูดเรื่องวัฒนธรรมการเมืองในสมัยรัฐบาลทักษิณได้หรือไม่? คุณสมชายไม่ขัดข้อง ตราบเท่าที่มีคำว่า “ระบอบทักษิณ” อยู่ในหัวข้อ
ถึงวันนัด ผมจึงร่างเค้าโครงปาฐกถาไปอ่านในที่ประชุมเกี่ยวกับแนวโน้มของปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการเมืองไทยแต่เดิม และที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัฐบาลทักษิณ โดยเน้นกรณีฆ่าตัดตอนผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติด ที่กำลังลุกลามรุนแรงขณะนั้น ในหัวข้อ
“ระบอบทักษิณกับวัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตยไทย” ซึ่งต่อมาได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นบทความภายใต้ชื่อใหม่ว่า “วัฒนธรรมการเมืองอำนาจนิยมปฏิปักษ์ปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ” และตีพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสและรูปแบบต่างๆ ราว 4 ครั้งคือ:
- คอลัมน์ประจำวันศุกร์ของผมในมติชนรายวันตลอดเดือนมีนาคม พ.ศ.2546
- สมชาย หอมลออ, บก. อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร: บทสะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย (มิ.ย. 2547)
- เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, บก. รู้ทันทักษิณ 2 (ส.ค. 2547)
- อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, บก. ปิดหู ปิดตา ปิดปาก: สิทธิเสรีภาพในมือธุรกิจการเมืองสื่อ (มี.ค. 2548)
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนสำคัญในแวดวงวัฒนธรรมสื่อสาธารณะที่ทำให้คำสร้างคำนี้ติดตลาดขึ้นมา คือการสัมมนานักวิชาการ ปัญญาชนสาธารณะ สื่อมวลชนและเอ็นจีโอครั้งใหญ่กว่า 30 คนที่เชียงใหม่ จัดโดยกองบรรณาธิการนิตยสาร ฟ้าเดียวกัน ในหัวข้อเรื่อง “ระบอบทักษิณ: ความเป็นมาและความเป็นไปในอนาคต” เมื่อ 10-11 ม.ค. 2547
ในที่สัมมนานี้เองที่ผมมีโอกาสนำเสนอเค้าโครงความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุปัจจัยที่มา, บุคลิกลักษณะเฉพาะและแนวโน้มที่น่าจะเป็นไปในอนาคตของ “ระบอบทักษิณ” ซึ่งผมได้ค่อยๆ สั่งสมรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์วิจารณ์และประมวลสังเคราะห์ขึ้นอย่างเป็นระบบในรอบปีที่ผ่านมาและทยอยเขียนลงเป็นตอนๆ ในคอลัมน์ประจำวันศุกร์ที่มติชนรายวันนับแต่เดือนตุลาคม 2546-กุมภาพันธ์ 2547
ส่วนหนึ่งของข้อเขียนเหล่านี้และบันทึกคำอภิปรายในที่สัมมนาได้รวมตีพิมพ์ในวารสารฟ้าเดียวกันฉบับระบอบทักษิณ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มี.ค. 2547)
ต่อมาผมได้รวบรวมงานเขียนชุดนี้มาตัดต่อจัดลำดับเรียบเรียงปรับปรุงเข้าด้วยกันใหม่เป็นภาคสองของหนังสือเรื่อง บุชกับทักษิณ: ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน (ก.ย. 2547) พิมพ์โดยโครงการจัดพิมพ์คบไฟในที่สุด
ผมคิดว่านี่คงไม่ใช่สถานที่และโอกาสอันควรที่จะมากล่าวซ้ำเรื่องความเข้าใจ “ระบอบทักษิณ” ของผม มันไม่ใช่ความลึกลับอะไรสำหรับท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ของผมเป็นประจำ และท่านอื่นที่สนใจย่อมสามารถสอบค้นจากรายชื่อหนังสือเอกสารสิ่งพิมพ์ที่ผมแจ้งไว้ข้างต้นได้
ผมเพียงใคร่เรียนว่า โดยปกติวิสัยของสิ่งสร้างทางถ้อยคำความคิด เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์วิเคราะห์ทำความเข้าใจ ปรากฏการณ์ทางสังคม และการเมืองเช่นนี้ “ระบอบทักษิณ” อย่างน้อยในตำรับของผม ก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่างโต้แย้งในทางวิชาการแต่ต้น เช่น:
ในที่สัมมนาปี 2547 ซึ่งกล่าวถึงข้างต้น อาจารย์อัมมาร สยามวาลา คุรุเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เห็นต่างออกไปว่าทักษิณเป็นแค่ deal-maker มีแต่ทำลายสถาบันที่มีอยู่เดิมลงไป ไม่ได้สร้างระบอบอะไรใหม่ขึ้นมา
ผู้ร่วมสัมมนาอีกท่านคืออาจารย์อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ นักวิจัย และรองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียน The Thaksinzation of Thailand (2548) ร่วมกับอาจารย์ Duncan McCargo แห่งมหาวิทยาลัย Leeds ประเทศอังกฤษ ก็คล้อยตามทรรศนะของอาจารย์อัมมารและเห็นว่าทักษิณไม่มีหลักปรัชญาอะไร เพียงแค่พลิกแพลงฉวยโอกาสหาประโยชน์ ไปตามสถานการณ์
เมื่อบทวิเคราะห์ “ระบอบทักษิณ” ของผมตีพิมพ์เผยแพร่ออกไป อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร้องทักว่าวิสัยทัศน์ของผมต่อ “ระบอบทักษิณ” คล้ายกันอย่างน่าทึ่งในบางประเด็น กับวิสัยทัศน์ของเขาต่อประวัติความเปลี่ยนแปลงคลี่คลายของรัฐไทย หากแต่เขาเสนอกรอบการวิเคราะห์ที่แตกต่างออกไปซึ่งเขาเห็นว่า “เหนือกว่า” (ว่าด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” : อนุสนธิจาก “ฟ้าเดียวกัน” ฉบับล่าสุด โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, 23 มีนาคม พ.ศ.2547, X)
อาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ แห่งมหาวิทยาลัย cornell ผู้เขียน การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (ฉบับแปลเป็นไทย พ.ศ.2526) อันเป็นงานศึกษาการเมืองการปกครอง “ระบอบสฤษดิ์” ที่ดีที่สุด ก็โต้แย้งการที่ผมพยายามวิเคราะห์เปรียบเทียบ “ระบอบทักษิณ” กับ “ระบอบสฤษดิ์” ในบทสัมภาษณ์ “ทักษิณเปรียบเทียบกับสฤษดิ์ไม่ได้”, ฟ้าเดียวกัน, 3: 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2548), 48-58
และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย ก็เห็นว่าเวลาในอำนาจเพียง 3 ปีสั้นเกินกว่ารัฐบาลทักษิณจะกลายเป็นระบอบอะไรขึ้นมาได้ (สัมภาษณ์พิเศษศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ตอนที่ 1 : 30 ปี 6 ตุลาประชาธิปไตยแพ้แล้ว? โดย พิณผกา งามสม, 10 กรกฎาคม พ.ศ.2549, http://www.prachatai.com)
ในทางกลับกัน อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เพื่อนร่วมงานที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็ได้กล่าวปาฐกถานำ ในการประชุมทางวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 5 เมื่อ 2 ธันวาคม พ.ศ.2547 แสดงความเห็นพ้องกับข้อวิเคราะห์ “ระบอบทักษิณ” ของผม โดยมองมันในกรอบแนวคิดที่ท่านเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยม” (“ประชาธิปไตยอำนาจนิยม อำนาจอันน่าสะพรึงกลัวแล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร? (สองตอนจบ), มติชนสุดสัปดาห์, 25: 1270 (17 ธ.ค. 2547) และ 25: 1271 (24 ธ.ค. 2547) เป็นต้น
ระบอบทักษิณ บันทึกเรื่องราวของคำสร้างคำหนึ่ง (ตอนจบ)
โดย เกษียร เตชะพีระ มติชนรายวัน วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10
สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ลำดับความเป็นมาของการสร้างแนวคิดคำว่า “ระบอบทักษิณ” ขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 รวมทั้งตัวอย่างปฏิกิริยาต่อแนวคิดดังกล่าวในทางวิชาการ ในตอนนี้ ผมจะขอเล่าต่อเกี่ยวกับปฏิกิริยาทางการเมืองต่อคำสร้างคำนี้
แน่นอน ขณะเดียวกันคำสร้างคำนี้ก็ย่อมเผชิญการบิดเบือน ฉวยใช้ และประณามโจมตีทางการเมืองเป็นธรรมดา ชั่วแต่ว่าน่าเสียดายที่จำนวนมากเป็นการโจมตีอย่างสาดเสียเทเสีย ต่ำช้าหยาบคายกระหายเลือดและเหมารวมไม่เลือกหน้า โดยไม่ฟังเหตุฟังผล ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เห็นต่าง ตามหลักตรรกะบ้องตื้นสามานย์ทางการเมืองว่า:-
- 1) กำหนดศัตรูคู่อาฆาตหลักให้แน่ชัดตายตัว!
- 2) เอ็งต้องอยู่ข้างข้า หรือไม่เอ็งก็อยู่ข้างศัตรู! (ตามวาทะอื้อฉาว “Either you are with us. or you are with the terrorists.” ในคำปราศรัยของประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้ลูก ต่อที่ประชุมสภาคองเกรสสหรัฐอเมริกา เมื่อ 20 กันยายน พ.ศ.2544)
- 3) ศัตรูของศัตรูก็คือมืตร! และ
- 4) สิ่งใดศัตรูสนับสนุน เราต้องคัดค้าน สิ่งใดศัตรูคัดค้าน เราต้องสนับสนุน!
โดยในบรรดาผู้โจมตีนั้นบางรายก็เคยแสดงจุดยืน “สิทธิเสรีภาพ” และ “ประชาธิปไตย” อันกล้าหาญ ด้วยการเป่าไม้ตีพริกเงียบสนิท ระหว่างที่สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด และนโยบายผิดพลาดรุนแรงทางชายแดนภาคใต้ ดำเนินไปอย่างนองเลือดภายใต้รัฐบาลทักษิณ
จะว่าไปแล้ว มันก็เหมือนสิ่งสร้างทางวิชาการทั้งหลาย คำและความคิดว่าด้วย “ระบอบทักษิณ” ในการตีความค้นคว้าของผมอาจผิดหมดก็ได้ หรือที่มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าคือมีทั้งผิด ทั้งถูก คละเคล้าปะปนกันไป โดยที่ผมก็ได้แต่หวังว่ามันจะถูกมากกว่าผิดสักเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์วิจารณ์วิวาทวาทากันต่อไปในทางวิชาการ
แต่สำหรับในแง่อื่นที่ไม่ใช่วิชาการ ผมพิจารณาทบทวนตัวเองดูแล้ว บอกได้ว่า My conscience is clear. I have nothing to apologize for.
บทสรุปตอนท้ายปาฐกถาแรกเริ่มของผมเกี่ยวกับ “ระบอบทักษิณ” เมื่อสี่ปีก่อน มีข้อสังเกตบางประการ เกี่ยวกับประสบการณ์การสร้างเสรีประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง พ.ศ.2540 ซึ่งเมื่อดูการคลี่คลายของเหตุการณ์ที่ผ่านมาจนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ขึ้น ผมคิดว่ามันยังมีค่าควรแก่การนำมากล่าวซ้ำในที่นี้:
“ภัยคุกคามที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยไทย กำลังเผชิญอยู่ต่างจากอดีตที่ผ่านมา มันไม่ใช่ (ถึงทุกวันนี้คงต้องเติมคำว่า “แค่”) ภัยเผด็จการจากภายนอก แต่เป็นปัญหาความเสียดุลโน้มเอียงเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมการเมืองที่อันตราย ภายในระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยนั้นเอง ระหว่างการรวมศูนย์ผูกขาดอำนาจกับการจำกัดและกระจายอำนาจ, ระหว่างเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อย, ระหว่างผู้ปกครองกับพลเมือง, ระหว่างรัฐกับบุคคล, และระหว่างอำนาจกับสิทธิ ซึ่งซับซ้อนกว่าและจัดการแก้ไขยากกว่า, ในแง่หนึ่งเป็นเผด็จการเต็มรูปเสียอีกจะมองออก เข้าใจและจัดการง่ายขึ้น แต่การจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในนามของรัฐบาลเสียงข้างมาก ที่ได้รับเลือกตั้งมาแบบประชาธิปไตยนั้น ทำให้มาตรการอำนาจนิยม/อ-เสรีนิยมกลับดูชอบธรรม เกิดภาพสับสนคลุมเครือ สร้างความเข้าใจไขว้เขวซึ่งรับมือยากยิ่ง จนเกิดคำถามว่าหลักสิทธิเสรีภาพ และระบอบรัฐธรรมนูญ จะเอาตัวรอดจากระบอบประชาธิปไตยไทยดังที่เป็นอยู่ (actually existing Thai democracy) ได้หรือไม่?
“เพื่อธำรงรักษาระบอบรัฐธรรมนูญไว้ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมการเมืองอำนาจนิยม-ปฏิปักษ์ปฏิรูป, ฟื้นฟูสมดุลและผลักดันการปฏิรูปการเมืองในทิศทางเสรีนิยมและประชาธิปไตยต่อไป สังคมไทยคงต้องทำความเข้าใจ หลักมูลฐานต่างๆ ของการใช้ชีวิตการเมืองอยู่ร่วมกันในระบอบเสรีประชาธิปไตย โดยเฉพาะในประเด็นความสัมพันธ์ และดุลยภาพของหลักการเหล่านั้นให้มากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าในประวัติการต่อสู้เพื่อเสรีประชาธิปไตยในสังคมไทยที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งใดที่สถานการณ์เรียกร้องให้ต้องใช้สติปัญญา ความอดทนอดกลั้น ความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และอหิงสธรรมสูงขนาดนี้…..
“พรรคไทยรักไทยย่อมจะไม่เป็นพรรครัฐบาลไปตลอดกาล, ท่านนายกฯทักษิณก็คงจะไม่แบกรับภาระรับใช้ชาติอันหนักหน่วง ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และผมก็คงจะไม่ตั้งหน้าตั้งตาค้านยันทุกลมหายใจ ของท่านจนลมหายใจเฮือกสุดท้ายของผมเช่นกัน ยังมีอย่างอื่นอีกในชีวิตและสักวันหนึ่งพรรคไทยรักไทย ท่านนายกฯ ผม พวกเราทุกคนก็จะจากโลกใบนี้และบ้านเมืองนี้ไป, อนาคตจะเป็นของคนรุ่นหลังที่จะรับช่วงดูแลและอยู่กับมันต่อ ผมหมายถึงคนอย่างคุณพานทองแท้และน้องๆ กับหนูกลอยของผม
“มันจึงสำคัญว่าท่านนายกฯ และพวกเราจะทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมการเมืองอะไรไว้ให้กับพวกเขา เพราะสิ่งที่เราทำในวันนี้ จะเป็นของพวกเขาในวันหน้า, จำเป็นที่ท่านนายกฯ และพวกเราจะถามตัวเองตั้งแต่วันนี้ว่า
- วิสัยทัศน์ทางการเมืองของเราในอนาคต post-us หรือภายหลังพวกเราจากไปแล้วคืออะไร?
- เราปรารถนาให้ลูกหลานของเรา– คุณพานทองแท้และน้องๆ รวมทั้งหนูกลอย – ดำรงความสัมพันธ์ทางอำนาจต่อกันอย่างไร ใช้อำนาจต่อกันอย่างไรในอนาคต?
- เพราะเราไม่รู้แน่ – มันเป็นธรรมชาติของอนาคตว่ามันเป็นสิ่งที่ทำนายไม่ได้แน่ – ว่าใครจะลงเอยเป็นผู้ปกครองหรือผู้ถูกปกครอง, เสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย, เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือพลเมืองผู้มีสิทธิ, ตำรวจ ทหาร หรือผู้ต้องหาผู้ต้องสงสัย?
- ทำอย่างไรจึงจะวางหลักประกันได้ตั้งแต่วันนี้ว่าลูกหลานของพวกเราในวันข้างหน้า ไม่ว่าเขาจะตกอยู่ในฐานะการเมืองใด มีอำนาจหน้าที่เหลื่อมล้ำมากน้อยต่างกันอย่างไร ทุกคนจะมีหลักประกันอย่างเท่าเทียม ในสิทธิเสรีภาพของร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน, และมีความเอื้ออาทรต่อกันในฐานะเพื่อนมิตร, เพื่อนมนุษย์ และเพื่อนร่วมชาติ?
“กรรมย่อมสนองผู้ประพฤติกรรม, ปลูกอะไรวันนี้ ลูกหลานของเราย่อมจะได้รับผลของมันในวันหน้า”
คำทักท้วงเตือนข้างต้นไม่ใคร่มีใครใส่ใจฟังเมื่อสี่ปีก่อน มาครั้งนี้จะมีคนสนใจฟังมันมากขึ้นบ้างไหมหนอ?
|
|
|