วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

นายกฯยกเลิกกฎอัยการศึก ขณะที่หัวหน้าคสช.ใช้ ม.44 ออก 14 คำสั่งเหล็กแทน

ตั้งนายทหารเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยให้นายทหารป้องกันและปราบปรามการกระทําอันเป็นความผิด ม.112 ความมั่นคงของรัฐ กฎหมายว่าด้วยอาวุธ ฝืนคำสั่ง คสช. ฯลฯ ให้เกิดผลโดยเร็ว โดยให้ถือเป็นพนักงานสอบสวน
1 เม.ย.2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึก โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกตามประกาศทั้งสองฉบับ คือประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 ลงวันที่ 20 พ.ค.2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 2/2557 ลงวันที่ 22 พ.ค.2557 ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่ 19 พ.ค.2557
และในวันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยระบุว่าเนื่องจากมีการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรแล้ว สมควรมีมาตรการในการดําเนินการกับการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ การฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งคุกคามความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ดังนั้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําดังกล่าวให้ลดน้อยหรือหมดสิ้นลงโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุจริตชนและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป
โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ในคําสั่งนี้
“เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ขึ้นไป ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคําสั่งนี้
“ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคําสั่งนี้
ข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยดําเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทําอันเป็นความผิด ดังต่อไปนี้ ให้เกิดผลโดยเร็ว
(1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 107 ถึงมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
(2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 113 ถึงมาตรา 118 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
(3) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด สําหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงคราม
(4) ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ข้อ 4 ในการดําเนินการตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือมาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามข้อ 3
(2) จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการต่อไป
(3) ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิดตามข้อ 3 ในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(4) เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทําความผิดตามข้อ 3 หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สิน ซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทําความผิดหรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดตามข้อ 3 หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอา หมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
(5) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบตาม (4)
(6) กระทําการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
ข้อ 5 ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนให้ยุติลงโดยเร็ว หรือป้องกันมิให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการออกคําสั่งดังกล่าวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยจะกําหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามคําสั่งด้วยก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะกําหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยก็ได้
ข้อ 6 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิดตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคําอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการตามข้อ 3 และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จจะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 7 วัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจํา และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้
เมื่อมีเหตุอันจะต้องดําเนินคดีต่อบุคคลที่กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งในฐานะเป็นผู้ต้องหาให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจดําเนินการต่อไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 7 ให้ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งนี้ตามที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยสั่งการหรือมอบหมาย
ข้อ 8 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งนี้ ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ข้อ 9 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามข้อ 4 (1) ข้อ 5 หรือข้อ 6 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ข้อ 10 ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ข้อ 11 ในกรณีที่บุคคลใดถูกควบคุมตัวตามข้อ 6 วรรคหนึ่ง เนื่องจากการกระทําความผิดตามข้อ 3 (4) เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยอาจปล่อยตัวไปโดยมีหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ เงื่อนไขในการปล่อยตัวตามวรรคหนึ่ง หมายถึง การกําหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา 39 (2) ถึง (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา การห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือการสั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ข้อ 12 ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ 11 วรรคสอง ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2529
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ข้อ 13 การกระทําตามคําสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
ข้อ 14 เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยที่กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 17 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน' สรุป 15 ประเด็น ว่าด้วยมาตรา 44

Thu, 2015-04-02 13:10

2 เม.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่เอกสารทำความเข้าใจผลของการยกเลิกกฎอัยการศึก คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ซึ่งนำมาบังคับใช้แทน ตั้งคำถามดีกว่าจริงหรือไม่ มีรายละเอียด ดังนี้

1.       พื้นที่ซึ่งประกาศกฎอัยการศึกก่อนวันที่ 20 พ.ค. 57 เช่น พื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่จังหวัดชายแดนในภาคอื่นๆ ยังคงประกาศกฎอัยการศึกต่อไปไม่ได้ยกเลิก
2.       พลเรือนยังคงต้องขึ้นศาลทหารต่อไปในคดีตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 37/57, 38/57, และ 50/57
3.       ศาลทหารในยามปกติสามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ แต่ต้องเป็นคดีที่เกิดนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 58 เป็นต้นไป คดีซึ่งเกิดระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 57 – 31 มี.ค.58 ยังคงไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ ตามมาตรา 61 พระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498
4.       เดิมมาตรา 15 ทวิ กฎอัยการศึกให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลไม่เกินเจ็ดวัน หากมีคดีหลังจากนั้นต้องส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่สอบสวน แต่คำสั่งฉบับนี้ให้อำนาจ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารยศนายร้อยขึ้นไปทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคง ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ไม่เคยมีกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงฉบับใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเป็นพนักงานสอบสวนมาก่อน)
5.       กล่าวคือ ในคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคง ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจจับกุม ควบคุมตัว เข้าร่วมเป็นพนักงานสอบสวน (ตามคำสั่งฉบับนี้) ส่งฟ้องโดยอัยการทหาร และตัดสินโดยศาลทหาร (ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/57, 38/57, 50/57)
6.       เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวัน ในสถานที่ซึ่งไม่ใช่สถานที่คุมขัง และปฏิบัติเหมือนเป็นผู้ต้องหาไม่ได้  เช่นเดียวกับกฎอัยการศึกซึ่งเจ้าหน้าที่ตีความว่าผู้ถูกกักตัวไม่ใช่ผู้ต้องหา จึงไม่มีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ต้องหาคือ ไม่มีสิทธิพบญาติ ไม่มีสิทธิพบทนายความในช่วงเวลาดังกล่าว
7.       กรณีถูกควบคุมตัวไม่เกินเจ็ดวันเนื่องจากเหตุความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจกำหนดเงื่อนไข (1) ห้ามเข้าเขตที่กำหนด (2) เรียกประกันทัณฑ์บน (3) คุมตัวไว้ในสถานพยานบาล (4) ห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง (5) ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต (6) ระงับธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่มากไปกว่าเงื่อนไขท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 40/2557
8.       เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัว จับกุม ควบคุมตัว ค้น ยึด อายัด กระทำการใดๆตามคำสั่ง คสช.และเป็นพนักงานสอบสวนตามความผิด 4 ประเภทข้างต้น
9.       เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้ แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบ เรียบร้อยของประชาชน
10.   กำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเป็นความผิด และหากผู้กระทำความผิดดังกล่าวสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเจ็ดวันและเจ้าพนักงานเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขและให้คดีอาญาเลิกกัน (แนวความคิดเช่นเดียวกับมาตรา 21 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551  ในขณะที่พ.ร.บ.ดังกล่าวมีองค์กรตุลาการเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วยแต่คำสั่งฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเท่านั้น)
11.   การกระทำตามคำสั่งฉบับนี้ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและไม่สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้
12.   มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ให้อำนาจเฉพาะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวคือเป็นการขยายเขตแดนในการใช้อำนาจให้มากยิ่งขึ้น
13.   เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย
14.   แม้ข้อ 14 ตามคำสั่งฉบับนี้จะไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย จากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แต่มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด
15.   กล่าวโดยสรุป คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ยังคงไว้ซึ่งอำนาจตามกฎอัยการศึก แต่เพิ่มเติมเรื่องการอบรมตามแนวทางพระราชบัญญัติความมั่นคง การยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงเพิ่มอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมีบทบัญญัติรับรองความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญตามมาตรา  44

แอมเนสตี้ฯ วิพากษ์คำตัดสิน 'ไม่ปกติ' จำคุก 25 ปีคดี 112

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล วิพากษ์การตัดสินลงโทษและสั่งจำคุกนักธุรกิจไทย 25 ปี ฐานวิจารณ์ราชวงศ์ผ่านเฟซบุ๊ก เป็นคำตัดสินที่ไม่ปรกติ ชี้ไทยจำเป็นต้องแก้ไข กม.หมิ่นที่ล้าสมัย   
2 เม.ย. 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 มี.ค. เรื่อง "บทลงโทษจำคุก 25 ปีที่ไม่ปรกติสำหรับการวิจารณ์ราชวงศ์ ท่ามกลางแผนการยกเลิกกฎอัยการศึก"
      
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า การตัดสินลงโทษและสั่งจำคุกนักธุรกิจไทยในเช้าวันที่ 31 มีนาคม 2558 เป็นเวลา 25 ปี ฐานการวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ผ่านข้อความในเฟซบุ๊ก เป็นคำตัดสินที่ไม่ปรกติ และแสดงให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ล้าสมัย
      
ศาลทหารของไทยมีความเห็นว่า นายเธียรสุธรรม (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี มีความผิดห้ากระทงฐานโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน 2557
      
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ว่า ในวันเดียวกับที่มีการตัดสินคดีนี้ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชามีคำขอพระบรมราชโองการเพื่อประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมอบอำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบให้นายกรัฐมนตรีที่จะประกาศใช้กฎหมายใหม่แทนกฎอัยการศึก โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ
      
นับแต่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในไทยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ประชาชนหลายร้อยคนได้ถูกควบคุมตัวโดยพลการ และอีกหลายสิบคนต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลทหาร เนื่องจากใช้สิทธิการชุมนุมและการแสดงออกอย่างสงบ
      
รูเพิร์ต แอ็บบอตต์ (Rupert Abbott) รองผู้อำนวยการงานวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า การยกเลิกกฎอัยการศึกจะไม่ช่วยให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยดีขึ้น หากมีการนำกฎหมายที่กดขี่ปราบปรามฉบับนี้มาใช้ แทนที่จะทำเช่นนั้น รัฐบาลไทยควรฟื้นฟูหลักนิติธรรมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากรัฐประหารเมื่อปี 2557
      
“การตัดสินลงโทษนายเธียรสุธรรมครั้งนี้ เป็นหนึ่งในบทลงโทษรุนแรงที่สุดที่ทางเราได้เห็นมา แสดงถึงสัญญาณที่น่ากังวลว่าทางการไทยมุ่งปราบปรามบุคคลที่แสดงความเห็นต่าง”
      
“เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่ในศตวรรษที่ 21 นี้ยังมีการคุมขังบุคคลเป็นเวลาหลายทศวรรษเพียงเพราะการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ การแสดงความเห็นอย่างสงบไม่ใช่อาชญากรรม นายเธียรสุธรรมต้องได้รับการปล่อยตัวทันที และต้องมีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีสิทธิมนุษยชนของไทย”
      
ศาลทหารตัดสินลงโทษจำคุกนายเธียรสุธรรม 50 ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพผิด เขาไม่มีสิทธิอุทธรณ์คดีนี้
      
ทั้งนี้ แถลงการณ์ระบุด้วยว่า นักธุรกิจคนดังกล่าวได้ถูกทหารควบคุมตัวเป็นเวลาห้าวันโดยไม่มีการตั้งข้อหา แต่เป็นการอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวโดยพลการและสอบปากคำจนกระทั่งเขายอมรับสารภาพต่อความผิดตามข้อกล่าวหา ในระหว่างนั้นเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับทนายความหรือครอบครัว
      
ในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 นายเธียรสุธรรมถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการว่าละเมิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) โดยถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และถูกคัดค้านการประกันตัว

ข้าหลวงใหญ่สิทธิ UN เรียกร้อง รบ.ไทยใช้ 'อำนาจพิเศษ' อย่างยับยั้งชั่งใจ

ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหวั่นรัฐบาลไทยประกาศใช้อำนาจที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ชี้เป็นการเปิดประตูสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในระดับที่ร้ายแรง
2 เม.ย. 2558 กรุงเจนีวา - นายซาอิด ราด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความหวาดวิตกที่รัฐบาลทหารไทยประกาศใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ซึ่งให้อำนาจอย่างอิสระต่อหัวหน้ารัฐบาลทหาร มาตราดังกล่าวให้อำนาจอย่างกว้างขวางในการบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ทหารต่อพลเรือน และมีแนวโน้มที่จะล้มล้างสิทธิมนุษยชนที่ประกันไว้ในกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา รัฐบาลทหารที่นำโดย นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับอนุญาตในการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก และแทนที่โดยอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)
ข้าหลวงใหญ่ฯ กล่าวว่า “โดยปกติแล้วผมจะแสดงความยินดีอย่างยิ่งเมื่อมีการยกเลิกใช้กฎอัยการศึก และที่ผ่านมาได้ผลักดันอย่างเข้มแข็งให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกในประเทศไทย"
“แต่ผมรู้สึกตื่นตระหนกกับการตัดสินใจที่จะแทนที่กฎอัยการศึกด้วยอำนาจที่มีความรุนแรงยิ่งกว่า ซึ่งให้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบใดๆ จากฝ่ายตุลาการ นี่เป็นการเปิดประตูไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในระดับที่ร้ายแรง ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลรับประกันว่าอำนาจพิเศษนี้แม้ว่าจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ตามจะไม่นำไปใช้อย่างไม่มีความยับยั้ง”
ภายใต้คำสั่งที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงการดำเนินการตามมาตรา 44 เจ้าหน้าที่ทหารที่มียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรีขึ้นไปถูกกำหนดให้เป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง รวมถึง การตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัว โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ นอกเหนือจากนั้น เจ้าพนักงานดังกล่าวยังมีอำนาจ “กระทำการอื่นใด” ตามที่คสช.มอบหมาย
มาตรา 44 ให้อำนาจแก่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ในการออกคำสั่งซึ่งมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ โดยคำสั่งดังกล่าวและการกระทำการใดๆ ตามคำสั่งนี้ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎหมายภายในประเทศก็จะถูกถือว่าเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่มีช่องทางที่จะตรวจสอบได้เลย เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยได้รับการคุ้มครองที่จะไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย จากการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ตามคำสั่งดังกล่าว
นายซาอิด กล่าวเพิ่มเติมว่า “คำสั่งของ คสช. ที่ประกาศเมื่อวันพุธยังจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก คำสั่งดังกล่าวให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน เสรีภาพในการชุมนุมยังถูกจำกัดอย่างเข้มงวดต่อไป โดยมีการกำหนดบทลงโทษหนักต่อผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป”
นายซาอิด กล่าวว่า “ผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวหมายถึงการขจัดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลในทุกรูปแบบ และทำให้การประกาศยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย”
นายซาอิด กล่าวว่า “ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและนำประเทศกลับสู่การปกครองของพลเรือนตามหลักนิติธรรมโดยเร็ว ตามที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นไว้หลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา”

4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์กรณีคำสั่ง 3/2558

http://www.matichon.co.th/online/2015/04/14279788491427978998l.jpg

2 เม.ย. 2558 องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน 4 แห่ง ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมต่อคำสั่งที่ 3/2558 ของหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ชี้ ข้อ 5 ของคำสั่ง ซึ่งให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ  สิ่งพิมพ์  หรือสื่ออื่นใด และได้กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น มีเนื้อหาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นกว่ากฎอัยการศึก
"หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ควรให้นโยบายที่ชัดเจนต่อเจ้าหน้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามอำนาจในวรรคสองของข้อ 5 ที่ชัดเจน" แถลงการณ์ร่วมระบุ
แถลงการณ์ร่วม 4 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่อคำสั่งที่ 3/2558 ของหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ
      
ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ออกคำสั่งที่ 3/2558 โดยในข้อ 5 ของคำสั่งดังกล่าว ระบุว่า ให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ  สิ่งพิมพ์  หรือสื่ออื่นใด และได้กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น คำสั่งนี้มีเนื้อหาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นกว่ากฎอัยการศึก
ในส่วนของประชาชนทั่วไปนั้นถ้าการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียใดถูกตีความว่า เป็นการกระทำตามข้อ 5 เป็นข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารฯลฯ ต้องได้รับโทษดังกล่าว ส่วนสื่อมวลชนก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน
4 องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเห็นร่วมกันว่าการออกคำสั่งในข้อดังกล่าว เป็นการให้ดุลพินิจกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างกว้างขวาง หากไม่มีหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้เจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจว่าข้อความใดทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น อาจนำไปสู่การปฏิบัติ ที่ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำสั่ง
4 องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน มีความเห็นร่วมกันว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ควรให้นโยบายที่ชัดเจนต่อเจ้าหน้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามอำนาจในวรรคสองของข้อ 5 ที่ชัดเจน เพื่อประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนทุกแขนงซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งดังกล่าว จะได้มีความสบายใจขึ้นว่าการใช้อำนาจตามบทบัญญัติ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ดังที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้สัญญาประชาคมไว้ เพราะคำสั่งดังกล่าวกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน ขอแสดงความห่วงใยต่อการใช้อำนาจดังกล่าวว่าควรเป็นไปอย่างรอบคอบและระมัดระวังอย่างถึงที่สุด เพราะกรณีนี้น่าจะกระทบต่อการประเมินสถานะของประเทศในด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนของประชาคมโลก และจะเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลกวันที่ 3 พฤษภาคมนี้
สมาคมนักข่าวนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
2 เมษายน 2558