เอกรินทร์ ต่วนศิริ วิเคราะห์ปัญญาชนมุสลิมรุ่น 3 หลังเหตุการณ์ 9/11 เป็นรุ่นที่ผ่านระบบการศึกษาสายสามัญ ทำให้ปัญญาชนมุสลิมเปิดพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น พร้อมมโนทัศน์ที่ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นเครื่องมือของการต่อรองอัตลักษณ์มุสลิมในสังคมไทย
เอกรินทร์ นักวิชาการ จากคณะรัฐศาสตร์ มอ. ปัตตานี กล่าวว่า งานชิ้นนี้โดยหลักต้องการกลับไปดูว่าโลกทัศน์ของปัญญาชนมุสลิมหลัง 14 ตุลา 16 เป็นอย่างไร โดยพิจารณาจากงานเขียนต่างๆ ซึ่งคำถามหลักคือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นั้น ปัญญาชนมุสลิมมีการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์หรือไม่
โดยกรอบที่ใช้อธิบายงานชิ้นนี้เพื่อที่จะตอบคำถาม คือ กรอบประชาธิปไตยและอิสลาม กระแสการฟื้นฟูอิสลามและเรื่องอัตลักษณ์หรือการเมืองแห่งอัตลักษณ์
ก่อนหน้านี้ภาพพจน์มุสลิมในสังคมไทยหากกลับไปดูงานเขียนทั้งหมดจะมี 2 ส่วนเท่านั้น
- ภาพพจน์ของมุสลิมแท้ ที่มีความสงบเรียบร้อยในอดีตที่เชื่อราชสำนักไทยมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน
- ภาพของมุสลิมที่เป็นกลุ่มที่นิยมใช้ความรุนแรง เป็นภาพที่ถูกตีตราไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น สองภาพที่สังคมไทยเข้าใจและสับสนเมื่อเวลาเกิดความรุนแรงขึ้น ก็คือ มุสลิมเป็นอย่างไรกันแน่ และตั้งคำถามว่ามุสลิมจะอยู่ในสังคมไทยอย่างไร ในที่นี้จะแบ่งปัญญาชนมุสลิมเป็น 3 รุ่น
- รุ่นแรก ตั้งแต่อภิวัฒน์ 2475 จนถึงก่อน 14 ตุลา ปัญญาชนยุคนี้ที่โดดเด่นที่สุด คือ แช่ม พรหมยงค์ ที่ร่วมกับคณะราษฏร และมีความใกล้ชิดกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และใกล้ชิดกับหะยีสุหลงด้วย หลังการอภิวัฒน์ 2475 แช่มก็มีส่วนอย่างมากในการคุยกับปรีดีในเรื่องการดูแลมุสลิมต่างๆ โดยเฉพาะทางใต้ แต่เมื่อดูงานเขียนแล้วทั้งแช่มและหะยีสุหลงแทบจะไม่มีปรากฏเลย เป็นรุ่นที่ไม่ปรากฏงานเขียนมากนัก
- รุ่นที่ 2 ปัญญาชนมุสลิมเงียบไปพักใหญ่ แต่หลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมอิหร่านในปี 2522 จนถึงเหตุการณ์ 9/11 โลกทัศน์งานเขียนเปลี่ยนไปอย่างมาก มีการพูดถึงอิสลาม และเน้นแนวทางปฏิวัติวัฒนธรรมจำนวนมาก การคลุมฮิญาบเริ่มเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติอิหร่าน หนังสือแปลเริ่มมากขึ้นโดยปัญญาชนมุสลิมโดยเฉพาะเรื่องการเมืองการปกครอง ทั้งที่แปลอย่างไม่เป็นทางการและอย่างเป็นทางการ เกิดสำนักพิมพ์ขึ้นเพื่อที่จะแปลหนังสือ ซึ่งในตอนแรกไม่ได้พูดถึงการเมืองการปกครองโดยตรง แต่จะพูดเรื่องวัฒนธรรมอิสลาม งานเขียนชุดนี้ก่อนเหตุการณ์ความรุนแรง 9/11 เป็นการเคลื่อนไหว และถูกอธิบายผ่านหนังสือ “วารสารทางนำ” เป็นหนังสือพิมพ์ของมุสลิมที่ออกมายุคหนึ่งมีงานเขียนที่เผยแพร่อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้พูดถึงประชาธิปไตยหรืออำนาจรัฐโดยตรงเท่าไร หยิบยกแต่กรณีต่างประเทศมาเท่านั้น เพราะตอนนั้นยังกลัว คนมุสลิมไม่กล้าพูดถึงเรื่องอำนาจอธิปไตยเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมืองไทยโดยตรงเท่าไร เพราะกลัวว่าจะกระทบต่อตัวเอง แม้งานเขียนเรื่องการปกครองในระบบอิสลามเองก็แทบจะไม่มีอยู่ในตรงนี้ แต่ปัจจุบันนั้นมีมากขึ้น ส่วนที่ต้องการเน้นคือ การพิจารณารุ่นที่ 3
- รุ่นที่ 3 ที่เรียกว่า "อิสลามานุวัตร" (Islamization) ตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อปี 2544 (เหตุการณ์ 9/11) จนถึงปัจจุบัน ทำให้งานเขียนของปัญญาชนมุสลิมถูกผลิตออกมามากขึ้น พูดถึงเรื่องประชาธิปไตย พูดถึงอำนาจรัฐมากขึ้น การพิจารณาปัญญาชนมุสลิมรุ่น 3 มองผ่านการก่อตัวของระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปัญญาชนมุสลิมเปิดพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น กลุ่มรุ่นที่ 3 ไม่ได้เรียนเรื่องศาสนาโดยตรง เช่น ผ่านจากโรงเรียนสาธิต โรงเรียนมัธยมทั่วไปและผ่านเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มรุ่นนี้เขียนการเมือง ประชาธิปไตยในอิสลามมากกว่าคนที่ศึกษาศาสนาอย่างเดียว
ปัญญาชนมุสลิมหากจะแบ่งก็สามารถแบ่งได้อีก 2 พวกคือ
- พวกที่ศึกษาศาสนาอย่างเดียวก็เป็นโต๊ะครูไป
- สายที่ 2 ศึกษาเรื่องสามัญอย่างเดียว ศึกษาเรื่องทางโลกอย่างเดียว
- รุ่นที่ 3 มีความสำคัญมาก ผ่านการศึกษาทั้งศาสนาและสามัญด้วย รวมทั้งหาความรู้ด้านศาสนามากขึ้น
ดังนั้นงานเขียนของกลุ่มที่ 3 นี้ จึงพบเห็นได้มาก ในที่นี้จึงนำมาเสนอโดยพิจารณางาน 16 ชิ้น ที่มาจากโครงการคนหนุ่มสาวกับมุสลิมในโลกสมัยใหม่ ที่รวบรวมนักวิชาการมุสลิม16 คนที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย เป็นงานเขียนที่ตรงที่สุด ซึ่งยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่กำลังจะเผยแพร่
งานเขียน 16 ชิ้นนี้พูดถึงโลกาภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ สมัยนิยม การสร้างความรู้ในโลกอิสลาม พลวัตรการศึกษา จนถึงประชาธิปไตย
ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์ 9/11 พบว่าในมหาวิทยาลัยไทย มีสถาบันที่ศึกษาเรื่องอิสลามอยู่มาก เช่น การพัฒนาจากวิทยาลัยอิสลามยะลา จนเป็นปาตอนียูนิเวอซิตี้ อยู่ที่ปัตตานี มีวิทยาลัยอิสลามอยู่ที่ มอ.ปัตานี มีศูนย์มุสลิมศึกษาอยู่ที่สถาบันเอเชียศึกษา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโครงการจัดตั้งอิสลามศึกษาที่มหาวิทยาลัยทักษิณ มีสาขาที่เปิดย่อยๆ ที่ราชภัฏใน กทม. ฯลฯ การเกิดขึ้นของศูนย์ต่างๆ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ก็มีการพูดถึงประชาธิปไตยกันมากขึ้น
มโนทัศน์ที่ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นเครื่องมือของการต่อรอง
จากงานเขียน 16 ชิ้นนั้น พบมโนทัศน์ที่ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นเครื่องมือของการต่อรองของความเป็นมุสลิมในสังคมไทย ทั้ง 16 บทความ พูดถึง 2 แนวทาง
- แนวทางแรกพูดถึงกระแสฟื้นฟูหรือกระแสอิสลามบริสุทธิ์ พยายามเอาแนวความคิดอิสลามดั้งเดิมเข้ามาในสังคมไทย กับอีกแนวทางคือ
- เกิดการตีความศาสนาอิสลามมากขึ้น เช่น งานของ อ.สราวุฒิ อารี ที่พูดถึงอิสลามกับแนวความคิดทางโลกหรือ “secular” เพื่อเรียกร้องให้สังคมมุสลิมมีการตีความมากขึ้นเนื่องจากการมีปัญหาใหม่ๆ มามากขึ้น
สิ่งที่พบอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ เวลาพูดถึงประชาธิปไตย มุสลิมไทยจากงานเขียนเหล่านั้นมองเป็น 2 อย่าง
- ประชาธิปไตยไม่ใช่อิสลามเลย ไม่ใช่ระบบศาสนา หรือมาจากพระผู้เป็นเจ้าเลย
- ประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของอิสลาม เราสามารถใช้พื้นที่ประชาธิปไตยในการต่อรองได้
มีการอภิปรายกันมากในเหล่าปัญญาชนมุสลิมว่าจะเอาอย่างไรกับประชาธิปไตย นำเอาแนวคิดเรื่องของประชาธิปไตยมาเป็นข้อถกเถียง ซึ่งส่วนใหญ่มีรูปแบบเป็นการจัดงานสัมมนา
ประการต่อมา งานเขียนใน 16 ชิ้นที่วิเคราะห์ พบว่ามีหลายชิ้นที่อธิบายเรื่องอัตลักษณ์ของมุสลิมกับขันติธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย เช่นงานเขียนของอาจารย์คนหนึ่งที่ขอนแก่น เขียนถึงมุสลิมในอีสาน ที่มีการต่อรองเรื่องอัตตลักษณ์ มีการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของมุสลิมในอีสาน เป็นต้น งานเขียนบางส่วนพยายามเสนอหลักการประชาธิปไตยในโลกอิสลาม พยายามจะเสนอระบบวิธีคิดแบบใหม่ที่เรียกว่า ชูรอ หรือการเลือกตั้งในอิสามขึ้นมาเพื่อจะเติมเต็มไม่ให้ขัดหลักการ เป็นการอธิบายว่าใช้หลักการบางอย่างที่มากกว่าการเลือกตั้ง
ไม่ยอมรับประชาธิปไตยอย่างสนิทใจ แต่เป็นเวทีเสนออัตลักษณ์ เลี่ยงความรุนแรง
จากงานเขียน 16 ชิ้น ชี้ให้เห็นว่าปัญญาชนมัสลิมไทยมีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับอย่างสนิทใจกับระบบประชาธิปไตย แต่ก็แสดงออกมาว่าประชาธิปไตยสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากเป็นเวทีที่ยอมรับให้สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรง เป็นช่องทางที่สามารถเสนออัตลักษณ์ทางการเมืองของตัวได้
ปัญญาชนมุสลิมมีงานเขียนที่เรียกร้องให้รัฐบาลและสังคมไทยเข้าใจอัตลักษณ์ของมุสลิม แต่ก็มีความอิหลักอิเหลื่อพอสมควรเนื่องจากภาพลักษณ์ที่อาศัยราชสำนักมาตลอด แม้จะมีกรณีของแช่ม พรหมยงค์ ที่เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่หลังจากนั้นไม่มีผู้นำมุสลิมที่แตกออกจากราชสำนัก มีแต่สายประณีประนอมตลอดมา
พิจารณาปัญญาชนมุสลิมในประเทศไทย จาก 3 รุ่น จะพบว่า โดยเนื้อหา ปัญญาชนมุสลิมรุ่นที่ 1 มีความเข้มข้นของการเคลื่อนไหวมากกว่ารุ่นถัดมา ทั้งรุ่น 2 และ 3
ปัญญาชนมุสลิมไทยไม่ค่อยแคร์ประชาธิปไตย
ท้ายที่สุด จะเห็นว่าการเมืองอัตลักษณ์ของมุสลิมไม่มีแนวโน้มที่เป็นอุปสรรคกับปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็พูดได้อีกทางหนึ่งว่าปัญญาชนมุสลิมไทยไม่ค่อยแคร์ประชาธิปไตย อย่างเช่นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 กลับพบว่า ปัญญาชนมุสลิมนิ่งเฉย ไม่ได้พูดอะไร
งานที่ศึกษาทั้งหมด 16 ชิ้นซึ่งเป็นผลผลิตของปัญญาชนมุสลิมในรุ่นที่ 3 นั้นมองว่าประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นวิธีการหนึ่งที่จะอยู่ในสังคมไทย ในปัจจุบัน มีการพูดถึง Islamization มีชุดความคิดที่สำคัญในการนำมาอธิบาย อย่างเช่นเรื่องของการเมืองการปกครอง เรื่องเศรษฐกิจ โดยใช้พื้นที่เหล่านี้และตีความให้เข้ากับ Islamization มากขึ้น ดังนั้นปัญญาชนยุค 3 เน้นเรื่องของ Islamization พูดถึงอิสลามกับประชาธิปไตยมากขึ้น โดยพยายามพูดถึงการใช้อำนาจในการออกแบบระบบการเมืองการปกครองมากขึ้น
000
วิจารณ์โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ร่วมวิจารณ์โดยตั้งข้อสังเกตการนำเสนอของ
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ “วิหารไม่ว่างเปล่า : ประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาหัวก้าวหน้า หลัง 14 ตุลา 2516 (พ.ศ.2516-2541)”และ เอกรินทร์ ต่วนศิริ “โลกทัศน์ของปัญญาชนมุสลิม หลัง 14 ตุลา 16” ว่าการพูดถึง 2 เรื่องนี้ในการครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือในโอกาสหลัง 14 ตุลา มีความน่าสนใจเนื่องจากเวลาพูดถึงหลัง 14 ตุลา ความหมายที่มันควรจะเป็นคือมันเป็นเรื่องของการแบ่งยุค หลัง 14 ตุลา มันควรจะมีอะไรที่สำคัญที่เปลี่ยนแปลงบ้าง แต่เมื่ออ่านงานเขียน 2 ชิ้นนี้พบว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา แทบจะไม่ได้ส่งผลกับสิ่งที่งานทั้ง 2 ชิ้นนี้ที่กำลังพูดเกี่ยวกับปัญญาชนพุทธหรือโลกทัศน์อิสลามเลย มันแสดงให้เห็นว่า มีหลายปริมณฑลมากที่ไม่ได้รับการกระทบกระเทือนจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเหตุการณ์ 14 ตุลา
14 ตุลา แทบไม่มีความหมายหากมองผ่านเลนส์ศาสนา
ในทางกลับกันแปลได้หรือไม่ว่ามีการให้ความสำคัญกับ 14 ตุลา มากเกินไปแล้ว เกิดขึ้นเพราะเรามองเหตุการณ์ผ่านเลนส์ประวัติศาสตร์การเมือง ถ้าเรามองเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านเลนส์เรื่องศาสนาอย่าง 2 บทความนี้ 14 ตุลา แทบไม่ได้ทำให้ศาสนาเปลี่ยนแปลงเลย ในแง่หนึ่งการพูดเรื่อง 14 ตุลา มีลักษณะของการประเมินค่า 14 ตุลาสูงเกินความจริงมาก
งาน 2 ชิ้นนี้มีวิธีการศึกษาที่ไม่เหมือนกัน เรื่องพุทธศาสนา นั้นพยายามศึกษาผ่านคนที่เป็นไอคอนทางศาสนา เป็นประกาศก เป็นศาสดา หน้าใหม่ๆในวงการพุทธศาสนารุ่นต่างๆ และดูว่าประกาศกแต่ละคนนั้นมีลักษณะจัดตั้งองค์กรทางสังคมของเขาอย่างไร มีการปะทะกันอย่างไรบ้าง คิดว่าสิ่งที่บทความนี้ชี้คือบรรดาประกาศกและองค์กรต่างๆของพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาราชาชาตินิยมมาโดยตลอด คำถามคือจริงหรือไม่ แต่ดูจากงานชิ้นนี้จะเห็นทุกองค์กรได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาราชาชาตินิยม ไม่ว่าประกาศกคนไหนขึ้นมาทุกคนเป็นแค่ร่างทรงของพุทธศาสนาราชาชาตินิยมเท่าๆกันหมด ความเข้มข้นจริงๆแล้วมันมีเฉดของมันหรือไม่ ความเป็นจริงมันเข้มข้นมากน้อยกว่ากันหรือไม่ ซึ่งคิดว่ามันมีความละเอียดอ่อนซึ่งอยากจะเห็นในการอธิบายเรื่องแบบนี้มากขึ้น
ประเด็นต่อมาคือ บรรดาประกาศกของพุทธศาสนาไม่ว่าจะเปลี่ยนรุ่นไปแต่ไม่ได้ทำให้มีการท้าทายอุดมการณ์พุทธศาสนาแบบราชาชาตินิยม อะไรที่ทำให้องค์กรพุทธศาสนาใหม่ ๆ ในที่สุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำอุดมการณ์ดังกล่าว
การขยายตัวของตลาดกับการบริโภคของชนชั้นกลาง
บทความของภิญญพันธ์ที่พูดถึงการขยายตัวของตลาด เอาลักษณะดังกล่าวมาวิเคราะห์การแพร่ระบาดของสินค้าหรือหนังสือ รายการทีวี ถือว่างานชิ้นนี้ทำได้ดี แต่คิดว่ามีบางด้านที่ไม่แน่ใจคือการสรุปว่าการแพร่ระบาดของสินค้าเหล่านี้เช่น เทปพระพยอม รายการทีวี ฯลฯ นั้น ทำให้เข้าถึงคนชั้นกลางมากขึ้น คิดว่าเป็นข้อสรุปที่เร็วเกินไปหรือไม่ คิดว่าสินค้าเหล่านี้จำนวนมากไม่ได้ถูกบริโภคโดยชนชั้นกลางอย่างเดียว แต่ถูกบริโภคโดยชนชั้นล่างด้วย เรื่องแบบนี้อยากจะให้ศึกษาละเอียดมากขึ้นว่าตลาดกับชนชั้นกลางและชนชั้นล่างมันทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร
บทความนี้อาจจะวิจารณ์เรื่องที่พูดถึงพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลาง โดยที่กำลังจะบอกว่าพุทธศาสนามีปัญหาเพราะชนชั้นกลาง หรือไม่ หรือพุทธศาสนาของชนชั้นล่างอาจมีปัญหาด้วย หรือพุทธศาสนาของชนชั้นสูงอาจจะสามานย์แบบชนชั้นกลางหรือเปล่า เวลาฟังแล้วทำให้รู้สึกว่าพุทธศาสนามีปัญหาเพราะการบริโภคของชนชั้นกลาง เป็นไปได้หรือเปล่าที่เราอยู่ในยุคของการทำให้ชนชั้นกลางเป็นแพะรับบาป จนทำให้เราไม่เข้าใจอะไรมากพอ
คิดว่าจุดที่แหลมคมที่สุดของบทความนี้ที่น่าจะได้รับการขยายความต่อคือการพยายามจะชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนาจาก 3 ขบวนการใหญ่ คือ ธรรมกาย สันติอโศก และสวนโมกข์ กับ อนันต์ เสนาขันธ์ กับ วชิรญาณภิกขุ มีลักษณะหรือความสืบเนื่องอะไรบางอย่างนั้น คิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ
จุดที่ประทับใจคือ หลัง 14 ตุลา พุทธศาสนาไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย
บทความปัญญาชนมุสลิม ทำตรงกันข้ามกับอีกบทความปัญญาชนพุทศาสนา
ประการเด็นแรก คือบทความนี้ไม่ได้สนใจเรื่องของประกาศกของศาสนาอิสลาม และไม่สนใจว่าองค์กรศาสนาคิดเรื่องอะไร สิ่งที่บทความนี้สนใจคือปัญญาชนสมัยใหม่ นักวิชาการมหาวิทยาลัยที่นับถือศาสนาอิสลาม การบอกว่าคนเหล่านี้เป็นตัวแทนของปัญญาชนทางศาสนามันครบถ้วนหรือไม่ เมื่อเทียบกับปัญญาชนผู้นำศาสนาอย่างโต๊ะครู อิหม่าม หรือสื่งพิมพ์ทางศาสนา ซึ่งคิดว่ามันมีช่องว่างอยู่
ประเด็นที่ 2 บทความเรื่องพทุธศาสนาพูดถึงชนชั้นกลางจำนวนมาก และพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาก แต่บทความอิสลามนี้ไม่พูดเรื่องนี้เลย ทำให้เห็นว่าศาสนาอิสลามในบทความนี้มองอิสลามเป็นระบบที่ปิดมาก แทบไม่ถูกคนกลุ่มไหนเข้าไปแตะ น่าสนใจว่าจริงหรือไม่ และอะไรที่ทำให้อิสลามถูกปกป้องได้จากชนชั้นกลางหรืออุดมการณ์หลักของชาติ ด้านหนึ่งมันทำให้เห็นความเข้มแข็งของอิสลามเมือเทียบกับพุทธ
14 ตุลา ไม่มีผลกระเทือนกับศาสนา
สิ่งที่คล้ายกัน คือบทความนี้แสดงให้เห็นว่า14 ตุลา ไม่มีผลอะไรกับปัญญาชนอิสลามเช่นกัน
จุดแข็งของบทความอิสลามคือ การให้เห็นการพยายามต่อรองต่อสู้กันระหว่างปัญญาชนแนวครูสอนศาสนาที่เข้าถึงมวลชน กับปัญญาชนสมัยใหม่ที่อยู่ตามมหาวิทยาลัย มีการพูดถึงชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่ให้ลากเส้นแบ่งระหว่าง อิสลามศึกษากับมุสลิมศึกษา ที่ให้การศึกษาอยู่ในมือของปัญญาชนสมัยใหม่มากขึ้น เป็นด้านเด่นของบทความนี้และน่าจะมีการทำต่อ
ศาสนาที่ถูกบีบด้วยคุณค่าประชาธิปไตยและวิทยาศาสตร์
ปัญญาชนอิสลามเจอกับปัญหาคลายกับปัญญาชนพุทธ ที่ถูกบีบ ด้วยคุณค่าแบบสมัยใหม่เรื่องประชาธิปไตยและความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ที่บอกว่าพุทธหรืออิสลามต้องเป็นเป็นวิทยาศาสตร์ต้องเป็นประชาธิปไตย
การมอง 14 ตุลา นอกรั้วมหาวิทยาลัย
บทความสะท้อนความไม่พอเพียงของการมอง 14 ตุลา ผ่านการเมือง ถ้ามองผ่านอย่างอื่น 14 ตุลา อาจไม่สำคัญมากนักก็ได้ สองคือการศึกษา 14 ตุลา ผ่านปัญญาชนในมหาวิทยาลัยนั้นมันไม่พอ จากที่ผ่านมาศึกษา 14 ตุลา ผ่าน นักวิชาการปัญญาชนในยุคนนั้นเขียนอะไร กลายเป็น 14 ตุลา ที่เราศึกษาและผลิตซ้ำเป็นเรื่องของคนที่อยู่มหาวิทยาลัย ทำให้เราไม่เห็นคนนอกวงมหาวิทยาลัยคิดอย่างไร
การโฟกัส ไปที่ปัญญาชน ทำราวกับว่ามวลชนแต่ละศาสนารับความคิดของแต่ละคน คิดว่ามุมมองแบบนี้จะถูกหรือไม่ ทำให้เรามองไม่เห็นรอยแยกหรือความไม่ลงรอยระหว่างปัญญาชนกับมวลชน และทำให้เราประเมินความสำคัญของศาสนามากกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเวลาที่ปัญญาชนนำเสนอความคิดคนที่อยู่ในแต่ละศาสนาเขาเชื่อจริงๆหรือเลือกเชื่อเฉพาะที่เขาพอใจจึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักว่าไม่ควรประเมินมากเกินไป
โจทย์ของปัญญาชนศาสนากับศักยภาพในการจรรโลงสังคม
ไม่มีอะไรน่าตืนเต้นที่ปัญญาชนของทั้ง 2 ศาสนาไม่ท้าทายสังคม เพราะทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างส่วนบนการที่ศาสนาจรรโลงสังคมเป็นเรื่องปกติ การคาดหวังให้ปัญญาชนของศาสนาท้าทายสังคมต่างหากเป็นเรื่องประหลาด คิดว่าคำถามสำคัญคือปัญญาชนศาสนามีศักยภาพที่จะจรรโลงสังคมต่อไปอีกนานแค่ไหนมากกว่า โจทย์มันคนละชุด
ปัญญาชนศาสนาแบบก่อนสมัยใหม่
ถ้าอ่านจากงานทั้ง 2 ชิ้น และเมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคม คิดว่าปัญญาชนศาสนามีศักยภาพที่จะจรรโลงสังคมต่อไปอีกไม่นาน จากความพยายามทำให้ศาสนามีความเป็นสมัยใหม่หรือมีเหตุผล ซึ่งจากบทความพุทธศาสนานั้นแสดงให้เห็นว่าปัญญาชนพุทธศาสนาไม่มีความลึกซึ้งทางภูมิปัญญาในการอธิบายสังคมสมัยใหม่ ในระยะยาวแล้วทำให้ความสามารถในการผลิตซ้ำศาสนาที่เป็นอยู่ยากขึ้น แต่โจทย์แบบนี้มีตัวช่วยคือการสร้างมวลชนของศาสนาโดยพื้นฐานไม่ได้มาจากเหตุผล ดังนั้นปัญญาชนของศาสนามีลักษณะที่ไม่สมัยใหม่ หรือไม่มีเหตุผล แต่ถึงจุดหนึ่งมันไม่ใช่ปัญหาของคนที่เชื่อเรื่องศาสนา ความไร้เหตุผลเป็นพลังของศาสนา ความเป็นปัญญาชนที่ไม่สามารถตอบปัญหาอะไรอย่างจริงจังได้นั้นคือหัวใจของปัญญาชนแบบพุทธในสังคมไทย
ศาสนาในสังคมไทย ไม่ได้เป็นแบบเทววิทยาแบบตะวันตก ดังนั้นการอธิบายเรื่องที่ซับซ้อนจึงต่ำ เกณฑ์ในการรับคนในวงการศาสนาต่ำ เพราะฉะนั้นโอกาสในการทำให้เป็นสมัยใหม่ของศาสนาจึงต่ำลงไปด้วย ในที่สุดฐานที่มั่นของศาสนาในสังคมไทยคือการเป็นทางออกของคนที่ปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ไม่ได้ เวลาคนค้าขายในโลกสมัยใหม่ล้มเหลว ไม่มีใครไปบอกว่าโง่หรือหากินไม่เก่ง ทุกคนจะบอกว่าดีเกินไปถูกคนอื่นเอาเปรียบ ธรรมชาติของศาสนาในโลกสมัยใหม่คือเรื่องแบบนี้ ทำให้เรารู้สึกดีในเวลาที่เราแพ้ในโลกสมัยใหม่ อธิบายโลกสมัยใหม่ในแบบที่ไม่อธิบายอะไร
หมายเหตุ
การสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่ามกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์
ในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดูกำหนดการที่
http://prachatai.com/activity/2013/09/48526