วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เครือข่าย 96 องค์กร ชี้ผลประชามติไม่ใช่ “ใบอนุญาต” ให้ คสช. ใช้อำนาจตามอำเภอใจ


เครือข่าย 96 องค์กรใส่ใจประชามติฯ ระบุการการออกเสียงประชามติไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระ และเป็นธรรม เรียกร้อง คสช. คืนชีวิตทางการเมือง หยุดปิดกั้นการแสดงความเห็นต่อร่าง รธน. ยุติการดำเนินคดีนักโทษประชามติ พร้อมยกเลิกอำนาจพิเศษ ม.44
11 ส.ค. 2559 เวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุม โครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เครือข่าย 96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตประชาชน นำโดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้จัดการแถลงข่าวต่อผลประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่าน โดยระบุว่า ผลการลงประชามติไม่อาจนับเป็นฉันทานุมัติหรือ “ใบอนุญาต” ให้ คสช. ดำเนินการตามอำเภอใจโดยไม่ฟังเสียงฝ่ายใดได้ โดยมีเหตุผล 3 ประการคือ 1.การออกเสียงประชามติไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรม 2.เหตุผลของการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมีความหลากหลาย การที่ คสช. และ กรธ. แจ้งขั้นตอนข้างหน้าแต่เฉพาะกรณีร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความวิตกกังวลว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร จึงอาจตัดสินใจเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน และ 3.การที่มีผู้ออกเสียงไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 38.60 แสดงให้เห็นว่ายังคงมีประชาชนที่เห็นต่างต่ออนาคตสังคมไทยผ่านร่างรัฐธรรมนูญอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่ง คสช. และ กรธ. ไม่สามารถเพิกเฉยหรือละเลยเสียงเหล่านี้ได้
ทั้งทางเครือข่าย 96 องค์กรได้เรียกร้องให้ คสช. คืนชีวิตทางการเมือง หยุดปิดกั้นการแสดงความเห็นต่อร่าง รธน. ยุติการดำเนินคดีนักโทษประชามติ พร้อมยกเลิกอำนาจพิเศษ ม.44 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด



แถลงการณ์เครือข่าย 96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตประชาชน ภายหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559
ผลการออกเสียงประชามติเบื้องต้นมีผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 61.40 และคำถามพ่วงร้อยละ 58.11 แต่ก็มีผู้ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญถึงร้อยละ 38.60 และไม่เห็นชอบคำถามพ่วงร้อยละ 41.89 อีกทั้งยังมีผู้มีสิทธิที่ไม่ประสงค์ออกเสียงอีกถึงร้อยละ 45.39 ซึ่งแม้ผลดังกล่าวจะส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านตามความประสงค์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทว่านอกจากหลักการประชาธิปไตยซึ่งต้องฟังเสียงจากทุกฝ่าย ผลประชามติดังกล่าวไม่อาจนับเป็นฉันทานุมัติหรือ “ใบอนุญาต” ให้ คสช. ดำเนินการตามอำเภอใจโดยไม่ฟังเสียงฝ่ายใดได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
  • 1. การออกเสียงประชามติไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ทั่วถึง ประชาชนจำนวนมากไม่มีโอกาสรับรู้ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ดำเนินการผ่านกลไกและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลักเลือกประชาสัมพันธ์เฉพาะด้านดี อีกทั้งด้านดีบางข้อในเอกสารสรุปยังประชาสัมพันธ์เกินไปกว่าที่เขียนไว้จริงในร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ฝ่ายเห็นต่างกลับถูกปิดกั้น ข่มขู่คุกคาม จับกุมคุมขัง และดำเนินคดี เป็นเหตุให้ประชาชนไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่รอบด้านเพียงพอในการตัดสินใจออกเสียง

  • 2. เหตุผลของการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมีความหลากหลาย การที่ คสช. และ กรธ. แจ้งขั้นตอนข้างหน้าแต่เฉพาะกรณีร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความวิตกกังวลว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร จึงอาจตัดสินใจเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน และการที่ คสช. และ กรธ. ปิดกั้นฝ่ายเห็นต่างที่พยายามชี้ให้เห็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญก็ยิ่งส่งผลให้ประชาชนตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญได้โดยง่ายโดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการไปให้พ้นจากสภาวการณ์ปัจจุบันหรือการบริหารประเทศโดยรัฐบาลทหารหรือ คสช. นอกจากนี้ หากพิจารณาในเชิงภาพรวมของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 คสช. จึงไม่สามารถอาศัยผลนี้เป็นข้ออ้างในการตัดสินใจดำเนินการใดโดยไม่ฟังเสียงประชาชนส่วนที่เหลือเหล่านี้ได้
  • 3. การที่มีผู้ออกเสียงไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 38.60 แสดงให้เห็นว่ายังคงมีประชาชนที่เห็นต่างต่ออนาคตสังคมไทยผ่านร่างรัฐธรรมนูญอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่ง คสช. และ กรธ. ไม่สามารถเพิกเฉยหรือละเลยเสียงเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อโต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์ที่ฝ่ายเห็นต่างหยิบยกขึ้นมายังไม่ได้รับการชี้แจงจาก คสช. กรธ. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างหนักแน่นชัดเจนพอ คสช. จึงไม่สามารถอาศัยผลการออกเสียงประชามติเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธที่จะตอบคำถามและข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ รวมถึงสั่งห้ามการเคลื่อนไหวของฝ่ายเห็นต่างแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบแล้วก็ตาม

เพราะเหตุนี้ เครือข่าย 96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตประชาชน ที่ติดตามการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่องจึงมีข้อเรียกร้องไปยัง คสช. ดังนี้

  • 1. คืนชีวิตการเมืองปกติให้กับสังคมไทยด้วยการยุติการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการเมืองหยุดการใช้อำนาจพิเศษกฎหมายพิเศษและศาลทหารกับประชาชน
  • 2. เปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกฝ่ายทั้งที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญตลอดจนประชาชนและชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบหรือจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายยุทธศาสตร์และโครงการของรัฐต่างๆได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาร่วมกันบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี
  • 3. ยุติการจับกุมคุมขังและดำเนินคดีประชาชนที่รณรงค์ประชามติและแสดงความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญและปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังก่อนหน้านี้โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไขการแสดงออกดังกล่าวเป็นสิทธิของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ผิดกฎหมาย
  • 4. ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ประกาศกำหนดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย ให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน
  • 5. ยกเลิกการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 กลับมาใช้กลไกตามกฎหมายปกติ และให้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวนยกเลิกประกาศและคำสั่งของคสช.ที่ละเมิดสิทธิประชาชนโดยเร็ว

เครือข่าย 96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตประชาชน เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาตั้งแต่ต้น โดยมีการนำเสนอข้อกังวลต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สู่สาธารณะไว้เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2559 และแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการออกเสียงประชามติ แต่เครือข่ายฯ จะเฝ้าติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงการปฏิรูปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดไว้อย่างใกล้ชิด และยืนยันว่าสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องเป็นองค์ประกอบหลักของรัฐธรรมนูญ


ด้วยความเคารพต่อสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน
เครือข่าย 96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตประชาชน

  • 1. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
  • 2. สมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • 3. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
  • 4. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
  • 5. เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
  • 6. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ
  • 7. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
  • 8. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
  • 9. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)
  • 10. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
  • 11. สมัชชาคนจน
  • 12. กลุ่มละครมะขามป้อม
  • 13. เครือข่ายพลเมืองเน็ต
  • 14. สมัชชาอู่ข้าวอู่น้ำภาคกลาง
  • 15. มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
  • 16. ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM)
  • 17. กลุ่ม Mini Drama
  • 18. กลุ่มการเมืองครั้งแรก
  • 19. กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
  • 20. Focus on the Global South
  • 21. เครือข่ายสลัม 4 ภาค
  • 22. มูลนิธิโลกสีเขียว
  • 23. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
  • 24. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย
  • 25. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน(พื้นที่คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย)
  • 26. กลุ่มรักษ์บ้านแหง(พื้นที่คัดค้านสัมปทานทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง)
  • 27. ชมรมอนุรักษ์ลุ่มน้ำสรอย ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ (พื้นที่การขอสัมปทานสำรวจแร่เหล็กและทองคำ)
  • 28. เครือข่ายการศึกษาทางเลือก
  • 29. กลุ่มเสรีนนทรี
  • 30. กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์
  • 31. กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย
  • 32. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD)
  • 33. กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา
  • 34. กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)
  • 35. กลุ่มแก็งค์ข้าวกล่อง ม.รามคำแหง
  • 36. กลุ่มเพื่อนประชาชน
  • 37. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
  • 38. เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)
  • 39. กลุ่มกระเหรี่ยงภาคเหนือ
  • 40. เครือข่ายเพื่อนตะวันออกวาระเปลี่ยนตะวันออก
  • 41. โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
  • 42. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
  • 43. กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง(กสรก.)
  • 44. กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
  • 45. สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย
  • 46. กลุ่มแม่โจ้เสรีเพื่อประชาธิปไตย
  • 47. สมัชชาสิทธิเสรีภาพนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่
  • 48. กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่(NGC)
  • 49. กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา
  • 50. กลุ่มพลเรียน
  • 51. ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาเชียงใหม่
  • 52. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
  • 53. กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย
  • 54. เครือข่ายพลเมืองสงขลา
  • 55. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)
  • 56. สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ
  • 57. กลุ่ม Save Krabi
  • 58. กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำท่าสะท้อนและสิ่งแวดล้อม สุราษฎร์ธานี
  • 59. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้
  • 60. เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สงขลา สตูล
  • 61. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
  • 62. เครือข่ายรักษ์ชุมพร
  • 63. เครือข่ายพลเมืองพัทลุง
  • 64. เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
  • 65. เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา รัตภูมิ
  • 66. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
  • 67. ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน จะนะ
  • 68. สภาทรัพยากรพันธุกรรมพื้นบ้านภาคใต้
  • 69. สภาประชาชนอำเภอรัตภูมิ
  • 70. หน่วยวิจัยประชาธิปไตยชุมชนเพื่อการพัฒนา
  • 71. แนวร่วมนักเขียนแห่งประเทศไทย
  • 72. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
  • 73. Strawberry December
  • 74. Undergrad Rewrite
  • 75. Cafe Democracy
  • 76. กลุ่มรักษ์เขาชะเมา
  • 77. สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR)
  • 78. เครือข่ายประชาชนชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS)
  • 79. Seed of Peace
  • 80. พลังมด
  • 81. กลุ่มอนุรักษ์อ่าวบางละมุง
  • 82. กลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือ
  • 83. เครือข่ายรักษ์อ่าวอุดม
  • 84. กลุ่มประมงต้นแบบบ้านอ่าวอุดม
  • 85. กลุ่มประมงต้นแบบบ้านนาเกลื
  • 86. กลุ่มประมงต้นแบบบ้านบางละมุง
  • 87. เครือข่ายสภาพลเมืองจังหวัดชลบุรี
  • 88. โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนคนไร้รัฐ จ.อุบลราชธานี
  • 89. เครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก
  • 90. พระจันทร์เสี้ยวการละคร
  • 91. คณะทำงานนักเกรียนเปลี่ยนโล
  • 92. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)
  • 93. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • 94. มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน
  • 95. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
  • 96. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

คสช. โต้ 96 องค์กร ควรเคารพเสียงส่วนใหญ่ ชี้กรณีนักโทษประชามติ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย

ภาพจาก: แฟ้มภาพสำนักข่าวไทย

“คสช.” โต้ “กลุ่มเครือข่าย 96 องค์กรฯ” ย้ำชัดข้อเสนอนักโทษประชามติ เป็นไปตามกฏหมาย แจงกรณี “ไผ่ จตุภัทร์” อดข้าวประท้วง จนท.ดูแลอยู่ พร้อมชี้แจงสิ่งที่ทำอยู่ไม่ดีต่อตัวเอง
11 ส.ค. 2559 ผู้จัดการออนไลน์ และมติชนออนไลน์ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ส่วนงานรักษาความสงบ สำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีแถลงการเรียกร้องต่อ คสช. ของเครือข่าย96 องค์กรใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญกำหนดอนาคตประชาชนว่า ตามข้อเสนอของกลุ่มดังกล่าว ตนขอชี้แจงว่าผลการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญได้มีการประกาศ และรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว เพราะฉะนั้นถือว่ากระบวนการทุกอย่างมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และโปร่งใส รวมทั้งการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่กระทำภายใต้กรอบของกฏหมาย ขณะเดียวกัน คสช. ขอยืนยันว่าการดำเนินงานต่างๆเป็นไปตามโรดแมพไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ชี้แจงไปทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ตนอยากให้เคารพสิทธิและเสียงของประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ที่ออกมาใช้สิทธิลงประชามติ ส่วนความเห็นต่างที่ออกมาในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการออกแถลงการต้องพิจารณาเป็นกรณีไป
พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเรียกร้องที่ให้ คสช.มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการรณรงค์ประชามติ ทันทีโดยที่ไม่มีเงื่อนไขนั้น ตนขอชี้แจงว่าก็ต้องไปตามกรอบที่กฏหมายกำหนด ซึ่งขอย้ำว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีการทำเกินหน้าที่ ส่วนจะผิดหรือไม่นั้นก็ต้องว่าไปตามกระบวนการของศาลที่จะพิจารณา
เมื่อ ถามถึงกรณีของนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน อดข้าวประท้วงเพื่ออารยะขัดขืนต่อกระบวนประชามติและการจับกุมตัวนั้น พ.อ. ปิยพงศ์ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจ โดยความจริงแล้วระหว่างที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวก็ต้องมีการดูแลและอำนวยความ สะดวก ตามกรอบอำนาจหน้าที่ อย่าไปกังวล เพราะเจ้าหน้าที่ต้องดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ระหว่างที่ถูกคุมขัง รวมทั้งการจัดอาหารการกิน ยารักษาโรคและข้าวของเครื่องใช้ เราก็ต้องมีการดูแล
“ทั้งนี้หากนายจตุภัทร เป็นอะไรขึ้นมาก็จะมีแพทย์เข้าไปตรวจร่างกาย ให้การดูแลเป็นอย่างดี และทางเจ้าหน้าที่จะเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่ใช่สิ่งดีต่อตัวเอง” พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติ่มว่า สำหรับวันนี้ เวลา 14:00 น. ที่เรือนจำอำเภอภูเขียว ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และชาวบ้านซึ่งเดินทางมาจากบ้านโป่ง ราชบุรี พร้อมด้วยกลุ่มนักกิจกรรมจากโครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจ ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกฝากขัง ผัดแรก ที่เรือนจำภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ด้วยข้อหาฝ่าฝืนพรบ.ประชามติ มาตรา 61 (1) โดยไผ่ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา จากการเดินแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ผู้เข้าเยี่ยมรายหนึ่งระบุว่า ไผ่ มีอาการอ่อนแรงอย่างเห็นได้ชัด พูดได้ช้าลง แต่ยังคงเข้าร่วมกิจกรรมดนตรีในเรือนจำ เนื่องจากเขาถูกจัดให้อยู่ในกองงานนักดนตรีโปงลาง ภายในเรือนจำ ทำให้อาการอ่อนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ไผ่ ยังยืนยันจะอดอาหารต่อไปและฝากกำลังใจให้กับผู้ที่อยู่ข้างนอกให้สู้เพื่อ ความยุติธรรม และประชาธิปไตยต่อไป

ณัฐวุฒิ เขียนจม.ถึงโปเกมอน เทียบผู้ยิ่งใหญ่ประเทศนี้มองคนเห็นต่างเป็นโปเกมอน


เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือ เต้น แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เขียนจดหมายถึง โปเกมอน ซึ่งเป็นเกมยอดนิยมที่เพิ่งเข้ามาในขณะนี้ โดยระบุว่าผู้ยิ่งใหญ่มองคนเห็นต่างว่าเป็นโปเกมอน ถูกไล่จับไปทุกแห่งหน ทั้งบนถนน ในห้าง กลางตลาด ฯลฯ  วันนี้ ดาวดินยังอยู่ในกรง มีนักการเมืองจากเชียงใหม่ยังอยู่ในห้องขัง ลำพูนถูกออกหมายจับ  โดยไม่มีใครบอกเราเลยว่า การไล่จับคนเห็นต่าง เมื่อไหร่จะหมดไป
จดหมายของ ณัฐวุฒิ มีรายละเอียดดังนี้

จดหมายถึง โปเกมอน
โปเกมอน เพื่อนรัก
นายไม่รู้จักเราหรอก แต่เรารู้จักนาย เรารู้ว่านายมาเมืองไทยเมื่อไม่กี่วันก่อน
แต่เชื่อมั้ย? การมาของนายสะเทือนประเทศเรา มากกว่าซุปตาร์เกาหลี หรือ จะซุปตาร์เกาอะไรก็ไม่เท่า
ทั้งวันเราได้ยินชื่อนายจากสื่อทุกแขนง ทุกสถานที่มีแต่คนไปตามหานาย แม้แต่ลูกเราก็เอาโทรศัพท์มาจี้ตัวเราไปทั่ว จะหาให้ได้ว่านายซ่อนอยู่ตรงไหน
เราสงสัยว่าทำไมเขาถึงไล่จับตัวนาย ได้คำตอบว่าเพื่อความสนุก
นายโชคดีที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ใครจะจับจะไล่ล่ายังไงก็ไร้ความรู้สึก
ให้ตายเถอะ เราอิจฉาที่มีหน่วยงานมากมายออกประกาศ ห้ามจับนายที่นั่นที่นี่
เพราะในประเทศนี้มีคนกลุ่มหนึ่งถูกไล่จับไปทุกแห่งหน ทั้งบนถนน ในห้าง กลางตลาด ฯลฯ
ไม่มีหน่วยงานไหนออกประกาศปกป้องพวกเขา ไม่มีแม้แต่การตั้งคำถามว่าพวกเขาทำผิดอะไร
นายมีคนประกาศเขตอภัยทาน ห้ามจับ
แต่พวกเขาเคยถูกยิง แม้อยู่ในเขตอภัยทาน
พวกเขาไม่ใช่การ์ตูนในเกม แต่เป็นมนุษย์ที่คิดต่างจากพวกที่ไล่จับ
ณ วันนี้ ดาวดินยังอยู่ในกรง เชียงใหม่ยังอยู่ในห้องขัง ลำพูนถูกออกหมายจับ นายเจอพวกเขาบ้างไหม?
ถ้านายเจอ ช่วยบอกเขาที ว่าระหว่างนายที่มีคนห่วงใยห้ามจับสารพัดที่ กับพวกเขาซึ่งถูกจับมาจากหลายที่
ใครเป็นมนุษย์ ใครเป็นโปเกมอน
บางทีเราก็สงสัย หรือว่า...
ผู้ยิ่งใหญ่เห็นพวกเขาเป็นโปเกมอน?
แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจ อยู่ที่นี่นายอย่านึกว่าจะเคลื่อนไหว หรือทำอะไรได้เหมือนอยู่ที่อื่น
เพราะผู้มีอำนาจจะบอกว่า นายเป็นภัยของความมั่นคง
นายโดนเข้าแล้วนี่ ทีนี้ล่ะจะได้รู้ เพราะมีคนเคยโดนมาก่อนแล้ว
กินแซนด์วิช อ่านหนังสือ เดินคนเดียว แม้แต่... ยืนเฉยๆ !??! ก็เป็นภัยความมั่นคง
นายคิดถูกแล้วที่มาที่นี่ จะได้เอาเรื่องราวเหล่านี้ไปเล่าให้คนรู้บ้าง
หลายฝ่ายบอกว่ากระแสไล่จับนาย เดี๋ยวก็ซาและจะหายไปเอง
แต่ไม่มีใครบอกเราเลยว่า การไล่จับคนเห็นต่าง เมื่อไหร่จะหมดไป
เคยได้ยินว่านายไปป้วนเปี้ยนแถวทำเนียบ บอกคนในนั้นให้เราหน่อยได้ไหมว่า
ประชาชนไม่ใช่โปเกมอน
หวังว่านายคงโชคดีที่นี่
รักนะ
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
คนที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะถูกไล่จับเหมือนนาย
10 ส.ค. 59

ศรีสุวรรณ ร้อง ป.ป.ช. ส่งศาล รธน.วินิจฉัยให้ผลการลงประชามติเป็นโมฆะ


10 ส.ค. 2559 ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวSrisuwan Janya ระบุว่า วันนี้ (10 ส.ค.59) สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยและคณะเข้ายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ นนทบุรี กรณีกระบวนการจัดทำประชามติที่ผ่านมา เป็นที่ชัดเจนว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้กระทำการหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยชัดแจ้ง เป็นเหตุให้การไปลงประชามติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม หลายประการ อาทิ การไม่แจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทุกครัวเรือนอย่างทั่วถึง ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถแสดงเจตน์จำนงค์ในการใช้สิทธิได้อย่างอิสระ แตกต่างจากการลงประชามติเมื่อปี 2550 โดยชัดแจ้ง
รวมทั้ง การเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 โดยไม่เอาผิดกับผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนในลักษณะชี้นำการลงประชามติ เช่น นายกรัฐมนตรี ชี้นำว่าตนเองจะรับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ข้อ เป็นต้น ส่วนผู้ที่ออกมารณรงค์คัดค้าน กับถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นต้น
การรีบเร่งแถลงผลของประชามติ ทั้ง ๆ ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการลงประชามติไปโดยไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม เช่น มีบางหน่วยเลือกตั้งมีคะแนนการลงประชามติ มากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ แต่ กกต.กลับนิ่งเฉยที่จะดำเนินการไต่สวนให้ชัดแจ้งเสียก่อน แต่กลับเร่งรีบออกมาแถลงข่าวก่อนที่จะรอให้เกิดความชัดเจนในผลของประชามติเสียก่อน การจัดทำอุปรกรณ์การลงประชามติ เช่น หีบบัตร ไม่มั่นคงแข็งแรง ฯลฯ ขัดต่อประกาศของ กกต. และขัดต่อกฎหมายประชามติ แต่ก็มิได้ไต่สวน สอบสวนเอาผิดผู้กระทำการฝ่าฝืน และการจัดทำบัตรประชามติเพียงใบเดียว แต่มี 2 ข้อคำถาม เป็นเหตุทำให้ผู้มีสิทธิลงประชามติสับสน จนนำไปสู่การกระทำความผิดกฎหมายประชามติฯ จำนวนมาก เป็นต้น
ศรีสุวรรณ ระบุว่า เหตุต่าง ๆ ดังกล่าวทำให้การไปลงประชามติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทำให้ผลของประชามติที่ออกมาผิดพลาด คลาดเคลื่อน ฯลฯ อันมีผลมาจากการกระทำและหรือการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. โดยตรง สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจำต้องนำความดังกล่าวไปร้องเรียนกล่าวโทษคณะกรรมการ กกต. ต่อป.ป.ช. เพื่อไต่สวน เอาผิด และเสนอให้ศาลอาญาฯเอาผิด และหรือให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ผลกระลงประชามติเป็น "โมฆะ" ต่อไป

เพื่อไทย ขอผู้มีอำนาจยุติดำเนินคดีผู้เห็นต่างเคลื่อนไหวค้านร่างรธน.


<--break- />10 ส.ค. 2559 พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ออกคำแถลง เรื่อง เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้เห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญ และเร่งสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างต่อการแสดงความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ว่า พรรคพท.ขอเรียกร้องดังต่อไปนี้ 1.ควรพิจารณาปล่อยตัว “ผู้มีความเห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ถูกจับกุม ด้วยเหตุเพราะปัจจุบันการทำประชามติได้สิ้นสุดลงแล้ว การดำเนินการกับผู้เห็นต่างดังกล่าวจึงควรจะยุติลง ในส่วนของผู้มีอำนาจและผู้บังคับใช้กฎหมาย ควรจะได้ใช้ดุลยพินิจในทางสร้างสรรค์ว่าการเผยแพร่ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 การวิพากษ์วิจารณ์หรือการมีความเข้าใจในตัวบทกฎหมายที่แตกต่างกันเป็นปกติวิสัยของคนในสังคมที่อาจมีความเห็นแตกต่างกันได้ จึงไม่ควรจะตั้งข้อหาขนาดว่ากระทำผิดอาญาร้ายแรงถึงขั้นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร ทั้งนี้หากรัฐยังคงยืนยันที่จะดำเนินการอยู่ต่อไป ก็ควรต้องใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ อนึ่ง ได้ทราบว่าผู้ถูกคุมขังบางส่วนมีสุขภาพร่างการที่ไม่สมบูรณ์ มีโรคประจำตัว การควบคุมกักขังบุคคลเหล่านี้จึงควรคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างสูง
และ 2. เนื่องจากปัจจุบันการลงคะแนนประชามติได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ควรพิจารณาเสริมสร้างให้มีบรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นต่างจากทุกภาคส่วนให้สามารถแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอย่างรอบด้าน เพื่อที่กฎหมายดังกล่าวจะสามารถนำพาประเทศไทยให้เดินต่อไปได้ด้วยการยอมรับจากทุกฝ่าย

พรรคพลังประชาธิปไตย ลั่นไม่ยอมรับผลการทำประชามติจอมปลอม


10 ส.ค. 2559 พรรคพลังประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์ ของพรรคพลังประชาธิปไตย ประกาศไม่ยอมรับผลการทำประชามติจอมปลอม (Fake Referendum) โดยระบุว่า ตามที่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” ได้เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ โดยอ้างถึงผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ของ กกต. ปรากฏตามสื่อมวลชนนั้น
พรรคพลังประชาธิปไตย ซึ่งได้เคยประกาศคว่ำบาตร (Boycott) ประชามติไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อคราวการประชุมพรรคการเมืองที่จัดขึ้นโดย กกต. ในวันที่ 19 พ.ค. 2559 นั้น บัดนี้จึงขอประกาศเจตนารมณ์ของพรรคฯ ในการไม่ยอมรับผลการทำประชามติจอมปลอมที่ผ่านมา ทั้งกระบวนการและผลคะแนนที่ กกต.ได้แถลงต่อสื่อมวลชน ด้วยเหตุผลดังนี้
  • 1. ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงที่ กกต.นำมาอ้างนั้น มีที่มาไม่ชอบธรรม ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย
  • 2. กฎหมายประชามติที่บังคับใช้ ไม่เป็นมาตรฐานสากลและไม่เป็นธรรม มัดมือมัดเท้าผู้มีความเห็นต่างอย่างสิ้นเชิง                                                                     
  • 3. กลไกของเผด็จการและอำนาจรัฐ ตลอดจนใช้งบประมาณด้วยความฉ้อฉล เอื้อให้ผลคะแนนเป็นตามที่ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องการ                                                          
  • 4. ระหว่าง 3 เดือนที่ผ่านมา มีการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน และใช้อำนาจรัฐที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จับกุม คุมขัง ดำเนินคดีประชาชน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ ที่มีความเห็นต่างอย่างน่าอับอาย เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก

อนึ่ง ในรัฐเผด็จการทุกประเทศทั่วโลก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีการจัดการและกล่าวอ้างการทำประชามติจอมปลอมมาใช้เป็นเครื่องมืออยู่บ่อยครั้ง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตน และเผด็จการเหล่านั้นก็ไม่เคยแพ้ในประชามติจอมปลอมที่จัดทำขึ้นเลย
พรรคพลังประชาธิปไตย ขอประกาศสนับสนุนการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ของประชาชน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ กลุ่มองค์กรประชาชน ที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิดังกล่าว พร้อมจะยืนอยู่เคียงข้างบรรดาของเหยื่อการคุกคาม จับกุม คุมขัง และขอเรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีและคืนเสรีภาพให้ผู้ถูกคุมขังจากผลพวงประชามติจอมปลอมนี้