วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เตรียมชง ครม. ซื้อบินขับไล่ 8 ลำให้ 8.8 พันล้าน - ศรีสุวรรณ ชี้อาจขัด รธน. จ่อฟ้องศาล

 
 KAI T-50  เป็นเครื่องบินฝึกขับไล่ขั้นสูงที่ บริษัท KAI ของเกาหลีใต้ พัฒนาขึ้น ที่มาภาพประกอบ http://rach1968.blogspot.com/2015/09/t-50th.html

ครม.เตรียมพิจารณาการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่อีก 8 ลำ วงเงิน 8,800 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของกองทัพอากาศ ด้านศรีสุวรรณ ชี้อาจขัด รธน. จ่อฟ้องศาล
10 ก.ค.2560 รายงานข่าวจากกระทรวงกลาโหม เปิดเผยกับทาง "เดลินิวส์ออนไลน์ " ซึ่งสอดคล้องกับช่อง 7 สี ระบุว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 11 ก.ค.นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม จะนำเรื่องการจัดหาเครื่องบิน T-50TH จำนวน 8 เครื่อง เพื่อให้ครบ 12 เครื่อง วงเงินประมาณ 8,800 ล้านบาทเศษ ผูกพัน 3 ปี ให้กับกองทัพอากาศ เสนอเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งเป็นการจัดหาต่อเนื่องในระยะที่ 2 หลังจากที่ ครม.อนุมัติ เมื่อ 2 ปีที่แล้วไว้จำนวน 16 เครื่อง โดยจัดหา 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 จำนวน 4 เครื่อง ระยะที่ 2 จำนวน 8 เครื่อง และ ระยะที่ 3 จำนวน 4 เครื่อง ให้กับกองทัพอากาศ
รายงานข่าวระบุอีกว่า การจัดหา T-50TH มาเป็นเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น เพื่อทดแทนเครื่อง L-39 ที่เก่าใช้งานมานาน ใช้เทคโนโลยีเก่า และใกล้สิ้นสภาพ เป็นเครื่องที่มีสมรรถนะสูง นอกจากนำมาเป็นเครื่องฝึก แล้วยังสามารถใช้ปฏิบัติการทางอากาศได้หลากหลาย มีเทคโนโลยีทันสมัย ผลิตจากประเทศในเอเซีย มีใช้งานอยู่ใน 4ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย คาดว่าในอนาคตมีอีกหลายประเทศที่ให้ความสนใจ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงของชาติ และภูมิภาคอาเซียน
 
ทั้งนี้ T-50TH เป็นเครื่องบินขับไล่ สมรรถนะน้องๆ F-16s มีระบบเครื่องช่วยฝึกในอากาศ ที่เรียกว่า Embedded Trainning Systems ที่เหมาะสมที่จะใช้ นบ.ขับไล่ขั้นต้น ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการเสนอให้ครม.รับทราบแล้ว คาดว่าวันที่ 29 ก.ค.นี้ จะเซ็นสัญญาผูกพันระหว่าง ทอ.กับ KAI ได้ 
 

ศรีสุวรรณ ชี้อาจขัด รธน. จ่อฟ้องศาล

ขณะที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยแพร่แถลงการณ์ของสมาคมฯ ระบุว่า การจัดหาเครื่องบินดังกล่าวอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 62 ประกอบมาตรา 75 และมาตรา 76 เพราะขณะนี้ประเทศชาติกำลังเผชิญปัญหากับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของการบริหารราชการแผ่นดินของแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมและคณะรัฐมนตรีควรจะมีสำนึกถึงความยากแค้นของพี่น้องประชาชนที่ต้องทนทุกข์ทรมาณกับการขายสินค้าทางการเกษตรในราคาที่ตกต่ำสุด ๆ อันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการบริหารงานของข้าราชการระดับสูง รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล เช่น ราคาข้าวโพดตกต่ำ ราคายางพาราตกต่ำ ราคาสับปะรดตกต่ำ ราคามันสำปะหลังตำต่ำ ราคาข้าวตกต่ำ ฯลฯ แต่ทว่ากระทรวงกลาโหมกลับมาเสนอจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่าหลายพันหลายหมื่นล้าน เช่น การซื้อเรือดำน้ำ การซื้อรถถัง และการซื้อเครื่องบินขับไล่ ฯลฯ จึงขัดต่อหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพสูงสุด ไม่เกิดประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งจะถือได้ว่ารัฐบาลไม่รักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
แถลงการณ์สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุด้วยว่า แม้ข้อกล่าวอ้างเพื่อความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมจะมีความสำคัญแต่สถานการณ์รอบบ้าน รอบประเทศของเราไม่มีปัญหาความขัดแย้งถึงขั้นสู้รบกันแต่อย่างใด การสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ จึงยังไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดและประเทศไทยประชาชนส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน ยังมีชาวบ้านที่ถูกบังคับให้จนและถูกบังคับให้เป็นหนี้ยังมีอยู่อีกมากมาย การอนุมัติให้มีการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากมายทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศในขณะนี้ จึงเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ถูกกาละเทศะอย่างรุนแรง
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงขอเรียกร้องมายังคณะรัฐมนตรีได้โปรดอย่าตามใจกระทรวงกลาโหมไปหมดเสียทุกอย่าง ขอได้โปรดมีความกล้าหาญในการสั่งชะลอการจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH ให้กับทอ. เสียและนำเงินดังกล่าวไปพยุงราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำในขณะนี้จะดีกว่า และหากประเทศไทยร่ำรวยชึ้นมาเมื่อไรค่อยไปจัดซื้อจัดหาก็คงไม่สายหรือเสียหน้าแต่อย่างใด แต่หากคณะรัฐมนตรียังคงเดินหน้าอนุมัติให้กระทรวงกลาโหมจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH ให้กับทอ.ได้ต่อไปโดยไม่สั่งให้มีการทบทวนหรือชะลอโครงการนี้ สมาคมฯจำต้องนำความขึ้นฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 213 ประกอบมาตรา 51 ต่อไปแน่นอน

แพทย์ชนบทจับตาแก้ ก.ม.บัตรทอง 3 ประเด็น ‘ร่วมจ่าย-แยกเงินเดือน-จัดซื้อยา’


ประธานแพทย์ชนบท เผย 3 ประเด็นสำคัญในการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง ระบุ สธ.มีเจตนาชัดในการปลุกผีดิบร่วมจ่าย ณ จุดบริการ ประกาศสู้ ไม่ยินยอมให้แยกเงินเดือนบุคลากรจากงบเหมาจ่าย ย้ำหากยอมให้กระทรวงหมอจัดซื้อยาเอง จะซ้ำรอยทุจริต 1,400 ล้านบาท
11 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีปัญหาสุขภาพ 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1.ความเสมอภาคเท่าเทียม ทั้งระหว่างคนเมืองกับชนบทและแต่ละภูมิภาค และปัญหาระหว่างกองทุนต่างๆ ในเรื่องชุดสิทธิประโยชน์ที่รัฐให้การดูแล 2.คุณภาพของบริการ 3.ประสิทธิภาพของระบบ
นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ประเทศไทยจัดระบบบริการตามโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทย (มท.) และผูกติดระบบบริการกับหน่วยบริการที่ถูกสร้างขึ้นมาในแต่ละพื้นที่ เช่น บางจังหวัดมีโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลจังหวัดจำนวน 3-4 แห่ง อัตรากำลังข้าราชการก็แปรไปตามขนาดของโรงพยาบาลโดยที่ไม่ได้สนใจภาระงานที่เกิดขึ้นจริง บางจังหวัดมีภาระงานน้อยแต่มีโรงพยาบาลและข้าราชการมากรัฐก็ดูแลมาก ซึ่งในอดีตพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่ได้รับการดูแลจากรัฐน้อยที่สุด นั่นหมายความว่าประชาชนภาคอีสานก็ย่อมได้รับการดูแลน้อยกว่าภาคอื่นๆ
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งหมดจึงนำมาซึ่งความคิดในการปฏิรูประบบเปลี่ยนจากระบบอนาถาหรือขอทานบริการมาเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชน โดยเริ่มจากนำงบประมาณทั้งหมดมาหารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็กได้รับเงินเพิ่มขึ้นและสามารถเหลือเงินไปจ้างลูกจ้างชั่วคราวมาให้บริการประชาชนในชนบท ฉะนั้นหลักการสำคัญของบัตรทองก็คือ 1.เราต้องการให้เกิดความเป็นธรรมในทุกมิติ 2.คุณภาพการบริการจะเกิดขึ้นได้เม็ดเงินต้องเพียงพอ 3.การบริการมีประสิทธิภาพภายใต้กลไกการควบคุมโดยอำนาจของผู้ซื้อบริการ
“ถ้ามันตกอยู่ในมือของกระทรวงสาธารณสุข พอมีงบประมาณมาก็โกงงบประมาณกัน พอมีรถพยาบาลมาก็โกงรถพยาบาลกัน ตั้งราคาที่สูงเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนสีไหน เหมือนกันหมดคือไปซื้อของที่ไม่อยากได้แต่เรียกส่วนต่างได้ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้จะทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงบริการ ไม่สามารถเข้าถึงยาได้” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า หากไม่มีการควบคุมการบริการที่มีประสิทธิภาพโดยอำนาจของผู้ซื้อ อำนาจการต่อรองราคาก็จะไม่เกิดขึ้น โดยสิ่งที่เห็นชัดตั้งแต่ก่อนและหลังมี สปสช.ก็คือกรณีการทำสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) ที่ทำให้บริษัทยาลดราคาลงจำนวนมาก หรือยกตัวอย่างกรณีเลนส์ตาซึ่งในอดีตคนไข้ต้องผ่าเอง แต่ตั้งแต่มี สปสช.ต่อรองราคาจากข้างละกว่าหมื่นบาทเหลือแค่ 2,800 บาท นั่นเพราะ สปสช.จัดซื้อเป็นจำนวนมากและจัดซื้อจริง
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีความพยายามพลิกฟื้นผีดิบการร่วมจ่ายขึ้นมาอีกครั้งโดยส่อเจตนาชัดเจน ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เพราะจะทำให้แพทย์กลายเป็นซาตานโดยไม่รู้ตัว เพราะแทนที่จะตรวจคนไข้อย่างญาติมิตรพี่น้องก็กลายเป็นว่าต้องถามสิทธิของเขาก่อน แพทย์ก็จะเกิดบาปขึ้นไม่รู้ตัว
นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ขอประกาศจุดยืนว่าอย่างไรแล้วเงินเดือนก็ต้องอยู่ในเงินเหมาจ่ายรายหัวไม่สามารถแยกได้ เพราะหากแยกออกไปแล้วโรงพยาบาลในเมืองก็จะไม่เกิดสำนึกทางการเงิน เวลาใครขอย้ายจากชนบทไปอยู่ในเมือง เมืองก็จะรับทันทีเพราะไม่ต้องจ่ายเงินอะไร แต่ถ้ายังรวมอยู่ในรายหัวเหมือนเดิม โรงพยาบาลเมืองก็จะประเมินแล้วว่าคนของตัวเองเยอะเกิน อาจจะไม่รับเพิ่มดีกว่า ตรงนี้จะเป็นแรงช่วยดันไว้ช่วยชะลอไม่ให้แพทย์ไหลจากชนบทไปสู่เมืองได้เร็วขึ้
“ต้องขอบคุณภาพประชาชนที่เข้าใจประเด็นต่างๆ และออกมาร่วมต่อสู้ และแพทย์ชนบทก็ไม่ได้หนีไปได้ ก็ยังร่วมต่อสู้อยู่ตรงนี้ โดยเรื่องที่สำคัญก็คือเรื่องการร่วมจ่าย เรื่องการแยกเงินเดือน และเรื่องการจัดซื้อยา หากไม่ต่อสู้แล้วยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เราเกิดปัญหาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อยาหากยังปล่อยให้อยู่ในมือกระทรวงสาธารณสุข มันก็จะเกิดปรากฏการณ์อย่างที่พวกเราหลอนกันอยู่ คือมีงบมา 1,400 ล้านบาท นักการเมืองสั่งได้ รัฐมนตรีสั่งได้ สั่งให้ข้าราชการไปซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็น ทั้งๆ ที่งบประมาณเป็นภาษีของเรา ฉะนั้น 3 ประเด็นนี้คือประเด็นสำคัญ หากจะมีการปรับแก้กฎหมายก็ต้องทำให้ 3 เรื่องนี้ดีขึ้น ไม่ใช่ทำให้มันสวนทางกัน”นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ เพจชมรมแพทย์ชนบท กำลังติดตามการกันงบค่าเสื่อม 30% ไว้ที่ส่วนกลาง โดยทำหนังสือเปิดผนึกถึง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ลงวันจันทร์ที่ 10 ก.ค.ความว่า 
"ตามที่ท่านได้ แจ้งในบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2560 ท่านขอให้บอร์ด สปสช.แก้ไขประกาศ เกณฑ์การจัดสรร งบค่าเสื่อมให้กับโรงพยาบาลต่างๆเสียใหม่
จากเดิมงบนี้จะต้องกระจายลงไปสู่หน่วยบริการต่างๆ ร้อยละ90 กันไว้ร้อยละ 10 ดูในภาพรวม และทำให้หน่วยบริการต่างๆมีงบในส่วนนี้เพิ่มขึ้น กระจายอย่างเป็นธรรม ลดปัญหาการจัดสรรที่อาจส่อไปในทางทุจริต กินหัวคิว ทั้งระดับบน เขต จังหวัดได้
แต่ท่านกลับทำหนังสือถึงเลขา สปสช.ให้เสนอบอร์ดเพื่อแก้ไขประกาศ ให้กันไว้ถึง 30 เปอร์เซนต์ เหลือไปโรงพยาบาลต่างๆเพียง 70 เปอร์เซนต์
ยังไม่ทันไร ก็เห็นแล้วว่าท่านคิดอะไร การรวบอำนาจมีจริง การแก้ กฏหมายบัตรทอง ส่อเค้าลางแห่งความไม่เป็นธรรมในระบบสุขภาพเกิดขึ้น ย้อนยุคสมัยทุจริตยา ค่าเสื่อม ไทยเข้มแข็ง รถพยาบาลฉาว ประวัติศาสตร์นี้ คนในกระทรวงบางคนไม่เคยจดจำ
ท่านเคยเอาเรื่องนี้ไปเสนอใน กรรมการ 7*7 หรือไม่ ทั้งๆที่ท่านนั่งหัวโต๊ะ
ท่านเคยเอาเรื่องนี้ไปเสนอในอนุกรรมการการเงินการคลังหรือไม่ เพราะทุกเรื่องเกี่ยวกับการจัดการด้านหลักประกันต้องผ่านกรรมการกลั่นกรองชุดนี้ก่อน แล้วอยู่ๆท่านเอาไปเสนอในบอร์ด
ไม่น่าเชื่อว่ากรรมการ 7*7 ที่ให้เป็นเวทีเพื่อเสนอความเห็นโดยมีตัวแทนทั้งจากโรงพยาบาล และ สปสช. ที่ รมว.สธ.เป็นผู้แต่งตั้ง ปลัด สธ.เป็นประธานเอง แต่ท่านกลับรวบรัดใช้อำนาจลัดขั้นตอน
เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า
จึงขอเรียกร้องให้ท่านปลัดโสภณ ถอนเรื่องนี้กลับไปโดยเร็ว และหากยืนยันตามความคิดของท่าน พวกเราชมรมแพทย์ชนบท โรงพยาบาลชุมชน จะขอคัดค้านอย่างถึงที่สุด
งบลงทุนในกระทรวงสาธารณสุข ที่กระจายไม่เป็นธรรม ไม่เหมาะสม ในมือปลัดกระทรวงสาธารณสุข กว่า 10,000 ล้าน ยังไม่พออีกหรือ
ท่านกำลังจะรีดเลือดปู
ท่านกำลังดูดไอติม จนเหลือแต่ ไม้ไอติม
 หากเป็นอย่างนี้แล้ว งบจะยังคงไปถึงโรงพยาบาลอีกหรือ?"

อดีต ส.ส.ปชป. ถาม 'ประยุทธ์' เข้าใจบรรษัทภิบาลไหม ตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจมีแต่ทหารเพียบ


         รัชดา อดีต ส.ส.ปชป. ถาม 'ประยุทธ์' เข้าใจบรรษัทภิบาลดีแค่ไหน ตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เหน็บว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง มีแต่ทหารเข้ามานั่งเพียบ บางแห่งมี 4-6 คน ขณะที่ 3 ปียุค คสช. ทหารนั่ง ปธ.บอร์ดเพิ่มขึ้น 5 เท่า
          11 ก.ค. 2560 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ซึ่งพบว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้งบรรดานายพลทหารเข้าไปเป็นบอร์ดกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทุกแห่งจำนวนมาก ว่า การตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจแบบนี้ต้องถามรัฐบาลว่า มีนโยบายจริงจังที่จะให้มีบรรษัทภิบาลมากน้อยแค่ไหนกัน (corporate governance) เพราะเห็นรายชื่อบอร์ด หรือกรรมการรัฐวิสาหกิจทุกแห่งแล้ว ตั้งคำถามว่ารัฐบาลนี้เข้าใจคำว่า บรรษัทภิบาลมากน้อยแค่ไหน อย่างไร คนจะขึ้นมาเป็นบอร์ดนั้นไม่ใช่มาเซ็นชื่อและรับเบี้ยประชุม หรือเป็นแค่ตรายางให้ฝ่ายบริหาร แต่มีหน้าที่สำคัญ คือ ต้องกำกับดูแลฝ่ายบริหารให้ดำเนินการไปสู่ผลประกอบการที่ดี รวมถึงกำหนดทิศทาง ตรวจสอบความโปร่งใสและการปฏิบัติตามกฎระเบียบของฝ่ายบริหาร ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรด้วย
          "เมื่อเข้าไปดูรายชื่อแล้วจะพบว่า จิ้มไปตรงไหนก็เจอทหารนั่งเป็นบอร์ดอย่างน้อยรัฐวิสาหกิจละสองคน บางแห่งมีสี่ถึงหกคน เช่น บริษัทการบินไทย (มหาชน) บริษัทท่าอากาศยานไทย (มหาชน) และองค์กรการไฟฟ้าต่างๆ ไม่ใช่ว่าทหารไม่เก่งหรือทหารไม่ดี แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีใครเก่งทุกเรื่องรู้ทุกเรื่อง ดังนั้น คนเป็นบอร์ดต้องมีประสบการณ์และความเข้าใจในธุรกิจขอองค์กรนั้นๆ การอยู่รอดทางธุรกิจต้องแข่งกันที่วิสัยทัศน์ ข้อมูล และความรอบคอบ คนไม่เคยทำธุรกิจเลยจะมากำกับดูแลองค์กรขนาดใหญ่ มีมูลค่าเป็นพันเป็นหมื่นล้านไหวหรือ แต่นี่ก็แต่งตั้งกันมา แปลว่า ไม่ได้ตระหนักถึงหน้าที่อันสำคัญของกรรมการบริษัท หรือคิดแต่เพียงอยากสนับสนุนพรรคพวกตนเอง ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว มันจะต่างกับที่ได้กล่าวหานักการเมืองว่า แทรกแซงรัฐวิสาหกิจเอาแต่คนใกล้ตัวอย่างไร ทั้งที่จริงมีผู้มีประสบการณ์และคุณสมบัติตรงและผ่านการอบรมด้านนี้โดยตรงพร้อมให้รัฐบาลสรรหาไปทำหน้าที่กรรมการบริษัท มองคนเก่งที่เขาไม่ได้อยู่ในเครื่องแบบบ้าง รัฐวิสาหกิจจะได้ทีคนเหมาะสมมาดูแลองค์กรให้เป็นแหล่งรายได้ให้รัฐบาลจริงๆ เสียที และขอฝากบอร์ดการท่าอากาศยานชุดนี้ด้วย ดูท่าทีจะเพิกเฉยต่อข้อค้นพบของ สปท.ที่พบว่า มีการทุจริตทำให้รัฐเสียประโยชน์หมื่นกว่าล้าน ทั้งๆ ที่เรื่องนี้คือหน้าที่โดยตรง" รัชดา กล่าว


3 ปียุค คสช. ทหารนั่ง ปธ.บอร์ดเพิ่มขึ้น 5 เท่า ประยุทธ์แจงเข้าไปสังเกตการณ์

         โดยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา บีบีซีไทย ได้เปิดเผยข้อมูลเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีการรัฐประหารของ คสช. ท่ามกลางกระแสการปฏิรูป หนึ่งในองค์กรที่มีการปฏิรูปคือ รัฐวิสาหกิจ แต่ปรากฏว่า 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนทหารนั่งเป็นประธานในคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5 เท่า เป็น 16 แห่ง ส่วน จำนวนทหารและอดีตทหารเข้าเป็นกรรมการในบอร์ดเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ใน 40 รัฐวิสาหกิจ
 
         ขณะที่ต่อมา 6 มิ.ย.60 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบว่า ช่วงที่ผ่านมา ก็มีปัญหาภายในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็ได้มีการจัดให้ทหารเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ ไม่ใช่ไปนั่งยกมือแสดงความคิดเห็น หลายเรื่องรัฐบาลก็ได้แก้ไขปัญหาไปแล้วโดยได้รับข้อมูลเป็นสัดส่วนของกรรมการในบอร์ดตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการเอาทหารเข้าไปนั่งในบอร์ดจำนวนมาก แล้วตัดส่วนอื่นออกและเป็นบอร์ดกรรมการทั่วไปไม่ได้เป็นบอร์ดกรรมการเฉพาะทาง
 
         สำหรับรายละเอียดของรายงานดังกล่าวของ บีบีซีไทย ระบุว่า จากการตรวจสอบรายชื่อบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง จากชุดก่อนหน้าที่ คสช. จะเข้ามา ผ่านรายงานประจำปี ปี 2556 ของทุกรัฐวิสาหกิจ กับชุดปัจจุบัน ผ่านรายงานประจำปี 2559 หรือเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ พบว่ารายชื่อทหารที่เข้ามานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ มีจำนวน "เพิ่มขึ้น" จาก 42 คน ใน 24 แห่ง เป็น 80 คน ใน 40 แห่ง หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว และจำนวนรัฐวิสาหกิจที่มี "ประธานบอร์ด" เป็นทหาร ไม่ว่าจะยังรับราชการอยู่หรือเกษียณอายุราชการแล้ว เพิ่มขึ้นจาก 3 แห่ง เป็น 16 แห่ง หรือมากกว่า 5 เท่าตัว
 
        นอกจากนี้ ทหารบางคนนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจมากกว่า 1 แห่ง" บางคนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ควบคู่กันไปด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากต้องทำงานหลายแห่งในเวลาเดียวกัน

จตุพรแนะอย่าปฏิรูปแต่ตำรวจต้องทหารด้วย 'โฆษก ทบ.' สวนกองทัพปฏิรูปตนเองตลอด


'จตุพร' ชี้อย่าปฏิรูปเฉพาะตำรวจเพียงหน่วยงานเดียว เมื่อให้ทหารเป็นหัวแถว ก็ต้องปฏิรูปด้วย 'โฆษก ทบ.-พล.อ.สรรเสริญ' สวนทุกวันนี้กองทัพก็มีการปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว

               10 ก.ค.2560 วันนี้ (10 ก.ค.60) จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์แฟนเพจในหัวข้อเรื่องอย่าปฏิรูปเฉพาะตำรวจเพียงหน่วยงานเดียว เมื่อให้ทหารเป็นหัวแถว การปฏิรูปตำรวจก็ควรจะให้ตำรวจเป็นหัวแถวในการปฏิรูปทหารตอนหนึ่ง ว่า ความจริงไม่ใช่เป็นเรื่องของการประชดประชันแต่เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับความเป็นจริง ว่าทุกองค์กรในประเทศไทยเป็นปัญหาไม่ใช่เฉพาะตำรวจเพียงองค์กรเดียว ทหารข้าราชการ พรรคการเมืองหน่วยงานต่างๆ แม้กระทั่งภาคประชาชนเราก็ต้องปฏิรูปกันทั้งนั้น ฉะนั้นเวลานี้สิ่งที่แต่ละฝ่ายพยายามจะพูดกัน ดูเสมือนหนึ่งประเทศไทยนั้นมีปัญหาเฉพาะหน่วยงานเดียวเท่านั้น คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)  ซึ่งตนมองว่า เรื่องคนดี คนไม่ดีมีทุกองค์กร และบางหน่วยงานแตะต้องไม่ได้


           จตุพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันตำรวจก็อยู่ภายใต้การควบคุมของทหารอยู่แล้ว ซึ่งในแต่ละส่วนงานก็มีทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง ในแต่ละพื้นที่ในทางปฏิบัติกันอยู่แล้ว แต่ถ้าหากจะแก้ไขการปฏิรูปตำรวจในทุกมิตินั้น สิ่งหนึ่งที่คนไทยอยากจะเห็นนั้นก็คือว่าเราจะได้หน่วยงานที่มีธรรมาภิบาลที่ดีและถูกต้อง แต่ตำรวจได้รับการปฏิรูปเพียงองค์กรเดียวก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไร ทหารเองควรเปิดกว้างเช่นเดียวกัน เมื่อกล้าที่จะปฏิรูปตำรวจก็ควรจัดจะให้มีการปฏิรูปทหารเช่นเดียวกัน เพราะเชื่อว่าทหารก็มีปัญหา ทหารก็มีคนดีและคนไม่ดีเหมือนกับทุกหน่วยงานตนจึงอยากเห็นการปฏิรูปทหาร ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปทุกหน่วยงานราชการ

โฆษก ทบ.ยันกองทัพปฏิรูปตนเองตลอด

          มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ที่ผ่านมากองทัพได้ปรับตัวเรื่อยมาตามลำดับ เวลา ในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ภารกิจทางการทหาร และภารกิจทางการทหารที่ไม่ใช่สงคราม โดยเฉพาะบทบาทในการช่วยเหลือและพัฒนาประเทศที่ระยะหลังได้รับสัญญาณค่อนข้างบวก แม้ว่าภารกิจของทหารในภาวะปกติ ไม่ใช่การให้บริการในลักษณะสัมผัสตรงกับประชาชนเหมือนหลายๆ องค์กร แต่ทุกหน่วยงานในสังกัดยังคงมีการสำรวจเพื่อปรับตัวให้งานในแต่ละด้านมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ให้เหมาะสมกับความต้องการในภาพรวมของประเทศ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการเวลาที่เปลี่ยนไป




แฟ้มภาพ
           พ.อ.วินธัยกล่าวต่อว่า สำหรับเสียงเรียกร้องของจตุพรนั้น เราพร้อมรับฟังอย่างมีเหตุมีผล แต่ไม่อยากให้จำกัดอยู่เฉพาะบางกลุ่มบางพวก ที่สังคมส่วนใหญ่มองไปว่าอาจเป็นเรื่องของการเมือง หรือเข้าใจว่าเป็นข้อเรียกร้องจากกลุ่มที่เสียประโยชน์จากการทำหน้าที่ของทหารในช่วงภาวะพิเศษช่วงนี้เท่านั้น
“ขอให้มั่นใจ หลายหน่วยงานในสังกัดกองทัพ ยังคงต่อเนื่องที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อนำไปสร้างพัฒนาการใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาติในแต่ละพื้นที่อยู่เสมอ จากข้อมูลที่ได้รับภาพรวมยังไม่พบเรื่องที่น่ากังวลอะไร” โฆษกกองทัพบกกล่าว

สรรเสริญ แจงทุกวันนี้กองทัพก็มีการปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว

          เดลินิวส์ รายงานความเห็นของ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วย โดย พล.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ทุกวันนี้กองทัพก็มีการปฏิรูปตัวเองอยู่แล้ว จึงต้องย้อนถามนักการเมืองเช่นกันว่า การที่กองทัพต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในครั้งนี้ เพราะความไม่สงบเรียบร้อยที่นักการเมืองก่อเอาไว้ ส่งผลให้กองทัพมีความจำเป็นต้องเข้ามาหรือไม่ แต่ถ้าหากบ้านเมืองมีความสงบและเรียบร้อยปกติสุข ไม่ทะเลาะเบาะแว้งฆ่าฟันกันทั้งเมือง ทหารจะเข้ามาทำไม