วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

นักศึกษา มธ.รวมตัวค้านคำสั่งไล่ สศจ. ที่รังสิต

นักศึกษา มธ. รวมตัว-จุดเทียน ที่ลานป๋วย มธ. ศูนย์รังสิต ค้านคำสั่งไล่ออก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เชื่อเป็นการคุกคามเสรีภาพด้วยเหตุผลทางการเมือง




26 ก.พ. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ลานป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต กลุ่มนักศึกษาที่ใช้ชื่อว่า "ประชาคมคัดค้านคำสั่งไล่อ.สมศักดิ์ออกจากราชการ" เปิดให้ลงชื่อในแถลงการณ์ "ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของทรัพยากรบุคคลทางวิชาการและงานวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย" ซึ่งร่างขึ้นโดยนักวิชาการคณาจารย์ภาคประชาชนจากหลากหลายกลุ่มอาชีพทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กว่า 200 คนพร้อมจัดกิจกรรมจุดเทียนเพื่อแสงสว่างและเสรีภาพทางวิชาการ โดยกลุ่มนักศึกษาเห็นว่ากรณีคำสั่งไล่ออกสมศักดิ์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการด้วยเหตุผลทางการเมือง
ทั้งนี้ กลุ่มนักศึกษาได้อ่านกลอนและอ่านแถลงการณ์ ก่อนจะร่วมจุดเทียนแสดงสัญลักษณ์พร้อมร้องเพลงเพื่อมวลชน ขณะที่บรรยากาศโดยทั่วไป นักศึกษาได้จัดบอร์ดให้เขียนแสดงความคิดเห็นกรณีอ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถูกไล่ออก
อย่างไรก็ตาม มีเพียงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาสังเกตการณ์เท่านั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ แสดงตนเข้าดูแลการจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยกลุ่มนักศึกษาประกาศก่อนจัดกิจกรรมว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการเรียกร้องภายในมหาวิทยาลัย ไม่ได้กระทบต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.
ทั้งนี้ แถลงการณ์มีข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย 3 ข้อ โดยเรียกร้องให้มีการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย ชีวิต จิตใจ ของบุคลากร โดยไม่ให้อำนาจทางการเมืองมาแทรกแซง และขอให้ประกันสิทธิแก่บุคลากร ในการได้รับผลกระทบจากวิกฤติฯ ในการลากิจ ลาเพิ่มพูนความรู้  ลาออก และการการลี้ภัยฉุกเฉิน รวมทั้งเรียกร้องต่อผู้บริหารว่า หากไม่สามารถทำอะไรได้ ควรแสดงออกซึ่งสามัญสำนึกต่อสาธารณะ

0000

แถลงการณ์ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของทรัพยากรบุคคลทางวิชาการและการวิจัยในสถาบันการศึกษาชั้นสูง
อนุสนธิจากกรณีผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคำสั่งไล่ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากราชการโดยที่ ดร.สมศักดิ์ถูกวิกฤติการณ์ทางการเมืองคุกคามถึงชีวิตจนต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศและได้ยื่นเรื่องขอลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการไว้ก่อน แต่เมื่อถูกถ่วงเรื่องไว้จึงได้แสดงความจำนงขอลาออกจากราชการดังความปรากฏในสื่อสาธารณะแล้วนั้น พวกเราเห็นว่า ดร.สมศักดิ์ ควรมีสิทธิอุทธรณ์และสิทธิอื่นๆ เช่น การลาเพิ่มพูนความรู้ การลากิจ กระทั่งการลาออก รวมไปถึงการต่อสู้คดีความในศาลยุติธรรมที่ไม่ใช่ศาลทหาร
และขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยยุติการนำข้ออ้างเรื่องวินัยบุคลากร มาใช้เพื่อรวบรัดตัดตอนและลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของบุคลากรทางวิชาการ แม้พวกเรามิได้เห็นว่านักวิชาการควรมีสิทธิพิเศษเหนือประชาชนทั่วไป แต่ในภาวะที่บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ การแสดงความเห็นวิชาการยิ่งต้องได้รับการคุ้มครอง เพื่อให้การแสดงความเห็นในประเด็นสำคัญของสังคมสามารถกระทำได้ และถูกตรวจสอบจากสาธารณชน มากกว่าจะโถมทับความเห็นที่แตกต่างด้วยการไล่ออกจากราชการโดยใช้อำนาจแบบเผด็จการ ซึ่งน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ละทิ้งโอกาสที่จะแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการปกป้องหลักเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการของสถาบันการศึกษาชั้นสูง แต่กลับส่อแสดงความหวาดกลัวต่ออำนาจเผด็จการที่แทรกแซงเข้ามาในมหาวิทยาลัยจนละเลยที่จะปกป้องบุคลากรของตนซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในระดับชาติและนานาชาติต่อความน่าเชื่อถือด้านเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการของมหาวิทยาลัยไทย
ดังนั้น พวกเราผู้มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยทุกแห่งได้แสดงความกล้าหาญทางวิชาการและจริยธรรมอย่างเปิดเผยดังนี้
1.ในยามที่ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขั้นวิกฤติอันมีสาเหตุมาจากอคติของความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนาภาษาความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองมหาวิทยาลัยต้องแสดงบทบาทสูงสุดในการรับรองสิทธิและเสรีภาพของทรัพยากรบุคคลทางวิชาการและการวิจัยซึ่งได้แสดงความเห็นทางวิชาการโดยอิสระและสุจริต แต่กลายผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ฯ ดังกล่าวมหาวิทยาลัยจึงต้องปกป้องคุ้มครองความมั่นคงและความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจของบุคลากรผู้นั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถโดยปราศจากการแทรกแซงของอำนาจทางการเมือง
2.ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องสร้างความมั่นคงทางวิชาชีพให้แก่บุคลากรผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ฯ ดังกล่าวด้วยการรับประกันสิทธิในการลากิจ การลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ การลาออกและสิทธิในการขอลี้ภัยฉุกเฉินโดยไม่ต้องมีการร้องขอ ทั้งนี้ โดยหลักการสากลแล้ว การขอใช้สิทธิดังกล่าวย่อมไม่มีผลเป็นโทษในทางวินัย
3.หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการใดๆ ตามที่ระบุไว้ได้อันเนื่องมาแต่การแทรกแซงและแรงกดดันหรือคำสั่งจากอำนาจทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัยแล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องชี้แจงแก่สาธารณชนและแสดงสำนึกของความเป็นนักวิชาการและจริยธรรมทางวิชาการด้วยการลาออก พวกเราเชื่อมั่นว่า การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการนั้น จะช่วยให้สังคมได้เข้าใจมิติของวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน สามารถคลี่คลายไปได้ตามหลักวิชาการ อีกทั้งยังเป็นหลักประกันความก้าวหน้าขององค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ เพื่อความเจริญงอกงามของประชาชนและประเทศชาติสืบไป
แถลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558

จี้ผู้บริหาร มธ.ปกป้องนักวิชาการ เปิดแคมเปญ ‘ใครๆ ก็เป็นสมศักดิ์เจียมฯ ได้’



26 ก.พ.2558 เวลาประมาณ 18.00 น. ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตัวแทนนักวิชาการและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยปกป้องสิทธิเสรีภาพของบุคคลากรทางวิชาการ หลังสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ถูกให้ออกจากราชการ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีคำสั่งมหาวิทยาลัยลงนามโดยสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ไล่สมศักดิ์ออกจากราชการ โดยระบุว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงเนื่องจากขาดราชการติดต่อกันเกิน 15 วัน โดยก่อนหน้านี้สมศักดิ์ได้ยื่นเรื่องขอลาปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ แต่ขั้นตอนดำเนินไปอย่างล่าช้า จึงได้ยื่นหนังสือลาออกในเวลาต่อมา แต่ก็ไม่ได้รับการอนุมัติจนกระทั่งมีคำสั่งให้ไล่ออกจากราชการในที่สุด
ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2557 เกิดเหตุคนร้ายยิงปืนและปาก้อนอิฐเข้าไปในบ้านพักของสมศักดิ์ขณะที่เขาอยู่ภายในบ้าน และต่อมาหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 มีคำสั่ง คสช.ให้สมศักดิ์ไปรายงานตัว แต่เขาปฏิเสธ ทำให้ถูกยกเลิกหนังสือเดินทางและถูกออกหมายจับในเวลาต่อมา ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สมศักดิ์เป็นนักวิชาการที่เสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสนอให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112
สำหรับเนื้อหาในแถลงการณ์ มีการเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยหยุดนำเรื่องวินัยบุคลากรมาใช้อ้างเพื่อลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของบุคลากรทางวิชาการ และเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยแสดงบทบาทสูงสุดในการรับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลทางวิชาการและการวิจัยที่แสดงความเห็นทางวิชาการโดยอิสระและสุจริต และปกป้องคุ้มครองความมั่นคงและความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจของบุคคลากรอย่างเต็มความสามารถ โดยปราศจากการแทรกแซงของอำนาจทางการเมือง
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยรับประกันสิทธิในการลากิจ การลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ การลาออก และสิทธิในการขอลี้ภัยฉุกเฉินโดยไม่ต้องมีการร้องขอ โดยระบุว่าหากมหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการใดๆ ตามที่ระบุไว้ได้ อันเนื่องมาจากการแทรกแซงและแรงกดดันหรือคำสั่งจากอำนาจทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัยแล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องชี้แจงแก่สาธารณชน และแสดงสำนึกของความเป็นนักวิชาการและจริยธรรมทางวิชาการด้วยการลาออก
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีนักวิชาการ นักเขียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ร่วมลงชื่อแนบท้ายราว 160 คน

ภายหลังตัวแทนนักวิชาการและนักศึกษาอ่านแถลงการณ์แล้ว มีการเปิดการรณรงค์ ‘ใครๆ ก็เป็นสมศักดิ์เจียมฯ ได้’ โดยการโรยแป้งฝุ่นสีขาวลงบนศีรษะให้มีสีผมเหมือนกับสีผมของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เพื่อสะท้อนว่าทุกคนมีโอกาสที่จะถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้สื่อข่าวไทยและต่างประเทศจำนวนมากสนใจมารายงานข่าว และมีประชาชนจำนวนหนึ่งมาร่วมกิจกรรมด้วย โดยที่ตลอดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายนายมาสังเกตการณ์ตั้งแต่ก่อน 17.00 น.จนกระทั่งสิ้นสุดกิจกรรม
มติชนออนไลน์รายงานว่า ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน มีการจัดกิจกรรมจุดเทียนส่องแสงสว่างทางวิชาการ ที่ลาน อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต โดยกลุ่มนักศึกษาที่ใช้ชื่อว่า ‘ประชาคมคัดค้านคำสั่งไล่ อ.สมศักดิ์ ออกจากราชการ’ โดยจัดกิจกรรม อ่านกลอน อ่านแถลงการณ์ ก่อนจะร่วมจุดเทียนแสดงสัญลักษณ์ และร้องเพลงเพื่อมวลชน
มีรายงานข่าวถึงความเห็นของสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อกรณีการไล่ออกสมศักดิ์ว่า การลงโทษครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่สมศักดิ์แสดงความคิดเห็นทางการเมือง เนื่องจากเป็นเสรีภาพทางวิชาการ และไม่เกี่ยวข้องกับคดีหมิ่นสถาบันฯ เพราะมีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้วและเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการตามกฎหมาย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยืนยันว่าคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและกรรมการสอบข้อเท็จจริง มีความเห็นว่าสมศักดิ์ละทิ้งการปฏิบัติราชการจริง มหาวิทยาลัยจึงต้องตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง มีผลให้มีคำสั่งไล่ออกจากราชการในเวลาต่อมา ทั้งนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวด้วยว่า สมศักดิ์สามารถยืนอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของมหาวิทยาลัยได้ภายใน 30วัน ตามกฎหมาย
................................
แถลงการณ์ปกป้องสิทธิและเสรีภาพ
ของทรัพยากรบุคคลทางวิชาการและการวิจัยในสถาบันการศึกษาชั้นสูง
อนุสนธิจากกรณีผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคำสั่งไล่ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากราชการ โดยที่ ดร.สมศักดิ์ ถูกวิกฤติการณ์ทางการเมืองคุกคามถึงชีวิต จนต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศและได้ยื่นเรื่องขอลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการไว้ก่อน แต่เมื่อถูกถ่วงเรื่องไว้ จึงได้แสดงความจำนงขอลาออกจากราชการ ดังความปรากฏในสื่อสาธารณะแล้วนั้น
พวกเราเห็นว่า ดร. สมศักดิ์ ควรมีสิทธิอุทธรณ์ และสิทธิอื่นๆ เช่น การลาเพิ่มพูนความรู้ การลากิจ กระทั่งการลาออก รวมไปถึงการต่อสู้คดีความในศาลยุติธรรมที่ไม่ใช่ศาลทหาร และขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยยุติการนำข้ออ้างเรื่องวินัยบุคลากร มาใช้เพื่อรวบรัดตัดตอนและลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของบุคลากรทางวิชาการ แม้พวกเรามิได้เห็นว่านักวิชาการควรมีสิทธิพิเศษเหนือประชาชนทั่วไป แต่ในภาวะที่บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ การแสดงความเห็นวิชาการยิ่งต้องได้รับการคุ้มครอง เพื่อให้การแสดงความเห็นในประเด็นสำคัญของสังคมสามารถกระทำได้ และถูกตรวจสอบจากสาธารณชน มากกว่าจะโถมทับความเห็นที่แตกต่างด้วยการไล่ออกจากราชการโดยใช้อำนาจแบบเผด็จการ ซึ่งน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ละทิ้งโอกาสที่จะแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการปกป้องหลักเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการของสถาบันการศึกษาชั้นสูง แต่กลับส่อแสดงความหวาดกลัวต่ออำนาจเผด็จการที่แทรกแซงเข้ามาในมหาวิทยาลัย จนละเลยที่จะปกป้องบุคลากรของตน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในระดับชาติและนานาชาติต่อความน่าเชื่อถือด้านเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการของมหาวิทยาลัยไทย
ดังนั้น พวกเราผู้มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยทุกแห่งได้แสดงความกล้าหาญทางวิชาการและจริยธรรมอย่างเปิดเผย ดังนี้
1. ในยามที่ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขั้นวิกฤติ อันมีสาเหตุมาจากอคติของความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ความเชื่อ หรืออุดมการณ์ทางการเมือง มหาวิทยาลัยต้องแสดงบทบาทสูงสุดในการรับรองสิทธิและเสรีภาพของทรัพยากรบุคคลทางวิชาการและการวิจัย ซึ่งได้แสดงความเห็นทางวิชาการโดยอิสระและสุจริต แต่กลายผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ฯ ดังกล่าว มหาวิทยาลัยจึงต้องปกป้องคุ้มครองความมั่นคงและความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจของบุคคลากรผู้นั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยปราศจากการแทรกแซงของอำนาจทางการเมือง
2. ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องสร้างความมั่นคงทางวิชาชีพให้แก่บุคลากรผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ฯ ดังกล่าว ด้วยการรับประกันสิทธิในการลากิจ การลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ การลาออก และสิทธิในการขอลี้ภัยฉุกเฉินโดยไม่ต้องมีการร้องขอ ทั้งนี้ โดยหลักการสากลแล้วการขอใช้สิทธิดังกล่าวย่อมไม่มีผลเป็นโทษในทางวินัย
3. หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการใดๆ ตามที่ระบุไว้ได้ อันเนื่องมาแต่การแทรกแซงและแรงกดดันหรือคำสั่งจากอำนาจทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัยแล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องชี้แจงแก่สาธารณชน และแสดงสำนึกของความเป็นนักวิชาการและจริยธรรมทางวิชาการด้วยการลาออก
พวกเราเชื่อมั่นว่า การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการนั้น จะช่วยให้สังคมได้เข้าใจมิติของวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน สามารถคลี่คลายไปได้ตามหลักวิชาการ อีกทั้งยังเป็นหลักประกันความก้าวหน้าขององค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ เพื่อความเจริญงอกงามของประชาชนและประเทศชาติ สืบไป

แถลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558
ณ ลานอนุเสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

'ปานเทพ' โวยแทรกแซงภาคประชาชนหลังไม่มีชื่อตัวเองเป็น กก.ทางออกพลังงาน

“ปานเทพ” ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ข้องใจไม่มีชื่อ “น.ต.ประสงค์-ปานเทพ” เป็นกรรมการร่วมเพื่อหาทางออกการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามที่ได้มีการเสนอรายชื่อในสัดส่วนของคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาชน

27 ก.พ. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้จัดรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” และคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีทีมงาน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับแทน ซึ่งดูแลรับผิดชอบในเรื่องของคณะกรรมการร่วมเพื่อหาทางออก การสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 เป็นการสอบถามถึงการตั้งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว  ที่ไม่มีรายชื่อ  น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ  และนายปานเทพ  ตามที่ได้มีการเสนอรายชื่อในสัดส่วนของคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาชน  ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดในการดำเนินการ  จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจในทางเสียหายต่อนายกรัฐมนตรี ว่ามีความพยายามในการแทรกแซงการกำหนดตัวแทนภาคประชาชน

“อาจเป็นการทำลายบรรยากาศความจริงใจในการเจรจาหาทางออกให้กับประเทศ เพื่อการปฎิรูปพลังงานได้ เรื่องนี้จึงมีความสำคัญที่ต้องหาทางป้องกัน มิให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก จึงขอให้ภาครัฐประสานงานกับภาคประชาชนอย่างใกล้ชิด และเคารพการตัดสินใจในการส่งตัวแทนของภาคประชาชน รวมถึงการรักษากติกาในการกำหนดตัวบุคคลให้เท่ากันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน” นายปานเทพ กล่าว

นายปานเทพ  กล่าวว่า ที่มีการเลื่อนการเปิดสัปทานรอบที่ 21 ออกไป ทางเครือข่ายประชาชน เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชน 3 คณะ เพื่อทำงานคู่ขนานกัน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ  และครอบคลุมในทุกประเด็น รวมถึงการจัดการแปลงปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดสัมปทานและแปลงปิโตรเลียมใหม่ข้างเคียงแปลงที่ดำเนินการผลิตแล้วในปัจจุบัน

ผลเจรจาปาฐกถาป๋วย ยังยืนยัน ‘ยงยุทธ’ แต่ยกเลิกช่วงกวี ‘เนาวรัตน์’

บัณฑิตอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตยเผยผลการเจรจากับตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการ “โครงการสืบสานปณิธานป๋วย” ระบุทางออกต้องให้ “ยงยุทธ” ถอนตัวไปเองซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก แต่ยกเลิกกวีเนาวรัตน์ ด้านฝ่ายคัดค้านเดินหน้าทำกิจกรรมต่อ
 

กลุ่มบัณฑิตอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตย เดินหน้าทำกิจกรรมต่อ หลังผู้จัดงานสืบสานปณิธานป๋วย ยังยืนยันให้นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปาฐกถาในงาน

27 ก.พ. 2558 กลุ่มบัณฑิตอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตย (บอ.ป.) ได้เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2558 ที่ผ่านมาตัวแทนกลุ่มได้เข้าพบเพื่อเจรจากับตัวแทนของผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการ "โครงการสืบสานปณิธาน… ป๋วย" ณ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีตัวแทนจาก บอ.ป.จำนวน 4 คน และตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการจัดงานจำนวน 8 คน เข้าร่วมการเจรจาดังกล่าว บรรยากาศการเจรจาเป็นไปด้วยดีและมีข้อสรุปเนื้อหาการเจรจาคร่าวๆ ดังนี้

นายอภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ หนึ่งในตัวแทนกลุ่ม บอ.ป. เริ่มการเจรจาด้วยการชี้แจงเหตุผลและความเป็นมาของการคัดค้าน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนาย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของบุคคลทั้งสอง ที่มีความเกี่ยวพันกับคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงภายใต้บรรยากาศทางสังคมการเมืองปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วย การข่มขู่ จับกุม คุกคาม ทรมาน ประชาชนจำนวนมากตลอดหลังการรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทที่มีการอ้างคำสั่ง คสช. เข้าไล่รื้อบ้านเรือน และจับกุมชาวบ้านไปจำนวนมาก ด้วยเหตุดังกล่าวบุคคลทั้งสอง จึงไม่เหมาะสมที่จะมาร่วมงานในวาระสำคัญที่ทางผู้จัดใช้ชื่อว่า "โครงการสืบสานปณิธานงานอาสาสมัครและงานพัฒนาของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื่องในโอกาสรำลึก 100 ปี ชาตกาล" ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับหลักคิด ปณิธาน และปรัชญา ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ และของสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร

ด้าน ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ชี้แจงถึงรายละเอียดของงาน ว่ากำหนดการดังกล่าวเป็นการรวมเอางานทั้ง 3 ช่วง เข้าไว้ในโครงการเดียวกันคือ ช่วงเช้า ประชุมกรรมการจัดงาน 100 ปีชาตกาล ของ ดร.ป๋วย และช่วงบ่าย จะเป็นงานปาฐกถา ซึ่งทางมูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัครได้รับผิดชอบในส่วนนี้รวมถึงงานเสวนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ให้คนรู้จัก อ.ป๋วย และงานพัฒนามากขึ้น สำหรับช่วงเย็นเป็น "งานผีเสื้อคืนรัง" ซึ่งเป็นกิจกรรมยามกลางคืนของศิษย์เก่าหลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัคร ซึ่งศิษย์เก่ารับผิดชอบ และในช่วงค่ำ นายเนาวรัตน์ไม่ได้มาร่วมงาน เพียงแต่ทาง ผู้อำนวยการได้ดำเนินการขอบทกวีที่เกี่ยวกับบัณฑิตอาสาสมัคร มาและตั้งใจมอบให้คนอื่นอ่านในงานเพียงเท่านั้น

ด้านตัวแทนมูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัคร ในฐานะผู้ติดต่อทาบทามนายยงยุทธมาปาฐกถาในงาน ได้ชี้แจงว่าทางมูลนิธิมีความเห็นกันว่านายยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นหลาน อ.ป๋วย ซึ่งมีความรักและเคารพ อ.ป๋วย และมีบทความที่เขียนชื่นชม อ.ป๋วย รวมทั้งไม่คิดว่าการเชิญดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะตั้งใจเชิญมาพูดในแง่มุมชีวิตของ อ.ป๋วยเท่านั้น นอกจากนั้นรองนายกฯ ท่านนี้ยังเคยร่วมขับเคลื่อนงานของของ คณะกรรมการจัดงาน 100 ปี ป๋วยอีกด้วย ทำให้ไม่เห็นว่าการเชิญนายยงยุทธมาร่วมงานจะมีปัญหาอะไร และเหตุผลคัดค้านว่าท่านยงยุทธเกี่ยวพันกับคณะรัฐประหาร ก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอเนื่องจาก อ.ป๋วยท่านก็เคยรับใช้คณะรัฐประหารในช่วงสมัยจอมพลสฤษดิ์เช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น มีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับการจัดงานโครงการดังกล่าวเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อให้ความเห็น ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี อธิบายว่า การเชิญอาจารย์ยงยุทธ มีข้อจำกัดหลายประการที่จะถอนชื่อท่านออกไป เนื่องจาก กำหนดการมีความกระชั้นชิดจนเกินที่จะถอดออกไป และทางผู้จัดได้ดำเนินการเรียนเชิญไปแล้ว ซึ่งท่านรองนายกก็ได้ตอบรับมาว่าจะมาร่วมงานอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางออกก็คือต้องให้รองนายกท่านถอนตัวไปเอง ซึ่งมีความเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นจึงเห็นว่าทางบัณฑิตอาสาสมัครผู้คัดค้านก็ได้แสดงออกไปแล้วน่าจะเพียงพอแล้ว

ประกอบกับมีความเห็นส่วนตัวว่า บุคคลที่ทำงานรับใช้คณะรัฐประหาร ไม่ควรถูกปิดกั้นให้เข้าร่วมกิจกรรมเพราะว่า อาจารย์ป๋วยในสมัยหนึ่งก็เคยทำงานให้กับจอมพลสฤษดิ์เช่นเดียวกัน เช่นกรณี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนไทย ประจำคณะมนตรีดีบุกระหว่างประเทศ และไม่มีความสำคัญว่าที่มาของตำแหน่งทางการเมืองจากระบอบอะไรอาจจะไม่สำคัญเท่ากับมีความตั้งทำงานเพื่อส่วนรวมหรือประเทศชาติจริงหรือไม่ต่างหากกรณีนี้ ผศ.ดร. ประชา ได้ยกตัวอย่างการเข้าไปร่วมทำงานในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาของ หม่อมราชวงศ์ ปรีดียาธร เทวกุล ว่าเป็นการเข้าไปช่วยกอบกู้เศรษฐกิจที่กำลังแย่ในปัจจุบันของประเทศ นอกจากนั้นแล้วคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันหลายท่านก็มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเสนอชื่อ อ.ป๋วยให้ได้รับรางวัล ยูเนสโกอีกด้วย การคัดค้านจะก่อให้เกิดปัญหาต่อกระบวนการดังกล่าวได้

"เงินจัดงาน 100 ปีชาตกาล อ.ป๋วย มาจากรัฐบาล จำนวน 1,000 ล้านบาท ที่จะต้องใช้ดำเนินการทุกงานที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีนี่ และเรามีความจำเป็นที่จะต้องทำงานต่อไป หากมีการคัดค้านแบบนี้ก็จะทำให้งานทุกอย่าง shut down อุทยานป๋วยที่เราอยากให้เกิดก็จะไม่เกิด รวมไปถึงการขอให้ อ.ป๋วย เป็นบุคคลของโลก ทีมร่างก็จะเป็นทีมของหม่อมอุ๋ย หากมีปัญหาก็จะทำให้การขอชะงักลงอีกได้" ผศ.ดร.ประชากล่าว

นายอิทธิพล โคตะมี หนึ่งในตัวแทนของกลุ่ม บอ.ป. เสนอว่า การจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างอาจารย์ป๋วยกับจอมพลสฤษดิ์ อาจจะต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจาก อ.ป๋วยดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำ การทำงานดังกล่าวเป็นเรื่องปกติในระบบบริหารราชการแผ่นดิน ที่ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมากก็ทำเช่นนั้นเช่นกัน การเป็นข้าราชการในช่วง จอมพล ป ด้วย. ถนอมด้วย เช่นเดียวกับ ข้าราชการฝ่ายก้าวหน้าหลายคน แต่จุดชี้ขาดก็คือ ป๋วยปฏิเสธการรับตำแหน่งทางการเมือง และปกป้องการแทรกแซงความเป็นอิสระของข้าราชการจากระบอบเผด็จการทหาร (ดูตัวอย่างการปฏิเสธจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต้องการซื้อ สหธนาคารกรุงเทพ จำกัด แต่เนื่องจากธนาคารแห่งนั้น กระทำผิดระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย และดูความเห็นของรังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ในงานสัมมนาที่คณะเศรษฐศาสตร์หลังจากป๋วย อึ๊งภากรณืเสียชีวิตไม่นาน- ผู้เขียนสรุป) แต่กรณียงยุทธเป็นการบิดเบือนปณิธาณป๋วย ส่วนกรณีเนาวรัตน์ นอกจากเนาวรัตน์ไม่เกี่ยวข้องกับป๋วยเลย ยังเคยมีประวัติเขียนกวีดูแคลนชาวบ้านในชนบทหลายครั้งหลายครา

"หากสำนักบัณฑิตอาสา ซึ่งอนาคตคือ วิทยาลัยป๋วยฯ จะต้องพัฒนาขึ้นไป ดังนั้นอาจารย์ป๋วยไม่ใช่ตัวบุคคล แต่คือสถาบัน และหากจะทำให้เป็นที่ยอมรับ จะต้องไม่ถูกเคลือบแคลงสงสัย ยิ่งหากจะเป็นบุคคลของโลกก็ต้องทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งยึดโยงกับชุดคุณค่าสากล แต่หากบุคคลที่เราเชิญมาพูดแทนภาพป๋วย คือคนที่มาจากรัฐบาลทหาร จะส่งผลให้ป๋วยเสื่อมเสีย แล้วจะทำให้เราไม่สามารถพูดถึงป๋วยได้ชัดถ้อยชัดคำ"

สำหรับข้อสรุปการเจรจามีดังนี้

- ตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการงานยอมรับว่าไม่ได้คิดให้รอบด้านในเรื่องการเชิญบุคคลมาร่วมงาน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป แต่ครั้งนี้จำเป็นต้องคงชื่อนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ไว้ แต่จะปรับกำหนดการไม่ให้มีลักษณะเป็นปาฐกถา
- ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร รับปากว่าจะยกเลิกกวีเนาวรัตน์ในช่วงเวลากลางคืนตามกำหนดการ
- ด้านตัวแทน บอ.ป. ยังคงยืนยันที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านจนถึงที่สุด หากรองนายกในรัฐบาล คสช. ยังคงมาร่วมกิจกรรม
- ด้านตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการยอมรับการเคลื่อนไหว แต่ขอให้เป็นการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างมีอารยะ ซึ่งทาง บอ.ป. ได้ยอมรับข้อเสนอ เนื่องจากเห็นว่า การคัดค้านบุคคลที่เกี่ยวพันกับคณะรัฐประหารทั้งสองของ บอ.ป. คือ คัดค้านการขัดต่อหลักการสันติประชาธรรม ตามปณิธานของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทาง บอ.ป.ต้องการรักษาปณิธานให้สืบไปด้วยการดำเนินการคัดค้านบุคคลทั้งสองอย่างถึงที่สุดด้วยแนวทางสันติประชาธรรมเช่นกัน

ในช่วงท้ายของการเจรจา บอ.ป. ได้มีการมอบจดหมายเปิดผนึกให้แก่ทางผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัครและตัวแทนมูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัคร และได้มอบรูปปณิธานอาจารย์ป๋วย ให้ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัครไว้เป็นที่ระลึก
 

เตรียมส่งฟ้อง 'อภิรุจ-วันทนีย์ สุวะดี' หลังสารภาพทุกข้อหา

กองปราบเตรียมนำนายอภิรุจและนางวันทนีย์ สุวะดี พร้อมสำนวนสั่งฟ้องฐานหมื่นเบื้องสูง และอื่นๆ ส่งฟ้องต่ออัยการ หลังทั้งสองรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ด้านนายบุญธรรม บุญเทพประทาน หรือ "ป๋าชื่น" มอบตัวสู้คดี อ้างไม่เคยแอบอ้างเบื้องสูง
27 ก.พ. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายอภิรุจ และนางวันทนีย์ สุวะดี เข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ตามนัดหมายหลังเข้ามอบตัวในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง, ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนได้รับความเสียหาย และใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานแจ้งความเพื่อกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษทางอาญา

พันตำรวจเอก อัคราเดช พิมลศรี รักษาราชการแทนผู้บังคับการกองปราบปราม เปิดเผยว่า ขั้นตอนจากนี้จะนำตัวผู้ต้องหา ไปขอหมายขังจากศาลอาญารัชดาภิเษก ก่อนนำสำนวนความเห็นสั่งฟ้องของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดี พร้อมคัดค้านการประกันตัว จากกรณีที่ถูกนางสาวศวิตา มณีจันทร์  ชาวจังหวัดราชบุรี กล่าวหาว่าใช้อิทธิพลกลั่นแกล้งจนได้รับโทษทางอาญา จนถูกจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยนายอภิรุจและนางวันทนีย์มีสีหน้าเรียบเฉย

นายอภิรุจ และนางวันทนีย์ เผยรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ยอมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิด พร้อมยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอื่นๆ รวมถึงคดีแอบอ้างอ้างสถาบันเบื้องสูงในการเปิดบ่อนการพนัน

ป๋าชื่นมอบตัวสู้คดีอ้างไม่เคยแอบอ้างเบื้องสูง

วันเดียวกันนี้ (27 ก.พ.) สำนักข่าวไทยยังรายงานว่านายบุญธรรม บุญเทพประทาน หรือ ป๋าชื่น กรรมการบริษัทบ้านชุมทองจำกัด และบริษัทเขาใหญ่เบเวอร์ลี่ฮิลล์ จำกัด เข้ามอบตัวกับพลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลังถูกออกหมายจับในข้อหา แอบอ้างเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีหลอกลวงประชาชนเพื่อซื้อที่ดินนิคมสร้างตนเอง ลำตะคอง บริเวณเขาหนองเชื่อมกว่า 500 ไร่ ในตำบลขนงพระ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และเป็นพื้นที่รอยต่อกับเขตทหาร

นายบุญธรรม ปฏิเสธว่าตนเองไม่เคยแอบอ้างสถาบัน แต่ยอมรับอยากได้ที่ดินที่เขาใหญ่ซึ่งมีอากาศดีเป็นแหล่งโอโซนอันดับ7ของโลก มาจัดสรรขายเพื่อเก็งกำไร โดยมีนายเสฏฐวุฒิ เพ็งดิษฐ์ ซึ่งเป็นนายหน้าค้าที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวมาเสนอขายที่ดินบริเวณนี้ให้ ในราคาไร่ละไม่เกิน1แสนบาท ตนเห็นว่ามีราคาถูก และพื้นที่ทำเลดีน่าจะจัดสรรได้ในราคาสูง จึงตัดสินใจซื้อและนำไปจัดสรรขายต่อ ไร่ละ 6-7 แสนบาท หรือบางแปลงมีราคาสูงถึงหลักล้าน  ยืนยันไม่เคยไปบังคับชาวบ้านในพื้นที่ และไม่ทราบว่านายเสฏฐวุฒิ ใช้วิธีใดจึงได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ เมื่อโอนกรรมสิทธิ์ได้จึงไม่ได้ติดใจสงสัยที่มาแต่อย่างใด ก่อนนำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรขาย. ต่อมาพลตำรวจตรีโกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางซึ่งรู้จักสนิททสนมเป็นการส่วนตัว มาเห็นพื้นที่ดังกล่าว จึงขอแบ่งซื้อ ตนจึงได้ขายให้ในราคาถูกไร่ละไม่เกินสองแสนบาท และต่อมาพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทราบเรื่องอยากซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวด้วยจึงขายให้ในราคาเดียวกัน

ทั้งนี้นายบุญธรรมยอมรับว่าเคยได้ยินพลตำรวจตรีโกวิทย์ พูดคุยกันในกลุ่มว่าต้องการซื้อที่ดินดังกล่าวเพื่อนำไปสร้างวัง อย่างไรก็ตามหลังมอบตัวพนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้ควบคุมตัวนายทรงธรรมไปสอบปากคำเพิ่มเติมที่กองปราบปราม

พลตำรวจเอกสมยศ ระบุนายบุญธรรมเข้ามอบตัวด้วยความสมัครใจ ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ ซึ่งรายละเอียดไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง คดี ‘บิลลี่ พอละจี’ หายตัวไป หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

ศาลอุทธรณ์ ยันตามศาลชั้นต้น ยกคำร้อง คดี ‘บิลลี่’ หายตัว ด้านอดีตหัวหน้าอุทยานแก่งกระจาน เผย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทุกวันนี้ก็ยังตามหา ‘บิลลี่’ เหมือนกัน
27 ก.พ. 2558 เมื่อวานนี้ เว็บไซด์ Thai PBS รายงานว่า ที่ศาลจังหวัดเพชรบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คดีที่ พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ "บิลลี่" ยื่นคำร้องให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อสั่งให้ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอีก 3 คนที่เข้าควบคุมตัว บิลลี่ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ปล่อยตัว บิลลี่ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้องเนื่องจากน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า บิลลี่ยังถูกควบคุมตัว
ขณะที่ ชัยวัตน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่ารู้สึกสบายใจขึ้นและจะทำงานเกี่ยวกับการรักษาทรัพยากรป่าไม้ต่อไป ส่วนกรณีที่ บิลลี่ที่หายตัวไปนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้พยายามค้นหาตัวเช่นเดียวกัน
ด้านภรรยาของ บิลลี่ ระบุว่าจะค้นหา บิลลี่ต่อไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด
สำหรับ พอละจี รักจงเจริญ หรือ "บิลลี่" เป็นแกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2557 โดยมีรายงานว่าก่อนจะหายตัวไป  บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไปสอบสวน อ้างความผิดซึ่งหน้าว่าเจอรังผึ้งและน้ำผึ้ง 6 ขวด แต่ทางอุทยานฯ ยืนยันว่าได้ปล่อยตัว บิลลี่ไปแล้ว
นอกจากนี้ บิลลี่ยังเป็นแกนนำชาวกะเหรี่ยงในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่มีข้อมูลว่าก่อนจะหายตัวไปนั้น บิลลี่กำลังเตรียมข้อมูลในคดีที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากกรณีที่การเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวที่บ้านบางกลอยบนเมื่อ ก.ค. 2554

FCC เห็นชอบข้อบังคับใหม่ ห้ามปิดกั้นเนื้อหา-สนับสนุนความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต

วานนี้ (26 ก.พ.2558) คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (Federal Communications Commission) หรือเอฟซีซีของสหรัฐอเมริกา ลงมติเห็นชอบข้อบังคับใหม่ของการกำกับกิจการอินเทอร์เน็ต โดยระบุให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เป็นสาธารณูปโภค (public utility) อย่างหนึ่ง
คณะกรรมการมีมติ 3 ต่อ 2 โดยข้อบังคับใหม่ระบุไม่ให้มีการปิดกั้นเนื้อหาใดๆ บนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งห้ามไม่ให้บริษัทอินเทอร์เน็ตและบริษัทสื่อที่มีกำลังจ่ายสูง สามารถจ่ายเงินผู้ให้บริการบรอดแบนด์เพื่อให้บริการของตนเร็วกว่ารายอื่นได้
การออกข้อบังคับทั้งสองนี้เป็นการสนับสนุนหลักการสำคัญว่าด้วยความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต (net neutrality) ซึ่งมีใจความว่า ผู้ให้บริการควรสามารถส่งมอบข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตทุกชนิดให้กับผู้ใช้บริการได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะมาจากผู้ให้บริการรายใดหรือเป็นข้อมูลประเภทไหน
ทอม วีลเลอร์ ประธานคณะกรรมการระบุว่า เอฟซีซีจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผู้บริโภคและผู้บุกเบิกนวัตกรรม ด้วยการรักษาบทบาทของอินเทอร์เน็ต ในฐานะที่เป็นหัวใจสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกและหลักการประชาธิปไตย
วีลเลอร์ให้เหตุผลของการออกข้อบังคับดังกล่าวว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญ “มากเกินกว่าที่จะปล่อยให้ผู้ให้บริการบรอดแบนด์เป็นคนออกกฎ”
ข้อบังคับดังกล่าวยังรวมไปถึงการให้มีการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และรับรองว่าผู้พิการและผู้อาศัยในพื้นที่ห่างไกลจะสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตด้วย
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญในข้อบังคับใหม่ที่จะกระทบกับผู้ให้บริการบรอดแบนด์ มีดังนี้
  • การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์จะถูกจัดหมวดใหม่ให้เป็นบริการการสื่อสาร (telecommunications service) ซึ่งหมายความว่าบริการนี้จะถูกบังคับด้วยกฎที่เข้มงวดขึ้น
  • ผู้ให้บริการบรอดแบนด์จะไม่สามารถปิดกั้นเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต หรือเพิ่มความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อแลกกับค่าตอบแทนได้
  • ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะไม่สามารถเจรจาต่อรองกับผู้ผลิตเนื้อหา ให้การรับส่งข้อมูลไปยังผู้ใช้ของตนทำได้อย่างราบรื่นขึ้น หรือที่เรียกว่า “การจ่ายเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษ” (paid prioritisation)
  • ข้อตกลงการเชื่อมต่อโครงข่าย ซึ่งบริษัทผู้ผลิตเนื้อหาจ่ายให้กับผู้ให้บริการบรอดแบนด์เพื่อเชื่อมต่อไปยังโครงข่าย จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเช่นกัน (Interconnection deals, where content companies pay broadband providers to connect to their networks, will also be regulated)
  • บริษัทที่รู้สึกว่าเสียค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรมสามารถร้องเรียนไปยังเอฟซีซี ซึ่งจะพิจารณาข้อร้องเรียนเป็นรายกรณีไป
  • ข้อบังคับทั้งหมดจะบังคับใช้กับทั้งผู้ให้บริการเคลื่อนที่ (mobile) และผู้ให้บริการประจำที่ (fixed line)
  • เอฟซีซีจะไม่นำเนื้อหาบางหมวดของข้อบังคับใหม่มาใช้ หนึ่งในนั้นรวมถึงการกำกับราคาการให้บริการอินเทอร์เน็ต

ที่มา

วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานละเมิดสิทธิทั่วโลก เสนอไทยยกเลิกกฎอัยการศึก-แก้ไข ม.112



25 ก.พ. 2558 ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นำเสนอรายงานประจำปี 2557-2558 สรุปภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก
ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ได้สรุปภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกว่า  เหล่าผู้นำในแต่ละประเทศมีความล้มเหลวในการปกป้องพลเรือนจากภัยสงคราม ลามถึงเรื่องปัญหาผู้ประสบภัยจากสงคราม ทั้งยังมีการบังคับให้พลเรือนเป็นบุคคลศูนย์หาย ในหลายประเทศมีการปราบปรามเอ็นจีโอที่ออกมาเรียกร้อง โดยรัฐใช้ความรุนแรงเข้าควบคุม ยกอย่างกรณีในประเทศฮ่องกงที่ผู้ประท้วงชุมนุมเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองนำโดยนักศึกษา แต่ทางรัฐบาลกลับมีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามข่มขู่คุกคามเหล่านักศึกษาและผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสงบ ทั้งยังนี้มีรายงานเรื่องที่หลายประเทศใช้วิธีการทรมานพลเรือนเพื่อให้ได้มาซึ่งการรับคำสารภาพหรือข้อมูล ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามนักโทษทางความคิดไม่ว่าจะเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือความเชื่อทางศาสนา มีทั้งหมด 62 ประเทศ โดย 18 ประเทศที่มีอาชญากรรมสงครามที่ทำให้พลเรือนเป็นเหยื่อ ใน 119 ประเทศที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มี 28 ประเทศที่ระบุว่าการขอทำแท้งคืออาชญากรรมส่งผลให้เหล่าสตรีที่ถูกข่มขืนอาจเข้าไม่ถึงสวัสดิการทางการแพทย์ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และ 78 ประเทศ ที่ระบุเรื่องของการเป็นเพศทางเลือกหรือการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ปริญญายังเปิดเผยอีกว่า ในส่วนของฝั่งเอเชียแปซิฟิก พบว่า ในปี 2557 มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในเรื่องของการออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทั้งของตนเองและสังคม เช่น เมียนม่าร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฮ่องกง ฯลฯ โดยนักเคลื่อนไหวออกมาเรียกร้องการตรวจสอบรัฐบาล แต่ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องอย่างสันติวิธี โดนรัฐใช้ความรุนแรงเข้าทำการปราบปรามฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ทั้งในจีน เกาหลีเหนือ กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา เกาหลีใต้ ปากีสถาน และประเทศไทย ด้านของสื่อก็ได้รับการข่มขู่คุกคามอย่างกว้างขวาง รวมทั้งถูกสังหาร ทั้งในประเทศจีน ศรีลังกา อัฟกานิสถาน อินเดีย ฯลฯ  ทั้งนี้หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีเหยื่อและครอบครัวเหยื่อที่ได้รับผลกระทบความเสียหายจากปฏิบัติการที่โหดร้าย โดนทรมานจากการตรวจสอบเพื่อซัดทอดข้อกล่าวหา และการขัดแย้งกันด้วยอาวุธ เช่น ในอัฟกานิสถานที่มีรายงานตัวเลขจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ที่มีผู้ขอลี้ภัยจากสงครามถึง 2 ล้านคน และยังมีอีกนับ 6 แสนคน ที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และในเมียนมาร์ที่ยังคงมีความขัดแย้งในเรื่องชาติพันธ์ทั้งในรัฐฉานและรัฐคะฉิ่น โดยกองกำลังติดอาวุธปลดแอกตนเองและจากรัฐบาลเมียนมาร์
ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ยังกล่าวเสริมอีกว่า เอเชียแปซิฟิกยังคงมีปัญหาเรื่องของสิทธิสตรีและเด็ก โดยการละเมิดบังคับให้สมรสหรือสังหารเพื่อศักดิ์ศรี และการออกกฎหมายทำแท้งเป็นอาชญากรรม แม้ว่าผู้หญิงจะโดนข่มขืน และประเด็นในเรื่องของเพศสภาพ มีหลายประเทศในโซนเอเชียแปซิฟิกที่คุกคามขุมขังเพียงเพราะมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ด้านความอดทนอดกลั้นในด้านศาสนาและชาติพันธ์ที่แตกต่างกันมีการหมิ่นศาสนาและความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ในส่วนของหลายประเทศบรรษัทไม่มีการเคารพเรื่องของสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้พลเรือนต้องรับผลกระทบทางด้านสุขภาพ หรือต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยของตนเอง และระบบนิเวศน์ชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายจากการเข้าไปทำเหมืองเป็นต้น
ทั้งนี้ปริญญาเปิดเผยการสรุปภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยอันครอบคลุมประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การทรมานภายใต้บริบทการปราบปรามความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ 2) สภาพเรือนจำและสถานที่กักขัง 3) กฎหมายภายในประเทศที่กำหนดให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา 4) หลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement) 5) การทรมานและความรับผิด
ผลกระทบที่รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 80% ที่เสียชีวิต เป็นพลเรือน ซึ่งผิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ในส่วนของปัญหาทางการเมือง ปีที่ผ่านมามีการใช้ความรุนแรงโดยมีกองกำลังติดอาวุธทั้งจากภาครัฐและกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.นอกจากนี้สถานการณ์ในเรือนจำและสถานที่กักขังในประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีความกังวลว่าสภาพในเรือนจำและการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังอาจเข้าข่ายเป็นการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้ายและย่ำยีศักดิ์ศรี ทั้งความรุนแรงทางร่างกายและความรุนแรงทางเพศขัดต่อข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขององค์การสหประชาชาติ โดย มี134 เรื่อง ใน 138 คน ที่ได้รับความเสียหายจากการทรมานซึ่งมาจากเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายความมั่นคง การบังคับให้กลายเป็นบุคคลศูนย์หาย จากรายงานที่มีการร้องเรียนในประเทศไทยมี 89 เรื่องอยู่ที่องค์กรสหประชาชาติ(UN) ว่ามีผู้ถูกบังคับศูนย์หาย โดยมีเพียง 2 กรณีเท่านั้นที่ทางรัฐบาลมีคำตอบให้กับUN รายแรกได้รับอิสรภาพ และมีอีก 1 รายยังไม่ได้รับการปล่อยตัว
ในด้านวิกฤตการณ์ทางการเมือง ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกหลังรัฐประหาร โดยประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ทางรัฐบาลทหารไทยได้ออกกฎห้ามชุมนุมเกิน 5 คน มีการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ทั้งการสั่งปิดสื่อชุมชนและการห้ามสื่อวิพากษ์วิจารณ์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ห้ามจัดสัมมนาวิชาการเป็นเชิงกระทบต่อความมั่นคง ควบคุมพลเรือนโดยพลการแบบไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา จำนวนไม่เกิน 7 วัน ทั้งนี้มีมากกว่า 193 คนถูกบังคับให้ไปรายงานตัว และมีหลายรายที่โดนขึ้นศาลทหารจากการขัดคำสั่งไม่ไปรายงานตัวของ คสช. ทางรัฐบาลทหารไทยยังมีการลงโทษกลุ่มผู้ต่อต้านการรัฐประหารแบบไม่มีการไต่สวนที่เป็นธรรม รวมทั้งออก พ.ร.บ.ศาลทหาร ให้พลเรือนที่เป็นจำเลยคดีความมั่นคงถูกพิจารณาคดีในศาลทหารและไม่สามารยื่นอุทธรณ์ได้ รวมทั้งกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่บังคับให้พลเรือนต้องรับการพิจารณาคดีในศาลทหาร
ปริญญายังแจงอีกว่า ความล้มเหลวของรัฐไทยในการปกป้องสิทธิของนักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มี 42 กรณี ถูกอุ้มหายและขู่ฆ่า ยังไม่รวมกรณีถูกคุกคามและและถูกข่มขู่ รวมถึงการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เช่น ชาวโรฮิงยา และอุยกูร์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไทยบกพร่องในนโยบายไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้ สุดท้ายประเด็นเรื่องโทษประหารชีวิต แม้ในปี 2557 ยังไม่มีการประหารนักโทษ แต่ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงดำเนินหน้ารณรงค์ยกเลิกโทษประหารในประเทศไทยต่อไป
ภายในงานแถลงการณ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้นำเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ดังนี้
ในด้านวิกฤตการณ์ทางการเมืองเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายฉุกเฉิน กฎหมายความมั่นคง ที่จำกัดเสรีภาพของพลเรือน ทั้งการแสดงออก การชุมนุม การปิดกั้นสื่อ ยุติการเซ็นเซอร์เว็บไซต์โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ(ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยให้ยกเลิกข้อบัญญัติที่อนุญาตให้บุคคลสามารถฟ้องร้องบุคคลอื่นในข้อหาละเมิดกฎหมายอาญา ม. 112 เสนอให้กำหนดอัตราโทษให้ได้สัดส่วนต่อฐานความผิดและให้ชะลอการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพระหว่างที่รอการแก้ไขกฎหมาย ยุติการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการและประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนจะได้รับการนำตัวเข้าสู่การไต่สวนของคณะตุลาการอย่างเป็นอิสระโดยทันที ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือนไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ถอนข้อกล่าวหาบุคคลที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังภายใต้ข้อกล่าวหาที่ว่านั้นโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ต้องยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ยุติการใช้โทษจำคุกเพื่อคุกคามผู้ประท้วงอย่างสงบ รวมทั้งยุติมาตรการที่ขัดขวางไม่ให้มีการอภิปรายและโต้เถียงทางการเมือง ให้ทางการประกาศอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดส่วนบุคคลและสถานที่ควบคุมตัวบุคคลทุกคนโดยเฉพาะในระหว่างการใช้กฎอัยการศึก และปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
ซาลิต เซ็ตติ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ใน 2557 เป็นปีแห่งหายนะสำหรับประชาชนหลายล้านคนที่ตกอยู่ในวังวนความรุนแรง การตอบสนองสงครามระดับโลกต่อความขัดแย้งและการปฏิบัติการโดยไม่ชอบทั้งรัฐและกลุ่มติดอาวุธ ยังเป็นเรื่องน่าละอายและไม่เป็นผล ในขณะที่ประชาชนต้องเผชิญกับการทำร้ายและการปราบปรามที่ป่าเถื่อนมากขึ้น ประชาคมนานาชาติยังต้องมีบทบาทที่จำเป็น
"องค์การสหประชาชาติก่อตั้งเมื่อ70ปีก่อน เราจะต้องไม่เห็นความโหดร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ปัจจุบันเรากำลังเห็นความรุนแรงในวงกว้าง และเป็นวิกฤตใหญ่หลวงด้านผู้ลี้ภัยที่เป็นผลมาจากความรุนแรงเหล่านั้น ที่ผ่านมามีความล้มเหลวในการค้นหาทางออกเพื่อรับมือกับความจำเป็นเร่งด่วนมากที่สุดในยุคของเรา" เลขาธิการแอมเนสตี้ฯ กล่าว
ด้านรองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระบวนการยุติธรรม เพื่อความยุติธรรม เพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ได้มีการออก ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... หรือเรียกสั้นๆ ว่าร่างกฎหมายทรมานและสูญหายฯ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย
“ทางเจ้าหน้าที่เองก็รู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมากที่ต้องรับเรื่องพิจารณาว่ามีเจ้าหน้าที่เองที่เป็นผู้ทรมาน ผู้ถูกกล่าวหา และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องนี้ ได้มอบหมายไปยังท่านวิษณุ เครืองาม เพื่อจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างดีทีสุด”รองอธิบดีกล่าว
นอกจากนี้ยังมีนางรอมือละห์ แซเยะ ภรรยานายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ(อันวาร์) อดีตนักข่าวอิสระในพื้นที่ชายแดนใต้ ผู้ทำงานถึง 12 ปี ต้องคดีเมื่อ 2548 เป็นเหยื่อของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกกล่าวหาว่าเป็น อั่งยี่ ซ่องโจร(อ่านรายละเอียดได้ที่ http://prachatai.org/journal/2013/05/46736)  ภรรยาของอันวาร์ เผยว่า ก่อนที่สามีจะถูกดำเนินคดี ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการเชิญตัวอันวาร์ในลักษณะเหมือนเป็นญาติมานั่งทางข้าวที่บ้าน และกล่าวกับครอบครัวอย่างเป็นมิตรว่าจะมีการสอบปากคำเล็กน้อยจากนั้นจะปล่อยตัวกลับมา แต่ในที่สุดสามีตนกลายเป็นจำเลยสั่งคม โดยสื่อทุกสื่อทั้งสื่อออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ได้พิพากษาอันวาร์ว่าเป็นผู้ต้องหาผู้ก่อการร้าย ทั้งที่ยังไม่มีการพิจารณาคดี ตลอด 11 ปี จนถึงในปี 2552 ศาลอุธรณ์จึงได้สั่งยกฟ้องอันวาร์ แต่เมื่อในปี 2556 ศาลได้เรียกตัวสามีกลับไปเพื่อพิจารณาคดีตามศาลชั้นต้นอีกครั้ง
รอมือละห์ ยังเสริมว่า เมื่อตั้งข้อสังเกตอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ไม่เคารพคำตัดสินของศาล แต่ต้องตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม ข้อกล่าวที่สามีตนได้รับไม่มีน้ำหนัก แต่หลังจากศาลตัดสินกลับเจ้าหน้าที่มาที่บ้านอีกครั้ง และกล่าวหาว่าสามีตนว่ามีส่วนในการสังหารพระภิกษุในพื้นที่ ทั้งที่อันวาร์ซึ่งอยู่ในเรือนจำไม่สามารถออกจากคุกไปก่อเหตุได้อีก ทั้งยังมีกรณีที่น้องชายตนนั้นถูกเรียกตัวไปจากที่ทำงาน ไม่มีการบอกให้ครอบครัวรับรู้ และได้มาทราบทีหลังว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับไป โดยได้รับคำพูดที่เจ็บปวดจากเจ้าหน้าที่ว่า เมื่อไม่ได้ทำอะไรผิดทางญาติก็ไม่มีความจำเป็นต้องเดือดร้อนดิ้นรนตามหา
“เจ้าที่ขาดสามัญสำนึกอย่างรุนแรง ลองถอดชุดทหารแล้วกลายมาเป็นปุถุชน หากญาติพี่น้องลูกเมียหายตัวไปตัวทหารเจ้าหน้าที่จะยังนิ่งเฉยไม่ตามหาใช่หรือไม่ ไม่ว่าใครที่มารับรู้เรื่องราวของอันวาร์ ต้องเกิดคำถามว่ากระบวนการยุติธรรมอยู่ที่ไหน เราจะเชื่อมั่นอะไรได้อีก ไม่ใช่ว่าไม่เคารพศาล แต่หากศาลไม่ตัดสินอันวาร์เมื่อปี 2556 ในปี 2557 อันวาร์ก็ต้องโดนข้อกล่าวหาเรื่องใหม่อีก ไม่ว่าใครที่พลัดหลงเข้าไปอยู่ในแบล็คลิสต์ มันไม่มีความปลอดภัยหลงเหลือ ดังนั้นไม่แปลกใจว่าทำไมคนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ถึงไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วเลือกที่จะหนีหายไปที่ไหนได้ ไปต่างประเทศก็ได้ ไปมาเลเซียก็ได้ ที่รู้สึกปลอดภัยแล้วอีกหลายปีค่อยกลับมา ความร่วมมือมันไม่เกิด เปิดปากปกป้องสิทธิ์ก็หาว่าต่อต้านไม่ทำตาม ศึกษาหาความรู้เพื่อช่วยเหลือตนเองและครอบครัวก็ถูกมองว่าไม่รักชาติ และเราจะมีชีวิตที่ปลอดภัยได้อย่างไร ได้โปรดส่งคืนความสุขความยุติธรรมให้เราเถอะค่ะ” รอมือละห์ กล่าวทิ้งท้าย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติ ดังนี้
กฎหมายด้านความมั่นคงในประเทศ
·        ปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องต่อพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายที่จำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพรอดพ้นจากการควบคุมตัวโดยพลการ เสรีภาพในการแสดงความเห็น การรวมตัวและการชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพในการเดินทาง
·        ยุติการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการและประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนจะได้รับการนำตัวเข้าสู่การไต่สวนของคณะตุลาการอย่างเป็นอิสระโดยทันที โดยเป็นองค์คณะที่มีคุณสมบัติในการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวบุคคล
·        ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือนไม่ว่าในกรณีใด ๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการละเมิดพันธกิจของไทยที่มุ่งคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
กฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น
·        ฟื้นฟูสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบโดยทันที ปัจจุบันมาตรการปราบปรามอย่างกว้างขวางต่อการใช้สิทธิเหล่านี้ กำลังทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว
·        แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยให้ยกเลิกข้อบัญญัติที่อนุญาตให้บุคคลใดๆ สามารถฟ้องร้องบุคคลอื่นในข้อหาละเมิดกฎหมายหมิ่นฯ การกำหนดอัตราโทษให้ได้สัดส่วนต่อฐานความผิด และให้ชะลอการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ระหว่างที่รอการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
·        ยุติการเซ็นเซอร์เว็บไซต์โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
·        ถอนข้อกล่าวหาบุคคลใด ๆ ที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังภายใต้ข้อกล่าวหาที่ว่านั้นโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
วิกฤตทางการเมือง
·        ให้มีการทบทวนถึงวิธีการที่ใช้เพื่อควบคุมฝูงชนระหว่างการเดินขบวนประท้วง และประกันว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปฏิบัติตามหลักสากลในการสลายฝูงชนและการใช้กำลัง อย่างเช่น จรรยาบรรณของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) และหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งการใช้กำลังเป็นวิธีการสุดท้าย และให้ใช้เท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด
·        ให้ประกันว่าจะมีการสอบสวนข้อร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโดยทันที อย่างรอบด้านและอย่างเป็นอิสระ และให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และในระหว่างการสอบสวน ให้สั่งพักราชการบุคคลใด ๆ ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการละเมิดดังกล่าว
·        ให้ประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวได้รับการเยียวยาช่วยเหลืออย่างเต็มที่
·        การปราบปรามต่อผู้ประท้วงอย่างสงบต้องยุติลงโดยทันที และต้องยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ การใช้โทษจำคุกเพื่อคุกคามผู้ประท้วงอย่างสงบ มาตรการอื่นใดที่ขัดขวางไม่ให้มีการอภิปรายและโต้เถียงทางการเมือง และการขัดขวางไม่ให้บุคคลมีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะ
·        ให้ทางการประกาศอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดส่วนบุคคลและสถานที่ควบคุมตัวบุคคลทุกคนโดยเฉพาะในระหว่างการใช้กฎอัยการศึก ทางหน่วยงานเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากพวกเขาถูกควบคุมตัวเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนในการประท้วงอย่างสงบ ทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และควรตั้งข้อหาและฟ้องคดีต่อผู้ต้องสงสัยโดยใช้ฐานความผิดทางอาญาตามกฎหมาย และให้ดำเนินการผ่านศาลพลเรือน และดูแลให้กระบวนการยุติธรรมสอดคล้องกับมาตรฐานว่าด้วยความเป็นธรรมระหว่างประเทศ
การทรมานและการปฏิบัติอื่นๆ ที่โหดร้าย
·        กำหนดข้อบัญญัติตามกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อบัญญัติในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะการกำหนดฐานความผิดด้านการทรมานอย่างชัดเจนตามนิยามที่กำหนดในอนุสัญญา
·        ให้สอบสวนอย่างเป็นอิสระและรอบด้านต่อข้อกล่าวหาการทรมานและการปฏิบัติอื่นๆ ที่โหดร้ายที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ทางการ ทั้งนี้เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
·        ประกันการเยียวยาและชดเชยอย่างรอบด้านแก่เหยื่อและครอบครัวที่ถูกกระทำทรมานหรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย
การขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
·        ดำเนินการสอบสวนโดยทันที อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่างไม่ลำเอียงกรณีการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกกรณี โดยเฉพาะในส่วนที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงมีส่วนเกี่ยวข้อง และให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมที่ได้มาตรฐานสากลของความเป็นธรรม ไม่ให้สั่งลงโทษประหารชีวิต
·        ให้มีการแก้ไขเนื้อหาของกฎอัยการศึกอย่างกว้างขวาง หรือให้ยกเลิกไป
·        ในการนำมาตรการฉุกเฉินมาใช้นั้น ให้ใช้ตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้แก้ไขข้อบัญญัติในพรก.ฉุกเฉินฯที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายและมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งการแก้ไขมาตรา 17 ที่มีข้อยกเว้นไม่ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าพนักงานในสภาพการณ์ทั่วไป
·        ประกันว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามสถานที่ต่างๆ และตามค่ายทหารสามารถเข้าถึงทนายความ ญาติพี่น้อง และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม และมีการอนุญาตให้หน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระเข้าเยี่ยมสถานควบคุมตัวทุกแห่ง
·        ให้หาทางสืบหาและแจ้งให้ทราบถึงที่อยู่ของทนายสมชาย นีลไพจิตรและบุคคลอื่นที่ถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อประกันว่าจะมีการนำตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อการสูญหายมาลงโทษ
·        ให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาสากลว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และดำเนินการที่จำเป็นเพื่อบังคับใช้อนุสัญญาในระดับประเทศโดยทันทีหลังมีการให้สัตยาบัน
ผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง
·        ให้เคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement)และประกันว่าจะไม่มีการขับไล่ ส่งกลับ หรือบังคับให้เดินทางกลับไปยังประเทศหรือดินแดนกรณีที่มีความเสี่ยงว่าต้องกลับไปเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง โดยเฉพาะในประเทศพม่าหรือลาว
·        ให้มีการสอบสวนกรณีการบังคับขับไล่ชาวโรฮิงญา และประกันว่ามีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และให้มีการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการบังคับขับไล่เช่นนี้อีกในอนาคต
·        ให้เคารพต่อพันธกรณีที่ต้องอนุญาตให้ผู้แสวงหาที่พักพิงสามารถเข้าถึงกระบวนการแสวงหาที่พักพิงอย่างจริงจัง และให้ได้รับการติดต่อกับ UNHCR และประกันว่าบุคคลที่หลบหนีจากภัยคุกคามจะได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ
·        ให้ยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยอย่างไม่มีเวลากำหนดและโดยพลการ และยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยในสภาพที่แออัดเป็นเวลานาน
·        ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย 1951 และพิธีสาร 1967 (1951 Convention Relating to the Status of Refugees and its 1967 Protocol)
·        ให้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับคนงานพลัดถิ่น เพื่อประกันว่าคนงานเหล่านี้ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมและได้รับผลตอบแทนที่เท่าเทียมจากการทำงาน มีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ มีโอกาสได้พักผ่อน ทำกิจกรรมสันทนาการ และมีการจำกัดชั่วโมงทำงานอย่างชอบด้วยเหตุผล
·        ให้ยุติการละเมิดใด ๆ ที่กระทำต่อคนงานพลัดถิ่น ทั้งการค้ามนุษย์และการรีดไถ
โทษประหารชีวิต
·     ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  ฉบับที่ 3 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด
·     เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทโทษประหารชีวิต
·     ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต