รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”
ฉบับวันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2556
ในระยะสองปีของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สถานะของฝ่ายประชาธิปไตยยังคงเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝ่ายจารีตนิยมดูเหมือนจะอ่อนแรงลงทั้งในแง่กำลังและเอกภาพ การรุกของพวกเขาที่กระทำต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ประสบความล้มเหลว ท่าทีของฝ่ายกองทัพที่อ่อนตัวลงอย่างชัดเจน จนทำให้เกิดความรู้สึกในฝ่ายประชาธิปไตยบางส่วนว่า “ได้ชัยชนะแล้ว”
ความพยายามที่จะระดมพลังมวลชนเสื้อเหลืองให้ออกมาชุมนุมก่อจลาจลบนท้องถนนกรุงเทพฯ เพื่อสร้างเงื่อนไขสถานการณ์ให้ตุลาการและกองทัพเข้าแทรกแซง ได้ประสบความล้มเหลวถึงสองครั้ง
การเคลื่อนไหวชุมนุมเพื่อ “แช่แข็งประเทศไทย” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 เป็นความพยายามระดมกำลังครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองเมื่อปี 2551 โดยครั้งนี้ มีการเตรียมพร้อมทั้งเงินทุนและกำลังคนมากที่สุด แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้ไปในเวลาเพียงวันเดียว
การเคลื่อนไหวมวลชนระลอกหลังสุดเมื่อกรกฎาคม-สิงหาคม 2556 ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการเสลื่อมสลายของพลังมวลชนเสื้อเหลืองอย่างชัดเจน การเคลื่อนไหวมีลักษณะเกี่ยงแย่ง กระจัดกระจาย และขัดแย้งกันจนต้องสลายไปเองในที่สุด เหลืออยู่แต่พวกกากเดนการเมือง เช่น กลุ่มสันติอโศก และกลุ่มมวลชนอดีตพันธมิตรเสื้อเหลือจำพวกเหลือขอเท่านั้น ขณะที่ผู้คนจำนวนมากท้อแท้สิ้นหวังและได้ถอยออกมา คนกลุ่มหลังนี้แม้จะไม่หันมาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่ก็ไม่สนับสนุนพวกเผด็จการอย่างเอาการเอางานเหมือนในอดีต
ความอับจนของฝ่ายเผด็จการยังเห็นได้จากการดิ้นรนกระเสือกกระสนอย่างหนักของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อความวุ่นวายในรัฐสภา ขัดขวางการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติทุกขั้นตอน สร้างบรรยากาศที่ไร้ระเบียบ ล้มเหลวและเสื่อมทรุดของรัฐสภา ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถแอบอยู่ข้างหลังคอยสนับสนุนการเคลื่อนไหวมวลชนนอกสภาอย่างที่เคยทำมาตลอดได้อีกต่อไป จำต้องออกมาเคลื่อนไหวมวลชนด้วยตัวเองอย่างเปิดเผย เริ่มด้วยการระดมพลังมวลชนของตนในกรุงเทพฯ ให้ออกมาสู่ถนน เลียนแบบพวกพันธมิตรเสื้อเหลืองเมื่อปี 2551 แต่ก็ประสบความล้มเหลว ไม่สามารถแปรฐานคะแนนเสียงเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นพลังมวลชนสู้รบบนท้องถนนได้
การเคลื่อนไหวนอกสภาของพรรคประชาธิปัตย์จึงหันไปยังฐานกำลังที่แท้จริงของตนเองคือ ในภาคใต้ โดยอาศัยเครือข่ายอิทธิพลและกลุ่มติดอาวุธในท้องถิ่นของตน ระดมมวลชนออกมาก่อจลาจลบนถนนหลวงในภาคใต้ อ้างปัญหาราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์ม เป็นเครื่องบังหน้า แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือ การติดอาวุธให้กับมวลชนของตน ให้เกิดการปะทะกันระหว่างมวลชนกับตำรวจ สร้างเป็นสถานการณ์ความรุนแรงนองเลือดให้จงได้ ควบคู่กับการสร้างความปั่นป่วนภายในสภา เป้าหมายคือ การสร้างสถานการณ์จลาจลและล้มเหลวของทั้งรัฐสภาและรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้ตุลาการและฝ่ายทหารเข้าแทรกแซง ดังเช่นที่ทำกับรัฐบาลพรรคพลังประชาชนเมื่อปี 2551
ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเข้าใจว่า แม้ฐานมวลชนเสื้อเหลืองของฝ่ายจารีตนิยมจะเสื่อมสลายไปมากแล้ว แต่อำนาจรัฐที่แท้จริงที่ควบคุมตุลาการและกองทัพก็ยังคงอยู่ในมือพวกเขาอย่างมั่นคง แม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2554 แต่ก็ได้มาเพียงเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและอำนาจบริหารบางส่วนในมือคณะรัฐมนตรีเท่านั้น สถานการณ์ปัจจุบัน จึงยังไม่ใช่ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยแต่อย่างใด
ท่าทีของบุคคลบางคนในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตลอดจนการสรรหาบุคลากรใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ แสดงสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ฝ่ายจารีตนิยมกำลังจัดกำลังฝ่ายตนเพื่อเตรียมการรุกใหญ่ต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง และที่สำคัญคือ พวกเขาอาจอับจนถึงขั้นก่อการรุกแบบสุ่มเสี่ยง โดยที่ไม่มีพลังมวลชนเสื้อเหลืองและกระแสความปั่นปวนทางการเมืองเป็นเครื่องสนับสนุนเพียงพอ
ดาบแรกที่พวกเขาจะใช้ฟาดฟันรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะยังคงเป็นการใช้ตุลาการเช่นเดิม แต่การใช้ตุลาการมีจุดอ่อนคือ มีขั้นตอนเชื่องช้า มีผลเป็นรายบุคคล และไม่สามารถเปลี่ยนดุลกำลังภายในรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การ “ชี้มูล” ให้นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทั่งปลดนายกรัฐมนตรี จะมีผลเพียงเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีหรือเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทย ส่วนการ “ยุบพรรค” ก็มีผลเพียงให้มีการย้ายพรรคและเปลี่ยนชื่อพรรคเท่านั้น แม้แต่การถอดถอน สส.และสว.ทั้งหมดที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายและรวดเร็ว ฉะนั้นจึงต้องมีดาบสองที่ตามด้วยการแทรกแซงของฝ่ายทหาร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจบริหารอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
จุดวิกฤตคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่จะเข้าสู่วาระสองและวาระสามในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ แล้วฝ่ายประชาธิปไตยจะตระเตรียมการอย่างไรเพื่อรับมือกับการรุกใหม่ของพวกเผด็จการ หัวใจสำคัญคือ ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของพรรคเพื่อไทย
- ประการแรก พรรคเพื่อไทยจะต้องเดินหน้าผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด
- ประการที่สอง พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจะต้องแสดงท่าทีชัดเจน ไม่ยอมรับและไม่ปฏิบัติตามการวินิจฉัยตัดสินที่ไม่ชอบธรรมและขัดต่อหลักนิติรัฐของกลุ่มตุลาการ ที่กระทำต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และต่อพรรคเพื่อไทย
- ประการที่สาม พรรคเพื่อไทยจะต้องไม่หาทางออกด้วยการยุบสภาอย่างเด็ดขาด หากพรรคเพื่อไทยตัดสินใจยุบสภาโดยเข้าใจอย่างผิด ๆ ว่า เป็นการ “ต่อสู้” กับเผด็จการแล้ว นั่นก็เป็นการกระทำผิดพลาดอย่างมหันต์ การยุบสภาในขั้นตอนปัจจุบันจะเป็นผลดีอย่างเลิศต่อฝ่ายจารีตนิยม เพราะเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายของพรรคเพื่อไทย สภาผู้แทนราษฎรจะหมดสภาพ วุฒิสภาจะทำหน้าที่แทนรัฐสภาทั้งหมด ทั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะไม่มีอำนาจบริหาร เป็นได้เพียง “รักษาการ” ข้าราชการ ตำรวจและทหารที่สนับสนุนรัฐบาลจะถอยห่าง ทั้งหมดนี้จะเป็นช่องว่างทางอำนาจให้ฝ่ายจารีตนิยมใช้วุฒิสภา ตุลาการ และกองทัพเข้ามาแทรกแซง จนไม่มีการเลือกตั้งใหม่อย่างแน่นอน นำไปสู่วิกฤตที่ไม่มีทางออกที่พวกเขาต้องการพอดี ดังเช่นสถานการณ์ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั่นเอง พรรคเพื่อไทยจะต้องไม่ลืมบทเรียนอันเจ็บปวดของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2548-49
- ประการสุดท้าย รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมีอาวุธที่สำคัญที่สุดคือ พลังมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและมีจำนวนไพศาลในปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยจะต้องเชื่อมั่น ให้การสนับสนุน และอาศัยมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ขจัดความระแวงสงสัยในหมู่มวลชนให้หมดไป ให้พวกเขาเชื่อมั่นในจุดยืนและแนวทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย
ปัจจุบัน แม้ฝ่ายจารีตนิยมจะสูญเสียฐานมวลชนไปมากแล้ว แต่กำลังในอำนาจรัฐก็ยังคงเข้มแข็ง ฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่ได้รับชัยชนะ การต่อสู้เพื่อช่วงชิงประชาธิปไตยที่แท้จริงจะยังคงยืดเยื้อต่อไปอีกระยะหนึ่ง พรรคเพื่อไทยและประชาชนจะต้องไม่ประมาท ไม่ประเมินสถานะของตนสูงเกินไป เตรียมพร้อมรับการรุกอีกครั้งของฝ่ายเผด็จการที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน