วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เปิดดัชนีปี 2558 ไทยอยู่กลุ่ม 'ความเสี่ยงสูง' ที่จะเกิดทุจริตคอร์รัปชันในกองทัพ



13 พ.ย. 2558 ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลหรือ 'Transparency International' ซึ่งมำสำนักงานตั้งอยู่ในเยอรมนี เผยแพร่รายงาน "ดัชนีการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานกลาโหม" (Government Defense Anti-Corruption Index หรือ GI) โดยที่ประเทศไทยถูกจัดว่ามี "ความเสี่ยงในการคอร์รัปชันสูงมาก" ในภาคส่วนกองทัพและความมั่นคง
องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลระบุว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่ "กลุ่ม E" (จากกลุ่ม A-F เรียงจากดีที่สุดคือ A ไปแย่ที่สุดคือ F) คืออยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงมากในการทุจริตคอร์รัปชันในภาคส่วนของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง เนื่องจากตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค. 2557 ก็ไม่มีหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีความโปร่งใสในเรื่องงบประมาณ และไม่มีมาตรการตรวจสอบในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเลย
รายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลนำเสนอต่อไปว่า ถึงแม้หน่วยงานที่มีอยู่อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แต่หน่วยงานนี้ก็ไม่มีอิทธิพลมากพอในการยับยั้งความฉ้อฉลของกองทัพเช่นการเพิ่มชึ้นของอาชญากรรมจากผู้มีอิทธิพลในภาคใต้หรือกรณี "ทหารที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง" 
เมื่อพิจารณาจากเรื่องเหล่านี้แล้วการทุจริตของกองทัพไม่เพียงส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้นแต่ยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองในสายตาของประชาชนชาวไทยด้วย ทางองค์กรจึงแนะนำให้ภาคส่วนความมั่นคงของไทยต้องปฏิรูปตัวเองอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชัน
องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลให้คำแนะนำต่อรัฐบาลไทย 3 ข้อหลัก หนึ่ง คือการตั้งองค์กรตรวจสอบที่มาจากภาคพลเรือนเพื่อตรวจสอบนโยบายและงบประมาณของกองทัพ สอง คือการกำจัดอาชญากรรมจากผู้มีอิทธิพลในกองทัพ และสาม คือการวางเกณฑ์กำหนดที่ชัดเจนในการเลื่อนขั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเล่นพรรคเล่นพวก
ในรายงานขยายความในคำแนะนำข้อที่หนึ่งว่าหลังจากการรัฐประหารปี 2557 ที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2550 ภาคประชาสังคมไทยมีความสามารถจำกัดมากในการถกเถียงหรือสอบถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ โดยปปช.ก็มีอำนาจในการตรวจสอบกองทัพน้อยมาก และไม่มีหน่วยงานภายนอกอื่นๆ สามารถตรวจสอบบัญชีกองทัพได้เลย ไม่มีใครทราบว่าหน่วยงานตรวจสอบบัญชีภายในกองทัพเองทำงานอย่างไร ทางองค์กรเพื่อความโปร่งใสฯ จึงแนะนำให้กองทัพเผยแพร่งบประมาณรายปีรวมถึงรายละเอียดด้านการใช้งบประมาณต่อสาธารณะโดยให้มีการตรวจสอบจากพลเรือนซึ่งจะเป็นการทำให้แน่ใจว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จะเหมาะสมต่อความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศจริง
ข้อเสนอต่อมาคือการกำจัดอาชญากรรมจากผู้มีอิทธิพลในกองทัพ ซึ่งองค์กรเพื่อความโปร่งใสฯระบุว่าบางหน่วยของกองทัพหรือคนบางกลุ่มในกองทัพมีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชญากรจากแก็งค์ผู้มีอิทธิพลถึงแม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นพอในเรื่องนี้ แต่ก็มีหลักฐานหลายอย่างบ่งชี้ว่ากองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายอาชญากรรมอย่างยาเสพติด, การค้าประเวณี, การค้ามนุษย์ และบ่อนผิดกฎหมาย ทางองค์กรแนะนำว่าควรทำให้การประกอบกิจการแบบเอกชนโดยทหารหรือคนในหน่วยงานความมั่นคงเป็นเรื่องผิดกฎหมายและพิจารณาให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับกองทัพมีความอิสระมากกว่านี้
ในข้อเสนอที่สามเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้มีการเล่นพรรคเล่นพวกทางองค์กรระบุว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับเกณพ์การเลื่อนขั้นทหารและหน่วยงานความมั่นคงในไทยน้อยมาก จึงแนะนำให้มีการออกกฎเกณฑ์ที่ทำให้การเลื่อนขั้นเข้มงวดกว่านี้และมีกระบวนการที่โปร่งใสเป็นอิสระและไม่มีความลำเอียงในการแต่งตั้งเลื่อนขั้น โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสเสนอให้มีการระบุถึงคุณสมบัติให้ชัดเจนตามด้วยรายละเอียดของงาน กระบวนการแต่งตั้ง และกระบวนการตรวจสอบอย่างอิสระ
ในแง่การให้คะแนนเป็นร้อยละในแต่ละส่วน องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลให้คะแนนน้อยมากในหลายส่วน เช่นภาคส่วนการเมืองซึ่งหมายถึงกองทัพมีการตรวจสอบนโยบายหรือการออกกฎหมายอย่างเป็นอิสระหรือไม่ ไทยได้คะนนเพียงร้อยละ 16 ในด้านความโปร่งใสของการเงินกองทัพได้ร้อยละ 18  คะแนนความโปร่งใสด้านการปฏิบัติการได้ร้อยละ 20 ความโปร่งใสด้านการจัดซื้อจัดจ้างได้คะแนนร้อยละ 21 ความโปร่งใสด้านบุคคลได้มากกว่าส่วนอื่นแต่ก็ยังไม่เกินครึ่งคือร้อยละ 42
โดยในการตรวจสอบประจำปี 2558 ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม A คือมีความเสี่ยงน้อยมากที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชันในกองทัพคือนิวซีแลนด์ ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม B คือมีความเสี่ยงน้อยที่จะเกิดทุจริตในกองทัพได้แก่ ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, ไต้หวัน และออสเตรเลีย ในกลุ่ม C คือมีความเสี่ยงปานกลางได้แก่เกาหลีใต้ กลุ่ม D ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ บังกลาเทศ, อินเดีย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และตูนีเซีย ส่วนประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่ม E เช่นเดียวกับไทยได้แก่ จีน, อิหร่าน, ซาอุดิอาระเบีย, ปากีสถาน เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มที่แย่กว่าไทยจัดอยู่ในระดับ F ได้แก่ พม่า, กัมพูชา, ซีเรีย, เยเมน, อียิปต์, โมรอคโค เป็นต้น

‘ศูนย์ทนายสิทธิ’ เปิดตัวเลขพลเรือนขึ้นศาลทหารหลังรัฐประหาร 1,629 คน


13 พ.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งได้ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญ ระบุว่า ตั้งแต่ 22 พ.ค.57- 30 ก.ย.58 มีคดีของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจำนวน 1,408 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยรวม 1,629 คน โดยจำนวนพลเรือนขึ้นศาลทหารกรุงเทพมากที่สุดจำนวน 208 คน และศาลทหารที่มีพลเรือนกว่า 100 คน ขึ้นสู่ศาลทหารคือ ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (จังหวัดขอนแก่น)จำนวน 158 คน ศาลมณฑลทหารบกที่ 32 (จังหวัดลำปาง) จำนวน 158 คน และศาลมณฑลทหารบกที่ 42 (จังหวัดสงขลา) จำนวน 115 คน
ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 38/2557เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหารและ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 50/2557 เรื่อง ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม ซึ่งส่งผลให้ความผิดบางประเภทนั้นอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร ได้แก่
1. ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
2. ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118ประมวลกฎหมายอาญา[1]
3.ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
4. ความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือ วัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ อันเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พุทธศักราช 2490 ที่กระทำตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เวลา 16.30 นาฬิกา เป็นต้นไป[2]
5. คดีซึ่งประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันกับคดีความผิดที่อยู่ในอำนาจศาลทหารพิจารณาพิพากษา ข้อ 1-4
นอกจากนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่22 พฤษภาคม 2557 – 31 มีนาคม 2558 ซึ่งส่งผลให้คดีซึ่งเกิดระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวนั้นไม่สามารถอุทธรณ์และฎีกาได้แม้จะมีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกแล้วก็ตาม[3]
โดยหากแบ่งตามประเภทความผิดพบว่าในต่างจังหวัด (เฉพาะศาลมณฑลทหารบกและศาลจังหวัดทหารบก) ตั้งแต่ 22 พ.ค.57-30 มิถุนายน 58 จำนวนคดีทั้งหมด 959 คดี ผู้ต้องหาและจำเลยรวม 1,111 คน แบ่งเป็น
คดีฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวน 6 ราย
คดีมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 2 ราย
คดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดิกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธพ.ศ. 2490 จำนวน 944 ราย
คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 7 ราย
ในขณะที่ศาลทหารกรุงเทพตั้งแต่ 22 พ.ค.57-30 กันยายน 58 จำนวนคดีทั้งหมดที่รับฟ้อง128 คดี (จากคดีทั้งหมด 192 คดี)
คดีฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวน 21 คดี
คดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จำนวน 4 คดี
คดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดิกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 จำนวน 76 คดี
คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 27 คดี
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานครประเภทคดีซึ่งสู่การพิจารณามากที่สุดคือ คดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 ซึ่งความผิดดังกล่าวอาจเกี่ยวโยงถึงความผิดต่อชีวิตและร่างกายซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต จำนวนผู้ต้องหาและจำเลยนับพันรายในคดีประเภทดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่าย่อมไม่ใช่เพียงจำนวนคดีซึ่งเกี่ยวข้องทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยเหตุอื่นด้วย
ศาลทหารซึ่งโดยโครงสร้างและสังกัดแล้วขาดความเป็นอิสระและเป็นกลาง การพิจารณาคดีโดยตุลาการซึ่งองค์คณะจบกฎหมายเพียงท่านเดียว และคดีซึ่งเกิดระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวนั้นไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้นั้นทำให้พลเรือนขาดหลักประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพ