วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

รัสเซียยืนยัน "คิม จองอึน" ไม่เข้าร่วมพิธีฉลองชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2


ทางการรัสเซียเผยว่ากำหนดการเยือนมอสโควช่วงงานพิธีฉลองชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ "คิม จองอึน" ถูกยกเลิกเนื่องจากปัญหาการเมืองใน โดยเกาหลีเหนือจะส่งผู้แทนระดับสูงร่วมพิธีแทน ทำให้สิ่งที่คาดกันว่ารัสเซียจะเป็นประเทศแรกที่ผู้นำเกาหลีเหนือมาเยือนหลังการสืบทอดอำนาจต่อจากบิดา ยังไม่เกิดขึ้น
มอสโคไทมส์ ฉบับประจำวันที่ 5 พ.ค. รายงานคำยืนยันจากโฆษกของวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียว่า กำหนดการเดินทางของคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ร่วมในงานพิธี "Victory Day" หรือวันฉลองชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มอสโคว รัสเซีย ในวันที่ 9 พ.ค. นี้ ถูกยกเลิกไป เพราะปัญหาเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศของเกาหลีเหนือ โดยที่ คิม ยองนัม ประธานสภาสมัชชาประชาชนสูงสุด จะเดินทางเยือนรัสเซียแทนในระหว่างวันที่ 8-10 พฤษภาคม
การยกเลิกกำหนดการครั้งนี้ ทำให้สิ่งที่คาดกันว่า รัสเซียจะเป็นประเทศแรกที่ผู้นำเกาหลีเหนือมาเยือน หลังจากรับตำแหน่งต่อจากคิม จองอิล ผู้พ่อ เป็นอันว่ายังไม่เกิดขึ้น
มอสโคไทมส์ระบุด้วยว่า รัสเซียและเกาหลีเหนือนั้นมีความพยายามที่จะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงปัญหาระหว่างรัสเซียกับยูเครน
สำหรับงานพิธีวันฉลองชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ถือเป็นการฉลองชัยชนะในโอกาสครบรอบ 70 ปี ที่กองทัพของอดีตสหภาพโซเวียตมีชัยชนะเหนือกองทัพนาซี โดยก่อนหน้านี้รัสเซียได้ส่งหนังสือเชิญ คิม จองอึน ให้เดินทางไปร่วมพิธีด้วยตนเอง ก่อนที่คิม จองอึนจะประกาศถอนตัวกระทันหันดังกล่าว

เตรียมขึ้นภาษีป้ายฯรถติดแอลพีจี สรรพากรดึงตลาดสด-นัดเข้าระบบภาษี


นายกฯ สั่ง ขายผักผลไม้ข้างทำเนียบ รบ.เดินหน้าแก้ปัญหาสลากเกินราคา "กทม." รับลูกรบ.เล็งขึ้นค่าขยะ จาก20บาท เป็น150บาท/เดือน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยส่งออกไก่สด-แปรรูปไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 20%
นายกฯ สั่ง ขายผักผลไม้ข้างทำเนียบ
5 พ.ค.58  นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมนางสาวเรณู ตังคจิวางกรู รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารเดินตรวจความเรียบร้อยของงาน “เทศกาลผักผลไม้ไทยคุณภาพ” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-31 พฤษภาคม ริมคลองผดุงฯ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักกลุ่มเกษตรกรเริ่มทยอยนำสินค้าเข้ามาจัดบูธอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้นายโอภาส กล่าวภายหลังตรวจพื้นที่การจัดงานว่า ความเรียบร้อยของงานขณะนี้มีประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ อาจมีอุปสรรคบ้างเนื่องจากฝนตก ทำให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรขนสินค้าเข้างานด้วยความลำบาก อย่างไรก็ตามเชื่อว่าบูธต่างๆ จะสามารถจัดสินค้าให้เสร็จภายในคืนนี้(5 พ.ค.)   
สำหรับงานนี้มาจากความประสงค์ของนายกฯ ที่จะให้เกษตรกรมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้า โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ และสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพในการจัดงานร่วมกัน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์มีภารกิจจัดหาสินค้าจากสหกรณ์และเกษตรกรเข้ามาจำหน่าย เป็นผักผลไม้ และพันธุ์ไม้ต่างๆ จากเกษตรกรทั่วประเทศจำนวน 70 บูธ เป็นสินค้าคุณภาพดีจากเกษตรกร ผู้บริโภคได้สินค้าที่มาจากต้นกำเนิดโดยไม่ผ่านตัวกลางทำให้ได้สินค้าดี ราคายุติธรรม ส่วนสินค้าที่น่าจะได้รับความนิยมในงานคาดว่าเป็นสับปะรดฉีกตา ทุเรียนหลง ทุเรียนลับแลจากอุตรดิตถ์ มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงเขียวเสวยจากอ่างทอง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะเลือกรับประทานสินค้าชนิดใด ซึ่งคิดว่าน่าจะขายดีทั้งหมด อย่างไรก็ตามขอเชิญชวนประชาชนมาเที่ยวงานได้ระหว่างวันที่ 6-31 พ.ค. ที่จัดขึ้นเวลา 10.00 น.-19.00 น.” นายโอภาส กล่าว
(ที่มา มติชนออนไลน์, 6 พ.ค.58)
เตรียมขึ้นภาษีป้ายฯรถติดแอลพีจี
5 พ.ค.58 นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในเดือนนี้เตรียมหารือกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อเก็บภาษีป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เพิ่มขึ้น รวมทั้งพิจารณาจัดเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์ ตัวถังแอลพีจีที่จะดัดแปลงนำมาติดตั้งใช้ในรถยนต์เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพื่อทำให้ปริมาณรถยนต์ที่จะหันมาติดตั้งแอลพีจีลดต่ำลง เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้แอลพีจีในภาคขนส่งขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งปริมาณการใช้และจำนวนปั๊มที่ขยายตัวรวดเร็วทำให้ต้องนำเข้าแอลพีจีเพิ่มขึ้น 
ขณะเดียวกันราคาแอลพีจีที่ผ่านมามีการอุดหนุนในราคาต่ำ และต้องตรวจสอบมากกว่ารถยนต์ทั่วไป และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เพราะรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซแอลพีจีส่วนใหญ่เป็นรถเก่าและเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้หลายครั้ง
(ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 5 พ.ค.58)
"กทม." รับลูกรบ.เล็งขึ้นค่าขยะ จาก20บาท เป็น150บาท/เดือน
5 พ.ค.58 นายสุวพร เจิมรังษี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไปโดยให้อำนาจท้องถิ่นสามารถจัดเก็บค่ากำจัดขยะได้สูงสุดที่ครัวเรือนละ150 บาทต่อเดือน (ครัวเรือนที่ผลิตขยะเกิน 5 กก./วัน) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของกฤษฎีกาและเตรียมออกเป็นกฎหมายคาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในเร็ว ๆ นี้นั้น ตนเห็นว่าเป็นหลักการพื้นฐานที่ดีที่ประเทศที่เจริญแล้วไม่ว่าจะเป็นในยุโรปหรือญี่ปุ่นดำเนินการ ทั้งนี้ตนได้สั่งการฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มีการศึกษารายละเอียดในการปรับอัตราค่าจัดเก็บขยะของกรุงเทพมหานครจากที่ปัจจุบันจัดเก็บในส่วนของประเภทบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่20 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมากในขณะที่ กทม.ต้องแบกรับภาระในการกำจัดขยะเป็นเงินปีละหลายพันล้านบาท แต่การปรับเพิ่มแน่นอนว่าจะต้องส่งผลกระทบต่อประชาชนดังนั้นจะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งแนวทางนี้เป็นวิธีที่จะทำให้ประชาชนลดปริมาณการทิ้งขยะลงได้โดยที่ผ่านมา กทม.ได้มีการจัดทำโครงการธนาคารขยะการจัดการขยะให้เหลือศูนย์และโครงการต่าง ๆ ทั้งในชุมชนและในโรงเรียน เพื่อลดขยะตั้งแต่ต้นทางปัจจุบันขยะของ กทม.มีถึงกว่า 8,700 ตันต่อวันซึ่งยังไม่มีแนวโน้มลดลง
(ที่มา มติชนออนไลน์, 5 พ.ค.58)
ส่งออกไก่สด-แปรรูปไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 20%
3 พ.ค.58 นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการส่งออกการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปไตรมาสแรกปี 2558 (ม.ค. – มี.ค.) ว่า มีปริมาณประมาณ 140,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 567 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 โดยมีตลาดหลัก คือ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ลาว และสิงคโปร์ สำหรับตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่ แอฟริกาใต้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 180 มาเลเซียร้อยละ 170 และกัมพูชาร้อยละ 100 เนื่องจากผู้ซื้อมั่นใจศักยภาพการผลิตการเกษตรและปศุสัตว์ไทยกระบวนการผลิตสินค้าไก่ไทยมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีแรงงานมีฝีมือที่มีความชำนาญ ความประณีตในการตัดแต่งเนื้อไก่ เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
สำหรับการส่งออกปีนี้คาดว่าจะส่งออกไก่ทั้งหมดประมาณ 620,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าประมาณ 2,570 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 83,500 ล้านบาท แบ่งเป็นไก่แปรรูป 430,000 ตัน และไก่สด 190,000 ตัน ภายใต้ปัจจัยที่เป็นผลต่อเนื่องจากการเปิดตลาดไก่สดของญี่ปุ่น ข้อจำกัดโควตาในตลาดยุโรป ปัญหาสินค้าไก่ของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ตลาดนำเข้าไก่จากไทยมากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจตกต่ำในตลาดหลัก
(ที่มา สำนักข่าวไทย, 3 พ.ค.58)
เดินหน้าแก้ปัญหาสลากเกินราคา
3 พ.ค.58 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 11/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา ว่า เป็นเจตนารมย์ประการหนึ่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ที่ต้องการเข้ามาจัดระเบียบการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมถึงการจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายสลากที่เหมาะสม ยุติธรรม และเกิดประโยชน์กับประเทศอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การดำเนินการเพิ่มใด ๆ ในอนาคต บอร์ดที่จะได้รับการแต่งตั้งขึ้นใหม่จะเป็นผู้ออกแนวทางปฏิบัต่อไป
(ที่มา สำนักข่าวไทย, 3 พ.ค.58)
สรรพากรดึงตลาดสด-นัดเข้าระบบภาษี
2 พ.ค.58 นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงแนวทางการปิดช่องโหว่ภาษีเพื่อเพิ่มรายได้อีก 10% ตามนโยบายของนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ของกรมออกสำรวจตลาดสดหรือตลาดนัดต่างๆ เพื่อนำผู้ประกอบการที่มีรายได้และอยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีเข้าระบบภาษีมากขึ้น โดยพบว่ารายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ของไทยที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยประเมินไว้ พบว่าไทยมีช่องว่างของธุรกรรมทางการค้าทำให้แวตหายไปประมาณ 10-14% ซึ่งอาจมีหลายสาเหตุ เช่น ร้านค้านั้นมีรายได้ต่อปีไม่ถึง 1.8 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น จึงต้องเร่งสำรวจการค้าตามตลาดค้าใหญ่ อาทิ คลองถม ตลาดไฟฉาย ตลาดรถไฟ โดยเฉพาะร้านค้าขนาดใหญ่ เพื่อดูว่ามีการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่
นายประสงค์กล่าวว่า กรมสรรพากรคาดการจัดเก็บรายได้ปีนี้อาจต่ำกว่าเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมว่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย 1.6-2 แสนล้านบาท โดยเป้าหมายการจัดเก็บภาษีทั้งปีอยู่ที่ 1.965 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บภาษี 7 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ (ตุลาคม 2557-เมษายน 2558) ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงที่คาดว่าจะทำให้รายได้หายไปประมาณ 1 แสนล้านบาท รวมถึงธุรกิจเหล็กในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งทุ่มตลาดจากสินค้าจีน คาดว่าจะทำให้หายไปหลายหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามการเร่งรัดโครงการลงทุน ภาครัฐจะทำให้เงินทยอยไหลเข้าระบบเศรษฐกิจมากขึ้น บวกกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูง ส่งผลให้การบริโภคในประเทศสูงขึ้น ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภคภายในประเทศสูงขึ้นตาม ปีนี้น่าจะสูงกว่าปีที่แล้วราว 11% และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
"ผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ทำให้ราคาน้ำมันดิบนำเข้าที่ปรับราคานำเข้าลดลง ส่งผลให้รายได้จากการเก็บแวตนำเข้าหายไป 4 หมื่นล้านบาท และทำให้แวตที่จัดเก็บจากราคาหน้าปั๊มหายไปอีก 6 หมื่นล้านบาท และรวมถึงการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่อยู่ในธุรกิจน้ำมันได้รับผลกระทบจากการขาดทุน อาทิ ในเครือ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ปีที่แล้วบริษัทแจ้งผลประกอบการมีกำไรสุทธิราว 9 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าปีนี้ผลกำไรสุทธิน่าจะไม่เกิน 6 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาษีที่จัดเก็บได้ลดลง" นายประสงค์กล่าว

BIOTHAI-FTA Watch-มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนุนบอยคอตเซเว่นฯ ชวนแก้ กม.แข่งขันทางการค้า


BIOTHAI-FTA Watch-มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกแถลงการร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนงดซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น เพื่อต่อต้านการผูกขาด พร้อมชวนแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 
6 พ.ค.2558 มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch) ออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนในการรณรงค์เคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์รณรงค์ร่วมกันงดซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ในระหว่างวันที่ 7-11 พฤษภาคม 2558 เพื่อต่อต้านการผูกขาดของบริษัทยักษ์ ใหญ่ด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งขณะนี้ได้ขยายกิจการ มีอำนาจเหนือตลาด
แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้ให้ประชาชนทุกกลุ่มร่วมกันสนับสนุนและเคลื่อนไหวเพื่อให้การรณรงค์นี้นำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542  ซึ่งตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมาแทบไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเลย
โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ดังนี้ 
แถลงการณ์ร่วมมูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)
ต่อการรณรงค์เพื่อต่อต้านการผูกขาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรและอาหาร
ตามที่เกิดกระแสความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์รณรงค์ร่วมกันงดซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ในระหว่างวันที่ 7-11 พฤษภาคม 2558 เพื่อต่อต้านการผูกขาดของบริษัทยักษ์ ใหญ่ด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งขณะนี้ได้ขยายกิจการ มีอำนาจเหนือตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์  การผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญา ไปจนถึงปลายน้ำในกิจการด้านค้าปลีกและค้าส่ง  จนส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาต่อเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้บริโภคโดยรวมนั้น
มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)  ซึ่งได้ติดตามปัญหาเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงทางอาหาร การคุ้มครองผู้บริโภค และอิทธิพลของบรรษัทในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง เห็นร่วมกันว่าขณะนี้ปัญหาการมีอิทธิพลเหนือตลาด และการมีอำนาจในการกำหนดนโยบายของรัฐโดยบริษัทเอกชนขนาดใหญ่บางรายนั้นเกิดขึ้นจริงจนเกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น เมล็ดพันธุ์มีราคาแพง วิสาหกิจชุมชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ถูกกลั่นแกล้งจากอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์  การไม่ได้รับความเป็นธรรมและต้องรับภาระความเสี่ยงในการเลี้ยงสัตว์ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาที่บริษัทเป็นผู้ผูกขาดปัจจัยการผลิต  กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางถูกกีดกันและเอาเปรียบจากการวางจำหน่ายสินค้าในร้านสะดวกซื้อ  ร้านอาหารและร้านค้าบางส่วนต้องเลิกกิจการเพราะไม่สามารถแข่งขันได้  ผู้บริโภคถูกจำกัดในการเลือกซื้อสินค้าและส่งผลต่อการผลิตสินค้าที่หลากหลายและมีราคาที่ยุติธรรมสำหรับผู้บริโภค ไปจนถึงการทำความตกลงการค้าที่เอื้ออำนวยต่อการส่งออกของบริษัทเอกชนรายใหญ่แต่กลับทำให้เกษตรกรรายย่อยต้องล่มสลาย เป็นต้น
มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)   ขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชน และเห็นว่านี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งในฐานะผู้บริโภคที่จะตัดสินใจไม่อุดหนุนสินค้า และในฐานะพลเมืองที่ต้องการสื่อสารเพื่อสะท้อนความอ่อนแอของกฎหมายและนโยบายที่อำนวยผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนรายใหญ่มากกว่าจะคุ้มครองประโยชน์ของเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภค
เราขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกกลุ่มร่วมกันสนับสนุนและเคลื่อนไหวเพื่อให้การรณรงค์นี้นำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542  ซึ่งตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมาแทบไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเลย ทั้งนี้โดยต้องลดสัดส่วนและอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน  กำหนดขอบเขตความหมายของบริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาด  ร่วมกันออกแบบให้กฎหมายนี้สามารถดำเนินการและบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนได้ในที่สุด