วันจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560

สนช. เตรียมแก้ข้อบังคับ ขาดเกิน 1 ใน 4 ของวันประชุมพ้นสมาชิกภาพ


Sun, 2017-04-16 14:13

สนช. เตรียมแก้ข้อบังคับการประชุม ให้สอดคล้อง รธน.ใหม่ ผ่อนคลายกว่าเดิม ขาดเกิน 1 ใน 4 ของวันประชุมต้องพ้นสมาชิกภาพ
 
16 เม.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่าหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ ทำให้ สนช.ต้องแก้ไขระเบียบข้อบังคับการประชุมเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นทันที่ที่เปิดประชุม สนช. วันที่ 20 เม.ย.นี้ จะเสนอที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องการปรับแก้ระเบียบข้อบังคับการประชุมเป็นวาระแรก ก่อนพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ต่อไป
 
ประธาน สนช. กล่าวว่า สำหรับระเบียบข้อบังคับการประชุมใหม่จะส่งผลต่อเรื่องระเบียบการลาของสมาชิก สนช. ที่จากเดิมจะนับการลาตามการลงมติ แต่ระเบียบใหม่จะนับการลาเป็นวัน ซึ่งหากขาดเกิน 1 ใน 4 ของวันประชุมจะต้องพ้นจากสมาชิกภาพ ดังนั้นระเบียบใหม่นี้จะทำสมาชิกผ่อนคลายเรื่องกฎเกณฑ์ขาดสมาชิกภาพ เพราะจะไม่ทำให้ตัวเลขสถิติการลามากเหมือนที่ผ่านมา แต่ยังคงย้ำให้สมาชิก สนช. เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียงเพื่อลงมติผ่านกฎหมายสำคัญ เนื่องจาก สนช. ยังมีกฎหมายที่ค้านการพิจารณาอีกเป็นจำนวนมาก
 
นายพรเพชร กล่าวว่าจากสถิติการลาของ สนช. 3 เดือนที่ผ่านมา การลงมติของเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีใครขาดเกินเกณฑ์ และมีเหตุผลการลาที่ชัดเจน

นักศึกษาและหลานคณะราษฎรเข้าแจ้งความหมุดอภิวัฒน์ 2475 หาย


Sun, 2017-04-16 17:25
มีนักศึกษา 3 ราย และทายาทคณะราษฎรรุ่นหลานแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สน.ดุสิต ให้เจ้าหน้าที่ติดตามเรื่องหมุดคณะราษฎรว่าหายไปได้อย่างไร โดยตำรวจรับเรื่องเพราะทรัพย์ที่หายเป็นของราชการ-ผู้ใดก็ได้สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษ ขณะที่หลานชายหลวงเสรีเริงฤทธิ์ชี้เป็นหมุดบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นของคนไทยทุกคน พร้อมถาม "อภิสิทธิ์" จะไม่ออกมาพูดหน่อยหรือ ทั้งที่ประชาธิปัตย์ก็กำเนิดขึ้นโดยหนึ่งในคณะราษฎร
16 เม.ย. 60 ที่ สน.ดุสิต กรุงเทพมหานคร มีผู้เดินทางมาแจ้งความขอลงบันทึกประจำวันให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎรที่ลานพระบรมรูปทรงม้าหายไป ได้แก่ พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อายุ 30 ปี หลานชาย หลวงเสรีเริงฤทธิ์ นอกจากนี้ยังมี ภัคจิรา กีรติวิบูลย์วงศ์ อายุ 19 ปี นิสิตปี 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุทธิดา วัฒนสิงห์ อายุ 21 ปี นิสิตปี 3 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคุณภัทร คะชะนา อายุ 22 ปี นิสิตปี 4 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งนี้หมดเข้าพบ ร.ต.อ.มอ ระนา รองสารวัตร (สอบสวน) สน.ดุสิต เพื่อขอลงบันทึกประจำวัน

โดยภัคจิรา ระบุว่า หลังจากทราบข่าวทางอินเทอร์เน็ต จึงเข้าลงบันทึกประจำวันพร้อมมาสอบถามว่าหมุดดังกล่าวหายไปได้อย่างไร ใครเป็นผู้ที่เอาไป และทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ยังไม่ได้สอบถามเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณลานพระรูปทรงม้า ว่าพบเห็นใครมาเอาหมุดดังกล่าวออกไป อย่างไรก็ตามจะคอยติดตามเรื่องนี้จนกว่าจะทราบว่าหมุดดังกล่าวหายไปได้อย่างไร
ในคำร้องแจ้งความของกลุ่มนักศึกษาระบุว่า "รู้สึกกังวลใจเนื่องจากหมุดนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ถือเป็นโบราณวัตถุของชาติประเภทหนึ่ง เนื่องจากมีอายุเก่าเกิน 50 ปี คือมีอายุ 81 ปีแล้ว อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของประเทศ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนและติดตามโดยเร็ว"
ขณะที่พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ขออาสาเป็นหนังหน้าไฟแทนผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมไทยที่ไม่สบายใจ เนื่องจากตัวเขาอายุยังไม่มาก คิดว่าคงได้รับความเมตตาจากผู้หลักผู้ใหญ่ สำหรับหมุดนั้นเป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าเราได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุดในประเทศไทย
ส่วนของลูกหลานคณะราษฎรมีทั้งที่พอใจและไม่พอใจ จึงขออาสามาในวันนี้ ด้วยความที่คณะราษฎรมีผู้เกี่ยวข้องทั้งพลเรือนและทหารจำนวนมากในยุคนั้น บุคคลเหล่านั้นยังอยู่ในราชการเป็นจำนวนมากและมีลูกหลานเติบโตต่อมา หลายท่านที่เป็นตำรวจ ทหารที่ทั้งรับราชการและไม่รับราชการ มีการใช้คำพูดรุนแรงมาก จึงมาเป็นตัวแทน เพราะอยากทราบว่าหมุดคณะราษฎรหายไปได้อย่างไร และอยู่ที่ไหน จะดำเนินการอย่างไร ไม่ได้จะเอาเป็นเอาตายแต่อย่างใด เรื่องผ่านมาจะ 100 ปีแล้ว ผู้ใหญ่ของตนก็ทำงานกับฝ่ายความมั่นคงของท่านรองนายกรัฐมนตรี ตัวเขาเองก็เรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ รุ่นเดียวกับลูกท่านนายกรัฐมนตรีด้วย
สุดท้ายอยากถามไปยังรุ่นพี่ที่รักคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะว่าพรรคของท่านพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่และได้กำเนิดขึ้นมาโดยหนึ่งในคณะราษฎรคนหนึ่ง ท่านไม่คิดจะออกมาพูดหรือแสดงความรับผิดชอบบ้างเลยหรือ หมุดคณะราษฎรไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นของประชาชนคนไทย อย่างไรก็ตามตนได้ไปสอบถามทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วในเมื่อท่านบอกไม่ทราบตนก็เคารพในคำตอบ
ด้าน ร.ต.อ.มอ เปิดเผยว่า เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องร้องทุกข์ไว้แล้ว ผู้กล่าวหามาขอลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานแล้วให้ช่วยติดตามทรัพย์สินที่หายไปคืนมา สำหรับทรัพย์สินที่หายไปนั้นเป็นทรัพย์สินของทางราชการ เป็นผู้ใดก็ได้ที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษ อย่างไรก็ตามในเรื่องดังกล่าวจะต้องนำเรียนผู้บังคับบัญชาให้พิจารณาต่อไป

เครือข่ายนักวิชาการสิทธิพลเมืองเรียกร้องนำ 'หมุดคณะราษฎร' กลับคืนที่เดิม

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้นำ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” กลับไปติดตั้งยังสถานที่ประวัติศาสตร์ชาติดังเดิม เพื่อยืนยันความต้องการของประชาชนที่จะให้ “ระบอบประชาธิปไตย” ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบันให้จงได้ และดำรงอยู่อย่างมั่นคง สืบไปในอนาคต

 
16 เม.ย. 2560 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง การลักทรัพย์สมบัติสาธารณะและฉวยเปลี่ยน “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” อันมีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่งคณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” โดยระบุว่าความทรงจำร่วมเกี่ยวกับอดีตของคนในชาติหรือในสังคมไม่ได้หมายถึงความทรงจำเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้วเท่านั้น หากยังหมายถึงความเข้าใจและความต้องการที่มีต่อสังคมในปัจจุบันและความคาดหวังที่มีต่อสังคมในอนาคตร่วมกันด้วย 
 
ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรและบทบาทของคณะราษฎรในการนำระบอบรัฐธรรมนูญมาสู่ประเทศสยามเมื่อ พ.ศ.2475 คือการให้ความสำคัญแก่ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นฐานในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และยังหมายถึงการที่ระบอบการปกครองดังกล่าวควรดำรงอยู่ในปัจจุบันและอนาคตด้วย ทั้งนี้ “เพื่อความเจริญของชาติ” อันหมายถึงชาติของประชาชน ปกครองโดยประชาชน และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด
 
ย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ปัก “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อมอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน และ “หลัก 6 ประการ” ดังนี้
 
  • 1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  • 2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  • 3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  • 4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
  • 5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
  • 6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
 
การเปลี่ยน “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ด้วยหมุดใหม่พร้อมข้อความที่ว่า “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” และ“ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” จึงเป็นการทำลายความทรงจำร่วมที่มีคุณค่าพร้อมกับสร้างความทรงจำร่วมชุดใหม่ขึ้นมาซึ่งขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เพราะข้อความในหมุดใหม่ไม่เพียงแต่ไม่ปรากฏคำว่ารัฐธรรมนูญ หากแต่ยังขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญในระดับรากฐาน เช่น “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัย” ไม่ให้ความสำคัญกับศาสนาอื่นอย่างเสมอหน้า และคำว่า “หน้าใส” บ่งถึงความเป็นไพร่และสังคมช่วงชั้นซึ่งขัดหลักความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย
 
นอกจากนี้ การทำลายและเปลี่ยนหมุดบ่งถึงการไม่เคารพอดีตความเป็นมาของบรรพชนในทุกฝ่าย เนื่องจากอนุสาวรีย์มีไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของบรรพชนในการสถาปนาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมของสังคมและชาติไทยเฉกเช่นนานาอารยประเทศ
 
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จึงเรียกร้องให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรมศิลปากร และสำนักงานเขตดุสิต แสดงความรับผิดชอบต่อภารกิจในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยและปกปักรักษาสมบัติสาธารณะ ทั้งนี้ ไม่เพียงในทางตัวบทกฎหมาย หากแต่ยังต้องสร้างความทรงจำที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นมาของระบอบการเมืองไทยในปัจจุบันว่า หากไม่มีคณะราษฎรเสียแล้ว ราษฎรทั้งหลายรวมทั้งพวกท่านก็ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจปกครองตนเองดังในปัจจุบัน โดยให้ดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายและลงทัณฑ์ทางสังคมกับผู้ที่ไม่เพียงแต่ขโมย “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ไปจากสถานที่ทางประวัติศาสตร์ หากแต่ยังนำไปครอบครอง ซ่อนเร้น หรือทำลายสัญลักษณ์แห่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน 
 
พร้อมกันนี้ คนส. ขอส่งเสริมและสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนร่วมกันเรียกร้องให้นำ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” กลับไปติดตั้งยังสถานที่ประวัติศาสตร์ชาติดังเดิม เพื่อยืนยันความต้องการของประชาชนที่จะให้ “ระบอบประชาธิปไตย” ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบันให้จงได้ และดำรงอยู่อย่างมั่นคง สืบไปในอนาคต