วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

ร้องขอความเป็นธรรมอัยการทหาร คดี 112 ‘ฐนกร’ ถูกกล่าวหาเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง


29 ก.พ.2559 อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในวันนี้เขาได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแกอัยการทหาร ในคดีของนายฐนกร ผู้ต้องหาแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์ และโพสต์ภาพสุนัขทรงเลี้ยง ซึ่งถูกพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาตามมาตรา 112, 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยในวันที่ 4 มี.ค.นี้จะฝากขังครบ 7 ผัด และอัยการทหารจะมีคำสั่งหรือฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีนี้ต่อศาลทหาร
หนังสือร้องขอความเป็นธรรมระบุว่า ฐนกรเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ทำการแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์ ซึ่งถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ทั้งที่หากมีความผิดควรเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลตามมาตรา 326 นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังต้องการสร้างบรรยากาศความกลัวด้วยการแจ้งข้อกล่าวหากับฐนกรด้วยมาตรา 112 ด้วยโดยกล่าวหาว่าเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงทั้งที่ มาตรา 112 คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น
ทั้งนี้ ฐนกร อายุ 28 ปี ทำงานโรงงานอะไหล่รถยนต์ เขาถูกควบคุมตัวในวันที่ 8 ธ.ค.58 จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งย่านสมุทรปราการ โดยระหว่างวันที่ 9-14 ธ.ค.58 ญาติและทนายความไม่ทราบว่านายฐนกรถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวนายฐนกรมาฝากขังต่อศาลทหารในวันที่ 14 ธ.ค.58 ได้นำตัวไปควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และเคยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสองครั้งโดยมีหลักประกันเป็นเงินสด 300,000 บาทและ 900,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ไปก่ออุปสรรคหรือความเสียหายในการสอบสวน หรือไปก่ออันตรายประการอื่น

                                                                                                                              ๑๐๙ ซอยสิทธิชน ถนนสุทธิสารวินิจฉัย                                                                                                                                   แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กทม.
                                                                                ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
เรื่อง        ขอความเป็นธรรมในชั้นอัยการ
เรียน       อัยการเจ้าของสำนวน คดีอาญาระหว่างพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ผู้กล่าวหา
               กับนายฐนกร  ศิริไพบูลย์ ผู้ต้องหา
อ้างถึง     สำนวนคดีอาญาระหว่างพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ผู้กล่าวหา กับนายฐนกร  xxxxxx ผู้ต้องหา
                  ตามที่พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามได้ทำการสอบสวนคดีอาญาซึ่งนายฐนกร xxxxxx ตกเป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ , มาตรา ๑๑๖ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดอันเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งภายหลังจากสอบสวนพนักงานสอบสวนได้มีคำสั่งฟ้องและส่งสำนวนมายังอัยการศาลทหารแล้วนั้น
                  ข้าพเจ้าในฐานะทนายความของผู้ต้องหา ขอเรียนต่อท่านอัยการศาลทหารว่า คดีนี้มูลคดีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่หาได้รับฟังได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแต่อย่างใดไม่ ขอท่านได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังต่อไปนี้
                  ๑) คดีนี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าจับกุมผู้ต้องหาอันมีมูลจากกรณีที่ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมได้ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อันนำไปสู่การตั้งคำถามของคนในสังคมอย่างกว้างขวาง ต่อมาได้มีการพยายามตรวจสอบการทุจริตในหลายช่องทาง มีการแจ้งความดำเนินคดี ร้องเรียนในหน่วยงานต่างๆของรัฐ รวมทั้งการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ปรากฏการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การกวาดจับประชาชนจำนวนหลายคนที่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ และทางผู้กล่าวหาได้ใช้มาตรการตั้งข้อกล่าวที่เกินกว่าความเป็นจริง เช่น มีการกล่าวหาโดยพยายามเชื่อมโยงกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรือการกล่าวหาเกินเลยเหมารวมการหมิ่นประมาทบุคคลเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖ อันเป็นการทำลายระบบนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรม สังคมทั้งในและต่างประเทศต่างเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทนายพยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดการคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งกระบวนการเช่นนี้อาจได้ผลในระยะสั้นๆ แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยในระยะยาว
                  คดีนี้ผู้ต้องหาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัว และส่งเสียน้องสาวที่อยู่ในวัยเรียน  ขอท่านได้โปรดพิจารณารูปคดีโดยปราศจากการเมืองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาด้วย
                  ๒) ผู้กล่าวหาจงใจใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ กล่าวหาผู้ต้องหาเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวและอุปสรรคในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว กล่าวคือ จากคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนครั้งที่ ๑ ระบุชัดเจนว่า ผู้กล่าวหากล่าวหาว่าผู้ต้องหาเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง ซึ่ง "สุนัขทรงเลี้ยง" มิใช่บุคคลอันเป็นองค์ประกอบแห่งความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ได้มุ่งหมายที่จะคุ้มครองแต่อย่างใด กล่าวคือ บทบัญญัติมาตรา ๑๑๒ ตามประมวลกฎหมายอาญานั้น มุ่งหมายคุ้มครองบุคคลผู้เป็นประมุขแห่งรัฐ และผู้เป็นอุปกรณ์ในสถาบันดังกล่าว ได้แก่
                            ๒.๑ พระมหากษัตริย์ (The King) หมายถึง พระมหากษัตริย์องค์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะที่มีการกระทำความผิด มิใช่พระมหากษัตริย์ที่ทรงสละราชบัลลังก์แล้วหรือพระมหากษัตริย์ในอดีต ซึ่งพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดูลยเดชมหาราช
                            ๒.๒ พระราชินี ( The Queen ) หมายถึง สมเด็จพระมเหสีที่เป็นใหญ่กว่าพระราชชายาทั้งหลายซึ่งมีเพียงพระองค์เดียว ได้ผ่านการอภิเษกสมรส โดยเป็นพระมเหสีในพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะมีการกระทำความผิด ไม่ใช่พระราชินีในรัชกาลก่อน แม้ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม ซึ่งพระราชินีในรัชกาลปัจจุบันคือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
                            ๒.๓ รัชทายาท ( The Crown Prince) บางครั้งเรียกว่า "มกุฎราชกุมาร" หมายถึง พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ และจะได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามนัยที่ตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 ( ปัจจุบันคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฎราชกุมาร )
                             ๒.๔ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ( The Regent ) หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ประมุขแทนพระมหากษัตริย์เป็นการชั่วคราว ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ ( ปัจจุบันไม่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ )
                  ทนายความผู้ต้องหาขอเรียนต่อท่านอัยการว่า กฎหมายอาญานั้น ต้องมีบทบัญญัติโดยชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยบัญญัติความผิดและโทษไว้ในขณะกระทำ และบทบัญญัตินั้นต้องชัดเจนปราศจากความคลุมเครือ  มิฉะนั้นจะใช้บังคับมิได้ ซึ่งหลักการนี้ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา ๒ ที่ว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำการนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้นต้องเป็นโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย” ทั้งยังต้องตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ กฎหมายบัญญัติการกระทำใดเป็นความผิดและต้องรับโทษในทางอาญาแล้ว ต้องถือว่าการกระทำนั้นๆ เท่านั้นที่เป็นความผิดและผู้กระทำถูกลงโทษจะรวมถึงการกระทำอื่นๆด้วยไม่ได้ ซึ่งการตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัดดังกล่าว มีความหมายเฉพาะการเคร่งครัดในด้านที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำเท่านั้น มิใช่ในทางที่จะเป็นโทษแก่ผู้กระทำ
                  คดีนี้ผู้กล่าวหาจงใจใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เป็นเครื่องมือในการจัดการกับประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง ขอท่านได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาด้วย
                  สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  ๑๑๖ นั้น ทนายความผู้ต้องหาขอเรียนต่อท่านอัยการว่า  ผู้กล่าวหาได้จงใจกล่าวหาด้วยข้อหาที่เกินจริงและเกินไปกว่าการกระทำของผู้ต้องหา ซึ่งจากข้อเท็จจริงในผังราชภักดิ์ หากจะมีความผิดซึ่งสมควรแก่การพิจาณาในศาล ก็เป็นเพียงข้อพิจารณาว่า "ผังการทุจริตอุทยานราชภักดิ์" นั้น เป็นการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ หรือไม่เท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ศาลทหารกรุงเทพได้เคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วในคดีของนางรินดา ปฤชาบุตร ว่าการโพสต์ข้อความอันอาจหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่ต้องไปพิจารณาว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖ หรือไม่เท่านั้น มิใช่เรื่องที่ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖
                  การที่ผู้กล่าวจงใจกล่าวหาด้วยข้อหาที่ร้ายแรงเกินความเป็นจริง และพนักงานสอบสวนก็สอดรับด้วยการสอบสวนในฐานความผิดที่เกินจริง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอท่านอัยการศาลทหารได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมในประเด็นนี้ด้วย
                  ข้อ ๓. ทนายความผู้ต้องหาขอเรียนต่อศาลว่า คดีนี้เป็นที่จับตาของนานาชาติเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายและการพิจารณาคดีในระหว่างที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ซึ่งรัฐไทยก็ได้พยายามอธิบายถึงความจำเป็นในห้วงเวลานี้ว่าต้องประคับประคองประเทศให้เกิดความมั่นคงสูงสุด ทั้งยังยอมรับเงื่อนไขที่จะทรงไว้ซึ่งคำมั่นที่จะดูแลสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม อันเป็นปราการสุดท้ายของการที่จะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว  แต่จากหลายกรณีจะเห็นได้ว่าผู้กล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารได้พยายามใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จนทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยในขณะนี้ขาดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะคดีนี้การณ์อันไม่ชอบนั้นได้ลุกลามมาถึงชั้นพนักงานสอบสวนแล้ว ทนายความผู้ต้องหายังเชื่อมั่นในหลักการแห่งความยุติธรรมแม้ในสถานการที่บ้านเมืองเป็นทุรยุคเช่นนี้ หากแต่เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่ยังเป็นที่มั่นสุดท้ายที่จะธำรงเป็นเสาหลักของบ้านเมือง คดีนี้เห็นได้ชัดเจนว่าข้อกล่าวหาและการสอบสวนเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากปล่อยให้มีการพิจารณาคดีต่อไปย่อมส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย การณ์ก็จะกลายเป็นว่ากระบวนการยุติธรรมนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอยุติธรรมไปเสีย
                  ทนายความผู้ต้องหาทราบดีว่าคดีนี้มีความละเอียดอ่อน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญทางวิชาชีพในการพิจารณา ในทางกลับกันก็มีเพียงกระบวนการพิจารณาทบทวนของชั้นอัยการที่จะสามารถยุติกระแสการวิพากษ์วิจารณ์คดีและกระบวนการยุติธรรมได้ ขอท่านได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหา ได้โปรดสั่งไม่ฟ้องคดีนี้เพื่อความยุติธรรมด้วย
                                                                                ขอแสดงความนับถือ
                                                                        (       นายอานนท์   นำภา       )
                                                                                 ทนายความผู้ต้องหา

ทหารโผล่สมัคร 'เลขาธิการ กกต.' ปัดนายหรือคสช. ส่งมา


เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่าจากที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดรับสมัครเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระหว่างวันที่ 8 ก.พ. – 7 มี.ค. นี้ แทนนายภุชงค์ นุตราวงศ์ ที่ถูกเลิกจ้าง ในวันนี้ (29 ก.พ.) ก่อนปิดทำการในเวลา 16.30 น. ได้มีบุคคลเดินทางมายื่นสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นเลขาธิการ กกต.เป็นคนที่สอง คือ พล.อ.เดชา ปุญญบาล ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยการเดินทางมายื่นใบสมัครของ พล.อ.เดชา มีทีมงานของ กกต.มาช่วยดูแลและให้กำลังใจ
พล.อ.เดชา กล่าวถึงเหตุผลการยื่นสมัคร ว่า เนื่องจากการทำงานของตนในช่วงที่ผ่านมาจะอยู่ในต่างจังหวัดตามแนวชายแดน ต้องพบปะกับผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งคนเหล่านี้จะขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของชาติ และกลายมาเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้คิดว่าจะทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ รวมทั้งเคยทำงานถวายพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีในโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่มีรายได้น้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเมื่อการเข้าควบคุมอำนาจโดย คสช. ก็ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการเรื่องการรับฟังความคิดเห็นประชาชน กลุ่มการเมืองต่าง ๆ จนนำมาสู่การมีข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศ
“จากการทำงานเหล่านี้ทำให้คิดว่ากลไกการเลือกตั้ง ถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง เพราะถ้าเรามีระบบเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม มีความเป็นธรรม ก็จะคัดกรองให้ได้คนดี ซื่อสัตย์สุจริต เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศและทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ และขอปฏิเสธว่าการยื่นสมัคร ไม่ใช่เป็นเพราะนาย หรือ คสช. ส่งมาให้มายื่นใบสมัคร ผมมีความรักในงานที่ทำ และเห็นว่าหน้าที่การเป็นเลขาธิการ กกต.จะสามารถสานต่ออุดมการณ์ที่มีได้ อีกทั้งเป็นนักศึกษาเข้าอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงของสำนักงาน กกต. ทำให้รู้สึกอินกับงานการเลือกตั้งด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเห็นว่ามีคุณสมบัติเพียงพอและพร้อมที่จะให้โอกาสในการเข้ามาทำงานหรือไม่” พล.อ.เดชา กล่าว
สำหรับ พล.อ.เดชา เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติของ คสช. และเป็นอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการแรงงานสภาปฏิรูปแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม นับแต่เปิดรับสมัครเลขาธิการ กกต. จนถึงวันนี้ (29 ก.พ.) มีผู้สมัครแล้ว 2 คน คือ นายประวิง คชาชีวะ อดีตรองเลขาธิการ กกต. และ พล.อ.เดชา
ภุชงค์ ฟ้องศาลปกครอง กกต.เลิกจ้างไม่เป็นธรรม
วันเดียวกัน (29 ก.พ.59) สำนักข่าวไทย ยังรายงานด้วยว่า ที่ศาลปกครอง  เวลา 9.00 น. นายภุชงค์ อดีตเลขาธิการ กกต. พร้อมด้วยบุตรชาย เดินทางเข้ายื่นคำฟ้อง กกต.ต่อศาลปกครอง จากกรณีคณะกรรมการ กกต. มีมติเลิกจ้าง  และให้มีผลการเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา
นายภุชงค์ กล่าวว่า  มติดังกล่าวของคณะกรรมการ กกต. มีความไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีมติเลิกจ้างและให้มีผลในวันเดียวกันเลย  ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม  จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง  เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนมติ กกต.ดังกล่าว   และจ่ายเงินเยียวยาในส่วนของเงินประจำตำแหน่ง และเงินเดือนในช่วงเวลาที่เหลือตามสัญญาจ้าง
 
“ยืนยันว่าไม่ต้องการที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต.อีก แต่ต้องการให้มีการตรวจสอบ และพิสูจน์ที่ศาลว่า มติดังกล่าวมีความชอบธรรมหรือไม่” นายภุชงค์ กล่าว และว่า ส่วนคดีหมิ่นประมาทที่คณะกรรมการ กกต.ฟ้องรวม 6 คดีนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน แต่ก็ยืนยันว่าพร้อมที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่พูดไป และสิ่งที่พูดก็ไม่ได้เป็นการกล่าวหาใคร ซึ่งก็ต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล
 
ต่อกรณีที่มีข่าวว่า สำนักงาน กกต. มีปัญหาเรื่องงบประมาณนั้น นายภุชงค์ กล่าวว่า  ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์  อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2549  กกต.ของบประมาณต่อสำนักงบประมาณ แต่ไม่เคยได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ จึงต้องใช้งบสะสมที่มีอยู่ ทั้งการแก้ปัญหาและการดำเนินโครงการต่างๆ ของ กกต.
 
ส่วนที่เจ้าหน้าที่ กกต.มองว่าปัญหาเรื่องงบประมาณของกกต.เกิดจากการบริหารงบประมาณที่ผิดพลาดนั้น นายภุชงค์ กล่าวว่า ก็ต้องไปดู เพราะการบริหารงานของ กกต.แต่ละชุด จะมีหลักในการพิจารณาการขยายตำแหน่งแตกต่างกันไป
 
“ผมอยากให้เจ้าหน้าที่ กกต.ตั้งใจทำงาน เพราะขณะนี้มีงานสำคัญอย่างประชามติที่ต้องทำ ซึ่งจะเหมือนในปี 2542 ที่สำนักงาน กกต.ไม่มีงบประมาณเลย แต่ก็ยังสามารถจัดการเลือกตั้งได้” นายภุชงค์ กล่าว 

ยกจริยธรรม 'สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์' จี้ช่อง 3 ถอด 'สรยุทธ' ชั่วคราวจนกว่าคดีจะสิ้นสุด


1 มี.ค. 2559 สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ เรื่อง การทบทวนการทำหน้าที่ของพิธีกรข่าว กรณี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา โดย ระบุว่า จากการที่ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 59 ให้จำคุกนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการข่าวของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด เป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน ในข้อหาที่เกี่ยวกับการทุจริตค่าโฆษณาของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และต่อมา นายสรยุทธ ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์  
แถลงการณ์ ระบุด้วยว่า คำพิพากษาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ นายสรยุทธ ยุติการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น  แต่ในเวลาต่อมาผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้มีมติให้ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ทำหน้าที่ต่อไป โดยนายสุรินทร์ กฤตยา-พงศ์พันธุ์ ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือ  สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ให้เหตุผลว่าเนื่องจากกรณีนี้ได้เกิดขึ้นก่อนนายสรยุทธ มาร่วมงานกับสถานี และคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีสมาชิกระดับบุคคลและระดับองค์กรของของสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุต่างๆ ทั่วประเทศ  ได้ร่วมหารือถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นประกอบกับความคิดเห็นและปฏิกิริยาของส่วนต่างๆ ในสังคม และมีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีผลกระทบไม่ใช่เฉพาะต่อความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3  เท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อวงการสื่อมวลชนไทยในภาพรวมซึ่งกำลังอยู่ในภาวะที่ถูกสังคมตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบและจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่
ถึงแม้กรณีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์ แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมว่ามีหลักฐานเพียงพอว่า นายสรยุทธ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่เกิดขึ้น  ซึ่งเป็นความผิดทั้งทางด้านอาญาและด้านจริยธรรม เพราะฉะนั้นสังคมจึงมีความคาดหวังว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จะแสดงความรับผิดชอบและเป็นตัวอย่างในการวางมาตรฐานจริยธรรมด้วยการให้ นายสรยุทธ ยุติบทบาทหน้าจอ อย่างน้อยเป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะสิ้นสุด
สื่อมวลชนไทยได้ยึดมั่นในหลักการของการกำกับและดูแลกันเองเพื่อสร้างหลักประกันสำหรับเสรีภาพในการรายงานข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นมาตลอด  แต่จุดยืนของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ต่อกรณี นายสรยุทธ ทำให้หลักการของการกำกับดูแลกันเองของสื่อถูกตั้งคำถามมากขึ้น  และเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับความพยายามของกลุ่มคนที่ต้องการให้มีกลไกที่มีอำนาจทางกฎหมายในการควบคุมและลงโทษสื่อที่ละเมิดจริยธรรม
"ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารของ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ทบทวนการทำหน้าที่ของ  นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เพื่อเป็นแบบอย่างในการสร้างบรรทัดฐานด้านจริยธรรมให้กับวงการสื่อมวลชนไทย" สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ระบุตอนท้ายแถลงการ

ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นควรเพิกถอนคำสั่งไล่ 'สมศักดิ์ เจียม' พ้น มธ. จับตาพิพากษา 8 มีนานี้


1 มี.ค.2559 หลังจากที่สำนักงานศาลปกครองกลางมีหนังสือถึงทีมทนายความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 58 แจ้งคำสั่งรับฟ้องคดีที่สมศักดิ์ฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
ล่าสุดวันนี้ ที่ศาลปกครองกลาง ตุลาการผู้แถลงคดี มีความเห็นให้เพิกถอนคำสั่ง มธ. ไล่ออก สมศักดิ์ ระบุ มีเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิตและเสรีภาพ จนเจ้าตัวต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ เมื่อมีคำสั่งเรียกกลับมาสอน สมศักดิ์ ก็ขอลาออกทันที แม้ไม่ครบ 30 วันล่วงหน้าตามข้อบังคับแต่ถือได้ว่ามีเหตุผลจำเป็นพิเศษ อีกทั้งคณบดีศิลปศาสตร์ได้อนุมัติให้ลาไปศึกษาวิจัยต่างประเทศเป็นเวลา 1 ปีแล้วตั้งแต่ 16 พ.ค.2557 แม้ทางมหาวิทยาลัยยังไม่อนุมัติและท้ายสุดคณบดีจะขอยกเลิกการอนุมัติดังกล่าวและให้กลับมาสอน ในทางปฏิบัติ ปี 2545 สมศักดิ์ก็เคยได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยภายหลังสิ้นสุดการลาแล้ว ฉะนั้นในครั้งนี้จึงถือไม่ได้ว่าสมศักดิ์จงใจละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ผิดวินัยร้ายแรง คำสั่งไล่ออกจึงเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรเพิกถอนคำสั่ง
ภาวิณี ชุมศรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากภรรยาสมศักดิ์ ระบุว่า ความเห็นของตุลาการผู้แถลงเป็นเพียงการให้ความเห็นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเหมือนคำพิพากษาขององค์คณะเจ้าของคดี หลายคดีผลก็ไม่ตรงกันเช่น คดีหนัง Insect in the backyard จึงต้องดูคำพิพากษาในวันที่ 8 มีนาคมนี้ ซึ่งศาลนัดที่ ห้องพิจารณาคดี 8 เวลา 9.30 น.
ภาวิณี ชุมศรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก ภรรยาสมศักดิ์

ครม.-คสช. สรุปแก้รธน.ฉ.ชั่วคราว 5 ปมประชามติ นับเสียงข้างมาก 'ผู้ออกมาใช้สิทธิ'


1 มี.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมร่วม ครม.-คสช. วันนี้ (1 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นครั้งที่ 2 โดยจะมีการแก้ไขใน 5 ประเด็นที่จำเป็นสำหรับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาจะส่งร่างแก้ไขมาให้ตน ในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ส่งไปยัง สนช. ให้พิจารณาภายใน 15 วัน
สำหรับ 5 ประเด็นที่จะมีการแก้ไข  นายวิษณุ กล่าวว่า ประกอบด้วย 1. การแก้ไขการนับคะแนนเสียงประชามติ  โดยให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ และให้คิดคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ  โดยไม่นับคะแนนเสียงของผู้งดออกเสียง  2. อายุของผู้มีสิทธิใช้เสียง ให้นับอายุ 18 ปีบริบูรณ์ นับตั้งแต่วันออกเสียงประชามติ
นายวิษณุ กล่าวว่า 3. แก้ไขการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 80 ของผู้มีสิทธิออกเสียง มาใช้วิธีการรณรงค์เผยแพร่ ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในทุกช่องทาง ทั้งอินโฟกราฟฟิก เว็ปไซต์ การซื้อโฆษณาจากสื่อต่างๆ รวมถึง การติดประกาศตามหน่วยงานราชการ ซึ่งขณะนี้กรรมการการเลือกตั้ง (กรธ.) ได้ทำคู่มือร่างรัฐธรรมนูญฉบับย่อไว้แล้ว  เพื่อป้องกันปัญหาการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญไม่ทั่วถึงและไม่ครบ
“นอกจากนี้ ให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเวทีแสดงความคิดเห็น ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ  โดยผู้ที่จะแสดงความเห็น สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ในเวทีที่ กกต.จัด แต่ถ้าไปแสดงความเห็นในพื้นที่อื่น ก็จะต้องแบกรับความเสี่ยง หากถูกดำเนินการตามกฎหมาย” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า 4. แก้ไขการส่งคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำประชามติ จากเดิมที่ให้ สปช. และ สนช. สามารถส่งคำถามได้ฝ่ายละ 1 คำถามมาให้ ครม.เลือก แต่เมื่อไม่มี สปช.แล้ว ก็ให้ สนช.ตั้งคำถาม และส่งตรงไปยัง กกต.ได้โดยตรง และ 5. จะมีการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการรณรงค์ออกเสียงประชามติ โดยจะเป็นหลักเกณฑ์ใกล้เกียงกับกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และประชามติเดิม แต่จะมีการกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการกีดขวาง ต่อต้าน จงใจไม่ให้มีการไปใช้สิทธิ ซึ่งจะรวมถึง การฉีกทำลายบัตรออกเสียงประชามติด้วย ขณะนี้ อยู่ระหว่าง กกต.ร่างกฎหมายส่งมายัง กกต.
“การประชุมร่วม ครม.-คสช. วันนี้ ไม่ได้หารือเกี่ยวกับทางออก หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ เนื่องจากยังไม่ถึงเวลา และเกรงจะสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ แต่ที่ประชุมยืนยันว่า จะต้องมีการเลือกตั้ง ภายในปี 2560 แน่นอน ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติหรือไม่”  นายวิษณุ กล่าว