วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

‘สมศักดิ์ เจียมฯ’ ชี้รธน.57 เขียนเอง ‘ประชามติ’ ต้องผ่านเสียงข้างมากของ ‘ผู้มีสิทธิ’ ไม่ใช่ ‘ผู้มาใช้สิทธิ’


‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ ประเมิน ประชามติ ไม่ผ่านถึงระดับ 23.5 ล้านแน่ ต่อให้คนทีเคยเลือก ปชป. ไปลงรับเป็นส่วนใหญ่ ก็ไม่มีทางได้ถึง หวั่น คสช.แก้ รธน. ให้ใช้เสียงข้างมากจากผู้มาใช้สิทธิแทน
หลังจากที่ นิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาแถลงข้อเสนอวานนี้(2 ก.ย.58) ตอนหนึ่งว่า ขอเสนอแนะให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37 วรรค 7 โดยเปลี่ยนจากเดิมที่กำหนดให้การผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้เป็นการผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้มีความเป็นไปได้ ในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ (ดูรายละเอียด)
จากนั้นวันนี้ (3 ก.ย.58) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ โพสต์แสดงความเห็นต่อประเด็นการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญตาม รธน.(ชั่วคราว) 2557 นั้น ต้องผ่าน เสียงข้างมากของ ‘ผู้มีสิทธิ’ หรือ ‘ผู้มาใช้สิทธิ’ กันแน่ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะว่า ‘Somsak Jeamteerasakul’
โดยสมศักดิ์ ระบุว่า ลองเช็คตัว รธน.(ชั่วคราว) 2557 ดู ปรากฏว่า เป็นไปตามที่ นิรันดร์ พูดไว้จริงๆ คือ รธน 2557 ฉบับแก้ไข ได้ระบุไว้ชัดว่า "ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ...." (ดูตัวบทที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/064/1.PDF ) นั่นคือ "โดยเสียงข้างมาก" นั้นหมายถึงเสียงข้างมาก ของ "ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ" ไมใช่ของผู้มาลงประชามติ นั่นคือต้องประมาณ 23.5 ล้านจริงๆ
ภาพที่สมศักดิ์ ทำไฮไลน์ รธน.(ชั่วคราว) 2557 มาตราที่ว่าด้วยการออกเสียงประชามติรับร่างรธน. (ที่มา :Somsak Jeamteerasakul)
ส่งผลต่อการรณรง "โนโหวต" หรือ "โหวตโน"
นอกจากนี้ สมศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้มีนัยยะสำคัญต่อประเด็นที่มีการถกเถียงกันในหมู่แอ๊คติวิสต์ที่ว่าจะรณรงค์ "โนโหวต" หรือ "โหวตโน" ดี โดยเหตุผลสำคัญที่คนเสนอให้รณรงค์อย่างหลัง เพราะกลัวว่า ถ้า "โนโหวต" คือบอยคอตไม่เข้าร่วมใดๆ กับ "ประชามติ" ที่ว่าเลย จะทำให้ รัฐธรรมนูญ ผ่าน "ประชามติ" เพราะถ้าคนที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. โนโหวตหรือไม่ไปลงมากๆ จริง คนที่เหลือไปลง ส่วนใหญ่คงลงรับมากกว่า
แต่ถ้าดูจากข้อกำหนดเรื่อง "เสียงข้างมาก" และตัวเลขตามที่ นิรันดร์ ยกมาข้างต้นแล้ว เห็นได้ว่า ถ้าคน "โนโหวต" เยอะ เรียกว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ รธน. จะได้เสียง "รับ" เกิน 23.5 ล้าน ดังนั้น ถ้า จะรณรงค์ "โนโหวต" และถ้าพรรคการเมืองหลักอย่างน้อยหนึ่งพรรคเอาด้วย ก็ไม่ต้องห่วงเลยว่า รธน จะผ่าน เอาเข้าจริง ต่อให้สมมุติว่า รณรงค์โนโหวตแล้ว ยังมีคนไปลงราว 10 ล้านคน และต่อให้ทั้ง 10 ล้านคนลง "รับ" ทุกคน ก็ได้เสียงไม่ถึง 23.5 ล้านอยู่ดี คือเอาเข้าจริง แทบเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะทางไหน โนโหวต หรือ โหวตโน ที่เสียงรับจะได้เกิน 23.5 ล้าน ขอแต่เพียงให้อย่างน้อยพรรคเพื่อไทยและประชาชนทีสนับสนุนพรรคนี้ไม่เอาด้วย ไม่ว่าจะไป โหวตโน หรือ โนโหวต-ไม่ไปเลย คือต่อให้สมมุติว่า คนที่เลือก ปชป. ไปและ ปชป. หันมารับ รธน. ก็ตาม ปชป. ก็ไม่เคยได้เสียงถึงระดับ 23.5 เลย ได้เพียง 10 ล้านต้นๆ
หวั่น คสช.แก้ รธน. ให้ใช้เสียงข้างมากจากผู้มาใช้สิทธิแทน
สมศักดิ์ วิเคราะห์ต่อว่า ยกเว้นแต่ คสช. จะ "เอะใจ" และทำตามที่ นิรันดร์ เสนอ คือเปลี่ยนข้อกำหนดเรื่องประชามติเสียก่อน ให้เป็นเพียง "เสียงข้างมากของผู้มาลงประชามติ"
ซึ่ง สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่าตอนจะเขียนกระทู้นี้ ตนคิดหนักเหมือนกันว่า จะเป็นการ "ชี้โพรงให้กะรอก" หรือไม่ แต่คิดแล้ว ในเมื่อ นิรันดร์ เองได้เสนอไปแล้ว และ คสช. ก็คงคิดได้ถึง "โพรง" หรือช่องทางรอดนี้ ถ้าพิจารณาสถานการณ์ขณะนี้ ที่ทั้ง ปชป. และ เพื่อไทย แสดงท่าทีจะไปโหวตโน การเขียนนี้ก็คงไม่มีผลอะไร และตนเห็นว่าควรเป็นประเด็นที่เราเข้าใจให้ถูกแต่แรกว่า ตามข้อกำหนดขณะนี้ ที่ว่า "เสียงข้างมาก" นั้น ของอะไรกันแน่
สมศักดิ์ กล่าวทิ้งหายด้วยว่า เอาเข้าจริงยังมองว่า ต่อให้สมมุติว่า คสช เอะใจและแก้ข้อกำหนดก่อน แต่ถ้าทั้งสองพรรคใหญ่ปฏิเสธร่วมสังฆกรรมกับ "ประชามติ" ที่ว่าจริงๆ คือเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนไม่ไปลงจริงๆ แล้วมีคนไปลงเพียง 5 ล้านหรือกว่านั้นไม่มาก และทุกคน "รับ" หมด รธน. ที่ "ผ่านประชามติ" ตามข้อกำหนดที่สมมุติว่าแก้ใหม่แล้วนั้น ก็จะไม่มีความชอบธรรมใดๆเหลืออยู่แล้ว มีคน "รับ" เพียง 5 ล้าน จากผู้มีสิทธิ์ 47 ล้าน อะไรแบบนั้น แต่จริงๆ แล้ว ประเด็นเรื่องโนโหวตเลยนั้น ปัญหาแต่ไหนแต่ไร อยู่ที่ว่า พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหน คงไม่เอา  แต่อย่างน้อย ในปัจจุบัน เราสามารถมั่นใจได้เลยว่า ถ้าไม่มีการแก้ข้อกำหนด และยังเป็นไปตามนี้ รธน. นี้ ไม่ผ่านถึงระดับ 23.5 ล้านแน่ ต่อให้คน โนโหวต หรือพากันไม่ไปลงเยอะๆ ก็ตาม ที่เหลือที่ไปลง ยังไงก็ไม่มีทางได้เสียงถึง อย่างที่เพิ่งเขียนไป ต่อให้ คนทีเคยเลือก ปชป. ไปลงรับเป็นส่วนใหญ่ ก็ไม่มีทางได้ถึง

MV สุดฮา ‘พลเมืองโต้กลับ’ ในเพลง "เอาไม่ลง" รณรงค์โหวตโน


4 ก.ย.2558 กลุ่มพลเมืองโต้กลับ เผยแพร่มิวสิควิดีโอประกอบเพลง "เอาไม่ลง" เนื้อเพลงถามยังจำได้ไหม "เอาก่อนค่อยแก้" พอ SAY YES แหม่ แก้ก็ไม่ได้ หลอกกันหน้าตายหรือเราจะลืม พร้อมประกาศด้วยว่า รณรงค์โหวตโน ประชามติ ไม่รับรัฐธรรมนูญรัฐประหาร อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญต้องอยู่ที่ประชาชน

พิพากษาประหาร 4 คนคดี M79 หน้าบิ๊กซี รับสารภาพเหลือจำคุกตลอดชีวิต


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 4 กันยายน 2558 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีนัดฟังคำพิพากษาคดีใช้เครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 ลงที่หน้าห้าง Big C ราชดำริ เมื่อ 17.00 น. วันที่ 23 ก.พ. 2557 ในขณะที่มีการชุมนุมของ กปปส. แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัส9 ราย บาดเจ็บ12ราย และทรัพย์สินเสียหาย คดีนี้มีจำเลย 4 คนคือ ชัชวาล(ชัช) ปราบบำรุง(จำเลยที่ 1), สมศรี(เยอะ) มาฤทธิ์ (จำเลยที่ 2), สุนทร(ทร) ผิผ่วนนอก(จำเลยที่ 3)และทวีชัย(วี) วิชาคำ(จำเลยที่ 4) ซึ่งตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2557 ซึ่งถูกควบคุมตัวโดยทหารอยู่ก่อนที่กองพันสารวัตรทหารที่ 11 และยึดรถกระบะ 3 คัน ศาลตัดสินประหารชีวิต แต่รับสารภาพชั้นสอบสวนลดโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยทั้ง 4 คน อุทธรณ์คำพิพากษา
อัยการฟ้องจำเลยทั้ง4ในข้อหา ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่า โดยไต่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน, มีและใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในครอบครอง, มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง, มีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง, พาอาวุธปืนและวัตถุระเบิดติดตัวไปในที่สาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์, ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง และฝ่าฝืนประกาศ ที่ห้ามนำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดออกนอกเคหสถานเข้าไปในเขตพื้นที่ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยทั้ง 4 ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในชั้นศาล
ศาลลงบัลลังก์เวลา 10.00น. และเริ่มอ่านคำพิพากษาว่าในคดีนี้มีประเด็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัย ประเด็นแรกโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยได้อ้างประกาศกรมสอบสวนคดีพิเศษเรื่อง มติคณะกรรมการคดีพิเศษให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และบางจังหวัดรวมถึงบุคคลอื่นที่มีส่วนในการกระทำความผิดด้วยและความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน แต่ในคดีนี้ผู้ก่อเหตุไม่ได้อยู่ในกลุ่มบุคคลตามประกาศ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดี
ประเด็นต่อมาจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี ได้เข้าเป็นหนึ่งในคณะ คสช. ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และเข้าร่วมการสอบสวนจำเลยที่ค่ายทหารเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2557 จำเลยทั้ง 4 รับสารภาพว่าได้ลงมือกระทำโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถนำขบวน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถปิดท้ายขบวน จำเลยที่ 3 เป็นผู้ซ่อมอาวุธ และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ยิง ที่จำเลยให้การว่าถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการสอบสวนนั้น พ.ต.อ.อัคราเดชได้ให้การว่าในระหว่างการสอบสวนไม่มีการทำร้ายร่างกาย และยืนยันว่าจำเลยให้การโดยสมัครใจ เนื่องจากพยานเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีความน่าเชื่อถือจึงรับฟังได้
พ.ต.ท.ยุต ทองอยู่ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษเจ้าของคดี เบิกความในรายละเอียดว่า จำเลยทั้ง4 คนได้ร่วมกันวางแผนก่อเหตุและจัดหาอาวุธโดยใช้บ้านของกรรณิการ์ วงศ์ตัว เป็นที่ประชุม ต่อมาวันที่ 23ก.พ.2557 ทั้งหมดได้เดินทางไปยังบริเวณที่เกิดเหตุแต่อาวุธปืนเกิดติดขัด จึงกลับไปให้สุนทรแก้ไขอาวุธเสร็จ เย็นจึงเดินทางออกไปที่จุดเกิดเหตุอีกครั้ง โดยชัชวาลขับรถโตโยต้าวีโก้สีบรอนซ์ทองเป็นรถนำทาง และคันที่สองวิเชียร สุขภิรมย์เป็นผู้ขับโดยมีกรรณิการ์นั่งข้างคนขับ ทวีชัยนั่งหลังคนขับและสุนทรนั่งอยู่หลังกรรณิการ์ สมศรีขับตามเป็นคันที่สาม โดยมีคนชื่อต๊ะนั่งข้าง จำเลยทั้ง 4 คน ไปถึงจุดเกิดเหตุในเวลา 17.00 น.เศษ ทวีชัยได้ใช้ M79 ยิงหนึ่งนัดไปที่บริเวณผู้ชุมนุมหน้าห้าง Big C แล้วเดินทางกลับที่บ้านของกรรณิการ์แล้วจึงแยกย้ายกันไป
พิจารณาแล้วจำเลยแต่ละคนได้เล่าขั้นตอนการก่อเหตุสอดคล้องกันจึงเชื่อว่าเป็นการให้การโดยสมัครใจ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครแต่งเรื่องได้สอดคล้องกันเช่นนี้ ข้อต่อสู้ของจำเลยเรื่องการทำร้ายร่างกายและลงชื่อรับสารภาพโดยไม่มีทนายเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ดี การรับฟังพยานบอกเล่าต้องทำด้วยความระมัดระวัง หรือมีเหตุผลอันหนักแน่น พยานโจทก์ยังมี พ.ต.ท.สุทัศน์ ไชยพรหม และ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ยาคุ้มภัย พยานตำรวจผู้เชี่ยวชาญเบิกความตรงกันว่า จากการตรวจสอบเชื่อว่าทิศทางการยิงมาจากแยกประตูน้ำ สอดคล้องกับที่จำเลยสารภาพว่ายิงจากแยกประตูน้ำ
ประเด็นรถยนต์ที่ขึ้นสะพานจากภาพกล้องวงปิดมีพยานศุภกร พุ่มชาวสวน พนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างแพลตตินั่ม ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบกล้องวงจรปิดและเป็นผู้มอบบันทึกภาพวิดีโอซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีเพื่อตรวจสอบได้ระบุตำแหน่งของกล้องวงจรปิดด้านหน้าห้างที่บันทึกภาพของรถยนต์ที่มุ่งขึ้นสะพานข้ามแยกประตูน้ำ ซึ่งสามารถบันทึกภาพรถกระบะสีทอง รถยี่ห้ออีซูซุ มิวเซเว่น สีดำ และ รถกระบะโตโยต้าสีดำ ซึ่งถูกบันทึกไว้ได้ในเวลา 16.51 น.
พ.อ.วิจารณ์ จดแตง เบิกความว่าจับกุมนายชัชวาลได้เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2557 ต่อมาวันที่ 9 ก.ค. ชัชวาลได้นำทหารไปตรวจค้นที่บริเวณหมู่บ้านพฤกษาB คลองสาม พบอาวุธ 9รายการ ซึ่งจากการตรวจสอบมีปืน M79 และกระสุนระเบิดขนาด 40มม.
ประเด็นที่การร้องเรียนของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นเอกสารบันทึกการประชุมซึ่งไม่มีการระบุถึงเรื่องของจำเลยทั้ง 4 มีเพียงทางราชทัณฑ์ตอบในที่ประชุมเกี่ยวกับการตรวจร่างกายก่อนเข้าเรือนจำว่ามีแพทย์และพยาบาลเรือนจำตรวจร่างกายในวันแรกที่ผู้ต้องขังเข้าเรือนจำ ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏข้อมูลจึงฟังไม่ได้ว่ามีการซ้อมทรมาน
ส่วนการอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์
จากข้อมูลที่ได้จากพยานหลักฐานและคำเบิกความของพยานทั้งหมดนี้จึงมีเหตุผลหนักแน่นเชื่อได้ว่าจำเลยทั้ง 4 กระทำความผิดจริงตามข้อหาตามที่กล่าวไปข้างต้น แต่เนื่องจากเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษในบทที่หนักที่สุด ศาลจึงตัดสินประหารชีวิตในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และพกพาอาวุธไปที่สาธารณะลง 2 ปี แต่การสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษ 1 ใน 3 ในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนลงโทษคงเหลือจำคุกตลอดชีวิต และพกพาอาวุธคงเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษแล้วศาลให้ลงโทษเพียงสถานเดียวคือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น และศาลสั่งให้ริบเครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 และเครื่องกระสุนไว้เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุส่วนรถยนต์ทั้ง 3 คันเป็นเพียงพาหนะที่ใช้อำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดจึงไม่สามารถริบได้ ให้คืนเจ้าของ
วรรณี น้อยมีซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุดังกล่าวทำให้ต้องทำการผ่าตัดรักษาและไม่สามารถทำงานได้นาน 3 ถึง 4 เดือน ได้เรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่ง ศาลจึงสั่งให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันชดใช้แก่ผู้เสียหายรวมเป็นเงิน 534,700 บาท ค่าธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้ง 4 คน ได้ปรึกษากับทนายตัดสินใจยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ตามกฎหมายกำหนดจะต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน

เอฟทีเอว็อทช์ ชำแหละ ม.183 ทำธรรมาภิบาลหนังสือสัญญาเละ


'กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง' เอฟทีเอ ว็อทช์วิจารณ์มาตรา 183 เรื่องการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งแก้จากมาตรา 190 ในรธน. 50 ระบุไม่อาจสร้างกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม ซ้ำอาจจำกัดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ  
4 ก.ย. 2558 กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) อ่านแถลงการณ์เรื่อง "มาตรา 183 กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง" ของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) วิจารณ์มาตรา 183 ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการแก้ไขมาตรา 190 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ว่า ไม่อาจสร้างกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญข้อหนึ่งในระบอบการเมืองประชาธิปไตย แต่อาจเป็นการจำกัดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชน ผู้เดือดร้อนต้องใช้ท้องถนนหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง
รายละเอียดมีดังนี้

มาตรา 183 กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง
โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กำลังจะลงมติตัดสินว่าจะเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2558 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) มีข้อสังเกตและไม่เห็นด้วยต่อมาตรา 183 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ดังนี้
1. มาตรา 183 ในร่างรัฐธรรมนูญนี้คือการเปลี่ยนแปลงจากบทบัญญัติในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจา สร้างความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และเป็นกลไกสร้างระบบการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้ผลจากการทำหนังสือสัญญาเกิดประโยชน์โดยรวมมากที่สุดต่อประเทศชาติ และเสริมประสิทธิภาพการเจรจาไปด้วย เช่น คณะเจรจายังสามารถใช้ “กรอบเจรจา” ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาได้อีกด้วย บทบัญญัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่อารยประเทศต่างๆ ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
2. สาระสำคัญของมาตรา 183 ในร่างรัฐธรรมนูญที่ต่างไปจากมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 คือ
  1. การขยายนิยามตามวรรคสอง หมายถึงหนังสือสัญญาเกี่ยวกับ การเปิดเขตการค้าเสรีหรือเปิดเสรีการลงทุนภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกหรือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ หรือที่เกี่ยวกับการใช้หรือแบ่งสรรผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินทางปัญญา หรือการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
     
  2. ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญาตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับทำหนังสือสัญญานั้น แต่แทนที่จะเป็นการชี้แจงกรอบการเจรจาและขอรับความเห็นชอบต่อรัฐสภา ในร่างรัฐธรรมนูญกลับระบุให้เสนอและขอความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาเท่านั้น
     
  3. มาตรา 183 ตามร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย แต่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าวเท่านั้น และยังกำหนดเงื่อนเวลาให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบผูกพันตามสัญญาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน
     
  4. ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรมนั้น มาตรา 183 ตามร่างรัฐธรรมนูญได้ตัดคำสำคัญที่เคยมีอยู่ในมาตรา 190 เมื่อปี 2550 ไป คือ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อประชาชนดังที่ปรากฎในร่างรัฐธรรมนูญ
3. ข้อสังเกตบางประการต่อมาตรา 183 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)
  1. การขยายนิยามวรรคสอง แม้ดูเหมือนจะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นจุดที่น่าห่วงที่สุด เพราะการขยายความวรรคสองที่ไปผูกหนังสือสัญญาทางเศรษฐกิจไว้กับกรอบองค์การการค้าโลก ทำให้หนังสือสัญญาระหว่างประเทศสำคัญๆหลายประเภทหลุดรอดจากการพิจารณาของรัฐสภาไป เช่น สัญญาเงินกู้จากองค์การการเงินระหว่างประเทศ อาทิ IMF, ADB, JIGA รวมทั้งสัญญาเงินกู้กับจีน ที่มักกำหนดเงื่อนไขให้ประเทศต้องปฏิบัติตาม และบางหนังสือสัญญาที่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในความตกลงพหุภาคีขององค์การการค้าโลกที่มาตรานี้ใช้อ้างอิงอีกแล้ว แต่มีอยู่ในความตกลงทวิภาคี และภูมิภาค ซึ่งอาจส่งผลไม่ต่างหรือร้ายแรงกว่าเอฟทีเอ นี่เป็นความพยายามของหน่วยราชการที่ผลักดันผ่านรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอดที่พยายามกันหนังสือสัญญาเงินกู้ออกและความตกลงด้านการลงทุนต่างๆจากการรับรู้ของสาธารณชน ทั้งนี้ ยังพบว่า นิยามวรรคสองในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ส่งมอบให้สปช.นั้น ชัดเจนว่า ล้าหลังกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมธิการยกร่างฯเผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นการเอาขอบเขตขององค์การการค้าโลก (WTO) ไปครอบเอาไว้ทั้งที่แทบจะไม่มีความตกลงใดๆเกิดขึ้นจากองค์กรนี้ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา
     
  2. การลดระดับการผ่านความเห็นชอบกรอบเจรจาจากรัฐสภาทั้งคณะ เหลือเพียงแค่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาที่แม้จะระบุให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มิได้เป็นสมาชิกรัฐสภารวมอยู่ด้วยนั้น ถือเป็นการถอยหลังในเชิงสาระสำคัญที่สุด เพราะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนั้น เมื่อทำแล้วจะมีผลผูกพันยาวนานมากกว่าชั่วอายุคน กรอบเจรจาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความรอบคอบในการเจรจาเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดและเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาได้อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรแค่ผ่านคณะกรรมาธิการต่างประเทศของรัฐสภาเท่านั้น แต่ยังจำเป็นที่จะต้องผ่านรัฐสภาด้วย
     
  3. การกำหนดให้คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย ยังไม่สามารถรับประกันการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่หลากหลายได้ ซึ่งในที่สุดอาจจะมีแค่ภาคเอกชน 3 สมาคมดังที่เคยเป็นมาก็ได้
     
  4. ประเด็นเงื่อนเวลาที่ระบุให้พิจารณากรอบการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าวเท่านั้นเป็นการกำหนดที่เร่งรัดอย่างมาก สุดท้ายคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภานี้ก็จะไม่ได้ต่างอะไรกับตรายาง เช่นเดียวกับที่กำหนดเงื่อนเวลาให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบผูกพันตามสัญญาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน ทั้งที่ในหลายประเทศให้เวลาพิจารณาในขั้นตอนนี้ถึง 6 เดือน
     
  5. การเยียวยาแก้ไขผลกระทบเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่ทราบกันว่าการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศโดยมากจะมีผู้ได้รับประโยชน์กระจุกตัว ขณะที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีความกระจายตัวอย่างมาก และบ่อยครั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งพึงได้รับความใส่ใจจากผู้กำหนดนโยบายเป็นพิเศษ แต่มาตรา 183 ตามร่างรัฐธรรมนูญได้ตัดคำสำคัญที่เคยมีอยู่ในมาตรา 190 เมื่อปี 2550 ออกไป ซึ่งในที่สุดอาจทำให้การเยียวยาแก้ไขผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ถูกละเลยในที่สุด
     
  6. และน่าเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าจะสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ไม่สามารถทำให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในหนังสือสัญญาตามวรรคสอง ทั้งที่เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญมากและเป็นกลไกสำคัญ
นับตั้งแต่ปี 2550 มีความพยายามแก้ไขมาตรา 190 หลายครั้ง เพื่อทำลายธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม สาระตามมาตรา 183 ในร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะเป็นหลักในการร่างกฎหมายประกอบนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) วิเคราะห์แล้วว่า ไม่อาจสร้างกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญข้อหนึ่งในระบอบการเมืองประชาธิปไตย แต่อาจเป็นการจำกัดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชน ผู้เดือดร้อนต้องใช้ท้องถนนหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง
หากสาระเช่นนี้ผ่านไปก็เท่ากับว่า สิ่งที่นัก(การเมืองด้อยคุณภาพ) กลุ่มทุนครอบชาติ และฝ่ายข้าราชการประจำล้าหลัง ที่เคยพยายามทำลายธรรมาภิบาลในการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศแต่ไม่เคยทำสำเร็จ รัฐประหารได้มาช่วยทำให้สำเร็จแล้ว
4 กันยายน 2558

มาตรา 183 ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ....
มาตรา 183 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
หนังสือสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญตามวรรคสอง หมายถึงหนังสือสัญญาเกี่ยวกับ การเปิดเขตการค้าเสรีหรือเปิดเสรีการลงทุนภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกหรือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ หรือที่เกี่ยวกับการใช้หรือแบ่งสรรผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินทางปัญญา หรือการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับทำหนังสือสัญญานั้น โดยให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญอันจะนำไปสู่การจัดทำหนังสือสัญญานั้นต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย ในการนี้คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วยและจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาหรือจะเข้าทำหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในหนังสือสัญญาตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาซึ่งครอบคลุมถึงการกำหนดประเภท กรอบการเจรจา ขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาตามวรรคสอง รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าว โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 158 มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้

มาตรา 190 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 190 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย
เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็วเหมาะสม และเป็นธรรม
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 154(1) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม

ศาลฎีกาฯยกฟ้อง นพดล ปัทมะ ไม่ผิดปมเอื้อกัมพูชาขึ้นทะเบียนพระวิหาร


ศาลฏีกาฯ ชี้ พยานหลักฐานฟังไม่ขึ้น จำเลยไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีเจตนาทำให้เกิดการทุจริต ยกฟ้อง ด้วยมติ 6:3 นพดล ปัทมะ ไม่มีความผิดตามมาตรา 157
4 ก.ย. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาในคดี ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ในกรณีที่ นพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน ปี 2551 สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย
ทั้งนี้ นพดลได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีความมั่นใจแค่ไหน นพดลได้หันมามองและพยักหน้าด้วยสีหน้าปกติ อมยิ้มเล็กน้อยและได้เดินเข้าไปยังศาล อย่างไรก็ตาม จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมส.ส. พื้นที่กรุงเทพฯเดินทางมาร่วมรับฟังและให้กำลังใจ
ล่าสุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษา ศาลมีมติ 6:3 ยกฟ้อง นพดล ปัทมะ ไม่มีความผิด ตามมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง โดยระบุว่า พยานหลักฐานฟังไม่ขึ้น จำเลยไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีเจตนาทำให้เกิดการทุจริต กรมสนธิสัญญา กรมแผนที่ทหารได้เป็นที่ปรึกษา การลงนามแถลงการณ์ร่วมไม่ได้มีผลต่อสิทธิเขตแดน การทวงคืนเขาพระวิหารในอนาคต ศาลจึงให้คืนหลักประกันจำเลย

ซีรีย์รัฐธรรมนูญ EP.2 ตอน เก้าอี้ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี


อ่านร่างรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติว่าด้วยการถอดถอนจากตำแหน่ง เก้าอี้ใครแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี จากการออกแบบโครงสร้างทางการเมือง ‘นายกฯ ครม. ส.ส. ส.ว.’ ปลิวง่ายที่สุด ขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสต์ฯ คงทนถาวร (อย่างน้อย 5 ปี)
ตลอดช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสวิพากษ์ วิจารณ์จำนวนมากว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ละเมิดหลักการประชาธิปไตยอย่างเด่นชัด ล่าสุดเมื่อวานนี้(3 ก.ย. 2258) ลิขิต ธีรเวคิน ได้แสดงความคิดเห็นในเวทีเสวนาวิชาการ วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 กับทิศทางการปฏิรูปการเมืองไทย: ทางออกหรือทางตัน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (อ่านข่าวที่นี่)
ลิขิต ระบุว่ามีอย่างน้อย 3 สิ่งที่ขัดหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย การเปิดช่องทางให้มีนายกรัฐมนตรี ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในยามวิกฤต การระบุให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 123 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง และการให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจเหนือรัฐบาล
ขณะเดียวกันวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขนี้จะเปิดเพยต่อสาธารณะว่าจะมีการสร้างอำนาจ 3 ระดับ โดยอำนาจระดับแรกคือ อำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีอำนาจน้อยที่สุด อำนาจในระดับที่เหนือขึ้นมาคือ อำนาจของกลุ่มองค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และอำนาจระดับสุดท้ายคืออำนาจคุมควบในยามวิกฤต ซึ่งปรากฎออกมาเป็นรูปธรรมคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ
อย่างไรก็ตามการระบุให้มีสถาบันทางการเมือง และการระบุอำนาจหน้าที่ของสถาบันทางการเมืองเหล่านั้นเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยทำให้เห็นโครงสร้างอำนาจที่กำลังถูกสร้างในร่างรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจละเลยไปได้คือการ มองหาทางลงจากเก้าอี้ของแต่ละตำแหน่งโดยการถอดถอน สิ่งนี้เองก็สะท้อนโครงสร้างอำนาจได้ไม่น้อยเช่นกัน
หากหยิบประเด็นโครงสร้างอำนาจ 3 ระดับจาก วรเจตน์ มาจัดวางเป็นเก้าอี้ 3 ตัว แล้วเปิดเข้าไปดูร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 3 หมวด 2 ส่วนที่ 3 การถอดแหน่งจากตำแหน่ง สิ่งพบคือ การถอดถอนเองก็มี 3 ระดับด้วยเช่นกันคือ ‘ง่าย-กึ่งยากกึ่งง่าย- ถอดไม่ได้เลย’
ใครมีสิทธิเสนอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญได้บ้าง (มาตรา 239)
1.ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของคะแนนเสียงทั้งหมดที่มีอยู่ของแต่ละสภา
             Ex1. มี ส.ส. 450 คน ต้องใช้คะแนนเสียง 112 เสียงขึ้นไป
             Ex2. มี ส.ว. 200 คน ต้องใช้คะแนนเสียง 50 เสียงขึ้นไป
2.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20,000 คน
เหตุแห่งการถอดถอด (มาตรา 238)
1.มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่
2.ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการ
3.ส่อว่ากระทำผิดต่อทำแหน่งในการยุติธรรม
4.ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติหรือรัฐธรรมนูญหรือกฏหมาย
5.ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตราฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ใครเป็นเป็นคนพิจารณาถอดถอนใคร มาตรา 238 + มาตรา 240
รัฐสภา ถอดถอน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. โดยใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เช่นมี ส.ส. 450 ส.ว. 200 ต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 225 เสียง
หมายเหตุ : ทั้งนี้มี ส.ว. มาจากการสรรหา 123 คน ซึ่งชุดแรกจะได้มาจากการดำเนินการสรรหา โดยคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ และยังไม่นับรวมฝ่ายค้านในรัฐสภา
วุฒิสภา ถอดถอน ประธานศาลฏีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด  หรืออัยการสูงสุด องค์อิสระตามรัฐธรรมนูญ ยกเว้น ป.ป.ช. ให้เป็นไปตามกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 เช่นมี ส.ว. 200 ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อบกว่า 120 เสียง
หมายเหตุ : ทั้งนี้มี ส.ว. มาจากการสรรหา 123 คน ทั้งนี้มี ส.ว. มาจากการสรรหา 123 คน ซึ่งชุดแรกจะได้มาจากการดำเนินการสรรหา โดยคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้
ทั้งนี้ไม่มีบทบัญญัติใดๆ ระบุถึงการถอดถอน คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติอยู่เลย
ผลจากการถูกถอดถอน  มาตรา 238
มาตรา 240 วรรคสามระบุว่า ผู้ถูกถอดถอนถูกตัดสิทธิ 5 ปี "แต่ถ้าเป็นกรณีที่ถูกถอดถอนเพราะเหตุที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ให้มีผลเป็นการตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่นตลอดไป"

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ (1): ‘อภิรัฐบาล’ ม.44 แปลงร่าง


ชวนอ่าน 'ร่างรัฐธรรมนูญ' กับ 'วรเจตน์ ภาคีรัตน์' นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนี้ว่าด้วยคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติและบทเฉพาะกาล
ดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญที่นี่
http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution/download/article/article_20150824155735.pdf
          “ถ้าเซ็ตระบบได้ มันจะไปยาวเลย ผมไม่คิดว่า 5 ปีนะ แต่จะสร้างสถาปนาระบอบการปกครองอันใหม่ขึ้นมาเลย” วรเจตน์กล่าวถึงโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญ ว่าไม่เพียงต้องการให้มี คปป.อยู่ 5 ปี
          “มาตรา 257 บทบัญญัติในภาคนี้ก่อให้เกิดความรับผิดชอบแก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และประชาชน ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนั้น
          ให้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ และข้อเสนอการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบ
          ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี หรือ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย"
          “มาตรา 258 บทบัญญัติในภาคนี้ให้สิ้นผลบังคับในวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ครบห้าปี เว้นแต่
          (1)ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน คณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เสนอให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้บทบัญญัติในภาคนี้คงใช้บังคับอยู่ต่อไป ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
          (2) รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้บทบัญญัติในภาคนี้คงใช้บังคับอยู่ต่อไป ซึ่งต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่รัฐสภามีมติ”
มีข้อสังเกตว่ามาตรา 258(2) นี้เพิ่มมาในร่างแก้ไข
          ผมอ่านดูแล้วมองว่าจะไม่ใช่แค่ 5 ปี พอครบ 5 ปี ก็มีแนวโน้มจะใช้ช่องทางมาตรา 258 (2) ขยายต่อ เพราะรัฐสภามีวุฒิสภาจากการสรรหาเข้าไปเท่าไหร่แล้ว บวกกับ ส.ส.อีกส่วนหนึ่งก็ลงมติได้แล้ว สังเกตดูเรื่องนี้ถ้าจะให้ใช้ต่อควรทำให้มันยาก ต้องทำแบบแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งใช้เสียง 2 ใน 3 แต่นี่ มาตรา 258(2) ทำให้มันง่าย ในขณะที่แก้รัฐธรรมนูญยากมากจะเป็นจะตาย แต่การขยายอันนี้ออกไปง่ายมาก เพราะใช้คะแนนเสียงกึ่งหนึ่งเท่านั้นเอง
          แค่เห็นตรงนี้ก็รู้แล้วว่าเป้าหมายอาจจะอยู่ยาวกว่า 5 ปี หรือไม่อย่างนั้นอาจใช้เป็นเครื่องมือต่อรองว่าต้องยอมแก้รัฐธรรมนูญ แต่แก้แบบที่ elite ที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญนี้ยังได้ประโยชน์ต่อไป ถ้าไม่แก้ เดี๋ยวโหวต เอ็งถูกล็อคต่อไปอีก 5 ปี
มาตรา 257 ที่บังคับรัฐบาลต้องทำตามคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ถ้าไม่ทำตามร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็เป็นส่วนที่เขียนเพิ่มขึ้นมาในฉบับแก้ไข
          ใช่ แล้วมันมีความรับผิดด้วย มันก่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อ ครม.และหน่วยงานของรัฐ
          คปป. กรรมการโดยตำแหน่งเห็นชัดเลยว่าเอาผู้บัญชาการเหล่าทัพกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้ามา อันนี้คือการวางสถานะของทหารสูงกว่าพลเรือน ประชาธิปไตยมีหลักอันหนึ่งคือหลักความเหนือกว่าของรัฐบาลพลเรือนที่มีอยู่เหนือทหาร The Supremacy of the Civilian Authority over Military Authority แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ ผบ.เหล่าทัพทั้งหมดเข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ซึ่งโดยสภาพเป็นอภิรัฐบาล เป็นสิ่งที่อยู่เหนือกว่าคณะรัฐมนตรีขึ้นไปอีก ดังนั้นระบบการบังคับบัญชาจึงกลับหัวกลับหางหมด คนที่เป็น รมว.กลาโหม ซึ่งตามสายการบังคับบัญชาเป็นผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพ ยังไม่อยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลย
          คณะกรรมการชุดนี้จะมี 22 คน แล้วเลือกประธานเข้ามาเป็นคนที่ 23 เพราะมาตรา 260 วรรคสองเขียนว่า“ให้กรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกผู้ซึ่งมีความเหมาะสมคนหนึ่งให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ”
          คำว่า “ผู้ซึ่งมีความเหมาะสมคนหนึ่ง” จำเป็นจะต้องเป็นคนใน 22 คนนี้หรือเปล่า จริงๆ ควรจะอยู่ในนี้ แต่มันเปิดช่องให้คนนอกก็ได้ เพราะถ้าต้องการให้เป็นคนในก็ต้องเขียนแบบศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นๆ ว่าให้ผู้ได้รับเลือกประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธาน
          เพราะฉะนั้นต้องไปถามคนร่างว่า คุณให้ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มาจากไหน คนในนี้หรือคนอื่น แล้วคุณสมบัติของประธาน...อันนี้นี่สุดๆ เลย “ผู้ซึ่งมีความเหมาะสม” (หัวเราะ) ผู้ซึ่งมีความเหมาะสมคืออะไร เขียนไว้ง่ายๆ ดี
          คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง ของคณะกรรมการชุดนี้เรายังไม่รู้เลยนะ เพราะมาตรา 260 วรรคสาม บอกว่าจะอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
          ส่วนอำนาจหน้าที่ เขาเขียนไว้ในมาตรา 261 วรรคสอง ว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ “ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน”  เป็นการเขียนเพื่อที่จะบอกว่า เขาไม่ใช่อภิรัฐบาลนะ แต่งานทั้งหมดที่ทำคืองานบริหารราชการแผ่นดิน มันจะมีอะไรตลกกว่านี้อีกในสามโลก (หัวเราะ)
          อำนาจตามมาตรา 261 ครอบคลุมทั้งหมด นี่แค่ในสถานการณ์ทั่วไป และอำนาจจะถูกทำให้มากขึ้นอีกตาม (11) “ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติ” เพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังเขียนเติมลงไปได้อีก ส่วนในวรรคสาม สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ถ้าดำเนินการไม่ได้ให้ชี้แจงเหตุผล และถ้าคณะกรรมการยืนยันด้วยมติ  3 ใน 4 ก็ต้องดำเนินการตามมติดังกล่าว
          คำถามคือ ถ้าคณะรัฐมนตรีดำเนินการไปตามมติดังกล่าวและเกิดความเสียหาย หรือเกิดความผิดพลาดขึ้น ใครรับผิดชอบ ความรับผิดชอบอยู่ที่ใคร อยู่ที่คณะรัฐมนตรี เช่นถ้าจะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ หรือรัฐมนตรี ไม่ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ แล้วถ้าเป็นปัญหาเสียหายด้านวินัยและการคลังใครจะรับผิดชอบ คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบเพราะทำตามคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ หรือ
          ในโครงสร้างนี้ มาตรา 262 ยังให้มีสภาดำเนินการปฏิรูปและปรองดอง ตัวสภามีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ บวกกับคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ และคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดอง พวกนี้จะมาประกอบกันเป็นสภา ซึ่งจะมีอำนาจเสนอ ร่าง พ.ร.บ. อันนี้เขาเลิกระบบเสนอกฎหมายกลับหัวกลับหางที่เราวิจารณ์คราวที่แล้วทิ้งไป  แบบเอากฎหมายไปเข้าที่วุฒิสภาก่อนนี่ไม่เอา เขาใช้ระบบไปที่สภาผู้แทนปกติ แต่จะไปบังคับที่กรรมาธิการวิสามัญ ให้มีสมาชิกสภาปฏิรูปและการปรองดองอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง 
          ส่วนที่สอง การปฏิรูปด้านต่างๆ มี 4 มาตรา มีกฎหมาย มีการศึกษา มีเศรษฐกิจ แต่ผมว่าไม่ใช่ 4 ด้านนะ อันนี้คือปัญหา ยกตัวอย่างมาตรา 265 ด้านการศึกษา สาธารณสุข ศิลปวัฒนธรรม คุ้มครองผู้บริโภค เหล่านี้ให้กรรมการชุดเดียวหรือ ดูแล้วมันเหมือนกับจะมีกรรมการมากกว่า 4 ด้าน มาตรา 266 โอเคด้านเศรษฐกิจ ส่วนมาตรา 267  ทรัพยากรธรรมชาติ ผังเมือง พลังงาน สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม  มันไม่ใช่ด้านเดียวแล้ว
เอาไว้ดูกฎหมายประกอบ เดี๋ยวค่อยเขียนอีกทีว่าจะมีกรรมการกี่ชุด (หัวเราะ)
          มาตรา 260 จะมีการตั้งหน่วยงานธุรการขึ้นมา แม้ว่าจะเป็นแค่ 5 ปี แต่ไม่ได้เอาหน่วยที่มีอยู่แล้วเป็นหน่วยสนับสนุน ตั้งหน่วยขึ้นใหม่ แล้วก็มีเงินงบประมาณ เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายจะสูงมากๆ พูดง่ายๆ เป็นการสร้างตำแหน่งขึ้นมา ให้คนเข้ามามีตำแหน่งพวกนี้

ม.280 = ม.44 แปลงร่าง

          “ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติตามมาตรา 260 ให้รอการแต่งตั้งประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการโดยตำแหน่งตามมาตรา 260(1) ไว้ก่อน จนกว่าจะได้มาซึ่งประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญนี้ และให้ถือว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติที่ได้แต่งตั้งขึ้นตามมาตรานี้ เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติตามมาตรา 260”
อ่านมาตรา 280 วรรคแรกนี้แปลว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะตั้งก่อนมีรัฐสภาจากการเลือกตั้งใช่ไหม
          ใช่ ถูกต้อง 19 คนนี้ตั้งขึ้นมาก่อน คือมาตรา 260 เขียนเอาไว้ว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คนให้รัฐสภาตั้ง แต่รัฐสภาจะยังไม่ได้ตั้ง เมื่อดูตามมาตรา 280 สนช.จะเป็นคนตั้งก่อน พอตั้งมาแล้วเมื่อบวกกับกรรมการโดยตำแหน่งก็เป็น 19 คน แล้วรอ 3 ตำแหน่งคือ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรี เพราะยังไม่มี
          คำถามคือชุดนี้ที่ตั้งครั้งแรกจะอยู่ไปกี่ปี จะอยู่จนกว่ารัฐสภาจะเลือก 11 คนที่เป็นอำนาจของรัฐสภา หรืออยู่ตลอดโดย ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่มีส่วนเลือกเลย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนวาระการดำรงตำแหน่ง เพียงบอกว่าหมวดนี้บังคับใช้ 5 ปี แต่ไม่ได้บอกวาระกรรมการ ถ้ากลับไปดูมาตรา 260 วาระการดำรงตำแหน่งจะอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบ กรรมาธิการยังไม่เขียนเรื่องวาระเลย แต่เขียนบทเฉพาะกาลให้ตั้งแล้ว
          ที่แน่ๆ คือตั้งโดย สนช. ตั้งก่อนมีรัฐสภา แม้จะเขียนว่า “ให้รอการแต่งตั้งไว้ก่อน” แต่เฉพาะ 3 ตำแหน่ง อ่านทั้งหมดก็คือตั้งตามบทเฉพาะกาล 280 แล้วให้ถือว่าเป็นกรรมการตาม 260 ฉะนั้น สภาก็จะไม่มีอำนาจตั้งกรรมการนี้อีก ถ้าดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระ ซึ่งเราไม่รู้ว่าวาระนานแค่ไหน
 

เหนืออำนาจตุลาการ

          มาตรา 280 วรรคสอง ภายใน 5 ปี ถ้ามีความจำเป็น คณะกรรมการก็จะมีอำนาจ การใช้อำนาจให้ปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุด คำถามคือประธาน 2 ศาลเกี่ยวอะไรด้วย เขาอยู่ฝ่ายตุลาการเอาเขามาให้ความเห็นทำไม อันนี้เหมือนตอนประธาน 3 ศาลปรึกษากันสมัยที่มีปัญหาเรื่องเลือกตั้งหลังยุบสภาโดยคุณทักษิณ เอาสิ่งที่ไม่ถูกตามระบบมาทำให้ถูก มันเป็นอย่างนี้หมดเลย
ทำไมไม่มีศาลฎีกา หรือเพราะในคณะกรรมการยุทธศาสตร์มีอดีตประธานศาลฎีกาอยู่แล้ว
          ถูกต้อง แต่การที่ไม่มีประธานศาลฎีกา ผมเข้าใจว่าเขาต้องการกันประธานศาลฎีกาออกไปมากกว่า ศาลเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรมอาจจะรู้สึกเยอะ ถ้าต้องทำอะไรเกี่ยวกับทางการเมือง 
          อำนาจอันหนึ่งที่สำคัญคือ อำนาจสั่งการ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ “ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร” เขียนแบบนี้เหมือนลวงว่าไม่มีอำนาจตุลาการ เคารพศาล แต่ในทางปฏิบัติมันไม่มีประโยชน์เพราะว่ามันตรวจสอบไม่ได้
          ประเด็นสำคัญคือเขาเขียนว่า “ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือมีกรณีที่เกิดความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ทั้งการดำเนินการตามปกติของสถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและคณะรัฐมนตรีไม่อาจดำเนินการเพื่อยุติกรณีดังกล่าวได้”
          แล้วเงื่อนไขที่จะใช้อำนาจได้ ใครจะตรวจสอบ ไม่มีเลย เงื่อนไขแบบนี้มันตรวจสอบไม่ได้อยู่ดี เหมือนกับมาตรา 44 แล้วเขายังไปเขียนวรรค 3 แบบนี้ “ให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และเป็นที่สุด” มันก็คือ เสก เนรมิตบางสิ่งบางอย่างไปในอนาคต เขายังไม่ได้ทำเลย แต่ถ้าเขาทำให้ถือว่าสิ่งที่ทำถูก ถูกอยู่เสมอ พูดง่ายๆ “กูไม่มีวันผิด” 
          ถ้าไม่มีคำว่า “ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และเป็นที่สุด” ศาลอาจเข้ามาตีความได้ เพราะในอดีต เคยมีกรณีที่เขียนว่า คำสั่งรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด มีการฟ้องร้องกัน ศาลก็บอกว่าเป็นที่สุดในทางบริหาร ไม่ตัดอำนาจศาลในการเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งศาลวินิจฉัยถูกต้องตามหลักกฎหมายมหาชน แต่เที่ยวนี้เขาเขียนลงไปในเนื้อ “ให้ถือว่า..ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และเป็นที่สุด”  ความสำคัญอยู่ตรงนี้ก็คือสิ่งที่ทำนั้น “ชอบ” และหาก “ชอบ” เสียแล้วถ้ามีใครไปฟ้องแล้ว ศาลจะมาทำอะไร มันชอบไปเสียแล้ว
          ถ้าเปรียบเทียบการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง
          กรณีการตราพระราชกำหนด สส.หรือ สว.อาจร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ว่าเงื่อนไขความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ฯลฯ เหล่านี้มีอยู่หรือไม่ เข้าเงื่อนไขหรือเปล่า
          ถ้ายกตัวอย่างที่ crash ที่สุดและชัดที่สุดคือ กรณี ครม.ทูลเกล้าฯ ตราพระราชกำหนด โดยอ้างว่ามีความจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ ป้องปัดภัยพิบัติ  ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แล้วมีคนบอกว่าไม่เข้าเงื่อนไขพวกนี้ ส.ส.หรือ สว. ร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ แล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ตามนั้นก็โมฆะเลย หมายความว่าพระราชกำหนดนั้นใช้บังคับไม่ได้มาตั้งแต่ต้น ส่วนกรณีประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน หรือ พรบ.ความมั่นคง ถ้ามีการใช้อำนาจตามประกาศเหล่านั้น ไปก่อให้บุคคลอื่นเสียหาย คนที่เสียหายยังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากศาลยุติธรรมได้
          แต่กรณีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯนี่เขียนเงื่อนไขเอาไว้กว้าง “ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติบูรณภาพแห่งดินแดน..” ผมถึงเรียกว่า อภิรัฐบาล ไง แล้วพอมีการใช้อำนาจตามนี้ ระบบตรวจสอบอะไรก็ไม่เหลือเลย ใครเสียหายก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปกำหนดเสียแล้วว่าให้คำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายและเป็นที่สุด
          ความจริงไม่ต้องเขียนอะไรพวกนี้ให้มันวุ่นวายหรอก เขียนว่าถ้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เห็นว่า “เหมาะสม” ก็สามารถใช้อำนาจได้ เขียนไปได้เลยเพราะมันตรวจสอบไม่ได้ ส่วนนี้ตัดระบบตรวจสอบ ตัดระบบการคุ้มครองสิทธิออกไปอย่างสิ้นเชิง
ถ้าเราเปรียบเทียบกับมาตรา 44 ก็เขียนเงื่อนไขการใช้อำนาจคล้ายกัน
          “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด
          อำนาจตามกฎหมายต้องมีองค์ประกอบครบถึงจะใช้อำนาจได้ ฉะนั้น ถ้าเป็นอำนาจข้าราชการธรรมดา ถ้าใช้อำนาจไม่ตรง องค์ประกอบไม่ครบก็คือไม่ชอบ ศาลต้องมาตรวจสอบการใช้อำนาจ แต่มาตรา 44 เขียนว่าใช้แล้วให้เป็นที่สุด ศาลไม่มีโอกาสดูเลยว่าองค์ประกอบ สาเหตุ เหตุการณ์ เป็นแบบนั้นแบบนี้จริงหรือเปล่า หรือ make ขึ้นมาเอง ที่จริงไม่ต้องเขียนให้ยืดยาวหรอก ก็เขียนว่าเมื่อปรากฏแก่หัวหน้า คสช.ว่าจำเป็น ก็ให้ใช้อำนาจไปเลย
          มาตรา 280 ก็เขียนเหมือนมาตรา 44 แค่ไปตัดคำว่า “ในทางตุลาการ” ออกหน่อยหนึ่ง แต่ผลมันเหมือนกัน ก็คือมาตรา 44 แปลงร่างกลายเป็นมาตรา 280 ในรัฐธรรมนูญ
 

อำนาจ คสช.ในบทเฉพาะกาล

มาตรา 278 วรรคสอง ที่ให้ คสช.ยังคงอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะพ้นตำแหน่งพร้อมคณะรัฐมนตรี ฉบับนี้เพิ่มข้อความว่า “ในระหว่างเวลาดังกล่าว ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติคงมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมด้วย” ข้อความนี้ไม่มีในร่างแรก และไม่มีในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550
          เขาอาจคิดว่าจะทำยังไงดีให้หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ให้ คสช. ยังมีอำนาจอยู่ต่อ ครั้นจะเขียนมาตรา 44 เอาไว้ก็โจ่งแจ้ง มาตรา 278 วรรคสองจึงเหมือนเขียนหลบให้ ซึ่งมันตลก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศใช้มาก็ต้องไปเลิกฉบับชั่วคราว เพราะองค์กรตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวต้องไปอยู่ในบทเฉพาะกาล มันก็ต้องไปว่ากันตามบทเฉพาะกาล แต่นี่บอกว่า ให้คงมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ซึ่งผมยังไม่ได้ดูว่ามันมีอำนาจอะไรบ้าง แต่น่าจะหมายถึงมาตรา 44
          จริงๆ ควรจะเขียนมาตรา 44 ลงในนี้ แต่การเอามาตรา 44 มาเขียนเลยมันน่าเกลียด นี่คือการเขียนแบบซ่อนว่าอำนาจที่มีให้มีอยู่ต่อไป เป็นการเขียนกฎหมายที่ค่อนข้างประหลาด คล้ายๆ กับรัฐธรรมนูญยกเลิก แต่อำนาจยังอยู่
รัฐธรรมนูญ 2550 กับร่างแรกเขียนเหมือนกันเป๊ะ แต่มาแก้ในร่างหลัง เขากลัวจะไม่มีอำนาจหรือเปล่า
          ถ้าไม่เขียนก็ไม่มีอำนาจอยู่แล้ว มาตรา 44 เป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่เข้ามาของเดิมมันต้องหมดไป
          ผมเข้าใจว่าเขาคงรู้สึกว่าพอรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว คสช.ยังอยู่ แล้วไปสู่ระบบเลือกตั้ง ถ้ามีปัญหาอะไรขึ้นมาจะทำให้ไม่ชะงัก แต่จริงๆ ถ้าตั้ง คปป. ขึ้นมาก็มีอำนาจตาม คปป. อยู่แล้ว
หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีจำนวน 285 มาตราให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อพิจารณาก่อนลงมติว่าจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ ในวันที่ 6 ก.ย. นี้