วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สมาคมนักข่าวเตรียมเคลื่อนไหวให้ยกเลิกประกาศ คสช.97 และ 103


สมาคมนักข่าวฯเตรียมเคลื่อนไหวให้ยกเลิกประกาศ คสช.97 และ 103 สัปดาห์หน้า เหตุจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ-ประชาชน จี้ทบทวนการใช้กฎอัยการศึกสร้างบรรยากาศแสดงความคิดเห็นร่วมของทุกฝ่าย ระบุกรณี "ณาตยา" ถือเป็นการคุกคามสื่ออย่างรุนแรง
 
15 พ.ย. 2557 นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การคุกคามและแทรกแซงสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชนของฝ่ายความมั่นคงว่า ฝ่่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอเรียกร้องรัฐบาลให้ทบทวนท่าทีที่แสดงออกต่อสื่อมวลชน ที่มีการคุกคามแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในทุกรูปแบบ เพราะประเทศอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อนำสังคมไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง การแแทรกแซงสื่อของฝ่ายความมั่นคงในรูปแบบต่างๆ ถือเป็นการปิดก้ั้นโอกาสอันดีที่จะทำให้เกิดบรรยากาศการเแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่แตกต่างของสังคมที่ีมีความหลากหลาย โดยกรณีของ น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ดำเนินรายการ และบรรณาธิการกลุ่มข่าววาระทางสังคม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถือเป็นการคุกคามและแทรกแซงสื่ออย่างรุนแรง แม้ประเทศไทยจะอยู่ในช่วงการประกาศกฎอัยการศึก แต่รัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 2557 ก็ได้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เคยมีอยู่แต่เดิมไว้ในมาตรา 4 จึงขอให้รัฐบาลกำชับไปยังฝ่ายความมั่นคงระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจในการดำเนินการต่างๆ ต่อการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์
 
นายมานพ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ น.ส.ณาตยาถือเป็นปรากฏการณ์ที่สื่อมวลชนไทยไม่อาจนิ่งเฉยได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยรวม การแสดงออกด้วยวาจาของนายทหารที่ส่งผ่านไปยัง น.ส.ณาตยาและผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จนเป็นเหตุให้ น.ส.ณาตยาต้องยุติการทำหน้าที่พิธีกรของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นบรรยากาศที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทยที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูป เพราะสื่อมวลชนเป็นพื้นที่สาธารณะสำคัญที่สุดในการระดมความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน แม้ฝ่ายความมั่นคงจะระบุว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้นายทหารคนดังกล่าวไปดำเนินการใดๆ กับ น.ส.ณาตยาและผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบดังกล่าวได้
 
ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงยุติการกระทำดัังกล่าว เพื่อสร้างบรรยากาศในการเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปสร้างประเทศไปสู่ความสันติสุข เพราะแม้จะมีความเห็นต่าง แต่ก็เป็นความเห็นที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคนต้องรับฟัง
 
อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อฯ กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนภาคสนาม ได้หารือกับเพืี่อนร่วมวิชาชีพว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนทุกแขนงและองค์กรวิชาชีพ เพื่อให้มีการยกเลิกประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะประกาศฉบับที่ 97 และ 103 ซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่ส่งผลกระทบไปยังสิทธิเสรีภาพโดยรวมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น โดยการยกเลิกประกาศของ คสช.สามารถดำเนินการได้โดยการเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.ต่อสภานิติบััญญัติแห่งชาติ หากรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดความเห็นที่หลากหลายของทุกฝ่่ายในประเทศ สามารถดำเนินการได้ในทันที ทั้งการเสนอร่าง พ.ร.บ.โดยคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยสื่อมวลชนภาคสนาม จะรวมตัวเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อส่งผ่านความคิดเห็นไปยังรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงถึงประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อฯ ยังเห็นว่ารัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงควรทบทวนการคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกโดยเร่งด่วน เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันอย่างมีเสรี เพื่อสร้างความเห็นร่วมกันของคนในประเทศ ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการนำประเทศกลับไปสู่ความสันติสุข
 

ไทยพีบีเอสย้ำรักษาอิสระกองบรรณาธิการ วอนหยุดคุกคามสื่อ

ไทยพีบีเอสออกแถลงการณ์เดินหน้าทำรายการ 'เสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนปฏิรูป' ต่อ ระบุรักษาอิสระของกองบรรณาธิการเพื่อ ปกป้องเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารอย่างรอบด้านของประชาชน เรียกร้องให้ยุติการแทรกแซงและคุกคามต่อการทำหน้าทีสื่อมวลชน
        
15 พ.ย. 2557 สำนักข่าวไทยพีบีเอส องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าตามทีคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้แถลงการณ์ยืนยันรักษาความเป็นอิสระในการทำหน้าทีของบุคลากรของสำนักข่าว พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ เวทีสาธารณะ "เสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนปฏิรูป" ตามหลักวิชาชีพและเจตนารมณ์สื่อสาธารณะของไทยพีบีเอส ไปแล้วนั้น
          
สำนักข่าวไทยพีบีเอส กังวลต่อสถานการณ์การแทรกแซงจนถึงขั้น กระทบต่อการทำงานของพิธีกร เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมือง ณ ปัจจุบัน ที่การปฏิรูปประเทศมีความสำคัญและถูกคาดหวังว่าจะเดินหน้าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน เราตระหนักว่าสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อที่ทำงานภายใต้พันธกิจ “องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย” หรือ ThaiPBS ต้องคงไว้ซึ่งเสรีภาพ และมีความรับผิดชอบต่อประชาชน โดยการนำเสนอข่าวจะต้องเป็นไปอย่างอิสระ ปราศจากการแทรกแซงใดๆ
          
สำนักข่าวไทยพีบีเอส ขอยืนยันแนวทางการทำงานดังนี้ 
 
1. เราจะพยายามจนถึงทีสุดในการรักษาไว้ซึ่ง ความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการเพื่อ ปกป้องเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารอย่างรอบด้านของประชาชน 
 
2. ในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศที่มีความสำคัญต่อสังคมไทย เราตระหนักดีถึงบทบาทของสื่อที่จะต้องทำหน้าที่เปิดพื้นที่รับฟัง และสื่อสารความคิดเห็นที่หลากหลายของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน เพื่อให้การปฏิรูปประเทศ ซึ่ง เป็นเรื่องสำคัญยังดำเนินไปอย่างยั่งยืน
          
3.เราขอเรียกร้องให้ยุติการแทรกแซงและคุกคามต่อการทำหน้าทีสื่อมวลชน ขอให้เชื่อมั่นว่า สื่อมวลชนมีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ และจะยืนหยัดทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ ด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างเป็นอิสระ ภายใต้หลักการเสรีภาพ และความรับผิดชอบ

ทหารคุมตัว ผู้จัดทอล์คโชว์-คอนเสิร์ต หลังยืนแถลงข่าวเงียบ

ทหารคุมตัว ผู้จัดทอล์คโชว์-คอนสิร์ต ผืนดินเรา ที่ดินใคร" หลังยืนแถลงข่าวเงียบที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ก่อนปล่อยตัวโดยไม่ตั้งข้อหาเมื่อเย็นที่ผ่านมา
 
16 พ.ย. 57 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้ควบคุมตัวนักกิจกรรมอย่างน้อยสี่ราย ผู้จัดงาน "ทอล์คโชว์-คอนสิร์ต ผืนดินเรา ที่ดินใคร" ที่ถูกทหารสั่งห้ามจัดเมื่อวันเสาร์ โดยในวันนี้ ผู้จัดงานได้วางแผนจะจัดแถลงข่าว "ไม่มีงานทอล์คโชว์ภายใต้ท๊อปบู๊ท" เมื่อทหารละเมิดเสรีภาพในการจัดทอล์คโชว์ "ผืนดินเราที่ดินใคร "ปิดประตูการปฏิรูป ซึ่วางแผนจะแถลงถึงเบื้องหลังการยกเลิกงานแบบคำต่อคำ 
ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (ห้องประชุมชั้นใต้ดิน)  แต่ปรากฎว่ามีทหารและตำรวจมาควบคุมความสงบเรียบร้อยที่อนุสรณ์สถานตั้งแต่เช้า เมื่อใกล้ถึงเวลางาน พวกเขาจึงใช้วิธี ยืนถือใบแถลงข่าว และเอาเทปดำปิดปากของตัวเองแทน ต่อหน้าสื่อมวลชน 
 
ต่อมาเวลาประมาณ 14น. ตำรวจได้ควบคุมนักกิจกรรม อย่างน้อยสี่คน ไปที่ สน.ชนะสงคราม โดยมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตามไปยังสน.เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย
 
อนึ่ง  "ทอล์คโชว์-คอนสิร์ต ผืนดินเรา ที่ดินใคร" ซึ่งกำหนดว่าจะจัดที่ สมาคมฝรั่งเศส แยกวิทยุ ลุมพินี ถูกทหารกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ระงับไม่ให้จัด ก่อนหน้านี้ ทหารได้สั่งให้ผู้จัดงานชี้แจง รายละเอียดการจัดงาน จนผู้จัดรู้สึกมึนงง เนื่องจากงานดังกล่าวเป็นกิจกรรมในลักษณะกึ่งบันเทิงที่มีความสนุก ผ่อนคลายด้วยบทเพลงสอดแทรกอยู่ตลอดงาน ไม่ใช่กิจกรรมเสวนาทางการเมือง 
 
งาน "ทอล์คโชว์-คอนสิร์ต ผืนดินเรา ที่ดินใคร" เป็นการรวม 5 บุคคล จาก 5 วงการมาทอล์คโชว์และแสดงดนตรีในวันอาทิตย์ที่ 16 พ.ย. ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนและสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก เพราะมีแขกรับเชิญคนดังจากหลายวง การเช่น อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิต คุณตุล อพาร์ทเมนท์คุณป้า คุณประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ที่กำลังจัดกิจกรรมเดินก้าวแลกเพื่อปฏิรูปที่ดิน อยู่ที่ จ.เชียงใหม่ และคุณพฤ โอ่โดเชา ชาวปกากญอ โดยคณะทำงานรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับเป็นผู้รับผิดชอบในการงานดังกล่าว 
 
 
 
เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขา' รายงานภายหลังด้วยว่าเวลา 16.30 น. ตัวแทนคณะรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวแล้ว ภายหลังถูกควบคุมตัวจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มาพูดคุยกับทหารและตำรวจที่สน.ชนะสงคราม ตั้งแต่ 14.00 น. ภายหลังนำสก๊อตเทปปิดปาก แจกเอกสารกรณีไม่ได้จัดงานทอล์คโชว์ ทั้งนี้ทั้งหมดไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ

เหยื่อ112โผล่ โวยโดนแฮ็กเฟซบุ๊ก คาดถูกกลั่นแกล้ง ตร.เตรียมนำส่ง บุรินทร์ สอบปากคำ

มติชนรายงานว่า เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 16 พ.ย. ที่กองบังคับการปราบปราม พ.ต.อ.นิรันดร์ นามสุวรรณ ผกก.2 บก.ป. พ.ต.ท.ต่อศักดิ์ ปานกลิ่นพุฒ สว.กก.2 บก.ป. ด.ต.เกียรติเฉลิม รักษ์งาม ผบ.หมู่ กก.2 บก.ป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร ได้เชิญตัว น.ส.จารุวรรณ (ไม่ระบุนามสกุล) อายุ 26 ปี ผู้ที่ถูกกล่าวหา โพสต์หมิ่นเบื้องสูง มาสอบสวนที่กองบังคับการปราบปราม โดยเชิญตัวมาจากบ้านพัก จ.ราชบุรี  โดย น.ส.จารุวรรณ ให้การว่า ข้อความดังกล่าวตนไม่ได้เป็นผู้ที่โพสต์ข้อความหมิ่นฯ แต่อย่างใด แต่ตนคิดว่าอาจจะถูกเพื่อนของแฟนหนุ่มโพสต์เพื่อเป็นการกลั่นแกล้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้โทรศัพท์ของตนถูกแฟนหนุ่มยึดไปก่อนที่จะตกไปถึงมือของเพื่อนแฟนที่ชื่อว่า “ชาติ” ต่อมานายชาติได้รับสารภาพกับว่าแอบชอบตนอยู่ แต่ตนไม่สนใจ จึงถูกนายชาติกลั่นแกล้งมาตลอด
โดยมีการแฮ็กเฟซบุ๊กเปลี่ยนชื่อและรหัส อีกทั้งยังมีการโพสต์กลั่นแกล้งในทางเสียหายอีกหลายข้อความ เช่น ข้อความลักษณะขายบริการทางเพศ โพสต์ด่าเพื่อนในเฟซบุ๊กที่เป็นแฟนตำรวจเพื่อให้ตนมีเรื่องบาดหมาง อย่างไรก็ตาม ในส่วนข้อความที่หมิ่นฯ ตนยังไม่เคนเห็นแต่อย่างใด เพราะไม่สามารถเข้าเฟซบุ๊กตนเองได้ เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่จะนำตัวส่งให้ทาง พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ (พล.ม.2) เพื่อสอบปากคำเพื่มเติม และหากพบว่ามีการกระทำผิดจริงก็จะส่งให้พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ผลกระทบเผาโรงเรียนชายแดนใต้ จนท.ลงพื้นที่ยิบ ชาวบ้านเร่งเรียนรู้สิทธิขั้นพื้นฐาน

ชาวบ้านทุ่งยางแดงกังวลหนัก รีบหาความรู้เรื่องกฎหมาย เหตุเจ้าหน้าที่ลงปฏิบัติการในพื้นที่ขนานใหญ่หลังกรณีเผา 6 โรงเรียน นักสิทธิชี้มีญาติผู้ถูกคุมตัวร้องเรื่องซ้อมทรมานอีก แถมการคุมตัวส่อเค้าจะไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดิม
นส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พย.ที่ผ่านมา ตนพร้อมทีมงานได้เดินทางไปจัดอบรมความรู้เรื่องกฎหมายให้กับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งประมาณ 100 คนที่ทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี จากการอบรมพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ใกล้บริเวณที่มีเหตุการณ์การเผาโรงเรียนหกโรงในเขตอำเภอมายอและอำเภอทุ่งยางแดง ปัตตานี เมื่อ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องการให้มีการจัดอบรมเสริมความรู้ในเรื่องกฎหมาย เนื่องจากหลังจากที่เกิดเหตุการณ์แล้วต่างพบว่า มีปัญหาเรื่องของการที่จะต้องตอบคำถามทางเจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติการกวาดล้างค่อนข้างมาก
นส.พรเพ็ญระบุว่า สิ่งที่บรรดาชาวบ้านในย่านดังกล่าวอยากเสริมความรู้เช่น ในการตอบคำถามเจ้าหน้าที่ และในการที่อยู่ในพื้นที่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นั้น จะต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างไรจึงจะรักษาสิทธิของตนเองได้ด้วย เช่นในยามที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้าน มีคำถามหลายประการ เช่นจะตรวจค้นได้ในกรณีใดบ้าง จะนำสิ่งของต่างๆออกไปได้หรือไม่ เมื่อมีบุคคลในบ้านถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปจะสามารถติดตามตัวพวกเขาได้จากที่ไหน อย่างไร การเข้าเยี่ยมคนที่ถูกนำตัวไปจะทำได้อย่างไร นานแค่ไหน และอื่นๆอีกมาก โดยเฉพาะในยามที่การทำงานของเจ้าหน้าที่บกพร่องไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย ชาวบ้านจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง
หลังจากที่มีการอบรมที่มีเจ้าหน้าที่ไปร่วมรับฟังแล้ว ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่วนใหญ่คำถามของชาวบ้านต่อเจ้าหน้าที่ เป็นเรื่องที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ให้ความชัดเจนในเรื่องของระเบียบต่างๆ เช่นในเรื่องของการควบคุมตัว เวลาในการควบคุมตัว การเข้าเยี่ยมจะทำได้แค่ไหนอย่างไร ซึ่งดูเหมือนว่า แม้เมื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันไปแล้ว ก็ยังไม่ชัดเจนนัก
ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า จากประสบการณ์ของชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ญาติถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปสอบปากคำพบว่า ในช่วงสามวันแรกของการที่ต้องไปให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่นั้น พวกเขาได้เยี่ยมก็จริงแต่เป็นเวลาที่สั้นมากกล่าวคือเพียงสองสามนาทีเท่านั้น และจากการ เท่าที่ได้ข้อมูลจากชาวบ้านนั้น มีผู้ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปสอบปากคำห้าคน
นส.พรเพ็ญบอกเล่าต่อไปว่า ในบรรดาผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ต่อไปนั้น หนึ่งในนั้นซึ่งถูกควบคุมตัวตั้งแต่ 14 ตค.จนถึง 15 พย.ถูกควบคุมตัวไว้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหารแห่งเดียว ซึ่งตนคาดว่า เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกซึ่งให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลได้เจ็ดวัน และโดยทั่วไปจะต้องมีการขอออกหมายภายใต้พรก.บริหารราชการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินและย้ายผู้ถูกควบคุมตัวไปไว้ยังสถานที่อื่น ซึ่งก่อนหน้านี้มักจะใช้สถานที่ของตำรวจซึ่งเป็นสถานที่ที่ระบุไว้ว่าจะใช้เป็นที่ควบคุมตัว และก่อนหน้านี้ มาตรฐานในการควบคุมตัวคือมีการตรวจรับตัวบุคคล ตรวจร่างกายเพื่อให้ชัดเจนว่าไม่ได้ถูกทำร้ายมาก่อน เป็นต้น แต่สำหรับบุคคลดังกล่าวนี้ยังคงถูกควบคุมตัวไว้ที่ค่ายอิงคยุทธฯต่อไป ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่า ได้มีการกำหนดเพิ่มเติมให้สถานที่กล่าวคือค่ายอิงคยุทธฯ ให้เป็นสถานที่ที่จะใช้เพื่อควบคุมตัวบุคคลในการสอบปากคำได้หรือไม่ เพราะในข้อมูลที่รับรู้หลังสุด ยังไม่มีชื่อของค่ายอิงคยุทธฯอยู่ในบัญชีสถานที่ดังว่า
นอกจากนั้นนส.พรเพ็ญกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวรายหนึ่ง ได้ยื่นจดหมายร้องเรียนขอให้ตรวจสอบว่ามีการซ้อมและทำร้ายร่างกายบุคคลในครอบครัวที่ถูกนำตัวไปสอบปากคำหรือไม่ โดยญาติของผู้ถูกควบคุมตัวตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการทำร้ายร่างกายบุคคลในครอบครัวหรือไม่ระหว่างการสอบปากคำที่ค่ายอิงคยุทฯ เพราะพบเห็นร่องรอยที่หน้า มีสภาพอิดโรย มีอาการซึมเศร้าและร้องไห้ในวันแรกๆ เต็มไปด้วยความหวาดกลัว และระหว่างการเข้าเยี่ยมไม่ได้โอกาสพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว  ซึ่งเรื่องนี้จะมีการยื่นคำร้องต่อประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ที่จะลงพื้นที่ในวันจันทร์ที่ 17 พย.
ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวตบท้ายว่า คดีการเผาโรงเรียนที่ทุ่งยางแดงนับว่าเป็นกรณีที่หลายฝ่ายติดตามอยากเห็นผล แต่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำคดีด้วยความรอบคอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้มีการคลี่คลายความขัดแย้งที่ยั่งยืนมากกว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดความรุนแรงปะทุหลายกรณีจนยากจะแยกแยะได้ว่า เป็นการจงใจสร้างเหตุการณ์ใหม่หรือว่าเป็นการแก้แค้นกันไปมา ดังเช่นในวันที่ 15 พย.ก็มีการสังหารคนพุทธหลายรายในสามจังหวัด ตนจึงอยากเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีคลี่คลายปัญหาที่โปร่งใสเพื่อไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม รวมทั้งหาวิธีการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยให้กับคนพุทธในพื้นที่ให้มากขึ้นในขณะเดียวกัน 

คนทำสื่อวิจารณ์คลิปจัดฉาก 'ด.ช.ฮีโร่ชาวซีเรีย' ไร้ความรับผิดชอบ



ก่อนหน้านี้วิดีโอเด็กชายในซีเรียแกล้งตายก่อนจะวิ่งฝ่ากระสุนสไนเปอร์ไปช่วยเด็กหญิงซึ่งเป็นที่ฮือฮานั้นถูกเปิดเผยว่าเป็นวีดิโอทำปลอมเพื่อกระตุ้นการถกเถียงและดูปฏิกิริยาของสื่อ แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าการทำวิดีโอปลอมนี้เป็นสิ่งที่ไร้ความรับผิดชอบและทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อจริงไปด้วย
17 พ.ย. 2557 หลังจากที่วิดีโอของเด็กผู้ชายที่พยายามหลบเลี่ยงกระสุนเพื่อไปช่วยเด็กผู้หญิงจากสไนเปอร์ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในประเทศซีเรียถูกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ อย่างแพร่หลาย แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 พ.ย.) มีการเปิดเผยว่าวิดีโอดังกล่าวเป็นการสร้างเหตุการณ์สมมติขึ้น ไม่ใช่การถ่ายได้จากเหตุการณ์จริง และทางสำนักข่าวโกลบอลโพสต์ก็วิจารณ์ว่าการเผยแพร่วิดีโอเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไร้ความรับผิดชอบและเป็นอันตราย
วิดีโอดังกล่าวนี้ถ่ายโดยคนทำภาพยนตร์ชาวนอร์เวย์ที่ชื่อ ลาร์ส เคล์ฟเบิร์ก โดยที่มีการจัดฉาก มีการใช้นักแสดงและทีมงานช่วยถ่ายทำ เคลฟเบิร์กกล่าวให้สัมภาษณ์แก่บีบีซีอ้างว่าที่เขาเผยแพร่โดยปกปิดที่มาเพราะต้องการให้ผู้คนหันมาสนใจและเกิดการถกเถียงขึ้นโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเด็กและสงคราม
"พวกเรายังต้องการทราบอีกว่าสื่อจะมีปฏิกิริยาต่อวิดีโอนี้อย่างไร" เคล์ฟเบิร์กกล่าว
อย่างไรก็ตามโกลบอลโพสต์ได้วิจารณ์การกระทำของเคล์ฟเบิร์กว่าเป็นการก่อกวนการสืบสวนสิ่งที่เกิดขึ้นในซีเรีย เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบว่าวิดีโอเหตุการณ์ในซีเรียเป็นเหตุการณ์จริงหรือไม่ ซึ่งในซีเรียมักจะมีนักกิจกรรมและมือสมัครเล่นคอยถ่ายทำภาพหรือวิดีโอในลักษณะนี้ไว้ได้เนื่องจากพวกเขาสามารถเดินทางไปในที่ๆ นักข่าวไม่สามารถเข้าถึงได้ ในบางครั้งสื่อเหล่านี้สามารถทำมาใช้ในการช่วยสืบสวนอาชญากรรมในสงครามซีเรีย โดยรัฐบาลสหรัฐฯ และอังกฤษต่างก็เคยอาศัยวีดิโอของมือสมัครเล่นในการสืบสวนเรื่องการโจมตีด้วยอาวุธเคมีในกรุงดามัสกัสในปีที่แล้ว
ทางด้านองค์กรสื่อก็มักจะมีปัญหาในด้านข้อจำกัดของข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นซีเรียทำให้ต้องอาศัยเนื้อหาต่างๆ ของมือสมัครเล่นในการรายงานเรื่องการสังหารหมู่หรือการกระทำโหดร้ายอื่นๆ แต่ก็มีวิดีโอทำปลอมเกิดขึ้นจำนวนมากซึ่งวิดีโอทำปลอมเหล่านี้มักจะมาจากแรงจูงใจที่ชั่วร้าย ไม่ใช่แรงจูงใจในแง่ดีแบบนักทำภาพยนตร์ชาวนอร์เวย์
โกลบอลโพสต์ระบุถึงอีกปัญหาหนึ่งคือด้านความเชื่อมั่นของผู้รับสาร ทุกครั้งที่มีการเปิดเผยว่าวิดีโอมีการทำปลอมความเชื่อมั่นของผู้รับข่าวเกี่ยวกับซีเรียจะลดลงทั้งหมด กลายเป็นประโยชน์กับกลุ่มที่ต้องการปกปิดอาชญากรรมที่แท้จริงซึ่งเกิดขึ้นในซีเรียทุกวัน
ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้ชาวซีเรียจำนวนมากมีปฏิกิริยาต่อโครงการของเคล์ฟเบิร์กในแง่ลบ เช่นคนพลัดถิ่นจากเมืองฮอมที่ชื่ออะบูวด์ ดันดาจิ กล่าวว่าการกระทำของเคล์ฟเบิร์กทำให้ผู้รายงานมือสมัครเล่นที่ใช้โทรศัพท์มือถือทำงานได้ยากขึ้น
ทางด้านนักข่าวจากอังกฤษซึ่งอาศัยสื่อจากซีเรียในการรายงานข่าวอย่างอิเลียต ฮิกกินส์ กล่าวว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเล่นกับสื่อของคนทำภาพยนตร์เช่นนี้เป็นผลกระทบในแง่ลบ ฮิกกินส์วิจารณ์ว่าการกระทำของเคล์ฟเบิร์กเป็นสิ่งที่ขาดความรับผิดชอบอย่างมาก ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในการถกเถียงเรื่องความรุนแรงในซีเรีย และยิ่งทำให้เกิดความไม่เชื่อถือในสื่อที่มาจากเขตที่มีการสู้รบ
"มีสื่อภาพเคลื่อนไหวจำนวนมากพอจากซีเรียจนไม่จำเป็นต้องสร้างสถานการณ์ปลอมๆ ขึ้นมาเพื่อต้องการอยากสร้างประโยชน์ให้กับข้อถกเถียง คนทำภาพยนตร์ไม่ได้เข้าใจหรือรับรู้ถึงความซับซ้อนของเหตุการณ์เลย" เคล์ฟเบิร์กกล่าว
เรื่องที่เด็กถูกสังหารในซีเรียเป็นความจริงที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดนกลุ่มนักวิจัยของออกฟอร์ดระบุในงานวิจัยว่ามีเด็กชาวซีเรียอายุต่ำกว่า 17 ปีถูกสังหารด้วยอาวุธสไนเปอร์ราวเกือบ 400 คน ในช่วงเดือน มี.ค. 2554 ถึง ส.ค. 2556

กป.อพช.ใต้ จี้ยกเลิกอัยการศึก หยุดปิดกั้น-คุกคามการแสดงออก ปชช.



17 พ.ย. 2557 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ยกเลิกกฎอัยการศึก หยุดปิดกั้น คุกคาม การแสดงออกของประชาชน ชี้หลังยึดอำนาจโดย คสช. และมีกระบวนการต่างๆ เพื่อนำสู่การปฏิรูปประเทศนั้น ยังพบการออกประกาศ ออกคำสั่ง และการดำเนินนโยบายในนามของคณะรัฐบาลชั่วคราว ที่สร้างความเดือดร้อน และผลกระทบให้กับประชาชนระดับทั่วไปทั้งประเทศ
รายละเอียดมีดังนี้
แถลงการณ์
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้
เรื่อง ยกเลิกกฎอัยการศึก หยุดปิดกั้น คุกคาม การแสดงออกของประชาชน


หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ได้มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดตั้งรัฐบาล จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และมีกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยเหตุผล เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากฝ่ายต่างๆ และเพื่อต้องการให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไป มีวาระแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย นำไปสู่ความผาสุกของประชาชนร่วมกัน
        
แต่...ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา การออกประกาศ ออกคำสั่ง และการดำเนินนโยบายในนามของคณะรัฐบาลชั่วคราว กลับสร้างความเดือดร้อน และผลกระทบให้กับประชาชนระดับทั่วไปทั้งประเทศ มีการ
ใช้กำลังทหาร คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แผนแม่บทการจัดการป่าไม้แห่งชาติ และกฎอัยการศึก เข้ารุกไล่ ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และตัดโค่นผลอาสิน ของประชาชนคนเล็กคนน้อย
ใช้กำลังทหาร และอำนาจในการออกคำสั่ง ลดกระบวนการ และขั้นตอนสำคัญในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ทั้งที่กระบวนการต่างๆ เป็นผลดีกับประชาชน
ใช้กำลังทหาร และอำนาจกฎอัยการศึก ข่มขู่ จับกุมประชาชน นักวิชาการ ที่แสดงความเห็นคัดค้าน การเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่เสนอให้มีการพัฒนาโครงสร้างการจัดการผลประโยชน์พลังงานใหม่
ใช้อำนาจในนามของรัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ภายใต้แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ เช่น การพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ การสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือบ้านสวนกงเชื่อมสองฝั่งทะเลอ่าวไทยอันดามัน ที่จังหวัดสงขลา-สตูล และใช้อำนาจทหารตามกฎอัยการศึก ละเมิดสิทธิประชาชนที่จะมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น
ใช้กำลังทหารและอำนาจกฎอัยการศึก ข่มขู่ คุกคาม ขัดขวาง ประชาชนไม่ให้มีส่วนร่วมในการคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้
ใช้อำนาจในนามของรัฐบาลออกแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการประมง โดยไม่สนใจฟังเสียงของชาวประมงขนาดเล็ก แอบสอดไส้นิรโทษกรรมเรือประมงเถื่อน ตอบสนองความต้องการของนายทุนประมงเรือใหญ่ ไม่สนใจการรักษาฐานทรัพยากรทางทะเลให้ยั่งยืนในระยะยาว
ใช้กำลังทหาร และกฎอัยการศึก ปิดกั้น คุกคาม การแสดงความคิดเห็นประชาชน การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เพื่อที่จะจำกัดการรับรู้ข่าวสารสาธารณะของประชาชน เช่นกรณีของ นางสาวณาตยา แวววีระคุปต์  ผู้ดำเนินรายการเวทีสาธารณะ และเสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) มีความเห็นว่าการใช้กฎอัยการศึกในปัจจุบัน ได้ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน และผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารราชการแผ่นดินในมิติต่างๆ ใช้อำนาจนี้เพื่อผลักดันเดินหน้าโครงการ กิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาล ที่อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ โดยไม่ยอมรับฟังเสียงสะท้อนใดๆ ทั้งสิ้นไม่ใช่วิสัยของประเทศที่พัฒนาแล้ว และถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้
เราเห็นว่าการประกาศกฎอัยการศึกในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง จนถึงขณะนี้ ได้มีการจัดตั้งรัฐบาล และมีกลไกต่างๆ ในการดำเนินการตามวาระต่างๆ เพียงพอแล้ว ในโอกาสที่รัฐบาลจะสร้างบรรยากาศ การปฏิรูปประเทศ จึงควรสร้างพื้นที่ และเปิดกว้างให้มีการรับฟังแนวคิด ข้อเสนอแนะ การสะท้อนถึงความเดือดร้อนที่แท้จริงของชาวบ้านและประชาชนทั่วไปในทุกรูปแบบ
เราจึงขอเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาล ยกเลิกกฎอัยการศึกในทุกพื้นที่ เพื่อแสดงถึงความจริงใจในการบริหารประเทศนี้ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป


๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

ศาลอุทธรณ์ลดโทษจำคุก 3-8 เดือน นักรบศรีวิชัยบุก NBT

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุก 3-8 เดือน 85 นักรบศรีวิชัย บุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที่ ปี 51 ส่วนจำเลยที่เป็นเยาวชน ศาลปรานีให้รอลงอาญา ด้านทนายความยื่นหลักทรัพย์คนละ 2 แสนขอประกันตัว ล่าสุดได้ประกันตัวแล้ว
จากคดีหมายเลขดำ อ.4486/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธเนศร์ คำชุม กับพวก รวม 85 คนซึ่งเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัยของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นจำเลยในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไปหรือซ่อนตัวในเคหสถาน หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธ,ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92, 210, 215, 309, 358, 364, 365 และ 371 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2535
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 22 - 25 ส.ค. 2551 จำเลยทั้ง 82 คน กับพวกอีก 3 คน ซึ่งเป็นเยาวชน ร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานี NBT พร้อมพกอาวุธจำนวนมาก และร่วมกันทำลายทรัพย์สิน รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นกว่า 6 แสนบาท ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของทางราชการ
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 ศาลชั้นต้นได้ พิพากษาจำคุกนายธเนศร์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ส่วนที่เหลือจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี 6 เดือน โดยศาลให้รอลงอาญาจำเลยที่เป็นเยาวชน 6 คน
วันนี้(17 พ.ย.) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ศาลอุทธรณ์ พิพากษา แก้ว่า จำเลยที่ 1-41, 43-85 มีความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและข่มขู่จะใช้กำลังประทุษร้าย ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 30 ,47 และ 81 ขณะก่อเหตุอายุไม่เกิน 20 ปี ลงโทษจำคุก 8 เดือน และจำเลยที่ 83-85 ขณะเกิดเหตุอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้จำคุกคนละ 6 เดือน และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดฐานพกพาอาวุธปืน ไปในที่สาธารณะ และมีเครื่องวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาตลงโทษจำคุก 4 เดือน จำเลยที่ 1-41, 43-85 ให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ยกเว้นจำเลยที่ 1 รวมโทษแล้วคงจำคุกไว้ 8 เดือน จำเลยที่ 30 ,47 และ 81 ลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 6 เดือน และจำเลยที่ 83-85 ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 เดือน โดยจำเลยที่ 30, 47, 81, 83-85 ขณะกระทำผิดเป็นเยาวชนจึงให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษ ยกฟ้องฐานซ่องโจร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ภายหลัง นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความจำเลย กล่าวว่า ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดและกรมธรรม์ประกันชีวิตขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมดคนละ 2 แสนบาทในระหว่างฎีกาสู้คดี