วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ศาลปัตตานียกคำร้องเยียวยาซ้อมทรมาน-เพราะ รธน.50 สิ้นสุดแล้ว



ศาลจังหวัดปัตตานีอ่านคำสั่งคดีทหาร ฉก.30 ซ้อมทรมาน เหตุเกิดเมษายน 57 โดยขอเยียวยาความเสียหายระหว่างถูกควบคุมตัว ศาลระบุ รธน.50 สิ้นสุดลงแล้วตามคำสั่ง คสช. จึงไม่อาจให้ศาลสั่งระงับหรือเยียวยาโดยอาศัยอำนาจตาม รธน.50 จึงยกคำร้อง
7 ต.ค. 2557 - ศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดเผยว่า วันนี้ที่ศาลจังหวัดปัตตานี โดยนายวนนท์ บุญรักษ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งคดีที่ ทป.1/2557 ระหว่างนางสาวรอฮีม๊ะ อูเซ็ง ผู้ร้อง พันเอกภูมิเดชา พ่วงเจริญ ผู้คัดค้าน กรณีผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างเหตุน้องชายถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยสรุปคำสั่งศาลระบุว่า
“พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้ร้องคัดค้าน ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นพี่ของนายฮาซัน อูเซ็ง เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2557 เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจ 30 นราธิวาส ควบคุมตัวนายฮาซันฯ ผู้ต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อเหตุในพื้นที่ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 จากนั้นวันที่ 19 เมษายน 2557 ส่งตัวนายฮาซัน ให้ศูนย์ซักถามค่ายอิงคยุทธบริหาร ดำเนินการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ครั้นวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลนี้ให้ศูนย์ซักถามระงับการละเมิดสิทธินายฮาซันและเยียวยาความเสียหายโดยอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 32 ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ศูนย์ซักถามได้ปล่อยตัวนายฮาซันกลับภูมิลำเนา
ระหว่างพิจารณาผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลงตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 5/2557 และฉบับ 11/2557 ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ เห็นว่าผู้ร้องยื่นคำร้องให้ศาลนี้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 32 สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำและเยียวยาความเสียหายที่อ้างว่าเกิดขึ้นแก่นายฮาซันระหว่างถูกควบคุมตัวตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่เมื่อปรากฎว่าระหว่างพิจารณามีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวดที่ 2 เมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้ศาลสั่งระงับการกระทำหรือเยียวยาโดยอาศัยอำนาจบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้อง”
หลังจากฟังคำสั่งแล้ว นางสาวรอฮีม๊ะ อูเซ็ง เตรียมหารือกับทีมทนายความที่ให้ความช่วยเหลือในการพิจารณายื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ อยากให้คนทั้งโลกกินข้าว-เพื่อให้ชาวนาขายข้าวได้



หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี เผยนโยบายจัดการข้าวระยะสั้น-ยาว เตรียมจัดโซนนิ่ง ส่งเสริมชาวนารุ่นใหม่ให้เรียนขั้นสูง จะทำให้คนทั้งโลกกินข้าวแล้วไทยจะขายข้าวได้ ไม่ใช่กินขนมปังเพราะจะอ้วน หนุนโฮมสเตย์ให้ชาวต่างชาติเกี่ยวข้าว-สัมผัสชีวิตชาวนา และเด็กๆ ต้องกินข้าวหมดจาน
8 ต.ค. 2557 - เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค. เวลา 12.05 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ครั้งที่ 1/2557 ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาตามลำดับ โดยปัญหาเร่งด่วนที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาทันทีคือการจ่ายเงินให้เกษตรกรจากโครงการรับจำนำข้าว รวมไปถึงเรื่องที่ชาวนา ชาวไร่ได้รับความเดือดร้อน โดยยืนยันว่าการกระทำของรัฐบาลไม่ได้เป็นประชานิยม แต่เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหามาก่อน
สำหรับระยะที่สองรัฐบาลจะสานต่อมาตรการระยะยาวให้เกิดความยั่งยืน เช่น แก้ไขปัญหาราคาเรื่องข้าวที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ คือต้องทำอย่างไรให้ราคาข้าวสูงขึ้น การปรับปรุงพันธ์ข้าว การกำหนดพื้นที่ปลูกข้าว รวมถึงความต้องการของตลาดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา ชาวไร่ให้ดีขึ้นตามลำดับ โดยมีการจัดกลุ่มของชาวนาแบ่งออกเป็นกลุ่มชาวนาที่มีที่ทำกินน้อย มีรายได้น้อย และยากจนมาก กลุ่มชาวนาที่มีพื้นที่ทำกินมากขึ้นเกิน 40 ไร่ กลุ่มชาวนาที่มีที่ทำกินมากใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูก ได้รับผลกระทบน้อย และกลุ่มชาวนาที่ให้เช่าที่นา ทั้งนี้ ต้องจัดลำดับในการช่วยเหลือตามความจำเป็น โดยมีมาตรการระยะสั้น ระยะยาวในการช่วยเหลือ สำหรับชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการรับจำนำข้าวนั้น ไม่ว่ามาจากสาเหตุการเข้าร่วมโครงการไม่ทันเวลาที่กำหนด หรือโดนหลอก ขอให้สบายใจได้ ไม่ต้องกลัว รัฐบาลจะจ่ายเงินให้แน่นอน
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ศูนย์ดำรงธรรม ของกระทรวงมหาดไทย และศูนย์เกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งสองศูนย์นี้จะต้องขับเคลื่อนทุกอย่าง ทุกปัญหาให้ประชาชน และเกษตรกรทั้งหมด โดยจะเชื่อมโยงทั้งสองศูนย์เข้าด้วยกัน จะมีการกำหนดพื้นที่ในการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยจะให้เจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรเข้าไปช่วยเหลือด้านพันธุ์พืช ลดราคาต้นทุน รวมไปถึงการจัดหาช่องทางการตลาดอย่างครบวงจร ในระยะยาวจะต้องสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยจะส่งเสริมให้เรียนหนังสือในระดับที่สูงให้เป็นตัวแทนเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ นอกจากนั้น ต้องมีการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกว่าในเขตชลประทานเท่าไหร่ นอกเขตชลประทานเท่าไหร่ มีการปลูกพืชอะไรบ้าง มีข้าวชนิดใดบ้าง เพื่อกำหนดพื้นที่โซนนิ่งให้เหมาะสม ให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในรูปแบบโฮมสเตย์ สอนวิธีการเพาะปลูก จนถึงวิธีการเก็บเกี่ยว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง สำหรับประชาชนที่ไม่มีที่ทำกิน หรือมีรายได้น้อย จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแล เพื่อพิจารณาจัดสรรที่ทำกินกับประชาชนกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม ช่วยสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ช่วงหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (ที่มาของคลิป: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
ระหว่างการแถลงข่าวตอนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงแนวคิดที่จะส่งเสริมให้ชาวต่างประเทศกินข้าว เพื่อให้ชาวนาขายข้าวได้ว่า "การโซนนิ่งพื้นที่ก็ได้มอบหมายตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยให้ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน เพราะเกี่ยวข้องหลายกระทรวง ทั้งเกษตร พาณิชย์ จะได้ไปด้วยกัน ว่าปลูกอย่างไร ขายอย่างไร ตลาดว่าอย่างไร สั่งงานไปแล้ว เรื่องนี้รวมเรื่องยางด้วยเพราะเป็นการโซนนิ่ง แต่ไม่มีการจ้างให้คนเลิกผลิต จะเอาเงินที่ไหนไปจ้าง เขาจะกินอะไรยังไม่รู้เลย ต้องเน้นให้ใช้ที่ให้น้อย ใช้น้ำให้น้อย มีผลผลิตสูง มีราคาดีก็จบ แต่มันยากทุกคนเข้าใจ ใครเคยทำนาบ้าง เธอรู้ไหมมันยากขนาดไหนกว่าจะได้ข้าวแต่ละเมล็ด"
"ผมก็มีแนวคิดว่า ถ้าเราทำได้เราก็จะส่งเสริมให้คนเขารักชาวนา ทำอย่างไรให้คนทั้งโลกกินข้าว ทำอย่างไรให้คนทั้งโลกกินขนมจีน ไม่ใช่สนับสนุนให้คนกินขนมปังหมด ไม่ใช่ ต้องคนทั้งโลกนี้กินข้าวให้มากขึ้น แข็งแรง สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงรับสั่งว่านักกีฬาทั่วโลกเดี๋ยวนี้เขาทานข้าว เขากินข้าว เขาถึงมีพลังมาสู้ได้ เราก็ต้องกินข้าวมากๆ ทั้งโลก ทั้งโลกกินข้าวหมดทุกประเทศ เราก็ขายข้าวได้ ข้าวทั้งโลกก็ดีขึ้น ไม่ใช่กินขนมปัง ไม่เอานะ อ้วนเปล่าๆ"
"ต่อไปเรื่องข้อมูลต่างๆ ก็ให้กระทรวงเกษตร กระทรวงมหาดไทย สำรวจเรื่องการจดทะเบียนชาวนา ชาวไร่ ต้องชัดเจน ประมาณไม่ได้ ต่อไปนี้ประมาณไม่ได้ ต้องรู้ว่าอยู่นอกเขตชลประทานเท่าไหร่ ในเขตเท่าไหร่ แต่ละพื้นที่ปลูกอะไรเท่าไหร่ ต้องรู้แล้ว ข้าวคุณภาพดี ปานกลาง ด้อย คุณภาพไม่ดี มันมีตลาดของแต่ละส่วนอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเราปลูกข้าวดีหมด แต่จะไปขายใครได้ทั้งหมด บางประเทศกินข้าวหอมมะลิ บางประเทศกินข้าวราคาต่ำ บางประเทศกินข้าวนึ่งเพราะเขามีสตางค์ซื้อ มันต้องมีตลาดข้าว แต่ต้องไม่เกินความต้องการตลาดโลก ต้องนำไปสู่การโซนนิ่งของเรา ให้แนวทางอุตสาหกรรมด้วยว่า ทำอย่างไรลุ่มน้ำทั้งหมดจะไม่เป็นอย่างอื่นนอกจากปลูกพืช เพราะมันติดแม่น้ำ ตั้งโรงงานก็เสียของไปเปล่าๆ ต้องปรับแก้ไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต"
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสชีวิตชาวนา และส่งเสริมให้คนไทยกินข้าวหมดจานว่า "อีกเรื่องก็คือ นอกจากการปลูกข้าวเพื่อขาย เพื่ออะไรต่างๆ ยกระดับชาวไร่ชาวนาแล้ว ผมอยากส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ เชิงนิเวศน์ จะให้กระทรวงการท่องเที่ยวไปจัดสิ ใครอยากมาเที่ยวไทย มาอยู่ใน ... เขาเรียกอะไรล่ะ "โฮมสเตย์" มาเที่ยว แล้วมากินอยู่หลับนอน 15 วัน 20 วัน ฝรั่งชอบนะ เท่าที่ผมไปดู มาทำนา เขาก็สนุกสนานของเขาไป แต่เขาจะรู้ว่า แปลงนี้ข้าวมันโตแล้วก็เกี่ยว แปลงนี้เป็นข้าวสาลีเอาไปตำข้าว สีข้าว เป็นเมล็ดออกมาหุงให้กิน เขาจะรู้ว่ามันยาก กว่าจะเป็นข้าวแต่ละเมล็ด คนไทยยังไม่รู้เลย ลูกหลานก็กินข้าวเหลือบานเบะครึ่งจาน ผมไม่ยอม ต้องกินข้าวให้หมดทุกเม็ด สมัยเป็นนักเรียนนายร้อยนะ ถ้ากินข้าวไม่หมดจาน ต้องแบกข้าวทีละเมล็ดไปวิ่งรอบโต๊ะ ต้องเข้มงวดขนาดนั้น เพราะสงสารชาวนา เขาไม่เคยร่ำรวยขึ้นมาเลย เพราะฉะนั้นต้องยกระดับข้างล่างให้สูงขึ้นให้ได้"

ประชุมร่วม ครม.-คสช. 'พล.อ.ประยุทธ์' ขอให้ใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์


ผลประชุมร่วมครั้งที่ 1 พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ คสช. และรัฐบาล ใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ ใช้กฎหมายพิเศษให้ประสานงานใกล้ชิด-ไม่ให้ละเมิดสิทธิ การจัดงานชุมนุมคนต้องขอ คสช. - ข้าราชการต้องไม่ทุจริต - ยืนยันยังไม่เปลี่ยนรูปแบบการปกครองท้องถิ่น โดยขอให้เป็นเรื่องสภาปฏิรูปแห่งชาติ
7 ต.ค. 2557 - เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า เมื่อเวลา 15.30 น. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.พิเศษ วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และในฐานะคณะโฆษก คสช. ได้แถลงผลการประชุมร่วม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม. กับ คสช. เป็นครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 42 และจะมีการประชุมร่วมกันในลักษณะเช่นนี้ทุกเดือน โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและให้แนวทางต่อที่ประชุมฯ เชิญชวนให้ข้าราชการทุกระทรวง ทบวง กรม ร่วมกันไปลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและนโยบายหลักในการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักของคนไทยทุกคน
พร้อมกันนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม. กับ คสช. โดยพยายามที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันทั้งในเรื่องที่ได้ปฏิบัติเป็นผลสัมฤทธิ์ เรื่องที่กำลังอยู่ในแผนงานการปฏิบัติ และเรื่องที่กำลังจะทำต่อไปในอนาคต อีกทั้ง ได้ปรารภ ขอให้ คสช.และรัฐบาล พยายามใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงการใช้กฎหมายพิเศษที่จำเป็นบางประการโดยให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนการขออนุญาตจัดงานในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเวทีเสวนาทางวิชาการ หรือการจัดกิจกรรมในลักษณะที่มีการรวมกลุ่มของประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเสนอมา 2 ทาง คือ เสนอมาที่ คสช. และเสนอมาที่นายกรัฐมนตรี นั้น นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางว่าต่อไปนี้ถ้าบุคคลใดเสนอมาที่นายกรัฐมนตรีก็จะส่งกลับไปให้ คสช. เป็นผู้พิจารณาในรายละเอียดว่าสามารถที่จะจัดกิจกรรมเช่นนั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้หลักการสำคัญคือการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองที่จะปฏิรูปประเทศชาติ อะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้สถานการณ์ดูไม่ดีในสายตาของประชาชนทั่วไปก็ขอทุกฝ่ายได้ระงับยับยั้งไว้ก่อน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม จัดทำผลงานการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม – เดือนธันวาคม 2557 และชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับสิ่งที่ทุกหน่วยงานได้ดำเนินงานไปแล้วมีอะไรบ้าง ตลอดจนส่งผลกระทบและทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นในเรื่องใด อย่างไร เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำจะต้องไม่ให้เกิดเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้น โดยต้องมีการดูแลเป็นพิเศษและกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้ชัดเจนทุกระดับ ทั้งระดับส่วนกลาง และระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น หากพบการทุจริตจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนปรับย้ายให้ไปอยู่ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานโดยทันที และมีการลงโทษตามบทบัญญัติทางวินัยต่อไป รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ยังได้เร่งรัดการสอบสวนกรณีเรื่องไมโครโฟนห้องประชุม ครม. ตึกบัญชาการ 1 ห้อง 501 ผ่านคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งขณะนี้ทราบเบื้องต้นใกล้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า สิ่งต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ จะต้องเป็นการแก้ปัญหาเก่าโดยไม่สร้างปัญหาใหม่ และต้องไม่ให้เกิดเหตุที่จะลุกลามบานปลายกลายเป็นชนวนขัดแย้งขึ้นมาอีก ทั้งนี้อะไรที่เป็นเหตุของความขัดแย้งในอดีตที่ผ่านมาให้ใช้มาตรการทางกระบวนการยุติธรรมพร้อมกันทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความสบายใจว่าจะได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันทุกฝ่าย
สำหรับการจัดระเบียบสังคมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ที่มีรายได้น้อยบางส่วนได้รับผลกระทบ นั้น นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูแลความเดือดอันเกิดกับผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่จะจัดระเบียบสังคมอย่างเดียวโดยละเลยถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบดังกล่าว และต้องเป็นมาตรการดูแลความเดือดร้อนที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
ส่วนเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมต่าง ๆ หรือโซนนิ่ง นั้น  นายกรัฐมนตรี ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินขึ้นมาอีก 1 คณะ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และให้เร่งรัดดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วเพื่อจะได้แก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินไปพร้อม ๆ กัน
รวมทั้ง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากเดิมซึ่งระบุมี 4 ส่วน ทั้งเรื่องของ อบจ. เทศบาล การปกครองพิเศษ และ อบต.ว่า นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมฯ ว่า ไม่มีใครเคยพูดเรื่องนี้มาก่อน และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ชี้แจง เพราะฉะนั้นเรียนยืนยันให้เกิดความสบายใจว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการพูดกันคงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่จะคิดหาแนวทางและวิธีการในการที่จะปฏิรูปในทุกเรื่อง
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี คือนายวิษณุ เครืองาม พิจารณาทบทวนเรื่องของคณะกรรมการต่าง ๆ ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมาหลายคณะ ว่าแต่ละคณะที่ได้จัดตั้งขึ้นมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด และการทำงานเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างไร เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ได้ด้วย
รวมถึง นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายในเรื่องของเส้นทางจักรยานทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาคว่า อะไรที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนให้เกิดความปลอดภัย ผ่อนคลาย และลดการใช้เชื้อเพลิงก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเต็มที่
ขณะที่เรื่องการจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวนา จำนวน 1,000 บาท ต่อ ไร่ ที่มีบุคคลเป็นห่วงและยังไม่เกิดความมั่นใจว่าเงินที่จ่ายจะถึงมือเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวอย่างแท้จริงหรือผู้เป็นเจ้าของที่นาจะเป็นผู้สวมสิทธิ์รับผลประโยชน์ดังกล่าวแทนนั้น  นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการวางแผนให้ชัดเจน ก่อนมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ชี้แจงทำความเข้าใจถึงมาตรการที่ชัดเจนให้สังคมเกิดความสบายใจว่าเงินที่รัฐบาลจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาผู้มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวกำหนดถึงมือเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวจริง

นพ.รัชตะเลือกนั่งรมว.สธ ลาออกอธิการบดี พร้อมส่งสารถึงชาวมหิดล


8 ต.ค. 2557 – ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศในที่ประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยมหิดลว่าจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตำแหน่งเดียวและจะลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ต.ค. นี้เป็นวันสุดท้ายที่สภาคณาจารย์มหิดล และสภามหาวิทยามหิดลมีมติให้ ศ.นพ.รัชตะ ตัดสินใจเลือกว่าจะทำงานในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล หรือต้องการจะทำงานเพื่อประเทศชาติในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
โดยหลังจากประกาศลาออกในที่ประชุมคณะบดีมหาวิทยาลัย ได้มีสารจากอธิการบดีถึง “ชาวมหิดล” ดังนี้
8 ตุลาคม 2557 
เรียน ชาวมหิดลที่รักทุกท่าน
              ตามที่ผมได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557 นั้น ผมได้มีสารถึงชาวมหิดล เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557 เรียนว่างานบริหารมหาวิทยาลัยมหิดลจะไม่สะดุด และผมขอเวลาศึกษางานสักระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจะเรียนให้ชาวมหิดลได้ทราบทิศทางของการดําเนินงานของมหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุข บัดนี้เวลาได้ผ่านมาพอสมควรแล้วจึงขอเรียนให้ชาวมหิดลทราบ ดังนี้
             รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 41 ระบุ ให้ข้าราชการหรือ  พนักงานของรัฐดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมืองควบคู่กันไปด้วยได้เจตนารมณ์คือ ขอตัวมาช่วยปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 1 ปีซึ่งเป็นอายุของรัฐบาลนี้และเป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่สําคัญของประเทศ โดยยังสามารถปฏิบัติงานประจําควบคู่กันไปได้ด้วย ซึ่งในภาวะปกติสถานการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้แต่ผมได้เรียนกับชาวมหิดลว่าจะขอเวลาประเมินสถานการณ์ก่อนสักระยะแนวทางประกอบการตัดสินใจ มีดังนี้
  • 1. พิจารณาว่าการดํารงตําแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลควบคู่กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศได้อย่างไร ในหลักการ คือ การเชื่อมโยงอุดมศึกษาเข้ากับระบบสุขภาพของประเทศ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข ดังนั้นการได้ปฏิบัติหน้าที่ ที่กระทรวงสาธารณสุขด้วยจะทําให้ทราบปัญหาความต้องการของประเทศด้านการสาธารณสุขได้เป็นอย่างดีสามารถนําประสบการณ์ไปใช้ในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ร่วมกับระบบอุดมศึกษาและในการปรับปรุงการผลิตบุคลากรสาธารณสุขของประเทศได้อย่าเหมาะสม และโอกาสที่ได้อยู่ในคณะรัฐมนตรียังจะช่วยประสานงานด้านอื่นๆ กับอุดมศึกษา เช่น การปฏิรูปสังคม และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นต้น 
  •           ทั้งนี้เนื่องจากช่วงเวลานี้มิใช่เวลาปกติของประเทศ เป็นโอกาสที่ชาวไทยทุกคนจะต้องรวมพลังช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อจะขับเคลื่อนประเทศ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง และยั่งยืน จึงเป็นไปได้หรือไม่ที่ชาวมหิดล จะช่วยกันร่วมแรงร่วมใจ ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลให้ดําเนินไปได้ด้วยดีในขณะที่ผมรับตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย

  • 2. เมื่อผมรับตําแหน่งรัฐมนตรีผมยังมีความรับผิดชอบต่อมหาวิทยาลัยมหิดล ในการที่จะวางแผนการบริหารงานในช่วงนี้มิให้มีการติดขัด ซึ่งต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่งในการวางแผน เตรียมการ มิใช่จะสามารถจะปลดภาระหน้าที่ของอธิการบดีได้โดยทันที
  • 3. ประเมินภาระงานที่กระทรวงสาธารณสุขว่าเป็นอย่างไร จะสามารถทํางานควบคู่กับตําแหน่งอธิการบดีได้หรือไม่ เนื่องจากวันที่ผมเขียนสารถึงชาวมหิดลนั้น เป็นวันที่ 1 กันยายน 2557 กว่าที่ผมจะเข้าปฏิบัติงานที่กระทรวงสาธารณสุข เป็นวันที่ 13 กันยายน 2557 เนื่องจากต้องผ่านการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อน และรอให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อน 
  • 4. เนื่องจากมีรัฐมนตรีอีกหลายท่านในรัฐบาลชุดนี้ซึ่งอยู่ในสถานะเดียวกับผม คือ ควบตําแหน่งรัฐมนตรีและงานประจําด้วย เนื่องจากในขณะนี้เป็นภาวะวิกฤตของประเทศ มีความจําเป็นต้องใช้บุคลากร ที่มีความรู้และประสบการณ์ในสายงานต่างๆ เพื่อช่วยกันแก้ไขวิกฤตของประเทศ ผมจึงต้องศึกษาแนวทางจากรัฐบาลในประเด็นนี้ประกอบด้วย 

          ผมขอเรียนว่าในแนวทางประกอบการตัดสินใจข้อแรกเป็นแนวทางที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ผมทราบว่า ชาวมหิดลบางกลุ่มมีความประสงค์จะให้ผมดํารงอยู่ทั้ง 2 ตําแหน่ง แต่บางกลุ่มไม่เห็นด้วย ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างนี้เกิดขึ้นอยู่เป็นปกติไม่ว่าในสังคมใดก็ตาม ผมได้เตรียมการที่จะให้มีการปรึกษาหารือในเรื่องนี้ระหว่างฝ่ายที่เห็นแตกต่าง ด้วยสันติด้วยสุนทรียสนทนา เป็นการภายในมหาวิทยาลัยของเรา
           เพื่อให้ได้มีข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่เราใช้กันมาโดยตลอดภายในมหาวิทยาลัยของเรา  แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ชาวมหิดลบางกลุ่ม มิได้เลือกใช้วิธีที่จะบริหารความเห็นที่แตกต่างโดยสันติแต่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงตั้งแต่ก่อนที่ผมจะได้เข้าไปเริ่มทํางานในกระทรวงสาธารณสุข นําประเด็นที่ควรจะปรึกษาหารือตกลงกันได้อย่าง “ปัญญาชนของแผ่นดิน” ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศทางสื่อมวลชน และมีการแพร่ข่าวผ่านทาง social media ต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลด้านเดียวที่ให้แก่สังคม โดยใช้ถ้อยคําที่รุนแรง และทําให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลเสื่อมเสีย ผมมิประสงค์จะตอบโต้เนื่องจากไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลเสื่อมเสียไปมากกว่านี้ 
            อย่างไรก็ตาม ตามที่ผมได้สัญญากับชาวมหิดลไว้ว่าจะขอเวลาสักระยะ โดยอาศัยแนวทางประกอบการตัดสินใจ 4 องค์ประกอบ ตามที่เรียนให้ทราบแล้วข้างต้น ผมจึงได้ตัดสินใจว่าจะขอปฏิบัติหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพียงตําแหน่งเดียว ทั้งนี้เพื่อจะได้รับใช้ประเทศชาติและเพื่อความเป็นเอกภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล
           สําหรับการบริหารมหาวิทยาลัยมหิดลในระยะเปลี่ยนผ่านว่าจะดําเนินการอย่างไรนั้น ผมจะนําเข้าปรึกษาหารือในสภามหาวิทยาลัยมหิดลในการประชุมสภาฯ วันที่ 15 ตุลาคม 2557 
         ผมขอวิงวอนต่อชาวมหิดลว่าเหตุการณ์เช่นนี้มิควรเกิดขึ้นอีกในมหาวิทยาลัยที่ เป็นที่รักของเรา มหาวิทยาลัยต้องเป็นแบบอย่างด้านจริยธรรมของสังคม ขอให้ชาวมหิดลทุกคนปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักธรรมาภิบาล บริหารความคิดความเห็นที่แตกต่างโดยสันติด้วยสติและปัญญา ปัญหาภายในมหาวิทยาลัยของเราควรแก้ไขกันเอง โดยไม่ต้องประโคมข่าวสู่สังคมภายนอก ที่จะไม่เข้าใจความเป็นมาของแต่ละปัญหาอย่างลึกซึ้ง ไม่เข้าใจบริบทและวัฒนธรรมของมหิดล เป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวแก่สังคม และทําให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลเสื่อมเสีย
          ผมขอให้ชาวมหิดลทุกคนตระหนักอีกครั้งว่า ขณะนี้มิใช่เวลาที่ประเทศเป็นปกติแต่ชาติของเรากําลังอยู่ในช่วงของการปฏิรูป ซึ่งชาวไทยทุกคน รวมทั้งชาวมหิดลด้วย จะต้องรวมพลังร่วมแรงร่วมใจ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ชาติของเราก้าวหน้า และมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ผมจะนัดหมายเพื่อสรุปงานที่ผมได้ดําเนินการในฐานะอธิการบดีและเพื่อขอบคุณทุกท่าน ตามกําหนดการที่จะแจ้งให้ทราบต่อไป ในขณะนี้ดัชนีชี้วัดทุกตัวระบุว่ามหาวิทยาลัยของเรามีความก้าวหน้าในทุกทาง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคและมีโครงการจํานวนมากที่ลงดําเนินการในชุมชนที่ประชาชนไทย ในชุมชนจะได้รับการพัฒนาให้มีชีวิตที่ดีขึ้นสุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณ ท่านรองอธิการบดีคณบดีผู้อํานวยการ ผู้อํานวยการกอง และชาวมหิดล
          ทุกท่านที่เสียสละทุ่มเททํางานเพื่อมหาวิทยาลัยมหิดล และสังคมไทย และขอบคุณสําหรับกําลังใจที่ท่านได้มอบให้กับผมมาโดยตลอด
ขอบคุณครับ
ศาสตราจารย์รัชตะ รัชตะนาวิน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิด