วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559

ครม. ตั้งพล.อ.ฉัตรเฉลิม นั่งปธ.บอร์ดการยาง มั่นใจทหารก็เรียนบริหารมาเหมือนกัน


ครม. มีมติให้ 'พล.อ.ฉัตรเฉลิม' นั่งปธ.บอร์ดการยาง 'ถาวร' แซะไม่เหมาะสม เพราะคนที่เรียนโรงเรียนนายร้อยฯมาอาจไม่ได้เรียนเรื่องการเกษตรและการบริหารจัดการมา เจ้าตัวสวนกลับมั่นใจทหารก็เรียนบริหารมาเหมือนกัน 
12 ม.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.สรรเสริญ  แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ  จำนวน 8 คน คือ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข  เป็นประธานกรรมการฯ  และแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คือ  นายประสิทธิ์ หมัดเส็น ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง  นายสังข์เวิน ทวดห้อย ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง  นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง  นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์  ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง นายสาย อิ่นคำ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยาง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้า และนายพิชัย ถิ่นสันติสุข ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยาง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอุตสาหกรรมยาง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป
ก่อนหน้านี้ นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตส.ส.สงขลา ระบุว่า หากมอบหมายให้พล.อ.ฉัตรเฉลิม ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนั้น ไม่เหมาะสม เพราะคนที่เรียนโรงเรียนนายร้อยฯมาอาจไม่ได้เรียนเรื่องการเกษตรและการบริหารจัดการมา โดย มติชนออนไลน์ รายงานความเห็นของ พล.อ.ฉัตรเฉลิม ต่อกรณีนี้ด้วย ซึ่ง พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า ทุกอย่างถ้าดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ก็สามารถทำได้ทั้งนั้น เป็นทหารก็เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการมาเหมือนกัน เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหายางพารา ซึ่งเป็นเรื่องฮอตในขณะนี้ ถ้ารัฐบาลให้ตนเข้ามาช่วย ตนก็พร้อมช่วยรัฐบาลเพื่อเดินหน้าต่อไปและช่วยชาวสวนยางทุกคน 

ส่องร่างรัฐธรรมนูญ: ล็อคคอรัฐบาลรักษาวินัยการเงินการคลัง ห้ามประชานิยม


โฆษก กรธ. เผยผลการประชุม ชี้กำหนดให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ด้านหมวดสิทธิเสรีภาพฯ ระบุให้มีการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบางประการ ยกเว้นเรื่องความมั่นคง การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ไม่ไปมีโทษเหมือนเดิม
12 ม.ค. 2559 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า อุดม รัฐอมฤต โฆษกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  กล่าวว่าถึงผลการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ประชุมได้พิจารณาตั้งแต่มาตรา 48/1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย อาทิ การรับราชการทหาร การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การเสียภาษีอากร หรือการต่อต้านการทุจริต หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ โดยได้เพิ่มในส่วนให้มีการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบางประการที่ไม่ใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ และจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว
รวมถึงกำหนดให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมาย ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด ซึ่ง กรธ. มองว่า การทำงบประมาณทุกอย่างจะต้องมีการแถลงต่อสาธารณะทุกครั้ง และจะไม่ยอมให้รัฐใช้จ่ายเงินนอกระบบงบประมาณ รัฐบาลต้องทำแหล่งที่มาของรายได้ และรายจ่ายให้ชัดเจน พร้อมยอมรับว่าเพื่อเป็นมาตรการป้องกันรัฐบาลเลือกตั้งไม่ให้ใช้นโยบายประชา นิยมจนเกิดผลสูญเสียต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ที่รัฐบาลจัดงบกลางไม่ชัดเจนและไม่มีรายละเอียด และรัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก้ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาค รัฐและเอกชน และจัดให้มีการมาตรการและกลไกทั้งปวงเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและ ประพฤติมิชอบ
ในส่วนของการไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นเมื่อถูกกำหนดเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทย หากไม่ไปใช้สิทธิก็จะมีบทลงโทษ แต่จะนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามขณะนี้ที่ประชุมอยู่ระหว่างการพิจารณาในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งชาติ มาตรา 69/1 อาทิ ให้รัฐดำเนินการตรากฎหมาย และกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายและกรอบในการบริหารประเทศ กำหนดให้รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ซึ่ง กรธ.ได้นำข้อคิดเห็นที่ได้จากการรวบรวมจากฝ่ายต่างๆ และที่กรรมการมีตั้งข้อสังเกตเองมาพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งในการพิจารณามาตรานี้ กรธ.ได้ศึกษารัฐธรรมนูญของทุกประเทศที่มีการบัญญัติเกี่ยวกับศาสนา พบว่าไม่มีประเทศใดกำหนดศาสนาประจำชาติ พร้อมย้ำว่าการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรให้ความสำคัญกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งเมื่อวานนี้ทาง กรธ.เองก็ยังได้มีการพูดคุยในเรื่องพระพุทธศาสนาที่มีผู้เสนอมาขอให้บัญญัติ เป็นศาสนาประจำชาติแล้วและได้นำมาบัญญัติในมาตรา 65 ในหมวดดังกล่าวเพื่อคุ้มครองทุกศาสนา

จาตุรนต์ฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งกต.เหตุยกเลิกพาสปอร์ต


จาตุรนต์ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงการต่างประเทศ กรณีถูกเพิกถอนพาสปอร์ต  ชี้เหตุผลที่อ้างในคำสั่งเป็นความเท็จ ตนไม่ใช่บุคคลที่มีหมายจับหรือเดินทางไปต่างประเทศ ปัจจุบันไม่มีหน่วยงานใดออกหมายจับตนแล้ว
13 ม.ค. 2559 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี เดินทางมายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง  เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงการต่างประเทศ  กรณีถูกเพิกถอนหนังสือเดินทาง หรือ พาสปอร์ต เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2558 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้ยื่นฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ  กรมการกงสุล  รัฐมนตรีต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมการกงศุล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  เป็นผู้ถูกฟ้องในคดีตามลำดับ
จากนั้นเวลา 13.48 น. ที่ผ่านมา นายจาตุรนต์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Chaturon Chaisang' ถึงคำบรรยายการฟ้องด้วยว่า การเพิกถอนพาสสปอร์ตครั้งนี้เป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย และเป็นการจงใจกระทำละเมิดโดยผิดกฎหมาย โดยลำดับเรื่องพอสังเขปได้ว่า เริ่มจากกรมการกงสุลออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ชี้แจงเกี่่ยวกับการยกเลิกหนังสือเดินทางของตนว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศขอให้พิจารณายกเลิกหนังสือเดินทางของตน เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีหมายจับและเดินทางไปต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศและกรมการกงสุลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเข้าข่ายที่จะยกเลิกหนังสือเดินทางตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ข้อ 23 (2) ประกอบข้อ 21 (2) จึงได้ยกเลิกหนังสือเดินทางของตน ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. 2558
“ผมไม่ได้รับแจ้งคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าวจากกระทรวงการต่างประเทศและกรมการกงสุล จึงมีหนังสือลงวันที่ 3 ก.ย. 2558 ไปยังปลัดกระทรวงการต่างประเทศ สอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ามีการยกเลิกหนังสือเดินทางของตนดังที่ปรากฏเป็นข่าวว่า จริงหรือไม่ แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้รับหนังสือตอบจากปลัดกระทรวงการต่างประเทศแต่อย่างใดทั้งสิ้น” นายจาตุรนต์ ระบุในคำฟ้อง
คำบรรยายคำฟ้องระบุด้วยว่า คำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของตนเป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมการกงสุล และต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมการกงสุล ไม่พิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าว หรือหากพิจารณา ก็ไม่พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควรหรือภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ตนทราบ จึงใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของตนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายจาตุรนต์  ระบุด้วยว่า ในคำร้องได้ตั้งประเด็นพิจารณาทางข้อกฎหมายต่อศาลปกครองว่า คำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (1). เหตุผลที่อ้างในคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางเป็นความเท็จ ตนไม่ใช่บุคคลที่มีหมายจับหรือเดินทางไปต่างประเทศ ปัจจุบันไม่มีหน่วยงานใดออกหมายจับตน หากเหตุที่อ้างในหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเรื่องคดีที่อัยการศาลทหารกรุงเทพได้ยื่นฟ้องตน เป็นคดีหมายเลขดำที่ 31ก./2557 ต่อศาลทหาร ก็เป็นเรื่องที่ตนถูกควบคุมตัวโดยสมัครใจตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2557 โดยไม่มีการออกหมายจับแต่อย่างใดทั้งสิ้น คดีดังกล่าวเป็นคดีเดียวที่มีการฟ้องร้องตนในขณะนี้ และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลทหารเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2557 ซึ่งเงื่อนไขของการปล่อยตัวชั่วคราวประการหนึ่ง คือ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
(2). เหตุที่ยกเลิกหนังสือเดินทางไม่ตรงกับเหตุผลที่แท้จริง เหตุที่ระบุในคำสั่งขัดต่อเหตุผลในการยกเลิกหนังสือเดินทางของตนตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อสื่อมวลชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สาเหตุแท้จริงในการยกเลิกหนังสือเดินทาง ไม่ใช่เป็นบุคคลที่มีหมายจับและเดินทางไปต่างประเทศ หากแต่เป็นเพราะการที่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตยและได้เรียกร้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว รวมทั้งที่ได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในกรณีอื่นๆ หลายครั้ง ซึ่งอาจทำให้ผู้มีอำนาจไม่พอใจ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและความคิดเห็นทางการเมือง ถือเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศ การกระทำดังกล่าวไม่ใช่การก่อความไม่สงบด้วยวาจา หรือก่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนแต่อย่างใด ไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการกระทำหรือคำสั่งทางปกครองที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ
(3). สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีอำนาจร้องขอให้กระทรวงการต่างประเทศและกรมการกงสุลยกเลิกหนังสือเดินทางของตน (4). กระทรวงการต่างประเทศและกรมการกงสุลไม่มีอำนาจยกเลิกหนังสือเดินทางของตน ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศและกฎหมาย (5). คำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (6). การยกเลิกหนังสือเดินทางขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 4 และพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังได้บรรยายสรุปคำฟ้องถึงความเสียหายที่ได้รับ เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ใช้เหตุผลข้ออ้างเป็นเท็จ สาเหตุที่แท้จริงน่าจะเกิดจากการที่ตนแสดงความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญและเรื่องอื่นอยู่เสมอ คำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าวที่ออกโดย หรือร่วมกันสั่งการโดยผู้ถูกฟ้องทุกคนเป็นการจงใจกระทำละเมิดโดยผิดกฎหมาย ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อเสรีภาพในการเดินทางและความเสียหายต่อการทำมาหาได้และการประกอบอาชีพ ความเสียหายต่อเกียรติยศและชื่อเสียง ความเสียหายต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลักนิติรัฐนิติธรรมและสาธารณะโดยส่วนรวมอีกด้วย นอกจากที่ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งในคดีนี้แล้ว จะขอสงวนสิทธิในการดำเนินคดีอาญาตลอดจนเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งจากผู้เกี่ยวข้องต่อไป

อัยการฟ้อง 7 ผู้ต้องหาหนุนจนท.รัฐทุจริต ปมระบายข้าวจีทูจี เอี่ยวสำนวน 'ยิ่งลักษณ์-บุญทรง'


อัยการฟ้อง 7 ผู้ต้องหาหนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ทุจริต ต่อศาลฎีกาฯนักการเมือง ปมระบายข้าวแบบจีทูจี ชี้เอี่ยวสำนวน 'ยิ่งลักษณ์-บุญทรง' ศาลนัดฟังรับ/ไม่รับ 25 ก.พ. นี้ 
13 ม.ค.2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายพันธุ์โชติ บุญศิริ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน1, นายชุติชัย สาขากร รองอัยการสูงสุด , นายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ร่วมกันแถลงการณ์ยื่นฟ้องคดีอาญากลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต กรณีการระบายข้าวแบบจีทูจีในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งในวันนี้อัยการสูงสุดได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีกิจทวียโสธร กับพวกรวม 7 คน ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในข้อหาตามที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 มาตรา 83 มาตรา 91 พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 4 และมาตรา 123/1 พร้อมนำสำนวนการไต่สวนและเอกสารต่างๆ รวม 300 กล่อง 2,280 แฟ้ม หรือประมาณ 85,990 แผ่น ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลฟังคำสั่งว่าจะรับหรือไม่รับในวันที่ 25 ก.พ. นี้ เวลา 10.00 น.
สำหรับจำเลยทั้งหมดประกอบด้วย 4 นิติบุคคล ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีกิจทวียโสธร, บริษัท กิจทวียโสธร ,บริษัทเค เอ็ม ซี อินเตอร์ไรซ์ 2002 จำกัด และบริษัทเจียเม้ง จำกัด รวมทั้งมีจำเลยที่เป็นบุคคล 3คน  ประกอบด้วย นายทวี อาจสมรรถ ,นายปกรณ์ ลีศิริกุล และนางประพิศ มานะธัญญา
นายกิตินันท์  กล่าวว่า จำเลยทั้ง 7 ที่สั่งฟ้องล่าสุดมีความเกี่ยวข้องในสำนวนของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีหลักฐานการออกแคชเชียร์เช็คการซื้อข้าวจากกรมการค้าต่างประเทศ และมีการสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกองค์คณะผู้พิพากษา 9 ท่านภายใน 14 วัน
ทั้งนี้การฟ้องร้องดังกล่าว ทาง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องบริษัทกวางตุ้ง จำกัด รวมทั้งผู้แทนที่เป็นบริษัทสัญชาติจีน รวมอีก 7 คนด้วย แต่อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าพยานหลักฐานยังมีข้อไม่สมบูรณ์เนื่องจากกลุ่มบุคคลเป็นสัญชาติจีนและต้องมีกระบวนการระหว่างประเทศ จึงให้ดำเนินการไต่สวนเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีข้อเท็จจริงว่ามีความเกี่ยวพันกับคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายภูมิ สาระผล และ นายบุญทรง กับพวกรวม 21 คน กรณีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนนัดแรก 2มีนาคมนี้

ทหาร 'เยี่ยม' ฟ้าเดียวกันประจำเดือน ม.ค.59 ถามจะเคลื่อนไหววันยิ่งลักษณ์ขึ้นศาลหรือไม่

ภาพจากเพจฟ้าเดียวกัน (13 ม.ค.2559) 

13 ม.ค.2559  หลังเพจเฟซบุ๊กฟ้าเดียวกันอัพเดทสถานการณ์ทหารเยี่ยมบ้านครั้งล่าสุดในวันนี้ ธนาพล อิ๋วสกุล บก.บห.วารสารฟ้าเดียวกันให้สัมภาษณ์ว่า ทหารในเครื่องแบบ 4 นายขับรถฮัมวีมายังสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. และลงมาพูดคุยกันกว่า 5 นาที ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วทหารกลุ่มดังกล่าวซึ่งเป็นกลุ่มที่ดูแลพื้นที่ที่สำนักพิมพ์ตั้งอยู่จะมาหาประมาณเดือนละ 1 ครั้ง เดือนที่แล้วก่อนปีใหม่ (ธ.ค.2558) มาถามเรื่องปฏิทินทักษิณว่าฟ้าเดียวกันไปเกี่ยวข้องหรือจ่ายแจกด้วยหรือไม่ ส่วนคราวนี้ทหารสอบถามว่าวันที่ 15 ม.ค.จะมีการเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่
“ถ้าเขาไม่มาบอกว่ายิ่งลักษณ์ขึ้นศาล 15 มกรานี้ เราก็ยังไม่รู้เลย” ธนาพลกล่าวพร้อมวิเคราะห์ว่าทหารน่าจะตรวจสอบปฏิกริยาของกลุ่มต่อต้านทั้งหมดโดยเหมาว่าเป็นกลุ่มทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เพื่อกดไว้ไม่ให้ทำการเคลื่อนไหวใดๆ
ธนาพลยังกล่าวอีกว่า “การมาเยี่ยม” ของทหารเป็นประจำนับเป็นการคุกคามอย่างหนึ่งโดยก่อนหน้านี้เคยมีการแถลงข่าวร่วมกับบุคคลอื่นๆ ที่เผชิญสภาพเดียวกันหรือหนักกว่าไปแล้วว่าขอให้ฝ่ายความมั่นคงยุติมาตรการดังกล่าว แต่ก็ไม่มีผลอันใด  
ธนาพลอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า การมาพบเป็นประจำทุกเดือนนั้นเป็นหน่วยทหารที่ดูแลในพื้นที่ ส่วนการเรียกพูดคุย กินกาแฟหรือปรับทัศนคติที่เขาเคยประสบและยังคงถูกจับตาอย่างต่อเนื่องนั้นจะเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลความเคลื่อนไหวภาพรวมและติดตามการโพสต์เฟซบุ๊กของเขาและคนอื่นๆ
รายละเอียดการมาพบที่เพจฟ้าเดียวกันเผยแพร่ มีดังนี้
เดือนละหน กับความหมกมุ่นเดิม ๆ
...............
ทหารมาเยี่ยมที่สำนักพิมพ์อีกแล้ว มาสวัสดีปีใหม่ เดือนละครั้ง
เช่นเดิม ถามว่าพิมพ์หนังสืออะไรอยู่ไหม ตอบกลับไปว่า ทำต้นฉบับอยู่ครับ รองานหนังสือปลายเดือนมีนาคมนี้
ทหารถามว่าวันที่ 15 มกราคมนี้ จะมีกิจกรรมอะไรหรือไม่
ก็งงว่าวันที่ 15มกราคมนี้ นี้ไม่มีโอกาสสำคัญอะไร
ทหารบอกว่าวันที่ 15 มกราคมนี้ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต้องไปขึ้นศาลไง
มาเช็คดู ก็พบว่าคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โดนรัฐประหาร ได้เป็นจำเลย ในคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 ที่โดนกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 15 มกราคม นี้จริง ๆ
ดู
ศาลฎีกาฯ เริ่มไต่สวนพยานคดี “ยิ่งลักษณ์” ปมจำนำข้าว 15 ม.ค. ปีหน้า โจทก์ 14 ปาก จำเลย 42 ปาก – คาดพิพากษาปลายปี 2559
http://thaipublica.org/2015/10/plegd-rice-95/
.................
กรณีเช่นเดียวกับที่เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ทหารคนเดิมนี่แหละที่มาถามว่า ทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันนี่พิมพ์ปฏิทินหรือไม่
ดู
บันทึกการมาเยี่ยมสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันของเจ้าหน้าที่ทหาร และคำสงสัยว่าด้วยปฏิทิน
https://www.facebook.com/thanapol.eawsakul/posts/1019320484801457
เมื่อกลับไปจึงนึกได้ว่า หมายถึงปฏิทินทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ นั่นเอง
คนเหล่านี้ก็คงรับโจทย์จากฝ่ายเสนาธิการทหาร มาว่า ทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันนี่คงเป็นเครือข่าย"ระบอบทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" นั่นแหละ
ดังนั้น ภารกิจเดียวของทหารชุดนี้ ที่ส่งต่อมาเรื่อย ๆ ตามลำดับขั้นบังคับบัญชา ไม่มีอะไรมากกว่าการที่จะทำลาย "ระบอบทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" นั่นแหละ
และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จึงต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ
แต่ถ้าคิดจะทำลาย "ระบอบทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" จริง ๆ ก็ขอให้ทำให้ฉลาดหน่อย หาข้อมูลให้มากขึ้น และใช้วิธีการอื่น ๆ มากกว่าแต่งชุดทหาร ขับรถฮัมวี่ มาเยี่ยมเยือนประชาชน

ศาลให้ประกันตัว-ยึดพาสปอร์ต อานดี้ ฮอลล์ คดีหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ


คดีโรงงานสับปะรดฟ้องนักสิทธิแรงงานอังกฤษ หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ให้ประกันตัว-ยึดพาสปอร์ต อานดี้ ฮอลล์
13 ม.ค. 2559 สืบเนื่องจากคดีที่บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋อง ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโจทก์ฟ้องอานดี้ ฮอลล์ นักกิจกรรมสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวอังกฤษ ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่รายงาน "Cheap has a High Price (สินค้าถูกมีราคาที่ต้องจ่ายสูง)" ซึ่งอานดี้ ฮอลล์ เป็นผู้ช่วยวิจัย ลงในเว็บไซต์ Finnwatch ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในฟินแลนด์ โดยรายงานดังกล่าวเป็นงานวิจัยเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมส่งออกในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตทูน่าและสับปะรดกระป๋อง โดยศาลอาญากรุงเทพใต้รับฟ้องเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2558
ล่าสุด (13 ม.ค.) อานดี้ ฮอลล์เดินทางมาศาลเพื่อมอบตัวและทำเรื่องประกันตัว โดยวางเงินประกัน ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างองค์กรฟินน์วอทช์ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (Thai Tuna Industry Association - TTIA) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำนวน 300,000 บาท 
โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และให้ยึดหนังสือเดินทางไว้ พร้อมตั้งเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ ยกเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นกรณีๆ ไป 
นคร ชมพูชาติ ทนายความของอานดี้ ฮอลล์กล่าวว่า การยึดพาสปอร์ตเป็นดุลพินิจที่ขาดความเข้าใจของศาล เพราะพาสปอร์ตเป็นของประเทศนั้นๆ ไม่ใช่ของตัวผู้ถือ ดังนั้น ไม่มีสิทธิยึด แต่ในทางปฏิบัติมักยึดไว้ ซึ่งส่งผลให้ไม่สะดวกในการเดินทาง และโดยทั่วไป คนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศก็ต้องพกพาสปอร์ต ไม่เช่นนั้นจะผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีกรณีที่ศาลพระโขนงยึดพาสปอร์ตของอานดี้ ฮอลล์ไว้ในคดีก่อนหน้า และสถานทูตอังกฤษไปติดต่อขอคืน กรณีวันนี้ ฮอลล์ก็จะร้องต่อสถานทูตอังกฤษในการติดต่อขอพาสปอร์ตคืนจากศาลเช่นกัน
ซอนญา วาร์เทียลา ผู้อำนวยการบริหารของฟินน์วอทช์ กล่าวว่า การยึดพาสปอร์ตของอานดี้ ฮอลล์ และการจำกัดความสามารถในการเดินทางของเขา เป็นรูปแบบหนึ่งของการคุกคามและข่มขู่  ตั้งแต่เริ่มแรกของการรณรงค์คุกคามโดยอาศัยกระบวนการตุลาการ อานดี้ ฮอลล์ ไม่เคยละเว้นที่จะแสดงความเคารพต่อหลักนิติธรรมและเจ้าพนักงานตุลาการในประเทศไทยมาโดยตลอด ทั้งยังมีความเต็มใจที่จะให้การตอบโต้ข้อกล่าวหาในชั้นศาล  ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ปรากฏเหตุผลใดๆ ที่จะปฏิบัติต่อเขาในฐานะผู้ที่อาจจะหลบหนี โดยการยึดพาสปอร์ตของเขาและห้ามมิให้เขาเดินทางเข้าออกประเทศไทย
อนึ่ง ในวันที่ 18 ม.ค. ศาลได้ออกหมายเรียก อานดี้ ฮอลล์ ไปรับฟังข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ
นอกจากคดีนี้ ฮอลล์ยังถูกบริษัท เนเชอรัล ฟรุท ฟ้องหมิ่นประมาท (คดีอาญา) จากการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีรา โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2558 เนเชอรัล ฟรุต และอัยการสูงสุดได้รับอนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกา หลังศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องไป และฟ้องหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอีกสองคดี รวมเป็นเงิน 400 ล้านบาท 

Anonymous ถล่มเว็บไซต์ในเครือศาลยุติธรรม ประท้วงคดีเกาะเต่า


เฟซบุ๊ค "We Are Annonymous" ประกาศถล่มเว็บไซต์เครือศาลยุติธรรม ประท้วงคำพิพากษาคดีเกาะเต่า และรณรงค์นักท่องเที่ยวเลิกเยือนไทย จนกว่าตำรวจจะเปลี่ยนวิธีการทำคดีที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ล่าสุดเวลา 18.00 น. เว็บเกือบ 290 แห่งที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรม อาญา แพ่ง อุทธรณ์ เว็บระบบเงินเดือน ขรก. ล่ม เหลือแต่เว็บศาลยุติธรรมหลักที่เริ่มเข้าได้แล้ว ขณะที่เว็บศาลฎีการอด เพราะไม่ได้ใช้โดเมน coj.go.th
13 ม.ค. 2558 เมื่อเวลา 05.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ในเฟซบุ๊ค We Are Anonymous ซึ่งมีผู้ติดตาม 2.87 แสนคน ได้ประกาศว่า #Anonymous จะปิดเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรมของไทย เพื่อประท้วงคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีเกาะเต่า
"Annonymous สนับสนุนการณรงค์ให้นักท่องเที่ยวคว่ำบาตรการเยือนประเทศไทย จนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับวิธีการทำงานของตำรวจไทยที่ทำคดีสืบสวนสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ"
ในภาพที่ Annonymous โพสต์ในเว็บไซต์ได้ใช้ภาพกราฟฟิคของ "Blink Hackers Group" ซึ่งเมื่อต้นเดือนนี้ได้แฮกเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะที่อีกภาพเป็นรูปธงชาติไทยที่มีรูปมือชูนิ้วกลางอยู่กลางธงชาติ
ทั้งนี้กลุ่ม Anonymous ดังกล่าว ได้แสดงบัญชีเว็บไซต์เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม [http://pastebin.com/UpS1pgjR] รวมทั้งสิ้น 295 url เช่น ศาลยุติธรรม http://www.coj.go.th/ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ ศาลยุติธรรม http://news.coj.go.th/ เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเงินเดือน สวัสดิการ ปืนสวัสดิการ ของศาลยุติธรรม http://system.coj.go.th/ 
ศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิและคดีนักท่องเที่ยวในศาลแขวงเชียงใหม่ http://touristrightsprotectionchiangmai.cmimc.coj.go.th/
สำนักงานระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม http://www.adro.coj.go.th/
ศาลอุทธรณ์ http://www.appealc.coj.go.th ศาลแพ่ง http://www.civil.coj.go.th ศาลอาญาhttp://www.crimc.coj.go.th ศาลอาญากรุงเทพใต้ http://www.crimsb.coj.go.th สำนักบริหารทรัพย์สิน ศาลยุติธรรม http://www.patsadu.coj.go.th
เว็บไซต์ของศาลยุติธรรมยังสามารถเข้าถึงได้เมื่อเวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 ม.ค. 2559 ในขณะที่เว็บอื่นๆ ในเครือศาลยุติธรรมยังไม่สามารถเข้าถึงได้

โดยในเวลาที่รายงานอยู่นี้ (18.00 น.) เว็บไซต์ส่วนใหญ่ไม่สามารถแสดงผลได้ ขณะที่เว็บไซต์ของศาลยุติธรรมสามารถแสดงผลได้ http://www.coj.go.th/index.html
ขณะที่เว็บไซต์ศาลฎีกา http://www.supremecourt.or.th/ ไม่ได้ใช้โดเมน coj.go.th จึงรอดจากเหตุถล่มเว็บดังกล่าว

ผบ.ตร. สั่งตรวจสอบข้อความพี่สาวฮันนาห์ว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่
ในวันเดียวกัน เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีสำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊คของ ลอว์รา วิทเธอร์ริดจ์ พี่สาวของ ฮันนาห์ วิทเธอร์ริจด์ นักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรซึ่งเสียชีวิตในเหตุฆาตกรรมที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งส่วนหนึ่งพาดพิงการทำงานของตำรวจ และระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ศาลใช้ถ้อยคำทำร้ายความรู้สึกนั้น โดยในรายงานของประชาชาติธุรกิจ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ระบุว่า ด้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายและกองการต่างประเทศแปลและตรวจสอบข้อความของสื่อมวลชนต่างประเทศ และข้อความในเฟซบุ๊กของลอว์ราอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบดูว่าเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ ส่วนจะฟ้องกลับหรือไม่นั้นต้องตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดก่อนว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่
โดยส่วนตัวไม่ทราบแนวคิดของลอว์รา ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้ แต่ยืนยันว่าตำรวจดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ไปตามพยานหลักฐานทั้งหมด และขณะนี้ทางโฆษกกระทรวงยุติธรรมก็ได้แถลงขั้นตอนการปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมให้ทราบแล้ว และศาลชั้นต้นก็ได้มีความพิพากษาตัดสินประหารชีวิต 2 ผู้ต้องหาแล้ว ส่วนกรณีล่าสุดที่มีนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเสียชีวิตที่เกาะเต่าอีกรายนั้น จากการตรวจสอบทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้ส่งศพผู้เสียชีวิตไปตรวจพิสูจน์ที่โรงพยาบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว อย่างไรก็ดี ในบางขั้นตอนอาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่ยืนยันว่าคดีที่มีชาวต่างชาติเป็นผู้เสียหายนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ศาลอนุมัติหมายจับ 6 คน ฝ่าฝืนชุมนุมนั่งรถไฟส่องราชภักดิ์-‘จ่านิว’นัดหารือเพื่อน

ภาพขณะที่ทั้ง 5 คน เดินทางมาที่ หน้าสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี แต่ยืนยันว่าจะไม่เข้ารายงานตัว

13 ม.ค.2559  สื่อมวลชนหลายสำนักรายข่าวงานศาลทหารอนุมัติหมายจับนักศึกษานักกิจกรรมรวม 6 คนที่ทำกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องหากลโกง” เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2558  หลังจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจรถไฟธนบุรีได้นำเอการหลักฐานมายื่นขอศาลเพื่ออนุมัติหมายจับในข้อหา ขัดคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 มั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกทั้งหมด 11 คน มีผู้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก 5 ราย ส่วนที่เหลืออีก 6 รายเดินทางไปสถานีตำรวจแต่ไม่ยอมเข้ารับทราบข้อกล่าวหา (อ่านข่าวที่นี่) จึงถือว่าไม่ได้มาพบพนักงานสอบสวน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานก่อนหน้านี้ว่า “พฤติการณ์ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาสรุปได้ว่า กลุ่มนายสิรวิชญ์และพวกได้นัดรวมตัวกันที่สถานีรถไฟธนบุรีเพื่อไปทำกิจกรรม จนรถไฟคันที่ผู้ต้องหาถึงสถานีรถไฟบ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผู้ต้องหากับพวกรวมประมาณ 40 คน ได้ถูกทหารคุมตัวผู้ต้องหากับพวกลงจากขบวนรถไฟเพื่อป้องกันการปะทะกับกลุ่มที่เห็นต่างที่รออยู่ แล้วนำตัวไปสอบถามข้อมูลและปรับทัศนคติที่ กองบังคับการ พล.ร.9 ส่วนหน้า จ.นครปฐม และได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน แต่ผู้ต้องหากับพวกในคดีนี้ไม่ยินยอมรับเงื่อนไขของกองกำลังรักษาความสงบ จึงถูกผู้กล่าวหาแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาขัดคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ข้อ 12 และพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดี”
ก่อนหน้านี้จ่านิวประกาศจะไม่รายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาเนื่องจากเชื่อมั่นว่าไม่ได้กระทำสิ่งใดผิด  พร้อมทั้งจะฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิของประชาชนในการตรวจสอบคอร์รัปชั่น
“ผมขอหารือกับเพื่อนๆ ก่อน” สิริวิชญ์ให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆ
ด้านเยาลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทนายของผู้ต้องหาให้สัมภาษณ์ว่า เพิ่งทราบข่าวการออกหมายจับในวันนี้ เบื้องต้นยังไม่ได้หารือกับผู้ต้องหาทั้งหมด โดยหลักการแล้วหากออกหมายจับ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวได้เลย อยู่ที่จะดำเนินการหรือไม่ การออกหมายจับในคดีนี้ก็เช่นเดียวกับกรณีของนักศึกษา นักกิจกรรมสมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM)รวม 14 คนที่ถูกจับกุมกรณีชุมนุมต่อต้านคสช. ซึ่งในครั้งนั้นตำรวจจับกุมและมีการฝากขัง 1 ผัดก่อนได้รับการประกันตัว ปัจจุบันหมายจับและคดีก็ยังคงค้างอยู่
หมายจับทั้ง 6 ราย ประกอบด้วย
  • 1.สิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อายุ 23 ปี
  • 2. ชลธิชา แจ้งเร็ว อายุ 22   ปี
  • 3. ชนกนันท์ รวมทรัพย์ อายุ 22 ปี
  • 4. กรกช แสงเย็นพันธ์ 23   ปี
  • 5. อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์ 29 ปี
  • 6. ธเนตร อนันตวงษ์ อายุ 25 ปี