วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558

มีชัยเผยเตรียมปรับแนวทางร่างรธน.หมวดสิทธิเสรีภาพ ระบุจะบัญญัติข้อห้ามอย่างชัดเจน


19 ต.ค. 2558 สำนักข่าวไทย รายงานการประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) วันนี้เริ่มพิจารณาหมวดที่ 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ระบุว่าจะปรับเปลี่ยนแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิและเสรีภาพจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ซึ่งจะบัญญัติข้อห้ามอย่างชัดเจน ประชาชนจะมีสิทธิในทุกเรื่อง ยกเว้นการกระทำตามข้อห้ามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ต้องกระชับ เข้าใจง่าย ขณะที่คณะกรรมการรับฟังความเห็นของ กรธ. เริ่มนำความเห็นที่ส่งมาจัดหมวดหมู่ ยอมรับความเห็นของประชาชนมีประโยชน์ และพร้อมจะนำมาขยายผล
“ในหมวดดังกล่าว มีข้อเสนอจากหลายฝ่าย แต่ต้องทบทวนให้มีความสอดคล้องกัน และให้กระชับ เข้าใจง่าย” นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวว่า คณะกรรมการรับฟังความเห็นของ กรธ.เริ่มนำความเห็นที่ส่งมา แยกแยะเป็นหมวดหมู่  เพื่อหยิบยกมาประกอบการพิจารณา ว่าอยู่ในหมวดใด มาตราใด  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความเห็นจากประชาชน ส่วนใหญ่แสดงความเห็นเรื่องมาตรการใช้ความรุนแรง และเป็นเรื่องในอนาคต แต่ยอมรับว่า เป็นประโยชน์  เพราะช่วยจุดประกายความคิดของ กรธ. ซึ่งพร้อมนำมาขยายผลต่อไป
ส่วนกรณีที่องค์กรอิสระมาให้ข้อมูลต่อ กรธ.โดยขอเพิ่มอำนาจของแต่ละองค์กร นายมีชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะหากมีอำนาจคล้ายกัน ก็จะเกิดความซ้ำซ้อน และมีปัญหาระหว่างองค์กรได้ ดังนั้น จึงต้องทำให้เกิดความสมดุล และทำให้ประชาชนมั่นใจว่า องค์กรอิสระเหล่านั้นจะให้ความเป็นธรรมได้  และว่า ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยเรื่องการยุบองค์กรอิสระ แต่จะต้องหาวิธีที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้
นายมีชัย ยังกล่าวถึงข้อเสนอของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เรื่องการตัดสิทธิ์ผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่นตลอดชีวิต ว่า เป็นเจตนาที่ดี ซึ่งกรธ.ก็ดำเนินการอยู่ และเรื่องดังกล่าวก็ตรงกับมาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญ แต่จะดำเนินการได้เข้มข้นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญ

‘ผบ.เหล่าทัพ’ หารือนัดแรกให้ความสำคัญปกป้องสถาบันฯ ตั้ง 'กองสงครามไซเบอร์'


19 ต.ค. 2558 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย ณ ห้องประชุม ชั้น 4 พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง
โดย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้มอบนโยบายในการปฏิบัติงานที่สำคัญ ดังนี้ ให้ความสำคัญในการถวายความจงรักภักดี ปกป้อง และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่งของ ปวงชนชาวไทย และจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ พระบรมวงศานุวงศ์ ในทุกโอกาส รวมถึงสนับสนุนกิจกรรม Bike for Dad ปั่นเพื่อพ่อ อย่างเต็มขีดความสามารถ
ด้านนโยบายทั่วไปให้ความสำคัญในการป้องกันประเทศ การรักษาผลประโยชน์ของชาติทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ สนับสนุนการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน การเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านสงครามไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น เน้นย้ำทุกเหล่าทัพให้ความทุ่มเทในการปฏิบัติงานอย่างเต็มขีดความสามารถเพื่อประโยชน์สูงสุดของกองทัพ ประชาชน และประเทศชาติ
ทั้งนี้ในวัน 3 พ.ย. 2558 กองทัพไทยได้เรียนเชิญคณะกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รับผิดชอบงานด้านการป้องกันประเทศ และการทหาร เยี่ยมชมกิจการทางทหารของกองทัพไทยด้วย
โดยผู้จัดการออนไลน์ รายงานเพิ่มเติม ถึง พล.อ.สมหมาย ซึ่งให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมตอนหนึ่งว่า สำหรับเรื่องพิเศษที่ตนเน้นย้ำ คือ ประเด็นสงครามทางไซเบอร์ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้นเราจึงจัดตั้งกองสงครามไซเบอร์ พร้อมทั้งจัดทำยุทธศาสตร์ไซเบอร์ของกองทัพขึ้นอีกด้วย ส่วนกองทัพรูปแบบใหม่ที่เข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2559 นั้น ในความเป็นจริงทุกกองทัพในอาเซียนมีความสัมพันธ์กันมานานแล้ว ไม่ว่าจะกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองบัญชาการกองทัพไทย โดยมีกิจกรรมหลัก 12-15 กิจกรรม อาทิ กองทัพบก มีการแข่งขันยิงปืนอาเซียนที่ประเทศไทย และมีการประชุม ผบ.สส.อาเซียน ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยนัยสำคัญต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ตนคิดว่าเราจะได้ประโยชน์ก็คือ ลดการเผชิญหน้ากันของกองทัพ ไม่แทรกแซงกิจการภายในต่อกัน และพยายามใช้ประโยชน์จากชาติในอาเซียน บวกกับประเทศจีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย เป็นต้น

ศาลออกหมายจับผู้แอบอ้างเบื้องสูง หลังกองทัพร้องทุกข์ ‘ศรีวราห์’ ปัดตอบปม 'หมอดู' ชื่อดัง


20 ต.ค. 2558 TNN Thailand 24 Hours รายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่าการตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง เป็นการตั้งขึ้นมาพิจารณาคดีตามขั้นตอนปกติเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งมอบหมายให้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้ช่วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน และมี พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง เป็นรองหัวหน้าฯ
เบื้องต้น ได้พูดคุยกับ พล.ต.ท.ศรีวราห์เกี่ยวกับการดำเนินการคดีนี้ที่ต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย ส่วนตัวไม่รู้สึกกังวลใจกับคดีนี้ เพราะมีตัวบทกฎหมายชัดเจนอยู่ เมื่อถามว่าขบวนการนี้มีขนาดใหญ่เช่นเดียวกับขบวนการของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีต ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ก่อนหน้าหรือไม่  ขอตรวจสอบรายละเอียดก่อน  แต่ยืนยันว่า หากพบว่ามีข้าราชการตำรวจคนใด เข้าไปเกี่ยวข้อง จะต้องให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพราะเป็นคดีร้ายแรง 
และเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 58 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ท.ศรีวราห์ เปิดเผยว่า คดีดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการร้องทุกข์จากทางกองทัพว่ามีกลุ่มบุคคลมีพฤติการณ์เอาสถาบันเบื้องสูงไปแอบอ้างหาผลประโยชน์สร้างความเสื่อมเสีย
ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้มีการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงจนกระทั่งพบว่ามีกลุ่มบุคคลดังกล่าวกระทำผิดจริง จึงได้ขอศาลทหารอนุมัติออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนจะมีจำนวนกี่คนยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ จะนำตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลทหารฝากขังเป็นผลัดแรก
ส่วนจะมีหมอดูชื่อดังหรือนายตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ พร้อมปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า นายตำรวจทั้ง 8 นายที่ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทีคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่ ศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หรือ ศปก.ตร.เกี่ยวข้องหรือไม่
โดยระบุเพียงว่า ยังอยู่ในสำนวน สำหรับการดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดี หมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายพิจาณาอาณามาตรา 112 นั้น มีกรอบการทำงานอยู่แล้ว โดยคณะพนักงานสอบสวนจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อให้เกิดความกระจ่าง
พล.ต.ท.ศรีวราห์ ยอมรับว่า ศาลได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหา ในความผิดฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ภายหลังทางกองทัพได้ร้องเรียนว่า มีกลุ่มบุคคลมีพฤติการณ์แอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเรียกรับผลประโยชน์ ซึ่งตำรวจจะคุมตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลฝากขังในวันพุธที่ 21 ตุลาคมนี้ และยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ว่า มีผู้ต้องหาจำนวนกี่คนและเป็นบุคคลใดบ้าง นอกจากนี้พลตำรวจโทศรีวราห์ ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า ตำรวจ 8 นาย ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ได้รับคำสั่งให้มาช่วยราชการศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รวมถึงหมอดูชื่อดัง และนายตำรวจยศพันตำรวจโท ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่

ฎีกายกฟ้องคดีอดีตตำรวจ ยิงRPG ใส่กลาโหมปี53 ชี้พยานโจทก์มีข้อพิรุธสงสัย


20 ต.ค. 2558 ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.2317/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็น โจทก์ยื่นฟ้อง ส.ต.ต.บัณฑิต หรือ บัณฑิต สิทธิทุม อายุ 48 ปี อดีตตำรวจ สภ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เป็นจำเลย ที่ร่วมกับพวกอีกหนึ่งคนยิงจรวดอาร์พีจี 2 ไปยังอาคารกระทรวงกลาโหม ส่งผลให้สายเคเบิลโทรศัพท์ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เสียหายเป็นเงินจำนวน 39,421 บาท เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2553 ซึ่งการกระทำดังกล่าวเพื่อข่มขู่ให้รัฐบาลยุบสภา สร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน และสนับสนุน ช่วยเหลือการก่อการร้ายของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.
โดย มติชนออนไลน์ รายงานว่า ในวันนี้เมื่อถึงเวลานัดนายบัณฑิต ไม่เดินทางมาศาล ศาลจึงอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยเห็นว่า แม้พยานอ้างว่าจะพบนายบัณฑิต ก่อนและหลังเกิดเหตุแต่เป็นช่วงเวลากลางคืน และเป็นช่วงระยะเวลาสั้น จึงไม่แน่ใจว่า พยานจะจดจำนายบัณฑิต ได้หรือไม่ ส่วนที่โจทก์ ฎีกาว่า ผลตรวจดีเอ็นเอของนายบัณฑิต ตรงกับที่เสื้อแจ็คเก็ตสีดำ ซึ่งยึดได้จากรถยนต์ของกลาง แต่ก็เป็นการตรวจหลังเกิดเหตุการณ์แล้ว 2 เดือนซึ่งขัดแย้งกับผลการตรวจกองพิสูจน์หลักฐาน ที่ตรวจหลังเกิดเหตุว่า ไม่พบดีเอ็นเอ ของนายบัณฑิต พยานโจทก์และพยานแวดล้อม จึงยังมีข้อพิรุธสงสัย ขัดแย้งกัน จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัย ให้จำเลย พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 54 ว่า จำเลยมีความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป รวมจำคุกจำเลยเป็นเวลา 38 ปี และให้ริบของกลาง ต่อมาจำเลยอุทธรณ์สู้คดีศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 9 ส.ค.56 ให้ยกฟ้องจำเลย แต่ในครั้งนั้น ส.ต.ต.บัณฑิต ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวในทันที จนกระทั่งวันที่ 20 ส.ค.56 จึงได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว และฝ่ายโจทก์ได้ยื่นฎีกาจึงนัดฟังคำพิพากษาดังกล่าว
สำหรับคดีดังกล่าว ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมฯ (ศปช.) เคยให้ข้อมูลว่า ส.ต.ต.บัณฑิต ถูกควบคุมตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 53 จากบ้านของเขาที่ อ.บางแสน จ.ชลบุรี โดยเจ้าหน้าที่นำกำลัง 20 นายมาจับเขาที่บ้านพัก มีการค้นบ้าน และระหว่างควบคุมตัวมีการนำผ้ามาปิดตา และระหว่างชั้นสอบสวนมีการข่มขู่ด้วยว่าถ้าไม่ตอบจะเอาไปให้ทหารยิง โดยภรรยาของ ส.ต.ต.บัณฑิต ใช้เวลากว่า 1 เดือน ถึงทราบว่าสามีถูกจับไปไว้ควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ประยุทธ์แจงปมกองทัพแจ้ง ม.112 ไม่อยากเป็น


10 ต.ค. 2558 เดลินิวส์ รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีกองทัพแจ้งให้ดำเนินการกับบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายมาตรา 112 ว่า ตนไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นข่าวมากนัก แต่เพราะมีคนแจ้งความมา ซึ่งต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่ามีคนแอบอ้างสถาบันจริงหรือไม่ หากมีการละเมิดก็ออกหมายจับ ซึ่งบางคนได้รับการอภัยโทษไปแล้วก็กลับมาพฤติกรรมแบบเดิม ที่ผ่านมาการปิดเว็บไซต์ที่มีการละเมิดก็ใช้หมายศาล
"ไม่เข้าใจว่าสถาบันไปทำอะไรให้คนพวกนี้เจ็บแค้น แล้วยังมาเรียกร้องความปลอดภัย ทั้งที่ไม่เคารพกฎหมาย ทั้งนี้ไม่ต้องการให้มีการมาทำลายวัฒนธรรม สิ่งที่สวยงามของประเทศเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ไร้ขีดจำกัด แล้ววันหน้าเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็ไม่สามารถควบคุมได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีจะดำเนินคดีกับบุคคลที่แอบอ้างเบื้องสูงว่าเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำงานไปโดยไม่ให้ให้นโยบายใดกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสิ้น แค่ให้ทำตามกฎหมาย
ซึ่งขณะนี้ตนยังไม่ได้มีการรายงานความคืบหน้ามาถึงตนในเรื่องดังกล่าวว่ามีตำรวจหรือทหารเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่อย่างไรก็ตาม คงไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนกำลังพลในกองทัพเพราะเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่าผิดถูกเป็นอย่างไรส่วนที่เข้าข่ายถูกดำเนินคดีจะต้องนำตัวขึ้นศาลทหารหรือไม่ ตนไม่ทราบเพราะเป็นเรื่องการสืบสวนสอบสวน ตนไม่ใช่เจ้าหน้าที่จึงไม่ได้ติดตามในรายละเอียด คุมแต่เพียงนโยบายยืนยันว่าทำตามกฎหมายทุกอย่าง 
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีบุคคลนำมาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองจะมีมาตรการป้องกันหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า แล้วผิดกฎหมายหรือไม่ มันมีกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ กิจกรรม Bike For Dad ก็ยังดำเนินต่อไป เราก็ทำเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

FTA Watch ชวนเบรครัฐบาลชั่วคราว ก่อนตัดสินใจร่วม TPP ชี้เป็นเรื่องของประชาชนส่วนใหญ่


20 ต.ค. 2558  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้ออกแถลงการณ์ “ความตกลง TPPสร้างผลกระทบอย่างกว้างขวาง การตัดสินใจเข้าร่วมต้องผ่านการตัดสินใจโดยประชาชนส่วนใหญ่” โดยเรียกร้องให้สังคมไทยร่วมกันกดดันเพื่อไม่ให้ให้รัฐบาลชั่วคราวตัดสินใจเข้าร่วมใน TPP โดยอ้างเหตุผลเกี่ยวกับผลประโยชน์ของบางสินค้าและบางอุตสาหกรรม โดยไม่ได้พิจารณาผลกระทบต่อประชาชน ฐานทรัพยากร และอธิปไตยของประเทศ
แถลงการณ์กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
ความตกลง TPP สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวาง
การตัดสินใจเข้าร่วมต้องผ่านการตัดสินใจโดยประชาชนส่วนใหญ่
ตามที่มีกระแสเรียกร้องจากภาคธุรกิจบางส่วนให้ประเทศไทยเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (TPP) และรัฐบาลได้ดำเนินการให้มีการศึกษาเพื่อกำหนดท่าทีของประเทศไทยในเรื่องดังกล่าวนั้น
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งได้ติดตามและวิเคราะห์ความ    ตกลงดังกล่าวในประเด็นสำคัญต่างๆ มีความเห็นว่า ประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วมในความตกลงนี้ หรือ     อย่างน้อยที่สุดต้องไม่รีบเร่งเข้าเป็นภาคี ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การยอมรับความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้การคุ้มครองผู้ประกอบการมากไปกว่าความตกลงทาง การค้าโลก ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ตรงที่ต้องแก้กฏหมายที่มีอยู่หรือไม่ แต่จะส่งกระทบทางลบต่อประเทศไทยอย่างกว้างขวาง เช่น การขยายอายุสิทธิบัตรยา และการคุ้มครองข้อมูลยาจะส่งผลให้ยามีราคาแพงคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี  ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน ค่าใช้จ่ายของรัฐเกี่ยวกับบริการด้านสาธารณสุขจะสูงขึ้นอย่างมหาศาล และทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศในที่สุด
การขยายสิทธิบัตรพืชและการผลักดันให้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 จะทำให้เกษตรกรต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น 2-6 เท่า และเปิดช่องให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพคิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมกันอย่างต่ำ 100,000 ล้านบาท/ปี โดยที่การเก็บรักษาพันธุ์เพื่อปลูกต่อถือว่าเป็นความผิดทางอาญา
ส่วนขยายอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้ยาวนานออกไปจะส่งผลต่อการเข้าถึงความรู้ โดยผลประโยชน์อาจไม่ได้ตกอยู่กับศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์งาน แต่จะไปอยู่กับบริษัทจัดเก็บรายได้ เปิดช่องให้บริษัทเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต อีกทั้งการทำงานของสื่อมวลชนและนักวิจัยอาจเป็นความผิดฐานละเมิดความลับทางการค้า เป็นต้น
2. ความตกลงเกี่ยวกับการคุ้มครองนักลงทุน จะเปิดช่องให้นักลงทุนฟ้องร้องรัฐบาลได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐดำเนินการออกมาตรการเพื่อปกป้องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน  เช่น จำกัดการใช้มาตรการของรัฐเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบหรือเครื่องดื่มมึนเมา จำกัดการออกมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเนื่องจากการลงทุนทำเหมืองแร่ และโครงการขนาใหญ่ต่างๆ ฯลฯ ทั้งนี้โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐผ่านกลไก “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” ซึ่งจากการศึกษาพบว่าอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการพิจารณาและตัดสินข้อพิพาทมักจะดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายหรืออยู่ในคณะกรรมการบริหารของบริษัทเอกชน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อนุญาโตตุลาการจะทำหน้าที่   เอื้อประโยชน์หรือปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนมากกว่าที่จะพิจารณาข้อพิพาทอย่างอิสระและเป็นกลาง
3. สหรัฐอเมริกาจะใช้ความตกลงนี้ในการผลักดันให้ประเทศต่างๆต้องยอมรับพืชและผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs โดยที่ข้อกำหนดเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิเกษตรกร สิทธิผู้บริโภค มาตรการป้องกันไว้ก่อนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และการใช้เหตุผลด้านเศรษฐกิจสังคม จะไม่สามารถใช้เพื่อยับยั้งการปลูกพืชและการติดฉลากผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมได้อีกต่อไป
4. ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเข้าร่วมใน TPP ในกรณีการเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเพราะการลดภาษีเหลือ 0% นั้น ไม่คุ้มค่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศในกลุ่ม TPP แล้วถึง 9 ประเทศ เหลือเพียงสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโกเท่านั้นที่ไทยยังไม่มีความตกลงทางการค้าด้วย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกไปยัง 3 ประเทศดังกล่าวเพียง 9% และมีสัดส่วนการลงทุนจากกลุ่มประเทศดังกล่าวเพียง 9.9% เท่านั้น
การที่กลุ่มประเทศดังกล่าวไม่ลดภาษีให้กับประเทศไทยไม่ได้หมายความว่าเราจะสูญเสียตลาดไปทั้งหมด ในทางตรงข้ามจะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมสูงขึ้น ไม่ใช่แข่งขันที่ราคาแต่เป็นการแข่งขันสินค้าที่มีคุณภาพ อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
การพัฒนานวัตกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับยา และเทคโนโลยีชีวภาพนั้น ต้องอาศัยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสม ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของอินเดีย และจีนที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมได้ โดยเลือกที่จะคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาของประเทศของตน หาใช่การให้การคุ้มครองการผูกขาดสิทธิบัตรอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานของสหรัฐแต่อย่างใดไม่
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ขอเรียกร้องให้สังคมไทยร่วมกันกดดันมิให้รัฐบาลชั่วคราวตัดสินใจเข้าร่วมใน TPP โดยอ้างเหตุผลเกี่ยวกับผลประโยชน์ของบางสินค้าและบางอุตสาหกรรม โดยมิได้พิจารณาผลกระทบต่อประชาชน ฐานทรัพยากร และอธิปไตยของประเทศ
การเข้าร่วมในความตกลงระหว่างประเทศดังกล่าว ต้องดำเนินการโดยกระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกฝ่ายทุกกลุ่ม และผ่านการตัดสินใจโดยรัฐบาลและรัฐสภาที่มีที่มาจากประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงเท่านั้น
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
20 ตุลาคม 2558