วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

แล้วจะให้กูทำยังไงวะ


นายกรัฐมนตรีเผยส่งคนไปคุยชาวสวนยางแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อย กำลังแก้ 2 ช่องทาง ชี้ปัญหาคณะกรรมการยางใหม่อยู่ที่ผู้แทนภาคเกษตรตกลงกันไม่ได้ เหตุต่างคนต่างอยากเป็น ขอเห็นใจรัฐ สั่งพัฒนาผลผลิตยางแล้ว แก้ระเบียบใช้งบกระทรวงซื้อ แต่ต้องใช้เวลา ขอซื้อในราคาที่พออยู่ได้ เผยระบบจัดซื้อส่งโรงงานผลิตสินค้าขายแล้วค่อยใช้หนี้ ถามไปบังคับมหาอำนาจให้ซื้อได้หรือ ยัวะพวกวิจารณ์ แล้วจะให้กูทำยังไงวะ ก่อนขอโทษนักข่าว ก.เกษตรฯ หยอกจะให้ไปเป็นกุนซือกระทรวง

วันนี้ (12 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำว่า วันนี้ได้ลงไปขับเคลื่อนและให้คนของคณะทำงานลงไปพูดคุยกับชาวสวนยางที่มีการประชุมและเสนอข้อเรียกร้องขึ้นมาวานนี้ (11 ม.ค.) โดยทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยถือว่าเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังแก้ปัญหาอยู่ในลักษณะสองทาง 1 คือ ช่องทางปกติ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องมีคณะกรรมการยาง ทั้งนี้ ในส่วนของคณะกรรมการยางใหม่ที่จะต้องตั้ง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐ แต่อยู่ที่ผู้แทนภาคการเกษตรที่ตกลงกันไม่ได้ แม้จะมีการประชุมกัน 3-4 ครั้งก็ยังเสนอชื่อกันไม่ได้ เพราะต่างคนต่างอยากเป็น วันนี้ตนได้บอกให้ทำมาให้ได้ ดังนั้นที่ผ่านมาจึงต้องใช้รักษาการ เพราะตั้งไม่ได้ในเมื่อตั้งกรรมการไม่ได้ ก็ตั้งประธานไม่ได้ รวมถึงตัวผู้ว่าการยางด้วย ไม่ใช่เพราะรัฐบาลทำช้าหรือต้องการดึงเรื่อง ไม่ได้ต้องการดึงจะไปดึงทำไม รัฐบาลต้องการลดปัญหาอยู่แล้ว
นายกฯ กล่าวอีกว่า วันนี้ก็ต้องไปดูว่าภาครัฐจะสามารถซื้อแผ่นยาง น้ำยาง ไปเข้าสู่กระบวนการผลิตควรจะซื้อในราคาที่เท่าไหร่ ต้องเห็นใจรัฐด้วย ถ้าเราไปเพิ่มราคาโดยที่ไม่มีจุดมุ่งหมาย ซื้อเอามาเก็บเข้าคลัง คิดว่าจะเหมือนเดิม เมื่อซื้อมาจะไม่นำไปสู่ท้องตลาด จะผลักไปสู่การผลิตเลย ที่มีผลการวิจัยพัฒนาเรื่องยางมาเป็นร้อยๆ อย่างแต่ไม่เคยเอามาปฏิบัติ ซึ่งตนได้สั่งไปนานแล้วและเขาก็เดินอยู่ โดยจะต้องมีการนำผลวิจัยมารับรองมาตรฐานจึงจะสามารถใช้งบประมาณรัฐได้ ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องไปแก้ปัญหาระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณของแต่ละกระทรวงให้ซื้อได้ ตรงนี้คือสิ่งที่หลายคนอาจไม่เข้าใจ และมองว่ารัฐบาลไม่แก้ปัญหาอะไร จริงๆ แล้วรัฐบาลทำหมดแล้วแต่มันต้องใช้เวลา กฎหมาย ระเบียบงบประมาณ ก็ต้องแก้
นายกฯ กล่าวว่า รัฐต้องไปซื้อยางกับเกษตรกรเพื่อเป็นต้นทุนการผลิตให้กับโรงงานที่เราส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี โดยซื้อยางในราคาที่เกษตรกรพออยู่ได้ พร้อมกันนี้จะหนุนผู้ประกอบการรายใหม่ให้เขาสามารถนำไปสู่การผลิตที่มากขึ้น แต่การชำระค้นทุนคืนมาก็ต้องให้เวลากับผู้ประกอบการ เพราะเขาเพิ่งทำได้ยังไม่มีกำไร เป็นการสตาร์ทอัพเอสเอ็มอี โดยเราไปสร้างความเข้มแข็งให้เขา ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็จะไม่เกิดวงจรการผลิต ก็จะกลายเป็นว่าไปซื้อมาแล้วเก็บเข้าคลังก็เน่าเหมือนเดิม
“ตั้งแต่ผมเข้ามาทำงาน รัฐมนตรีบอกว่านายกฯ สั่งไปหมื่นห้าพันกว่าเรื่องแล้ว ผมก็อายเหมือนกันนะ สั่งเยอะ ท่านบอกว่าตอนนี้เสร็จไปห้าสิบกว่าเรื่องก็แย่แล้ว ตอนนี้ผมสั่งไปถึงชาติหน้าแล้ว ขอให้รู้ว่าเราไม่เคยหยุดคิด ทุกวันทุกคืน เสาร์-อาทิตย์ ก็คิดใหม่มาเรื่อยของเก่าก็ยังไม่เสร็จ เพราะมันติดกระบวนการติดกฎหมาย ก็ต้องค่อยๆ แก้ แต่ของใหม่ก็ต้องเริ่มเดินไปด้วย ดังนั้นก็ต้องเข้าใจการทำงานของรัฐบาลด้วย รัฐบาลนี้ไม่ได้ปกปิดอะไร ผมเปิดเผยว่าคิดอะไรทำอะไรต่อไป ปัญหาอยู่ตรงไหนกฎหมายว่าอย่างไรต้องชี้แจงได้” นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า บอร์ดการยางจะมีการแต่งตั้งได้เมื่อไร นายกฯ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำให้เสร็จเร็วที่สุด โดยได้มีการประชุมที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาแล้ว และน่าจะเริ่มตกลงกันได้ ถ้าตั้งกรรมการได้ ก็ตั้งประธานได้ สำหรับสัดส่วนกรรมการที่ยังตั้งไม่ได้ตอนนี้เป็นของเกษตรกร
เมื่อถามว่าจะนำยางออกจากสต๊อกโดยหน่วยงานจาก 8 กระทรวง สามารถทำได้เมื่อไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ทำไมไม่เข้าใจ พูดไม่รู้เรื่อง การซื้อจะเป็นการซื้อยางดิบ ยางแผ่น ขี้ยางก้นถ้วย อะไรก็ตามแต่ซื้อมาตามราคาที่ควรจะซื้อให้สูงกว่าท้องตลาดนิดหนึ่ง ให้ประชาชนอยู่ได้ นั่นแหละคือซื้อ เมื่อซื้อเสร็จแล้วก็ไปส่งโรงงาน โดยที่รัฐยังไม่เก็บเงินค่ายางจากโรงงาน โดยให้เขาผลิตสินค้าไปก่อน เช่น ถุงมือ ที่นอน อะไรต่างๆ เมื่อขายของได้ค่อยมาใช้หนี้รัฐ ซึ่งของที่ขายที่นอนทหารก็อาจจะซื้อเป็นการเอางบประมาณมาสนับสนุนกันเอง อัฐยายซื้อขนมยาย ไม่ใช่ว่าไปอุดหนุนราคาพยุงราคา แล้วไม่ได้เอาไปทำอะไร เหมือนที่คาอยู่ในคลังกว่า 3 แสนตัน ตรงนั้นก็เดดรับเบอร์ (dead rubber) ไปก่อน ยังไม่ต้องไปพูดถึงเพราะถ้าเอาออกมาขายตอนนี้ราคาก็ตก อยากซื้อมาก็เก็บมันไว้ ซึ่งตนไม่ได้เป็นคนซื้อไว้ ใครเป็นคนซื้อจะเอาไปขายใครในเมื่อข้างนอกมียางขายราคาถูกกว่า นอกจากนี้ยังมีไปปลูกที่อื่นด้วยแล้วจะไปบังคับให้เขามาซื้อได้หรือไม่ คุณเอาอะไรไปบังคับมหาอำนาจให้เขาซื้อได้หรือไม่ ต้องคิดแบบนี้
นายกฯ กล่าวต่อว่า เมื่อแนวทางที่รัฐบาลได้ดำเนินการนั้นเกิดขึ้น ยางก็จะใช้มากขึ้น คราวหน้าก็เอายางในคลังมาให้เขาต่อคิดแบบนี้เป็นหรือไม่ และที่ซื้อแสนตันครั้งนี้เป็นยางใหม่ซื้อจากเกษตรกรโดยตรงไม่ซื้อจากสหกรณ์ส่วนราคาที่จะซื้อยังไม่รู้ เดี๋ยวเขาไปคุยกันต่อ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องซื้อในราคานำตลาดเท่าไรที่จะไม่บิดเบือนการตลาด นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ราคาตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท ถามต่อว่ารัฐบาลมีเป้าหมายซื้อนำเท่าไหร่ นายกฯ เริ่มกล่าวอย่างมีอารมณ์โมโหว่า คุณเสนอมาสิเท่าไหร่ โดยผู้สื่อข่าวตอบว่าให้นายกฯ กำหนด ทำให้นายกฯ กล่าวต่อว่า “ผมกำหนด ผมมีสตางค์เท่าไหร่ งบประมาณรัฐมีเท่าไหร่ กำลังการผลิตมีเท่าไหร่ ขณะนี้ซื้อเพื่อบรรเทาราคายางที่ตก ช่วงนี้เหลือ 3 เดือนก่อนปิดฤดูกรีดยาง ซึ่งต้องการให้เขามีเงินอยู่ได้ เป็นการแก้ปัญหา”
เมื่อถามว่า ราคาซื้อนำนั้นจะไม่เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ไม่ตั้งราคามากเกินใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียวว่า เวลาที่เขาตั้งราคามากเกิน คุณไม่ไปว่าเขาล่ะ โดยผู้สื่อข่าวตอบกลับว่า ได้ว่าแล้ว จากนั้นนายกฯ กล่าวว่า แล้วเขาทำไหม ราคาข้าวหมื่นห้า บอกเขาหรือเปล่าว่าไม่เหมาะสม ผู้สื่อข่าวได้ตอบว่าบอกจนปากจะฉีกแล้ว นายกฯ กล่าวต่อว่า แล้วมันเกิดไหม ตนกำลังทำสิ่งที่ชัดเจนคุณก็มาไล่อยู่นั่น
เมื่อถามว่า เขาเรียกร้องในราคากิโลกรัมละ 60 บาท แต่รัฐให้ไม่ได้แล้วจะซื้อนำในราคาเท่าไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ก็มากกว่าที่เขามีอยู่ เท่าไหร่ยังไม่รู้ เดี๋ยวเขาคุยกัน มันต้องเป็นการสมยอมกันระหว่างรัฐกับประชาชน ไม่ใช่ตนไปบังคับส่งเดช สื่อก็จะหาว่าไปแทรกแซงอีก เขากำลังคุยกันอยู่ นายกฯ ต้องไปทำเองหมดหรืออย่างไร
เมื่อถามว่า ในระยะยาวจะทำอย่างไรให้ดีต่อรัฐและประชาชนด้วยในเรื่องของราคายาง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สื่อมีอะไรที่คิดไว้เสนอมา สำหรับตนบอกแล้วว่าทำอย่างไรยาง 4.7 ล้านตันจะนำไปสู่การใช้จ่ายในประเทศมากกว่า 30-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งวันนี้ใช้ 1.4 ล้านตัน แต่ยางมี 4 ล้านกว่า แล้วจะไปขายใคร เขาใช้ยางสังเคราะห์ขึ้นมาได้ทำอย่างไร ราคาน้ำมันตก ตนผลิตน้ำมันขายหรือเปล่า ก็เปล่า ตนบังคับให้เขาขายราคาส่งก็ไม่ได้ วิธีการแก้ของตนคือใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น สร้างโรงงานให้เกิดความเข้มแข็ง มันเคยทำกันไหมเล่า
เมื่อถามว่า สินค้าที่ผลิตออกมาไม่มีมาตรฐานจะทำอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ก็รับรองมาตรฐานก่อนขาย เมื่อถามว่าจะทันหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ทันก็ต้องทัน ไม่ทันก็หาคนอื่นทำ เมื่อถามว่า ได้ให้เงื่อนเวลากับกระทรวงอุตสาหกรรมในการดูแลรับรองมาตรฐานสินค้าหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “คราวหน้าสมัคร ส.ส.นะถามแบบนี้ ปัดโธ่ รู้ทุกเรื่องแหละ มาทำสิมาทำ ถามแบบนี้มันแรงไป อย่างนู้นอย่างนี้มันเสร็จเมื่อไหร่ ปัดโธ่ ในเรื่องมาตรฐานสินค้าเขาออกไปบ้างแล้ว มีการทำบัญชีไว้ สวทช. เอาบัญชีออกมาให้เขารู้บ้าง”
นายกฯ กล่าวอีกว่า วันนี้กระทรวงที่ไปซื้อยางนั้น ไม่ได้มีการอนุมัติงบประมาณใหม่ให้ แต่ให้ใช้งบประมาณภายในทำไปก่อน ไม่ใช่ไปของบประมาณเพิ่ม
“1. ท่านบอกให้ผมไปทำถนน 2. ท่านบอกประโยชน์น้อย 3. ใช้งบประมาณเปลือง แล้วจะให้กูทำยังไงวะ ปัดโธ่ กระทรวงมหาดไทยจะทำถนนเส้นทางในหมู่บ้านก่อน พอแล้ว ผมขี้เกียจตอบคุณ ต่อไปนี้ผมจะตอบแต่นโยบายอย่างเดียว ผมสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไปถามเขา” นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายว่า หลังการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวได้กล่าวขอบคุณนายกฯ โดยนายกฯ หันมาถามกลับว่า “ทำไม ไล่เหรอ ไม่ได้โมโห วันนี้จะพูดบอกว่าไม่โมโห นี่ไม่ได้โมโหแล้วนะ” จากนั้นนายกฯ เดินออกจากโพเดียม และหันไปเอ่ยปากขอโทษ พร้อมบอกว่า “ขอโทษนะอีหนูเอ้ย” จากนั้นได้สอบถามหาผู้สื่อข่าวที่ซักถามตนในเรื่องยางชื่ออะไร เมื่อได้เห็นหน้า ได้ทราบชื่อและสังกัดแล้วซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้ตะโกนเรียกให้มาหาพร้อมชี้ไปยังเจ้าหน้าที่แล้วหยอกล้อว่า “ส่งไปเป็นที่ปรึกษากระทรวงเกษตรฯ หน่อยวะ”






พี่สาวผู้เสียชีวิตเหตุฆาตกรรมเกาะเต่าเตือนเมืองไทยไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด

พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ The Mirror (อ่านข่าว) เมื่อ 11 มกราคมที่ผ่านมา รายงานความเห็นของพี่สาว ฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ ที่เขียนหลังเกิดเหตุนักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรมาเสียชีวิตล่าสุดที่เกาะเต่า ทั้งนี้ความเห็นล่าสุดของครอบครัวผู้เสียชีวิตเหตุฆาตกรรมเกาะเต่ากลายเป็นข่าวที่สื่อหลายฉบับในสหราชอาณาจักรนำเสนอในช่วงต้นสัปดาห์นี้

หลังมีนักท่องเที่ยววัย 26 ปี จากอังกฤษเสียชีวิตล่าสุดที่เกาะเต่า ทำให้ 'ลอว์รา วิทเธอริดจ์' พี่สาวของ 'ฮันนาห์' ผู้เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมเกาะเต่า เขียนสเตตัสเตือนว่าเมืองไทยไม่ได้สวยงามอย่างที่มีคนกล่าวถึง โดยเปิดเผยถึงสิ่งที่ครอบครัวของเธอเผชิญเมื่อต้องมาเมืองไทยเพื่อพา “ฮันนาห์” กลับบ้าน การปฏิบัติของตำรวจและสื่อมวลชน การมีผู้เสนอ “ค่าชดเชย” เพื่อให้ครอบครัวของเธอเงียบ รวมทั้งยังเปิดเผยด้วยว่าถูกขู่ฆ่า

12 ม.ค. 2559 หลังเกิดเหตุเสียชีวิตล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่เกาะเต่า โดยนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรอายุ 26 ปีชื่อ ลุค มิลเลอร์ (Luke Miller) ถูกพบศพในสระว่ายน้ำของโรงแรมที่เขาพัก (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องในข่าวสด และ เทเลกราฟ) โดยนามสกุลของผู้เสียชีวิตนั้นพ้องกับ เดวิด มิลเลอร์ (David Miller) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองผู้เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมเกาะเต่าเมื่อเดือนกันยายนปี 2557 นั้น
ต่อมา ลอว์รา วิทเธอริดจ์ (Laura Witheridge) พี่สาวของฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ (Hannah Witheridge) ผู้เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมเกาะเต่า ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 10 มกราคม โดยอ้างถึงเหตุล่าสุดที่มีนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรเสียชีวิตที่เกาะเต่า โดยเขียนเตือนถึงความอันตรายของประเทศไทย สิ่งที่เธอและครอบครัวเผชิญเมื่อมาเมืองไทยเพื่อ “พาฮันนาห์กลับบ้าน” รวมไปถึงมีผู้เสนอ “ค่าชดเชย” เพื่อให้ครอบครัวนี้เงียบ รวมทั้งการถูกขู่ฆ่า การส่งภาพในที่เกิดเหตุมารบกวน โดยท้ายสเตตัสลอว์ราขอให้ผู้ที่เห็นข้อความแชร์ได้ตามอัธยาศัย สำหรับสเตตัสของลอว์รา วิทเธอริดจ์ มีดังนี้
“อย่างที่พวกท่านอาจจะได้เห็นแล้ว – มีเหตุเสียชีวิตเกิดขึ้นกับบุคคลจากสหราชอาณาจักรที่เกาะเต่า ก่อนหน้านี้ฉันไม่ได้จะโพสต์อะไร จนกระทั่งล็อกอินเข้ามาในเช้านี้เพื่อที่จะเห็นเพื่อนคนหนึ่งได้แชร์ลิ้งเตือนผู้คนว่าอย่าไปที่นั่นเลย … ซึ่งไม่ใช่การแชร์ลิ้งหรือคำเตือนที่ชักนำให้เกิดสเตตัสยาวๆ นี้ โดยที่ฉันหวังว่าผู้คนจะแชร์สิ่งนี้และพยายามและเตือนผู้คนไปให้ไป … แต่กลับเป็นความเห็นจากบางคนที่ไม่ยอมรับรู้อะไร เขียนบอกว่าประเทศไทยนั้น 'เป็นดินแดนที่สวยที่สุดในโลก' สิ่งนี้ทำให้ฉันขุ่นเคืองมากในเช้านี้
อาจจะเป็นความสวยงามสุนทรียะ แบบในโปสการ์ดหรือภาพถ่ายหรือ … อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้ว … ฉันขอไม่เห็นด้วย หลายสิ่งที่ 'ดู' สวยงาม คุณเพียงแค่พิจารณาถึงสิงโต หรือเสือ … สวย เวลาที่มองเห็น, ใช่ … แต่เมื่อเข้าไปใกล้เกินไป และพวกมันก็จะฉีกเธอเป็นชิ้น และป้อนให้ลูกกินเป็นอาหาร ประเด็นของฉันก็คือความงามสุนทรียะสามารถทำให้คุณติดกับดักสุดอันตราย
นับตั้งแต่ฮันนาห์ถูกพรากจากพวกเราไป ฉันเองยังถูกสอบถามเรื่อยมาว่าเมื่อไหร่ฉันจึงจะเตือนชาวโลกเกี่ยวกับความอันตรายของประเทศไทย … ฉันถูกถามว่าฉันจะเตือนผู้คนหรือไม่ เพียงเพื่อที่จะ 'รักษาชีวิตใครบางคน' เอาไว้ ความเห็นของบุคคลนี้เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์หนึ่งว่า เพราะเหตุใดฉันถึงอาจจะเสียเวลาของฉัน ผู้คนสามารถที่จะเมินเฉยและบางทีคนส่วนใหญ่ก็อาจจะมีความทรงจำที่สั้นมากๆ เป็นเวลานับครั้งไม่ถ้วนที่ฉันล็อคอินเข้ามาเฟซบุ๊คและเห็นสเตตัสที่เกิดจากคนที่รู้จักทั้งฮันนาห์และฉัน ผู้ที่ออกไปจากที่นั่นแล้ว พวกเขาอาจจะคิดว่าสิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นกับพวกเขา … ดี, ทายสิ? ทายไม่ถูกใช่ไหม ไม่มีใครที่ได้รับการยกเว้น คนไทยจำนวนมากเกลียดชาวตะวันตก และพวกเขาก็ไม่คำนึงถึงชีวิตมนุษย์ ฉันไม่ได้พูดถึงสิงนี้อย่างไม่เอาใจใส่หรือไม่มีเหตุผล โปรดให้ฉันแสดงข้อมูลเล็กน้อยให้คุณเกี่ยวกับสถานที่ “สวยงาม” แห่งนี้ที่พวกคุณกล่าวถึง ...
“คุณจะประหลาดใจไหม หากฉันจะบอกกับคุณว่า ในความเห็นของคนไทย การมียาเสพติดไว้ในครอบครองครอบครองเป็นสิ่งผิดกฎหมายกว่าการข่มขืนและฆาตกรรม? หรือว่าส่วนใหญ่ของตำรวจไทยคอร์รัปชั่น? ถ้าหากฉันบอกคุณว่า เมื่อฉันเดินทางไปประเทศไทยเพื่อพาฮันนาห์กลับบ้าน เราได้รับเชิญจากกองบัญชาการตำรวจสำหรับ “การอัพเดตอย่างเป็นทางการ” … แต่ว่า เมื่อเราไปถึง เราถูกนำไปที่ห้องขนาดใหญ่ ทิ้งเราไว้ 5 นาทีก่อนที่ประตูจะเปิดและมีนักข่าวราว 200 คนได้รับอนุญาตให้เข้ามาในห้อง แะพวกเราก็ถูกถล่มด้วยม็อบนักข่าวผู้หิวโหยเอากล้องกระแทกหน้าพวกเรา … ผู้บัญชาการตำรวจไทยไม่ได้ตั้งใจจะอัพเดตอะไรให้พวกเราฟังเลย และในที่สุด การสืบสวนที่ล้มเหลวทำให้เขาไม่มีอะไรที่จะบอกพวกเรา คำเชิญนั่นก็เป็นโอกาสให้กับสื่อมวลชนมาถ่ายรูปครอบครัวของเรา ลิ้งนี้แสดงให้เห็นหลักฐานของเรื่องนี้ http://bangkok.coconuts.co/2015/12/24/we-need-digest-trial-outcome-says-hannah-witheridges-family 
ถ้าหากฉันบอกคุณว่า นับตั้งแต่ที่พวกเราสูญเสียฮันนาห์ ก็ได้เกิดเหตุเสียชีวิตแบบน่าสงสัยขึ้นอีกบนเกาะเต่า คุณอาจจะไม่เคยได้ยินทุกเหตุการณ์ เพราะทุกเหตุการณ์ไม่ได้เกิดกับคนสัญชาติบริเตนใหญ่ ผู้ที่เสียชีวิต ถ้าเป็นไปได้ ก็ถูกปกปิดไปเสียว่าฆ่าตัวตาย หรืออุบัติเหตุ สิ่งนี้อาจจะเกิดกับฮันนาห์ก็ได้ ถ้าไม่ได้เกิดกับสิ่งที่โหดร้ายป่าเถื่อนขึ้นกับความตายของเธอ ฉันสงสัยอย่างยิ่งว่า กับโศกนาฏกรรมล่าสุดนั้น คนไทยจะพูดว่าเป็นอุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิตสาเหตุมาจากยาเสพย์ติด พยายามซ่อนความจริงและสร้างเรื่องที่สอดคล้องอย่างที่พวกเขาทำบ่อยๆ … ขอส่งกำลังใจของฉันให้กับครอบครัวและมิตรของลุค มิลเลอร์
ถ้าหากฉันบอกคุณว่า ฉันถูกขู่ฆ่าจากคนไทย นับตั้งแต่น้องสาวของฉันถูกฆาตกรรมล่ะ? พวกเขาขีดเขียนรูปของฉันและบอกว่า ฆาตกรรมเพิ่งทำสำเร็จไป “ครึ่งหนึ่ง” … ถ้าหากฉันบอกคุณว่ามีคนแสดงความเห็นในภาพเหล่านี้ และบอกว่า “ยังมีเวลา” และ “ติ๊กต็อกติ๊กต็อก” ถ้าหากฉันบอกคุณว่าฉันได้รับภาพจากที่เกิดเหตุล่ะ? ถ้าหากฉันบอกคุณว่าฉันถูกไล่ตามในรถของฉันล่ะ? ถ้าหากฉันบอกคุณว่ามีคนไทยเสนอ “ค่าชดเชย” ให้กับพวกเรา เพื่อพยายามทำให้พวกเราเงียบล่ะ? พวกเรารู้สึกสะอิดสะเอียนอย่างยิ่งและได้ปฏิเสธพวกเขา
ถ้าหากฉันบอกคุณว่า เดี๋ยวนี้ฉันกลัวเงาของตัวเองเพียงไหน? เงาซึ่งฉันมองข้ามไหล่อยู่เป็นนิจ? ฉันเหนื่อย แต่ฉันกลัวที่จะหลับเพราะฝันร้าย? ฉันคิดถึงน้องสาวเหลือเกิน หัวใจของฉันหนักอึ้ง และจิตใจก็อ่อนล้า ถ้ายังคุณยังคงคิดว่าประเทศไทยสวยงาม? คำตอบของคุณยังคงบอกว่า 'ใช่' ฉันขอแนะนำให้คุณชมคลิปนี้"
ทั้งนี้ในตอนท้าย ลอว์ราได้แชร์คลิปแถลงการณ์ “Koh Tao Murder - Thai Police, their scapegoates and tourist trade - Exposed by Anonymous” ของกลุ่ม anonymous4justice ซึ่งเผยแพร่หลังคำพิพากษาเกาะเต่าเมื่อ 3 ม.ค. ด้วย และเชิญชวนให้แชร์โพสต์นี้ตามอัธยาศัย
อนึ่งสเตตัสของลอว์รา มีการแก้ไขด้วยโดยมีการตัดข้อความ 3 ประโยคออก ที่ระบุว่าเป็นข้อความจากศาลและเจ้าหน้าที่ศาลพูดกับครอบครัวของเธอในวันที่มีการพิจารณาคดี ในขณะที่สื่อของอังกฤษซึ่งเห็นข้อความดังกล่าว ได้รายงานข่าวนี้โดย Skynews พาดหัวข่าวว่า "เจ้าหน้าที่ไทยพูดจาดูถูกครอบครัวผู้ถูกฆาตกรรมชาวบริเตน" The Mirror พาดหัวข่าวว่า "พี่สาวของ ฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ แบคแพคเกอร์ผู้ถูกฆาตกรรมอ้างว่าเจ้าหน้าที่ไทยซึ่ง "คอร์รัป" บอกเธอว่า "อย่าจู้จี้" ส่วน The Sun พาดหัวข่าวว่า "'ก็มีใหม่อีกคน': 'เจ้าหน้าที่ไทย' ตอบอย่างแปลกๆ ต่อพ่อแม่ของฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ หลังจากเธอถูกข่มขืนและฆ่าบนเกาะเต่า" ... ฯลฯ
ทั้งนี้เป็นท่าทีล่าสุดจากครอบครัวผู้เสียชีวิตคดีฆาตกรรมเกาะเต่า ภายหลังมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ประหารชีวิตจำเลย 2 รายที่เป็นชาวพม่าเมื่อ 24 ธันวาคม 2558 โดยก่อนหน้านี้ครอบครัววิทเธอริดจ์ ออกแถลงการณ์หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาความว่า "ในโอกาสที่การพิจารณาคดีสิ้นสุดและศาลได้มีคำพิพากษา ครอบครัวของเรารู้สึกอยู่ในหนทางของลมพายุของอารมณ์และความยากลำบากอีกครั้ง หนึ่ง ในช่วงเวลาที่ท้าทายเหล่านี้ เราจะมุ่งพยายามจดจำความสวยงามของฮันนาห์ ผู้เป็นคนที่สนุกสนาน มีชีวิตชีวาและน่าเหลือเชื่อ
หากว่าชีวิตของเธอไม่ได้พบกับ โศกนาฏกรรมและถูกตัดให้สั้นโดยใช่เหตุ ตอนนี้เธอคงจะจบปริญญาโทด้านอรรถบำบัดและเริ่มทำงานที่มีคุณค่า และเธอคงสามารถเข้าไปเปลี่ยนชีวิตของหลายๆ คน จากจุดเริ่มต้นของการอุทิศและความหลงใหลด้านอรรถบำบัด ประกอบกับเสียงตอบรับที่เธอเคยได้รับระหว่างการเรียน มหาวิทยาลัยแห่งเอสเส็กซ์ยังมอบรางวัลด้านการรักษายอดเยี่ยมเพื่อเป็นการระ ลึกถึงฮันนาห์ โดยใช้ชื่อว่า "รางวัลการรักษายอดเยี่ยม ฮันนาห์ วิทเธอร์ริดจ์" ซึ่งฮันนาห์จะเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ในฐานะครอบครัวของเธอ พวกเรารู้สึกซาบซึ้งสำหรับคำยกย่องที่สวยงามสำหรับฮันนาห์นี้ ในฐานะที่เธอเป็นผู้อุทิศตนและตั้งใจทำงาน
ปีที่ผ่านมาเป็น เวลาที่แทบจะคาดไม่ถึงสำหรับครอบครัวของเรา เราเห็นว่ากระบวนการพิจารณคดีนั้นมีความยากอย่างที่สุด และการเดินทางมาประเทศไทยเพื่อขึ้นศาลยังสร้างประสบการณ์ที่เจ็บปวด มันเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการรับฟังการพิจารณาคดี และเรายังต้องอดทนต่อความเจ็บปวดและข้อมูลที่สับสน และในฐานะครอบครัว ในตอนนี้เราต้องการเวลา เพื่อทำความเข้าใจผลของการพิจารณาคดี และหาทางที่เหมาะสมที่สุดในการบอกเรื่องราวของเรา" (อ่านใน ข่าวสด, 25 ธ.ค. 2558)

จับตาวาระ กทค.: กองทัพฟ้องแผนแม่บท กสทช.


กองทัพฟ้องแผนแม่บท กสทช., AIS ขอขยายเยียวยาคลื่น 900, ไทยคมขอรับใบอนุญาตดาวเทียม, ปรับปรุงเงื่อนไขมาตรฐานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม, กฤษฎีกาตีความสิทธิใช้คลื่น 900
การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 1/2559 วันอังคารที่ 12 มกราคม 2559 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา คือ เรื่องขอรับนโยบายกรณีกองบัญชาการกองทัพไทยยื่นฟ้องสำนักงาน กสทช. และ กสทช. เรื่องการขอขยายกำหนดสิ้นสุดมาตรการเยียวยาคลื่น 900 MHz ของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เรื่อง บมจ. ไทยคมขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม และเรื่องการปรับปรุงเงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ส่วนวาระเพื่อทราบที่น่าสนใจในการประชุมครั้งนี้ คือ เรื่องความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายในการใช้คลื่นย่าน 900 MHz และเรื่องการดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
วาระขอรับนโยบายกรณีกองบัญชาการกองทัพไทยยื่นฟ้องสำนักงาน กสทช. และ กสทช.
วาระนี้เป็นเรื่องสืบเนื่องจากกรณีที่กองบัญชาการกองทัพไทยยื่นฟ้องสำนักงาน กสทช. และ กสทช. ต่อศาลปกครองกลางในประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2558) และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ (พ.ศ. 2558) ด้วยเหตุผลว่าการออกประกาศฉบับนี้ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้คลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงของประเทศ เพราะมีการกำหนดให้กิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นกิจการรองในคลื่นความถี่ย่าน 50 – 54 MHz ขณะที่ในปัจจุบันทางกองทัพใช้เครื่องวิทยุสื่อสารสำหรับปฏิบัติการทางทหารของเหล่าทัพต่างๆ ในย่านความถี่ 30 – 87 MHz ซึ่งรวมถึงย่านความถี่ 50 – 54 MHz นี้ด้วย ดังนั้นในคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางจึงต้องการขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกิจการวิทยุสมัครเล่นในคลื่นความถี่ย่านนี้ออกจากประกาศ ซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนที่ศาลรับคำฟ้อง แต่ยังไม่ได้มีการประทับรับฟ้องไว้พิจารณา
อันที่จริงแรกเริ่มเดิมที เนื้อหาของร่างประกาศฉบับนี้ที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 17/2558 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ได้มีการยกเลิกการกำหนดให้กิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นกิจการรองของการใช้งานย่านความถี่ 50 – 54 MHz ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยมีผู้เห็นด้วยกับการยกเลิกราว 30,000 ราย ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีจำนวน 635 ราย แต่ปรากฏว่าในการประชุมครั้งดังกล่าว กทค. ได้มีการลงมติด้วยเสียงข้างมากให้กำหนดกิจการวิทยุสมัครเล่นไว้เป็นกิจการรองต่อไปจนกว่าผลการศึกษาการใช้งานคลื่นความถี่ร่วมกันระหว่างกิจการและการแก้ไขเชิงอรรถระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องจะแล้วเสร็จ มีเพียง กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ลงมติเป็นเสียงข้างน้อยเสียงเดียว โดยได้สงวนความเห็นไว้ในการประชุมว่า “หาก กทค. จะมีการใช้ดุลยพินิจในแนวทางที่แย้งกับสิ่งที่สำนักงาน กสทช. เสนอตามผลการรับฟังความคิดเห็น ก็ควรต้องมีเหตุผลสนับสนุนที่ชัดเจนและมีน้ำหนักดีพอสมควร อีกทั้งควรกำหนดมาตรการให้สำนักงาน กสทช. สอบถามและขอความเห็นจากหน่วยงานความมั่นคงเสียก่อน ในฐานะที่เป็นฝ่ายสนับสนุนหลักให้ตัดส่วนของกิจการวิทยุสมัครเล่นออก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้” อย่างไรก็ดี ในที่สุดมติที่ประชุม กทค. ครั้งดังกล่าว ซึ่งเป็นบรรทัดฐานให้เกิดมติ กสทช. ในลำดับถัดมา ก็กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการฟ้องร้องขึ้นจนได้ ซึ่งในการจัดทำวาระของสำนักงาน กสทช. เข้าที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาในครั้งนี้ ก็เพื่อขอรับนโยบายจาก กทค. ว่าจะให้สู้คดีต่อไปหากศาลปกครองกลางมีคำสั่งประทับรับฟ้อง หรือจะชิงแก้ไขประกาศโดยตัดในส่วนของกิจการวิทยุสมัครเล่นความถี่ย่าน 50 – 54 MHz ออกไปเพื่อยุติเหตุแห่งการฟ้องเสีย
วาระเรื่องการขอขยายกำหนดสิ้นสุดมาตรการเยียวยาคลื่น 900 MHz ของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
วาระนี้สืบเนื่องจาก บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส มีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 4 มกราคม 2559 ขอให้พิจารณากำหนดมาตรการให้การคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันยังมีผู้ใช้บริการของบริษัท (End User) ที่ยังไม่ได้โอนย้ายเลขหมายออกจากระบบประมาณ 1 ล้านเลขหมาย และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นที่ต้องใช้บริการเครือข่ายร่วม (Roaming) อีกประมาณ 10 ล้านเลขหมาย โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้บริการที่อยู่ในพื้นที่ชนบทและใช้เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2จี หากประสงค์จะใช้เลขหมายเดิมก็จะต้องดำเนินการโอนย้ายเลขหมายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นพร้อมกับต้องเปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และหากดำเนินการโอนย้ายผ่านศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Clearing House) ก็คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในขณะที่ก่อนหน้านี้ กทค. ครั้งที่ 34/2558 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 ได้เคยมีมติกำหนดสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการหรือมาตรการเยียวยาฯ เมื่อมีการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ให้แก่ผู้ชนะการประมูลรายใดรายหนึ่งแล้วเสร็จ ซึ่งหมายความว่าหากมีผู้ชนะการประมูลรายใดชำระเงินประมูลและปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วนแล้วเสร็จ ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่ผู้ชนะการประมูลรับได้แจ้งผลการประมูล การคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ก็จะถือเป็นอันสิ้นสุด และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ไม่มีสิทธิใช้คลื่นย่านนี้เพื่อให้บริการอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม การสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีของคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz นี้ แตกต่างจากคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ตรงที่ผู้ชนะการประมูลบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ยังคงเป็นผู้ให้บริการรายเดิม จึงยังสามารถให้บริการได้ต่อเนื่อง แต่ในกรณีนี้ผู้ชนะการประมูลย่านคลื่นในช่วงนี้คือ บจ. แจส โมบาย บรอดแบนด์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ และอาจยังไม่มีความพร้อมเปิดให้บริการได้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ต้องจัดสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ครอบคลุมพื้นที่ใช้บริการ ดังนั้นจึงย่อมเกิดผลกระทบกับผู้ใช้บริการที่ไม่สามารถโอนย้ายเลขหมายออกจากระบบได้ทัน
วาระนี้น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะเป็นโจทย์ยากว่า กทค. จะพิจารณาและดำเนินการอย่างไรต่อไปบนฐานอำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ โดยไม่กระทบสิทธิของผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตรายใหม่ ขณะเดียวกันก็ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการน้อยที่สุด
วาระ บมจ. ไทยคมขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม
บมจ. ไทยคม มีหนังสือลงวันที่ 29 กันยายน 2558 ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม สำหรับให้บริการโครงข่ายการสื่อสารผ่านดาวเทียม ซึ่งในชั้นนี้เพื่อขอเป็นผู้รับใบอนุญาตไปประสานงานตำแหน่งการใช้งานวงโคจรดาวเทียมที่ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก ซึ่งการขอรับใบอนุญาตในครั้งนี้หากจัดส่งเอกสารหลักฐานการขอรับใบอนุญาตถูกต้องและครบถ้วน ก็ไม่น่าติดปัญหาอะไร โดยในอดีตก็เคยมีการอนุญาตในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ไปแล้ว เพื่อให้ บมจ. ไทยคม เป็นผู้ประสานงานตำแหน่งการใช้งานวงโคจรดาวเทียมที่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก และ 78.5 องศาตะวันออก อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนคือขอบเขตของการอนุญาตครั้งนี้ หมายรวมถึงผู้ประกอบการมีสิทธิใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ด้วยหรือไม่ เพราะมาตรา 45 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 กำหนดว่า ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ ดังนั้นจึงควรส่งประเด็นดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. พิจารณาให้ความเห็นเพื่อความชัดเจนด้วย
วาระปรับปรุงเงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม
สำนักงาน กสทช. เสนอวาระขอปรับปรุงเงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยปัจจุบันตามประกาศ กทช. เรื่อง เงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม มีเงื่อนไขในการอนุญาตทั้งสิ้น 11 ฉบับ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มีสาระไม่แตกต่างกันนัก และมีข้อกำหนดเงื่อนไขที่ซ้ำซ้อน รวมทั้งข้อกำหนดในเงื่อนไขบางประการไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่ยากปฏิบัติตาม ขณะเดียวกันปัจจุบันก็มีกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกโดย กสทช. ดังนั้นจึงถึงคราวสมควรที่จะมีการปรับปรุงให้ทันกับสภาวะแวดล้อมในการกำกับดูแลที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในวาระนี้สำนักงาน กสทช. เสนอขอปรับปรุงเงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก 11 ฉบับ ยุบรวมเหลือ 2 ฉบับ คือ เงื่อนไขสำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่าย และเงื่อนไขสำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่าย ซึ่งการปรับปรุงเงื่อนไขในครั้งนี้ คาดว่าจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการสามารถขอรับใบอนุญาตได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
วาระเพื่อทราบเรื่องความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสิทธิการใช้คลื่นย่าน 900 MHz และการปรับเปลี่ยนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 1/2559 มีวาระเพื่อทราบที่น่าสนใจ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายในการใช้คลื่นย่าน 900 MHz เรื่องนี้มีเหตุจากที่ บมจ. ทีโอที ขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นสิทธิการใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz โดยปมพิพาทนี้เกิดจากการที่ กสทช. เห็นว่าเมื่อสัญญาสัมปทานหมดลง สิทธิการใช้คลื่นความถี่ของรัฐวิสาหกิจก็สิ้นสุดลงด้วย โดยต้องคืนคลื่นความถี่กลับมาเป็นของประเทศ และ กสทช. มีหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดสรรคลื่นให้ประชาชนได้ใช้บริการ แต่ฝั่ง บมจ. ทีโอที ไม่เห็นด้วย โดยมองว่าบริษัทฯ ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่จากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ (กบถ.) แบบไม่มีกำหนดเวลา จึงมีสิทธิในการบริหารคลื่นความถี่ต่อไป ด้วยเหตุนี้ บมจ. ทีโอที จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ
สำหรับผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีหนังสือแจ้งมายังสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2558 ชี้ว่า “เมื่อสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่าง บมจ. ทีโอที กับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส สิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2558 สิทธิตามกฎหมายของ บมจ. ทีโอที ในการใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จึงสิ้นสุดลงตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฯ และต้องคืนคลื่นดังกล่าวให้แก่ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่” นั่นย่อมหมายถึงว่า การที่ กสทช. นำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ไปจัดสรรด้วยวิธีการประมูลเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีความถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนวาระเพื่อทราบที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ การดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ซึ่งมติ กทค. ในการประชุมครั้งที่ 24/2558 วันที่ 30 กันยายน 2558 เห็นชอบแนวทางการดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้งานคลื่นความถี่ โดยให้ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และ บจ. ดิจิตอลโฟน ดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้งานคลื่นความถี่ช่วงที่หนึ่งขนาด 2X25.3 MHz จากเดิม 1722.6 – 1747.9 MHz คู่กับ 1817.6 – 1842.9 MHz เป็น 1740 – 1765.3 MHz คู่กับ 1835 – 1860.3 MHz เพื่อใช้ในการให้บริการภายใต้สัญญาร่วมการงานระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม กับ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ในครั้งนี้จึงเป็นกรณีที่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น รายงานผลการดำเนินการปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่มายังสำนักงาน กสทช. ว่าได้ดำเนินการปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่แล้ว และในเบื้องต้นสำนักงาน กสทช. ยังไม่ได้รับรายงานผลการรบกวนหรือข้อร้องเรียนจากผู้ใช้บริการแต่อย่างใด

รบ.จ่อผุด '1 ตำบล 1 SME' โวเป็นครั้งแรกของประเทศ - สมคิดดัน '1 ตำบล 1 แหล่งท่องเที่ยว'

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

พล.ต.สรรเสริญ เตรียมส่งเสริม  '1 ตำบล 1 SME' อย่างครบวงจรตั้งแต่การให้ทุน ผลิต แปรรูป และจัดหาตลาด ชี้เป็นครั้งแรกของประเทศ ด้านสมคิดเผยแนวคิดให้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภายใต้โครงการ '1 ตำบล 1 แหล่งท่องเที่ยว'
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในปี 2559 นี้ รัฐบาลจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจในอยู่ในระดับที่เหมาะสมและควรจะเป็น รวมทั้งปฏิรูปเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตจากภายใน โดยมีมาตรการส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ (Tech Startup) เป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อขยายธุรกิจและตลาดใหม่ ยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้แข่งขันได้มากขึ้น รัฐบาลจะสร้างความตื่นตัวครั้งใหญ่ในเรื่อง Thailand Startup โดยจับมือทุกฝ่ายทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตร ดิจิทัล เทคโนโลยี และธุรกิจบริการ มาร่วมกันคิดและสร้างเจ้าของธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมตั้งแต่ระดับเล็ก กลาง ใหญ่ ช่วยให้เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่เป็นทางเลือกใหม่ของตลาด
สำหรับแนวทางที่รัฐบาลจะดำเนินการคือ การจัดตั้ง National Startup Center เชื่อมโยงบัญชีนวัตกรรมที่มีอยู่ในแต่ละกระทรวงและจดทะเบียน Startup ทั้งหมด ส่งเสริมให้ Startup เหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั้งจากธนาคารของรัฐและเอกชน รวมถึงมีกองทุนร่วมลงทุนให้เกิดความเข้มแข็ง สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ด้วยกันเอง หรือสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยเป็นผู้สนับสนุนความรู้ สิ่งสำคัญที่รัฐบาลคิดคือ การนำภาคเกษตรเข้าสู่ระบบนี้ เพราะต้องการปฏิรูปการเกษตรของประเทศให้มีมูลค่าสูงขึ้น และแก้ปัญหาเดิมๆ ที่มีอยู่ให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการส่งเสริม Startup เกษตรอุตสาหกรรมรายย่อยในท้องถิ่น “1 ตำบล 1 SME” อย่างครบวงจรตั้งแต่การให้ทุน ผลิต แปรรูป และจัดหาตลาด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศ
เล็งทำโครงการ1ตำบล1แหล่งท่องเที่ยว
วันเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายให้กับนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รวมถึงภาคเอกชนการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง ว่า ในช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตต่อเนื่องจากปี 2558 ซึ่งตนมองว่าควรใช้โอกาสนี้ พัฒนาส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ให้สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่เน้นดึงจำนวนนักท่องเที่ยวเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้อยากให้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ จัดไฟประดับให้สวยงาม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับยังมีแนวคิดให้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภายใต้โครงการ 1 ตำบล 1 แหล่งท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ได้เสนอให้ปรับเป้าหมายรายได้ปีนี้เป็น 2.4 ล้านล้านบาท จากเดิมคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีรายได้ 2.3 ล้านล้านบาท จากมาตรการส่งเสริมต่างๆ ที่รัฐบาลได้ส่งเสริมไป
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ตามนโยบายของนายสมคิด ททท.จะจัดมาตรการระยะสั้น ผ่านโครงการชิงโชคเงินรางวัลสูงสุดเดือนละ 1 ล้านบาท หากคนไทยใช้จ่ายภาคการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม บริษัททัวร์ภายในประเทศ และมีความเป็นไปได้ที่อาจมอบรางวัลบ้าน หรือรถยนต์เป็นรายไตรมาส เพื่อกระตุ้นให้คนไทยท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น คาดว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการได้เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ส่วนมาตรการระยะยาว จะเน้นเรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยื

พล.อ.ไพบูลย์ ยันรัฐบาลไม่ยุบ สสส. สั่งพักงานบอร์ดตามหลักการทุกอย่าง


ความเคลื่อนไหวต่อเนื่องหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ อาศัยอำนาจตามม.44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ค. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ที่ 1/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 โดยในจำนวนนั้น  ได้สั้งให้ 7 กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พ้นจากการเป็นกรรมการและการดำรงตำแหน่งในกองทุนดังกล่าว และให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการใหม่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง (อ่านรายละเอียด) เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา จนกระทั่งวานนี้(11 ม.ค.59) ขบวนการส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน (Thai Health Movement)  ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องรวม 20 องค์กร ร่วมกันแถลงข่าวหัวข้อ “กรณีการปลดบอร์ดสสส.และชะตากรรมกว่า 2,000 ชีวิต องค์กรภาคประชาชน หลัง สสส.ถูกแช่แข็งร่วม 3 เดือน รวมถึงยังถูกกรมสรรพากรไล่บี้ภาษีหนัก โดยระบุว่าคำสั่งดังกล่าว ชี้ไม่ชอบธรรม เนื่องจากไม่พบทุจริต โดย 15 ม.ค. นี้ ขบวนการฯ จะติดตามผลการประชุมของบอร์ด เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้จัดการสสส.คนใหม่ เห็นว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นกับสสส. จะเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งระบุด้วยว่าหากโครงการยังถูกแช่แข็งจะมีการฟ้องศาลปกครอง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้ (12 ม.ค. 59)  พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าวไทย  ถึงกรณีดังกล่าว ว่า ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวตามหลักการทุกอย่าง  คำสั่งพักงานของข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต 2 ชุดก่อนหน้านี้ ก็ได้ยึดตามหลักการเดียวกัน
ส่วนกรณีของ นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการของ สสส. ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมนั้น พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า  ควรจะเข้ามาพูดคุยกับคณะกรรมการตรวจสอบ ไม่ใช่การออกมาร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อ  ยืนยันว่าคณะกรรมการพร้อมจะให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่
“ผู้ที่มีรายชื่อรายใดเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถยื่นขอความเป็นธรรมได้ตามช่องทาง  ผมจะไม่ไปชี้แจงในเวทีข้างนอก เพราะการชี้แจงต้องประกอบไปด้วยองค์คณะทั้งหมด”  พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว พร้อมย้ำว่า การพิจารณาเป็นไปตามหลักการของกฎหมาย และให้ความเป็นธรรมกับทุกคน  ไม่มีการให้อภิสิทธิพิเศษต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่ง
สำหรับกรณีที่เครือข่ายภาคประชาชนเตรียมออกมาเคลื่อนไหว หากรัฐบาลยกเลิกสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นั้น พล.อ.ไพบูลย์  ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีแนวคิดที่จะยุบ สสส. เพราะ สสส. เป็นโครงการที่ดี แต่เรื่องใดที่เห็นว่าต้องปรับปรุงก็ต้องทำ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยให้แนวทางไปแล้ว ขอให้เข้าใจว่า ที่พบปัญหา ไม่ใช่ตัวโครงการ หรือคนที่เสียสละทำงาน แต่เป็นปัญหาในส่วนของการบริหารงบประมาณ ที่ต้องทำให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด และมองว่า คนที่ทำงาน ไม่ว่าจะทำงานมา 5 ปี หรือ 50 ปี ก็จะมีข้อบกพร่องด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น ทุกคนก็ต้องยอมรับการปรับปรุงนี้ด้วย
“การเคลื่อนไหวของอดีตบอร์ดทั้ง 7 คน อยากให้สื่อและสังคมพิจารณาเองว่า เหตุใดถึงมีปัญหาแค่เฉพาะกลุ่มนี้ ในขณะที่คนอื่นก็ยอมรับคำสั่ง ใครมีปัญหาเรื่องความเป็นธรรม ก็มาชี้แจงให้ถูกต้องตามระบบ ไม่ใช่ไปร้องอยู่ข้างนอก” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว  

กรธ. ขอสื่อ อย่าเพิ่งเข้าฟังการประชุม หวั่นแสดงความเห็นได้ไม่เต็มที่


รวมบรรยากาศการประชุมการยกร่าง รธน. กรธ. ขอสื่ออย่าเข้าฟัง ให้รอการแถลงอยู่ด้านนอก ชี้มีความยากลำบากในการทำงาน หากพูดเรื่องละเอียดอ่อน หากมีสื่ออยู่อาจทำให้ กรธ. แสดงความเห็นไม่เต็มที่
ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมอิมพีเรียล เลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นอกสถานที่ โดยเป็นการพิจารณารายมาตรา บรรยากาศในวันแรกนั้นระหว่างการประชุม ได้มีการเปิดให้สื่อมวลชนเข้าฟังการประชุมตลอดทั้งวัน แต่มีในช่วงหนึ่งที่ได้มีการขอความร่วมมือให้ผู้สื่อข่าวออกจากห้องประชุม และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ได้ทำการประชุมกันต่อไปอีก 1 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวในพื้นที่รายงานด้วยว่าในวันแรกที่มีการประชุม ได้มีการห้ามไม่ให้มีการบันทึกภาพและเสียงใดๆ ระหว่างการประชุม พร้อมทั้งมีการขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนให้รายงานข่าวเฉพาะภาพรวมเท่านั้น ขออย่ารายงานการดีเบต ถกเถียงกันระหว่าง กรธ.
ต่อมาในวันนี้ (12 ม.ค. 2559) เมื่อเวลา 10.00 น. ได้มีการขอความร่วมมือให้สือมวลชนรอฟังการแถลงข่าวภายนอกห้องประชุมเท่านั้น โดยไม่อนุญาติให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังการประชุม ซึ่งอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจ้งเหตุผลที่ไม่ให้สื่อมวลชนเข้าฟังการประชุม โดยระบุว่า มีความต้องการให้งานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ยังมีบางส่วนที่งานยังไม่คืบหน้า และบางประเด็นยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องการความชัดเจนภายในก่อน แล้วจึงจะมาแถลงให้สื่อมวลชนทราบ และการที่มีสื่อมวลชนอยู่ในห้องประชุมด้วย อาจทำให้ กรธ. รู้สึกว่าต้องระมัดระวังคำพูด อาจจะทำให้แสดงความคิดเห็นได้ไม่เต็มที ซึ่งถือเป็นเรื่องจิตวิทยาในการทำงาน