วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สหภาพยุโรปอัดประชามติไร้เสรี-เรียกร้องรัฐบาลไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจริงๆ


สหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ระบุว่าการออกเสียงประชามตินั้น ช่วงเวลารณรงค์มีข้อจำกัดเข้มงวดต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการห้ามอภิปรายและรณรงค์ พร้อมแนะนำว่าสิ่งสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องทำคือต้องยกเลิกการจำกัดเสรีภาพ เพื่อให้มีกระบวนการทางการเมืองที่เปิดเผย มีส่วนร่วม มีความรับผิดชอบ สร้างภาวะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแท้จริง เพื่อให้มีการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว

8 ส.ค. 2559 ภายหลังการออกเสียงประชามติเมื่อคืนวันที่ 7 ส.ค. นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ในเว็บไซค์ของสหภาพยุโรป มีการแถลงการณ์โดยโฆษกของ เฟเดริกา โมเกรินี ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เรื่องการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในประเทศไทย
โดยระบุว่า "เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รายงานว่า จากการลงประชามติ ประชาชนชาวไทยเป็นส่วนใหญ่ได้ออกเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาของการรณรงค์ ได้มีข้อจำกัดที่เข้มงวดเป็นอย่างมากต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งรวมไปถึงการห้ามจัดการอภิปรายและจัดการรณรงค์"
"มันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่การจำกัดเสรีภาพในปัจจุบันทั้งในด้านการแสดงออกและการชุมนุมนั้นถูกยกเลิก เพื่อให้สามารถมีกระบวนการทางการเมืองที่เปิดเผย มีส่วนร่วม และมีความรับผิดชอบ ทางสหภาพยุโรปยังคงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้รัฐบาลไทยสร้างสภาวะที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อที่นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปอย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลักทุกส่วนในประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมการอภิปรายอย่างมีส่วนร่วมและทำงานร่วมกันอย่างสันติ เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายนี้"

สมศักดิ์แย้งแถลงการณ์ NDM ย้ำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ประชามติหรือคำตัดสินของปชช.


8 ส.ค. 2559 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาโดยตลอด ได้โพสต์เฟซบุ๊กตัวเอง 'Somsak Jeamteerasakul' วานนี้ (7 ส.ค.59) หลังทราบผลอย่างไม่เป็นทางการของประชามติดังกล่าว เพื่อแย้งและชี้ว่าแถลงการณ์ของ  ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM ที่ประกาศยอมรับคำตัดสินของประชาชน นั้นมีปัญหา
โดยสมศักดิ์ ได้เริ่มจากการแสดงความนับถือต่อสมาชิก NDM โดยระบุว่าขอเรียนว่า "แถลงการณ์" นี้ และโดยเฉพาะภาพสไลด์นี้ "มีปัญหา" ได้โปรดพิจารณาข้อเสนอตนเกี่ยวกับประเด็นนี้ ไม่ควร "ล็อคตัวเอง" เข้ากับหลักการผิดๆ  มันมีผลต่อความเข้าใจของประชาชน
"ประชามติ หรือการเลือกตั้ง จะถือเป็น "คำตัดสินของประชาชน" ได้ ต่อเมื่อมันเป็นประชามติจริงครับ ‪สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่ใช่ประชามติในความหมายของคำนี้แน่นอน‬ นี่เป็นปัญหาเชิงหลักการเกี่ยวกับประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ประชามติที่สำคัญ" สมศักดิ์ กล่าว
 
สมศักดิ์ ระบุด้วยว่า ปัญหาว่า ในทางแท็คติก ในทาง "การเมือง" พวกคุณควรจะแก้ปัญหาการ "พาตัวเองเข้าไปล็อค" กับสิ่งที่เรียกว่า "ประชามติ" ในระดับหนึ่ง โดยการรณรงค์เข้าร่วมโหวตโน เป็นประเด็นที่ยุ่งยากอยู่ แต่โปรดอย่าล็อคตัวเองซ้ำเข้าไปอีกในปัญหาเชิงหลักการที่คลาดเคลื่อนในลักษณะนี้‬ ในไม่กี่วันข้างหน้าจากนี้ ตนเดาว่า คงมีการเชิญคุณโรม และเพื่อนๆ คนอื่นไปออกทีวี ฯลฯ ตนอยากให้ลองคิดให้รอบคอบ ถ่องแท้ก่อน "แถลงการณ์" นี้มีปัญหาแน่ และถ้าการพูดต่อไปจากนี้ ยังคงยืนตามแถลงการณ์นี้เป๊ะๆ จะเป็นการ "ล็อคตัวเอง" และที่สำคัญ ทำให้ปัญหาทางหลักการเกี่ยวกับประชามติเสียไปด้วย
 

ชี้ไม่ใช่ประชามติหรือคำตัดสินของประชาชน

ต่อมาวันนี้(8 ส.ค.59) สมศักดิ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กดังกล่าวต่อว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวาน ‪‎ไม่ใช่ประชามติ‬ "เสียง" เมื่อวาน ‪ไม่ใช่‬ "คำตัดสินของประชาชน" การไม่ยอมรับ ‪ไม่ใช่การใช้‬ "ตรรกะแบบพันธมิตร" "ไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่"
สมศักดิ์ กล่าวว่า นี่เป็นปัญหาหลักการที่แม้แต่ระดับแอ๊คติวิสต์จนบัดนี้ก็ยังไม่เข้าใจ ปัญหาใหญ่ที่ตนแย้งคนที่รณรงค์โหวตโนโดยตลอดคือ เข้าสู่การรณรงค์โดยไม่เข้าใจประเด็นปัญหาเชิงหลักการสำคัญๆอย่างแท้จริง ตั้งแต่ว่า อะไรคือ "ประชามติ" อะไรคือ "การใช้สิทธิ์" หรือ "ทับสิทธิ์" และพอระดับแอ๊คติวิสต์เองไม่เข้าใจแล้ว ก็ไปส่งเสริมความไม่เข้าใจที่มีอยู่แล้วอย่างกว้างขวางในหมู่ "มวลชน" เองด้วย
 
สมศักดิ์ เล่าด้วยว่า เมื่อวานที่ตนได้เถียงกับจรัล ดิษฐาอภิชัย และที่ตนแย้งแถลงการณ์ของ NDM หลายคนคงไม่สบายใจ และจากคอมเม้นท์มีหลายคนพลอยหมั่นไส้หรือไม่พอใจตน แต่ประเด็นนี้มันเรื่องซีเรียสมากๆ คือถ้าแม้แต่คนระดับจรัล ยังคิดว่าถ้าเราไม่ยอมรับสิ่งที่เรียกว่า "ประชามติ" เมื่อวาน ก็จะเป็นการ "ใช้ตรรกะแบบพันธมิตรร้อยเปอร์เซนต์" หรือการที่ NDM บอกว่า "เคารพคำตัดสินของประชาชน" เป็นอะไรที่น่าตกใจมากๆ คือสะท้อนว่า แม้แต่ระดับแอ๊คติวิสต์ที่มีบทบาทมากๆ ก็ไม่เก็ตประเด็นที่เป็นใจกลางของประชาธิปไตย อะไรคือการเลือกตั้งหรือประชามติในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่สักแต่ว่ามี "เสียงข้างมาก" ก็ถือว่า "ต้องยอมรับ" อันนี้ ความจริง ตนคิดว่ามันสะท้อนข้อจำกัดทางวัฒนธรรม-ความเข้าใจการเมืองของคนเสื้อแดงอาจจะส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ ที่คิดว่า ขอเพียง "ได้เสียงข้างมาก" ก็ "จบ"
 

ไม่ใช่ดูที่ผลแต่ต้องดูที่กระบวนการชอบธรรมหรือไม่

"ตามหลักประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น ไม่ใช่ดูที่ "ผล" ว่า ใคร "ได้เสียงข้างมาก" ‪แต่ดูที่กระบวนการทั้งหมดของการได้ผลนั้นมา‬ ว่า valid หรือชอบธรรมหรือไม่ ถ้ากระบวนการทั้งหมดไม่ valid ไม่ชอบธรรม ผลที่ได้ก็ไม่ใช่ "คำตัดสินของประชาชน" และการไม่ยอมรับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่การ "ใช้ตรรกะแบบพันธมิตร" ถ้าดูแค่ที่ "ใครได้เสียงข้างมาก" ก็จบ เกาหลีเหนือ จีน อิหร่าน และประเทศเผด็จการอำนาจนิยมอีกสารพัด ก็มี "การเลือกตั้ง" ก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว" สมศักดิ์ กล่าว
 

สำหรับแถลงการณ์ของ NDM ที่สมศักดิ์ แย้งมีดังนี้ :

แถลงการณ์ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)

เรื่อง แนวทางของขบวนการภายหลังผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่เป็นทางการ

ตามที่ผลการลงคะแนนออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อย่างไม่เป็นทางการออกมาเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ประชาชนผู้ออกเสียงส่วนใหญ่ได้ลงคะแนนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามตินั้น

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอยืนยันในแนวทางการรณรงค์ของเรา ว่าเราเคารพในเสียงของประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด คิดเห็นอย่างไร และพร้อมยอมรับการตัดสินใจของประชาชนไม่ว่าจะเป็นเช่นไร เพราะนี่คือการตัดสินใจที่เกิดจากผู้ที่เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศอย่างเท่าเทียมกัน

กว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้ทำกิจกรรมรณรงค์เผยแพร่ข้อเสียและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากร่างรัฐธรรมนูญนี้อย่างสม่ำเสมอ เราเอาตัวเองเข้าร่วมแข่งขันในกติกาอันไม่เป็นธรรม เราต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคามนานัปการจากอำนาจเผด็จการ แม้เราจะต้องพานพบกับความไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราจะนำมาใช้เป็นข้อแก้ตัว ผลการออกเสียงประชามติในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า เรายังพยายามไม่มากพอ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ยังต้องทุ่มเทยิ่งกว่านี้ ทำงานให้หนักกว่านี้ พัฒนาไปให้มากกว่านี้

แม้ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะผ่านการออกเสียงประชามติไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผู้ใดที่ได้รับความเดือดร้อนจากระบอบเผด็จการอีก ไม่ได้หมายความว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง และไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยได้จริง

ดังนั้นหลังจากนี้ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงขอยืนยันที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการต่อสู้เรียกร้องระบอบประชาธิปไตย พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และต่อต้านการกระทำอันไม่ถูกต้องของเผด็จการทหารต่อไป เราจะไม่ย่อท้อเพียงเพราะความผิดหวังแค่ครั้งเดียว ในวันนี้หนทางสู่ประชาธิปไตยอาจดูยาวไกล แต่เราเชื่อว่าหากเราไม่หยุดนิ่ง ยังคงก้าวเดินต่อไป ในวันข้างหน้าที่ไม่นานเกินรอ เราและประชาชนทุกคนจะไปถึงยังจุดหมายที่ตั้งหวังไว้อย่างแน่นอน

เราจะสู้ต่อไป

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement - NDM)

7 สิงหาคม 2559
 

คณิต ณ นคร เสนอรัฐบาลยกฟ้องผู้เห็นต่างทางการเมืองช่วงประชามติเพื่อความปรองดอง


คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด และอดีตประธานกรรรการ คอป. เสนอรัฐบาล คสช. ยกฟ้องคดีการเมือง คดีช่วงลงประชามติ เพราะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย คนฉีกบัตร แจกใบปลิว เป็นอาชญากรรมทางความคิด ผู้คนเห็นต่างกันได้ เสนอให้ยกฟ้องเพื่อทำให้บ้านเมืองสงบได้ ไปสู่ประชาธิปไตยที่โลกยอมรับ
9 ส.ค. 2559 ในรายงานของไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 59 นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด และอดีตประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติว่า ตนไม่ค่อยได้ติดตามเท่าไร แต่คิดว่าตอนนี้ทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบเกิดความปรองดองก่อน ส่วนตัวเสนอให้รัฐบาล คสช. ยกฟ้องคนที่โดนคดีการเมือง และคดีเกี่ยวกับการลงประชามติครั้งนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงคอขาดบาดตาย ถือเป็นเรื่องแนวความคิดที่แตกต่างกันได้ และมันผ่านไปแล้ว จึงทำให้บ้านเมืองสงบได้ เดินไปสู่ประชาธิปไตยที่ทั่วโลกยอมรับ
"คนที่วิพากษ์วิจารณ์ คนเห็นต่างล้วนโดนคดี แจกใบปลิว ฉีกบัตร ถูกจับเพราะแนวคิดแตกต่างพวกนี้ ไม่ควรสั่งฟ้องทั้งหมด เป็นเพียงอาชญากรรมทางความคิด ควรมาทำอย่างไรให้มันเกิดบ้านเมืองสงบก่อน น่าจะทำให้เกิดความปรองดอง คิดว่าทำอย่างไรให้สงบ ค่อยแก้ปัญหาทีละเปราะจะดีกว่า ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ออกมาลงคะแนนประชามติเพราะอยากให้บ้านเมืองสงบ และเบื่อหน่ายความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมานาน ทุกคนไม่อยากให้เกิดอีก ตอนที่ผมทำงาน คอป. คนชุมนุมเกิน 10 คน เสนอให้ถอนฟ้อง ถ้าเราอยากให้บ้านเมืองสงบต้องยอมรับความคิดเห็นต่าง ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ข้อสำคัญต้องทำให้บ้านเมืองมีช่องทางให้สงบได้ ก็จะเกิดประโยชน์ อย่าให้กลายเป็นเชื้อปะทุมาอีก ให้นานาชาติมองว่าเราแยกแยะได้ ผมมองว่าขบวนการยุติธรรมต้องแก้ปัญหาได้ ทำให้เกิดความสงบในชาติได้ ที่ผ่านมามันแก้อะไรไม่ได้ ขนาดความผิดเกิดชัดๆ ยังไม่ทำ เรื่องนี้ต้องคิดกัน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับคดี โดยเฉพาะอัยการ ต้องมีการปฏิรูปอันดับแรก" นายคณิต กล่าว

ทูตสหรัฐเรียกร้องให้ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพพลเรือน-กลับสู่รัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว


เอกอัครราชทูตเดวีส์ ให้ความเห็นหลังทราบผลประชามติ ขอรัฐบาลไทยกลับคืนสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว พร้อมเรียกร้องให้รัฐยกเลิกการจำกัดเสรีภาพพลเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมโดยสงบ
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2559 รายงานจากเฟซบุ๊กเพจของสถานทูตสหรัฐฯ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย กลิน เดวีส์ พร้อมภริยา ได้เดินทางไปเยือนจังหวัดพังงาเพื่อสนับสนุนภารกิจ #‎OurOcean ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น แคร์รี ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นถึงผลประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตเดวีส์ให้ความเห็นว่า ในสหรัฐอเมริการในฐานะมิตรประเทศที่ยาวนานของไทยขอให้รัฐบาลกลับคืนสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหนทางหนึ่งในการกลับคืนสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ขอเรียกร้องอย่างยิ่งให้รัฐบาลยกเลิกการจำกัดเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งรวมถึงการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ
"ในฐานะมิตรประเทศและพันธมิตรของไทย เราเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ไทยเข้มแข็งขึ้น และเราเชื่อว่า หนทางเดียวที่ไทยจะเข้มแข็งได้ในที่สุดก็ต่อเมื่อชาวไทยทุกภาคส่วนได้ร่วมพูดคุยอย่างเปิดกว้างถึงอนาคตของพวกเขา เราเชื่อว่า นี่เป็นหนทางที่มีประสิทธิผลที่สุดในการสร้างอนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืนสำหรับประเทศไทย ซึ่งเราชาวอเมริกันมีความห่วงใยอย่างยิ่ง เราอยากให้ชาวไทยเป็นหนึ่งเดียวกันและก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเข้มแข็ง และนี่คือเหตุผลว่าทำไม เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้มีเสรีภาพดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งกลับคืนสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว" เอกอัครราชทูตกล่าว
ทั้งนี้ภารกิจ #‎OurOcean ในครั้งนี้ เป็นเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) โดยเอกอัครราชทูตเดวีส์ได้กล่าวเน้นย้ำระหว่างเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาถึงพันธกิจของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ต่อประเด็นหลักทั้งสี่ของ #OurOcean อันได้แก่ พื้นที่คุ้มครองทางทะเล การทำประมงยั่งยืน มลภาวะทางทะเล และผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศต่อมหาสมุทร นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตเดวีส์ยังได้พบกับองค์การนอกภาครัฐในท้องถิ่นและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานอพยพจากพม่าและบทบาทของแรงงานอพยพดังกล่าวในอุตสาหกรรมการเกษตรและการประมงในภาคใต้ของไทย

ปชต.ใหม่ เข้าเยี่ยม ไผ่ จตุภัทร์ ระบุเพื่อนยืนยันอดอาหารประท้วงความไม่ชอบธรรมของอำนาจรัฐ


ขบวนการประชาธิไตยใหม่ เข้าเยี่ยม ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หลังถูกฝากขัง 12 ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ ม.61 วรรค 2 เหตุเดินแจกใบปลิวไม่รับร่าง รธน. ในตลาดได้ 300 เมตร ระบุเพื่อนยืนยันอดอหารประท้วงความอยุติธรรม
9 ส.ค. 2559 เวลา 11.30 น. ที่เรือนจำภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ตัวแทนสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ตัวแทนสมาชิกกลุ่มก้าวเดินและตัวแทนสมาชิกกลุ่มดาวดิน ได้เข้าเยี่ยม ไผ่ จตุภัทร ซึ่งถูกฝากขัง ผัดแรก ที่เรือนจำภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ด้วยข้อหาฝ่าฝืนพรบ.ประชามติ มาตรา 61 (1) โดยไผ่ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา จากการเดินแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการแจกเอกสารครั้งนั้นเขาแจกร่วมกับเพื่อนอีกหนึ่งคนคือ วศิน พรหมณี ซึ่งได้ประกันตัวออกมาก่อน เนื่องจากมีความจำเป็นต้องออกมาศึกษาต่อ  ขณะที่ไผ่ยังยืนยันในหลักการไม่ขอประกันตัว
ตัวแทนสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยได้ให้ข้อมูลว่า ไผ่ จตุภัทร์ มีอาการอ่อนเพลีย จากการอดข้าวประท้วงกระบวนการจับกุม อย่างไรก็ตามไผ่ยังคงทานนม และน้ำเปล่า จึงฝากบอกเพื่อนๆ และพี่น้องภายนอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงเนื่องจากเขาเคยบวชอยู่วัดป่า ที่ฉันอาหารเพียงแค่มื้อเดียวต่อวัน ไผ่ฝากบอกว่าใน เมื่อ พรบ.ประชามติมีเจตนารมณ์แบบนี้ ในเมื่อผู้ถือกฎหมายต้องการให้เขาติดคุก เขาก็จะติดคุก และยืนยันไม่ประกันตัว
พายุ บุญโสภณ พูดถึง ไผ่ เพื่อนรุ่นพี่กลุ่มดาวดิน
“คนอย่างไผ่ ไม่ยอมอะไรง่ายๆ อยู่แล้ว ถึงแม้รู้ว่าจะติดคุก แต่ถ้าพี่เขารู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ยังยืนยันไม่ประกันตัวจนวินาทีสุดท้าย”
นี่คือมุมมองของ พายุ บุญโสภณ หรือ พายุ กลุ่มดาวดิน ที่มีต่อ ไผ่ จตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ไผ่ ดาวดิน หรือ ไผ่ NDM อีสาน
อย่างที่หลายคนทราบข่าว ตอนนี้ ไผ่ ถูกจับกุมคุมขังอยู่ที่เรือนจำอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ หลังจากที่เขาออกไปแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา เขาถูกตั้งข้อกล่าวหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี
หากนำอัตราโทษมาพิจารณากับการ กระทำของเขา คงจะพูดได้ว่านี่เป็นเรื่องที่เหนือจริง เพราะในวันนั้น ไผ่เดินแจกเอกสารในตลาดไปได้ไม่ถึง 300 เมตร ก่อนที่เขาจะถูกจับกุม ในขณะที่คืนก่อนหน้าที่เขาจะถูกจับกุม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ประกาศจุดยืนของตัวเอง และ คสช. ว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เส้นแบ่งของคำว่ารณรงค์ โน้มน้าวผู้คน กับการไม่รณรงค์ ไม่น้าวโน้มผู้คน ดูจะเลือนลางเหลือเกิน
พายุเป็นอีกคนหนึ่งที่เรียกได้ว่ารู้จักไผ่ดีพอ แน่นอนเขาเป็นหนึ่งในกลุ่ม 14 นักโทษทางความคิดเมื่อปีก่อน แม้จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างสำหรับสองคนนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เขามองเห็นเหมือนกันคือ “ในเมื่อเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันคือความถูกต้องจากจิตสำนึก ถึงแม้กฏหมายจะบอกว่าผิดเราก็จะทำ นี่เป็นสิ่งที่พวกเราเชื่อและทำมาตลอด”
เรื่องที่ดูจะเป็นการยืนยันในแนวทางการต่อสู้เพื่อความถูกต้องอีกอย่างหนึ่ง ของไผ่ก็คือ เขาประกาศอดอาหาร เพื่อประท้วงการกระทำที่ไม่ชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ
“ความรู้สึกของผมตอนแรกคือเป็นห่วงมากเพราะไม่รู้ว่าสภาพข้างในเป็นอย่างไร บ้าง และร่างกายจะยังทนไหวไหม การเคลื่อนไหวต่อสู้ด้านในนั้นตอนนี้มีแค่พี่ไผ่คนเดียว และพี่ก็ยังไม่เคยอดข้าวมาก่อน พอได้เข้าไปเยี่ยม และได้พูดคุยทำให้ผมเชื่อว่าพี่ยังสู้ไหว จากคำพูด และแววตาของพี่ และผมเชื่อว่าคนข้างนอกก็จะร่วมกันสู้ จนกว่าจะได้รับความยุติธรรม”
“การติดคุกครั้งนี้พี่จะไม่ติดฟรีๆ แน่ ถึงแม้ประชาธิปไตยตอนนี้จะโดนเผด็จการขโมยไป แต่พวกเรา เพื่อน พี่น้อง และทุกๆ คนก็ยังจะสู้ต่อ และเอาคืนมาสู่สามัญชน ไม่ยืนหยัดก็ล้มเลิก”