วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

ศาลทหารฝากขัง 12 วัน 'พยานวัดปทุม' คดีอั้งยี่โยงระเบิดศาลอาญา

ศาลทหาร ฝากขัง 12 วัน 'ณัฎฐธิดา มีวังปลา' กับพวกรวม 3 คน ฐานเกี่ยวโยงคดีปาระเบิดศาลอาญา และไม่อนุมัติการขอประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรง
18 มี.ค. 2558 - ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนส่งตัว 3 ผู้ต้องหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีปาระเบิดศาลอาญา เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ประกอบด้วย น.ส.ณัฎฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน พยาบาลอาสาและพยานปากสำคัญคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม นายณเรษ อินทร์โสภา และ น.ส.วาสนา บุตรดี
ในรายงานของ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) เปิดเผยว่า ได้ยื่นคัดค้านการฝากขังพร้อมทั้งยื่นหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท ในการขอประกัน น.ส.ณัฎฐธิดา 6 แสนบาท และ น.ส.วาสนา 4 แสนบาท เพราะเห็นว่าบุคคลทั้งสองอยู่ห่างไกลจากข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน ในส่วนของ น.ส.ณัฎฐธิดา นั้น ถูกลากไปเกี่ยวโยงกับการโอนเงิน เพราะเจ้าตัวไปยืมเงินจำนวนหนึ่งกับบุคคลที่กระทำความผิด ซึ่งรู้จักกันก่อนหน้านี้ จึงถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยง
สำหรับ น.ส.วาสนา ให้บุคคลที่ไม่รู้จักยืมบัญชีธนาคารไปใช้ โดยที่ไม่รู้วัตถุประสงค์ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร ส่วนที่บุคคลทั้งหมดถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย (อั้งยี้) ซึ่งถือเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง ในส่วนของนายณเรษ จะมีญาติมายื่นขอประกันในวันที่ 18 มีนาคมนี้ จากนั้นคณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพ ได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาอ่านคำร้องที่เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 3 คน พร้อมรับฝากขัง ผลัดแรก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 - 28 มีนาคม ซึ่งขณะนี้ศาลทหารกรุงเทพ ไม่อนุมัติการประกันตัว เนื่องจากเป็นความผิดในคดีร้ายแรง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีและเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ยืนยัน ทหารไม่ได้เข้าควบคุมตัว น.ส.ณัฎฐธิดา ไปจากบ้านพัก โดยการเชิญหรือควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ต้องแสดงตนชัดเจน ขอให้ประชาชนมั่นใจ และต่อมาวันที่ 17 มี.ค. พ.อ.วินธัย ยอมรับว่ามีเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนคดีความมั่นคงสำคัญของทหารและตำรวจ ไปขอเชิญตัว น.ส.ณัฎฐธิดา เพื่อไปให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทำงานในชุดสืบสวนคดีสำคัญได้พบข้อมูลความเชื่อมโยงสำคัญบางอย่างที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคง ที่กำลังสืบสวนอยู่ในขณะนี้ โดยคาดว่า น.ส.ณัฎฐธิดา อาจให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการคลี่คลายคดี โดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่วัดปทุมวนาราม เมื่อปี 2553 เพราะคดีดังกล่าวจบไปแล้ว
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้อง คสช. กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติสอบสวนการทรมานผู้ต้องหาคดีระเบิดศาลอาญาระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก โดยอ้างว่าได้รับร้องเรียนจากผู้ต้องหา 4 รายที่ถูกจับกุมในคดีวางระเบิดศาลอาญาว่าถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกวันที่ 9-15 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยผู้ต้องหา 4 รายได้แก่ นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน นายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายนรพัฒน์ เหลือผล และนายวิชัย อยู่สุข (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สมศักดิ์ เจียมฯ ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไล่ออกจาก ธรรมศาสตร์ แล้ว

เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Somsak Jeamteerasakul’ ระบุยื่นหนังสือต่อ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) เพื่ออุทธรณ์คำสั่งไล่ออกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้ว
สมศักดิ์ ยังได้ขอบคุณผู้ที่ให้ความช่วยเหลือในด้านคำปรึกษาแนะนำและอื่นๆ อีกมากในกระบวนการเตรียมการอุทธรณ์ดังกล่าว
ตามระเบียบ เรื่องของผมในที่สุดจะตัดสินโดย คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ) ซึ่งมี รมต.ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน โดยตำแหน่ง แน่นอน รมต. ปัจจุบันคือนายทหารของ คสช  มีเพื่อนนักกฎหมายบางคนเสนอกึ่งเล่นกึ่งจริงว่า ที่จริง ผมสามารถทำเรื่องร้องเรียนให้ ประธาน กพอ ถอนตัวเองจากการตัดสินกรณีผม เพราะต้องถือเป็น ส่วนหนึ่งของ "คู่กรณี" ด้วย แต่ผมยังไม่มีเวลาจะทำอะไรยุ่งยากขนาดนั้น
“ภายใต้ระบอบ คสช เช่นนี้ ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่ที่อุทธรณ์ก็เพื่อใช้สิทธิ์ คัดค้านการตัดสินที่ผมเห็นว่าไม่เป็นธรรม” สมศักดิ์ กล่าว
หน้าแรกของหนังสืออุทธรณ์ พร้อมตราประทับรับเรื่อง
สำหรับ คำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่ 356/2558 เรื่อง ลงโทษสมศักดิ์ ไล่ออกจากราชการ โดย สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิบการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ลงนามนั้นออกเมื่อ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุเหตุผลเนื่องจากกระทำผิดข้อบังคับมหาวิทยาลัย (อ่านรายละเอียด)

คำนูณ ยันไม่กังวลกระแสค้าน รธน. ประเด็นที่มานายกฯ คนนอก พร้อมเผยเรื่องประชามติขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ รับมีกระแสค้าน รธน. ประเด็นที่มานายกฯ คนนอก แต่ไม่กังวล พร้อมยินดีรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน ด้านการทำประชามติตอนนี้ยังไม่ชัด ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี

18 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวยอมรับถึงกระแสคัดค้านเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกในหลายประเด็น โดยยืนยันว่ากรรมาธิการฯ พร้อมรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน และพร้อมปรับปรุงแก้ไขหากเป็นฉันทามติร่วมกันของทุกฝ่าย แต่การปรับปรุงแก้ไขจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 25 พ.ค. - 23 ก.ค. 58 หรือช่วง 60 วันสุดท้าย เนื่องจากต้องการรับฟังเสียงสะท้อนของทุกฝ่ายให้ตกผลึก รวมถึงความเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่จะเปิดการอภิปรายในระหว่างวันที่ 20 - 26 เม.ย. นี้ ประกอบคำขอแก้ไขของทุกองค์กร ทั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และ สปช. ที่จะส่งถึงกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 25 พ.ค. นี้
คำนูณ กล่าวต่อไปว่า กรรมาธิการฯ ยังคงมีความเห็นต่างในหลายประเด็น แต่ประเด็นนายกรัฐมนตรีคนนอกซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่ายนั้น กรรมาธิการฯ เห็นตรงกันว่าควรเปิดกว้างให้บุคคลที่ไม่เป็น ส.ส.ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ แต่ยังเห็นต่างและคาดว่าจะต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขบางประการ อาทิ การกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีคนนอกไม่ให้ยาวนานเกินไป รวมถึงการใช้เสียงข้างมากของสภาในการลงมติเลือก พร้อมยืนยันว่าไม่กังวลต่อกระแสกดดันของฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มเคลื่อนไหวการเมือง ที่เห็นว่าสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี อาจสร้างปมความขัดแย้งในอนาคต
ต่อข้อถามจะมีการทำประชามติก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น คำนูณ กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ต้องขึ้นอยู่กับท่าทีและการดำเนินการของนายกรัฐมนตรี แต่เบื้องต้นกรรมาธิการฯ ส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับแนวทางทำประชามติ และหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกแล้วเสร็จ อาจมีการหารือถึงท่าทีของกรรมาธิการฯ ที่จะสะท้อนจุดยืนอย่างเป็นทางการต่อนายกรัฐมนตรี

เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานคดี 112 ‘ทอม ดันดี’ไป 18 พ.ค.-รอลุ้นผลประกันเย็นนี้


18 มี.ค.2558 ธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ ทอม ดันดี นักร้องนักแสดง อายุ 56 ปี ถูกนำตัวจากเรือนจำมายังศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อสอบปากคำตรวจพยานหลักฐาน ในคดีที่ถูกฟ้องข้อหามาตรา 112 ทนายความจำเลยขอเลื่อนนัดดังกล่าว ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปเป็นวันที่ 18 พ.ค.นี้ เวลา 9.00 น.

อย่างไรก็ตาม ภรรยาของทอม ดันดี ได้ยื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 5 ในวันนี้โดยใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่า 5 แสนบาท ที่ผ่านมา ศาลทหารสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าคดีนี้มีอัตราโทษสูงและเกรงจำเลยจะหลบหนี

ศาลทหารจะมีคำสั่งในเย็นวันนี้
อนึ่ง ทอม ดันดี ถูกเจ้าหน้าที่บุกควบคุมตัวจากบ้านพักเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2557 เพื่อนำตัวมาสอบสวนที่ บก.ปอท. พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยอ้างเหตุจากกรณีที่เขาไปปราศรัยในเวทีเล็กๆ จัดโดยสถานีวิทยุชุมชนของนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ เมื่อราวเดือนพฤศจิกายน 2556 หลังจากนั้นเขาขอประกันตัว แต่ศาลทหารไม่อนุญาต ทั้งนี้ เดิม คดีของเขาถูกส่งฟ้องศาลอาญา แต่ถูกโอนมาให้ศาลทหารในเวลาต่อมา
รวมเวลาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงวันนี้ 8 เดือนเศษ 

เบื้องหลัง ‘สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน’ ไม่รับสารภาพ คดีระเบิดหน้าศาล


สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน มีอาชีพขับแท็กซี่และเคยเป็นแกนนำ นปก.รุ่น 2 ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างเดินทางกลับบ้านย่านพุทธมณฑล ในช่วงกลางคืนวันที่ 9 มี.ค.58 เวลาประมาณ 22.00 น. เขาถูกนำตัวไปกองบัญชาการตำรวจนครบาล
สรรเสริญเข้าใจเอาเองว่าถูกจับจากกฎอัยการศึกเนื่องจากบทบาททางการเมืองที่ผ่านมา เพราะเขาแสดงท่าทีทางการเมืองที่ชัดเจนว่าคัดค้านการรัฐประหารตลอดมาตั้งแต่ปี 2549
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งมอบตัวเขาให้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งมารับตัวต่อไปยังกรมสารวัตรทหารเวลาประมาณ 23.00 น.ของวันที่ 9 มี.ค.นั้นเอง เมื่อไปถึงกรมสารวัตรทหาร เขาจึงทราบข้อกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับคดีขว้างระเบิดที่ศาลอาญา เขาโดนใส่กุญแจมือไพล่หลัง ใช้ผ้าดำปิดตาพร้อมกับเอาถุงดำคลุมหัว และถูกบังคับให้สารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว
เขาอยู่ในความควบคุมของทหาร 7 วัน ก่อนเจ้าหน้าที่นำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารและนำตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันที่ 16 มี.ค.58
ในเรื่องการซ้อมทรมานนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าได้รับการร้องเรียนจากผู้ต้องหาคดีระเบิดหน้าศาลอาญา 4 รายในจำนวน 9 รายว่ามีการซ้อมผู้ต้องหาระหว่างการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก (อ่านรายละเอียดที่นี่) 
ย้อนกลับไปในขณะถูกเจ้าหน้าที่จับกุม สรรเสริญได้ยุติการดื่มน้ำและรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นมาตรการที่เขาได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าหากมีการจับกุมเกิดขึ้น ทั้งยังได้ทำหนังสือไว้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเขาขอมอบร่างกายให้กับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าโครงกระดูกก็มอบให้คณะแพทย์ไว้ใช้สำหรับการศึกษา และหากมีเศษของร่างกายหลงเหลือจากการใช้เพื่อการศึกษา ให้นำไปฝังไว้ที่ดอยม่อนยะ อ.แม่วาง เชียงใหม่  โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการเก็บสำเนาหนังสือมอบอำนาจของเขาไว้
เขาว่าเหตุที่ไปพัวพันกับเหตุการณ์ปาระเบิดศาลอาจเนื่องมาจากเขาได้รับการชวนจากชาญวิทย์ (ถูกจับกุมเช่นกัน)  ให้ไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับกลุ่มผู้สนใจทางการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ จ.ขอนแก่น ประมาณสิบกว่าคน โดยที่เขาไม่ได้เคยรู้จักกับกลุ่มดังกล่าวมาก่อนแต่อย่างใด งานดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่14-15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในเขตอำเภอเมือง ชาญวิทย์เขาบอกว่าชาญวิทย์พูดคนเดียวไม่ไหวจึงต้องการให้เขาไปช่วยพูด ขณะที่ทหารรวมถึงตำรวจซึ่งมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนได้สรุปรวมว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการพบปะเพื่อวางแผนก่อเหตุ โดยมีสรรเสริญและชาญวิทย์เป็นคนบรรยายแนวคิด
กระบวนการที่เจ้าหน้าที่พยายามทำให้สารภาพคือ การขู่ตะคอก ตบหน้า ชกเขาที่บริเวณลิ้นปี่และชายโครง รวมถึงเหยียบบริเวณลำตัว รอยช้ำส่วนใหญ่เริ่มจางลงไปไปหมดแล้ว เหลืออยู่เพียงบางส่วน อย่างไรก็ตาม เขายังรู้สึกเจ็บชายโครงที่ถูกชก
สรรเสริญไม่ยอมรับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงได้ใช้ไฟฟ้าช็อตที่บริเวณต้นขา เขาประมาณว่าถูกช็อตราว 30-40 ครั้ง
สรรเสริญนิยามตัวเองว่าเป็นโซเชียลลิสต์(นักสังคมนิยม) เป็นผู้นิยมในแนวทางของพรรคซินเฟน (Sinn Fein) ชมชอบมาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ ชื่นชมในความเด็ดเกี่ยวของโฮจิมินห์ และเช เกวารา โดยเฉพาะเช เขาว่าหากเชอยู่คิวบาอย่างน้อยก็ต้องได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่เชกลับเลือกที่จะทำการปฏิวัติต่อจนตัวตาย
แนวทางสันติของเขาชัดเจนมาตั้งแต่อดีต ต้นปี 2553 เขาคือหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค ‘แนวร่วมสังคมประชาธิปไตย’ ซึ่งเน้นเรื่องความเท่าเทียมของโอกาสของผู้คนในสังคม แต่พรรคที่เขานิยามว่าเป็น ‘พรรคกระยาจก’ นี้ก็ถูกยุบไปหลังจากนั้นเพราะหาสมาชิกไม่ทันตามกำหนด อย่างไรก็ตาม ในห้วงการก่อตั้งพรรคเขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดและแนวทางของเขาว่า
“เราพยายามรื้อฟื้นจิตวิญญาณที่ทำเพื่อคนอื่นขึ้นมา คนที่อยากจะทำอะไรเพื่อสังคมยังคงมีอยู่เยอะในสถานการณ์ที่ทางโน้นคนก็ไม่ชอบ ทางนี้คนก็ไม่ชอบ”
“การผลิตที่ทันสมัยเป็นของมนุษยชาติ มีแต่คนไร้เดียงสาเท่านั้นที่จะบอกว่านั่นเป็นของทุน คอนเซ็ปต์เดิมของสังคมนิยมไม่ได้อธิบายเรื่องการผลิต พูดแต่เรื่องการแบ่งปัน อุดมการณ์เดิมนั้นดูกันที่การแบ่งปัน แต่สำคัญเราต้องทำการผลิตที่ก้าวหน้า แล้วกำหนดกติกาการแบ่งปัน การบริหารจัดการที่ไม่ให้กลุ่มคนต่างๆ เอาเปรียบกัน ที่สำคัญ ต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีทั้งอำนาจ มีเงิน และรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง”
“พรรคเพื่อไทยรับภารกิจได้ระดับหนึ่ง เขาไม่สะดวกจะทำบางอย่าง เช่น ภาษีก้าวหน้า คนที่จะทำเรื่องพวกนี้ คือพวกที่ไม่มีเนื้อจะเฉือน”
สำหรับการควบคุมตัวในคดีปาระเบิดศาลอาญานี้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวคนอีกหลายคน และปัจจุบันถูกนำเข้าเรือนจำทั้งหญิงและชาย ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเขาว่า “ร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, กระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของผู้อื่น, มีและใช้เครื่องกระสุนปืนที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้มีและใช้ไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย, มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งเด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์, ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนและมียุทธภัณฑ์ทางทหารไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
 สรรเสริญยืนยันว่าเขาไม่ใช่พวกก่อวินาศกรรม ไม่ใช่พวกวางระเบิด
“ผมไม่ใช่คนแบบนั้น จะให้ผมยอมรับได้อย่างไร " เขากล่าวพร้อมน้ำตา
“ผมพูดได้เท่าที่ผมคิดและผมกระทำ(ต่อต้านการรัฐประหาร) ผมไม่สามารถยอมรับสิ่งที่ผมไม่ได้ทำได้ เขาซ้อมจนผมชนะเขา”
สุดท้ายเจ้าหน้าได้ยุติการมาตรการดังกล่าว กักตัวเขาไว้จนครบ 7 วันก่อนนำตัวเขามาแถลงข่าวในเวลาต่อมา ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่พยายามเกลี้ยกล่อมให้เขาดื่มน้ำ รับประทานอาหาร ด้วยคำขอว่า ขอให้เห็นแก่มิตรภาพของเรา

โฆษก คสช. ซัด ฮิวแมนไรต์วอทช์ อย่าจินตนาการไปเอง ท้าพิจสูจน์ไม่เคยละเมิดสิทธิ ปชช.


พ.อ.วินธัย สุวารี ติงฮิวแมนไรต์วอตซ์ บิดเบือน รัฐบาลไม่ได้จัดการผู้เห็นต่าง แค่ดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมาย แนะควรศึกษาให้ลึก อย่าอคติ และจิตนาการไปเอง ท้าพิจสูจน์ที่ผ่านมาไม่เคยละเมิดสิทธิ ปปช.
18 มี.ค. 2558 - จากกรณีเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรต์วอตช์ กล่าวในแถลงการณ์ "Thailand: Drop Charges Against Peaceful Critics" เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการจับกุมและดำเนินคดีกับบรรดาผู้ที่เห็นต่างจากกรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่ลัก" เมื่อวันที่ 14 ก.พ. และถูกดำเนินคดีขึ้นศาลทหาร รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ศาลทหารต่อพลเรือนนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ต่อมาวันนี้ (18 มี.ค.) ในรายงานของเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ และ มติชนออนไลน์ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงถึงกรณีดังกล่าวว่า อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะภาครัฐไม่ได้จ้องจับผู้เห็นต่างอย่างแน่นอน แต่จะบังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็นต่อผู้ที่ทำผิดกฎหมายเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่อยากให้มีการนำไปบิดเบือน ทั้งนี้สังคมจะสงบสุขได้นั้นคนในสังคมต้องเคารพกฎกติกา และภาครัฐเข้าใจผู้เห็นต่างมาตลอดไม่ได้มองเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้าม
พ.อ.วินธัย อ้างว่า รัฐบาลมีการจัดระบบช่องทางสำหรับให้ผู้มีความเห็นต่างได้แสดงออกอย่างหลากหลายโดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายพันจุดทั่วประเทศซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็นระบบ รวมถึงมีผลตอบสนองต่อความต้องการไม่มากก็น้อย มองจากภายนอกอาจต้องศึกษาให้ลึกและรอบด้าน ที่สำคัญไม่ควรให้ความเห็นล้อตามกระแสด้วยมุมมองเชิงอคติ เชื่อว่าหลายประเทศรู้มากขึ้นแล้วถึงบริบทความแตกต่างของประเทศไทย แต่ก็ยังมีบางกลุ่มในไทยยังคงมีความพยายามที่จะเคลื่อนไหวลักษณะแอบแฝงซ่อน เร้นความต้องการที่แท้จริง เพื่อหลอกล่อให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะสามารถหยิบไป เป็นประเด็นขยายผลกดพิดันโจมตี
ส่วนข้อเรียกร้องให้เลิกใช้ศาลทหารในการดำเนินคดีต่อพลเรือนนั้น พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เราดำเนินการเท่าที่จำเป็นโดยมีเพียงเฉพาะ 2-3 ฐานความผิดเท่านั้น เช่น คดีการห้ามชุมนุมตามประกาศ คสช. เพราะการชุมนุมที่ผ่านมาเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนละเมิดสิทธิกันอย่างรุนแรง จนถึงขั้นมีการสูญเสียจำนวนมาก นี่คือข้อแตกต่างชัดเจนของไทยกับประเทศอื่นๆ และคดีที่รุนแรงก็จะเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง หรือคดีการใช้ความรุนแรง และคดีที่เกี่ยวข้องความไม่สงบในช่วงที่ผ่านมา เหล่านี้ถึงจะถูกระบุให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารเท่านั้นซึ่งเคยมี แจ้งไว้เป็นประกาศเพื่อให้สังคมได้รับทราบอย่างเปิดเผยขออย่าบิดเบือนใน ลักษณะเหมารวม เงื่อนไขดังกล่าวถูกเสริมเพิ่มเติมเข้ามาตามความจำเป็นจริงที่สอดรับกับ สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ เพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ สามารถหยุดยั้งการที่มีคนไม่ดีไปละเมิดสิทธิผู้อื่นด้วยการใช้ความรุนแรงได้ และเชื่อว่าเป็นการบริหารบ้านเมืองในช่วงไม่ปกติที่ไม่ต่างจากสากลทั่วไป
สำหรับความกังวลในเรื่องความยุติธรรม ความเป็นกลาง และความเป็นอิสระในการพิจารณาคดี ประวัติการพิจารณาคดีของศาลทหารในอดีตที่ผ่านมาก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตาม กระบวนการยุติธรรม สำหรับผลการพิจารณาคดีก็ไม่เคยปรากฏพบข้อกังขาใดๆ น่าจะเป็นเพียงมุมมองเดิมๆ ที่ล้าสมัย และไม่เข้าใจระบบกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร ที่สำคัญยังไม่ได้มีข้อพิสูจน์อะไรในเชิงจับต้องได้ว่าการพิจารณาคดีจากศาล ทหารจะไม่มีความยุติธรรม นอกจากจะใช้ความรู้สึกจินตนาการไปเองโดยที่ไม่มีเหตุผลที่เป็นรูปธรรม มีโอกาสควรมาศึกษาสังเกตการณ์ดูวิธีการการดำเนินการของศาลทหารก่อน ไม่ใช่ให้ข้อมูลไปโดยไม่มีข้อเท็จจริงอะไร ทำให้สังคมสับสน และอาจถูกมองว่าเหมือนไปก้าวล่วงทางด้านสิทธิความเชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่ของศาลทหารได้
“สุดท้ายที่กล่าวว่าไทยยังคงละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ของประชาชนต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อนนั้น เป็นเพียงความรู้สึกด้วยมุมมองส่วนบุคคล มั่นใจผลลัพธ์ที่เห็นเชิงประจักษ์ว่ายังไม่พบการละเมิดสิทธิของประชาชนโดย รัฐอย่างแน่นอน ส่วนใหญ่เป็นเพียงข้ออ้างที่มักถูกหยิบยกมากล่าวเพียงให้เกิดประเด็นให้ สังคมสนใจตามกระแสเท่านั้น” พ.อ.วินธัยกล่าว

พลเมืองโต้กลับปล่อยคลิปประมวลภาพ ‘พลเมืองรุกเดิน’


หลังจากระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค.ที่ผ่านมา พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. จากการจัดกิจกรรม ‘เลือกตั้งที่(รัก)ลัก)’ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมื่อ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้เดินเท้าภายใต้ชื่อกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการนำพลเมืองขึ้นดำเนินคดีในศาลทหาร จากหน้าโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนนทบุรี เพื่อ สน.ปทุมวัน และต่อมาศาลทหารยกคำร้องอัยการทหาร สั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 ที่นอกจากพันศักดิ์ แล้ว ยังมี อานนท์ นำภา สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ โดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ นัดฟังคำสั่งอัยการทหารว่าฟ้องหรือไม่ 27 มี.ค.นี้ (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุดวันนี้เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen’ ได้ปล่อยวิดีโอคลิปประมวลภาพกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ ภายใต้ชื่อ ‘Long Walk to Justice’ เมื่อความยุติธรรมไม่มา ก็เดินหน้าไปหามันประกอบเพลง ‘Non, Je ne regrette rien’  ของ เอดิต ปียัฟ (Edith Piaf) นักร้องชาวฝรั่งเศส

4 นักศึกษาศนปท. เข้าแจ้งความ หมอโพสต์หมิ่นประมาท ปมให้กำลังใจพลเมืองรุกเดิน


เมื่อเวลา 17.10 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย' หรือ ศนปท. โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ผู้เสียหายจำนวน 4 คนที่ถูก นายแพทย์ท่านหนึ่ง โพสเฟสบุ๊ก กล่าวใส่ร้ายว่ารับเงินแล้วออกมาประท้วง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา เข้าแจ้งความเอาผิดทางอาญาแล้ว ที่ สน. ชนะสงคราม เมื่อเวลา 16.40 น.
ศนปท. ระบุว่า เหตุผลของเราคือ เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับสังคม และเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจของเรา และสุดท้ายเพื่อสั่งสอนคนดีให้รู้จักเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์
ภาพที่ ศนปท. ระบุว่าเป็นหลักฐานที่เข้าแจ้งความ 
โดย มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า นัชชชา กองอุดม อายุ 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ  พร้อมปิยรัฐ จงเทพ อายุ 22 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาวตร์ สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ อายุ 21 ปี นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลสุวรรณภูมิ ทั้งหมดเป็นสมาชิก ศนปท. เดินทางเข้าพบ ร.ต.ท.อภิชิต ภัณฑะประทีป พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม  เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ นพ.สราวุฒิ เนียมน้อย ผอ.ทางการแพทย์ ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง หลังจากใช้เฟซบุ๊กชื่อ "Sarawut  Niamloi" ในข้อหา "หมิ่นประมาท" โดยนำสำเนาข้อความและรูปภาพในเฟซบุ๊กดังกล่าวมามอบไว้เป็นหลักฐาน
นัชชชา เปิดเผยว่า เนื่องจากเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา สมาชิก ศนปท. ได้นำน้ำและอาหารกล่องเพื่อไปให้กำลังใจนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กลุ่มพลเมืองโต้กลับหลังจากถูกเชิญให้ไปให้ปากคำเพิ่มเติมที่สน.ปทุมวัน ซึ่งหลังจากมีสื่อนำเสนอข่าวดังกล่าวออกไป มีบุคคลใช้ชื่อเฟซว่า "Sarawut  Niamloi" พิมพ์สถานะ พร้อมเปิดเป็นสาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถเห็นได้ มีใจความว่า "ตั้งชื่อกลุ่มใหม่ สกรีนเสื้อยืด รับเงิน แล้วก็ออกมาประท้วง สงสัยจะเป็นเด็กดีเนาะ -วันๆไม่ทำเ-ี้ยอะไร" พร้อมลงภาพสมาชิก ศนปท.7คนเป็นรูปประกอบ ทั้งยังมีการแชร์กันอย่างแพร่หลายในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ถือเป็นการจงใจให้ร้าย ใส่ความโดยไม่มีมูลความจริง ก่อให้พวกตนเกิดความเสียหาย โดยจากการตรวจสอบพบว่าเป็นเฟสบุ๊คของ นพ.สราวุฒิ พวกตนทั้ง 4 คนจึงเดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดี โดยเบื้องต้นวันนี้จะแจ้งในคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาท และจะปรึกษาทนายเพื่อแจ้งในคดีแพ่งต่อไป เบื้องต้นจะเรียกค่าเสียหายจำนวน3ล้านบาท
ขณะที่ร.ต.ท.อภิชิต เปิดเผยว่า เบื้องต้นจะรับเรื่องลงบันทึกประจำวันไว้ พร้อมสอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนที่จะประสานไปยังกองบังคับการปราบปรามการประทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อตรวจสอบว่าเฟสบุ๊คดังกล่าวเป็นของนพ.สราวุฒิจริงหรือไม่ หากพบว่าเป็นของจริง จะเชิญตัวนพ.สราวุฒิมาสอบปากคำ ก่อนดำเนินการต่อไป