วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

อนุสรณ์เตือนทบทวนการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ทำไทยถอยหลังครึ่งศตวรรษ


เตือนให้พิจารณาแนวคิดการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติโดยให้รัฐเข้าไปจัดการกิจการพลังงานทั้งหมดอย่างรอบคอบ ชี้เป็นการถอยหลังของนโยบายด้านพลังงานอย่างน้อย 50-60 ปี และ ขอให้ดูตัวอย่างความหายนะทางเศรษฐกิจและกิจการพลังงานของเวเนซูเอลาและเม็กซิโก

28 มี.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่า ขออนุญาตแนะนำและเตือนให้พิจารณาแนวคิดการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติในมาตรา 10/1 ในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับใหม่อย่างรอบคอบ เนื่องจากแนวคิดจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติโดยให้ รัฐเข้าไปจัดการกิจการพลังงานทั้งหมดนั้น เป็น แนวคิดสะท้อนการถอยหลังของนโยบายสาธารณะด้านการจัดการพลังงานของประเทศไทยอย่างน้อย 50-60 ปี แนวคิดแบบนี้ประสบความล้มเหลวในหลายประเทศ เพราะก่อให้เกิดการยึดกิจการเอกชนมาเป็นของรัฐ จะเป็นการดำเนินกิจการพลังงานที่ผูกขาดโดยรัฐ (ขอให้นึกถึงกิจการปั๊มสามทหาร กับ ปั๊มของ ปตท และ บางจากต่างกันอย่างไร ขอให้นึกถึงโรงกลั่นน้ำมันของหน่วยงานพลังงานทหาร กับ โรงกลั่นของไทยออย ไออาร์พีซีและบางจากบริหารจัดการต่างกันอย่างไร) การกำกับดูแลโดยรัฐบาลผ่านทางคณะกรรมการบรรษัทพลังงานแห่งชาติซึ่งในช่วงแรกจะมีกรมพลังงานทหารเป็นผู้ดำเนินการ ปัจจุบัน โครงสร้างระบบการกำกับดูแลโดยองค์กรอิสระนั้นถูกวางระบบไว้ดีระดับหนึ่งแล้ว ส่วนจุดอ่อนจุดด้อยที่ยังมีอยู่นั้นเป็นปัญหาในรายละเอียดไม่ใช่ทิศทางหรือหลักการใหญ่ ระบบที่ผูกขาดโดยอำนาจรัฐที่มาแทนที่ระบบการแข่งขันด้วยการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนและการเปิดเสรีจะนำมาสู่ ความไร้ประสิทธิภาพ การคอร์รัปชันและหนี้สาธารณะของประเทศในอนาคต   
อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า หากมีการจัดตั้ง บรรษัทพลังงานแห่งชาติ ตามร่างที่จะนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตอย่างแน่นอน ขอให้ดูกรณีของประเทศเวเนซูเอลาที่ประสบความล้มละลาย เกิดวิกฤติทางการคลัง จนต้องยอมทำสัญญาขายน้ำมันดิบล่วงหน้ากับจีนเพื่อแลกเงินกู้มาจ่ายเงินเดือนราชการและบริหารประเทศ ทั้งที่ประเทศเวเนซูเอลาเคยเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันและมีฐานะทางการคลังที่มั่นคงมาก่อน หากจะยกตัวอย่างกรณีบรรษัทพลังงานแห่งชาติแบบเปโตรนาสของมาเลเซียว่าประสบความสำเร็จก็ไม่
อนุสรณ์ กล่าวว่า สามารถพูดได้เต็มปากเพราะ เปโตรนาส เป็นทั้งผู้ทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) และ เป็นผู้ทำธุรกิจ (Operator) ด้วยในขณะเดียวกันจึงทำให้มีกำไรสูงแต่ระบบนี้ดีที่สุดกับประชาชนมาเลเซียหรือไม่ยังมีข้อสงสัย และ การไม่แยกระหว่าง การเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) กับ ผู้ทำธุรกิจ (Operator) ยังขัดกับหลักธรรมาธิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบถ่วงดุลอีกด้วย
อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราเห็น ก็คือ การทุจริตคอร์รัปชันของกลุ่มผู้นำทางการเมืองที่ควบคุมดูแลบรรษัทพลังงานแห่งชาตินอกจากนี้ท่านนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบันก็มีข้อครหาพัวพันกับกองทุน 1-MDB ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตและยังมีกรณีพัวพันกับการทุจริตให้สินบนของบริษัท Unaoil อีกด้วย และไม่มีใครไปกล้าตรวจสอบบัญชีของเปโตรนาสได้ ขณะที่ บมจ ปตท ถูกตรวจสอบทั้งจาก สตง ในฐานะรัฐวิสาหกิจ และ กลต รวมทั้งผู้ถือหุ้น นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนต่างประเทศ การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและโปร่งใสกว่าแม้นไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม และขอให้ดูตัวอย่างความหายนะทางเศรษฐกิจและกิจการพลังงานของประเทศเม็กซิโกก่อนหน้านี้ด้วย ในที่สุดก็ยกเลิกระบบผูกขาดโดยรัฐ มาเป็นระบบเสรีเปิดให้มีการแข่งขันของภาคเอกชนผู้รับสัมปทาน หรือ แบ่งปันผลผลิต

ประยุทธ์ แจงเปิดกล้องวงจรปิด ปมวิสามัญฯ ชัยภูมิ ไม่ได้ เหตุกระทบต่อคดี


หลัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร แฉมีกลุ่มทหารแทรกแซงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมแห่งชาติ จัดตั้งบรรษัทน้ำมัน พล.อ.ประยุทธ์  โต้ไม่มีแนวคิดให้ทหารควบคุมกิจการพลังงาน ยันดำเนินการตามกฎหมายหากมีการรวมกลุ่มประท้วง ย้ำต้องปฏิรูประบบการศึกษา
28 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่สังคมต้องการให้มีการเปิดเผยกล้องวงจรปิดวิสามัญ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวล่าหู่ ที่ถูกทหารวิสามัญฯ ว่า การเปิดเผยกล้องวงจรปิดกรณีดังกล่าวยังไม่สามารถเปิดเผยได้ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้ว จึงจะสามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นพยานวัตถุ และจะกระทบต่อคดี ซึ่งตอนนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการพิจารณาอยู่ ขออย่ารีบตัดสิน หากพิสูจน์แล้วมีความผิดต้องลงโทษตามกฎหมายไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม

ไม่มีแนวคิดให้ทหารควบคุมกิจการพลังงาน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีออกมาระบุว่ามี กลุ่มทหารเข้ามาแทรกแซงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมแห่งชาติ โดยให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันขึ้นมาว่า ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ กฎหมายฉบับนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2557 พยายามจะออกมาก่อนหน้าที่ตนจะเข้ามาตำแหน่ง แต่ยังออกไม่ได้ เพราะหลายฝ่ายมีความคิดเห็นต่างกัน  ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้รับฟังและรวบรวมข้อคิดเห็นเหล่านั้นส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้คณะกรรมาธิการพลังงาน พิจารณา  
ส่วนที่มีการมองว่าแอบใส่การจัดตั้งบรรษัทน้ำมัน เพื่อหวังให้ทหารเข้าไปดำเนินการนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของกรมพลังงานทหาร   ซึ่งมีหน้าที่จำกัด ไม่สามารถทำได้ และไม่มีใครคิดนำผลประโยชน์มาเป็นของทหาร  ฉะนั้นขอให้เข้าใจว่า เป็นข้อเสนอของภาคประชาชนจากหลายเครือข่ายเท่านั้น  โดยคณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณา และเคยแถลงเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 ว่าภาคประชาชนต้องการให้บรรจุการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของ สนช.ที่จะเป็นผู้พิจารณา
“ผมไม่เคยมีแนวคิดอะไรที่จะให้ทหารเข้ามาดูแลทั้งสิ้น สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือให้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมออกมาให้ได้ เพราะต้องดูเรื่องการลงทุนการขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งมีหลายพื้นที่จะต้องมีการทำสัมปทาน ตอนนี้ยังไม่รู้ เนื่องจากวันข้างหน้าพลังงานเราจะขาดแคลน ไม่ใช่ว่าทำพรุ่งนี้ แล้วสามารถสร้างหรือเจาะแหล่งพลังงานได้ทันที ต้องใช้เวลาอีก 5 – 6 ปี กว่าบริษัทเขาจะเริ่มลงทุน ตัดสินใจหาเงินกู้ จึงต้องรีบทำในวันนี้ แต่หลายคนก็ชอบคิดว่าทำไมต้องรีบทำ แล้วก็ไม่ทัน หลายประเทศก็ไปลงทุนที่อื่น ไม่มาลงทุนประเทศที่มีปัญหาขนาดนี้ เพราะวุ่นวายไปหมด ทั้งที่ข้อมูลพื้นฐานเขารู้ว่าน้ำมันเรามีมากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญเราเองไม่ยอมรับ กลุ่มพวกนี้ไม่เข้าใจทั้งสิ้น เรื่องนี้จะผิดหรือถูกไม่พิจารณากันมา ผมขี้เกียจยุ่งเกี่ยวด้วย ถ้ามันไม่ได้ขึ้นมาก็รับผิดชอบด้วยแล้วกัน”  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ยันดำเนินการตามกฎหมายหากมีการรวมกลุ่มประท้วง 

ต่อกรณีคำถามการเร่งรัดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อจัดบรรษัทน้ำมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากการสร้างการรับรู้ที่ภาคใต้เรื่องพลังงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจปรากฏว่าไม่ค่อยเข้าใจกัน และเข้าใจไม่ตรงกันหมดเลย จึงเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง และท้ายที่สุดเราก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม พร้อมกล่าวยืนยันว่า หากมีการมาประท้วงอีก จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะให้อภัยไปหลายทีแล้ว ไม่ใช่เพราะว่ากลุ่มคนเหล่านี้ขัดแย้งกับรัฐบาล  แต่ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนความคิดเห็นก็ขอให้ไปแสดงในช่องทางที่ถูกต้อง และขอให้ยอมรับกฎกติกา -

ย้ำต้องปฏิรูประบบการศึกษา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการคัดค้านการสอบบรรจุครูผู้ช่วยที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูว่า ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าเรามีการปรับปรุง การพัฒนา และปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งจะต้องเริ่มดูตั้งแต่ครู ว่ามีเพียงพอหรือไม่ มีคุณภาพหรือไม่ สาขาที่เป็นความต้องการของประเทศมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าพูดถึงจำนวนคนที่จบครูออกมามีมากพอสมควร แต่บางวิชาสอนไม่ได้ เพราะไม่ได้จบด้านนั้นมา จึงต้องหาครูที่จบมาตรงกับวิชาเหล่านั้นที่ยังขาดอยู่ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นเสนอมาว่าถ้าต้องการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เช่น ด้านเคมี วิทยาศาสตร์ ซึ่งคนที่จบด้านครูอาจไม่มีความชำนาญ ดังนั้น บุคคลด้านนี้จะมีจำนวนไม่มาก เฉพาะที่ขาดแคลนอยู่ ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานแล้วไม่ใช่ว่าบรรจุได้เลย ก็ต้องมีการทดลองงานก่อนประมาณ 2 ปี ระหว่างการทดลองงานก็ต้องมีการประเมิน จึงต้องไปสอบให้ผ่านกฎเกณฑ์ถึงจะได้รับการบรรจุให้เป็นข้าราชการ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกวาารัฐบาลจะไม่ทำอะไรให้ใครเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครู เรื่องแพทย์ คือทุกคนต้องยอมรับว่าเรากำลังขาดแคลนบางสาขาวิชาอยู่ เราต้องเตรียมคนให้พร้อม รองรับตลาดแรงงาน ไม่เช่นนั้นก็จะถูกต่างชาติแย่งงานไปหมด