18 พ.ย. 2559 กรณี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม เรื่องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงกลาโหม ที่ให้ปลด อภิสิทธิ์ ออกจากราชการ ซึ่งเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 58 ศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาว่าคำสั่งของกระทรวงกลาโหมนั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์และผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่า ไพบูลย์ โพธิ์น้อย ทนายความ อภิสิทธิ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่ อภิสิทธิ์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม เรื่องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงกลาโหม ที่ให้ปลด อภิสิทธิ์ ออกจากราชการ โดยศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับเป็นให้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงกลาโหม ปลด อภิสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม คดียังไม่ถึงที่สุด ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล ยังสามารถยื่นฎีกาได้อีก
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521 มาตรา 4 บัญญัตินิยามคำ ”ข้าราชการทหาร” หมายถึงทหารประจำการ และข้าราชการกลาโหมพลเรือนที่บรรจุในตำแหน่งอัตราทหาร โดยมาตรา 15 บัญญัติว่า วินัยของข้าราชการทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร ข้อบังคับและระเบียบแบบแผนที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยพ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ยังบัญญัติว่า ทหารกองเกินและทหารกองหนุนที่ถูกเรียกเข้ารับราชการ และทหารประจำการต้องอยู่ในวินัยทหาร เหมือนทหารกองประจำการ จึงทำให้เห็นว่าทหารประจำการและทหารกองประจำการเท่านั้นที่ต้องอยู่ในวินัยทหาร
และในส่วนของข้อบังคับทหารว่าด้วยการแบ่งประเภทนายทหารสัญญาบัตร โดยมาตรา 11 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า นายทหารสัญญาบัตรประจำการ ต้องขึ้นทะเบียนกองประจำการและรับราชการในกองจนครบกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่กระทรวงกลาโหมจะสั่งปลดเป็นนายทหารประเภทอื่น หากถูกถอดหรือออกจากยศสัญญาบัตร ก็ให้ปลดพ้นราชการทหารประเภทที่ 2 ขณะที่วรรคสองบัญญัติว่า การแบ่งประเภทนายทหารสัญญาบัตรนั้น แล้วแต่กระทรวงกลาโหมจะกำหนด จึงทำให้เห็นว่า นายทหารสัญญาบัตรประจำการ เป็นผู้รับราชการทหารตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และอาจถูกสั่งปลดได้เท่านั้น
ขณะที่พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 มาตรา 7 บัญญัติว่า ทหารผู้ใดกระทำผิดต่อวินัยทหารจะต้องรับทัณฑ์ตามวิธีในพระราชบัญญัติ และอาจถูกปลดจากประจำการ หรือถูกถอดยศทหาร โดยมาตรา 10 บัญญัติถึงผู้มีอำนาจที่ลงทัณฑ์ และเทียบชั้นผู้รับทัณฑ์รวม 12 ขั้น ตั้งแต่รมว.กลาโหม แม่ทัพ ผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับการกองเรือ ผู้บัญชาการกองพลบิน ผู้บังคับกองพัน จนถึงนักเรียนทหาร ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เป็นนายทหารประทวน รูปแถว ทำให้เห็นว่า ทหารที่จะถูกลงโทษทางวินัย ต้องเป็นทหารประจำการ หรือทหารกองประจำการที่รับราชการอยู่
แต่คดีนี้ ขณะที่จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนการรับราชการทหารของโจทก์ และมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ โจทก์จึงเป็นนายทหารนอกราชการ ซึ่งเป็นกระบวนการลงโทษทางวินัยทหารหลังจากโจทก์พ้นจากราชการแล้วถึง 23 ปีเศษ แม้ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้ แต่การพิจารณาและลงโทษข้าราชการทางวินัย ย่อมต้องพิจารณาและลงโทษในขณะที่บุคคลนั้นรับราชการอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการต่อไป ซึ่งหากบุคคลนั้นพ้นจากราชการแล้ว ย่อมไม่อาจก่อความเสียหายได้อีก ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตอบข้อหารือของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเรื่องดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการทหารที่พ้นราชการด้วยเหตุเกษียณอายุราชการ และมีสิทธิรับบำนาญว่า การปลดข้าราชการทหารออกจากประจำการต้องเป็นข้าราชการทหารที่ประจำการอยู่ หากพ้นราชการแล้วก็ไม่อาจพ้นออกจากประจำการได้โดยสภาพ
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เคยมีการลงโทษทางวินัยข้าราชการทหารหลังจากพ้นราชการไปแล้วตามประกาศกระทรวงกลาโหม และคำสั่งกระทรวงกลาโหมนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และสั่งพักราชการก่อนพ้นจากราชการ กับเป็นกรณีหนีราชการ รมว.กลาโหมจึงมีคำสั่งลงโทษปลดจากราชการย้อนหลังไปจนถึงวันที่รับราชการวันสุดท้าย ซึ่งคำสั่งเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและกฎเกณฑ์ที่ถือปฏิบัติแล้ว แตกต่างจากคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการทั้งที่โจทก์ไม่ได้รับราชการแล้ว โดยให้มีผลในวันที่ 2 ม.ย. 2531 ซึ่งเป็นวันที่อ้างว่าโจทก์กระทำผิดวินัยทหาร กรณีจึงไม่ได้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและกฎเกณฑ์ที่ถือปฏิบัติ จึงไม่อาจตีความปิดช่องว่างทางกฎหมายให้เป็นผลร้ายกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาและถูกลงโทษทางวินัยตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าได้
ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีอำนาจสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 มาตรา 7 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น จึงพิพากษากลับเป็นว่าให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1163/2555 เรื่องให้ปลดนายทหารสัญญาบัตรออกจากราชการ ลงวันที่ 8 พ.ย. 2555
โดยก่อนหน้านี้ศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาว่าคำสั่งของกระทรวงกลาโหมนั้นชอบแล้ว โดยระบุว่าไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลย เนื่องจากเหตุที่จำเลย ปลดโจทก์ออกจากราชการ เพราะโจทก์ขาดการตรวจเลือกทหารแล้วนำใบสำคัญ (ใบสด.9) แทนฉบับที่ชำรุดสูญหายอันเป็นเท็จ มาแสดงต่อสัสดีจังหวัดนครนายก ทำให้สัสดีจังหวัดนครนายก ไม่ทราบความจริงว่าโจทก์ครบเวลา ที่จะต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหาร จึงไม่ได้ระบุสถานะว่า เป็นผู้ขาดการเกณฑ์ทหาร เป็นเหตุให้สัสดีจังหวัดนครนายกออกใบสำคัญ สด.3 (ใบขึ้นทะเบียนกองประจำการ) ให้แก่โจทก์ และโจทก์ไม่มีใบสด.41 เป็นเอกสารแสดงว่า ได้รับการผ่อนผันกรณีศึกษาที่ต่างประเทศว่าไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหาร โจทก์จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและไม่มีคุณสมบัติที่จะบรรจุเข้ารับราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตรได้ การสมัครและบรรจุโจทก์เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร กับการแต่งตั้งโจทก์เป็นนายทหารสัญญาบัตรฯ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมเป็นการไม่ชอบ คำสั่งของจำเลยที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว ต่อมาอภิสิทธิ์โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์จนมีผลออกมาได้มีคำพิพากษากลับเป็นให้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงกลาโหม