วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประชาสังคมจวก ร่างรธน.ลิดรอนสิทธิ เรียกร้องเปิดพื้นที่คนเห็นต่างแสดงความเห็น



28 ก.พ. 2559 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีการบันทึกเทปรายการเวทีสาธารณะเกี่ยวกับความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ โดยยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนเว็บไซต์ประชามติ ชี้แจงว่า เดิม การจัดเวทีเสวนา "รัฐธรรมนูญใหม่เอายังไงดีจ๊ะ?" จะจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แต่ สน.ปทุมวัน ส่งจดหมายแจ้งว่า เกรงจะเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืองต้องขออนุญาตก่อน ทำให้ต้องยกเลิกการจัดที่หอศิลป์ฯ ต่อมา เมื่อรายการเวทีสาธารณะเชิญผู้ร่วมเสวนาในเวทีเดิมมาบันทึกเทปรายการ ทางผู้จัดเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ จึงได้เชิญสื่อมวลชนมาทำข่าวด้วย
 

ประชามติจะมีคุณภาพ ต้องสร้างบรรยากาศให้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

สุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้เปลี่ยนหลักการสำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ เช่น เดิม สิทธิชุมชน ประชาชนจะเป็นประธานแห่งสิทธิ คือมีสิทธิเรียกร้อง ไม่ว่า รัฐบาล หรือเอกชน ต้องเคารพสิทธิของชุมชน แต่ร่างนี้กลับมีการตัดบางส่วนออก เช่น สิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ บ้างย้ายไปอยู่ในหมวดหน้าที่แห่งรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียกร้องสิทธิของประชาชนในอนาคต
นอกจากนี้ ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งระบุประเด็นที่รัฐบาลใดๆ ต้องมาสานต่อ ยังมีการตัดหลายเรื่องออกไป เช่น เรื่องผังเมือง ซึ่งระบุให้รัฐต้องจัดวางพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับกรณีมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2559 และ 4/2559 ที่ยกเว้นการใช้ผังเมือง เน้นแนวคิดว่า รัฐจะเป็นผู้จัดการให้
สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ บทเฉพาะกาลที่ให้ คสช.อยู่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะรับหน้าที่ โดยให้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว เท่ากับจนกว่าครม.ใหม่จะเข้ามา คสช. จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้
เขาชี้ว่า แม้จะมีผู้อ้างว่า ในต่างประเทศก็เคยมีการใช้กฎหมายในลักษณะเดียวกับมาตรา 44 ในกรณีที่ต้องการยาแรง แต่ คสช.กลับใช้เสมือนเป็นยาสาสมัญประจำบ้านไปแล้ว โดยไม่แยกแยะว่าจำเป็นแค่ไหน
เขาเสนอด้วยว่า หากจะทำให้การทำประชามติมีคุณภาพ จะต้องทำให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างตรงไปตรงมาและปราศจากความกลัว ผ่านการยกเลิกคำสั่ง คสช.เรื่องห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน เนื่องจากบางครั้งกิจกรรมพูดคุยก็ถูกนำมาตีความว่าเข้าข่ายการชุมนุม รวมถึงยกเลิกการให้พลเมืองขึ้นศาลทหาร และระบุในบทเฉพาะกาลให้ชัดเจนว่า เมื่อเข้าสู่ภาวะเลือกตั้งแล้ว คำสั่ง คสช. จะยกเลิกเมื่อใด
 

อยากได้ความชัดเจน รับ-ไม่รับแล้วไงต่อ

กรรณิการ์ กิตติเวชกุล FTW Watch กล่าวว่า ทันทีเห็นร่างนี้ตกใจมาก เพราะสิทธิของประชาชนที่รัฐควรให้การรับรองหายไป เหลือเพียงสิทธิที่รัฐจะให้เท่านั้น โดยในมาตรา 173 ของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย เรื่องหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ (มาตรา 190 เดิมในรัฐธรรมนูญ 2550) สิ่งที่หายไปคือ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและสภานิติบัญญัติ ก่อนการเจรจา โดยให้เวลารัฐสภาพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 60 วันเท่านั้น หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ ทั้งที่นี่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียมหาศาล
ส่วนตัวไม่ได้มีความหวังกับร่างรัฐธรรมนูญนี้มากนัก เพราะก่อนหน้านี้ เคยมีการเชิญภาคส่วนอื่นๆ ไปแสดงความเห็นแล้ว แต่ก็เหมือนฟังแต่ไม่ได้ยิน เพราะร่างออกมาเหมือนมีโจทย์มาอยู่แล้ว
กรรณิการ์เสนอว่า ก่อนการประชามติต้องมีการถกแถลง เปิดให้ฝ่ายเห็นด้วยและเห็นต่างมาให้ข้อมูลในเวลาเท่าๆ กัน เพื่อเปิดโอกาสให้ กรธ. มีข้อมูลไปแก้ไข รวมถึงควรระบุให้ชัดเจนว่า หากรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นอย่างไรต่อไป
กรรณิการ์ ชี้ว่า สิ่งที่ทำได้เลย คือ ยกเลิกรายการแกะกล่องรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ออกอากาศหลัง 18.00 น. ประมาณ 15 นาที แล้วให้แต่ละช่องผลิตรายงานโดยหยิบประเด็นบางประเด็นหรือภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญมาถกแถลง แทนการกรอกหูประชาชนอยู่ข้างเดียว
ทั้งนี้ กรรณิการณ์กล่าวถึงเหตุการณ์ที่งานเสวนานี้ถูกยกเลิกเพราะถูกตีความว่าอาจเป็นการชุมนุมทางการเมืองว่า แสดงให้เห็นแล้วว่า ประชามติแบบคุณภาพทำไม่ได้เลยในภาวการณ์แบบนี้


เหลวทั้งกระบวนการ-ผลลัพธ์ 

ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งเป็นสองส่วนคือ กระบวนการ และผลลัพธ์ ในด้านกระบวนการ มองว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนน้อยมาก และผู้ร่วมร่างก็ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนส่วนใหญ่
ขณะที่ด้านผลลัพธ์ ชี้ว่า ตามหลักรัฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญมีขึ้นเพื่อกำหนดกรอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนในสังคม เมื่อร่างรัฐธรรมนูญออกมามีรายละเอียดซับซ้อน ตั้งคำถามว่า จะเปิดโอกาสให้มีการต่อรองในทางการเมือง มากน้อยแค่ไหน เพราะเหมือนว่าจะเขียนไว้เรียบร้อย ไม่มีพื้นที่ให้ตีความได้อีก
นอกจากนี้ ในหมวดหน้าที่ของรัฐ พบว่าทำให้รัฐมีขนาดใหญ่ อำนาจถูกถ่ายเทจากประชาชนสู่ตัวของรัฐ และมีความย้อนแย้ง อาทิ การกำหนดให้หน้าที่รัฐ คือการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง ซึ่งเรื่องนี้คลุมเครือในตัวเอง ถามว่าเท่ากับห้ามรัฐขาดดุลหรือไม่ ขณะที่รัฐต้องทำหน้าที่จำนวนมาก อาจทำให้ต้องขาดดุลทางการคลัง ถามว่าแล้วรัฐจะต้องเลือกแบบไหน
อีกประเด็นที่พบซ้ำๆ ในหลายจุด คือการใช้ถ้อยคำอย่าง "ความมั่นคงของรัฐ" "ความสงบเรียร้อย" "ศีลธรรมอันดีของประชาชน" กรณี "ความมั่นคงของรัฐ" อาจพอเข้าใจได้เพราะเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญหลายประเทศก็ระบุไว้ แต่ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี นั้นมีความเป็นอัตวิสัยพอสมควร เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล
ปองขวัญ ระบุว่า ความไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นสูง ระหว่างผู้ร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชน และประชาชนกับนักการเมือง เป็นเพราะมีความไม่สมดุลของอำนาจอย่างมาก ประชาชนถูกควบคุม เสียงผู้มีอำนาจดังกว่า ฝ่ายร่างได้เวลาออนแอร์มากกว่าฝ่ายวิพากษ์ ทั้งยังมีเสียงขู่ว่าไม่รับร่างจะไม่ได้เลือกตั้ง และบอกว่านักวิชาการไม่ควรวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะเกิดความวุ่นวาย ภาวะเช่นนี้ไม่เอื้อให้เกิดการประชามติที่มีคุณภาพได้
เราต้องยอมรับก่อนว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองจะแก้ได้ดีที่สุดด้วยการใช้การเมืองในการแก้ไข ต่อรองผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่กลับมีกลุ่มๆ หนึ่งขึ้นมาออกกฎเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ ความเห็นต่างไม่ถูกปะทะสังสรรค์
สิ่งที่ควรทำขณะนี้คือ ควรมีพื้นที่ให้พูดและเห็นต่างได้มากขึ้น แต่หากถามว่าทำได้แค่ไหน สภาพวันนี้ทำให้เห็นแล้วว่าเราทำไม่ได้


แนะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับร่าง รธน.-ปรับแก้ส่วนที่เป็นปัญหา

ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ชี้ว่า แม้ร่างนี้อาจจะมีการบัญญัติเพิ่มเติมให้ดีขึ้น แต่สังคมไม่คิดว่าเป็นประโยชน์และมองเป็นปัญหามุมกลับ เพราะกระบวนการร่างไม่ได้สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมของคนในสังคม
เขากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีประเด็นที่เป็นปัญหา เช่น ที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาจเปิดช่องให้มี นายกฯ คนนอก, ที่มาของ ส.ส. ที่น่าจะมีบัตรเลือกตั้งสองใบ, ที่มา ส.ว. แม้จะกำหนดให้เลือกไขว้และข้ามกลุ่ม แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดบล็อคโหวต, กลไกการตรวจสอบ ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้แม้กระทั่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกลไกยุ่งยาก ทั้งที่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยแท้ของฝ่ายนิติบัญญัติด้วยซ้ำ เพราะเชื่อมโยงกับประชาชนมากที่สุด และบทเฉพาะกาลที่ให้ยืดอำนาจของมาตรา 44 อาจทำให้เกิดภาวะอำนาจสูงสุดคู่ขนาน หากวันหนึ่ง คสช. และรัฐบาลที่มาจากอำนาจปกติ มีความเห็นต่างกัน จะเกิดปัญหาขึ้นทันที
ทั้งนี้ เขาชี้ว่า หลักการร่างรัฐธรรมนูญในระดับสากล ประกอบด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และของรัฐสภาจากการเลือกตั้ง ร่างนี้ ข้อสุดท้ายทำไม่ได้ เพราะแม้จะมีการให้ สปท. สนช.ให้ความเห็น แต่องค์กรเหล่านี้ก็ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง ดังนั้น ก่อนการประชามติ สิ่งที่จะทำได้คือ การทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ และปรับแก้ในส่วนที่เป็นปัญหา เพื่อไม่ให้ประชามติที่จะเกิดขึ้นเป็นประชามติบนความว่างเปล่า


เสนอเพิ่มคำถามในประชามติ ถ้าไม่รับแล้วอยากให้ทำไงต่อ

โคทม อารียา อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า เขียนได้กระชับ สละสลวย, ชอบระบบเลือกตั้ง ส.ส. สัดส่วนแบบผสม แต่หากเปลี่ยนเป็นมีบัตรเลือกตั้งสองใบจะเหมาะยิ่งขึ้น
โคทม กล่าวต่อว่า ส่วนข้อด้อยนั้น มองว่า มีการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป เช่น มีอำนาจให้ ครม.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง หากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตงบประมาณ นอกจากนี้ ยังแทรกอำนาจเหนือรัฐบาลชุดต่อๆ ไปผ่านการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากเกินไป
ทั้งนี้ เขาเสนอว่า ก่อนประชามติ รัฐบาลควรดำเนินการให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอ และเปิดให้ฝ่ายเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยเข้าถึงระบบสื่อสารของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมเปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนได้ถกแถลง
ทั้งนี้ เสนอให้ถามประชาชนในการลงประชามติสองประเด็นคือ รับหรือไม่รับร่างนี้ และหากไม่รับ ควรทำอย่างไร เช่น เอารัฐธรรมนูญ 2540, 2550 มาทำให้เป็นปัจจุบันและประกาศใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น
 

จวกร่าง รธน.รอบนี้ปิดกั้นกว่าทุกครั้ง

บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา เครือข่ายภาคประชาชนด้านผู้บริโภค กล่าวถึงประเด็นสิทธิผู้บริโภคว่า เดิม อยู่ในหมวดสิทธิและเขียนไว้ชัดเจนให้มีองค์กรที่เป็นอิสระจากรัฐและมีหน้าที่อย่างไรบ้าง แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลับย้ายไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ (มาตรา 57) และกำหนดเพียงว่ารัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกคุ้มครองสิทธิ และส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้บริโภครวมตัวกัน ซึ่งแม้จะเหมือนดูดี แต่เชื่อว่า เมื่อผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครอง ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะได้คำตอบว่า มีกลไกและสนับสนุนการรวมตัวอยู่แล้ว และจะไม่สามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโดยอาศัยรัฐธรรมนูญได้เลย  
บุญยืนระบุว่า ที่น่าตกใจที่สุด คือ มีการกำหนดหน้าที่ของรัฐไว้บางประการ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอยู่แล้ว ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า ประเด็นใดที่ไม่บัญญัติไว้ จะเท่ากับรัฐไม่ต้องทำตามใช่หรือไม่
การร่างครั้งนี้ ดูเหมือนจะมีเป้าอยู่ที่รัฐเป็นใหญ่ จัดการควบคุมทั้งหมด จากประสบการณ์การทำงานกับชุมชน พบว่ารัฐไม่เคยยืนอยู่ข้างประชาชนเลย ถามว่าจะเอาอย่างไร จริงๆ ก็ไม่มีทางเลือก และงวดนี้ก็ยิ่งกว่าทุกครั้ง มีการปิดกั้นการแสดงความเห็น การจัดเวทีมีข้อจำกัดมาก จะยื่นเอกสารต้องไปตามช่องทางที่กำหนด และไม่รู้เลยว่า กรธ.จะฟังแค่ไหน
ต่อคำถามว่า หากมีการขยายเวลาเลือกตั้งออกไปก่อนจะเห็นด้วยหรือไม่ บุญยืน กล่าวว่า การขยายเวลาหรือไม่ ไม่สำคัญ สำคัญที่การร่างกติกาอยู่ร่วมกันในอนาคตมากกว่า ถ้าปรับแก้ให้ยอมรับกติกาอยู่ร่วมกันได้ การเลือกตั้งจะเดินไป แต่หากยังร่างแบบกดประชาชน และรัฐเป็นใหญ่ ถึงจะไม่ขยายเวลา สุดท้าย เมื่อประชาชนรับไม่ได้ ก็ต้องขยายเวลาอยู่ดี
 

ชี้สิ่งที่หายไปคือเสรีภาพ-คนชายขอบ

เคท ครั้งพิบูลย์ นักกิจกรรมทางสังคม มองว่า สิ่งที่ขาดหายในรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ สิทธิเสรีภาพ และกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งจะทำให้การคิดถึงนโยบายสนับสนุนคนชายขอบเป็นเรื่องที่ถูกทำหลังสุด นอกจากนี้ เคทกล่าวถึงการกำหนดขอบเขตการใช้เสรีภาพที่ต้องไม่กระทบความมั่นคงว่า เรื่องนี้ตรงข้ามกับการทำหน้าที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน พร้อมเสนอว่า ความมั่นคงของมนุษย์ควรต้องถูกทำให้มองเห็นมากกว่าความมั่นคงของรัฐ
นอกจากนี้ เคทยังมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้มองปัญหาประชาชนแบบไม่เข้าใจ โดยจากเดิมที่ประชาชนใช้หลักการตามรัฐธรรมนูญในการฟ้องร้อง เพื่อเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม กลับให้อำนาจให้เป็นหน้าที่รัฐในแก้ปัญหาประชาชน ทำให้สุดท้ายคนจะเข้าถึงสิทธิยากมากขึ้น
 

ตราบใดที่ยังมีมาตรา 44 บรรยากาศแลกเปลี่ยนความเห็นคงไม่เกิด

ปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรม กล่าวว่า เมื่อดูเนื้อหาแล้ว สะท้อนชัดเจนว่า กรธ.ไม่ได้เชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบบตัวแทนอีกต่อไป ทำลายความตื่นตัวด้านประชาธิปไตยของประชาชนที่ทุกฝ่ายออกมาตรวจสอบ โดยให้มีองค์กรต่างๆ มาควบคุมดูแลซ้อนรัฐอีกทีหนึ่ง ต้องทบทวนว่า สุดท้ายแล้ว กรธ อยากให้มีการปกครองแบบตัวแทนหรือไม่ นอกจากนี้ เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ลดช่วงเวลาที่ประชาชนจะเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับเหลือ 9 ปี
ปกรณ์ กล่าวว่า แม้จะมีบางคนบอกว่าการเขียนรัฐธรรมนูญกะทัดรัด แต่อยากชี้ว่าหมวดปวงชนชาวไทยนั้น เหลือเพียง 21 มาตราเท่านั้น ทำให้ภาคส่วนต่างๆ วิจารณ์และพยายามเสนอมาตลอด อย่างไีก็ตาม ตราบใดที่มียังมีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว บรรยากาศการแลกเปลี่ยนจะไม่มีทางเกิดขึ้น ดังนั้น หากจะทำให้การลงประชามติในเดือนกรกฎาคมนี้ไม่ว่างเปล่า ต้องยกเลิกมาตรา 44
 

แนะอย่าดูเงื่อนไขรับ-ไม่รับ ให้ดูว่า รธน.ดี-ไม่ดี

เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยร่างรัฐธรรมนูญ มองว่า ต้องเขียนให้สั้น กระชับ แล้วใส่รายละเอียดในกฎหมายประกอบ ส่วนที่มีคนกลัวว่าจะเป็นการเซ็นเช็คเปล่าหรือไม่ ก็ต้องมีความชัดเจนว่ากฎหมายที่จะเกิดมีอะไรและจะจัดกระบวนการร่างอย่างไรเพื่อทำให้เกิดความไว้วางใจ พร้อมกันนี้ เขาเสนอว่า อย่าไปสนใจว่า ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไรต่อ เพราะอย่างไรก็มีโรดแมปเลือกตั้งอยู่แล้ว ส่วนตัวมองว่า ถ้าดีก็ควรผ่าน ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องผ่าน แล้วไปร่างกันใหม่
ส่วนที่มีข้อเสนอให้ขยายเวลาเลือกตั้งออกไป เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น เขามองว่า ไม่ควรขยายเวลา เพราะอาจถูกเล่นงานว่าขยายอำนาจ เพราะฉะนั้น หลักการอะไรที่วางไว้ ก็ให้เดินตามนั้น จะทำให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจ


คนรู้ปัญหา รธน. ไม่ได้ร่าง 

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ แสดงความเห็นว่า ไม่แปลกใจที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนแบบนี้ เพราะเมื่อคนที่ใช้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้เห็นปัญหาไม่มีส่วนร่วมร่าง ก็จะเกิดปัญหาขึ้น ถ้าอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ดีต้องเน้นการมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงตอนนี้แล้ว ก็ควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนมีส่วนร่วมมากกว่านี้ นอกจากนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะไม่เกิดปัญหาเลย หากผู้ร่างรับฟังว่าเรื่องใดบ้างที่ประชาชนมองว่าเป็นปัญหา เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วไปแก้ไขตรงนั้น อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่า เรื่องเหล่านั้นไม่ได้ถูกแก้เลย

'เว็บประชามติ' อัดจนท.ขวางแสดงความเห็น 'ร่างรธน.' ยิ่งทำให้สิ่งที่ขาดความชอบธรรมอยู่แล้วขาดมากขึ้น


วานนี้ (28 ก.พ.59) เวลา 15.45 น. เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ แถลงข่าวเกี่ยวกับสาเหตุและเรื่องราวที่ตอนแรกทำให้เกือบจะไม่ได้จัดงาน 'PetchaKucha 20x20' ในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ" โดยได้ย้ายมาจัดที่ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จากกำหนดการเดิมที่จะจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า ถูกสถานีตำรวจ สน.ปทุมวัน และ กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ แจ้งมายัง หอศิลปวัฒนธรรมฯ ว่ากิจกรรมนี้ิอาจเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืง ขัดต่อประกาศหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558  จึงจำเป็นต้องได้รับอนุญาตก่อน หอศิลปวัฒนธรรมฯ จึงยกเลิกการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมดังกล่าว ทำให้กิจกรรมทั้ง 2 คือ เสวนาสาธารณะหัวข้อ "รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ" (ซึ่งย้ายไปจัดที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อ่านรายละเอียด) และ งาน 'PetchaKucha 20x20' นี้ มีอุปสรรค ต้องย้ายสถานที่จัดงานอย่างเร่งด่วน 
เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ จึงมีข้อสังเกตดังนี้
ข้อหนึ่ง เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติก่อตั้งขึ้นและดำเนินกิจกรรมโดยตั้งอยู่บนหลักเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปสังคม เพราะเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในบรรยากาศที่เปิดกว้างเท่านั้นที่เป็นเครื่องรับประกันได้ว่ารัฐธรรมนูญและนโยบายสาธารณะทุกรูปแบบจะถูกออกแบบขึ้นโดยสอดรับกับความต้องการของประชาชน และนำไปสู่การแก้ปัญหาอันซับซ้อนของสังคมได้จริง โดยเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติขอยืนยันยึดมั่นในหลักการนี้ไม่มีเปลี่ยนแปลง
ข้อสอง ความพยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น หรือการต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนแสดงความคิดเห็นในประเด็นอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่วิธีการที่จะค้นหาคำตอบให้กับสังคมอย่างยั่งยืนได้ มีแต่จะสร้างความรู้สึกอึดอัดและแปลกแยก จนบ่มเพาะให้สังคมเต็มไปด้วยความแตกแยกที่ฝังรากลึกมากขึ้นทุกวัน ช่วงเวลาที่สังคมมีความขุดแย้งสูงอย่างในปัจจุบัน ไม่มีกรบวนการใดจะเป็นเครื่องมือพาสังคมเดินหน้าไปได้นอกจากการเปิดพื้นที่ให้ทุกความคิดเห็นได้มีส่วนร่วมในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างอิสระ
ข้อสาม ในบรรยากาศที่กำลังจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและกำลังจะมีการลงประชามติโดยประชาชน หลักการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น หากประชาชนรถูกปิดกันหรือขัดขวางไม่ให้พูดคุยในประเด็นรัฐธรรมนูญ ย่อมทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งขาดความชอบธรรมอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ยิ่งสูญเสียความชอบธรรมมากขึ้นไปอีก และรัฐธรรมนูญที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการเหล่านี้ก็ไม่อาจได้รับการยอมรับจากสังคมเมื่อนำไปบังคับใช้
"แม้จะมีความพยายามใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อสร้างบรรยากาศปิดกั้นขึ้นในสังคม ทำให้การจัดกิจกรรมมีอุปสรรคบ้างในช่วงเวลา 2-3 วันที่ผ่านมา เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ ยังคงยืนยันจะเดินหน้าทำกิจกรรมเพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างสำหรับทุกฝ่ายต่อไป โดยขอชักชวนให้ประชาชนทุกฝักฝ่ายและทุกภาคส่วนของสังคม ยึดมั่นในหลักการเสรีภาพการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการพยายามสร้างพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปสังคมให้มากที่สุดต่อไป แม้ภายใต้บรรยากาศที่มีข้อจำกัดในนามความมั่นคงอย่างปัจจุบัน" เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ ระบุในท้ายแถลงการณ์

ศาลสั่งคุก 'สรยุทธ' และพวก 13 ปี 4 เดือน คดี บ.ไร่ส้มไม่จ่ายเงินค่าโฆษณาเกินเวลา อสมท.


 
29 ก.พ. 2559 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน), บริษัทไร่ส้ม จำกัด โดย น.ส.อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม ในฐานะ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม , นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง และ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่ บจก.ไร่ส้มเป็นจำเลย 1-4 
 
ในความผิดฐาน เป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร , เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.6 , 8 และ 11 
 
ล่าสุด Nation TV รายงานว่า ศาลได้สั่งจำคุกนายสรยุทธกับลูกน้อง 20 ปี ลดเหลือ 13 ปี 4 เดือน ส่วนอดีตคนอสมท. คุก 30 ปี ลดเหลือ 20 ปี ไม่รออาญา ปรับไร่ส้ม 80,000 บาท
 
โดย Nation TV รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ศาลอาญาอนุมัติปล่อยตัวชั่วคราว นายสรยุทธ์ ในคดีบ.ไร่ส้ม ไม่จ่ายเงินค่าโฆษณาเกินเวลาให้กับอสมท.รวม 138 ล้านบาท ขณะที่เจ้าตัวยืนยันพร้อมสู้คดี 
 
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา รายงานด้วยว่า ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเพิ่มเติมไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้รับการเปิดเผยว่า คำพิพากษาตัดสินจำคุกนายสรยุทธ จะไม่มีผลกระทบต่อผังรายการของช่อง เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล รายการที่ผลิตโดยบริษัท ไร่ส้ม ทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็น รายการเรื่องเล่าเช้านี้ หรือรายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ยังคงออกอากาศตามปกติ ส่วนจะเปลี่ยนแปลงผู้ดำเนินรายการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ผลิตอีกครั้งหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับช่อง 
 
โฆษกสมาคมนักข่าวจี้ 'สรยุทธ' ทบทวนบทบาท
 
สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิและเสรีภาพ โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า แม้การต่อสู้ทางคดีในกระบวนการยุติธรรม จะยังไม่สิ้นสุด แต่การเป็นสื่อมวลชน ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ เรียกร้อง ทั้งนักการเมือง วงราชการและสังคมให้โปร่งใส
 
นายสรยุทธ์ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ หน้าจอ ซึ่งเชื่อว่า นายสรยุทธ์จะทบทวนบทบาทของตนเองต่อสังคม  โดยเรื่องนี้สมาคมเคยเรียกร้องให้นายสรยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่มาแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม ตนจะได้หารือกับนายกสมาคมฯ ว่าจะมีแถลงการณ์ในเรื่องนี้ ในนามของสมาคมหรือไม่.

ศาลปกครองนัดพิจารณาครั้งแรกพรุ่งนี้ คดีสมศักดิ์ ฟ้องเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ


ศาลปกครอง นัดพิจารณาคดีครั้งแรก คดีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มธ. ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ พรุ่งนี้ (1 ม.ค.59)
29 ก.พ. 2559 หลังจากที่สำนักงานศาลปกครองกลางมีหนังสือถึงทีมทนายความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 58 แจ้งคำสั่งรับฟ้องคดีที่สมศักดิ์ฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
พรุ่งนี้ (1 ก.พ.59) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าจะเป็นวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกของคดีหมายเลขดำที่ บ. 408/2558 อันเป็นคดีที่นายสมศักดิ์ เป็นผู้ฟ้องคดี ดังกล่าว เพื่อขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ โดยกำหนดนัดพิจารณาดังกล่าวเริ่มเวลา 13.30 น.ของวันดังกล่าว ณ ศาลปกครองกลาง ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 8
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้สรุปความเป็นมาของคดีก่อนวันนัดนั่งพิจารณาครั้งแรกไว้ดังนี้
คดีนี้ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับฟ้องในวันที่ 24 กันยายน 2558 โดยรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งคดีและคำฟ้อง อ่านเพิ่มได้ที่นี่
ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ศาลปกครองกลางได้ส่งคำให้การของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคำให้การคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) มาให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี โดยในคำให้การดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้โต้แย้งคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีมาในประเด็นต่างๆ ดังนี้
คำให้การผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
ประเด็นที 1 แม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะได้ยื่นคำร้องขอลาเพื่อเพิ่มพูนความรู้แล้วก็ตาม แต่เมื่อมหาวิทยาลัยยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ลา ผู้ฟ้องจึงยังต้องปฏิบัติราชการและเมื่อผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ผู้ฟ้องกลับมาปฏิบัติราชการแล้ว ผู้ฟ้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจึงต้องถือว่า จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่และจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จึงต้องถูกลงโทษตามข้อ 55 (6) แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
ประเด็นที่ 2 ในการมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการตั้งคณะกรรมการสวนวินัยตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ มีความเห็นว่าผู้ฟ้องกระทำความผิดวินัยร้ายแรง โดยไม่มีเหตุอันควรลดโทษ และเมื่อผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและมีคำสั่งลงโทษตามข้อ 55  ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฏหมาย
คำให้การผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
ประเด็นที่ 1 กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ประเด็นที่ 2 ข้อกล่าวอ้างเรื่องการถูกขมขู่ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องลี้ภัยและไม่อาจมาปฏิบัติราชการได้ เป็นข้ออ้างที่ผู้ถูกฟ้องคดีคาดการณืไปเองและไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ดังนั้น การใช้ดุลพินิจในออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
ต่อมาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลปกครองกลางได้ส่งหมายแจ้งมายังผู้ฟ้องคดีว่าได้กำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงของคดีนี้เป็นวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับหมายแจ้งดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงได้จัดทำคำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและชี้แจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อศาลในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้
คำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและชี้แจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
ประเด็นที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีเหตุสภาพร้ายแรงอันทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง
ประเด็นที่ 2 คำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 เรื่องลงโทษออกจากราชการ เป็นการใช้ดุลพินิจต่อหลักความพอสมควรแก่เหตุ
ประเด็นที่ 3 ข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อ้างมาเป็นเหตุในออกคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 เรื่องลงโทษออกจากราชการ มีความบกพร่อง
ประเด็นที่ 4 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ / ใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมายในพิจาณาอุทธรณ์คำสั่งที่ ศธ. 0592(3)1.9/6266
วันนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกและนัดฟังคำพิพากษา
วันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้แจ้งต่อผู้ฟ้องคดีว่าคดีนี้ ศาลได้กำหนดวัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ให้วันที่ 1 มี.ค. นี้ ซึ่งนอกจากการแจ้งกำหนดนัดดังกล่าวแล้ว ศาลยังได้สรุปข้อเท็จจริงในคดีของตุลาการเจ้าของสำนวนมาพร้อมหมายนี้ด้วย ซึ่งการสรุปข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลอ้างว่าได้พิจารณา ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การแล้ว ศาลเห็นว่าเพียงพอที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนในการแสวงหาข้อเท็จจริงตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ครบทุกขั้นตอน
ทางผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่า การสรุปข้อเท็จจริงในคดีของศาลดังกล่าว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการสรุปข้อเท็จจริงโดยไม่ได้นำเอาข้อเท็จจริงจากคำคัดค้านคำให้การผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองของผู้ฟ้องคดีมารวมสรุปไว้ด้วย ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่มิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว เพื่อรักษาประโยชน์แห่งยุติธรรมของผู้ฟ้องคดี

ประวิตรขอยิ่งลักษณ์อย่าได้วิตก ทหารแค่ดูแลความปลอดภัย ที่ถ่ายรูปอาจเห็นท่านสวย


พล.อ.ประวิตร ขอ 'ยิ่งลักษณ์' อย่าได้วิตก ทหารแค่ดูแลความปลอดภัย ที่ถ่ายรูปอาจเห็นท่านสวย พร้อมระบุไม่มีทหารไปคุกคาม 'ปวิน' ชี้เจ้าหน้าที่จะไม่ทำอะไรที่ไปคุกคาม หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน
29 ก.พ. 2559 จากกรณีวานนี้ (28 ก.พ.58) มติชนออนไลน์ นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ. หลังจากที่ตนและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เดินทางไปงานสวดพระอภิธรรมศพพี่ชาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ ที่บางบอน ปรากฏว่าระหว่างที่พระสวดอยู่นั้น ได้มีทหารบุกเข้าไปในศาลา ถ่ายรูป น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่นั่งเป็นประธานอยู่ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้หันมาหาตนและพูดว่า “โอ้โห อย่างนี้กันเชียวหรือ ขนาดมาสวดศพยังตามราวีไม่รู้จักจบสิ้นซักที” ซึ่งคนที่มาร่วมงานต่างก็ตกใจคิดว่าบุกเข้ามาจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งนี้ สภาพแบบนี้คนในประเทศจะรู้สึกอย่างไร อดีตนายกฯยังโดนลิดรอนสิทธิอย่างน่าเกลียด มันมากไปหรือเปล่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง มาราวีเพื่ออะไร อีกทั้งยังมากดดันกันในงานบุญงานศพ จึงอยากบอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เลิกตามราวีผู้หญิงเสียที
ล่าสุดวันนี้ ( 29 ก.พ.59) สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ ถูกทหารคุกคาม ตามถ่ายภาพขณะปฎิบัติภารกิจในพื้นที่ต่าง ๆ ว่า เจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็คือ การดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยเพราะถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์  คสช. ในพื้นที่ก็จะโดนตำหนิและต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นไม่อยากให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ คิดอะไรมาก ขอให้ใจเย็น ๆ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ไปทำอะไรที่ไม่ดี ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพอาจเป็นเพราะอดีตนายกฯ เป็นคนสวยก็เป็นได้ แต่ถ้าหากไม่ชอบ ตนก็จะเปลี่ยนให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบ
"เขาก็อาจเห็นท่านสวยมั้ง ไม่เห็นเป็นไรเลย ไม่เป็นไร โธ่ ไม่มีอะไรหรอก อย่าไปคิดอะไรมาก คิดมากไปเท่านั้น คิดไปโน้น คิดไปนี่ แหม่ อย่าไปวิตกนะ ไม่ต้องวิตก ไม่ได้ไปทำอะไรท่านอยู่แล้ว มีแต่รักษาความปลอดภัย" พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
 
 
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีทหารไปคุกคามนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ เจ้าหน้าที่จะไม่ทำอะไรที่ไปคุกคาม หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
สำหรับนายปวิน เมื่อกลางดึกของวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กของเขาได้ขึ้นข้อความหลายข้อความระบุถึงข่าวที่เขาได้รับทราบจากครอบครัวในเมืองไทย เมื่อทหารได้ไปพูดคุยที่บ้าน และมีการโทรศัพท์ข่มขู่ญาติ (อ่านรายละเอียด)

'พุทธอิสระ' ยื่นอัยการถอนประกัน 'จตุพร' ด้านทนายนปช. ถามเอาอำนาจอะไรมายื่นถอน


'พุทธอิสระ' ยื่นอัยการขอถอนประกัน 'จตุพร' คดีก่อการร้ายปี 53 เหตุ 1 เดือนที่ผ่านมากล่าวใส่ร้ายให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง ปมตั้งสังฆราช 'วิญญัติ ทนายนปช.' ถามไม่ใช่พยานในคดี ไม่ใช่โจทก์ แต่เป็นผู้ต้องหาคดีกบฎปิดสถานที่ราชการ มีอำนาจอะไรมายื่นถอนประกัน
 
29 ก.พ. 2559 MGR Online รายงานว่า ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (29 ก.พ.) พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐมได้ ยื่นเข้าหนังสือต่อนายภาณุพงษ์ โชติสิน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อให้ยื่นคำร้องถอนประกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มนปช. จำเลยคดีร่วมกับแกนนำชุมนุมก่อการร้ายเมื่อปี 2553 ต่อศาลอาญา เนื่องจากอ้างว่านายจตุพรให้สัมภาษณ์กล่าวหาใส่ร้าย ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง อาจเข้าข่ายกระทำผิดเงื่อนไขของศาล ที่ระบุห้าม มิให้จำเลยกระทำการใดๆ อันมีลักษณะดูหมิ่นผู้อื่น หรือยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือ อาจจะก่อให้เกิดอันตราย กระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ของผู้อื่น
พระพุทธะอิสระ กล่าวว่า สืบเนื่องจากพฤติกรรมของนายจตุพร ตลอดระยะเวลา 1 เดือนเศษที่ผ่านมา ได้กล่าวใส่ร้ายให้อาตมาเสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติยศศักดิ์ศรี ใส่ร้ายว่าเป็นภิกษุ ผู้ต้องอาบัติปาราชิก เป็นผู้ตั้งแก๊ง 3 พ. ซึ่งคำว่าแก๊งในพระธรรมวินัยถือว่าเป็นความประพฤติชั่วหยาบ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับคำกล่าวหาว่า อาตมาไม่ใช่พระภิกษุในพุทธศาสนา ฉะนั้นพฤติกรรมของนายจตุพรจึงน่าจะจะเข้าข่ายดูหมิ่นผู้อื่น ซึ่งผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาล นอกจากนี้ได้ส่งพยานหลักฐานเป็นเอกสาร 200 กว่าหน้า และแผ่นซีดีจำนวน 18 แผ่นมายื่นให้อัยการพิจารณาด้วย
       
พระพุทธะอิสระ กล่าวว่า นายจตุพรได้รับความเมตตาต่อศาลอาญาให้ปล่อยชั่วคราว แต่จากที่ปรากฏต่อสาธารชนนายจตุพรกลับพูดจาทำให้เสียชื่อเสียง หากขืนปล่อยให้สร้างความเดือดร้อนก็จะเป็นข้อกังขาของผู้คนและสังคมต่อไป จึงขอให้อัยการพิจารณายื่นคำร้องขอถอนประกันต่อศาลอาญา เพื่อระงับไม่ให้เกิดความเสียหาย แต่หากนายจตุพรจะฟ้องก็ยินดีที่จะสู้กันในชั้นศาล

หนังสือขอถอนประกัน

ขณะที่ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช. ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะ ถึงกรณีที่ พระพุทธะอิสระ ยื่นถอนประกัน นายจตุพร โดยตั้งคำถามว่า
"• เป็นผู้ต้องหาคดีกบฎ จากการปิดสถานที่ราชการและมีส่วนร่วมกับกปปส.ชุมนุมทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง ได้รับความคุ้มครองอย่างดี แล้วทำไมผู้ต้องหารายนี้ จึงไม่ถูกฟ้องคดีต่อศาลอาญา? ทั้งที่มีพวกเดียวกันถูกฟ้องไปแล้วก่อนหน้า 4 คน
• ไม่ใช่พยานในคดี ไม่ใช่โจทก์ การมายื่นหนังสือด้วยข้อความเข้าข่ายหมิ่นประมาทผู้อื่น เพื่อให้อัยการถอนประกันในคดีก่อการร้าย ถามว่ามีอำนาจอะไร?
• กิจของสงฆ์ที่เป็นวัตรปฏิบัติ คือการครองสมณะในทางธรรม เคร่งครัดในพระธรรมวินัย พิทักษ์ปกป้องพุทธศาสนา การออกมาเช่นนี้เป็นการสร้างความขัดแย้ง แตกแยก และอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติได้อย่างในอดีตอีกหรือไม่?" นายวิญญัติ โพสต์ตั้งคำถาม

วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เสื้อแดงอุบลเครียด เส้นเลือดในสมองแตก เสียชีวิตหลังเข้ารายงานตัวกับทหาร


ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Krekyut Competdee

ศูนย์ทนายฯเปิดบทสัมภาษณ์ก่อนเสียชีวิตของ ช.อ้วน หรือ ศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา แกนนำชมรมคนรักทักษิณอุบลฯ เจ้าตัวระบุเกิดความเครียดจากการถูกคุกคาม กดดันอย่างต่อเนื่องจากทหาร ต้องเข้ารายงานตัวกับทหารทุกสัปดาห์  และรู้สึกผิดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมในคดีสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53
รายงานระบุว่า 23 ก.พ. 59 ศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา หรือ ช.อ้วน แกนนำชมรมคนรักทักษิณอุบลฯ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี จากสาเหตุ เส้นเลือดในสมองแตก ด้วยวัย 52 ปี
คนใกล้ชิดเล่าว่า ก่อนเสียชีวิต ศักดิ์สิทธิ์ มีความเครียดจากการถูกทหารติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยเขาต้องเข้าไปรายงานตัวที่มณฑลทหารบกที่ 22 (มทบ.22) จ.อุบลราชธานี ทุกวันจันทร์ ยิ่งกว่านั้น ทหารยังโทรศัพท์หา หรือไปพบที่บ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์หรือการเคลื่อนไหวสำคัญๆ
ก่อนหน้าวันที่ 1 พ.ย.58 ที่คนเสื้อแดงนัดกันใส่เสื้อแดง ทหารประมาณ 10 นาย มาพบศักดิ์สิทธิ์ที่บ้าน  และสั่งห้ามไม่ให้เขาออกมาเคลื่อนไหวใดๆ  ช่วงปีใหม่ เขาตั้งใจเอาปฏิทินที่พิมพ์ภาพ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ มาแจกคนรู้จัก แต่เพิ่งแจกไปได้ไม่กี่ใบ ทหารก็มายึดปฏิทินที่เหลือกว่าร้อยใบไป เขาเล่าให้คนรู้จักฟังว่า ‘ผู้การ’ มาพบเขาเอง และขอไม่ให้แจกปฏิทินเหล่านั้น กรณีนี้กระทบความรู้สึกของศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก คนใกล้ชิดตั้งข้อสังเกตว่า “เป็นเรื่องหนักมากสำหรับเขา”
ไม่นับถึงสถานการณ์ทางการเมือง ที่ศักดิ์สิทธิ์เอาใจใส่ติดตาม และมักบ่นเสมอว่า “เราจะอยู่กันได้ยังไง” โดยเฉพาะคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้องยืนตามชั้นต้น ความเห็นของเขาคือ “ไม่ยุติธรรม”
จันทร์ที่ 22 ก.พ.59 ศักดิ์สิทธิ์เข้าไปรายงานตัวที่ มทบ.22 ตามปกติที่เขาปฏิบัติมา นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.57 หลังออกจากค่ายทหาร เขามีอาการปวดหัวจนครอบครัวต้องนำส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาประมาณ 12.00 น. วันที่ 23 ก.พ.59
ในรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าได้สัมภาษณ์ ศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา เมื่อเดือนกันยายน 2558 เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลผู้ถูกคุกคามหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  โดยได้ซักถามในประเด็นเรื่องการถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหารเป็นเวลา 6 วัน ในช่วงหลังการรัฐประหาร และถูกทหารติดตามมาโดยตลอดหลังจากนั้น ศักดิ์สิทธิ ได้กล่าวความรู้สึกกับศูนย์ทนายความเพื่อสิืทธิมนุษยชนว่า
“เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นที่รุนแรง… ผมรู้สึกว่าผมกำลังถูกกดขี่ ข่มเหง โดนกระทำ… ทหารมาวันไหนผมจะซึมเศร้าทั้งวัน”
และศูนย์ทนายฯ ได้นำบทบันทึกการพูดคุยในครั้งนั้นมาเผยแพร่ ดังต่อไปนี้
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Krekyut Competdee

ขอถามถึงความเป็นมาก่อนที่จะถูกเอาตัวไปปรับทัศนคติ

ผมเห็นว่าการเมืองไทยไม่มีความจริงใจ ไม่มีความเท่าเทียม และที่สำคัญมีการปล้นอำนาจของประชาชนโดยทหาร มีการปิดหู ปิดตาประชาชน มีการละเมิดสิทธิประชาชน คนที่คิดต่างไม่สามารถอยู่ได้ รู้สึกว่าถูกรังแก กดขี่ ผมจึงยึดมั่นอุดมการณ์ว่า “ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้”
ผมรู้สึกถูกกดขี่และไม่พอใจในระบอบการปกครองที่มีการกดขี่ ข่มแหง ไม่ให้ความยุติธรรม สองมาตรฐานกับคนบางกลุ่ม ดังนั้น ผมต้องลุกมาต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ สัญลักษณ์การต่อสู้ของผมคือ ‘สีแดง’
ผมเริ่มเคลื่อนไหวและมีความคิดที่ต่อต้านระบบที่กดขี่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 หลังการรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ เพราะเป็นช่วงที่นายกฯ ทักษิณ ถูกกระทำจากอำนาจนอกระบบ ซึ่งท่านเป็นนายกฯ ที่มาจากประชาชนเลือกและเราศรัทธา จึงทำให้ผมเป็นแบบทุกวันนี้คือ ต่อต้านความไม่เป็นธรรมทางการเมือง
ช่วงการเคลื่อนไหวของ กปปส. ผมก็เข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้และแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่ยอมรับความคิดเห็นของ กปปส. จนถึงวันที่ทหารเข้ารัฐประหารรัฐบาลที่มาจากประชาชนอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

ช่วยเล่าเหตุการณ์ช่วงที่ถูกทหารเอาตัวไปปรับทัศนคติ
ก่อนที่จะถูกทหารมาที่บ้านแล้วเชิญไปปรับทัศนคติ ผมก็ใช้ชีวิตปกติ ค้าขาย ช่วงก่อนหน้านั้นที่บ้านผมก็มีการประชุม รวมกลุ่มพูดคุยทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์การเมืองและความเห็นทางการเมืองของ กปปส.  ที่บ้านผมเหมือนเป็นที่ประสานงานของ ‘ชมรมคนรักทักษิณอุบลฯ’
วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ประมาณ 10 โมงเช้า กำลังทหารจากค่าย มทบ.22 มาที่บ้านซึ่งบอกผมว่ามาเชิญตัวเพราะ “นายจะคุยด้วย” ทหารบอกแค่นี้
รถฮัมวี่ รถเก๋ง 2 คัน รถกระบะ 2 คัน รถจีเอ็มซีพร้อมทหารในชุดพร้อมรบได้วางกำลังล้อมบ้านผม และมีการขอค้นบ้าน ผมไม่ให้ค้น ผมบอกว่า “ไม่มีอะไรในบ้าน”
ทหารชี้แจงรายละเอียดในการเชิญตัว ประมาณ 20 นาที แล้วบอกให้ผมเก็บร้านค้าขึ้นรถไปกับพวกเขา ผมนั่งในรถฮัมวี่มีทหารอาวุธครบมือนั่งแนบข้างผมทั้งสองข้าง ไม่มีการปิดตา ทหารพูดคุยกัน แต่ผมไม่พูด มีแต่ทหารยศใหญ่ที่พูดคุย ผมจำเส้นทางได้หมดว่าจะพาไปไหน
ทหารยังไม่บอกว่าจะเชิญตัวไปไหน ทำอะไร ทหารปฏิบัติกับผมดี ไม่มีการฉุดกระชาก พวกเขาเชิญขึ้นรถแบบให้เกียรติ ไม่ได้แตะเนื้อต้องตัวหรือพูดจารุนแรงกระทบจิตใจผม
ตอนนั้นครอบครัวของผมไม่อยู่ แต่ไม่ถึงสิบนาทีที่ทหารเชิญตัวไปเขาก็ทราบข่าว เพราะญาติพี่น้องแถวนั้นบอก
พอไปถึงที่ค่าย มทบ.22 ผมอยู่ในห้องรับรอง เป็นลักษณะห้องโถง มีหน้าต่างยาว ผมคิดว่าเป็นห้องทำงาน แต่มีการเก็บเฉพาะเพื่อให้ผมไปอยู่ ตอนแรกผมไม่รู้ว่าตัวเองจะได้ค้างคืน ผมไม่ได้เอาเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัวไปด้วย
ไปถึงที่นั่นก็นั่งรอเจ้าหน้าที่ที่จะมาคุยกับเรา โดยเป็นเจ้าหน้าที่คนละชุดที่ไปเชิญตัวผมมาจากบ้าน พวกเขาก็ชี้แจงเหตุผลที่ได้เชิญตัวมาว่า “ต้องได้พักที่นี่ซักระยะหนึ่ง บอกไม่ได้ว่ากี่วัน เจ้านายอยากจะสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลหลาย ๆ เรื่อง พวกเราขอเก็บโทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสารทั้งหมด และขอช่วงนี้ไม่ให้พบญาติหรือเพื่อน ไม่ให้ติดต่อกับคนภายนอก”
ผมถูกควบคุมตัวอยู่ที่นั่น ทั้งหมด 6 วัน มีอาหารให้ครบทุกมื้อ กาแฟ ของว่างด้วย ในห้องมีแอร์ มีทีวี ที่รับได้แต่ช่องประกาศของคณะ คสช. ในห้องนั้นมีเพื่อนอยู่อีก 3 คน ที่นอนมีแค่เบาะ หมอน ผ้าห่มเล็ก ๆ ให้ ผมจำได้มีวันหนึ่งมีการตรวจร่างกาย ตรวจสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ว่ามีจิตบกพร่องหรือไม่ โดยแพทย์ของทหารมาตรวจ
จากนั้นเจ้าหน้าที่จากสถานีตำรวจก็มาสอบปากคำ เหมือนการสอบผู้ต้องหา โดยถามว่า “ทำไมต้องเป็นเสื้อแดง” “เราต่อสู้เพื่ออะไร” “จะล้มล้างระบอบการปกครองหรือมีการติดอาวุธหรือไม่” การสอบปากคำครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เป็นอย่างต่ำ เพราะว่าคำถามยาวมาก การสอบปากคำมีครั้งเดียว แล้วลงลายมือชื่อผู้ที่ให้ปากคำ
ก่อนออกจากค่ายก็มีเอกสารมาให้เซ็นความร่วมมือต่าง ๆ กับทางเจ้าหน้าที่ เช่น การห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น ไม่มีการซ้อมทรมาน หรือใช้ความรุนแรง แม้กระทั่งการตอบคำถามต่าง ๆ ทหารไม่บังคับให้ตอบ
หลังจากออกจากค่ายมาผมบันทึกความรู้สึกหรือคำพูดอะไรต่าง ๆ ของผมและเจ้าหน้าที่ตอนถูกควบคุมตัวไว้ แต่ผมฉีกมันทิ้งแล้ว เพราะผมไม่อยากจำ มันเป็นความทรงจำที่เลวร้าย

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Krekyut Competdee

หลังจากนั้นแล้ว ทหารยังติดตามดูความเคลื่อนไหวของเราอีกมั้ย

จนถึงทุกวันนี้ ทหารก็ยังติดตามมาหาที่บ้านตลอด มาถ่ายรูปเพื่อรายงานเจ้านายของพวกเขา บางครั้งโทรศัพท์มาถามว่า “ทำอะไร อยู่ในพื้นที่หรือไม่ จะไปหาที่บ้านนะว่าจะถ่ายรูป พูดคุยด้วย” ผมสังเกตว่า ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ทหารก็จะมาหาผมตลอด แม้แต่เหตุการณ์ระเบิดกลางกรุงเทพฯ ล่าสุด ก็เช่นกัน หลังๆ ยังเพิ่มหน่วยงาน มี กอ.รมน และสันติบาลมาด้วย และทุกวันจันทร์ผมก็ต้องเข้าค่ายไปรายงานตัว ให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าผมยังอยู่ที่อุบลฯ
บางครั้งทหารเชิญไปร่วมงานปรองดองที่โคราช ให้ค่าเดินทางผมแค่ 500 บาท ผมปฏิเสธไม่ได้ต้องไปตามคำสั่งเขา

รู้สึกอย่างไรบ้างกับสิ่งที่เกิดขึ้น

สำหรับผมการที่ทหารทำกับผมและครอบครัวผมแบบนี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นที่รุนแรง เริ่มตั้งแต่การนำกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือมาล้อมบ้านผม ทำเหมือนผมเป็นผู้ร้ายอาชญากรรมรุนแรง และควบคุมตัวผมไปโดยไม่บอกสาเหตุ ควบคุมตัวผมไว้ที่ค่ายทหารไม่ให้รับรู้ข่าวสารโลกภายนอกทั้งหมด 6 วัน ถึงจะไม่มีการใช้ความรุนแรงกับผม แต่ในใจลึก ๆ ผมรู้สึกว่าผมกำลังถูกกดขี่ ข่มเหง โดนกระทำ บอกว่าเจ็บกายหรือไม่ ไม่เจ็บ แต่เจ็บใจหรือไม่ โคตรเจ็บ จนเรากลืนความเจ็บปวดนั้นไว้และครอบครัวก็ไม่อยากรับสภาพแบบนี้ มีครั้งหนึ่งครอบครัวเคยบ่นไม่อยากต้อนรับทหาร เพราะบางครั้งผมต้องออกจากบ้าน ถ้ารู้ว่าทหารจะมา แต่ครอบครัวก็ต้องรับหน้าแทน ถ้าวันไหนลูกผมอยู่บ้าน ก็ต้องรับหน้าแทนผม แล้วทหารก็ถามหาผมว่าผมไปไหน ผ่านครอบครัว ผมรู้สึกรำคาญ ทหารมาวันไหนผมจะซึมเศร้าทั้งวัน


มีสิ่งที่ยังไม่ได้ถาม แต่อยากพูดมั้ย

ผมไม่ถือว่ากลุ่มที่บริหารประเทศอยู่ตอนนี้เป็นรัฐบาล ผมถือว่าพวกนี้เป็นกบฏ ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสภาผู้แทนฯ ของประชาชน นายกฯ ผมไม่เรียกว่าเป็นนายกฯ ผมเรียกว่าผู้นำกบฏ เพราะไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ประชาชนไม่ได้เลือกเข้ามา ต่างชาติไม่ยอมรับ ผมไม่ยอมรับอำนาจเถื่อนนี้ทุกกรณี ขอให้รีบลงจากอำนาจ

หมายเหตุ: พิธีฌาปนกิจศพ นายศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 27 ก.พ.59 ณ วัดป่าบ้านหว่านไฟ ม.8 ต.บ้านดู่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด