วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ถึงมีชุดดำ ก็ไม่มีสิทธิ์ฆ่าประชาชน

            
             ดีเอสไอประกาศตั้งค่าหัวมือสังหารที่ยิงอาวุธ เข้าใส่เจ้าหน้าที่และประชาชนตาย 12 ศพ เจ็บ 6 คน ในช่วงสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยเฉพาะการยิง “ร่มเกล้า-เสธ.แดง” กรรมการ คอป. เบี้ยวเข้าให้ข้อมูลพนักงานสอบสวน ขอเลื่อนไปไม่มีกำหนด อดีตรักษาการ ผบ.ตร. ให้ปากคำยืนยันตำรวจไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์กระชับพื้นที่ เพราะมีคำสั่งให้เป็นหน่วยสนับสนุนเท่านั้น “เฉลิม” ซัดประชาธิปัตย์ต่อให้มีคนชุดดำจริงก็ไม่สมควรใช้เป็นข้ออ้างสลายการชุมนุม จนทำให้มีคนเจ็บ คนตายจำนวนมาก ด้านโฆษกประชาธิปัตย์เย้ย “ณัฐวุฒิ-จตุพร” ไม่กล้าดีเบตกับ “ศิริโชค” ระบุออกมาดิ้นรนเพราะกลัวความจริงกระทบต่อเก้าอี้รัฐมนตรี

                                             ++++++++++++


         ที่สำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าให้การกับพนักงานสอบสวนคดีการตาย 91 ศพ จากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง

          พล.ต.อ.ปทีปเปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนเน้นถามเรื่องโครงสร้างการทำงานของศูนย์อำนวยการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และแผนปฏิบัติการ ซึ่งได้นำเอกสารโครงสร้างของ ศอฉ. มาชี้แจงด้วย พร้อมยืนยันในการกระชับพื้นที่ตำรวจถูกสั่งให้เป็นหน่วยสนับสนุนเท่านั้น

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ขอเลื่อนนัดเข้าให้ปากคำอย่างไม่มีกำหนด
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แถลงว่า ได้ตั้งรางวัลนำจับรายละ 1,000,000 บาท ให้แก่ผู้แจ้งเบาะแสจนสามารถนำไปสู่การจับกุมตัวคนร้ายที่ก่อเหตุใน 7 คดี ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 12 ศพ ระหว่างสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง



          นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แกนนำคนเสื้อแดง ออกมาท้าดีเบตเรื่องชายชุดดำ เพราะการเปิดเผยความจริงของพรรคประชาธิปัตย์กำลังทำให้สถานะของนายณัฐวุฒิ เปลี่ยนไป เนื่องจากมีพยานหลักฐานชัดเจนว่ามีชายชุดดำใช้อาวุธสร้างความรุนแรง

        “หากยังไม่กล้าพอที่จะรับคำท้าของนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่ต่อให้ดีเบตแบบ 2 ต่อ 1 คือนายณัฐวุฒิและนายจตุพร พรหมพันธุ์ กับนายศิริโชค ก็อย่าพยายามเบี่ยงเบนประเด็นข้อเท็จจริงอีกต่อไป หรือจะไปดีเบตกับนายศรชัย ศรีดี ชายชุดดำที่ติดอาวุธสงครามอยู่บนสกายวอล์ค ที่นายณัฐวุฒิเป็นคนนำไปมอบตัว ซึ่งวันนี้หนีคดีไปแล้ว หรือ ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม ตำรวจเสื้อแดง ที่ใช้อาร์พีจียิงใส่วัดพระแก้ว แต่ไปถูกกระทรวงกลาโหม ซึ่งศาลตัดสินจำคุก 38 ปี หรือดีเบตกับคนเสื้อแดงที่เผาศาลากลาง 5 จังหวัดที่ยังติดคุกไม่ได้รับความช่วยเหลือจากคนสั่งการ”

        ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต่อให้มีชายชุดดำจริงก็ไม่มีสิทธิใช้กำลังทหาร อาวุธสงครามไปสลายการชุมนุมจนทำให้มีคนตายจำนวนมาก

         “ธรรมดาคนใกล้จะโดนจับก็ตื่นเต้นนิดหน่อย น้ำลดตอผุด” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวและว่า ไม่แปลกใจที่พรรคประชาธิปัตย์จะจัดปราศรัยตามหาชายชุดดำ เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์

โครงการรับจำนำข้าวจุดตายของเผด็จการไทย?

โครงการรับจำนำข้าวจุดตายของเผด็จการไทย?



                 ในช่วงหลายสัปดาห์ ที่ผ่านมา การปลุกกระแสคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินไป อย่างเต็มที่ เริ่มต้นจากพรรคประชาธิปัตย์ พ่อค้า และผู้ส่งออกข้าว องค์กรพัฒนาเอกชน ช่วยโหมกระพือด้วยสื่อมวลชนกระแสหลัก รุมกระหน่ำโครงการรับจำข้าวของรัฐบาลด้วยข้อบกพร่องและข้อมูลทุจริตที่ขยาย เกินจริง ไปจนถึงข้อมูลเท็จและข่าวลือต่างๆ

         ท้ายสุดคือการเคลื่อนไหวของนักวิชาการและนักศึกษากว่า 140 คน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกันลงชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 (1) นี่อาจเป็น “การข้ามเส้น” เพราะการคัดค้านก่อนหน้านี้เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ แต่การที่นักวิชาการกลุ่มนี้จงใจ “เปิดประตู” ให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา เป็นการแสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องการล้มโครงการรับจำนำข้าว เพื่อให้มีผลกระทบต่อเนื่องเป็นการล้มรัฐบาลในขั้นต่อไป

         โครงการรับจำนำข้าวมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาไทยผ่านการแทรกแซง กลไกตลาดด้วยการพยุงราคาขั้นต่ำ ถึงแม้รัฐบาลจะใช้วิธีการ “รับจำนำ” คือให้ชาวนาสามารถกลับมาไถ่ถอนคืนได้ในเงื่อนไขที่กำหนด แต่รัฐบาลตั้งราคารับจำนำไว้สูง ผลก็คือชาวนาไม่มาไถ่ถอนคืน ข้าวในโครงการจึงตกอยู่ในมือรัฐบาล เท่ากับว่ารัฐบาลเป็นผู้รับซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนาโดยไม่จำกัดจำนวนในราคา ที่ประกาศไว้นั่นเอง นี่คือมาตรการพยุงราคาสินค้าเกษตรที่มีอยู่ในตำราหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานทุก เล่ม และปฏิบัติกันมานานแล้วในกลุ่มสินค้าเกษตรทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่ว โลก

        โครงการนี้มีผลทำให้ราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้น เพราะรัฐบาลกลายเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ ข้าวจำนวนมากไปอยู่ในมือรัฐบาล บีบให้พ่อค้าต้องเสนอราคารับซื้อสูงตามไปด้วย ผลก็คือชาวนาทั่วไปแม้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็จะขายข้าวในราคาที่สูงขึ้นตาม ไปด้วย ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันข้าวเปลือกในตลาดเอกชนมีราคาสูงถึงตันละ 11,500-12,500 บาท เทียบกับสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งราคาอยู่ที่ตันละ 8,000-9,000 บาท และเหลือเพียงตันละ 6,000-7,000 บาท ในช่วงเก็บเกี่ยว

       ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์เองแสดงว่าการรับจำนำข้าวปีการเพาะปลูก 2554/55 มีชาวนาได้รับประโยชน์โดยตรงประมาณ 2 ล้านครัวเรือน เป็นเงิน 142,200 ล้านบาท และชาวนาที่ไม่ได้เข้าโครงการก็ได้ประโยชน์ด้วยประมาณ 57,000 ล้านบาท

      นักวิชาการที่ออกมาคัดค้านโครงการนี้อ้างเหตุผลว่า “นี่เป็นการรับจำนำ” ก็ต้องทำเหมือนโรงจำนำในเมืองคือ ต้องตั้งราคาจำนำที่ต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อบังคับให้ชาวนากลับมาไถ่ถอนคืน นักวิชาการพวกนี้แกล้งทำเป็นไม่เข้าใจว่าการจำนำสิ่งของมีค่าในเมืองมีจุด มุ่งหมาย “แก้ปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราว” ในยามเงินขาดมือ เช่น โรงเรียนเปิดภาคการศึกษา คนงานตกงาน เป็นต้น เมื่อผู้จำนำมีสภาพคล่องดีขึ้น (เช่น ได้รับเงินเดือน หรือได้งานทำ) ก็นำเงินมาไถ่ถอนสิ่งของกลับไป ส่วนโครงการรับจำนำข้าวนั้นไม่ใช่การ “แก้ปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราวของชาวนา” หากแต่เป็นการเพิ่มรายได้ในปีการเพาะปลูกนั้นๆโดยตรง แม้จะเป็นรูปแบบจำนำ แต่ในทางปฏิบัติคือการพยุงราคาให้สูง
หากรัฐบาลตั้งราคารับจำนำให้ต่ำกว่าราคาตลาดตามที่นักวิชาการพวกนี้เรียก ร้องก็จะเป็นการทำร้ายชาวนาและเอื้อประโยชน์แก่พ่อค้าและผู้ส่งออกโดยตรง เพราะราคาตลาดจะตกต่ำลงมาใกล้เคียงกับราคาจำนำในทันที เนื่องจากพ่อค้ารู้ว่าชาวนาไม่มีทางเลือกอื่นและต้องขายให้พ่อค้าเท่านั้น

        ส่วนข้อกล่าวหาว่าโครงการมีการทุจริตนั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะยุติโครงการ เพราะถ้ายึดหลักการว่าโครงการใดมีการทุจริตก็ต้องยกเลิกให้หมด เท่ากับว่ารัฐบาลต้องยกเลิกหมดเกือบทุกโครงการในประเทศไทย เพราะโครงการอีกมากมายก็อาจมีการทุจริตได้ ไม่เว้นแม้แต่การจัดซื้อจัดจ้างและโครงการวิจัยพัฒนาของพวกนักวิชาการใน มหาวิทยาลัยของรัฐด้วย ทางออกจึงไม่ใช่การเลิกโครงการ แต่เป็นการปรับปรุงการดำเนินการให้รัดกุม โปร่งใส มีการรั่วไหลให้น้อยที่สุด ปราบปรามจับกุมและลงโทษผู้ที่ทุจริตอย่างเด็ดขาด

      ส่วนการขาดทุนของโครงการรับจำนำอันเกิดจากข้าวเสื่อมคุณภาพและการระบาย ข้าวออกในราคาต่ำนั้นอยู่ที่ฝีมือการบริหารสต็อกข้าวของกระทรวงพาณิชย์ว่าจะ สามารถระบายข้าวออกไปได้อย่างรวดเร็วและในราคาที่ไม่ต่ำจนเกินไปได้หรือไม่ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ระบายออกจำนวนเพียงเล็กน้อยให้กับตลาดภายใน ประเทศ และมีข้อผูกพันขายข้าวผ่านรัฐบาล (จีทูจี) อีก 7 ล้านตัน ในช่วงปี 2555/56 สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือเร่งระบายข้าวออกไปเพื่อเปิดสถานที่เก็บให้กับข้าว ฤดูใหม่ปี 2555/56 และให้ได้เงินหมุนเวียนกลับมาบริหารโครงการต่อ

       ตัวเลขการขาดทุนสำหรับโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2554/55 นั้นหลายฝ่ายคำนวณได้ใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ตัวเลขขั้นต่ำ 50,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง ไปจนถึง 80,000 ล้านบาท โดยสมาคมโรงสีข้าวไทย ซึ่งไม่ได้เกินกว่าความเสียหาย 90,000 ล้านบาท ในโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนตัวเลขขาดทุนถึงกว่า 200,000 ล้านบาท ที่นักวิชาการบางค่ายกล่าวหากันนั้นก็คือตัวเลข “ยกเมฆ” ที่สมมุติว่าสต็อกข้าวปัจจุบันของรัฐบาลนั้นเน่าเสียทั้งหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้

       ที่แย่ไปกว่านั้นคือการที่นักวิชาการกลุ่มนี้ไม่ได้เพียงแค่แสดงความคิด เห็นต่างทางวิชาการเท่านั้น แต่ถึงกับใช้วิธีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รู้ดีว่าศาลรัฐธรรมนูญก็คือกลไกของพวกเผด็จการที่ใช้ทำลายรัฐบาลที่ มาจากการเลือกตั้ง และมีท่าทีชัดเจนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยปัจจุบัน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการเปิดช่องให้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญใช้ตุลาการเข้ามา แทรกแซงอำนาจบริหารอีกครั้ง และอาจนำไปสู่การทำลายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ชนะเลือกตั้งมาอย่างชอบธรรม ดังเช่นที่ได้ทำลายรัฐบาลพรรคพลังประชาชนไปแล้วนั่นเอง

        การที่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ สื่อมวลชนกระแสหลัก พ่อค้าผู้ส่งออกข้าว องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการปัญญาชนที่บูชาเผด็จการจารีตนิยมต้องเคลื่อนไหวอย่างหนัก ก็เพราะหากนิ่งเฉยปล่อยให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำโครงการนี้ต่อเนื่องได้ สำเร็จ พรรคเพื่อไทยก็จะชนะเลือกตั้งรอบหน้าด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเพิ่มขึ้นอีกมาก นั่นเอง

 
        แต่การที่คนพวกนี้อ้างเอาโครงการรับจำนำข้าวเพื่อดึงศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา นั้น พวกเขาก็กำลังเร่งนำความพินาศมาสู่พวกเผด็จการไทยให้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก คือการผลักให้ชาวนาทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาในภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ให้หันมาสนับสนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและเป็นแนวร่วมของคนเสื้อแดงอย่างรวด เร็วและได้ผลที่สุด

แล้วเราจะได้เห็นภาคจบของมหากาพย์เรื่องนี้กันเสียที!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 381 วันที่ 13-19 พ.ศ. 2555
หน้า 9 คอลัมน์ ปวงประชา โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

ตุลาการ หนอนสังคม



         นายคณิน บุญสุวรรณ นักวิชาการอิสระและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 ชำแหละตุลาการภิวัฒน์ไทยไม่เหมือนใครในโลกที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่ถูกดึงลงมาเล่นการเมืองหลังปฏิวัติ 2549 ทางแก้คือต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วจัดระบบศาลให้เข้าที่เข้าทาง ดังนี้
                             +++++++++  

สภาพตุลาการภิวัฒน์ในประเทศไทย

         คำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ที่ใช้ในประเทศไทยไม่ตรงกับในทางสากล ซึ่งในทางสากลคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” คือกระบวนการในการปรับปรุงแก้ไขสังคายนาระบบและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับบรรดาผู้พิพากษาตุลาการ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการนำไปใช้แก้ไขปัญหาร้ายแรงของประเทศได้ เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาทุจริต และปัญหาในองค์กรอาชญากรรม เช่น พวกมาเฟีย การหลบเลี่ยงภาษี และการฟอกเงินอะไรต่างๆ

        แต่ตุลาการภิวัฒน์ในเมืองไทยกลับตรงกันข้าม แทนที่จะมองตัวเองกลับไปมองคนอื่น และที่ร้ายไปกว่านั้นคือขณะที่ตุลาการภิวัฒน์ในทางสากลใช้ในการคลี่คลาย ปัญหาหรือวิกฤตที่เกิดขึ้นในทางสังคมและอาชญากรรม แต่ในเมืองไทยกลับเอามาใช้ด้วยเหตุผลทางการเมืองทั้งสิ้น

         อย่างเช่นการเริ่มต้นตุลาการภิวัฒน์ในเมืองไทยที่พูดกันในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณมีเสถียรภาพมาก กลไกต่างๆในรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำอะไรรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณได้ คนพวกนี้เลยคิดกันว่าถ้าอย่างนั้นไปใช้วิธีอื่น ไม่ใช้วิธีตามรัฐธรรมนูญแล้ว ไปใช้วิธีดึงฝ่ายตุลาการขึ้นมา ซึ่งฝ่ายตุลาการโดยปรกติแล้วจะไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่อันนี้เป็นแนวความคิด เป็นตรรกะวิธีการ และเป็นยุทธวิธี พูดง่ายๆว่าจะโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และในการโค่นล้มแทนที่จะใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกลับไปดึงเอาฝ่ายตุลาการ เข้ามาแล้วอุปโลกน์ว่าเป็นตุลาการภิวัฒน์ แต่แท้ที่จริงไม่ใช่

         ใช้ภาษาง่ายๆก็คือ มั่ว ตีขลุมเอา และที่สำคัญที่สุดคือการเอาตุลาการภิวัฒน์ในเมืองไทยมายุ่งเกี่ยวกับการ เมืองโดยตรง ทำให้เกิดความเสียหายมาก เพราะถึงอย่างไรก็แล้วแต่รัฐบาลหรือรัฐสภาก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีจุดยึดโยงกับประชาชน ในขณะที่ฝ่ายตุลาการไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน และไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย คือเป็นข้าราชการประจำแขนงหนึ่งด้วยซ้ำไป

         ที่น่าเป็นห่วงยิ่งไปกว่านั้นคือ โดยปรกติแล้วฝ่ายตุลาการต้องปฏิบัติหน้าที่ตามพระปรมาภิไธยของพระมหา กษัตริย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมืองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผู้พิพากษาที่เป็นฝ่ายตุลาการควรปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักอันนี้ เนื่องจากเป็นการกระทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งและการแย่งชิงอำนาจกัน

        จากความคิดตุลาการภิวัฒน์ที่ว่านี้ เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น แน่นอนที่สุดฝ่ายตุลาการน่าจะมีส่วนด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคณะรัฐประหารหรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คงไม่ตั้งให้คุณชาญชัย ลิขิตจิตถะ ที่เป็นอดีตประธานศาลฎีกา ข้ามห้วยมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนอกจากนั้นยังโอนลูกน้องตามมาด้วยคือ คุณจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาอยู่ ก็โอนข้ามห้วยมาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม และให้ไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทสำคัญ

        นอกจากนี้ยังตั้งผู้พิพากษาหลายคนเข้ามาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เป็นอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ ทั้งคุณอภิชาต สุขัคคานนท์ คุณสดศรี สัตยธรรม หรือมีผู้พิพากษาอีก 2-3 คน และยังมีรองอัยการสูงสุด สิ่งเหล่านี้เขาเรียกว่าเป็นตุลาการภิวัฒน์ แต่แท้ที่จริงเป็นกระบวนการที่จะโค่นล้มทำลายกันในทางการเมือง โดยใช้ฝ่ายตุลาการเป็นข้ออ้าง

        ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เห็นอย่างชัดเจนว่าพยายามเอาสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์มาปรับให้เป็น กลไกตามรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มอำนาจให้มากขึ้น อย่างศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเมื่อก่อนก็ไม่มี

        แต่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ตั้งขึ้นเป็นศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และ กกต. ก็เพิ่มอำนาจเข้าไปอีก รวมทั้งเพิ่มอำนาจให้กับศาลรัฐธรรมนูญ และองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญจาก 15 คน ก็ลดลงเหลือ 9 คน ซึ่ง 5 ใน 9 คน มาจากศาลทั้งนั้น คือมาจากศาลฎีกา 3 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดอีก 2 คน เหลืออีก 4 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักนิติศาสตร์และนักกฎหมาย

       อย่างนี้แสดงให้เห็นว่าตุลาการภิวัฒน์แท้ที่จริงก็คือการแลกเปลี่ยนผล ประโยชน์ตอบแทนกัน โดยใช้บริการของศาลหรือฝ่ายตุลาการ แล้วก็ตอบแทนกันไป แต่ในที่สุดความล้มเหลวก็เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างมีการจัดการและวางแผนกันเป็นกลไก เหมือนกับว่าเอาไปโค่นล้มทำลายฝ่ายตรงกันข้ามในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับรัฐบาลหรือพรรคการเมืองที่ถูกรัฐประหารเมื่อ วันที่ 19 ก.ย. 2549 แล้วตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมา เช่น คตส.

       คดีต่างๆเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น คตส. หรือ ป.ป.ช. หรือองค์กรต่างๆที่ได้ทำสำนวนในการไต่สวน ก็ส่งไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลและองค์กรต่างๆเหล่านี้เรียกรวมกันว่าตุลาการภิวัฒน์ แต่แท้ที่จริงไม่ใช่ เพราะเป็นกระบวนการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจโดยไม่ใช้กำลังทหารนั่นเอง แม้จะแพ้การเลือกตั้งเมื่อปี 2550 แต่กลับพยายามใช้ทุกวิถีทางในสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ เพื่อพลิกกลับให้เสียงข้างน้อยได้เป็นรัฐบาล โดยไปจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

       ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมือง แม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและมีเสียงข้างมากท้วมท้นแค่ไหน แต่ก็ถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลา ขณะที่หน้าที่ของศาลยุติธรรมช่วงที่ยังไม่มีตุลาการภิวัฒน์ คดีที่ค้างการพิจารณาของศาลตั้งแต่ศาลยุติธรรมก็มีมากมายมหาศาล บางคดีพิจารณาเป็นสิบๆปีกว่าจะตัดสิน อย่างเมื่อเร็วๆนี้คดีหม่อมลูกปลาผ่านมา 10 ปีกว่า ศาลเพิ่งจะตัดสินไม่นานมานี้ หรือคดีอาญา คดียาเสพติดต่างๆที่ยังคั่งค้างอยู่ ทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม ไร้ประสิทธิภาพ และอาจทำให้ขาดความยุติธรรมได้

       สรุปว่าการใช้ตุลาการภิวัฒน์มาอ้างในการโค่นรัฐบาลและทำลายกันในทางการ เมืองนอกจากจะประสบความล้มเหลวแล้ว ยังทำให้ภารกิจหน้าที่หลักของศาลยุติธรรมซึ่งเป็นเสาหลักและที่พึ่งสุดท้าย ในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรมเองและตัวผู้พิพากษาต้องประสบความเสียหายหลาย ด้านด้วย

        ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนกัน คือถอยกลับไปเถิด อย่านึกว่าผู้พิพากษาเป็นผู้ทรงคุณธรรมและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ อย่างน้อยที่สุดผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน กฎหมายมหาชนเลย แต่มาอยู่ในองค์กรอิสระต่างๆ
ถึงวันนี้แทนที่จะใช้ตุลาการภิวัฒน์ในทางสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในทางสากล กลับกลายเป็นว่าเอามาใช้ผิดที่ผิดทาง ทำให้เกิดความเสียหาย แค่งานด้านศาลเองก็ทำไม่ไหวแล้ว ยังจะรุกคืบไปทำงานด้านการเมืองอีก และไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าศาลออกมาต่อล้อต่อเถียงกับประชาชน ขู่ฟ้องบ้างอะไรบ้าง เพราะขึ้นชื่อว่าศาลเป็นฝ่ายตุลาการ ย่อมต้องมีความเป็นอิสระ มีความเป็นกลาง แต่เวลานี้เหมือนกับฝ่ายตุลาการออกมาเล่นการเมือง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในศาล เช่น ผู้พิพากษาศาลฎีกา

        ผมขอถามว่าแล้วผู้พิพากษาระดับเล็กๆจะทำอย่างไร เขาก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไป เสร็จแล้วก็ต้องดูอีกว่าผู้พิพากษาระดับผู้ใหญ่ ระบบศาลจะไปอย่างไร เพราะฉะนั้นมันสร้างความกระอักกระอ่วน และที่สำคัญที่สุดคือศาลตรวจสอบไม่ได้ นอกจากนี้ยังวิจารณ์ไม่ได้อีกด้วย เราจึงไม่มีโอกาสรู้ความจริงเลย ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ ไม่มีหรอกถ้าไม่ถูกตรวจสอบจะมีความบริสุทธิ์ผ่องใส แม้แต่คนที่มีอำนาจอย่างฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ยัง ต้องถูกตรวจสอบ

กระทบต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรมหรือไม่?

        ขอบอกว่ากระทบ เพราะหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมจะมีได้ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นเป็นประชาธิปไตย ที่บอกว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยเพราะที่มาของกฎหมาย คนที่ออกกฎหมายต้องมาจากประชาชนถึงจะเรียกว่าเป็นนิติรัฐได้ และคนบังคับใช้กฎหมายต้องมาตามกระบวนการของประชาธิปไตย ซึ่งผู้วินิจฉัยกฎหมายคือผู้พิพากษาตุลาการต้องเป็นกระบวนการที่มาจากระบอบ ประชาธิปไตย แต่ตุลาการภิวัฒน์ในประเทศไทยมาจากการรัฐประหาร

        ที่สำคัญเริ่มต้นก่อนการรัฐประหารด้วยซ้ำ มีส่วนร่วมในการที่วางแผนโค่นล้มรัฐบาลโดยการใช้กำลังทหารปฏิวัติด้วยซ้ำไป แล้วมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นกลไกต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมอยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่ากระบวนการตุลาการภิวัฒน์ในประเทศไทยถูกออกแบบมา เพื่อสร้างหลักนิติรัฐ นิติธรรม แต่กลับตรงกันข้าม การจะสร้างหลักนิติรัฐ นิติธรรมได้ต้องกลับไปสู่ภาวะของหลักประชาธิปไตย คือประเทศไทยหลังการรัฐประหารดันไปตั้งประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นประมุขของฝ่าย ตุลาการมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แล้วจะเอาหลักนิติรัฐที่ไหน

คืนนิติธรรมเป็นเสาหลักประชาธิปไตย

       ต้องกลับไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย คือทหารต้องกลับสู่กรมกอง ผู้พิพากษาต้องกลับบัลลังก์ศาล แล้วคืนกระบวนการประชาธิปไตยให้กับประชาชน ตราบใดที่ยังมีการแทรกแซงกันอยู่อย่างนี้ กลายเป็นว่ากองทัพ ศาล และพรรคการเมือง ร่วมกับนายทุนเก่า พยายามจะยึดอำนาจตลอดเวลา ที่สำคัญถ้าศาลไม่ได้เป็นที่พึ่งสุดท้ายและไม่ได้เป็นเสาหลัก มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง นับวันมีแต่จะเปลืองตัว เพราะเวลานี้คนพูดถึงศาลไม่ได้เจาะจงว่าพูดถึงศาลไหน คิดว่าเป็นศาลเหมือนกัน โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญเป็นส่วนสำคัญในการทำรัฐประหาร ที่สำคัญวางตัวเป็นหัวหอกด้วย พูดง่ายๆเวลานี้เอาศาลออกมาเล่นการเมืองหมดแล้ว นี่คือสมรภูมิทางการเมือง

การทำรัฐประหารโดยศาลยังจะมีต่อไป

       ความพยายามมีแน่นอน แต่จะล้มเหลวหมด เวลานี้เหมือนกับว่าถ้าใช้กำลังทหารในการทำรัฐประหารได้คงทำไปแล้ว แต่ในเมื่อทำไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีอย่างนี้ ซึ่งนับวันจะทำให้ระบบศาล หรือสถาบันอนุรักษ์ สถาบันดั้งเดิม เช่น กองทัพ เผชิญหน้ากับประชาชนมากขึ้น ถามว่านักการเมืองมาจากไหน นักการเมืองก็มาจากประชาชน แล้วเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกนักการเมืองเข้ามาทำหน้าที่ก็เป็นเสียงของประชาชน ระดับรากหญ้าทั้งนั้น ถ้าทำอย่างนี้ไปนานๆเข้ามีแต่จะเผชิญหน้ากับประชาชน

      เมื่อก่อนไม่เคยมีใครกล้าวิจารณ์ศาล วิจารณ์กองทัพ เดี๋ยวนี้วิจารณ์กันมาก ไปๆมาๆก็ขู่กัน เป็นลักษณะของประเทศที่ไม่มีความสงบ ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของระบบศาลโดยรวมเสียหายหมด ถ้าบอกว่าต้องการตุลาการภิวัฒน์จริง ควรมาตีแผ่ว่าตุลาการภิวัฒน์ที่แท้จริงคืออะไร

สมควรยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้งหรือไม่

        มันมาไกลเกินไปแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดถึงเรื่องนั้น ต้องคิดถึงการสังคายนาศาลทั้งระบบแล้วในประเทศนี้ ที่พูดกันว่าปัญหาในประเทศไทยคือการคอร์รัปชัน เรื่องนักการเมืองเลว แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว กลายเป็นระบบศาลที่เป็นตัวปัญหา ขอย้ำว่าสถานการณ์ขณะนี้ต้องสังคายนาปฏิรูปศาลทั้งระบบ โดยศาลยุติธรรมเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง คดีทั่วไป ก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้ผู้พิพากษาระดับสูงมีจุดยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่ลอยมาจากไหนก็ไม่รู้ อย่างน้อยที่สุดต้องมีการควบคุมตรวจสอบได้

       ผมขอบอกว่าศาลในประเทศไทยกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่ตรวจสอบไม่ได้ และไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน เรื่องความล้าช้าในกระบวนการยุติธรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเอามาตีแผ่ กัน อย่างศาลปกครองก็มีได้ แต่จะให้มีอำนาจถึงขนาดไปล้มรัฐบาลคงไม่ถูก ศาลปกครองมีไว้พิจารณาคดีปกครอง ส่วนศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องมี มาถึงขนาดนี้ไม่จำเป็นต้องมีแล้ว เพราะจริงๆแล้วองค์กรที่เรียกว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็มีได้อยู่แล้ว แต่พอเป็นศาลปุ๊บก็ติดขึ้นมาทันทีในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ กลายเป็นว่าตรวจสอบวิจารณ์ไม่ได้

จะทำอย่างไรให้สังคมไทยหลุดพ้นวงจรนี้

        ตุลาการภิวัฒน์ที่ว่านี้กำลังสร้างปัญหาให้กับสังคม ถามว่าเราจะหลุดพ้นไปได้หรือไม่ ผมขอบอกว่าคงหลุดไม่ได้ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้มองตัวเอง เพราะเวลานี้ศาลไม่เคยมองตัวเอง มองแต่คนอื่น และยิ่งได้ลูกยุจากฝ่ายกองทัพและและพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งต้องการดันศาลออกมาข้างหน้า ส่งผลให้สังคมไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรนี้ได้ แต่ก็มีอีกทางหนึ่งคือแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แล้วจัดการกันใหม่หมด ไล่ตั้งแต่บทบาทของศาลควรเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารควรมีมากน้อยแค่ไหน องค์กรอิสระจำเป็นต้องมีหรือไม่ ซึ่งความจริงไม่ต้องมีก็ได้ หากมีจะยิ่งเป็นภาระให้ประชาชนมากขึ้นไปอีก วันดีคืนดีไปออกระเบียบเพิ่มค่าตอบแทนให้กับตัวเอง เงินเดือนตั้งเท่าไร เงินค่าตอบแทน เบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุมอีก ไม่รวมผลประโยชน์อย่างอื่นหรือสิทธิพิเศษอะไรต่างๆเยอะแยะไปหมด รถประจำตำแหน่งราคาตั้ง 3-4 ล้านบาท แล้วในที่สุดก็ทำแต่เรื่องอย่างนี้

        เวลานี้ศาลถูกตั้งฉายาหลายชื่อมาก สะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้เหมือนกับช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้มีคนได้ประโยชน์คือบุคลากรระดับสูงในศาล เมื่อเป็นแบบนี้ก็ช่วยไม่ได้ ดูแล้วน่าเป็นห่วง อย่างที่บอกว่าเป็นปัญหาพื้นฐาน ซึ่งมีมานานแล้ว ไม่เคยได้ยินหรือที่ภาษิตกฎหมายบอกว่า “ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมก็คือความไม่ยุติธรรม”

        นี่คือจุดอ่อนของศาลในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรม

นักโทษการเมืองก็คือคนที่คิดต่าง?

นักโทษการเมืองก็คือคนที่คิดต่าง?
         เว็บไซต์ “ประชาไท” สัมภาษณ์ “นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งรับผิดชอบ 4 อนุกรรมการคือ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคล อนุกรรมการสิทธิชุมชนโดยดูแลด้านทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติ ลุ่มน้ำ ทะเล ชายฝั่งและสินแร่ และอนุกรรมการที่ดินและป่า ซึ่ง นพ.นิรันดร์ให้นิยามคำว่า “นักโทษการเมือง” รวมทั้งการทำงานในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งกำลังศึกษาผลกระทบจากการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยยอมรับว่าตนเองเป็น “เอ็นจีโอระดับชาติ” เพราะมีกฎหมายรองรับและมีเครื่องไม้เครื่องมือทางกฎหมาย ซึ่ง นพ.นิรันดร์พร้อมคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีผู้ได้รับผลกระทบถูกจับกุมคุม ขังหลังการสลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ขณะที่ความน่าเชื่อถือของ กสม. ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ล่าสุดนายวัชระ เพชรทอง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โจมตี นพ.นิรันดร์ที่เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม “ปฏิญญาหน้าศาล” ที่ไปเป็นวิทยากรและให้ความเห็นประเด็นนักโทษการเมือง ซึ่ง นพ.นิรันดร์ได้ตอบคำถามที่น่าสนใจหลายประเด็น ดังนี้

เรื่องมาตรา 112 และการสลายชุมนุมตอนนี้กำลังดำเนินการอย่างไรบ้าง


           เรื่องมาตรา 112 ผมคิดว่าผมก็ทำงานอย่างสม่ำเสมอตลอด แต่การทำงานประเด็นมาตรา 112 ภายใต้ความขัดแย้งก็เป็นเรื่องยาก ต้องแยกระหว่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ออกไป ผมทำงานโดยยึดหลักการ กรณีมาตรา 112 เรื่องที่ร้องเรียนมาก็อยู่ในความรับผิดชอบของผม ผมก็ไปตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข กรณีอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือผู้ชุมนุมที่อยู่ในเรือนจำ ซึ่งภายหลังถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ผมตรวจสอบทุกกรณี 


         บางกรณีไม่ถึงศาลผมก็เชิญพนักงานสอบสวนมาแล้วก็พยายามทำให้เกิดมาตรการทำ ความเข้าใจกัน อันนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่ได้ออกมาสื่อต่อสาธารณะ แต่คนที่ผมทำงานด้วยก็รับรู้ว่ากระบวนการในการตรวจสอบทำให้หน่วยงานของรัฐ เข้าใจ แม้แต่ในส่วนของตำรวจเองก็มีคณะกรรมการกลั่นกรองและตรวจสอบกรณี 112 เราก็ไปคุยกับเขา หรือแม้กระทั่งคนที่ถูกจับเป็นผู้ต้องหา ผมก็เข้าไปเยี่ยม

          ล่าสุดผมไปเยี่ยมคุณสมยศ คุณสุรชัย และอีก 5-6 คนที่เหลืออยู่ สิ่งต่างๆเหล่านี้คือสิ่งที่เราทำงานทั้งตรวจสอบและติดตาม ฉะนั้นคดี 112 จึงตั้งคณะทำงานในการศึกษาและวิเคราะห์ว่ามาตรา 112 ที่มีการประกาศใช้มีปัญหาที่ทำให้คนมาร้องเรียนอย่างไร และเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิในการแสดงความเห็นเพราะไปพ่วงกับพระ ราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา


         เราต้องดูว่ามาตรา 112 มีปัญหาในการบังคับใช้อย่างไร มีปัญหาในตัวบทอย่างไร ก็ตั้งคณะกรรมการศึกษาและย้อนหลังไป 10-20 ปี เพื่อดูว่ามีมูลเหตุอะไรที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่ถูกต้องบ้าง เพื่อให้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่รักษาพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ได้ ไม่มีใครดูหมิ่นหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้าย แต่ก็ไม่มีใครเอากฎหมายไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกันในทางการเมือง


          การทำงานขณะนี้ก้าวหน้าไปพอสมควรและจะทำโฟกัสกรุ๊ป แต่การทำงานภายใต้ความขัดแย้งทางการเมือง แบ่งฝักฝ่ายผมเองก็ถูกลากไป หรือถูกมองว่าเข้าข้างฝ่ายนี้ ไม่เข้าข้างฝ่ายนั้น ซึ่งผมก็อยากจะบอกกับสังคมว่า เรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มันไม่ควรจะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดแนวทางในการตัดสินว่าใครถูกใครผิดด้วยการ ใช้กำลัง  แต่มันควรเป็นเสรีภาพที่เรารับฟังกันและดูว่ามันมีทางออกอย่างไรบ้าง


         และสิ่งที่ผมจะเสนอออกมาก็ต้องมีเหตุผลที่อยู่บนพื้นฐานหลักวิชาการและ ข้อเท็จจริงเพราะผมศึกษาไม่ใช่คิดเอาเอง แต่ผมมีกรณีร้องเรียน มีข้อเท็จจริง มีความรู้ทางวิชาการและสรุปประสบการณ์จากต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศเราสามารถเป็นประชาธิปไตยและสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ได้ เป็นสิ่งที่อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจในหลักการนี้ ไม่มองว่าผมเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือมากล่าวหาว่าผมต้องการล้มสถาบันเพราะผม ไม่เคยมีประวัติแบบนั้นมาก่อน ก็อยากให้เข้าใจ


         ส่วนเรื่องอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองต้องยอมรับว่า รับผิดชอบเฉพาะกรณีหลังการสลายการชุมนุม 19 พฤษภาคม ส่วนกรณีที่เกิดก่อนวันที่ 19 พฤษภาคม ก่อนหน้านั้นก็อยู่ในการดูแล แต่หลังจากนั้นมติ กสม. ชี้ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งอนุกรรมการชุดของผมก็เข้าไปติดตามตรวจสอบในเรือนจำต่างๆที่อีสานและภาค เหนือ หลังจากนั้นด้วยกระบวนการตรวจสอบก็ได้ไปคลี่คลายสานการณ์ที่เชียงรายในกรณี ที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กและเยาวชน


        บางอย่างยอมรับว่าไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ เพราะเป็นคำวินิจฉัยของศาล แต่ก็ติดตามประเด็นอื่นๆ เช่น สิทธิประกันตัว สิทธิผู้ต้องหา ยอมรับว่าประเด็นเหล่านี้มีเรื่องการเมืองอยู่ด้วย ฉะนั้นการคลี่คลายก็ทำโดยการประสานงานกับหน่วยงานรัฐ เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เอาเงินทุนไปประกัน บางครั้งเอาเงินไปประกันแต่ศาลไม่ให้ประกัน เราก็ทำอะไรไม่ได้ หรือบางทีติดต่อสภาทนายความไปช่วยในการดำเนินคดี แต่เจ้าตัวบอกว่าไม่เอาทนายจากสภาทนายความ เพราะไม่เชื่อถือ เนื่องจากเป็นคนละสี คนละฝ่ายกัน เราก็ไปก้าวล่วงสิทธิของผู้ต้องหาเหล่านั้นไม่ได้ เพราะเขาติดในเรื่องความแตกต่างในความคิดทางการเมือง แต่ก็พยายามคลี่คลายในกรณีต่างๆตามลำดับ และยังติดตามอยู่


      คณะทำงาน 112 ในอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองจะมีข้อเสนอและข้อสรุปอะไรหรือไม่


      คณะเราทำงานเพื่อยุทธศาสตร์เชิงนโยบาย เรื่องมาตรา 112 ดูเรื่องยุทธศาสตร์และนโยบายว่าจะมีข้อเสนออะไร เมื่อมีการร้องเรียนเรื่อง 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มีการละเมิดโดยข้าราชการโดยผู้ใช้กฎหมาย ก็ต้องมาดูว่าจริงหรือไม่ และถ้าจริงจะมีข้อเสนอในการแก้ไขอย่างไร ซึ่งเรามีทั้งมาตรการแก้ไขระยะสั้นและข้อเสนอเชิงนโยบาย


คนที่ติดคุกอยู่ตอนนี้ กสม. ดำเนินการอย่างไร


        คนที่เป็นผู้ต้องหาขณะนี้เหลือประมาณ 6 คน ที่เรือนจำพิเศษมี 2 คนที่ไม่ขอพระราชทานอภัยโทษ เราก็ยังไปดูแลเรื่องสิทธิการประกันตัว แต่ล่าสุดคุณสมยศศาลก็ไม่อนุมัติ และจะตัดสินในอีกไม่นานนี้ ส่วนอีก 4 คนได้ขอพระราชทานอภัยโทษ เข้าใจว่าคงค่อยๆลดหย่อน ก็ต้องติดตามว่าเขามีปัญหาอย่างอื่นไหม เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ไปพูดคุย และจะทำเรื่องสิทธิในการได้รับการดูแลด้านสุขภาพ


        คดีการเมืองและนักโทษการเมืองในบ้านเราที่มีความเห็นทางการเมืองจริงๆควร จะเป็นนักโทษไหม หรือไม่ควรจะถูกฆ่าอย่างกรณี 4 รัฐมนตรี หรือกรณีฮัจยีสุหลง กรณี 112 พูดง่ายๆคือมองว่าคดี 112 เป็นนักโทษการเมือง เพราะฉะนั้นเราก็มาขยายต่อ โดยศึกษานโยบายเรื่องการดูแลสุขภาพของนักโทษที่อยู่ในเรือนจำและคดีนักโทษ การเมือง เราก็ขยายบริบทในการศึกษาต่อเพื่อที่จะมีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล และข้อเสนอของเราไม่ใช่ลอยๆนะ จะต้องส่งให้รัฐบาลพิจารณา และต้องตอบเราด้วย ข้อเสนอเหล่านี้ต้องเสนอต่อรัฐสภา นอกจากเสนอต่อภาคประชาชน และต้องเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิสุขภาพ อย่างกรณีอากง หากมีปัญหาก็ต้องเสนอต่อราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย คือเราเป็นหน่วยงานที่สามารถประสานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐบาลและรัฐสภา


          ช่วยอธิบายคำว่า “นักโทษการเมือง” ได้ไหม เพราะมีคนบอกว่าบางคนติดคุกเพราะไปเผาศาลากลาง หรือใช้ความรุนแรงในการชุมนุม หรือคนที่โดนมาตรา 112 จะให้เป็นนักโทษการเมืองได้ยังไง เพราะใช้ถ้อยคำรุนแรงกับพระมหากษัตริย์


         ในทรรศนะของผม นักโทษการเมืองก็คือนักโทษที่มีความคิดต่างทางการเมือง ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยต้องยอมรับความเห็นต่างทางการเมืองว่าเป็นสิ่งที่ถูก ต้อง และต้องมี ถ้าเห็นไปทางเดียวกันหมดก็เป็นเผด็จการ ประชาธิปไตยต้องมีความคิดที่หลากหลาย เพียงแต่สังคมไทยเรามีการจัดการความคิดที่หลากหลายและไม่ตรงกันด้วยวิธีที่ ผิดมาตลอด คือใช้อำนาจ อย่างเช่นประวัติศาสตร์เรา ผมอยู่อีสานมา 30 ปี 4 รัฐมนตรีอีสานถูกกล่าวหาว่าต้องการแบ่งแยกดินแดนแล้วก็ถูกฆ่าตาย จนป่านนี้ยังไม่เปิดเผยด้วยซ้ำไป ทางภาคใต้ ฮัจยีสุหลงมีความคิดที่ต้องการให้เห็นถึงการปกครองที่นึกถึงเรื่องความหลาก หลายทางชาติพันธุ์ ก็ถูกฆ่าถ่วงน้ำเหมือนกัน หรือกระทั่งเหตุการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องความเห็นที่แตกต่างในเรื่องของความไม่เป็นธรรม


        ฉะนั้นการชุมนุมทางการเมืองหรือคดี 112 ก็เป็นเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองที่หลากหลายในสังคม เพียงแต่ใช้วิธีจัดการโดยอำนาจรัฐที่ผิด เช่น ยัดข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ ยัดข้อหาแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดภาคใต้ก็ใช้กฎหมายความมั่นคง คือใช้วิธีจัดการที่ไม่ถูกต้อง มีจัดการถูกต้องอยู่อย่างเดียวคือเรื่องคอมมิวนิสต์ที่ใช้นโยบาย 66/23 แต่กรณีเสื้อสีขณะนี้ก็ใช้นโยบายที่ไม่ถูกต้อง


        การชุมนุมที่ผ่านมาก็ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทำให้เกิดปัญหาการใช้อำนาจละเมิดสิทธิต่างๆที่เราต้องมาดูแลอยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นหมายความว่าการจัดการกับนักโทษการเมือง เราไม่ใช้วิธีทางการเมือง แต่ใช้อำนาจจัดการกับคนที่มีความคิดตรงข้าม เราต้องพยายามทำให้สังคมได้สรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์ว่าทำอย่างนี้แก้ ปัญหาไม่ได้ ยิ่งทำให้ปัญหาหมักหมมและบานปลายมากขึ้น 


        เราต้องจัดการด้วยสันติวิธี ด้วยการพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน และยอมรับการทำงานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ได้เสียงข้างมากในการเป็นตัวแทนเข้า ไปบริหาร แต่คนเหล่านี้ก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นด้วย นี่ต่างหากที่เราต้องสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้น นักโทษการเมืองจึงจะไม่ถูกละเมิดหรือถูกจัดการโดยใช้อำนาจหรือความรุนแรงจน ถึงกับเสียชีวิตเหมือนที่ผ่านมาในระบอบประชาธิปไตย

        ในมุมของคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายจากความเห็นต่างทางการเมือง อาจจะเข้าใจ แต่กับคนที่มองจากขั้วสีที่แตกต่างอาจมองว่าคุณหมอกำลังเสนอว่านักโทษเหล่า นี้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยหรือเปล่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น


       ถ้ามองในแง่คนที่ใช้อำนาจ ใช้กฎหมาย ก็จะมองว่าจำเป็นต้องใช้กฎหมายเพื่อเข้าไปจัดการสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่เราต้องรู้ว่านักโทษการเมืองหรือการชุมนุมทางการเมืองของภาคประชาชนไม่ เคยเป็นคนริเริ่มความรุนแรงขึ้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา หรือพฤษภา 35 ก็ตาม ประชาชนหรือการชุมนุมของชาวไร่ชาวนาหลัง 14 ตุลา สหพันธ์ชาวไร่ชาวนาก็ถูกฆ่าตาย เพราะความกลัวเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์หรือสงครามเย็น อาจารย์ในสมัยนั้นก็ถูกฆ่าตาย เพราะฉะนั้นประเด็นเหล่านี้เราต้องดูประวัติศาสตร์ของการมีความคิดเห็นทาง การเมือง โดยเฉพาะนักวิชาการหรือประชาชนไม่เคยใช้ความรุนแรง แต่วิธีจัดการของรัฐต่างหากที่กระตุ้นให้ความรุนแรงเกิดขึ้น


      เพราะฉะนั้นเรื่องคอมมิวนิสต์ถือเป็นเรื่องปรกติในประเทศประชาธิปไตยทั่ว ไป แต่สำหรับประเทศไทยมี พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์แล้วบอกว่าไอ้นี่ผิดกฎหมายไง เรื่อง 3 จังหวัดภาคใต้ จริงๆคือเรื่องของความไม่เป็นธรรม พอคุณประกาศตรงนั้นปั๊บก็ต้องใช้กำลังมาต่อสู้กัน เพราะว่าใช้กำลังทหารเข้าไปแก้ไขปัญหา แล้วก็ใช้อำนาจ ทำให้เกิดคดีคุณสมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้ม หรือ 4 ผู้ต้องหาจากการปล้นปืนเผาโรงเรียนตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ตอนนี้คดียังไม่จบเลยนะ เราก็พบว่าเป็นการที่เขาถูกซ้อมทรมานและถูกยัดเยียดข้อหาทั้งสิ้น การทำอย่างนี้คือการใช้อำนาจ ยอมรับว่า 3 จังหวัดป่านนี้ปัญหายังไม่จบ ความถี่อาจจะลดลง แต่ความรุนแรงอาจมากขึ้นด้วยซ้ำไป และอาจขยายเป็นปัญหาระดับสากลตามความต้องการของผู้ไม่หวังดีก็ได้


       ในยุคของ พล.อ.เปรม ท่านเข้าใจในเรื่องของการแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ ก็ใช้นโยบายการเมือง เราก็บอกว่าเรามีประสบการณ์ที่ดีมาแล้ว แต่เราไม่สรุปบทเรียนและแก้ปัญหาด้วยแนวทางการเมืองนำการทหารอย่างถูกต้อง ต่างหาก นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าสังคมต้องสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์ ไม่อย่างนั้นเราก็จะใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็เป็นประชาธิปไตยที่ย่ำเท้าอยู่กับที่ ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยที่อยู่บนหลักเกณฑ์ของความต้องการให้เกิดความเป็นธรรม ยอมรับมติของประชาชนเป็นใหญ่ และยึดหลักความเป็นธรรมคือยึดหลักสิทธิมนุษยชนด้วย


      เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เสียงปวงชนเป็นใหญ่ แต่ต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนด้วย นี่คือสิ่งที่อาจารย์ปรีดีได้ตราไว้เมื่อปี 2475 เพียงแต่ไปๆมาๆมันหดสั้นลงทุกที สิทธิมนุษยชนก็ตัดทิ้งไป มติปวงชนเป็นใหญ่ก็หดเหลือแค่เสียงข้างมากเป็นใหญ่ ก็เลยกลายเป็นการทำลายเสียงข้างน้อย เอาเสียงข้างมากเป็นตัวกฎเกณฑ์ เป็นอย่างนี้มาตลอด
กรณีพฤษภาคม 2553 เป็นปัญหาการเมืองระดับประเทศ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และสังคมจับตามอง ซึ่งเห็นได้ว่าท่าทีของ กสม. แม้แต่การออกแถลงการณ์ก็ล่าช้า กสม. คุยกันอย่างไร


         ช่วงพฤษภาคมเป็นการทำงานโดย กสม. ทุกคณะ แต่ยอมรับว่ามีอุบัติเหตุที่ทำให้กระบวนการติดขัด เช่น คณะทำงานนั้นคนที่รับผิดชอบไม่ใช่กรรมการ แต่เป็นเป็นสำนักงานและเลขาธิการ กสม. ซึ่งไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ หากเป็นการดำเนินการโดยอนุกรรมการผมจะตรวจสอบและเชิญมาชี้แจง แต่อย่างที่บอก ช่วงเวลาชุมนุมเป็นส่วนที่อยู่ในกรรมการและคณะทำงานที่ผมอยู่ในตอนแรก แต่ผมถอนตัวออกไป ยอมรับว่าการทำงานไม่ได้เข้มข้น เป็นปัญหาความน่าเชื่อถือ


        มีเรื่องรายงานข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่ของอนุกรรมการด้วยซ้ำที่รั่วออกไป และทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและเชื่อมั่น และเมื่อเร็วๆนี้ก็มีการรั่วออกไปอีก ทั้งๆที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่ตรงกับข้อเท็จจริงว่ามีอนุกรรมการ 9 ชุด เรามีแค่ชุดเดียว และรายงานก็ไม่ตรงกับที่กรรมการได้อ่าน ยอมรับว่ามีข้อผิดพลาดเรื่องการตรวจสอบและมีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่รั่ว ความล่าช้าที่ไม่ได้ใช้อำนาจตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะผมก็บอกว่าชาวบ้านที่ถูกละเมิดไม่ได้หวังให้เราตรวจสอบ แต่หวังให้เรามีมาตรการคุ้มครองเยียวยาปัญหาที่เกิดจากการละเมิดสิทธิ ส่วนแถลงการณ์ต่างๆเป็นเรื่องที่เป็นผลออกมาทีหลัง ต้องยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องการที่ข่าวสื่อออกไปและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งผมเข้าใจว่านี่คงเป็นประเด็นการเมืองที่พยายามลากกรรมการสิทธิฯไปเป็น ส่วนหนึ่งของการต่อสู้ จึงต้องเร่งทำงานรายงานการชุมนุมให้เร็วที่สุด โดยไม่ได้ขึ้นกับว่าจะเข้ากับฝ่ายใดสีไหน


       เราจะได้อ่านรายงานสถานการณ์พฤษภาคม 2553 โดย กสม. ในอนาคตอันใกล้หรือไม่


      ต้องทำให้เร็วที่สุด ท่านอาจารย์อมรา (พงศาพิชญ์) ก็พยายามเร่ง เพราะร่างฯรายงานสุดท้ายก็ต้องให้กรรมการอีก 6 ท่านดู นอกจากนี้ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และสื่อมาช่วยดูอีกครั้ง ซึ่งคงจะออกมาได้


      การทำงานของคุณหมอ 3 ปีที่ผ่านมาให้คะแนนตัวเองและคณะทำงานอย่างไรบ้าง
ถ้าถามว่าพอใจไหม ผมพอใจ เพราะความพอใจของผม ผมคิดว่าได้ทำงานกับชาวบ้าน ได้ทำอะไรให้กับชาวบ้าน เพียงแต่ทางสังคม หรือจากที่พี่จรัล (ดิษฐาอภิชัย) พูดก็จะมองว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิพลเมืองและการเมือง ผมอยากทำความเข้าใจว่างานที่ผมทำอยู่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยสิทธิชุมชนอย่าง เดียว แต่ต้องทำด้านสิทธิพลเมืองและการเมืองด้วย


       ยกตัวอย่างเรื่องกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เราเข้าไปเพราะสิทธิชุมชนถูกละเมิด แต่ขณะเดียวกันเขาต้องลุกขึ้นมาพูดให้รัฐได้เข้าใจด้วย ปรากฏว่ากะเหรี่ยงทางภาคเหนือ พฤ โอ่โดเชา ที่เป็นลูกพ่อหลวงจอนิ ลงไปช่วยพูดคุยให้ชาวบ้านได้รู้ว่าถูกละเมิดยังไงบ้าง และต้องพูดคุยกับหัวหน้าอุทยาน ผู้ว่าราชการจังหวัดยังไงบ้าง ขณะนี้เกิดโครงการที่จะพัฒนาดูแลกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และยอมรับว่ากะเหรี่ยงแก่งกระจานไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ได้ค้ายาเสพติด


       เพราะฉะนั้นคำว่าสิทธิชุมชนไม่ใช่แค่เรื่องการดูแลทรัพยากร การมีชีวิตอยู่หรือมีสิทธิในการตัดสินใจ แต่ต้องบวกเรื่องสิทธิการเมืองและพลเมืองเข้าไปด้วย หรือเรื่องสถานะบุคคลต้องบวกสิทธิพลเมืองเข้าไปด้วย ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นแค่ถูกละเมิดอย่างเดียว หรือกลายเป็นผู้ด้อยโอกาส


      เวลาเรามอง เราไม่ได้มองแยกส่วน ผมถึงมองว่าการทำงานของผมใน 4 อนุกรรมการ เราคุยกันครั้งสุดท้ายเป็นการประชุมของ 4 อนุกรรมการในทุกปี เรามองว่าต้องทำงานเชื่อมโยงในภาพรวม ต้องทำให้สิทธิพลเมืองการเมืองอยู่ในสิทธิชุมชน และต้องขับเคลื่อนไปถึงการแก้ไขและสร้างความเป็นธรรมได้ อันนี้ผมพอใจ


ผมทำงานอยู่ 3 อย่างในช่วง 3 ปีคือ 


1.ตรวจสอบและพยายามให้การคุ้มครอง และประสานหน่วยงานของรัฐ 

2.พยายามทำงานในการเสริมสร้างศักยภาพของภาคประชาชน โดยเข้าไปสร้างอาสาสมัครสิทธิมนุษยชนในการให้ภาคประชาชนมีความตื่นตัวในการ ทำงานต่อสู้ และการสร้างสิทธิให้กับตัวเองได้มีความเข้าใจ ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะทำงาน เช่น สามารถลุกขึ้นมาฟ้องร้องได้ สามารถขึ้นมาตรวจสอบได้ในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิทางการเมือง และ 

 3.พยายามเข้าไปทำงานในการเสนอเชิงนโยบายและกฎหมาย เช่น ร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับประชาชน ร่าง พ.ร.บ.ประมงพื้นบ้าน หรือเข้าไปดูนโยบายเรื่องมาตรา 112 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือเรื่องของผู้อพยพต่างๆก็พยายามผลักดัน

         ผมคิดว่าใน 3 ส่วนนี้ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นคงวัดไม่ได้ เพราะผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในฐานะกรรมการสิทธิไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่อง แก้ไขได้หมด แต่ผมได้เปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาชนและสังคมรับรู้ การแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นเชิงระบบโครงสร้าง นโยบาย บางอย่างแก้ง่ายก็สามารถแก้ไขไปในตัว แต่เรื่องยากๆที่เป็นต้นตอปัญหามาตลอด 80 ปีก็ต้องใช้เวลา มีพัฒนาการในการแก้ไข


อีก 3 ปีที่เหลือวางแนวทางในการทำงานไว้ยังไง


        ผมต้องขอเรียนว่าไม่เคยทำงานที่คลุกวงในแบบนี้ เพราะการเป็นกรรมการสิทธิฯต้องทำงานในเชิงการบริหารจัดการ ทำงานหลายส่วน ตอนเป็นสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้ทำมากขนาดนี้ ตอนเป็นหมอก็ไม่ได้ทำมากขนาดนี้ ผมคิดว่า 3 ปีที่ผ่านมาทำให้ผมตั้งหลักได้พอสมควร อีก 3 ปีที่เหลือเราก็คุยกันใน 4 อนุกรรมการ คืออนุกรรมการที่มาจากภายนอกและเจ้าหน้าที่ คุยกับเจ้าหน้าที่ทุกคนประมาณ 20-30 ชีวิต กับอนุกรรมการอีก 40 คน ว่าเราต้องตั้งธงในการทำงาน 3 เรื่องใหญ่ๆคือ 


        1.การตรวจสอบและมีกระบวนการตรวจสอบที่สามารถให้การคุ้มครอง มีรายงานที่มีคุณภาพ ต้องทำให้เกิดรายงานที่รวดเร็วและแก้ปัญหา ถ้ารายงานยังไม่เสร็จต้องมีมาตรการในการแก้ไขหรือนำเสนอหน่วยงานของรัฐที่ เกี่ยวข้อง อาจมีจดหมายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการชี้แนะหรือข้อเสนอ เช่น กรณีคนไทยพลัดถิ่น มีกฎกระทรวงออกมา ตั้งกรรมการออกมา แต่พอเราเห็นปัญหาในกฎกระทรวงก็มีจดหมายแสดงความคิดเห็นไปที่ปลัดกระทรวง มหาดไทยว่าต้องมีมาตรการยังไง และต้องประสานกับหน่วยงานของรัฐ คืออธิบดีกรมการปกครองและนักวิชาการ ขณะนี้ก็มีเรื่องของการลงทะเบียน เราก็ให้อนุกรรมการไปลงพื้นที่ เหล่านี้คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในอีก 3 ปีที่เหลือ
 

       2.อยากทำเรื่องของภาคสังคมให้มีความเข้มแข็งในเรื่องของสิทธิ ผมคิดว่าสังคมไทยช่วงนี้มีพัฒนาการทางการเมืองภาคประชาชน และเป็นการต่อสู้เรื่องสิทธิที่แหลมคมมากขึ้น คำว่าแหลมคมมากขึ้นหมายความว่าพัฒนาการที่สื่อให้เห็นถึงการตื่นตัวของภาค ประชาชนในเรื่องสิทธิพลเมืองสูงมาก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงอย่างมโหฬาร หรือทำให้เกิดความคลี่คลายในทางสร้างสรรค์

      ผมคิดว่าช่วง 2 ปีนี้เรามีเรื่องความคิดที่ออกมาสู่ภาคสังคมเยอะในการหาทางออกโดยสันติภาพ หรือสันติวิธี เพียงแต่ต้องใช้เวลาให้สังคมได้เรียนรู้ ถ้าผ่านสังคมในระยะเปลี่ยนผ่านได้ มีกระบวนการที่ทุกฝ่ายยึดสิทธิมนุษยชน เอาบทเรียนของความเจ็บปวดมาเป็นพื้นฐาน ผมคิดว่าเราจะฝ่าข้ามไปโดยที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนได้ แล้วก็สามารถเสนอแก้นโยบายกฎหมายต่างๆที่ผมได้ไล่เรียงแล้ว แต่ตรงนี้คงไม่ได้ทำคนเดียว ต้องเชื่อมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งเป็นองค์กรใหม่ตามรัฐธรรมนูญ หลายเรื่องเราก็ทำงานร่วมกันอยู่ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.ทรัพยากรธรรมชาติ หรือจะมีการเสนอเรื่อง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนออกมา และการทำงานร่วมกับภาคประชาชนด้วย 3 ปีที่เหลือน่าจะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมในแต่ละเรื่องได้


        มีสิ่งหนึ่งที่ขณะนี้เป็นปัญหาที่บานปลายมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คือเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม คดีของภาคประชาชน คดีของคุณจินตนา แก้วขาว (แกนนำชาวบ้านค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด) คดีที่ดินลำพูน คดีมาตรา 112 คดีการชุมนุมทางการเมือง เหล่านี้เราทำให้เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมด้วย ทำให้เราต้องตระหนักว่าสังคมอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อที่อันตราย


       ถ้าหากภาคประชาชนหรือสังคมหมดที่พึ่ง ฝ่ายบริหารหรือรัฐสภาเป็นการเมืองที่ล้มเหลว ฝ่ายตุลาการหรือระบบยุติธรรมก็ไม่ได้เป็นที่พึ่ง แล้วประชาชนจะพึ่งใคร เมื่อถึงตอนนั้นจะเกิดปัญหาทันที อย่างที่บอกว่าตอนนี้ไม่มีระบบอะไรที่น่าเชื่อถือเลย แสดงให้เห็นว่าคนมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ผมคิดว่าผมยอมรับได้และเป็นสิ่งที่ดี


        แต่ถ้าไม่เชื่อในระบบ ตรงนี้จะมีปัญหา เพราะจะทำให้ต้องหาทางออกด้วยความรุนแรงทันที เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งที่เป็นปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ภายใน 3 ปีนี้เราต้องทำให้เห็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เห็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนเห็นว่าไม่เป็นธรรม และนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ว่าต้องแก้ไขในทางนโยบายและกฎหมายอย่างไร


       นี่คือสิ่งที่คิดว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่มีความสำคัญ แต่การขับเคลื่อนตรงนี้จะเกี่ยวพันกับหลายองค์กร ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ นิติวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่พูดมาทั้งหมด แต่เนื่องจากกรรมการสิทธิฯเป็นองค์กรกึ่งตุลาการ เราจะใช้ความเป็นเพื่อนของความเป็นระบบตุลาการทำให้เกิดการยอมรับในข้อมูล ข้อเท็จจริง ในองค์ความรู้ที่เราศึกษาได้อย่างไร อันนี้ต้องวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ผมคิดว่าเรื่องนี้จะต้องให้ความสำคัญ


       แล้วตัวองค์กรกรรมการสิทธิฯเอง จากการทำงาน 3 ปีที่ผ่านมา มองว่ามีอะไรต้องปรับเปลี่ยนในโครงสร้างหรือกลไกการทำงานไหม


      ผมคิดว่ากรรมการสิทธิฯชุดนี้ต่างกับชุดแรก อย่างแรกคือที่มา ซึ่งเราได้คุยกันแล้วว่าเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างกฎหมายคือรัฐธรรมนูญ ต้องเรียนว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ไขเรื่องการสรรหากรรมการสิทธิฯ เพราะเราเห็นความแตกต่างของกรรมการชุดนี้ที่มาจากการสรรหาของกรรมการสรรหา ซึ่งส่วนใหญ่ 5 ใน 7 ท่านมาจากตุลาการ เพราะฉะนั้นก็ทำให้มีผลกระทบต่อลักษณะการทำงานของกรรมการสิทธิฯที่ต่างจาก ชุดที่แล้วค่อนข้างชัดเจน
ประการที่ 2 คือการลดจำนวนกรรมการสิทธิลงจาก 11 คน เหลือ 7 คน ต้องยอมรับว่าบ้านเราการละเมิดสิทธิยังเยอะอยู่ จะเทียบกับในยุโรปหรือออสเตรเลียที่กรรมการสิทธิฯแค่ศึกษาองค์ความรู้อย่าง เดียว ทำงานส่งเสริมอย่างเดียวไม่ได้ เพราะบ้านเราการละเมิดยังเยอะมาก ต้องใช้เวลาในการสั่งสมตรงนี้


      เพราะฉะนั้นจึงเหมือนหมอที่ยังไงก็ต้องดูแลคนไข้ เพราะคนป่วยในบ้านเรายังเยอะอยู่ ถ้าจะทำงานป้องกัน ส่งเสริมอย่างเดียว คนป่วยมาไม่ดูแลไม่ได้ ดังนั้น ผมก็เปรียบกรรมการสิทธิฯเหมือนหมอ การดูแลเรื่องเรื่องคนป่วย กรรมการสิทธิจาก 11 คน เหลือ 7 คน ในช่วงนี้น้อยไป ดูแลไม่ไหว ถ้าหากลดลงแล้วสังคมมีความเข้าใจเรื่องสิทธิดีขึ้น มีพัฒนาการดีขึ้น ผมก็ไม่ว่าอะไร เหลือ 3 คนอย่างออสเตรเลียก็พอแล้ว แต่สังคมไทยยังเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เหมือนกับหมอ ถ้าลดลงแล้วใครจะดูแลคนไข้


       อันที่ 3 ผมว่าคนที่คิดรัฐธรรมนูญปี 2550 มีแนวคิดในเรื่องกรรมการสิทธิฯที่ไม่เหมือนผม และผมคิดว่ามีปัญหาในเชิงหลักการ เขาอาจมองกรรมการสิทธิฯว่าเหมือนกับบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ (หัวเราะ) คือไม่ต้องลงมาในเรื่องของการตรวจสอบ ไม่ต้องลงมาทำงานกับภาคประชาชน เหมือนกับบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ดูแลเฉพาะนโยบายแล้วให้สำนักงานเป็นผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ อำนาจต่างๆในรัฐธรรมนูญ มาตรา 257 ให้ต่อกรรมการสิทธิฯ แล้วคณะกรรมการสิทธิฯให้ต่อกรรมการแต่ละคนในการตั้งอนุกรรมการ ซึ่งอนุกรรมการออกแบบดีแล้ว ประกอบด้วย กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก คือภาคประชาสังคม หรือข้าราชการก็ได้ที่เข้าใจ ผมว่าสัดส่วนนี้ดีแล้ว แต่การทำงานตรงนี้จะทำให้เกิดระบบการตรวจสอบอย่างไร ระบบที่จะทำงานเชื่อมโยงยังไง จะเสนอนโยบายยังไง ซึ่งตรงนี้คือวิธีการทำงาน


       อนุกรรมการชุดนี้ก็แบ่งตามกฎหมาย คืออนุกรรมการชุดสิทธิพลเมืองและการเมือง กระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แล้วก็มีประเด็นเฉพาะของเราบ้าง เรื่องเด็ก สตรี การศึกษา ผมเข้าใจว่าคนร่างรัฐธรรมนูญมองว่ากรรมการสิทธิฯเหมือนบอร์ด จึงลดจำนวนลง และบอกว่าให้ตุลาการเป็นคนมาเลือกแล้วกัน จะได้เลือกคนที่หลากหลาย ซึ่งเจตนารมณ์ของเราต้องการกรรมการสิทธิฯที่เข้าใจจุดยืนและวัฒนธรรมด้าน สิทธิมนุษยชน คำว่าสิทธิมนุษยชนสามารถมีจุดยืนที่รักษาความเป็นธรรมและผลประโยชน์ของ ประชาชน


        บางคนบอกว่ากรรมการสิทธิฯเข้าข้างประชาชน ก็สิทธิเป็นเรื่องของประชาชน (หัวเราะ) เหมือนหมอดูแลคนไข้ ก็ต้องเข้าข้างคนไข้ จะไปเข้าข้างเชื้อโรคได้ไง ถ้าเข้าข้างเชื้อโรคคนไข้ก็ตาย ถึงยังไงกรรมการสิทธิฯก็ต้องเข้าข้างชาวบ้านก่อน แต่เราต้องยอมรับว่าภายใต้สถานการณ์อย่างนี้มีการทำสิ่งที่เกินเลยไป สังคมจึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้ได้


        เวลาทำงานเราต้องตรวจสอบหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่มาละเมิดประชาชน เพราะสิทธิเป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานรัฐ รัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องสิทธิ อันนี้ต้องเข้าใจ และเป็นปัญหาที่รัฐธรรมนูญ 2550 ลดจำนวนกรรมการสิทธิฯลง และทำให้การสรรหามาจากภาคตุลาการเหมือนอย่างองค์กรอิสระอื่นๆ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นความผิดพลาด รัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องแก้ไขเรื่องการสรรหา


        อันที่ 2 คือ พ.ร.บ.กรรมการสิทธิฯที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2542 ขณะนี้มีปัญหาว่ากรรมการสิทธิฯเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ตัวสำนักงานเป็นข้าราชการ กรรมการสิทธิฯมีแค่ 7 คน แต่จริงๆสำนักงานมีความสำคัญมาก เพราะเป็นฝ่ายส่งเสริมสนับสนุน ถ้าระบบในสำนักงานยังเป็นราชการอยู่จะมีปัญหาทันที เพราะระบบราชการค่อนข้างแข็งตัว การทำงานแบบราชการไม่คล่องตัวกับการทำงานกับภาคประชาชน ผมเจอปัญหาอย่างนี้แม้กระทั่งในรัฐสภาด้วยซ้ำไป


        เพราะฉะนั้นขณะนี้กรรมการสิทธิฯมี พ.ร.บ.กรรมการสิทธิฯที่สำนักงานยังเป็นราชการอยู่ เลขาธิการต้องเป็นซี 11 หมดโอกาสแล้ว เพราะข้าราชการที่ตำแหน่งสูงๆต้องยอมรับว่าในระบบการเมืองอย่างนี้หาคนยาก มากที่จะนึกถึงภาคประชาชน เพราะจะเป็นระบบเส้นสายไต่เต้าโดยเฉพาะทางการเมืองมากกว่า


      ขณะเดียวกันการทำงานด้านสิทธิต้องมีจุดยืน มีประสบการณ์ด้านนี้พอสมควร ทำให้ลักษณะกฎหมายกรรมการสิทธิฯที่ให้สำนักงานเป็นระบบราชการมีปัญหาในการทำ งาน การสร้างระบบต่างๆที่จะมาเชื่อมโยงกันกับกรรมการมีปัญหามาก เรื่องการเงิน งบประมาณต่างๆในการทำงานแต่ละอย่างต้องการกฎหมายที่แยกต่างหากออกไป ซึ่งผมไม่ได้เรียกร้องว่าเป็นกฎหมายที่พิสดารอะไร เหมือนอย่าง พอช. หรือ สสส. ที่มีกฎหมายของตัวเอง เขาทำงานได้คล่องตัวเยอะกว่ากรรมการสิทธิฯหรือสำนักงานกรรมการสิทธิฯอีก


       อันที่ 3 ในกฎหมายกรรมการสิทธิฯฉบับใหม่ที่ร่างขณะนี้อยู่ที่สภาในอันดับ 7 หรือ 8 มีปัญหาว่าเรามีของแถมที่กรรมการสิทธิฯชุดที่แล้วไม่ได้เติม แต่สำนักงานกฤษฎีกาเติมให้ เข้าใจว่าเป็นมาตรา 42 การไม่ให้กรรมการสิทธิฯเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ผมคิดว่าอันนี้เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์การทำงาน เพราะกรรมการสิทธิฯเป็นองค์กรที่ต้องบอกสัจจะความจริงต่อสังคม เราจะไม่บอกได้ 2 เรื่องคือ ความลับส่วนบุคคลและเรื่องความมั่นคง อันนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเขียนกฎหมายมาปิดปากเรา


       ผมคิดว่ากฤษฎีกาให้เหตุผลมาว่าข้อมูลการตรวจสอบของกรรมการสิทธิฯเป็น ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเข้าใจผิด ที่เราตรวจสอบเป็นข้อมูลสาธารณะหมด ถ้าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล เป็นใครมาชี้แจง เราจะไม่เปิดเผยออกไปเลย ขนาดเขามาขอรายงานการประชุม ผมจะให้เฉพาะผู้ที่มาชี้แจง แต่คนอื่นผมไม่ให้ ถ้าของเอกชนยิ่งระมัดระวังมากขึ้นที่จะไม่ให้ด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราระวังตัวอยู่แล้ว เราต้องถือรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ เวลาจะพิจารณากรณีร้องเรียนต้องยึดรัฐธรรมนูญ เราต้องบอกว่าเป็นการละเมิดสิทธิข้อไหน มาตราไหน อย่างไร ปฏิญญาสากลข้อไหน ละเมิดอนุสัญญาข้อไหน ไม่ใช่กล่าวหาลอยๆ เราทำงานภายใต้การยึดหลักกฎหมาย เพราะฉะนั้นมาตราที่ว่าด้วยไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลจะเป็นการล้มเจตนารมณ์ และล้มเรื่องการทำงานของกรรมการสิทธิฯ อันนี้เป็นปัญหาหลักในร่าง พ.ร.บ.กรรมการสิทธิฯซึ่งกำลังจะเสนอในรัฐสภา

แฉจอมบงการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์

“ณัฐวุฒิ”แฉ“ประสงค์-บรรณวิทย์”บงการล้มรัฐบาล



 

       
               “ณัฐวุฒิ” แฉการเคลื่อนไหว 3 ประเด็นเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ดำเนินการในขณะนี้แม้ดูเหมือนว่ากลุ่มที่ เคลื่อนไหวไม่เกี่ยวข้องกัน แต่มีคนอยู่เบื้องหลังเหมือนกันคือ “ประสงค์-บรรณวิทย์” ที่อยู่ตรงข้ามพรรคเพื่อไทยมาตลอด ท้าแน่จริงให้ออกมาอยู่ข้างหน้า อย่าทำตัวเป็นอีแอบ แฉเลขาธิการ ภตช. ไปฮ่องกงเที่ยว 2 วัน สัมมนาวันเดียว มี “บรรณวิทย์” เป็นผู้บรรยายก่อนกลับมาพูดเรื่องไซฟ่อนเงิน “ธาริต” แจงรางวัล 1 ล้านบาท ไม่ใช่ตามจับชายชุดดำ แต่เป็นรางวัลนำจับคนร้าย 7 คดีที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุม ส.ว.สรรหาไล่ให้ไปขยายผลจากชายชุดดำที่จับดำเนินคดีเพื่อหาตัวคนสั่งการ
                                       +++++++++++++++

             นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า การเคลื่อนไหวล้มรัฐบาล 3 เรื่องคือ พรรคประชาธิปัตย์เปิดเวทีปราศรัยกรณีชายชุดดำ ส.ว. เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณากรณีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) เปิดประเด็นเรื่องไซฟ่อนเงิน 16,000 ล้านบาทที่ฮ่องกง เหมือนเป็นการดำเนินการคนละส่วน แต่แท้จริงแล้วมีผู้อยู่เบื้องหลังคนเดียวกันคือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน

            “2 คนนี้อยู่ตรงข้ามพรรคเพื่อไทยมาตลอด ขอท้าว่าให้เปิดตัวออกมา อย่าเป็นอีแอบอยู่เบื้องหลัง”


          ที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการภตช. อ้างว่าเดินทางไปดูงานปราบปรามการทุจริตที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.ฮ่องกง ทำให้ได้ข้อมูลมานั้น ตรวจสอบแล้วเป็นการไปเที่ยว 2 วัน มีสัมมนาวันเดียว คนที่บรรยายคือ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กับ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และมีผู้ที่อ้างตัวว่าเป็น ป.ป.ช.ฮ่องกงอีกคนหนึ่งเท่านั้น

           “อยากท้าว่าถ้ามีข้อมูลจริงให้ดำเนินการเลย อย่าพูดตีกินไปวันๆ”

          สำหรับเรื่องการรับจำนำข้าว นายณัฐวุฒิกล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับตีความสัญญาซื้อขายจีทูจีขัดมาตรา 190 จะมีคนยื่นให้ตรวจสอบสัญญาซื้อขายข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา ส่วนเรื่องชายชุดดำยืนยันพร้อมดีเบตกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เท่านั้น ที่นายอภิสิทธิ์บอกว่าต้องการดีเบตกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นการเลี่ยงบาลีเพื่อยื้อเวลา

         นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า รางวัลผู้ให้เบาะแสจับคนร้าย 7 คดีเกี่ยวข้องกับเหตุชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ไม่ใช่รางวัลนำจับชายชุดดำ เป็นรางวัลสำหรับผู้ให้เบาะแสคนร้ายจนนำไปสู่การจับตัวได้ และที่ต้องตั้งรางวัลก็เพราะ 7 คดีนี้อยู่ในความสนใจของสังคม และกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

        นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ระบุว่า ดีเอสไอควรขยายผลจากชายชุดดำที่จับมาดำเนินคดี เพื่อสาวให้ถึงคนสั่งการมากกว่าประกาศให้รางวัลนำจับ


ฟีฟ่ายกเลิกใช้สนามหนองจอก

กทม.โกหก! "ชุมพล" แฉ "ฟีฟ่ายกเลิกใช้สนามหนองจอกแล้ว!!!"

เมื่อเวลา 16.45 น. วันนี้ (18 ต.ค.) นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ออกโรงสับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และ กรุงเทพมหานคร ที่เป็นฝ่ายดูแลการจัดการสนามแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก ที่ประเทศไทย รับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน แต่ไม่ทีท่าว่าจะสร้างสนามที่หนองจอกเสร็จสิ้นแต่อย่างใด จนฟีฟ่าอดทนไม่ไหว ใช้อินดอร์สเตเดียมหัวหมาก เป็นสนามพิธีเปิดและปิดการแข่งขันแทน
      
       เมื่อเวลา 10.00 น.ประชุมคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา เรื่องพิจารณาการเตรียมความพร้อมการจัดการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 (ครั้งที่ 7) ณ สนามบางกอก ฟุตซอล อารีนา เขตหนองจอก อาคารอินดอร์สเตเดียม หัวหมาก อาคารนิมิบุตร และจังหวัดนครราชสีมา ในการเตรียมปรับโปรแกรมการแข่งขัน กรณีที่สนามฟุตซอลที่หนองจอก ซึ่งเดิมกำหนดใช้เป็นสถานที่พิธีเปิดและปิดการแข่งขัน เสร็จสิ้นไม่ทันกำหนดการ โดยมี นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา นายกนกพันธุ์ จุลเกษม ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เข้าชี้แจงต่อ นางนฤมล ศิริวัฒน์ ประธานกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ 309 อาคารรัฐสภา 2 เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา
      
       โดยเริ่มประชุม นางนฤมล ปธ.กมธ.ส.ว.กีฬา ได้ทวงถามถึงความคืบหน้าของสนามต่อนายชุมพล ว่า เหตุใดจึงเสร็จไม่ทันกำหนดการที่ทางฟีฟาตั้งไว้ก่อนหน้า ทาง รมต.กีฬา จึงได้กล่าวในที่ประชุม ผมขอชี้แจงดังนี้ ว่า ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2553 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตนดำรงตำหน่ง รมว.กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้เสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก และได้เสนอสนามที่จะใช้เป็นสนามหลักในการจัดพิธีเปิดและปิดการแข่งขัน ไว้ 3 แห่ง คือ อินดอร์สเตเดียม, อาคารนิมิบุตร และมักกะสัน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ก็เห็นด้วยที่จะให้ที่ดินการกีฬาแห่งประเทศไทย บริเวณสนามยิงเป้าบิน ดำเนินสร้างสนามการแข่งขันฟุตซอลโลก แต่ต่อมา ทางสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ก็เป็นฝ่ายดึงเรื่องนี้ไปจัดการเอง และมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายจัดการเรื่องสนาม โดย ก.กีฬา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย และได้เบิกงบประมาณกับรัฐบาลเป็นจำนวนเงิน 1,239 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติเมื่อปลายปี 2554 และเริ่มดำเนินการสร้างเมื่อต้นปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่มีทีท่าว่าแล้วเสร็จ จนฟีฟ่าออกจดหมายล้มเลิกใช้สนามที่หนองจอกเป็นสถานที่พิธีเปิดและปิดการแข่งขัน
      
       “อย่างไรก็ดี ผมเห็นว่า การจะสร้างสนามฟุตซอล บริเวณที่ดินหนองจอกนั้น เห็นว่า ห่างไกลจากเมืองพอสมควร และการเดินทางจากสนามห่างจากที่พักของนักกีฬาเกินครึ่งชั่วโมงตามที่ฟีฟากำหนด ทางกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จึงเห็นว่า จะต้องมีปัญหา และคาดการณ์ว่าสนามฟุตซอลที่หนองจอกนั้นเสร็จไม่ทันแน่นอน เพราะในขณะนั้นสนามที่หนองจอกเริ่มดำเนินสร้างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทาง ก.กีฬา จึงได้ดำเนินการปรับปรุงสนามทั้งอินดอร์สเตเดียม ที่หัวหมาก รวมถึง สนามนิมิบุตร ภายในสนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อเป็นที่รองรับอีกทีหนึ่ง ก่อนที่ทางฟีฟ่าจะยกเลิกการส่งมอบสนามบางกอก ฟุตซอล อารีนา ที่หนองจอก ตามข่าวที่ผ่านมา เพื่อจะได้คลายความกังวลหากทางกรรมาธิการการกีฬา เป็นห่วงว่าหาสนามแข่งขันไม่ได้นายชุมพล กล่าวต่อ
      
       ทั้งนี้ รมว.กีฬา ยังได้ออกโรงยื่นมือช่วย กรุงเทพมหานคร ต่ออีกด้วยว่า ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ในขณะนี้ หากมีความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ การจัดการ แต่เราก็ไม่อาจก้าวก่ายไม่ได้เสียทีเดียวในทุกเรื่องเสมอไปเช่นกัน
      
       ด้าน บิ๊กหนุ่มกนกพันธุ์ เผยถึงเรื่องดังกล่าว ว่า การที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเข้ามารับหน้าที่จัดการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก และตั้งคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตซอลขึ้นมาเอง ก็ถือว่าไม่ได้ผิด เพราะการกีฬาแห่งประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด สมาคมจึงมีหน้าที่จัดการไป ส่วนตัวเห็นว่าหากสนามบางกอก ฟุตซอล อารีนา เสร็จสิ้นเมื่อไหร่ก็จะเป็นประโยชน์ในการจัดการแข่งขันกีฬาชนิดอื่นๆ หากมีการเสนอจัดการแข่งขันคราวหน้าก็จะใช้สถานที่แห่งนี้ได้ทันที
      
       ผู้ว่าการการกีฬาฯ ยังเผยงบประมาณในการสร้างสนามอินดอร์สเตเดียม หัวหมาก เราใช้งบประมาณในการปรับปรุงสนาม ไม่ว่าจะเป็นการปรับพื้นสนามจากพื้นยางเป็นปูพื้นบล็อกปาร์เก ตามที่ฟีฟากำหนด รวมถึงติดตั้งสกอร์บอร์ดในสนาม การติดตั้งโต๊ะ เก้าอี้ หรืออุปกรณ์ต่างๆรวมทั้งสิ้นประมาณ 170 ล้านบาท แต่เรายังไม่มีเอกสารรับรองสนามอินดอร์สเตเดียม เป็นสนามพิธีเปิดและปิดการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก จากทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า เลย เพิ่งทราบจากสื่อมวลชนเช่นกัน
      
       สุดท้าย เจ๊มลก็ได้แสดงความเห็นใจต่อเรื่อราวทั้งหมด ว่า ทางคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา ก็มีความเห็นใจต่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มีเรื่องขัดแย้งกันในมุมทางการเมือง กับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เพราะทาง ส.บอล เป็นคนรับหน้าที่จัดการเองทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น การที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเข้ามาเกี่ยวข้องดูจะเป็นการก้าวล้ำเกินขอบเขตในส่วนนี้ด้วย

"ภตช. แรงเงา"

"ภตช. แรงเงา"



ทำไปทำมา กรณี "ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชันแห่งชาติ" (ภตช.) เปิดประเด็นไซฟ่อนเงิน 1.6 หมื่นล้านบาทที่เกาะฮ่องกง กลับกลายเป็น ภตช.กำลังถูกตรวจสอบเสียเอง

เนื่องจาก "ตัวละคร" ที่เกี่ยวข้อง ภตช.ล้วนเป็นบิ๊กเนม ไม่ว่าจะเป็น น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์, นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
รวมถึง พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ , บุญเลิศ ไพรินทร์ , ต่อตระกูล ยมนาค และ ดร.วิโชติ วัณโณ เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ

ข้อมูลข้างต้นนี้ ไม่ได้ปิดลับอะไร แค่เข้าไปที่เว็บไซต์ ภตช. ก็เห็นทั้งรายชื่อและรูปภาพของบุคคลที่มีชื่อเสียงของแวดวงสังคมไทย

เมื่อวานนี้ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ อดีตกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่ และอีกหลายพรรคการเมือง ได้ออกมายอมรับว่า เป็นผู้ก่อตั้ง ภตช.จริง และมีตำแหน่งเป็นประธาน ภตช. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2554 ณ สโมสรทหารบก เทเวศร์ โดยจัดการปาฐกถาพิเศษจุดเปลี่ยนประเทศไทย "การทุจริตเลือกตั้ง เป็นจุดเริ่มต้นของการโกงชาติโกงแผ่นดิน" โดย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และ วิชา มหาคุณ ตัวแทนจาก ปปช.

ต่อมา "พล.อ.กิตติศักดิ์" ลาออกจากประธาน ภตช. ในวันที่ 8 สิงหาคม 2555 เขาจึงแถลงผ่านสื่อว่า คณะกรรมการ ภตช.ทั้งชุด รวมถึง น.ต.ประสงค์ ต้องพ้นจากตำแหน่งเช่นกัน จึงไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับกรณีการเปิดข้อมูลเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท

ไม่มีใครทราบว่า พล.อ.กิตติศักดิ์ลาออกด้วยเหตุผลใด? แต่ที่ทราบกันอดีตนายทหารคนนี้ เคลื่อนไหวแบบไปเร็วมาเร็ว กองเชียร์ตามแทบไม่ทัน

ตัวละครที่เข้ามาใหม่ หลังจากการลาออกของ พล.อ.กิตติศักดิ์คือ ธีรพัฒน์ คำคูบอน ข้าราชการวิทยาลัยการอาชีพบางปะกง ที่มารับตำแหน่งรักษาการประธาน ภตช.

"ธีรพัฒน์" เป็นผู้เปิดเผยข้อมูลการทุจริตในโครงการไทยเข้มแข็ง กรณีจัดซื้อจัดจ้างฯ 894 ล้านในสำนักงานการคณะกรรมการอาชีวศึกษา ร่วมกับ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการ ภตช.

ระหว่าง "ธีรพัฒน์" กับ "มงคลกิตติ์" บริหารงาน ภตช.ในช่วงรักษาการ ก็ได้เชิญ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย มาดำรงตำแหน่งเป็น รองประธานที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ภตช. คนที่ 1 เมื่อ 18 สิงหาคม 2555

เหตุที่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ รับตำแหน่งดังกล่าว จึงทำให้มีรายการ "ภตช.พบประชาชน" ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม "ช่อง 13 สยามไท" ทุกวัน ศุกร์เวลา 23.00 - 24.00 น.

ความคึกคักกลับมาอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการ ภตช. เดินทางไปสัมมนาการต่อต้านการทุจริตขององค์กรไอแคค (Independent Commission Against Corruption: ICAC) ณ ฮ่องกง นำโดย พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ,ธีรพัฒน์ คำคูบอน , พ.ต.อ.ดุษฏี อารยวุฒิ อดีตเลขาธิการ ป.ป.ท. และมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พร้อมคณะ

ด้วยเหตุที่มีชื่อ "พ.ต.อ.ดุษฎี" ในทริปดังกล่าว "มงคลกิตติ์" จึงให้ข่าวว่า อดีตเลขาธิการ ป.ป.ท. มีข้อมูลเกี่ยวกับนักการเมืองขนเงิน 1.6 หมื่นล้านไปไซฟ่อนที่ฮ่องกง แต่ไม่สามารถที่จะพูดข้อเท็จจริงได้

ล่าสุด "มงคลกิตติ์" แจงว่าที่ไปฮ่องกงนั้น ICAC ได้เชิญ ภตช.ไปหารือเรื่องการไซฟ่อนเงิน โดยการร่วมหารือดังกล่าวได้รับการประสานงานผ่าน อภินันทน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่ง ICAC ได้ให้ข้อมูลการไซฟ่อนเงินมาบางส่วน แต่พูดไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลเชิงลึก

เนื่องจากความคลุมเครือของข้อมูล จึงทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขุดคุ้ยเบื้องหน้าเบื้องหลัง ภตช. แทนที่จะไปสืบค้นต้นตอของปมไซฟ่อนเงิน

ที่สำคัญตัวละครเหล่านั้น ล้วนเป็นเครือข่ายสาย "ไม่เอาทักษิณ" แต่ตลกร้ายตรงที่ "ผ.อ.ธีรพัฒน์" ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีความใกล้ชิดอดีต ส.ส.ไทยรักไทย สาย"แดงฮาร์ดคอร์"

องค์กร ภตช.จึงซับซ้อนซ่อนปม ราวกับเป็นองค์กรลับ ลวง พราง เพราะมีตัวละครระดับ "แรงเงา" เข้ามาร่วมแสดงทั้งหน้าฉากและหลังฉาก

ขอขอบคุณประชาชาติธุรกิจ

"มงคลกิตติ์-ดุษฏี" ตอแหลไซฟ่อนเงิน 1.6 หมื่นล้าน

DSI รับเรื่อง "มงคลกิตติ์-ดุษฏี" ตอแหลไซฟ่อนเงิน 1.6 หมื่นล้านไว้พิจารณา



         วานนี้ วันที่ 18 ตุลาคม 2555 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายพร้อมพงศ์  นพฤทธิ์  โฆษกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือถึงนายธาริต  เพ็งดิษฐ์  อธิบดีดีเอสไอ  ขอให้ตรวจสอบกรณีนายมงคลกิตติ์  สุขสินธารานนท์  เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติ(ภตช.) ออกมาระบุว่าพบการไซฟ่อนเงินที่ฮ่องกง 1.6 หมื่นล้านบาท  พร้อมอ้างมีข้าราชการและนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องจนถูกนำมาขยายผลทางการเมือง  ทั้งที่ไม่มีพยานหลักฐานใด ๆยืนยันข้อเท็จจริง

          ดังนั้นเชื่อว่าน่าจะเป็นการกุข่าวเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้ประเทศ   เนื่องจากก่อนหน้านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.)ที่มีหน้าที่ตรวจ สอบเส้นทางการเงินและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ (ป.ป.ช.) ต่างยืนยันว่าไม่มีเรื่องดังกล่าว  จึงต้องการให้ดีเอสไอตรวจสอบว่ามีการไซฟ่อนเงินจริงหรือไม่  หากไม่มีมูลก็จะขอให้ดีเอสไอตรวจสอบพฤติกรรมของนายมงคลกิตติ์  นายองอาจ  คล้ามไพบูลย์  ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์   และ    พ.ต.อ.ดุษฎี  อารยวุฒิ  รองปลัดกระทรวงยุติธรรม  เนื่องจากตั้งข้อสังเกตว่าอาจอยู่เบื้องหลังการสร้างข่าวดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ รวมถึงกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฮ่องกงด้วย

         นายธาริต  กล่าวว่า  ดีเอสไอจะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา และเห็นควรให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง  แต่ทราบว่าทางปปง.ของฮ่องกงก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เบื้องต้นจึงเห็นว่าคำร้องมีมูลดังนั้นต้องเชิญนายมงคลกิตติ์  และพ.ต.อ.ดุษฎี  ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเกี่ยวข้องกับการปล่อยข่าวมาให้ข้อมูล เพื่อสอบถามว่ามีหลักฐานหรือมีหน้าที่อย่างไรในการออกมาพูดถึงเรื่องดังกล่าว หากพบมีความผิดจะดำเนินการขั้นต่อไป เพราะถือว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ  โดยจะมอบหมายให้สำนักคดีความมั่นคงเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

ไอ้หน้าแหลมฟันดำ บอก กูไม่รู้จักไอ้เหี้ยพวกนี้

"ฟันดำ" โบ้ยไม่รู้จัก "เด็กเลี้ยงแกะมงคลกิตต์"


วันที่ 18 ตุลาคม 2555 (go6TV) น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ เอฟเอ็ม 97 เม็กกะเฮิร์ตซ ว่า  ตนไม่เกี่ยวข้องกับ ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติ (ภตช.) ไม่ให้คำแนะนำ และไม่เคยรู้จักคนที่มีชื่อในข่าว ก่อนหน้านี้เคยเพียงรับคำเชิญ  พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ (ประธาน ภตช.)  ให้ไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับบ้านเมืองที่สโมสรทหารบกเท่านั้น
น.ต.ประสงค์  กล่าวอีกว่า ตนต่อต้านนักการเมืองที่ทุจริต ส่วนที่มีนักการเมืองมาระบุว่าตนเป็นพวกอีแอบข้างหลัง ไม่เคยใส่ใจ เพราะทำงานต่อหน้า ไม่ทำลับหลัง ต่างจากพวกที่อยู่นอกประเทศและสนับสนุนพวกก่อความวุ่นวายให้บ้านเมือง

นายกฯปู ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำACD ที่คูเวต 17 ต.ค.55

ชมภาพ นายกฯปู ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำACD ที่คูเวต 17 ต.ค.55


Posted Image


วันพุธที่ 17 ตุลาคม 2555
  • -10.00น.นายกฯปู ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำACD ณอาคาร Tahrir แบบclosing session
  • -12.00น.ร่วมพิธีปิด การประชุมACD 2 วัน 
  • - 14.00น.Working lunch กับภาคเอกชนไทย
  • -15.30น.นายกฯปู หารือทวิภาคีกับนายกฯคูเวต ที่พระราชวังบายัน 
  • -18.00น.นายกฯคูเวต เลี้ยงอาหารค่ำจัดไว้ แลกเปลี่ยนความคิดกันไป ประสานใจกับไทยเรา
  • -22.40น. นายกรัฐมนตรี บินจากคูเวตซิตี้ เที่ยวบินพิเศษTG8809

Posted Image

Posted Image

Posted Image 


นายกฯปู หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
Posted Image

Posted Image

Posted Image

Posted Image

Posted Image

Posted Image 

นายกฯปู หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีปากีสถาน

Posted Image

Posted Image

Posted Image

Posted Image

Posted Image 

นายกฯปู และคณะหารือทวิภาคีกับสมเด็จพระราชาธิบดีบาร์เรน ณ ห้องรับรอง Jarah 1

Posted Image

Posted Image

Posted Image

Posted Image

Posted Image 
 

***วันที่18ต.ค.55-เวลา 10.00น. ถึงสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ****