วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

ทหารคุมตัวแทน 'ชมรมธรรมาธิปไตย' ปรับทัศนคติค่ายทหาร หลังแจ้งความหมุดคณะราษฎรหาย

 

วัฒนา' พบปอท. ยันแสดงความเห็นตามกฎหมาย ระบุยังไม่มีการแจ้งข้อหา พร้อมขอยุติตามหาหมุดคณะราษฎร ขณะที่ ทหารคุม 'ชมรมธรรมาธิปไตย' ปรับทัศนคติค่ายทหาร หลังแจ้งความหมุดหาย 'สมานฉันท์แรงงาน' ร่อน จม.ร้องจนท.นำหมุดกลับไปไว้ที่เดิม สืบหาผู้ลงมือ วิษณุ ระบุแจ้งความได้ในฐานะ 'พลเมืองดี'
 
 
20 เม.ย. 2560 จากกรณีหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หายไป แต่ถูกแทนด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความและความหมายใหม่แทนในจุดเดิม ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น
 

'วัฒนา' พบปอท. ยันแสดงความเห็นตามกฎหมาย

ล่าสุดวันนี้ (20 เม.ย.60) Voice TV รายงานว่า วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เข้าแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. จากกรณีกระแสข่าวเจ้าหน้าที่ระดับบังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมให้ ปอท.ดำเนินคดี วัฒนา จากกรณีโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นในทางกฎหมาย ระบุว่าหมุดคณะราษฎรที่ถูกมือมืดถอดออกไปนั้นเป็นโบราณวัตถุ ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการนำเข้าข้อมูลที่เป็นความเท็จและกระทบต่อความมั่นคง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์


ยังไม่มีการแจ้งข้อหา

วัฒนา ระบุว่า แม้จะยังไม่มีการแจ้งข้อหาเกิดขึ้น แต่ตนก็มาแสดงตนเพื่อยืนยันในเจตนาบริสุทธิ์ของสิ่งที่ตนพูด โดยยืนยันว่าเป็นการแสดงความเห็นในทางกฎหมาย ซึ่งสามารถทำได้ตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นในทางกฎหมายและทางวิชาการไม่สามารถเป็นเท็จได้ตามกฎหมาย
 
วัฒนายังระบุว่าแต่เดิม ตนมีเจตนาที่จะแจ้งความกลับเจ้าหน้าที่ บก.ปอท.ด้วย แต่เนื่องจากเมื่อมาแสดงตนแล้ว เห็นว่าเจ้าหน้าที่ บก.ปอท.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยากลำบากจากการถูกบีบบังคับ ตนจึงเกิดความสงสาร และตัดสินใจที่จะไม่เอาความต่อเจ้าหน้าที่ระดับล่างเหล่านั้น
 

ขอยุติตามหาหมุดคณะราษฎร

นอกจากนี้ Now 26 รายงานความเห็นของ วัฒนา เพิ่มเติม ด้วย โดยระบุว่า วัฒนา กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นเป็นความผิด วันหนึ่งสื่อก็จะติดคุกด้วย เพราะว่าไม่สามารถจะแสดงความคิดเห็นอะไรได้ พร้อมยืนยันว่า ตนเองคือคนจริงไม่กลัวใคร แต่จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวหรือตามหาหมุดคณะราษฎรอีกแล้ว โดยเรื่องทั้งหมดจะจบภายในเท่านี้ ส่วนใครจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างไรก็เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้   
 

ทหารคุม 'ชมรมธรรมาธิปไตย' ปรับทัศนคติค่ายทหาร หลังแจ้งความหมุดหาย 

วันเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ สน.ดุสิต บุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ ร.ต.อ.ชัยชน เรืองเพชร รองสว.(สอบสวน) สน.ดุสิต เพื่อขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานและให้ช่วยติดตามหมุดคณะราษฎร สัญลักษณ์เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 บริเวณลานหน้าพระบรมรูปทรงม้าที่หายไป
 
บุญสิน เปิดเผยว่า ต้องการเดินทางมาแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อให้ติดตามหาหมุดดังกล่าวซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บอกว่าประเทศไทยก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามกลับคืนมาให้ได้ และเมื่อได้คืนมาแล้วขอให้นำไปเก็บรักษาไม่ใช่นำไปวางไว้กับพื้น เดิมทีตนตั้งใจจะไปขุดออกมาเก็บไว้อยู่แต่มีคนขุดเสียก่อน ทั้งนี้มั่นใจว่าจะต้องโดนอุ้มอย่างแน่นอนเนื่องจากตั้งใจว่าหลังจากเข้าแจ้งความเสร็จจะเดินเท้าไปยังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยใช้เครื่องขยายเสียงตลอดเส้นทาง ต้องการให้ทหารหรือตำรวจมาอุ้มเพราะต้องการเข้าไปปรับทัศนคติให้กับบุคคลเหล่านั้นได้เข้าใจเสียใหม่ในเรื่องของระบบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ
 
ต่อมาเวลา 12.30 น. พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ ผบก.สส.บช.น. พร้อม พ.ต.อ.นพศิลป์ พลูสวัสดิ์ รองผบก.สส.บช.น. ร่วมสอบปากคำนายบุญสิน เป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
 
มติชนออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า หลังสอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารได้เชิญตัว บุญสิน และสันติพงษ์ วินุราช อายุ 35 ปี เพื่อนที่ร่วมเดินทางมาด้วย ไปปรับทัศนคติที่ มทบ.11 ออกทางประตูด้านหลังของสน. โดยนายบุญสิน มีสีหน้าเรียบเฉยและทักทายผู้สื่อข่าวพูดเพียงสั้น ๆ ว่า “ทางเจ้าหน้าที่ใจดี ช่วยพาขึ้นรถไปไม่ต้องเดินไปเพราะมันร้อน”
 

'สมานฉันท์แรงงาน' ร่อน จม.ร้องจนท.นำหมุดกลับไปไว้ที่เดิม สืบหาผู้ลงมือ

ขณะที่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงกรณีนี้ ภายใต้ชื่อ 'รอยจารึกหมุดอภิวัฒน์สยาม 2475 ประวัติศาสตร์ที่ต้องทวงคืน' โดยเรียกร้อง ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ คือ สืบหาผู้กระทำการอย่างอุกอาจในครั้งนี้ภายใต้เทคโนโลยีในยุค 4.0 และนำหมุดอภิวัฒน์สยาม 2475 อันเดิมกลับไปติดตั้งไว้ที่เดิม
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุด้วยว่า เป็นองค์กรของผู้ใช้แรงงานรวมทั้งองค์กรของผู้ใช้แรงงานต่างได้ซึมซับเรียนรู้เจตนารมณ์และการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งหมุดดังกล่าวมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจประเมินค่าได้ จริงอยู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งอดีตย่อมมีทั้งคนที่ชื่นชมยกย่อง และมีทั้งคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ มีคุณค่ายิ่งต่อการศึกษาเรียนรู้ของอนุชนคนรุ่นต่อๆไป การกระทำดังกล่าวของบุคคลหรือกลุ่มคนที่ได้ทำการรื้อถอนหมุดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แล้วนำหมุดใหม่ที่เกิดขึ้นจากความคิดของผู้ไม่หวังดีถือเป็นการกระทำที่อุกอาจท้าทายอำนาจรัฐ ทำลายมรดกทางประวัติศาสตร์ของชาติ 
 

วิษณุ ระบุแจ้งความได้ในฐานะ 'พลเมืองดี'

วานนี้ (19 เม.ย.60) มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กรณีมีประชาชนเดินทางเข้าแจ้งความที่สน.ดุสิตให้ติดตามหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดี หลังหมุดคณะราษฎรสูญหายสามารถทำได้หรือไม่ว่า ได้หรือไม่ได้ก็เห็นไปแจ้งความแล้ว ก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร ซึ่งตำรวจเขาก็รับแจ้งความแล้ว โดยเรื่องแบบนี้ตั้งเป็นเรื่องได้หลายเรื่อง แต่เมื่อคุณเลือกเอาทางนั้นแล้วก็เป็นทางหนึ่ง
 
"มันถึงมีคำ 2 คำในกฎหมาย คือคำว่า 'ร้องทุกข์' กับคำว่า 'กล่าวโทษ' ถ้าร้องทุกข์ก็เป็นผู้เสียหาย ถ้ากล่าวโทษก็แปลว่า ไม่รู้ใคร นี่ฉันเห็นเขาฆ่ากันตรงนั้น อย่างงี้ก็ทำได้ พลเมืองดี" วิษณุ กล่าว

เปิดกฎหมาย รองอธิบดีอัยการ โพสต์ยันตร.ต้องรับแจ้งความ หมุดคณะราษฎรหาย

 

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม โพสต์แจงข้อกฎหมาย แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ผู้แจ้งไม่จำเป็นต้องเป็น “เจ้าของทรัพย์” ตร. มีหน้าที่รวบรวมหลักฐาน เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาว่ามีการลักเอาทรัพย์คือหมุดประชาธิปไตยของรัฐบาล
19 เม.ย. 2560 จากกรณีหมุดคณะราษฎร หรือ 'หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ' ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หายไป แต่ถูกแทนด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความและความหมายใหม่แทนในจุดเดิม ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปฏิบัติการดังกล่าวนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก “ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม” ของ ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์ความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการรับเเจ้งความเกี่ยวกับเรื่องหมุดคณะราษฎรบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าที่หาย เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า จะต้องทำความเข้าใจด้านกฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประเทศชาติประชาชน เพราะทุกวันนี้เราเพี้ยนหลักกฎหมายเกือบหมด ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (8) บัญญัติว่า "คำกล่าวโทษ" หมายความถึงการที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย ได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดีได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น นั่นย่อมหมายความว่าการแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ผู้แจ้งไม่จำเป็นต้องเป็น “เจ้าของทรัพย์”
ปรเมศวร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่มีผู้คนไปแจ้งความว่า “หมุดประชาธิปไตย” ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลแห่งสยามประเทศ ณ เวลานั้นหายไป ก็แสดงว่าต้องการให้พนักงานสอบสวนซึ่งมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง (มาตรา 121) รวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาว่ามีการลักเอาทรัพย์คือหมุดประชาธิปไตยของรัฐบาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา (มาตรา 131) นี่คือข้อกฎหมายที่นายตำรวจทุกผู้ทุกนามควรจะทราบในขณะที่เข้ารับการตำรวจเพื่อพิทักษ์สันติราษฎร์
"การที่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางคนตั้งคำถามแบบไม่มีความฉลาดให้เห็น ว่าใครเป็นเจ้าของ ใครเป็นผู้เสียหาย แจ้งความได้หรือไม่ ยกตัวบทกฎหมายมาให้อ่านขนาดนี้ ถ้าไม่รู้อีกก็ไม่รู้ว่าจะมาเป็นตำรวจทำไม บางคนบอกว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบทรัพย์สินทุกเรื่องเหรอ นี่ยิ่งไม่ฉลาดและรู้เรื่องกฎหมายเลยแม้แต่น้อย หนักกว่านั้นผู้ใหญ่บางคนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องปากท้องประชาชน อยากถามสักนิดเถอะครับว่า เรือดำน้ำ รถถัง เครื่องบิน มันเป็นเรื่องปากท้องของประชาชนที่ไหนครับ ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ยิ่งเดินหน้ากลับรู้สึกยิ่งถอยหลัง มีแต่ประโยชน์พวกพ้อง ให้ขั้นในรางวัลแก่พวกตัวเอง เรามักจะพูดกันว่าชนชั้นใดออกกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น ต้องเพิ่มเติมอีกประโยคครับ “ชนชั้นอาชีพใดปกครองประเทศก็เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ชนชั้นอาชีพนั้นๆ” ประชาชนทั่วไปแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากชนชั้นปกครองเลย" ปรเมศวร์ โพสต์
 

'เสรีเกษตร' โวย นิสิตนอกวิชาถูก ตร.กันเข้าฟังเสวนาไทยอยู่ตรงไหนถ้าไม่เลือกตั้งปี 60


กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ โวย เชิญวิทยากรมาให้ความรู้กับนิสิต วงเสวนา 'ประเทศไทยอยู่ตรงไหนถ้าไม่มีเลือกตั้งปี 2560' ยังโดนกีดกัน ระบุตำรวจอนุญาตให้วิทยากรขึ้นตึกบรรยายแต่ไม่ให้นิสิตนอกวิชาหรือคนนอกเข้าฟังบรรยาย ล่าสุดยุติวงเสวนา

20 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(20 เม.ย.60) เมื่อเวลา 14.27 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์' ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้กลายเป็น สน.บางเขน ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ แม้แต่การจัดการเรียนการสอน เชิญวิทยากรมาให้ความรู้กับนิสิตก็ยังโดนกีดกัน และยังขัดขวางไม่ให้เสรีภาพในการเข้ารับฟังงาน โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาตให้วิทยากรขึ้นตึกบรรยายแต่ไม่ให้นิสิตนอกวิชาหรือคนนอกเข้าฟังบรรยาย ทางวิทยากรท่านหนึ่งแจ้งว่าขณะเดินขึ้นลิฟท์ทางเจ้าหน้าที่ได้จับแขนไว้แล้วพามาด้านนอกตึกพร้อมแจ้งว่าไม่สามารถให้เข้าตึกได้ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ตามหาเสรีภาพทางวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ใช่ สน.บางเขน
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ผ่านมา คณะผู้จัดแถลงว่า ไม่สามารถจัดได้ แล้ว  โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์  อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้จัดงานกล่าวว่า จริงๆ แล้วกิจกรรมนี้ ต้องการเสริมความรู้จากในห้องเรียนปกติให้กับนิสิต ในวิชามานุษยวิทยาการเมือง คิดว่าหลังจากเรียนเรื่องทฤษฎี จึงควรเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางสังคมการเมืองที่ดำเนินอยู่ในตอนนี้ จึงเชิญ วิทยากร มาเปิดมุมมองให้นิสิตเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียนมา รวมทั้งอยากให้เป็นประโยชน์กับคนทั่วไปจึงได้ประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนทั่วไปหรือนิสิตคณะอื่นที่สนใจมาร่วมแลกเปลี่ยน
"เป็นการเอาห้องเรียนออกจากห้องแคบๆ เพื่อให้สัมพันธ์กับสังคมและให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม" ชลิตา กล่าวถึงเหตุผลของการจัดกิจกรรมดังกล่าว
 
ชลิตา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ระแวงว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ ตนยืนยันว่าไม่ใช่ แต่ว่าวิชานี้เป็นวิชามานุษยวิทยาการเมือง และวิทยากรที่เชิญมาก็เป็นอาจารย์ทางรัฐศาสตร์  ดังนั้นสิ่งที่คุยกันจึงเป็นเรืองการเมืองแน่นอน เป็นการเมืองในแนววิชาการ ซึ่งมันจะต้องเป็นสิ่งที่เราพูดได้ มันไม่ใช่เรื่องผิด ต้องเป็นสิ่งที่พูดได้ในชีวิตประจำวันของเรา
 
 ชลิตา มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันค่อนข้างลำเส้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ประสานมายังผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้มีการกดดันเป็นทอดๆ เพื่อที่จะให้เลื่อน ซึ่งไม่รู้ให้เลื่อนไปเมื่อไหร่ วันนี้เราจัดไม่ได้จริงๆ เนื่องจาก ถูกใช้กำลังบังคับไม่ให้ขึ้นไปข้างบน เราก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเราถูกห้าม แต่ไม่ได้หมายความว่าเราถอยหรือยอมรับกับอำนาจที่มาล้ำเส้นของการเป็นสถาบันกาศึกษา
 
สำหรับกิจกรรมดังกล่าว มีชื่อว่า "The Fake Thailand" "(ประเทศไทยอยู่ตรงไหนถ้าไม่มีเลือกตั้งปี 2560)" จัดโดย กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ กลุ่มเสรีนนทรี และวิชามนุษยวิทยาการเมือง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยมีวิทยารคือ ผศ.ดร. ธนศักดิ์ สายจำปา คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ ปกรณ์ อารีกุล นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมเพื่อสังคม ตามกำหนดการจะจัดในวันนี้ (20 เม.ย.60) เวลา 14.00-17.00น. ตึกสังคมศาสตร์ 4 ห้อง 501  ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ใบประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าว