วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ศาลสั่งจำคุก 15 ปี 'หญิงไก่' หมิ่นก 112 สารภาพลดเหลือ 7 ปี 6 เดือน


ศาลพิพากษาจำคุก 'หญิงไก่' ฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ รวม 3 กระทงๆ ละ 5 ปี จำคุกทั้งสิ้น 15 ปี ซึ่งจำเลย ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยเป็น 7 ปี 6 เดือน
6 มิ.ย. 2560 ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกคดีหมิ่นเบื้องสูง หมายเลขดำ อ. 3186/2559 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง มณตาหรือหญิงไก่ หยกรัตนกาญ อายุ 61 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ภายหลัง ก่อนจะดำเนินการสืบพยานในวันนี้ (6 มิ.ย.60)  มณตา จำเลยได้แถลงต่อศาล ขอกลับคำให้การ จากเดิมที่เคยให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพ ซึ่งศาลถามอัยการโจทก์แล้วไม่คัดค้าน ศาลจึงมีคำพิพากษาดังกล่าว และตลอดการพิจารณาคดี มณตา ถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัว 
สำหรับคดีนี้ อัยการยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 28 ก.ย.59 ที่ผ่านมา ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อเดือน พ.ค.55 – ส.ค.56 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้แสดงตัว และกระทำการว่าได้รับการแต่งตั้งโปรดเกล้าฯ เป็นคุณหญิงและได้บอกต่อบุคคลที่สามในลักษณะว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดเบื้องสูงซึ่งข้อความที่กล่าวนั้นได้สื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า จำเลยได้ใกล้ชิดเบื้องสูง เป็นการกระทำจาบจ้วงล่วงเกิน ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ สักการะต่อสถาบัน เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาในจำเลยทราบเมื่อวันที่ 7 ก.ค.59 ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ตลอดการพิจารณา มณตา ถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัว  ซึ่ง มณตา ยังถูกอัยการยื่นฟ้องคดีมนุษย์อีก 2 สำนวน โดยวันนี้ (6 มิ.ย.60) ศาลเบิกตัว มณตา มาจากทัณฑสถานหญิงกลาง อย่างไรก็ดี ก่อนจะดำเนินการสืบพยาน มณตา จำเลยได้แถลงต่อศาล ขอกลับคำให้การ จากเดิมที่เคยให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพ ซึ่งศาลถามอัยการโจทก์แล้วไม่คัดค้าน ศาลจึงมีคำพิพากษาในวันนี้
โดยศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม จึงพิพากษาให้จำคุก ฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ฯ รวม 3 กระทงๆ ละ 5 ปี จำคุกทั้งสิ้น 15 ปี ซึ่งจำเลย ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยเป็น 7 ปี 6 เดือน
ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว เจ้าหน้าราชทัณฑ์ จะได้ควบคุมตัว มณตา ไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลาง
รายงานข่าวยังระบุอีกว่า นอกจากคดีนี้แล้ว มณตา ยังถูกดำเนินคดีอื่นอีก เช่น คดีค้ามนุษย์ ที่อัยการยื่นฟ้องมณตานั้น ประกอบด้วย คดีหมายเลขดำ คม. 76/2559 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีค้ามนุษย์ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง มณตา ในความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยกระทำแก่บุคคลอายุเกิน 15 ปี  ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 , 6 และ 52 ซึ่งยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 ต.ค.59 กรณีต้นเดือน มิ.ย.49 – ปลายเดือน ต.ค.53 ได้หลอกเด็กสาว 3 รายจาก จ.ปทุมธานี และ จ.แม่ฮ่องสอน มาทำงานแม่บ้านบังคับใช้แรงงานตั้งแต่เวลาตีห้า ถึงห้าทุ่ม โดยไม่มีวันหยุด และไม่จ่ายค่าจ้าง แล้วยังข่มขู่ผู้เสียหายหากไม่ยอมทำงานก็จะแจ้งตำรวจ จับบิดา-มารดา
และคดีหมายเลขดำ คม.98/2559 ในความผิดเดียวกัน ซึ่งอัยการ ได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 พ.ย.59 จากกรณีระหว่างต้นเดือน พ.ค.51 – 30 พ.ย.53 ซึ่งได้หลอกลวงเด็กสาวอายุ 16 ปี จาก จ.แม่ฮ่องสอน มาใช้แรงงานให้ทำงานบ้านโดยไม่มีวันหยุดเช่นกัน โดยทั้ง 2 คดี อัยการได้ขอคัดค้านการให้ประกันตัว เนื่องจากจำเลยถูกฟ้องคดีอื่นอีกหลายคดี ประกอบกับคดีที่ฟ้องนี้มีอัตราโทษสูง เกรงว่าหากได้ปล่อยชั่วคราวจำเลยจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับหลักฐาน ซึ่งชั้นพิจารณา มณตา ให้การปฏิเสธสู้คดี โดยขณะนี้ทั้ง 2 คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนพยานบุคคล

ประยุทธ์ สั่งเช็คกล้องวงจรปิด จนท.คนใดบกพร่องจะต้องถูกลงโทษทางวินัย


ยันใครก็ไม่สามารถทำการสืบทอดอำนาจได้ ชี้ทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้าอาวุธสงครามต้องดำเนินการทางกฎหมาย ยันยังไม่ว่ามีการรั่วไหลออกจากคลังแสง หากตรวจพบก็จะต้องลงโทษสถานหนักทั้งทางวินัยและทางอาญา

6 มิ.ย. 2560 เมื่อเวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้กล่าวชี้แจงถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีตอบคำถามสื่อมวลชนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ดังนี้
กรณีเรื่องการ เซ็ตซีโร่ กกต. ปปช. ทางฝ่ายการเมืองบางกลุ่มมองว่าเป็นความพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอบว่า ทำไมถึงมอง คสช. ในแง่ที่จะสืบทอดอำนาจ มองได้อย่างไร ส่วน กกต. ก็มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง ประชาชนมาก็มีสิทธิที่จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะไปแก้ไขคะแนนเสียงได้อย่างไร กกต. หรือใครก็ไม่สามารถทำการสืบทอดอำนาจได้
กรณีปัญหาการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นถี่ โดยเฉพาะการก่อการร้ายในรูปแบบโลนวูล์ฟ หรือที่ผู้ก่อการร้ายไม่ได้เชื่อมโยงกับองค์กรขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการป้องกันยาก รัฐบาลจะให้ความมั่นใจได้อย่างไรว่าไทยพร้อมรับมือ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในเมื่อผู้ถามก็รู้คำตอบอยู่แล้ว ในกรณีที่การก่อร้ายไม่ได้เชื่อมโยงกับองค์กรขนาดใหญ่ ป้องกันได้ยาก ซึ่งคำตอบมีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว โดยทางรัฐบาลเอง ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการป้องกันและปรามปราบในทุกระบบ ต้องสร้างการเรียนรู้ภาคประชาชนและสังคมให้มีส่วนร่วม ช่วยเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นในสังคม ในส่วนการจัดหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ก็อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายความมั่นคงอยู่แล้ว ส่วนการจัดชื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เป็นการซื้อเพื่อทดแทนสิ่งที่ชำรุด ในการป้องกันภัยคุกคามทั้งรูปแบบเก่า และรูปแบบใหม่ ในส่วนภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ได้แก่ สงครามอิเล็กทรอนิกส์และภัยจากไซเบอร์
กรณีประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใสใน ศอ.บต. ซึ่งล่าสุดพบว่า การติดตั้งเสาไฟโซล่าเซลล์นั่นชำรุดใช้งานไม่ได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าได้ให้ทางฝ่ายความมั่นคง ศอ.บต. กอ.รมน. และหน่วยงานทุกหน่วยที่รับผิดชอบในการจัดหา การบำรุงรักษา และการใช้งาน ไปตรวจสอบว่ามีอะไรที่บกพร่องบ้าง แล้วก็ให้รายงานผลให้ทราบภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อจะได้เร่งดำเนินการแก้ไขโดยทันที่ โดยหลายหน่วยงานมีงบประมาณในการจัดหากล้อง CCTV อยู่แล้ว ส่วนบางพื้นที่ที่ซื้อมาก็เป็นกล้องที่เก่าใช้งานมาอย่างยาวนานซึ่งได้หมดอายุลง และก็มีหน่วยงานบางหน่วยที่ไม่มีงบประมาณในการดูแลรักษา ซึ่งเรื่องนี้ทางรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการสำรวจ ซ่อมแซม และการจัดซื้อมาใหม่ทดแทนของเดิม โดยจะต้องระบุการจัดซื้อจัดหาที่ดูแลได้ครบวงจร ส่วนถ้าเกิดมีเจ้าหน้าที่คนใดบกพร่องจะต้องถูกลงโทษทางวินัย
สำหรับการปฏิรูปตำรวจมีหลายประเด็นซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ทั้งในเรื่องโครงสร้าง กระบวนการในการบริหารงานเป็นเรื่องที่จะต้องทำไปพร้อม ๆ กัน เพราะเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจน ส่วนเรื่องการทำงานของตำรวจนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้รับทราบแล้วทุกเรื่อง
เรื่องทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้าอาวุธสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอบว่า เป็นสิ่งที่กองทัพพยายามดำเนินการมาโดยตลอดที่จะไม่ให้ทหารเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ การค้าอาวุธสงคราม หรือกระบวนการต่าง ๆ เป็นเรื่องที่จะต้องกวดขัน และต้องตรวจตราอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้ร่วมขบวนการมีทั้งเจ้าหน้าที่ ประชาชน และคนไม่ดีต่าง ๆ ซึ่งใครที่ไปร่วมในขบวนการเหล่านี้จะต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
กรณีที่ถามว่ามีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงหรือไม่ว่าอาวุธสงครามที่จับได้มีแหล่งที่มาจากที่ไหน และมีการขโมยอาวุธในคลังแสงไปด้วยหรือไม่ นั้น ขณะนี้ตรวจสอบพบว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังไม่ว่ามีการรั่วไหลออกจากคลังแสง หากตรวจพบก็จะต้องลงโทษสถานหนักทั้งทางวินัยและทางอาญา
ส่วนรถที่ใช้ขนอาวุธสงครามระบุว่าเป็นรถของทางราชการนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ตรวจสอบพบไม่ใช่รถของทางราชการ แต่มีการสวมทะเบียนและติดป้ากรงจักรเพื่อให้ผ่านด่านได้ เพราะฉะนั้น จึงได้เน้นย้ำทุกด่านตรวจให้เข้มงวดตรวจสอบรถทุกคันอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะมีตราของหน่วยงานราชการใด
กรณีที่ทหารได้ส่งระเบิดทางไปรษณีย์เอกชน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ให้หน่วยทหารตรวจสอบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารบกก็ให้ติดตาม รวมถึงให้ผู้บัญชาการทุกหน่วยหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีให้ได้ และร่วมดำเนินการสืบสวนสอบสวนกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
เรื่องการติดตามหาตัวคนร้ายกรณีระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ มีความกังวลกับทุกเรื่องทั้งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นและเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากจะกำจัดให้ได้หมด เพราะฉะนั้นทุกคนในฐานะที่เป็นคนไทยจะต้องสร้างความเข้มแข็งไปด้วยกัน คนที่คิดว่าเป็นเรื่องของการสร้างสถานการณ์จากฝ่ายเดียวกัน อยากทราบว่าเอาอะไรมาคิด และคนคิดคนจ้างก็ต้องจ้างคนที่สามารถทำการได้ อาจจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือคนไม่ดีที่ไหนก็ได้ เพราะฉะนั้น ทหาร ตำรวจ ที่เขาจ้างมาอาจจะเป็นคนที่อยู่ในราชการหรือนอกราชการก็ได้ ซึ่งใครที่เป็นคนไม่ดีล้วนมีสิทธิ์ที่จะก่อเหตุการณ์เช่นนี้ได้ทั้งสิ้น
กรณี เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขอให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบฐานะการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประสบภาวะขาดทุน นายกรัฐมนตรี กล่าวตอบว่า นายกรัฐมนตรีจะไม่รับเรื่องร้องเรียนจากบุคคลที่มาพูดแบบนี้ แต่จะรับเรื่องที่ฝ่ายกฎหมาย องค์กรอิสระ หรือกระบวนการยุติธรรม ส่งเรื่องมาให้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับเรื่องโดยตรงจากบุคคลพลเรือน โดยขอให้ไปดำเนินการเข้าช่องทางให้ถูกต้อง และขอให้รับฟังธนาคารแห่งประเทศไทยชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น
กรณีแนวทางการรวบรวมคำตอบต่อคำถาม 4 ข้อของนายกรัฐมนตรี นั้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รวบรวมคำตอบ โดยขอให้ประชาชนไปให้ข้อมูลได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว เพราะเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยตรง และมีวัตถุประสงค์ให้สังคมและประชาชนเรียนรู้เท่าทันทางการเมือง สร้างหลักคิดในเรื่องประชาธิปไตย และการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แก้ไขปัญหาในอดีต วางรากฐานรัฐบาลในอนาคต เมื่อมีการเลือกตั้งจะได้เลิกมองถึงเรื่องการสืบทอดอำนาจ
กรณีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเหตุใดจึงมีทหารเข้าไปเป็นบอร์ดจำนวนมาก นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ก็มีปัญหาภายในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็ได้มีการจัดให้ทหารเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ ไม่ใช่ไปนั่งยกมือแสดงความคิดเห็น หลายเรื่องรัฐบาลก็ได้แก้ไขปัญหาไปแล้วโดยได้รับข้อมูลเป็นสัดส่วนของกรรมการในบอร์ดตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการเอาทหารเข้าไปนั่งในบอร์ดจำนวนมาก แล้วตัดส่วนอื่นออกและเป็นบอร์ดกรรมการทั่วไปไม่ได้เป็นบอร์ดกรรมการเฉพาะทาง

หมอมงคล เปิดใจถึงประยุทธ์ชี้กำลังมีการทำลายหลักการ 30 บาทผ่านการแก้ กม.บัตรทอง


หมอมงคล อดีต รมว.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กถึง พล.อ.ประยุทธ์ ชี้กำลังมีการทำลายหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผ่านแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ระบุหากนายกฯ ปล่อยให้มีการแก้ไขตามที่กำลังทำอยู่ จะเป็นการทำลายหลักการแยกผู้ซื้อบริการออกจากผู้จัดบริการ เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน และใช้งบประมาณแผ่นดินที่ไม่เป็นธรรม
6 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Mongkol Na Songkhla ในลักษณะสาธารณะ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้นายกฯ พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะมีความพยายามจากกลุ่มผู้ให้บริการเสนอแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้ถ้านายกฯ ปล่อยให้มีการแก้ไขตามที่กำลังทำอยู่ จะเป็นการทำลายหลักการแยกผู้ซื้อบริการออกจากผู้จัดบริการ เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน และใช้งบประมาณแผ่นดินที่ไม่เป็นธรรม
นพ.มงคล โพสต์ข้อความ มีรายละเอียดดังนี้
“ก่อนอื่นผมขอขอบคุณท่านนายกฯ แทนประชาชนคนไทยที่ยืนยันต่อสาธารณะว่าไม่มีการยกเลิกหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าหรือ 30 บาท แต่ต้องรีบเสนอเรื่องนี้ต่อไปเพื่อขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงการที่มีความพยายามจากผู้ให้บริการ พยายามเสนอแก้กฏหมายเพื่อให้อำนาจการตัดสินใจการบริหารจัดการ สปสช.และงบประมาณไปอยู่ในอำนาจของตน ถ้าท่านนายกปล่อยไปจะเป็นการทำลายหลักการแยกผู้ซื้อบริการ คือ สปสช.ที่ทำหน้าที่แทนประชาชน ออกจากผู้ให้บริการ เพราะหากเงินเอาไปใส่มือให้ผู้ให้บริการแล้วจะไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าผู้บริการจะควักกระเป๋าเอาเงินมาจ่ายค่าบริการให้ประชาชนอย่างเหมาะสม
เรื่องนี้มีที่มาที่ไป เมื่อครั้งวางหลักเกณฑ์โครงการ 30 บาทปี 2540 ผมเป็นผู้นำปฏิบัติตกลงกันว่าถ้ากระทรวงสาธรณสุขกระจายอำนาจให้หน่วยบริการออกไป กระทรวงจะทำหน้าที่ซื้อบริการ สปสช.ก็ไม่จำเป็นตัองตั้งขึ้นมา แต่สุดท้ายกระทรวงไม่ยอมปล่อยหน่วยบริการออกไป และต่างก็เห็นพ้องด้วยกันว่าต้องตั้ง สปสช.ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนประชาชน                    
ท่านนายกฯ ครับกฎหมายที่แก้ไขหลายประเด็นที่ทำลายหลักการที่กล่าวมาแล้ว เช่น ตัดเงินเดือนไปให้กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มสัดส่วนกรรมการผู้ให้บริการ และให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน ลดกรรมการภาคประชาชนลง ดึงงบจัดซื้อยาราคาแพงและจำเป็นไปทำเอง ทั้งที่ประจักษ์ชัดว่า สปสช.บริหารงบฯ ก้อนนี้ประหยัดไปได้เป็นแสนล้านในระยะไม่กี่ปี                     
ท่านนายกฯ ครับ กฎหมายที่กรรมการแก้ไขและกำลังจะเสนอท่านนั้น ผมพิจารณาเห็นว่ามีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนและใช้งบประมาณแผ่นดินที่ไม่เป็นธรรมครับ”

ขณะเดียวกัน นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ได้โพสต์บทความของ ดร.ปกป้อง จันวิทย์ ใน Facebook/ติดตามการปฏิรูปประเทศกับหมอชูชัยว่า “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งคนทั่วไปอาจจะคุ้นกับชื่อ 30 บาท รักษาทุกโรค มากกว่า ไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่เป็นการสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ช่วยเหลือทุกคนอย่างถ้วนทั่ว เพราะมันเปลี่ยนสถานะของบริการสาธารณสุขจาก ‘สินค้า’ ในระบบตลาดที่คนมีเงินเท่านั้นที่เข้าถึงได้ หรือ ‘ส่วนบุญ’ ในระบบสังคมสงเคราะห์ที่ต้องพกบัตร ต้องจน ต้องถูกแบ่งแยกกดต่ำ ต้องแสดงให้เห็นว่าตน ‘ด้อย’ กว่าจึงจะได้รับความช่วยเหลือ ให้เป็น ‘สิทธิ’ ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็น ‘สิทธิ’ ที่ไม่ต้องร้องขอ และไม่ต้องรอให้ใครอนุมัติก่อน 
ประเด็นนี้มีความสำคัญมากและถือเป็นจิตวิญญาณของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ว่าได้ เพราะมันเปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์เชิงอำนาจแนวดิ่งที่หมอหรือโรงพยาบาลถือครองอำนาจเหนือกว่าผู้ป่วย มาเป็นความสัมพันธ์เชิงพันธสัญญาที่หมอหรือโรงพยาบาลต้องกลายมาเป็นผู้ให้บริการผู้ป่วยไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน มีการศึกษาสูงต่ำเพียงใด มันทำให้พลังอำนาจของหมอกับคนไข้เข้าใกล้กันมากขึ้น”

“ไม่ควรแม้แต่จะคิดว่ามีคนอย่างนี้อยู่” วิษณุ ตอกนักข่าวหลังถาม กรณีสอบคุณสมบัติ 9 รมต.


“ไม่ควรแม้แต่จะคิดว่ามีคนอย่างนี้อยู่”  รองนายกรัฐมนตรีตอกกลับนักข่าว หลังถูกถามว่ากรณีที่ กกต. ยกเรื่องตรวจสอบคุณสมบัติ 9 รมต. จะส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่องเซ็ตซีโร่ กกต. หรือไม่ เผยเรื่องเซ็ตซีโร่ได้ให้ความเห็นไปหลายครั้งแล้ว

7 มิ.ย. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่า  ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ยังมีข้อขัดแย้งเรื่องการเซตซีโร่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมถึงองค์กรอิสระอื่นๆ โดยอ้างเหตุผลเรื่องปลาสองน้ำว่า รับทราบเสียงวิจารณ์แต่ไม่ขอตอบอะไร เพราะถ้าพูดออกไปก็จะกลายเป็นการปะทะคารม ทั้งนี้ ไม่ตั้งใจจะไปโต้เถียง โต้แย้งใดๆ กับใคร เพียงแต่ก่อนหน้านี้ได้เล่าให้ฟังถึงเหตุผลของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต. ส่วนคำว่าปลาสองน้ำนั้นก็มาจากคำถามของผู้สื่อข่าวที่ตั้งคำถามขึ้นมา ไม่ได้อุปมาขึ้นมาแต่อย่างใด แต่ถ้าคำนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ก็ไม่เป็นอะไร ทั้งนี้ ไม่ขอตอบอะไรในเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกกังวลหรือไม่ว่าเมื่อ กกต.ระบุว่าจะหยิบยกเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติของ 9 รัฐมนตรีให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถือเป็นเงื่อนไขต่อประเด็นเซตซีโร่ กกต.หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า เรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี 9 คนนั้น ได้มีผู้นำไปร้องเรียนต่อ กกต.มาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ซึ่ง กกต.ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบ และคิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะ กกต.เขาก็ต้องทำตามหน้าที่
เมื่อถามว่า คิดว่าเหตุใดจึงเพิ่งจะหยิบขึ้นมาพิจารณาในช่วงนี้ วิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ ไม่พูด และไม่คิดว่าเป็นการตั้งเงื่อนไขเพื่อต่อรองอะไร รู้สึกเฉยๆ เพราะคิดว่าเป็นการทำหน้าที่ตามปกติ เมื่อมีคนไปร้องเรียน กกต.ก็ต้องตรวจสอบ ตนยังนึกว่าเขาตั้งกรรมการตรวจสอบเสร็จไปตั้งนานแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้วินิจฉัยอะไร แต่ปรากฏว่าเขายังไม่ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาก็ไม่เป็นไร
เมื่อถามถึงกรณีที่ 9 รัฐมนตรีถูกร้องให้ตรวจสอบเรื่องการถือหุ้นนั้นจะเป็นปัญหาได้หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า กรณีของคนอื่นตนไม่สามารถตอบแทนเขาได้ แต่กรณีของตนไม่ได้มีปัญหาเรื่องการถือหุ้น แต่ถูกทักท้วงในเรื่องอื่น ซึ่งผู้ที่ทักท้วงก็ไม่ใช่ กกต. แต่เป็นบุคคลอื่นที่ไปยื่นร้อง แต่กรณีของตนถูกนำไปพูดปะปนกับของคนอื่น
ผู้สื่อข่าวถามว่าการนำเรื่องตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี 9 คนนี้มาเป็นเงื่อนไขกับการไม่เซตซีโร่ กกต.หรือไม่ วิษณุย้อนถามว่า “แล้วคุณมองอย่างนั้นหรือไม่” ผู้สื่อข่าวกล่าวกลับไปว่า ก็สามารถมองได้ วิษณุจึงกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นคุณก็ไปเขียนว่าคุณมองอย่างนั้น แต่สำหรับผมไม่ทราบ ไม่สมควรคิด และไม่กล้าคิด ซึ่งทางพระใช้คำว่า อจินไตย ไม่ควรแม้แต่จะคิดว่ามีคนอย่างนี้อยู่”
เมื่อถามว่า กรณีของ กกต.จะมีผลกระทบต่อองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วยหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ก็เอาไว้ให้ไปถึงกฎหมายองค์กรอิสระอื่นๆ ก่อนแล้วค่อยมาพูดกัน หรือมาถามตนอีกครั้ง แต่ตอนนี้ยังไม่ถึง เมื่อถามย้ำว่า จะเป็นบรรทัดฐานต่อองค์กรอิสระอื่นหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่สิ่งที่ตนเคยตอบแล้วก็ชัดเจน ถ้าใครยังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นอะไร อีกไม่กี่วัน ในวันที่ 9 มิ.ย. นี้ สนช. ก็จะลงมติอยู่แล้ว
“ผมเคยตอบไปมากแล้วว่า ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติ เราพูดกันถึงเรื่องโครงสร้าง ดังนั้น คำว่าโครงสร้างแปลว่าอะไร ถ้าปัญหาเรื่องโครงสร้างเกิดขึ้นกับองค์กรอื่น ก็ต้องอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ส่วนคุณสมบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โครงสร้างก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ช่วยไปศึกษาหน่อยนะครับ หรือไปถาม กรธ. ก็ได้เพราะเห็นไปนั่งสัมภาษณ์กันอยู่ทุกวัน ไปถาม กรธ.ดูว่า โครงสร้างของ กกต.ต่างกับโครงสร้างองค์กรอิสระอื่นๆ อย่างไรตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเหมือนกันก็ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน จะมาตรฐานซ้าย มาตรฐานขวา หรือมาตรฐานเซตซีโร่หรือมาตรฐานอื่นก็ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันถ้าอยู่ในโครงสร้างเดียวกัน” วิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า กรธ.เคยระบุความเห็นแนบส่งให้ กมธ.ฯว่าไม่จำเป็นต้องเซตซีโร่ กกต. วิษณุกล่าวว่า วันนี้ (7 มิ.ย.) ก็รอฟังเขาแถลง เห็นว่าจะมีคนไปสัมภาษณ์เขา เมื่อถามว่า กกต.ระบุทำนองว่ามาเล่นแง่กับ กกต.เพียงองค์กรเดียว ทำไมไม่ทำกับองค์กรอิสระอื่นด้วย เช่น ป.ป.ช. วิษณุ กล่าวว่า เรื่องขององค์กรอื่นยังมาไม่ถึง ในเมื่อเรื่องของ กกต.มาถึงก่อนก็ต้องพูดถึงก่อน เช่นเดียวกับถ้าคุณไปจอดรถในที่ห้ามจอด แล้วตำรวจมาจับ คุณก็ถามตำรวจว่ามาจับผมทำไมทั้งที่มีรถอีกหลายคันที่จอดเหมือนกัน ตำรวจก็บอกว่ามาเจอรถของคุณก่อนเลยจับก่อน เดี๋ยวไปเจอรถคันอื่นก็ค่อยว่ากัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงว่าจะกลายเป็นมีเรื่อง มีปัญหามารุมเร้ารัฐบาลจนกระทบต่อการทำงานหรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า แล้วจะให้ตนตอบว่ากลัวหรือไม่กลัว ตนไม่ตอบ
ทั้งนี้มีรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 9 มิ.ย. 2560 นี้ จะมีการนำผลการศึกษาและมติของคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยกกต. เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช. โดยในประเด็นเรื่องการเซ็ตซีโร่ กกต. นั้นมีสมาชิก สนช. ขอแปรญัตติถึง 10 คน

ทหารไปบ้านชลธิชา แจ้งเร็ว บอกแม่ขอพบลูกเพราะต้องการให้หยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง


ทหารไปบ้านขอคุยกับชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เพื่อขอพูดคุยให้หยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง และห้ามออกนอกประเทศ ระบุเคยทำ MOU กับ คสช. ไว้ตั้งแต่ปี 2557 แต่ไม่พบเจ้าตัว ทหารย้ำจะมาอีกจนกว่าจะได้คุย
7 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เขตลาดหลุมแก้ว ได้เดินทางเข้าไปที่บ้านพักของชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกรณีที่ชลธิชา ได้เคยทำข้อตกลงเรื่องการไม่เคลือนไหวทางการเมืองไว้กับ คสช. เมื่อปี 2557 ทั้งนี้การทำข้อตกลงดังกล่าวเกิดจากการถูกควบคุมตัวจากการจัดกิจกรรมกินแซนวิชต้านรัฐประหาร และในเวลานั้นลูกเกด และเพื่อนอีกหลายคนภายใต้การควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ชลธิชล ให้ข้อมูลว่า เมื่อเวลา 14.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร แต่งกายในเครื่องแบบทหารจำนวนประมาณ 4-5 คน ไปขอพบเธอที่บ้านพัก แต่ในเวลานั้นเธอไม่อยู่ที่บ้าน เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้พูดคุยกับแม่ของเธอแทน โดยเจ้าหน้าที่ทหารชี้แจงว่า ที่มาในวันนี้เพราะต้องการที่จะพูดคุยทำความเข้าใจกับเธอ เนื่องจากเธอได้เคยข้อตกลงกับ คสช. ไว้เมื่อปี 2557 โดยตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และจะไม่ออกนอกประเทศ
ชลธิชา เล่าต่อไปว่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหาร และเธอเริ่มออกไปเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร นอกจากจะถูกจับกุมดำเนินคดีแล้ว เธอยังถูกเจ้าหน้าที่ทหารมาหาที่บ้านอยู่หลายครั้ง ซึ่งประมาณได้ว่าไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง โดยการมาแต่ละครั้งของเจ้าหน้าที่ทหารส่วนมาก จะเป็นเพียงการมาถ่ายรูปบริเวณหน้าบ้านแล้วกลับไป ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ใส่เครื่องแบบทหารมา และจะมีเพียงบางครั้งที่เข้ามาพูดคุยกับครอบครัวของเธอ แต่สำหรับครั้งนี้มีลักษณะที่แปลกไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารได้อ้าง MOU กับ คสช. ว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร เพื่อเข้ามาพูดคุยกับเธอ
ทั้งนี้ ชลธิชา ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทหารมีคำถามเป็นพิเศษกรณีที่เธอ สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ โดยต้องการรู้ว่าเพราะอะไรเธอจึงสามารถออกจากประเทศไทยได้ทั้งที่ยังมี MOU ดังกล่าวอยู่ อย่างไรก็ตามเธอเล่าว่าการเดินทางออกไปต่างประเทศนั้นเป็นการเดินทางไปร่วมวงเสวนาเชิงวิชาการเพียงเท่านั้น ไม่เป็นการเคลื่อนทางการเมืองแต่อย่างใด และกิจกรรมที่เธอยังทำอยู่ในปัจจุบันก็มีเพียงการจัดเวทีเสวนาเชิงวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ชลธิชา เล่าด้วยว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารไม่พบว่าเธออยู่ที่บ้านพัก เขาได้ฝากเบอร์โทรติดต่อกลับ เพื่อให้เธอโทรหาเพื่อนัดหมายวันเวลา เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับเขา และระบุในลักษณะว่า จะมาหาอีกครั้งจนกว่าจะได้คุย
“เราก็เพิ่งคุยกับเพื่อนนะว่าทำไมเขาถึงหยิบเรื่อง MOU ของปี 2557 มาอ้าง ซึ่งมันแปลกมากเพราะก่อนหน้านี้เวลามาบ้านก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ สำหรับเราเห็นว่าตัว MOU มันไม่น่าจะมีสภาพบังคับแล้วนะ เพราะในตอนที่ทำเข้าใจว่า คสช. ต้องการขอเวลาทำงานตามโรดแมปที่วางไว้ แต่ตอนนี้มันเลยเวลาตรงนั้นมาแล้ว” ชลธิชากล่าว

ประยุทธ์ แจง 'ไปนั่งสังเกตการณ์' หลัง 3 ปียุค คสช. ทหารนั่งเต็มบอร์ดรัฐวิสาหกิจ


หลัง บีบีซีไทย รายงาน 3 ปีการรัฐประหารของ คสช. จำนวนทหารนั่งประธานในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5 เท่า เป็น 16 แห่ง ส่วนทหารและอดีตทหารเข้าเป็นกรรมการในบอร์ดเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ใน 40 รัฐวิสาหกิจ ขณะที่ ประยุทธ์ แจง 'ไปนั่งสังเกตการณ์' 

7 มิ.ย. 2560 จากกรณี บีบีซีไทย ได้เปิดเผยข้อมูลเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีการรัฐประหารของ คสช. ท่ามกลางกระแสการปฏิรูป หนึ่งในองค์กรที่มีการปฏิรูปคือ รัฐวิสาหกิจ แต่ปรากฏว่า 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนทหารนั่งเป็นประธานในคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5 เท่า เป็น 16 แห่ง ส่วน จำนวนทหารและอดีตทหารเข้าเป็นกรรมการในบอร์ดเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ใน 40 รัฐวิสาหกิจ

ประยุทธ์แจง ไปนั่งสังเกตการณ์

ซึ่งวานนี้ (6 มิ.ย.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ได้ตอบว่า ช่วงที่ผ่านมา ก็มีปัญหาภายในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็ได้มีการจัดให้ทหารเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ ไม่ใช่ไปนั่งยกมือแสดงความคิดเห็น หลายเรื่องรัฐบาลก็ได้แก้ไขปัญหาไปแล้วโดยได้รับข้อมูลเป็นสัดส่วนของกรรมการในบอร์ดตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการเอาทหารเข้าไปนั่งในบอร์ดจำนวนมาก แล้วตัดส่วนอื่นออกและเป็นบอร์ดกรรมการทั่วไปไม่ได้เป็นบอร์ดกรรมการเฉพาะทาง

3 ปียุค คสช. ทหารนั่ง ปธ.บอร์ดเพิ่มขึ้น 5 เท่า

สำหรับรายละเอียดของรายงานดังกล่าวของ บีบีซีไทย ระบุว่า จากการตรวจสอบรายชื่อบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง จากชุดก่อนหน้าที่ คสช. จะเข้ามา ผ่านรายงานประจำปี ปี 2556 ของทุกรัฐวิสาหกิจ กับชุดปัจจุบัน ผ่านรายงานประจำปี 2559 หรือเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ พบว่ารายชื่อทหารที่เข้ามานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ มีจำนวน "เพิ่มขึ้น" จาก 42 คน ใน 24 แห่ง เป็น 80 คน ใน 40 แห่ง หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว และจำนวนรัฐวิสาหกิจที่มี "ประธานบอร์ด" เป็นทหาร ไม่ว่าจะยังรับราชการอยู่หรือเกษียณอายุราชการแล้ว เพิ่มขึ้นจาก 3 แห่ง เป็น 16 แห่ง หรือมากกว่า 5 เท่าตัว
นอกจากนี้ ทหารบางคนนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจมากกว่า 1 แห่ง" บางคนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ควบคู่กันไปด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากต้องทำงานหลายแห่งในเวลาเดียวกัน
บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวชี้แจงกับบีบีซีไทยว่า ขออย่ามองเรื่องจำนวนอย่างเดียว อยากให้ดูเรื่องการศึกษารวมถึงประสบการณ์ด้วย ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจเข้าใจผิด เช่น พล.อ.วิวรรธ์ สุชาติ ประธานบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เคยเป็นทหารช่างมาก่อน อาจจะเคยทำงานช่างมากกว่าบอร์ดคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ
ส่วนการตั้งทหารเข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจอื่น โฆษก คสช. กล่าวว่า เชื่อว่าน่าจะมีเหตุผลอยู่ โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลาย เพราะบอร์ดทำหน้าที่แค่ให้นโยบาย ไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติ รวมไปถึงการแก้ปัญหาเรื่องการทุจริต เช่น การเปลี่ยนบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทยยกชุด
"เวลาพูดถึงทหาร คนมักจะนึกถึงทหารราบเพียงอย่างเดียว ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะในกองทัพมีคนอยู่มากมายหลายอาชีพ ทั้งหมอ วิศวะ นักเคมี นักบัญชี ฯลฯ เนื่องจากโรงเรียนทหาร เช่น โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) นอกจากเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านต่าง ๆ ยังมีทุนให้ไปเรียนต่อในต่างประเทศ ดังนั้น คนจบโรงเรียนนายร้อย จปร. ก็ไม่ต่างกับจบจากจุฬาลงกรณ์ เพราะมีผู้ก่อตั้งคนเดียวกัน อย่าไปมองแค่ว่าเป็นทหารหรือพลเรือน อยากให้ดูเรื่องความรู้ ความสามารถด้วย" พ.อ.วินธัย กล่าว
ส่วนร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้ง "ซูเปอร์โฮลดิ้ง" ที่มีเป้าหมายช่วยปฏิรูปการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ป้องกันการล้วงลูกจากผู้มีอำนาจ ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งคนที่เหมาะสมเข้ามาเป็นบอร์ด ถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า หลังผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2559

รายชื่อรัฐวิสาหกิจที่มีทหารหรืออดีตทหารเป็นประธานบอร์ด ที่บีบีซีไทย รวบรวม

ก่อน คสช.
1. สถาบันการบินพลเรือน
2. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
3. บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด
3 ปีหลัง คสช.เข้ามา
1. สถาบันการบินพลเรือน
2. การท่าเรือแห่งประเทศไทย
3. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
4. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
5. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
6. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
7. องค์การเภสัชกรรม
8. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
9. บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด
10. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
11. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
12. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
13. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
14. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
15. โรงงานยาสูบ
16. การยางแห่งประเทศไทย

Low Love เปิดโหวตอีกรอบ ถูกใจนโยบายใคร เพื่อไทย 5.4 หมื่น คสช. 7.5 พัน ปชป. 3.3 พัน


เพจ Low Love เปิดโหวตอีกรอบ  นโยบายของนายกคนไหน ถูกใจประชาชนชาวไทยมากที่สุด ?  ผล ยิ่งลักษณ์ ได้ 54,369 โหวต รองลงมาคือ ประยุทธ์ 7,548 โหวต ขณะที่อภิสิทธิ์ ได้ 3,358 โหวต 
7 มิ.ย .2560 หลังจากเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ Low Love ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 9 แสน ได้เปิดโหวตอยากให้ใครเป็นนายกฯ ล่าสุดวันนี้ (7 มิ.ย.60) เพจดังกล่าวได้เปิโหวตอีกรอบ โดยครั้งนี้ใช้คำถามที่ว่า นโยบายของนายกคนไหน ถูกใจประชาชนชาวไทยมากที่สุด ? โดยมี 3 ตัวเลือกคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา คสช. ใช้เวลาโหวต 4 ชั้วโมง มีการรับชม 642K ครั้ง จำนวนโหวตเกือบ 7 หมื่น
ผลปรากฎว่า ยิ่งลักษณ์ ได้ 54,369 โหวต รองลงมาคือ ประยุทธ์ 7,548 โหวต ขณะที่อภิสิทธิ์ ได้ 3,358 โหวต นอกจากนี้ยังมีการแสดงความคิดเห็น 20K สนับสนุนสิ่งที่ตัวเองโหวตด้วย
สำหรับการโหวตก่อนหน้านี้ของเพจดังกล่าวใช้คำถามว่า อยากให้ใครเป็นนายกฯ ผลปรากฏว่า ทักษิณ ชินวัตร ได้ 34,595 โหวต, ประยุทธ์ 15,940 โหวต, อภิสิทธิ์ 1,769 โหวต ขณะที่สุเทพ เทือกสุบรรณ 771  โหวต
ก่อนหน้านั้น 29 พ.ค. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'YouLike (คลิปเด็ด)' ซึ่งมียอดผู้ติดตาม 13 ล้าน ได้แชร์โพสต์ตั้งคำถาม "ถ้าประเทศนี้ไม่มีตระกูลชินวัตรคุณจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี?" โดยมีตัวเลือก 4 ตัวเลือกคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และไม่เลือกใครเลยสักคน ผ่านไปประมาณ 5 ชั่วโมง มีผู้โหวตประมาณ 1.16 แสน  ผู้โหวตไม่เลือกใครเลยสักคน 9.2 หมื่น โหวตประยุทธ์ 1.4 หมื่น โหวตอภิสิทธิ์ 5.2 พัน ขณะที่โหวตสุเทพ 1.8 พัน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น