วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ศาลทหารให้ประกันฯ'รินดา'ผัด2


21 กรกฎาคม 2558 เวลาประมาณ 13.00 น.ศาลทหารได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว นางรินดา ปฤชาบุตร ผู้ต้องหาคดีโพสต์ข้อความกล่าวหาว่า พล อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้โอนเงินหนึ่งหมื่นล้านไปยังประเทศสิงคโปร์ โดยศาลอนุญาตในวงเงินประกันเดิมคือ 1 แสนบาทพร้อมเงื่อนไขเดิมคือห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในทางตรงและทางอ้อมและห้ามไม่ให้เดินทางออกต่างประเทศ 
หลังจากมีคำสั่งให้ประกันตัว ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้แจ้งว่าโดยครั้งต่อไปนางรินดา จะต้องมารายงานตัวต่อศาลในผัดที่ 3 ในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ 
 รินดา ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้มาตามนัดของศาล แต่ไม่ทราบรายละเอียดมากนัก โดยได้ทางทนายเป็นผู้ดำเนินการ การได้ประกันตัวชั่วคราวทำให้ตนมีกำลังใจในการสู้คดี เพราะการสู้อยู่ข้างนอกเรือนจำดีกว่าการสู้คดีในขณะที่ถูกกักขังอยู่ เพราะได้เห็นหน้าลูกที่ซึ่งเป็นคนที่ตนรักเป็นกำลังใจ รินดากล่าวอีกว่าเรื่องนี้เป็นบทเรียนในการใช้ชีวิตและจะระมัดระวังและรอบคอบมากขึ้น โดยยืนยันว่ากรณีของตนเป็นกรณีที่"พลาด"ไม่ใช่กรณีที่"ผิด"

ศาลทหารไม่ให้ประกัน 'แหวน' รอบที่ 5



21 ก.ค.2558 วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่ม กนส. แจ้งว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ยื่นประกันตัวแหวน ณัฏฐธิดา มีวังปลา พยาบาลอาสา พยานปากเอกคดี 6 ศพวัดปทุม ที่ตกเป็นผู้ต้องหาจากกรณีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญาเมื่อต้นเดือนมีนาคม โดยสามีจำเลยได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 1 ล้านบาทแต่ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุเหตุผลว่า
"พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว นับว่าร้ายแรง ประกอบกับโจทก์คัดค้าน ศาลนำพิจารณาด้วยแล้ว พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงและมีลักษณะร่วมกันทำความผิด หากปล่อยชั่วคราวอาจหลบหนี จึงยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว"
ทั้งนี้ แหวนถูกจับกุมตัวโดยทหารนอกเครื่องแบบ หลังจากนั้นมีการประกาศตามหาตัวโดยทนายความจนท้ายที่สุดทหารนำตัวมาส่งให้กับตำรวจและแจ้งข้อหาหลายข้อหาร่วมกับจำเลยอีก 6 คนในคดีเดียวกันโดยถูกกล่าวหาว่าเป็กลุ่มผู้จ้างวานก่อเหตุ เธออยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.2558
รายละเอียดข้อหาได้แก่ เป็นอั้งยี่ ร่วมกันตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ร่วมกันเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยใช้กระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้
ขณะนี้คดีดังกล่าวสั่งฟ้องแล้ว แต่ศาลทหารยังไม่มีการนัดสืบพยาน นอกจากแหวนยังถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติม จากกรณีที่กลุ่มไลน์มีการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิด
ทนายของแหวนระบุว่า แหวนไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความ อีกทั้งยังมีการห้ามปรามเพื่อนในกลุ่มทั้งกรณีการพูดถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม และการก่อเหตุที่จะเกิดขึ้น
เขาเห็นว่าเป้าหมายของการแจ้งข้อกล่าวหาหนักแก่ลูกความในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำลายน้ำหนักของแหวนในฐานะเป็นพยานปากเอกในคดี 6 ศพวัดปทุมที่มีเจ้าหน้าที่ทหารตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา

เผยทหารกดดันแม่แกนนำอดอาหารค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่


22 ก.ค.2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘หยุดถ่านหินกระบี่’ รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันนี้(22 ก.ค.58) ได้รับการเปิดเผยจาก ประสิทธิชัย หนูนวล แกนนำอดอาหารคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ว่า ได้มีทหาร 1 คันรถ มาหาแม่ที่บ้านพัทลุง โดยมีผู้ใหญ่บ้านนำทหารมาหาแม่
พร้อมระบุด้วยว่า ทหารพูดกดดันแม่ให้ประสิทธิชัยหยุดอดอาหารประท้วงถ่านหิน ด้านแม่ของประสิทธิชัยเปิดเผยว่ารู้สึกตกใจกลัวที่ทหารมาหาที่บ้านและใช้ให้พูดกับลูกเพื่อให้หยุดประท้วงถ่านหิน
ต่อมาได้มีการเผยแพร่คำแถลงของประสิทธิชัยถึงนายกรัฐมนตรี หลังทหารกดดันแม่ตนเองด้วย 

 

จับตาทุนเกษตรยักษ์ สอดไส้ กม.จีเอ็มโอ ผ่าน สปช. บ่ายนี้


มูลนิธิชีววิถีชี้ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... ที่ สปช. เตรียมพิจารณาเป็นการผลักดันของกลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องจีเอ็มโอ เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ วอนเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
22 ก.ค.2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เตรียมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ได้กล่าวว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นการร่างขึ้นโดยกลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องจีเอ็มโอ โดยที่หลังจากผลักดันผ่าน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ไม่สำเร็จก็ใช้วิธีเสียบแทรกมาทาง สปช. แทน

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกยกร่างขึ้นโดยกลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องจีเอ็มโอ การผลักดันกฎหมายนี้ให้ผ่านสนช. ไปโดยเร็วจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ แต่จะไม่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิเกษตรกร และกลุ่มธุรกิจอาหารท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนทางพันธุกรรรม เมื่อไม่สำเร็จก็ใช้วิธีเสียบแทรกมาทาง สปช. โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุดกฎหมายปฏิรูปการเกษตร” วิฑูรย์ กล่าว

โดยเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุง เพราะมีหลายข้อที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพและพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย เช่น กรณีผลกระทบจากกรณีจีเอ็มโอนั้นในพิธีสารครอบคลุมถึงการคุ้มครองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ และอนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ในร่างกฎหมายระบุว่าต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ควรปรับปรุงร่างกฎหมายในมาตรา 17 โดยควรบัญญัติในลักษณะ ห้ามมิให้มีการผลิตหรือนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิด เว้นแต่จะได้ประกาศยกเว้นไว้ แทนที่จะเปิดกว้างและควบคุมเฉพาะพืชจีเอ็มโอที่ประกาศเป็นคราวๆ และการกำหนดให้มีการชดเชยความเสียหายเฉพาะกรณีที่มีการปลดปล่อยจีเอ็มโอ นอกบัญชีการปลดปล่อยสิ่งแวดล้อมเท่านั้นเป็นรูปแบบกฎหมายที่อาจขัดกับวัตถุประสงค์ของพิธีสารและไม่ได้คุ้มครองผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากพืชจีเอ็มโอซึ่งได้รับการอนุญาตให้มีการปลดปล่อยต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน แถลงว่า จากการรับฟังความคิดเห็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ คณะกรรมการอิสระคุ้มครองผู้บริโภคพบว่า การผ่านกฎหมายฉบับนี้ไปโดยเร็วจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ แต่จะเกิดผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน เกษตรกรและกลุ่มธุรกิจด้านเกษตรอินทรีย์ และธุรกิจอาหารอีกหลายกลุ่ม รวมทั้งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค “คณะกรรมการฯจะทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และได้ปรับปรุงเนื้อหาให้คุ้มครองสิทธิของเกษตรกร ผู้บริโภค และกลุ่มธุรกิจต่างๆที่จะได้รับผลกระทบ”