"การปล่อยน้ำแล้วน้ำท่วมแบบนี้ ควรต้องมีคนรับผิดชอบ | |
http://www.internetfreedom.us/forum/viewtopic.php?f=2&t=13767 วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคมนี้ อาจจะผ่านช่วงลุ้นระทึกไปแล้วว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ครบ 50 เขต เหมือนอย่างที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ออกมาแจ้งเตือนประชาชนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำท่วมยังเป็นเรื่องที่พูดกันไม่จบ มีหลายเรื่องที่ยังค้างคา ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ต้นทางที่ว่านี้ก็คือ จะบริหารจัดการน้ำที่ท่วมทะลักเมืองหลวงอย่างไร ถึงจะทำให้น้ำไหลออกไปจากกรุงเทพฯ ให้เร็วที่สุด จะจัดการกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างไร ซึ่งมีทั้งผู้อพยพไปตามศูนย์ต่างๆ และประชาชนที่ติดอยู่ตามบ้านเรือน และปัญหาหลังน้ำลด การช่วยเหลือ การชดเชย ให้ประชาชนที่โดนน้ำท่วม การฟื้นฟูบ้านเมือง การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และอีกสารพัดปัญหาที่จะตามมา ที่นึกตอนนี้อาจจะนึกไม่ออกด้วยซ้ำ ดังนั้น ปัญหาเรื่องน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย ซึ่งภาคใต้กำลังจ่อคิวว่าอาจจะเป็นพื้นที่น้ำท่วมรายต่อไป จึงเป็นเรื่อง "อภิมหาโจทย์ใหญ่" ของประเทศ ที่ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป ในจำนวนนักวิชาการด้านภัยพิบัติที่ประเทศไทยมีจำนวนนับนิ้วมือได้ ณ เวลานี้คนทั่วไปก็คงจะรู้จัก ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, รศ.เสรี ศุภราทิตย์ หรือ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล นักวิชาการที่ออกมาทำนาย คาดการณ์ วิเคราะห์ ปัญหาน้ำท่วมทางทีวีกันทุกวันแล้ว แต่ยังมีนักวิชาการด้านภัยพิบัติอีกราย ที่สามารถให้มุมมองและข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมได้ดี ไม่แพ้นักวิชาการท่านอื่นๆ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อดีตประธานศูนย์เตือนภัยแห่งประเทศไทย เป็นนักวิชาการด้านภัยพิบัติ ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เป็นนักวิชาการรุ่นเก่า มีเครดิตตรงที่เป็นนักวิชาการคนแรกที่ออกมาเตือนว่าประเทศไทยจะประสบกับภัยจากคลื่นสึนามิ และยังคงมีภูมิความรู้เกี่ยวกับเรื่องภัยธรรมชาติ อุทกภัย ไม่แพ้นักวิชาการรุ่นใหม่ แม้จะไม่ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในทีมนักวิชาการต่อสู้น้ำท่วมของรัฐบาล หรือ ศปภ. (ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย) ยังเป็นนักวิชาการนอกวงทีมงานของรัฐบาล แต่เมื่อมีสื่อมาถามความเห็นเรื่องน้ำท่วมและถามว่า ทำไมไม่ได้รับเชิญให้เป็นนักวิชาการในทีม ศปภ. ดร.สมิทธก็จะตอบแบบตรงไปตรงมาว่า เพราะไปวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เรียกว่าไม่ถูกใจรัฐบาล ก็เลยต้องกลายเป็นนักวิชาการวงนอก ศปภ.ไปโดยปริยาย เมื่อได้มีโอกาสนี้ ได้คุยยาวๆ กับ ดร.สมิทธ จึงถามในหลายแง่มุมที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำท่วม บางเรื่องดูเหมือนไม่เกี่ยวกับน้ำท่วม แต่จริงๆ กลับเกี่ยวข้อง และมีผลต่อการบริหารจัดการน้ำท่วมของรัฐบาลด้วย เนื้อหาที่ได้อาจจะไม่เรียงลำดับว่าประเด็นตรงไหนสำคัญก่อน หลัง แต่ข้อมูลและมุมมองที่ได้นี้ จะแตกต่างไปจากมุมที่ได้จากนักวิชาการทางทีวีอย่างแน่นอน วินาทีนี้คงไม่มีคำถามที่ใครอยากรู้มากเท่ารัฐบาลบริหารจัดการน้ำที่ท่วมมีประสิทธิภาพนั้นเป็นอย่างไร "คนที่มาดูแลเรื่องน้ำท่วมต้องมีความรู้ ไม่ใช่เอาใครมาบริหารก็ได้ ในต่างประเทศถือมาก คนมาบริหารวิกฤติธรรมชาติต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ บ้านเราตอนนี้นักวิชาการเยอะ บางท่านรู้จริง บางท่านอยากแสดงตัว ออกทีวี ออกวิทยุ มาวิพากษ์วิจารณ์ ฟังไม่รู้เรื่อง คนจะสับสนว่าน้ำจะท่วมบ้าง ไม่ท่วมบ้าง" ดร.สมิทธเปิดฉากให้ความเห็น แล้วยังบอกอีกว่า นักวิชาการที่มาแสดงความเห็น ส่วนใหญ่ไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมน้ำท่วม หรือไม่ท่วมเพราะอะไร ไม่ใช่ว่าเพราะเขื่อนไม่แตก น้ำก็เลยไม่ท่วม น้ำไม่ท่วมเพราะน้ำไม่มา ถ้าไม่มีน้ำก็ไม่ท่วม ต้องบอกกับประชาชนให้ชัดเจนท่วมหรือไม่ท่วม ถ้าท่วมมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างไรบ้าง พร้อมกับเน้นเรื่องปัญหาการเตือนภัย ดร.สมิทธให้ความเห็นว่า รัฐบาลต้องมีการเตือนภัย เตือนข้อมูลให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ไม่ใช่น้ำท่วมคอ หรือน้ำท่วมเอวแล้วค่อยมาเตือนอพยพ บอกไม่ทัน ใครจะมีเวลายกตู้เย็นไว้ชั้นบน ต้องบอกล่วงหน้าให้ได้เป็นวัน ถ้าไม่ได้เป็นวันต้องเป็นชั่วโมง หลายชั่วโมง และต้องบอกซ้ำเติมบ่อยๆ ไม่ใช่บอกเช้า กลางวัน เย็น ไม่ได้ ภัยธรรมชาติระหว่างเช้ากับกลางวันมันห่าง 4-6 ชั่วโมง "ในต่างประเทศบอกล่วงหน้าเป็นวัน และถ้าเกิดภัยธรรม ชาติจะบอกต่อเนื่องเป็นทุกชั่วโมง ทุก 15 นาที พื้นที่ไหนเสี่ยง มากๆ บังคับให้อพยพเลย ใช้มาตรการบังคับ กฎหมายบังคับเลย ประเทศจีนอพยพคนเป็นแสนๆ คนก่อนภัยธรรมชาติเข้ามา ต้องทำแบบนั้น รักษาชีวิตประชากรได้" ดร.สมิทธกล่าว ปัญหาการอพยพเป็นอีกเรื่องที่ ดร.สมิทธให้ความเห็นว่า หากไม่มีมาตรการเด็ดขาด ไม่มีเครื่องมืออพยพ ไม่มีแผนงานในการอพยพ ความสูญเสียก็จะมีมาก และการอพยพประชากรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ต้องเตรียมสถานที่อพยพให้แน่นอนก่อน เตรียมไว้ก่อน ต้องมีพื้นที่ปลอดภัย กว้างขวางพอมีบรรยากาศถ่ายเทได้ ไม่ทำให้เกิดโรคติดต่อ หากมีคนไปอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก มีบริการสาธารณูปโภค มีส้วม น้ำดื่ม น้ำใช้ อาหารการกิน มีโรงครัวเตรียมพร้อมไว้ และนับจำนวนผู้อพยพให้พอเพียง ไม่ใช่แน่นเอี้ยดจนไม่มีที่นอน ห้องน้ำไม่พอ อาหารไม่พอ ต้องเตรียมการล่วงหน้า และพื้นที่ที่จะอพยพไปถึงต้องอยู่ถาวรได้ อย่างอพยพไปศูนย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต แต่ต้องย้ายอีกแล้ว ไปศูนย์ราชมังคลากีฬาสถาน ที่หัวหมาก ตรงนั้นคงท่วมทีหลัง "การอพยพคนไปที่แห่งหนึ่ง แล้วไปย้ายอีกแห่ง ทำให้เขาสะบักสะบอม ทั้งคนป่วย คนชรา ลูกเล็กเด็กแดง เกิดสภาพอารมณ์ทางจิตใจ ทางความคิด ทำให้คนเจ็บป่วยมากขึ้น ฉะนั้น ทำอะไรทั้งทีต้องชัดเจน ถูกหลักอนามัยขององค์การอนามัยโลกที่บัญญัติไว้ กระทรวงสาธารณสุขต้องมาดูวิธีการอพยพคนเจ็บคนป่วยจะทำอย่างไร ย้ายไปแล้วมีผลกระทบร่างกายแค่ไหน ต้องมีหมอ พยาบาล เตรียมพร้อมแต่ต้น รถพยาบาล รถขนส่งผู้ป่วย ถ้าไม่เตรียมพร้อม ไม่วางแผนล่วงหน้า ผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจะเสียหายรุนแรงมาก" ดร.สมิทธให้ความเห็น พร้อมกับสรุปว่า ผลกระทบนี้ต้องร่วมมือกันระหว่างฝ่ายมหาดไทย ฝ่ายสาธารณสุข ผู้บริหาร การขนส่ง กระทรวงคมนาคม ต้องร่วมมือกัน ต้องเป็นนโยบายระดับชาติ ไม่ใช่สั่งทีละคน สั่งทีละเจ้า สั่งทีละแห่ง ความต่อเนื่องไม่มีในการช่วยเหลือ ย้ายแล้วส่งอาหารไม่ได้ ไม่มีครัว ไม่มีอาหารกิน ก็เดือดร้อน อยู่กันเยอะๆ พอดีว่าการสัมภาษณ์ทำกันล่วงหน้าในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 เนื่องจากตอนนี้ทุกคนไม่ว่าจะมีหน้าที่ บทบาทอะไร ต่างยังไม่รู้อนาคตตนเองว่าจะสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ถึงเมื่อไหร่ ดังนั้น การทำงานจึงต้องวางแผนล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม แต่จนถึงวันที่ 28 ตุลาคม ถ้าใครติดตามเกาะติดเรื่องน้ำท่วมทางทีวีตลอดเวลา ก็จะเห็นได้ว่า การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ "ยังไม่นิ่ง" นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันตลอด เช่น จะพังถนนบางเส้นเพื่อระบายน้ำก้อนใหญ่นั้น ถูกหรือไม่ถูกต้อง ซึ่งความเห็นที่ไม่ตรงกันนี้ แน่นอนว่า คนที่ฟังก็คือประชาชนทั่วไปคงจะสับสนไม่น้อย แล้วจะเชื่อใครดี!!! "ถูกคนละนิด ผิดคนละนิด" ดร.สมิทธในฐานะนักวิชาการอาวุโสที่สุดให้ความเห็น บอกอีกว่า การที่มีหลายความเห็นของนักวิชาการไม่ตรงกัน เพราะข้อมูลที่นำมาใช้ไม่ใช่ข้อมูลเดียวกัน ขนาดปริมาณน้ำยังไม่ใช่ข้อมูลเดียวกัน ปริมาณน้ำในเขื่อนกับปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนยังไม่เป็นข้อมูลเดียวกัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตปล่อยน้ำออกมา กรมชลประทานยังไม่เห็นด้วย ปล่อยปริมาณน้ำปล่อยมาเท่านั้นหรือเปล่า บางคนบอกเป็นล้าน ลบ.ม. บางคนบอกเป็นพันล้าน ลบ.ม. บางคนบอกเป็นหมื่นล้าน ลบ.ม. ข้อมูลไม่นิ่ง ยังไม่มีข้อมูลส่วนกลาง ซึ่งทุกหน่วยงานต้องใช้รวมกัน รวมทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาด้วย และยังบอกอีกว่า ที่กรมอุตุนิยมวิทยามีข้อมูลที่ดี เพราะทำโดยนักวิชาการมือดีด้านอุทกภัย 3-4 คน ที่จบปริญญาเอกทางด้านนี้โดยเฉพาะ แต่พวกนักวิชาการที่ออกทีวี ไม่ได้นำข้อมูลนี้ไปใช้ และคนที่ออกมาพูดก็ไม่ได้เรียนจบด้านอุทกภัยโดยตรง พูดไปแล้วบางครั้งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง "นักวิชาการหลายคนที่ออกมาพูดไม่ได้ใช้ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยามาวิเคราะห์เลย แล้วก็มาวิจารณ์ทั้งที่ไม่ได้จบด้านนี้เลย บอกแค่ว่าน้ำท่วมเพราะฝนมาเยอะ ปีนั้นมา 5 ลูก ปีนี้มาลูกเดียว มันไม่ใช่หรอกครับ เป็นการเกิดภัยธรรมชาติตามเหตุการณ์ ตามสภาวะโลกร้อน เป็นลานีญา ต้องดูถึงสภาวะโลกร้อนด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ ฝนตกมาก พายุเข้ามาก จริงๆ พายุเข้า 1-2 ลูกเท่านั้นเอง แต่มันมีปรากฏการณ์อื่นเข้ามาเสริม ทำให้มีน้ำมาก พวกนี้ไม่ได้เอาข้อมูลนี้มาใช้แล้วมาพูด คนฟังก็เกิดความตกอกตกใจ ไม่แน่ใจใครพูดถูก คนนี้เป็นดอกเตอร์ คนนี้ไม่ได้เป็นดอกเตอร์ ไม่ได้มีความรู้ด้านนี้ แต่ก็เอามาพูดมาบรรยาย เป็นเพราะอย่างนี้ๆ" ดร.สมิทธกล่าว เมื่อถามว่าคนไหนพูดถูก คนไหนพูดผิด ดร.สมิทธยืนยันว่า พูดไม่ได้เดี๋ยวทะเลาะกัน เพราะรู้จักหมดทุกคน ลักษณะนักวิชาการบางคนทำงานด้วยระบบความรู้จริง ๆ บางคนอยากดัง อยากออกทีวีทุกวัน แต่ก็พูดผิด พูดถูก องค์กรสถาบันอื่นๆ จะทำเขื่อนสองชั้นสามชั้นลดน้ำ ผมฟังแล้ว ไม่อยากยุ่งเลย บางครั้งต้องปิดทีวี เพราะผมเครียด ฟังนักวิชาการพวกนี้พูด ไม่ได้ดูถูก แต่ถ้าไม่รู้จริงอย่าพูด พูดแล้วประชาชนเครียด ปัญหานักวิชาการที่ไม่สามารถไปรวมศูนย์ระดมสมอง เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลแก้ปัญหามหาอุทกภัยครั้งนี้ มันมีสาเหตุจากอะไร ดร.สมิทธบอกว่า เวลานี้มีนักวิชาการหลายกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยู่กับรัฐบาล กลุ่มหนึ่งอยู่กับ กทม. กลุ่มหนึ่งอยู่กับองค์กรอิสระ แต่ละกลุ่มพูดไม่เหมือนกัน ใครสังกัดกลุ่มไหนเชียร์กลุ่มนั้น ใครสังกัดรัฐบาลก็เชียร์รัฐบาล บอกรัฐบาลไม่ได้ปล่อยน้ำมามาก เพราะฉะนั้น น้ำจะไม่มีผลกระทบต่อประชาชนชั้นในมาก ส่วนกทม.ก็บอก กทม.สามารถป้องกันน้ำในเขต กทม. ปริมณฑลได้ ด้านกลุ่มนักวิชาการอิสระ อย่าง รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ก็มาวิเคราะห์วิจัยทางวิชาการ ท่วมเท่านั้นเท่านี้ 50 เซนติเมตร ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ก็มีความรู้ทางด้านอุทกวิทยา ศึกษาอุทกวิทยา ศึกษาภาพดาวเทียมประกอบกัน ก็วิเคราะห์วิจารณ์ออกมา ทำไมพวกนี้รวมตัวทำงานไม่ได้ หรือรวมตัวแล้วจะทะเลาะกัน ดร.สมิทธยิ้ มๆ บอกว่า พวกนี้ถ้าเอามารวมหัวกัน ไม่ทะเลาะกันแน่ แต่รัฐบาลต้องจับมารวมกันให้ได้ แล้วใช้ประโยชน์ แต่รัฐบาลไม่ได้ทำ สามกลุ่มมารวมกัน ให้ทำอยู่ด้วยกัน มาเถียงกันก่อนลงความเห็นและทำออกมา เมื่อย้อนไปถึงเรื่อง "น้ำก้อนใหญ่" ก่อนถล่มภาคกลาง มีสัญญาณหรือไม่ ดร.สมิทธระบุว่า ถ้ามีคนศึกษาเอาข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยามา การพยากรณ์ระยะไกล เหมือนอย่างที่สหรัฐทำ ที่เรียกว่า Long Range Forecast และที่เขาทำมาตลอดคือ ทั้งที่อเมริกา มีศูนย์ที่ฮาวาย ญี่ปุ่น จีนมีกรมอุตุฯ ประเทศไทยก็มีการทำนาย เรื่องนี้ แต่ข้อมูลไม่มีใครเอาไปใช้ หรือเอาไปใช้ ถ้าไม่มีการอธิบายรายละเอียด คนเอาไปใช้ก็เอาไปใช้ไม่เป็น พอส่งให้กรมชลประทาน ส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ไม่เชื่อถือ คือ ถ้าข้อมูลนี้นำไปใช้ รู้เลยว่าปริมาณฝนที่ตกในฤดูนี้จะมากกว่าปกติ ช่วงไหน ช่วงต้นฤดูฝนมีเท่าไหร่ กลางฤดูฝนมีเท่าไหร่ ปลายฤดูฝนมีเท่าไหร่ พายุจะเข้าต้น-กลาง-ปลายฤดูฝน พายุเข้ากี่ลูก เพราะฉะนั้น ผู้บริหารน้ำต้องรู้ว่า ปริมาณฝนที่จะตกต้นฤดูฝนจะเก็บน้ำในเขื่อนเท่าไหร่ ไม่ใช่ตกปุ๊บเก็บปั๊บ น้ำล้นเลย พอกลางฤดูฝนน้ำเต็มเขื่อนแล้ว พอปลายฤดูฝน ฝนตกมาไม่รู้จะทำยังไง ตกใจ ปล่อยน้ำไหลออกมา แล้วก็ปล่อยแบบไม่มีขั้นตอนการปล่อย อยากปล่อยก็ปล่อย ปล่อยพรวดเดียว 3 เขื่อนพร้อมๆ กัน "ขนาดปล่อยเขื่อนเดียวก็ตายแล้ว เขื่อนภูมิพลปล่อยทีเดียว 100 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน แค่เขื่อนเดียว เราระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มภาคกลาง จากแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ระบายออก 500 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ปล่อยมาอย่างนี้มันก็ท่วมระบายออกไม่ทัน ยังมีเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนลำตะคอง พวกนี้ไม่มีติดต่อประสานงานกันเลย จะปล่อยแล้วนะ คุณรับได้มั้ย ก็เก็บไว้ก่อนก็ได้" ดร.สมิทธเล่าว่า ตนเคยคุยกับคุณปราโมทย์ ไม้กลัด ว่า การปล่อยน้ำแล้วน้ำท่วมแบบนี้ ควรต้องมีคนรับผิดชอบ ต้องมีการสอบสวน ถือว่าเป็นการทำลายเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าปล่อยน้ำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้อภัยไม่ได้ แต่ปล่อยโดยหวังทำลายการบริหารรัฐบาล หรือพรรคใดพรรคหนึ่ง ผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง มันผิดมหันต์ "ไม่มีเจตนาแอบแฝงได้ไง ปล่อยไม่หยุด ปล่อยยาว ไปดูบันทึกของกรมชลประทาน หรือ กฟผ. ไม่เคยปล่อยน้อยลง มาน้อยลงตอนหลัง ตอนฝนหยุดตกแล้ว อ้างฝนตกเข้าเขื่อนมากต้องปล่อยมาก เขื่อนทำไว้ระบายน้ำโดยอัตโนมัติ ถ้าน้ำขึ้นมากๆ ไม่ให้ล้นสันเขื่อน มีสปริงเวย์ให้น้ำระบายออกสันเขื่อนอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวเขื่อนรับน้ำไม่ได้ คนไม่รู้กลัวเขื่อนแตก แต่ไม่มีเขื่อนที่ไหนในโลกแตกเพราะน้ำท่วมเลย ไม่มี สร้างมาแข็งแรงมาก เขื่อนใหญ่ๆ ไม่มีแตกเพราะน้ำล้นเขื่อน มีแต่เขื่อนเล็กๆ ทำด้วยดินอัด หินอัดน้ำล้น แต่เขื่อนภูมิพลคอนกรีตไม่มีทาง มีความปลอดภัย" เมื่อถามว่า นอกจากสอบสวนกรมชลฯ ประชาชนฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ไหม ดร.สมิทธเล่าว่า มีราษฎรหลายรายโทร.มาหา และถามว่าจะฟ้องร้องรัฐบาลได้ไหม ข้อหาทำให้เกิดความเสียหาย และบอกว่าพวกทำเกษตรกรรมน้ำท่วมนาเป็นพันไร่จะรวมตัวกันฟ้อง ส่วนพวกทำนิคมอุตสาหกรรมก็บอกจะฟ้อง "ผมก็บอกไปว่า ต้องมีเหตุผลในการฟ้อง ต้องมีถ่ายภาพบันทึกความเสียหาย น้ำท่วมยอดข้าว ท่วมหมด ข้าวหายใจไม่ได้ก็ตาย ถ้าปล่อยมาให้ถูกระดับข้าวก็โตได้ ยอดข้าวก็หนีน้ำได้ ออกข้าวออกรวง แต่นี่ไม่ได้ศึกษา อยากปล่อยก็ปล่อย ที่ผมโกรธมาก ปล่อยพร้อมกันได้ยังไง 3-4 เขื่อน ปริมาณน้ำมหาศาลต่อวัน แล้วโทษพนังกั้นน้ำ เอะอะโทษธรรมชาติ เอาความผิดโทษธรรมชาติไว้ก่อน ตัวเองจะได้ไม่มีความผิด" ดร.สมิทธวิพากษ์ถึงวิธีการของภาครัฐในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกว่า อย่างให้น้ำผ่าน กทม. เถียงกันอยู่นั่น ป่านนี้ก็ยังเถียงอยู่ ใครจะปล่อยน้ำ เก็บน้ำยังไง คนที่ปล่อยทีแรกนึกว่า กทม.เป็นผู้บริหารประตูน้ำ ไปๆ มาๆ เป็นกรมชลประทานอีกแล้ว ตอนนี้เลยไม่รู้ใคร รองอธิบดีกรมชลฯ ถือกุญแจ การปล่อยน้ำกับการระบายน้ำต้องประสานกัน มีวิทยุติดต่อกัน ต้องบริหารจัดการน้ำให้คงที่ขณะที่ปล่อยน้ำมา การสูบออกต้องประสานกัน ประสิทธิภาพการระบายน้ำ กทม.มีอยู่สูงสุดระบายได้เท่าไหร่ น้ำที่เป็นปัญหา ประตูน้ำแถวปทุมธานี ถ้าปล่อยให้ลงมา แล้วระบายออกคลองสำโรงพวกนี้มีเครื่องสูบน้ำใหญ่ๆ สูบออกได้ แต่ต้องปล่อยให้ปริ่มๆ อย่าปล่อยมากเดี๋ยวท่วม ค่อยๆ ระบาย แต่ตอนนี้ตกลงกรมชลประทานจะผันน้ำให้อยู่ทางทิศตะวันออก ออกแม่น้ำบางปะกง ทัน แต่มันยาว อีกอันลงแม่น้ำท่าจีน มันยาว จะแห้งช้า ไหนๆ น้ำก็ท่วมแล้ว การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคงไม่มีใครฝากความหวังอะไรมากนัก เพราะตอนนี้ทุกคนคงอยากให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ จะได้ผ่านไปให้เร็วที่สุด แต่อนาคตนี่สิ มีข้อแนะนำหรือไม่ ดร.สมิทธแนะนำว่า ต้องทำวิธีการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฝนตกเท่าไหร่ให้ออกซัก 80% ของปริมาณฝนที่ตก ก็ไม่มีน้ำท่วม แต่ต้องเก็บน้ำไว้นะ ไม่ใช่ปล่อยหมด เดี๋ยวหน้าแล้งคราวนี้ปล่อยหมด ตายเลย ไม่มีข้าวจะกินแล้ว นาแล้งจะทำนาปรัง ไม่มีน้ำทำนา ไปซื้อข้าวเวียดนามกิน ไม่มีข้าว ไม่มีน้ำไล่น้ำทะเล หน้าแล้งน้ำทะเลหนุนตามแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดเข้าไปในคลองประปา ไม่มีน้ำประปากิน ถ้าไม่มีน้ำเขื่อนภูมิพล-เขื่อน สิริกิติ์มาไล่น้ำเค็ม น้ำจะขึ้นแถวนนทบุรี สวนทุเรียนนับพันๆ ไร่เสียหาย ก้านยาวลูกละ 2-3 พัน ต้องคิดหลายอย่าง ถ้านักวิชาการมารวมหัวกัน นี่กำลังจะทำ กลัวเขาเรียก หัวแข็งก่อการปฏิวัติ ภาคเอกชนโทร.มาให้นักวิชาการรวมตัวกัน คงต้องรอน้ำลด และนับจากนี้ไป BOI ต้องดูพื้นที่ตั้งนิคมที่เหมาะสม และมีระบบป้องกันตัวเอง มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วม สร้างนิคมแล้วใกล้การขนส่งสินค้าทั้งเข้า-ออก ใกล้ท่าเรือ พื้นที่ก่อสร้างมีสาธารณูปโภคพอเพียงหรือไม่ มีที่อยู่คนงาน อย่างสนามบินสุวรรณภูมิ 2.2 หมื่นไร่ ต้องสร้างเขื่อนสูงและมีระบบระบายน้ำ เครื่องดูดน้ำจากรันเวย์สนามบินได้ทัน มีสันเขื่อนและปลูกต้นไม้บนสันเขื่อนให้รากยึดดินไม่ให้พัง ฉะนั้นสนามบินสุวรรณภูมิปลอดภัย "สนามบินไม่ควรสร้างตรงนี้ เพราะปิดกั้นทางระบายน้ำ แต่ก่อนเป็นหนองงูเห่า เป็นแก้มลิงโดยธรรมชาติ ในหลวงเคยรับสั่ง 'ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมสร้างสนามบินในนี้' เป็นที่เก็บน้ำ เป็นแก้มลิงธรรมชาติ น้ำ กทม.ระบายมาที่นี่ หน้าแล้งมาทำนา แล้วระบายออก พอปิด 2 หมื่นกว่าไร่ น้ำก็ท่วม" เมื่อพูดถึงแก้มลิงรับน้ำ ดร.สมิทธเสนอรัฐบาลว่า บึงบอระเพ็ดควรจะเป็นพื้นที่รับน้ำที่ดี เพราะพื้นที่ใหญ่กว่าสนามบินสุวรรณภูมิ สามารถทำแก้มลิงเก็บน้ำไม่ให้ไหลลงมาท่วมที่ กทม.ได้ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ เพราะบึงนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแล แล้วก็เป็นที่เพาะพันธุ์ปลา กรมประมงก็เกี่ยวข้องด้วย ทั้งที่จริงแล้ว กระทรวงเกษตรต้องการขุดลอกบึงเก็บน้ำ แต่กรมชลประทานต้องการใช้เป็นแก้มลิง เพราะสามารถเก็บน้ำได้ล้านล้าน ลบ.ม. น้ำไหลจากชัยนาท ลพบุรี เก็บที่บึงได้ เวลานี้หน้าแล้งตื้นเขิน รถขนดินลงวิ่งได้ แต่ทำไม่ได้ ต้องเป็นนโยบายแห่งชาติ มานั่งคุยกัน ที่ว่าท่วม 1 เดือนจริงหรือไม่ "ตอนนี้น้ำตั้งแต่นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท อยุธยา 12,000 ล้าน ลบ.ม. คุณลองเอา 500 ที่เป็นอัตราการระบายน้ำที่เราจะทำได้มาหารดูซิว่ากี่วัน คำตอบที่ได้คือ 24 วัน" สุดท้าย นักวิชาการด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติสรุปว่า ปัญหาน้ำท่วมประเทศไทยครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ที่ภัยธรรมชาติ!!! "ผมว่าภัยธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดคือ นักการเมือง เป็นบาปจริงๆ นะคนไทย ชาติก่อนอาจจะทำบาปไว้"!!!! "การปล่อยน้ำแล้วน้ำท่วมแบบนี้ ควรต้องมีคนรับผิดชอบ ต้องมีการสอบสวน ถือว่าเป็นการทำลายเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าปล่อยน้ำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้อภัยไม่ได้ แต่ปล่อยโดยหวังทำลายการบริหารรัฐบาล หรือพรรคใดพรรคหนึ่งผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง มันผิดมหันต์" | |
http://redusala.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)