นายกรัฐมนตรี เสนอตั้ง “สภาปฏิรูปประเทศ”
ในหลายเวทีมีการเสนอให้จัดตั้งองค์กรที่จะมาดำเนินการปฎิรูปประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วไม่เป็นการขัดหรือแย้งและสามารถที่จะทำคู่ขนานกับกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.57 ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้เป็นที่แน่ชัดแล้ว ซึ่งดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องช่วยกันพัฒนากลไกที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เกิดขึ้นนั้น ในโอกาสนี้ดิฉันขอเสนอรูปแบบ องค์กรที่จะจัดตั้งขึ้น โดยอาจจะเรียกว่าเป็น "สภาปฏิรูปประเทศ" ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าใครจะมาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ จึงขอเรียนยืนยันว่า สภาปฏิรูปประเทศนี้จะไม่ใช่เวทีของรัฐบาล ซึ่งถ้าทุกฝ่ายเห็นร่วมกันรัฐบาลจะเป็นเพียงผู้ที่จะจัดตั้ง โดยใช้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ให้รับทราบเพื่อให้เรื่องนี้ดำเนินการได้ทันที
ทั้งนี้ สภาปฏิรูปประเทศ จะเป็นสภาของประชาชนอย่างแท้จริง โดยการสรรหาสมาชิกสภาปฎิรูปประเทศ โดยเริ่มจากหาตัวแทนจากสาขาอาชีพต่างจำนวน 2,000 คน และให้ตัวแทนอาชีพ 2,000 คนดังกล่าวมาเลือกผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศจำนวน 499 คน
โดยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสมัคร การคัดเลือก และการแต่งตั้งตัวแทนวิชาชีพ จะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบดังนี้
- 1.ผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรือผู้แทนซึ่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศ
- 2.หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ซึ่งที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงเลือกจำนวน 2 คน เพื่อเป็นกรรมการ
- 3. เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ
- 4. อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือก 1 คน เป็นกรรมการ
- 5.ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหรือผู้แทนเป็นกรรมการ
- 6.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือผู้แทนเป็นกรรมการ 7.ประธานสมาคมธนาคารไทยหรือผู้แทนเป็นกรรมการ
- 8.ประธานและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน ซึ่งมีคณะกรรมการชุดนี้มีรวมกันทั้งสิ้น 11 คน
สำหรับหน้าที่ของสภาปฎิรูปประเทศ คือ
- 1.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
- 2.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารภาครัฐ
- 3.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการจัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือการยกเลิกกฏหมาย กฏข้อบังคับ เพื่อให้การเลือกตั้งทุกระดับเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม
- 4. ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ 5.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ การปรับปรุงการกระจายอำนาจการสร้างความรุ้ความเข้าใจกฏหมายให้แกชุมชน การเตรียมความพร้อมให้แก่ท้องถิ่น การปรับปรุงระบบและวิธีการงบประมาณ การบริหารบุคคลภาครัฐ
ทั้งนี้เมื่อสภาปฏิรูปประเทศได้ดำเนินการในข้อใดเสร็จเรียบร้อยให้ทำรายงานเสนอนายกรัฐมนตรีและเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพื่อให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องได้นำไปดำเนินงานตามเจตนารมณ์ ส่วนกรอบเวลาดำเนินการขึ้นกับสภาปฏิรูปประเทศเป็นผู้กำหนดให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
สำหรับผู้ห่วงกรณีที่ความต่อเนื่องในการเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ.57 จะมีการกำหนดว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีเข้ามาบริหารแผ่นดิน ให้เลขาครม.เสนอนายกฯและครม. เพื่อพิจารณาให้ปฏิบัติงานตามคำสั่งนี้อย่างต่อเนื่อง ตามเจตนารมณ์ของทุกฝ่าย ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นรูปแบบเพื่อให้เกิดการปรึกษาหารือจากทุกฝ่าย ซึ่งรัฐบาลจะรวบรวมนำความคิดเห็นต่างๆนั้นมาแก้ไขและออกเป้นคำสั่ง หากมีข้อคิดเห็นต่างๆที่ลงตัวก็จะประกาศได้ก่อนสิ้นปีนี้
ขอให้ตระหนักในการปฏิรูปประเทศ ที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยและเป็นหน้าที่ของทุกคน เพื่อสังคมที่สงบ ปรองดอง ความรัก สามัคคี และเพื่ออนาคตของลูกหลานเราต่อไป