วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

เผยชีวิต ชายชุดดำ


ภาพที่ประชาธิปัตย์นำมาเผยแพร่บ่อยๆว่าชายชุดดำเป็นพวกเดียวกับเสื้อแดง

ภาพที่ศอฉ.นำมาเป็นหลักฐานจับกุมขังคุกชายชุดดำนานหลายเดือน


ชุดดำ? - นายมานพ ชาญช่างทอง ที่ถูกกล่าวหาเป็นชายชุดดำก่อการร้าย ในเหตุการณ์เสื้อแดง ชุมนุมเดือนพ.ค.2553 ปัจจุบันยังคงขับซาเล้งเก็บของเก่าขาย และอาศัยอยู่บ้านเพิงไม้ ย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี 

ที่มา ข่าวสด

เมื่อ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" เดินทางไปพบนายมานพ ชาญช่างทอง คนเก็บของเก่าขาย ซึ่งเป็นบุคคลในภาพที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าเป็นชายชุดดำ โดยพบว่านายมานพพักอาศัยอยู่ที่บ้านใน อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี กับภรรยาและลูกๆ รวม 4 คน ภายในบ้านโทรมๆ ที่ปลูกขึ้นเอง ด้วยไม้เก่าแผ่นป้ายโฆษณา มาทำเป็นฝาบ้าน และสังกะสีเก่าๆ ที่เก็บได้มามุงหลังคา นอกจากนี้ ยังเลี้ยงเป็ดและปลูกผักไว้กินเอง และชาวบ้านใกล้เคียงส่วนใหญ่สงสารครอบครัวนายมานพ มักจะนำอาหารและขนมมาให้เป็นประจำ

นายมานพกล่าวว่าไปร่วมชุมนุมกับนปช. ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.2553 เนื่องจากเห็นว่าประชาชนถูกกลุ่มอำมาตย์ปล้นประชาธิปไตยไป จึงต้องการไปทวงคืนกลับมา ทำหน้าที่เป็นการ์ดอาสาช่วยดูแลความปลอดภัยให้พี่น้องเสื้อแดงที่มาชุมนุม เข้าเวรยามช่วงเที่ยงคืนถึงเช้า อีกทั้งทุกๆ วัน จะมีหน้าที่ซื้อหนังสือพิมพ์ให้แกนนำ เวลาที่เหลือก็จะเดินเก็บขวดน้ำ กระป๋องน้ำอัดลมในพื้นที่ชุมนุม เพื่อนำไปขายหารายได้ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 สถานการณ์ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศเริ่มตึงเครียด มีเฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิว และโยนแก๊สน้ำตาลงมา พอช่วงเย็นก็เริ่มมีเสียงปืนดังขึ้น


ซาเล้งเก็บของเก่ากล่าวต่อว่า ขณะนั้นทราบมาว่ามีกำลังทหารนำรถถังและรถหุ้มเกราะมาปิดล้อมพื้นที่ด้านโรงเรียนสตรีวิทยา และแยกคอกวัว แกนนำประกาศบนเวทีขอกำลัง 5,000 คน ไปช่วยผู้ชุมนุมที่คอกวัว จึงเดินทางไปช่วย และใช้เวลาเดินทางนานมาก เนื่องจากทหารปิดถนนหลายสาย ไปถึงเที่ยงคืนกว่า และเสียงปืนก็เงียบลง เห็นกลุ่มทหารกว่า 30 นาย พร้อมอาวุธปืน ตกอยู่ในวงล้อมของผู้ชุมนุมที่บริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา เห็นท่าไม่ดีจึงประสานกับทางแกนนำว่าจะเอาอย่างไรกับทหารกลุ่มนี้ หากปล่อยไว้คงจะอันตราย

นายมานพกล่าวว่า จากนั้นก็เข้าไปพูดกับนายทหารผู้คุมกำลัง เพื่อขอปลดอาวุธทั้งหมด และจะพาออกไปอย่างปลอดภัย ทหารก็ยอม จึงเข้าไปปลดอาวุธ เป็นปืนทาโวร์ 4 กระบอก และเอ็ม 16 ก่อนจะนำปืนไปมอบให้แกนนำที่เวทีผ่านฟ้าฯ ระหว่างที่นําปืนออกมาก็มีช่างภาพหลายคนเข้ามาถ่ายรูป ขณะลำเลียงปืนไปที่เวที จนกระทั่งถูกกล่าวหาเป็นชายชุดดำ และจำเลยคดีก่อการร้าย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะถือปืนหลายกระบอกมายิงกับทหาร และก็ยิงปืนไม่เป็น ไม่เคยเป็นทหาร จึงขอความเป็นธรรมด้วย

"ในวันเกิดเหตุ ผมใส่เสื้อดำ และสวมไอ้โม่งดำจริง เพราะเห็นคนอื่นใส่เท่ดี จึงใส่บ้างไม่ได้คิดร้ายอะไร และที่ใส่ถุงมือก็เพื่อไว้จับกระป๋องแก๊สน้ำตาที่ทหารโยนใส่ผู้ชุมนุมเท่านั้น อีกทั้งไอ้โม่งดำคลุมหัว ก็เพราะเป็นคนหัวล้าน หากรู้มาก่อนว่าใส่ไม่ได้ก็คงไม่ทำ" นายมานพ กล่าว

นายมานพกล่าวอีกว่า ส่วนวันที่ 19 พ.ค.2553 สถานการณ์ตึงเครียดทั้งวัน หลังแกนนำประกาศบนเวทียุติการชุมนุม และให้ผู้ชุมนุมไปหลบภายในวัดปทุมฯ ตนก็เข้าไปหลบอยู่ด้านในวัด ไม่ได้ออกมา แต่ได้ยินแต่เสียงปืนดังอยู่ด้านนอก และในวัดขณะนั้นก็มีคนถูกยิงบาดเจ็บและตายหลายสิบราย จนกระทั่งเช้าวันที่ 20 พ.ค.2553 ตำรวจนำกำลังเข้ามาช่วยพาตัวผู้ชุมนุมทั้งหมดออกจากวัดและพากลับบ้าน จากนั้นก็กลับที่พักย่านบางบัวทอง ไม่ได้หนีไปไหน และยังคงขับซาเล้งเก็บขวดกระดาษเหมือนเดิม

"หลังจากอยู่บ้านได้ 2 เดือน ก็มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอกว่า 30 คน นำหมายจับคดีก่อการร้าย มาบุกจับผมถึงบ้าน นำตัวมาแถลงข่าว โดยจับตามภาพถ่ายขณะที่ผมสวมไอ้โม่ง และสะพายปืน ถูกข้อหาบุกโรงแรมเอสซีปาร์ค ทั้งๆ ที่ไปโรงแรมยังไม่ถูกเลย ผมพยายามอธิบายแต่ก็ไม่มีใครเชื่อ ลองคิดดูหากเป็นชายชุดดำ หรือผู้ก่อการร้ายจริง ผมจะมานั่งเก็บขยะอยู่แบบนี้หรือ หลังถูกจับก็ต้องอยู่ในคุกนานหลายเดือน จนกระทั่งมีผู้ใหญ่นำเงิน 600,000 บาท มาช่วยประกันตัวออกมา ทุกวันนี้ผมก็ยังเก็บขยะขาย รายได้เฉลี่ย 2-3 วัน ประมาณ 300 บาท" นายมานพกล่าว 


รัฐบาลอยู่ยาว ประชาธิปไตยไปทางไหน


           มองให้ทะลุกระแสโจมตีรัฐบาลรายวัน ทั้งที่มีเหตุผล และไม่มีสติ เบื้องหลังก็คือรัฐบาลกำลังจะอยู่ยาว ทำให้ฝ่ายค้านฝ่ายแค้นมีอาการคลุ้มคลั่ง สิ้นหวัง

            การโจมตีที่มีเหตุผล (แต่กระพือจนใหญ่โต) ก็เช่น “White Lie” หรือนโยบายจำนำข้าว มีเหตุผลเพราะมีปัญหาจริง แต่ยังไม่ใช่ประเด็นที่จะล้มรัฐบาลได้

           การโจมตีที่ไร้สติก็เช่น แค่ทดสอบระบายน้ำ สื่อ สลิ่ม แมลงสาบ คุณชาย วี้ดว้ายกระตู้วู้ ทำเป็นวิตกอกสั่น อ้างคนกรุงหวั่นผวา ล่องเรือหาตะเข็บ ถามว่าถ้าพ้นวันที่ 7 ไม่มีอะไรในกอไผ่ จะเอาน้ำลายยัดปากตัวเองไหม

           พูดอย่างนี้เดี๋ยวหาว่าผมเข้าข้างรัฐบาลตะพึดตะพือ ความจริงก็เข้าข้าง ฮิฮิ แต่ถ้าเรามองเชิงยุทธวิธีทางการเมือง การโถมสุดตัวไปปั่นกระแสในเรื่องแค่นี้ มันไม่คุ้มนะครับ สำหรับพรรคเก่าแก่ 60 กว่าปี

           คือคุณอยู่เฉยๆ แค่แสดงความเห็นแต่พองาม ถ้ารัฐบาลทดสอบแล้วผิดพลาด น้ำท่วมฉิบหาย รัฐบาลก็เจ๊งเองแหละ ค่อยกระทืบซ้ำยังไม่สาย ถ้าเขาทดสอบแล้วผ่านไปด้วยดี ได้ผล คุณก็เสมอตัว ไม่เสียอะไร ทำไมต้องออกมาตีปี๊บ ทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ เปรียบเหมือนแทงหวย ถ้ารัฐบาลเจ๊งก็ถูกหวย แต่ถ้าเขาทดสอบได้ผลดี ไม่กลัวหน้าแหกหรือ

           อาการฟาดงวงฟาดงาของฝ่ายแค้นและสื่อยังระบายออกที่การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งแน่นอนว่ามีปัญหาความชอบธรรม มีการผลักดันคนของฝ่ายการเมืองอย่างไม่เหมาะสมในหลายตำแหน่ง แต่พวกเขาจ้องเล่นเฉพาะจุดที่เอามาขยายผลได้ เช่น เล่นเรื่องความขัดแย้งระหว่าง รมว.กลาโหม กับปลัดกลาโหม ทั้งที่รู้ว่า “แตงโม” ด้วยกัน แต่สื่อและฝ่ายค้านไม่พูดถึงอดีต (ไม่ใช่ไม่ทำการบ้าน แต่จงใจ) ไม่ย้อนปูมหลังว่าปลัดคนนี้ก็รัฐบาลนี้แหละตั้งมา หวังจะกระพือให้เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ แต่กองทัพไม่เล่นด้วย ตอนนี้ก็ไปฝากความหวังศาลปกครอง

            เช่นเดียวกับการย้ายเลขา ปปท. ซึ่งตีปี๊บว่าเพราะเปิดโปงทุจริตงบน้ำท่วมภาคอีสาน ก็จงใจไม่กล่าวถึงปูมหลังว่า เมื่อปีที่แล้วตอน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เอา พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ มาดำรงตำแหน่ง ก็สื่อนี่แหละหาว่าเป็น “เด็กรับใช้ในบ้านเจ้ามูลเมือง” (ปอกเปลือก"3 เกลอ"ยุติธรรม “ทวี-สุชาติ-ดุษฎี” เด็กรับใช้ในบ้าน “เจ้ามูลเมือง”http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000118342)

             ผมก็ไม่ทราบว่า พ.ต.อ.ดุษฎีขัดแย้งกับ พล.ต.อ.ประชาและรัฐบาลหรือไม่ ด้วยเรื่องอะไร ทำไมจึงถูกย้าย แต่แทนที่สื่อจะสนใจหาความจริง สื่อกลับตีปี๊ปว่าเป็นเพราะเปิดโปงทุจริต ชู พ.ต.อ.ดุษฎีเป็นพระเอก รัฐบาลเป็นผู้ร้าย ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของชาติ (ภตช.) อีกคราบหนึ่งของพันธมิตร นำโดยนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์  รีบโผล่ไป ปปท.ให้สัมภาษณ์เป็นตุเป็นตะ ยังกะเป็นเลขา ปปท.เสียเอง

             ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ดุษฎีก็มีผลงาน ที่เข้าเนื้อทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เรื่องทุจริตงบน้ำท่วมผมก็เชื่อว่ามีจริง (แต่คงไม่เว่อร์ขนาดมงคลกิตต์ ณ ร.ร.บดินทร์ ตีปี๊บ) อ่านทางข่าวแล้วมันไม่ใช่การย้ายเพราะเปิดโปงเรื่องนี้ เพราะ พ.ต.อ.ดุษฎีเพิ่งแถลงข่าววันศุกร์ ออกข่าววันเสาร์ พร้อมกับให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อบางฉบับ ถัดมาวันอาทิตย์ก็มีข่าว “เด้ง”

             ประชาอ่านข่าววันเสาร์แล้วเด้งทันทีหรือครับ มองมุมกลับ คนในน่าจะรู้กันมาช่วงหนึ่งแล้ว เป็นไปได้ไหมที่ พ.ต.อ.ดุษฎีรู้ว่าตัวเองจะโดนเด้งจึงชิงแถลงข่าว ผมไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด แต่กังขาว่ามีเรื่องลึกกว่างบน้ำท่วม ซึ่งไม่มีใครสนใจหาความจริง สนใจแต่จะโฉบฉวยมาเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาล

             ที่ยกมาเป็นแค่ตัวอย่างเพราะยังมีสารพัดเรื่อง แต่ให้สังเกตว่าจุดไม่ติด สร้างกระแสได้ไม่ต่อเนื่อง โดนข่าวดรามาหนูพลอยหนีภาษี ดรามาเฟอร์รารี “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” หรือกระทั่งข่าวควายเผือกบุญมา กินพื้นที่ไปเป็นระยะๆ

              อันที่จริงก็ไม่แปลกอะไร ฝ่ายค้านฝ่ายแค้นถล่มรัฐบาลตั้งแต่ยังไม่คลอดแล้ว เพียงแต่การโจมตีรัฐบาลตอนนี้ไม่เหมือนตอนตั้งใหม่ๆ ตอนนั้นพวกแมลงสาบ สลิ่ม เสื้อเหลือง และสื่อ ยังมีความหวังว่าจะล้มรัฐบาลได้ ในเวลาซัก 1 ปี หมอดูหมอเดาเต้าเป็นตุเป็นตะ แต่น้ำท่วมใหญ่ก็แล้ว ทั้งที่ “เอาไม่อยู่” ศาลรัฐธรรมนูญก็แล้ว ทั้งที่ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยแพ้ สถานการณ์กลับคลี่คลายไปในทางที่ว่า รัฐบาลจะอยู่ได้ยาว ไม่ล้มง่ายเว้นแต่จะมีจุดเปลี่ยนอะไรที่สำคัญ

             การโจมตีรัฐบาลในช่วงนี้จึงเต็มไปด้วยอารมณ์สิ้นหวัง คั่งแค้น ดิ้นพล่าน ทุรนทุราย น้ำตาตกในหัวอก ความรู้สึกสลิ่มคงเหมือนพวก “ผู้ดี” หลัง 2475 ที่ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน มองไปข้างหน้าเห็นแต่ความมืดมน ไม่เห็นอนาคต เพราะอนาคตของศูนย์กลางอำนาจฝ่ายอำมาตย์ก็ไม่แน่นอน

กลับสู่ระบอบรัฐสภา

ผมเขียนและพูดมาระยะหนึ่งแล้วว่า รัฐบาลนี้อยู่ยาว ทุกฝ่ายก็มองเห็น

            หลังวิกฤติศาลรัฐธรรมนูญ แม้กระแสสังคมพึงพอใจที่ศาลยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกรงกันว่าจะนำไปสู่วิกฤติรอบใหม่ แต่อีกด้านของปรากฏการณ์ก็สะท้อนเช่นกันว่า กระแสสังคมไม่อยากเห็นการล้มรัฐบาลด้วยรัฐประหารหรือตุลาการภิวัตน์อีกแล้ว เพราะเกรงจะเกิดวิกฤติรอบใหม่เช่นกัน ไม่มีใครอยากเห็นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคเพื่อไทยให้ประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล แล้วเสื้อแดงลุกฮือ ยึดกรุงเทพฯ ยึดราชประสงค์อีก

           รัฐบาลจะได้คะแนนเท่าไหร่ก็ตาม แต่ตราบใดที่ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า สังคมไทยก็ยังอยากให้รัฐบาลนี้บริหารต่อไป จนกว่าจะเลือกตั้งใหม่ หรือจนกว่าจะเกิดวิกฤติอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไปไม่รอดจริงๆ (ซึ่งยังมองไม่เห็น)

            นี่คือสภาพที่น่าตลกว่า สังคมไทยเริ่มกลับมายอมรับ “ประชาธิปไตยปกติ” ทั้งที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาโครงสร้าง ยังไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ การเมืองกลับมาสู่การต่อสู้ช่วงชิงคะแนนนิยมกันตามวิถี เหมือนก่อนปี 49 แม้จะยังเว่อร์ ยังไร้สติ ยังดราม่ากันมากมาย แต่ก็ไม่ใช่การเมืองที่จะโค่นล้มรัฐบาลได้

             ต่อให้กิตติรัตน์ ณ ระนอง White Lie ซักกี่รอบ อย่างเก่งก็ปรับ ครม.เอากิตติรัตน์ออก ถ้าจำนำข้าวมีปัญหา ก็ปรับบุญทรง เตรยาภิรมย์ออก แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังอยู่ได้ แม้อาจจะอยู่แบบแย่ๆ คะแนนคาบเส้น หรือคะแนนตกเส้นนิดหน่อย แต่สังคมไม่มีทางเลือก เพราะถึงอย่างไร รัฐบาลก็ยังมีเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งในสภา และในผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องให้รัฐบาลเสื่อมคะแนนนิยมจากฐานเสียงตัวเอง ซึ่งยากส์เข้าไปใหญ่ เพราะต่อให้เสื่อมขนาดไหน คนเลือกพรรคเพื่อไทยก็คงไม่กลับไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ตีตั๋วแพ้ตลอดชีพ ไม่สามารถสลัดประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทางการเมือง และหนี้เลือดพฤษภา 53

             พูดอีกอย่างคือ สังคมไทยจำต้องกลับมายอมรับระบอบรัฐสภา ถ้าจะเปลี่ยนแปลง ก็ให้เป็นไปตามระบอบรัฐสภา เพื่อที่จะไม่เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ต่อให้ถึงทางตันแค่ไหน ก็เข็ดแล้ว ไม่อยากเห็นรัฐประหาร ไม่อยากเห็นพันธมิตรหรือเสื้อแดงยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ยึดราชประสงค์อีก

             ความจำเป็นต้องยอมรับ “ประชาธิปไตย(เกือบ)ปกติ” นี้มีขึ้นทั้งที่กลไกอำมาตย์ ตุลาการภิวัตน์ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีอำนาจอยู่ แต่พวกเขาก็ไม่กล้าใช้อำนาจจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล อย่างเก่งก็จะใช้อำนาจศาลในบางเรื่องที่สามารถโน้มน้าวกระแสสังคมได้ ต่อไปก็อาจใช้อำนาจถอดถอนรัฐมนตรีหรือ ส.ส.บางคน

             ความไม่แน่นอนในศูนย์กลางอำนาจของฝ่ายอำมาตย์ ยังทำให้พวกเขารวนเร ทำได้แค่เป็นฝ่ายตั้งรับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำได้แค่ปกป้องโผทหารในโควต้าของตัว เอาตัวให้รอดจากการไล่บี้ “สไนเปอร์” ไม่กล้าแข็งกร้าว ต่อต้านอำนาจรัฐบาล อำนาจทหารซึ่งเคยเหนียวแน่นผูกขาดแค่ “บูรพาพยัคฆ์” ก็เริ่มสลายคลายตัว เมื่อมองเห็นว่ารัฐบาลอยู่ยาว ทหารและข้าราชการที่อยู่ห่างศูนย์อำนาจหน่อย ก็จะเริ่มวิ่งเข้าหารัฐบาล หรืออย่างน้อยก็เหยียบสองขา

            รัฐบาลก็อ่านเกมขาด ตราบใดที่ยังไม่รุกแก้รัฐธรรมนูญ ยังไม่ดัน พรบ.ปรองดอง ก็ประคองตัวไปได้เรื่อยๆ แค่อย่าให้มีเรื่องฉาวโฉ่นัก ทักษิณก็ไม่จำเป็นต้องรีบกลับบ้าน เพราะเดินทางไปได้ทั่วโลกแล้ว สนุกสนานกับระบอบ 2 นายกฯ คือยิ่งลักษณ์บริหารภายใน ทักษิณเดินสายอยู่ข้างนอก ว่างๆ ก็แวะมาฮ่องกง เมืองจีน เขมร ให้นักการเมือง ข้าราชการ วิ่งไปพบ

            “เราต้องทนหน่อย บางครั้งต้องทน นักสู้บางคนบอกใส่ไปเลย ผมว่ามันง่าย ได้สะใจ แต่ไม่ได้ผล เราเดินหน้าวันนี้ต้องเดินเอาผล ไม่ได้เดินเอาสะใจ เป็นรัฐบาลต้องใช้ไม้นิ่ม เป็นฝ่ายค้านต้องใช้ไม้แข็ง แต่ว่าเราเป็นรัฐบาลไปใช้ไม้แข็งก็เท่ากับว่าเราเป็นฝ่ายค้าน จะไปเป็นทำไมเราเป็นรัฐบาลอยู่แล้ว”

             ทักษิณให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราที่ซานฟรานฯ ชี้ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไว้ตั้งแต่ต้นเดือนที่แล้ว โดยพูดชัดว่าไม่เดือดร้อนกับการบินไปบินมา

             “กฎหมายปรองดองถามว่าจะถอนไหม ก็ถอนทำไม ก็คาไว้อย่างนั้น เขาจะได้มายืนเฝ้าทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าเผลอโหวตเลย จะได้ขยันหน่อย เพราะเขาไม่มีงานทำอยู่แล้วนี่ อันนี้ก็คือสรุปว่า ไม่มีการถอน แต่ถามว่าจะดันไหม สบายๆ ไม่รีบไม่ร้อน”

              แน่นอน ทักษิณ พรรคเพื่อไทย รัฐบาล ไม่รีบไม่ร้อนแก้ปัญหาโครงสร้างประชาธิปไตยเช่นกัน เพราะสามารถเล่นเกมอำนาจแบบนักการเมือง “กระชับพื้นที่” ในระบบราชการ โยกย้ายคนของตนไปคุมตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งฟื้นเครือข่ายเส้นสายกลุ่มทุน

             ทักษิณรู้ดีว่าโครงสร้างนี้เป็นอันตรายต่ออำนาจนักการเมือง ทั้งจำเป็นต้องปลดล็อก “ตุลาการภิวัตน์” จึงกลับบ้านได้ แต่ในระยะนี้เมื่อยังไม่สามารถใช้ “ไม้แข็ง” ก็ “เอาผล” ก่อน ในขณะที่กระชับอำนาจ ก็อาจเจรจา ต่อรอง ฮั้ว เกี้ยเซี้ย บางประเด็น นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน (แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะฮั้วแล้วจบกันง่ายๆ เพราะความขัดแย้งบานปลายมีผู้คนมากมายแยกขั้วแยกข้างกันไปสองฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะแดง ที่มีทั้งแดง นปช. แดงอุดมการณ์ หรือกลุ่มก๊วนการเมือง อีกฝ่ายก็มีความหลากหลายและเป็นอิสระต่อกัน)

              ถามว่ารัฐบาลจะอยู่ยาวไหม เป็นไปได้ที่จะอยู่ครบเทอมอีก 3 ปี เป็นไปได้ที่ครบเทอมแล้วชนะเลือกตั้งกลับมาอีก 4 ปี และเป็นไปได้ที่อาจจะแค่ปีหน้า ขึ้นกับ “จุดเปลี่ยน” ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ หรือรัฐบาลสะดุดขาตัวเอง สมมติน้ำท่วมใหญ่อีกรอบ สมมติเศรษฐกิจโลกย่อยยับ เศรษฐกิจไทยพังพินาศ (ลองช่วยกันคิดอะไรที่มันเว่อร์ๆ)

              ที่แน่ๆ ถ้าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตจริงๆ รัฐบาลจะอยู่ยาว แม้อยู่แบบแย่ๆ ในบางช่วง แต่เมื่อสังคมยอมรับระบอบรัฐสภาเสียแล้ว และพรรคเพื่อไทยไม่มีคู่แข่งในระบอบรัฐสภา ปชป.ไม่กล้าปรับเปลี่ยน (ซึ่งต้องพลิกวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิธีเล่นการเมือง ขอโทษประชาชน ฯลฯ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนหัวหน้าพรรค) เพราะการเปลี่ยนเท่ากับเสี่ยงเสียฐานเดิม (สลิ่ม) โดยไม่รู้ว่าจะหาฐานเสียงใหม่ได้ที่ไหน ส่วนจะหาผู้นำใหม่ พรรคใหม่ แบบทักษิณเมื่อปี 44 น่ะหรือ ก็ยังไม่เห็นตัว และสถานการณ์ยังไม่เปิดโอกาส

               บางคนอาจตั้งความหวังว่าจะมี “มหัศจรรย์โอบามา” คือเมื่อปี 2006 โอบามายังเป็นวุ้นอยู่เลย อยู่ๆ ก็โผล่พรวดเป็นประธานาธิบดีในปี 2008 แต่เมืองไทยจะหาใครได้อย่างนั้น

นักประชาธิปไตยอึดอัด
สลิ่มคลั่ง

              สถานการณ์เช่นนี้ทำให้นักคิดนักวิชาการประชาธิปไตย หรือแดงอุดมการณ์ทั้งหลาย อยู่ในสภาพอึดอัด เพราะรัฐบาลไม่เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ล้างโครงสร้างอำมาตย์ สนุกกับการใช้อำนาจล้วงเอาแทน ด้านหนึ่งก็เป็นประโยชน์กับประชาธิปไตยแต่อีกด้านหนึ่งก็ได้ผลประโยชน์เข้าตัว

             อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในมติชนล่าสุด “อนาคตทางการเมืองของคนเสื้อแดง” สรุปว่าทางเลือกทั้ง 3 ทางล้วนเป็นไปได้ยาก 2 ทางแรกคือหันไปสนับสนุนพรรคอื่น กับตั้งพรรคของตัวเอง ตัดไปได้เลย ส่วนที่บอกให้หาทางควบคุมทิศทางของพรรคเพื่อไทยให้ได้มากขึ้น ผมก็ว่ายาก

             ตั้งพรรคของตัวเองอาจทำได้ครับถ้าถึงเวลาเลือกตั้ง แกนนำอุดมการณ์ซัก 4-5 คน ตั้งพรรคสมัครปาร์ตี้ลิสต์อย่างเดียวแบบพรรคชูวิทย์ ส.ส.เขตให้มวลชนเลือกเพื่อไทยไป แต่ก็นั่นแหละ คงได้มา 4-5 คน ไม่มีผลมาก

             ควบคุมทิศทางพรรคเพื่อไทย ก็มองไม่ค่อยเห็น ผมเห็นแต่พรรคเพื่อไทยควบคุมแกนนำ นปช. คือเมื่อรัฐบาลอยู่ยาว นปช.ก็จะมีภารกิจเพียงจัดงานครบรอบปี เมษา-พฤษภา 53 กับติดตามคดีในศาล (ซึ่งก็จะเป็นกระแสเป็นพักๆ) หรือถ้าอำมาตย์ทำท่าคุกคามหน่อย จตุพรก็จะออกมาตีปี๊บ “รัฐประหาร” เรียกมวลชนชุมนุมต้าน

             พูดให้ถูกคือว่าที่รัฐมนตรีจตุพร เพราะนับจากนี้แกนนำ นปช.จะสลับกันรับตำแหน่ง

             อย่างไรก็ดี ในความอึดอัด ผมคิดว่านักประชาธิปไตยส่วนใหญ่ก็เข้าใจสภาพ รู้ดีว่าเอาความสะใจไม่ได้ ต้องค่อยๆ สู้กันไปทีละขั้น เราอยากให้รัฐบาลรุก แต่รุกแล้วได้เปรียบไหม ต้องใคร่ครวญทั้งสองด้าน

             การมองขั้นตอนทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีแต่ละขั้น อาจแตกต่างกันได้หลากหลาย เช่นมองย้อนหลังไปเรื่องการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 นักคิดนักประชาธิปไตยยืนยันว่าต้องโหวต ต้องชน อย่างน้อยก็ต้องลงมติไม่รับคำสั่งศาล ผมก็ยังยืนยันอยู่นะ เพราะผมเห็นว่าในสถานการณ์ที่กล่าวมา ยังไงก็ไม่นำไปสู่การแตกหัก ยุบพรรค แต่รัฐบาลก็มองอีกแบบ คือมองในเชิงถอยก่อน ปล่อยให้ตุลาการเป็นฝ่ายรุก แล้วถูกกระแสสังคมกดดัน

               ใครถูกใครผิดก็ตอบยาก แต่ที่แน่ๆ คือ อย่าไปพะวงกับมัน เมื่อเห็นว่าอะไรถูกต้องก็ต้องต่อสู้ ยืนหยัดอยู่ในจุดยืนที่เป็นอิสระ เป็นธรรมชาติของตน

               ในความอึดอัด ผมคิดว่าด้านหนึ่งนักประชาธิปไตยก็พึงพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ คืออย่างน้อยเรามีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ เผยแพร่ความคิด อุดมการณ์ ที่มีเหตุผล ได้มากกว่ายุคสมัยของ คมช.หรือประชาธิปัตย์ โดยนอกจากวิจารณ์อำมาตย์ แมลงสาบ สลิ่ม สื่อ พันธมิตร เรายังวิจารณ์ทักษิณ พรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่ นปช.ได้ด้วย

               เพราะในสภาพที่การเมืองนิ่งชั่วคราว และแกนนำ นปช.เข้าไปรับตำแหน่งต่างๆ มวลชนที่มีอุดมการณ์ มีความคิดของตนเอง จะหันมาฟังเหตุผลของนักคิดนักวิชาการประชาธิปไตยมากขึ้น นี่ไม่ได้ยุให้ช่วงชิงการนำนะครับ เพราะนักคิดนักวิชาการไม่สามารถเป็นผู้นำม็อบอยู่แล้ว แต่การมีบทบาทด้านปัญญาความคิดจะช่วยให้ขบวนการมวลชนเข้มแข็งหลากหลายขึ้น

                ท่าทีของนักประชาธิปไตยต่อสถานการณ์นี้ ผมคิดว่ามีสองด้าน คือหนึ่ง “สุขกันเถอะเรา” หมายถึงมีความสุขที่เห็นความทุกข์ของผู้อื่น (ฮา) อันได้แก่ แมลงสาบ สลิ่ม พันธมิตร และพึงพอใจระดับหนึ่งกับสภาพที่เป็นอยู่ ที่มีเสรีภาพค่อนข้างจะเต็มที่

              สองคือ รณรงค์ทางความคิดอย่างอิสระ ทำความเข้าใจสถานการณ์ แต่ไม่ต้องผูกติดกับยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของรัฐบาล ก็เหมือนอย่างที่รณรงค์แก้ไข ม.112 ซึ่งส่งผลสะเทือนทั้งด้านกว้างและเชิงลึก แม้รัฐบาลไม่เอาด้วย

               แน่นอนว่าเมื่อรัฐบาลอยู่ได้เช่นนี้ ก็ไม่พยายามแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่สังคมก็ยังไม่อยากเห็นการปะทะกัน แต่นักวิชาการเช่นนิติราษฎร์ก็สามารถเสนอแนวคิดใหม่ในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ ให้เข้าถึงผู้คนวงกว้าง นักคิดนักเคลื่อนไหวส่วนอื่นๆ ก็อาจเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่าจะเอาส่วนไหนก่อน

               การรณรงค์ทางความคิดฟังเหมือนบอกให้พูดเรื่อยเปื่อย แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะขั้นตอนทางยุทธศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขั้นนี้น่าจะเป็นการตีตื้นไล่ชิงพื้นที่ โดยความคิดเสรีประชาธิปไตย ไล่ชิงพื้นที่ความคิดจารีตนิยมไม่เอาประชาธิปไตย ความคิดจารีตนิยมอาจมีอิทธิพลกว้างขวาง แต่ถ้าเฉพาะเจาะจง ก็คือต้อง “ล้อมปราบ” ความคิดสุดขั้วสุดโต่งของพวกสลิ่มและพันธมิตร ให้เป็นพวกที่สังคมไม่ยอมรับ

              การยืนหยัดความคิดอิสระ รวมทั้งการตรวจสอบรัฐบาล ในพฤติกรรมที่เราไม่เห็นด้วย (อย่างที่ อ.นิธิยกตัวอย่าง “หลอง ซีดี” นักคิดนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยควรมีบทบาทเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยลงโทษ เพราะเปล่าประโยชน์ที่จะอุ้มกัน ปปช.เขาเล่นแน่) มีความสำคัญในแง่ที่ยังไม่มีใครรู้ว่า สถานการณ์ที่รัฐบาลอยู่ยาว แต่ไม่เสถียร นี้จะจบลงเมื่อไหร่ จบอย่างไร “จุดเปลี่ยน” อยู่ตรงไหน

              ผมเชื่อว่าเมื่อถึงจุดนั้น การแยกขั้วในสังคมไทยจะเปลี่ยนแปรไประดับหนึ่ง แม้ไม่ใช่เปลี่ยนตาลปัตรเป็นนิยาย แบบ “เหลืองแดงรวมกันได้” หรือ “แดงอุดมการณ์แตกหักทักษิณ” (เพ้อเจ้อทั้งสองแบบ) แต่มันอาจจะมีการแยกย่อยหลากหลายขึ้น มีความผันแปร มีความแตกต่าง มีความชัดเจนขึ้นในแต่ละกลุ่ม โดยนักประชาธิปไตยจะต้องช่วงชิงเป็นผู้นำความคิดใหม่ที่มีอิทธิพลต่อสังคมและคนรุ่นใหม่ให้มากที่สุด

                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    6 ก.ย.55

หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน ถึงทางตันขบวนการนักศึกษา?

หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน ถึงทางตันขบวนการนักศึกษา?
(อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)
             เสวนากลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน มองขบวนการนศ. ยังฟุบแต่ไม่ถึงทางตัน ต้องใช้เวลาค่อยๆ ฟื้นเพื่อร่วมกับยุคสมัยของขบวนการประชาชน ในขณะที่ "สนนท." ถูกมองว่าไม่ได้เป็นองค์กรนำในกลุ่มนศ. อีกต่อไป

              เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 55 กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาอิสระในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาในหัวข้อ “หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน ถึงทางตันขบวนการนักศึกษา?” โดยมีวิทยากรประกอบด้วยเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ปี 2518 ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข กรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2535 อติเทพ ใชยสิทธิ์ กรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปี 2553 และหนึ่งฤดี นวนสาย สมาชิกกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP)

             ดิน บัวแดง หนึ่งในผู้จัดงานครั้งนี้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดงานว่า ต้องการจะเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษา และฟังประสบการณ์จากผู้ที่เกี่ยวข้องในสมัยนั้น เพื่อเป็นบทเรียนและประโยชน์ให้กับกลุ่มนักศึกษาในปัจจุบัน ทั้งในแง่มุมวิชาการและประวัติศาสตร์


            เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ มองว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนในยุคสมัยนี้ ประชาชนมีความรับรู้และตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าสมัยก่อนมาก ไม่ว่าจะเป็นสมัย  14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 มาจนถึงพฤษภา 35 โดยเฉพาะขบวนการเสื้อแดงที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเพื่อคัดค้านรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีความก้าวหน้า ซึ่งต่างจากคนเดือนตุลาจำนวนหนึ่งที่เห็นชอบกับการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จึงสะท้อนให้เห็นว่า การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนมีเพิ่มสูงขึ้นจากสมัยก่อนอย่างเห็นได้ชัด และเช่นเดียวกับเยาวชนลูกหลานของคนเสื้อแดง ก็ย่อมที่จะได้รับรู้ความเป็นไปทางการเมืองไม่ต่างกับพ่อแม่ของตนเอง 

             เกรียงกมล กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้นำนักศึกษาในรุ่นนี้ที่จะทำให้เยาวชนออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดและสภาพสังคมที่บีบรัด ทั้งยังแนะด้วยว่า ควรจะถอดบทเรียนจากขบวนการนักศึกษาจากในอดีตถึงข้อผิดพลาดและประสบการณ์

             ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ตั้งคำถามกับการมองขบวนการนักศึกษาเป็นภาพใหญ่ โดยกล่าวว่า ถ้าจะมองว่าขบวนการนักศึกษาจะเป็นขบวนการใหญ่ที่สามารถชี้นำสังคมได้ อาจจะเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด เพราะการเปลี่ยนแปลงมักจะเกิดจากคนกลุ่มเล็กๆ ทั้งนั้น

              เขาได้เล่าถึงการทำกิจกรรมในรุ่นตนเองสมัยทศวรรษ  2520-2530 ว่า เป็นช่วงที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหลังป่าแตก และสังคมนิยม ตอนแรกตนคิดว่าการเข้าไปทำกิจกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีใครจัดตั้ง แต่เมื่อได้เริ่มสืบค้นมากขึ้น ก็จะเห็นถึงเบื้องหลังของอิทธิพลทางความคิดในการทำกิจกรรม โดยตอนที่ตนเป็นนักเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ตอนม.สี่ ราวปี 2522 ก็มีรุ่นพี่มาพูดคุยเรื่องการเมือง ตั้งคำถามถึงเรื่องความเชื่อเดิมๆ ในสังคม จะมีการทำงานที่เป็นแกนปิดลับ มีการจัดอบรมค่ายเยาวชน ร้อยเครือข่ายเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ราว 30 โรงเรียน จัดเป็นนิทรรศการเรื่องสันติภาพ  ว่าด้วยเรื่องสงครามเย็นและเรื่องการเมืองสังคม กิจกรรมนี้เอง ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายของ “เด็กขบถ” ที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสืบสาวไปมากขึ้นก็พบว่าสายธารความคิดนี้ มาจากนศ.สมัยสิบสี่ตุลา ซึ่งยังยึดถือแนวความคิดแบบสังคมนิยมอยู่ และเป็นช่วงที่แนวความคิดเรื่องประชาสังคมยังไม่เกิดขึ้นมา โดยต่อมาเมื่อเยาวชนเหล่านี้สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ก็กระจายเข้าไปทำงานในองค์การสโมสรนิสิตนักศึกษาในที่ต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นขบวนการนักศึกษาขึ้นมา สนนท. จึงเริ่มเกิดขึ้นในปี 2527 

               ต่อมาเมื่อองค์กรภาคประชาสังคม ชนชั้นกลางเติบโตมากขึ้น  ในช่วงนี้ สนนท.มีการทำงานกับสโมสรนักศึกษาและกลุ่มนศ.ต่างๆ มากขึ้น แต่สมาชิกก็จะเริ่มลดน้อยถอยลง เพราะสภาพเศรษฐกิจทางการเมืองที่เปลี่ยนไป สนนท. จึงทำงานแบบโดดเดี่ยวมากขึ้น เมื่อรัฐประหารเมื่อปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ สนนท. ร่วมกับกลุ่มกับองค์กรอื่นๆ ในภาคประชาสังคม ก็ได้ออกมาประท้วงต้านรปห. ในช่วงแรก นักศึกษาที่ออกมามีอยู่ 6-7 คน และมีบางส่วนถูกจับ ตนคิดว่าจะมีนศ. ออกมาเข้าร่วมกับขบวนการมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงสนนท. ก็เริ่มโดดเดี่ยวตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว 

               ในช่วงนั้น กลุ่มนศ.สมัย 14 ตุลาได้เริ่มเข้ามาช่วยกำหนดยุทธศาสตร์และทำกิจกรรมต่างๆ ขบวนการนศ. จึงถูกชูเป็นภาพนำ  เพราะตอนนั้นองค์กรภาคประชาสังคมยังไม่เด่นมากนัก ทั้งนี้ เขามองว่า ในสมัย 2535 ไม่สามารถเคลมได้ว่านศ.เป็นผู้นำ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในสมาพันธ์ประชาธิปไตย  ที่เป็นเครือข่ายการต่อต้านรปห. และไม่ได้คิดว่านักศึกษาเป็นขบวนการตั้งแต่ตอนนั้นอีกแล้ว เพราะภาคประชาสังคมเติบโตมากขึ้น เขาไม่ต้องการนศ.ให้เป็นภาพมากเท่าเดิมแล้ว นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมหลังปี 2535 เป็นต้นมา นศ. ไม่มีความจำเป็นต่อขบวนการเคลื่อนไหวมากเท่าเดิมอีกต่อไป เนื่องจากเครือข่ายภาคประชาสังคมสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

                ชูวัสกล่าวว่า ปี 2535 เป็นรอยแยกครั้งสำคัญของสายความคิด โดยช่วงนั้นเกิดแนวความคิดที่หมดศรัทธาในประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง เชื่อว่าคำตอบในหมู่บ้าน ชูประเด็นเรื่องคุณธรรม ทำให้ขบวนการนศ./ ประชาชนแยกออกไปสายหนึ่ง มีคำใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่าง “นักเลือกตั้ง” “การเมืองแบบนี้ไม่ใช่คำตอบ” กลายเป็นเรื่องการเมืองแบบคุณธรรม เศรษฐกิจพอเพียง การต้านทุนนิยม หรือการต้านโลกาภิวัตน์ ในขณะที่นศ. อีกสายหนึ่งก็รู้สึกว่าตนเองได้รับประโยชน์จากทุนนิยมและยังมีวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม จึงเป็นข้อน่าสังเกตว่า อิทธิพลของนศ.รุ่นใหม่ๆ จึงไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การเมืองแบบคุณธรรมง่ายเท่ากับนศ. สมัย พ.ค. 35 
              “หัวใจของขบวนการนศ. คือ แรงบันดาลใจ และแรงใฝ่ฝัน ถ้าคุณไม่มีตรงนี้ จะไปไหนไม่ได้เลย ถ้าคุณไม่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า” ชูวัสกล่าว


               อติเทพ ไชยสิทธิ์ กรรมการบริหาร สนนท. ปี 2553 ตั้งคำถามว่า ในสมัยนี้ นศ. มีภาระน้อยลง มีเวลาว่างทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น แต่ทำไมนศ. จึงออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการทางการเมืองน้อยลง นอกจากนี้ มองว่า ข้อเสนอที่บอกว่า นศ. เป็นพลังบริสุทธิ์ เป็นคำธิบายที่ไร้เดียงสาเกินไป เพราะเป็นคำอธิบายที่มาจากวรรณกรรม โดยส่วนตัวไม่คิดว่านศ. เป็นพลังบริสุทธิ์ เพราะนศ.ก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง เพียงแต่ผลประโยชน์เชิงสาธารณะของตนเองอาจจะแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ แต่ต้องดูว่า สิ่งที่ผลักดันให้คนออกมาเรียกร้องต่อสู้คืออะไร 

                 เมื่อไปตามงานการเมืองต่างๆ ตนมักจะถูกถามว่า นศ. หายไปไหนหมด ในขณะที่ภาพขบวนการนักศึกษาสมัย 14 ตุลายังถูกมองว่าต้องเป็นต้นแบบของการเคลื่อนไหว ต่อเรื่องดังกล่าว ตนมองว่า ผลประโยชน์ของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ไม่สามารถตอบเขาได้ว่ามีประโยชน์และเสียประโยชน์ได้อย่างไร คือนักศึกษาทุกคนก็มองว่า ตนเองแสดงพลังอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ออกมาแสดงพลังรวมกันเรียกร้อง เช่น การทำค่ายอาสา การทำแล็บวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมอื่นๆ โจทย์คือว่า ต้องทำให้เขารู้สึกว่านักศึกษาทั่วไปสูญเสียผลประโยชน์ร่วมกับเรา จึงจะออกมาร่วมเคลื่อนไหวด้วยกันได้อีก 

                นอกจากนี้ ต้องถามว่า สนนท. เป็นตัวแทนของอะไรในปัจจุบัน อาจจะบอกได้ว่า เป็นองค์กรตัวแทนของนศ.ที่สนใจการเมืองเท่านั้น ที่มีการจัดสมัชชาประจำปี มีภาระหน้าที่ที่กำหนดตามธรรมนูญ ไม่ได้เป็นตัวแทนของนศ. ประเทศไทยทั้งหมด ที่อยู่ทุกวันนี้ก็เหมือนอยู่เพื่อรักษาประวัติศาสตร์ที่เคยมีมา และคนทำงานก็ต้องเข้าใจตนเองถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และ มีโอกาสน้อยมากที่จะกลับไปเป็นสถานการณ์สมัยประวัติศาสตร์ได้อีกครั้ง เพราะในอดีต การที่นศ. ออกมาแสดงพลัง เป็นเพราะกลุ่มภาคส่วนอื่นๆ มันไม่มีพื้นที่และถูกปิดกั้น ในขณะที่นศ. สามารถออกมาได้ เพราะมีพื้นที่และโอกาสมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

               อติเทพ มองอุปสรรคของสนนท.ในปัจจุบันว่า ด้วยโครงสร้างที่ใหญ่และเทอะทะคล้ายกับพรรคคอมมิวนิสต์ และความหลากหลายของกลุ่มสมาชิกที่ลดลง ทำให้การทำงานไม่คล่องตัวมากเท่าที่ควรจะเป็น และการนำก็มักจะอยู่ที่กลุ่มนศ. ของม. รามและสามจังหวัดภาคใต้เท่านั้น 

             อติเทพมีข้อเสนอตอนท้ายว่า สนนท. ไม่ควรคิดว่าตนเองเป็นองค์กรนำได้แล้ว แต่อาจจะเปลี่ยนชื่อและปรับโครงสร้าง เพื่อให้ร่วมเคลิ่อนไหวกับกลุ่มต่างๆ เป็นประเด็นเฉพาะและให้ทันสถานการณ์ วิธีนี้อาจจะทำให้องค์กรใหม่ๆ เข้ามาร่วมมากขึ้น ด้วยสถานการณ์ที่เข้มข้นมากขึ้น 

              หนึ่งฤดี นวนสาย กล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัว คือการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 54 พ่อแม่ของตนโทรศัพท์มาให้กลับไปเลือกตั้งที่ต่างจังหวัดด้วยความกระตือรือล้น แสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านตื่นตัวมากกว่านศ. ส่วนใหญ่ของประเทศเสียอีก ในขณะที่ในสมัยก่อน นศ. มีบทบาทชี้นำชาวบ้านเรื่องประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ ชาวบ้านกลับเป็นฝ่ายที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น และตื่นตัวมากกว่านศ. ในปัจจุบัน ในฐานะที่เธอได้เข้าร่วมในสมัชชาสนนท. ปีล่าสุด หนึ่งฤดีระบุว่า สนนท. ควรปรับบทบาท คิดถึงบทบาทของตนเอง เพื่อให้องค์กรและกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาต่างๆ มาเข้าร่วมสนับสนุนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ตั้งคำถามว่า สนนท. อาจจะไม่จำเป็นต่อขบวนการนักศึกษาอีกต่อไปแล้วก็ได้ 


ช่วงแลกเปลี่ยน

               จรัล ดิษฐาพิชัย อดีตแกนนำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา - 6 ตุลา อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแกนนำนปช. เล่าถึงประสบการณ์สมัยที่ตนเองเป็นนักกิจกรรมนศ.ว่า ในช่วงก่อน 14 ตุลา ช่วงพ.ศ.  2507-2511 กว่าขบวนการนักศึกษาจะเกิดขึ้นมาได้ ก็ใช้เวลาสร้างอยู่หลายปี ในเวลานั้นพวกนักศึกษากิจกรรมก็น้อยมาก ธรรมศาสตร์มีประมาณ 90 คน น้อยที่สุดก็เกษตร 7-8 คน จุฬาฯ มีประมาณ 30 กว่าคน ที่พยายามเคลื่อนไหวและพยายามให้เกิดเป็นขบวนการ 14 ตุลา

             ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหารปี 34 โดยคณะรสช. ก็มีนศ.ไม่กี่คนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านการรปห. มีการจับกลุ่มคุยในร้านกาแฟเพื่อต่อต้านการปฏิวัติ ก็มีการประชุมกันโดยกลุ่มนักศึกษา มีนักศึกษารามเป็นผู้นำ ตอนนั้นก็มีดร.โคทม อารียา ประชุมกันเรื่องการต่อต้านรปห. ตอนนั้นยังมีนักศึกษาน้อยอยู่ และเมื่อ 19 พ.ย. 34 ก็มีการจัดการชุมนุมกันใหญ่มาก ตอนนั้นนศ. มากันไม่ถึงร้อย แต่ประชาชนมากันเป็นหมื่น นศ. เริ่มเข้ามาชุมนุมกันมากจริงๆ ก็มืเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 35 ที่ถนนอู่ทอง หน้ารัฐสภา และต่อมามาราชดำเนิน สนามหลวง ไม่ใช่ว่านศ. จะออกมาร่วมตั้งแต่ต้น 

            ต่อมาเมื่อ 24 ก.ย. 49 ก็มีการชุมนุมอภิปรายกันเรื่องต่อต้านรปห. ที่จุฬาฯ และก็มีการชุมนุมของเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหารที่บริเวณหน้าห้างสยามพารากอน นำโดยหนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) มีการอภิปราย ตนได้รับเชิญให้มาพูดปราศรัย โดยคนที่มาฟังส่วนใหญ่ก็เป็นประชาชน แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ขบวนการนศ.อยู่ดีๆ จะใหญ่ขึ้นมาเลย แต่แม้ว่าขบวนการนศ.ไทยจะฟุบมานาน ขบวนการนศ.ไม่มีทางตัน มันจะไปเรื่อยๆ ของมัน

                 จรัญกล่าวว่า เมื่อตอนที่ตนอยู่ที่ฝรั่งเศส ประชาชนฝรั่งเศสก็พูดเหมือนตอนนี้ว่าทำไมนศ.ไม่ค่อยออกมา แต่วันดีคืนดีเกิดเรื่องขึ้นมา มีการต่อต้าน นศ.ก็ออกมากันเยอะมาก ที่ประเทศชิลีนศ.ก็ออกมา แต่แน่นอนว่าหากเปรียบกับทั่วโลกขบวนการนักศึกษาก็ฟุบมานานแล้ว เป็น 20 กว่าปีแล้ว เพราะยุคนี้เป็นยุคของประชาชน นศ.เคยมีบทบาทมากตั้งแต่ศตวรรษ 16-20 ตอนกลาง หลังจากนั้นมา ขบวนการนศ. ทั่วโลกก็ยังมีบทบาท แต่ลดลง อย่าไปคาดหวังว่าจะไปเหมือนสมัย 1960-1970  แต่ตนเชื่อว่า ขบวนการนศ.ไทยอีกไม่กี่ปีจะเกิดมากขึ้น เพราะในฐานะตนเองที่เป็นแกนนำขบวนการเสื้อแดง ยังพยายามดึงกลุ่มขบวนอีกสามกลุ่มที่ยังขาดอยู่ คือ นักศึกษา กรรมกร และชาวนา

ปิยบุตร แสงกนกกุล สมาชิกคณะนิติราษฎร์ และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (ที่มาข้อความจากเฟซบุ๊ก) 

              ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับอติเทพ 

             ผมเห็นว่า ยุคสมัยนี้ นักศึกษาไม่ได้เป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยแล้ว และถ้าเป็นไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้มันเป็น เพราะ ถ้าเราติดกรอบ "นักศึกษา" นั่นหมายความว่า อายุการใช้งานมันสั้นมาก เพียง ๔ ถึง ๕ ปี 

              ในหลายประเทศ ขบวนนักศึกษา เขาเรียกร้องกันแต่เรื่องตัวเอง เช่น ขึ้นค่าเทอม เสรีภาพการแสดงออก มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 

              อันนี้ อาจเป็นลักษณะของ กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม ของต่างประเทศ ที่แตกต่างจากเรา คือ กลายเป็นกลุ่มแบบปัจเจก ตั้งขึ้นเพื่อรักษาประโยชน์ของกลุ่ม และต่อรองเจรจา กลุ่มของนักศึกษา ก็ไม่ต่างอะไร กับสหภาพแรงงานครู สหภาพแรงงานรถไฟ สมาคมกรีนพีซ สหภาพผู้พิพากษา สหภาพตำรวจ คือ ตั้งเพื่อรักษาประโยชน์ตนเอง เข้าร่วมเจรจาต่อรองในการหาฉันทามติต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเมืองภาพใหญ่ 

               ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในต่างประเทศ อุดมการณ์ ระบอบเสรีประชาธิปไตยฝังลึกไปแล้ว 

                สภาพการณ์ปัจจุบัน หากมองแบบความเป็นจริง ขออนุญาตพูดตรงไปตรงมา กิจกรรมนักศึกษาเป็นเพียง "ห้องทดลอง" ให้ฝึกทำกิจกรรม พอฝึกทดลองเสร็จ ประมาณปี ๔ ก็เริ่มถอยออก เพราะต้องเตรียมเรียนต่อ ต้องเตรียมหางานทำ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของระบบ แล้วเรียนจบ ก็จะหายไป เว้นเสียแต่ว่าคนที่มุ่งประกอบอาชีพนักกิจกรรม เอนจีโอ 

              ผมเห็นว่า กิจกรรมนักศึกษา น่าจะเปลี่ยนรูปให้รับกับสถานการณ์ใน ๒ รูปแบบ 

              หนึ่ง เน้นเรื่องประโยชน์ของนักศึกษา เช่น ขึ้นค่าเทอม, สวัสดิการนักศึกษา ฯลฯ 

             สอง เน้นการทำงานทางความคิดอย่างจริงจัง จับกลุ่มศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง อ่านหนังสือ แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้อวมีแกนใหญ่ จับกลุ่มกันเองเล็กๆตามหัวข้อที่สนใจคล้ายๆกัน (อ่านจริงจังนะครับ ไม่ใช่ตั้งวงเหล้า แล้วคุยๆๆ ตื่นเช้าลืม) เผื่อเตรียมการสำหรับวันหน้าที่ใกล้จะมาถึงแล้ว

             รูปแบบของนักศึกษา ไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องการเมืองใหญ่โตเลย ใครชอบ ใครสนใจก็ทำ แต่ว่าไม่จำเป็นต้อง "ถวิลหา" บทบาทของนักศึกษาในทางการเมือง

             การทำกิจกรรมแบบที่ผมเสนอนั้น ถ้าสถานการณ์การเมืองสุกงอมเต็มที่ ขบวนการนักศึกษาก็จะถูกรวมเข้าไปเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาพใหญ่โดยตัวมันเอง