วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560

แพทย์ชนบทติงข่าว 18 โรงพยาบาลขาดทุนเป็นการปั่นกระแสโยนบาปบัตรทอง


ประธานชมรมแพทย์ชนบทตั้งข้อสังเกต ข่าว 18 โรงพยาบาลขาดทุนเป็นการปั่นกระแสหรือไม่ ชี้ปี 2560 เพิ่งเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินจึงยังไม่สามารถสรุปบัญชีได้ว่าขาดทุนหรือกำไร แถมบางโรงพยาบาลการเงินติดลบเพราะมีการลงทุนสูง ไม่เกี่ยวกับค่าหัวบัตรทอง
 
9 เม.ย. 2560 นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการ รพ.ชุมแพ ซึ่งมีรายชื่อปรากฏในข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าเป็น 1 ใน 18 โรงพยาบาลที่มีสถานะทางการเงินติดลบ เปิดเผยว่าขอตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้เป็นการปั่นกระแสของคนบางกลุ่มหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลฐานะการเงินที่นำมาเผยแพร่ทั้ง 18 โรงพยาบาลนั้น ไม่ใช่ข้อมูลที่มาจากกลุ่มงานประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข และยังเป็นข้อมูลไตรมาส 4 ของปี 2559 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2560 ขณะที่ปี 2560 นี้ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรเงินใหม่ จึงยังไม่สามารถบอกว่าได้ในตอนนี้ว่าโรงพยาบาลจะขาดทุนหรือกำไร
 
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า วิธีการจัดสรรเงินงบประมาณใหม่นี้ ในส่วนของผู้ป่วยนอก ได้มีปรับค่าเหมาจ่ายรายหัวและงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยให้น้ำหนักกับโรงพยาบาลขนาดเล็กมากขึ้น และจะโอนเงินให้หน่วยบริการ 100% ของเงินที่ได้รับจัดสรรในไตรมาส 2 ขณะที่ในส่วนของผู้ป่วยในก็จ่ายเป็นรายเดือนตามผลงานการให้บริการของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งก็ต้องมีข้อมูลที่นานกว่านี้จึงจะบอกได้ว่าโรงพยาบาลกำไรหรือขาดทุน
 
“ข้อมูลนี้ ไม่ได้มาจากกลุ่มงานประกันฯ ยืนยันได้จากที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาชี้แจงและพบว่ามีความสอดคล้องกันของข้อมูลแค่ 5 โรงพยาบาล บางโรงพยาบาลติดลบมาโดยตลอดแต่สถานการณ์ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
 
ขณะเดียวกัน การที่มีเนื้อหาข่าวพาดพิงว่าค่าเหมาจ่ายรายหัวที่ได้จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้น้อยจนทำให้สถานะทางการเงินติดลบนั้นก็ถือว่าไม่แฟร์ เพราะรายได้ของโรงพยาบาลนั้นมาจากหลายทาง ไม่ใช่จาก สปสช.อย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบให้ชัดว่าข้อมูลที่เผยแพร่ดังกล่าวได้บันทึกแหล่งรายได้ครบถ้วนหรือไม่ โดยเฉพาะรายได้จากสำนักงานประกันสังคม และเงินบำรุงต่างๆ
 
นอกจากนี้ รายจ่ายของโรงพยาบาล บางครั้งก็ไม่ได้เกิดจากการให้บริการทั้งหมด บางโรงพยาบาลที่มีรายชื่อใน18 แห่งนั้น ก็ติดลบเนื่องจากมีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือห้องผ่าตัดเพิ่ม บางโรงพยาบาลก็ติดลบเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลการรักษาผู้ป่วย จึงถูกกรมบัญชีกลางสั่งระงับการจ่ายเงินเพราะตรวจสอบข้อมูลก่อน เป็นต้น
 
“อย่าง รพ.ชุมแพ ที่เป็น 1 ในรายชื่อนั้น ก็ไม่เคยร้องแรกแหกกระเชอว่าติดลบเยอะ ผมไม่เถียงว่าโรงพยาบาลผมติดลบ แต่ผมไม่ถือว่าติดลบจากบัตรทอง เราติดลบเพราะตั้งใจลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอาคารและอุปกรณ์ต่างๆไปเยอะเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น เราก็ไม่เคยร้องว่าเราขาดทุนเพื่อบัตรทอง ตรงนี้ผมกำลังจะบอกว่ามันไม่แฟร์ อะไรๆ ก็โยนบาปให้ สปสช.ไปเสียหมด” ผู้อำนวยการ รพ.ชุมแพกล่าว
 
นพ.เกรียงศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า เหตุใดข้อมูลเหล่านี้ถึงปูดในช่วงนี้ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 และยังไม่สามารถสรุปในทางบัญชีได้ว่าขาดทุนหรือไม่ จึงน่าสงสัยว่าทำไมถึงออกมาให้ข้อมูลในขณะนี้ หรืออาจจะเป็นไปตามกระแสที่มีคนวิจารณ์ว่ากำลังเข้าสู่ช่วงการพิจารณาแต่งตั้งปลัดกระทรวงคนใหม่หรือไม่” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

'ประวิตร' สั่งส่งหนังสือถามทางการลาวติดตามตัว 'โกตี๋'


เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติระบุ พล.อ.ประวิตรสั่งส่งหนังสือถึงสันติบาลฯ สปป.ลาว ทวงถามความคืบหน้าการติดตามตัว 'โกตี๋' ย้ำเป็นบุคคลอันตรายต่อสถาบันฯ
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่าพล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามตัวนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาญามาตรา 112 ที่หลบหนีอยู่ใน สปป.ลาว ว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งการให้ทำหนังสือไปถึงหัวหน้ากรมใหญ่สันติบาลของ สปป.ลาว และคาดว่าจะออกได้ในวันนี้ (7 เม.ย.) โดยส่งผ่านสถานเอกอัครราชทูตลาว ประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครทูตไทย ณ เวียงจันทร์ สปป.ลาว เพื่อสอบถามในสิ่งที่เคยพูดคุยกันว่ามีความคืบหน้าอย่างไร เพราะฝ่ายไทยเห็นว่าโกตี๋ ยังเคลื่อนไหวอยู่เหมือนเดิม และทางการไทยยืนยันมาตลอดว่าโกตี๋เป็นบุคคลอันตราย มีความคิดต่อต้านสถาบัน ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองถือเป็นความผิดทางอาญาที่รุนแรง มีหมายจับ 21 หมาย จึงต้องการให้ทางการลาวจับกุมตัวส่งมาให้ ส่วนที่โกตี๋ ระบุเดินทางออกจาก สปป.ลาวไปที่เวียดนามแล้วนั้น เชื่อว่ายังอยู่ที่เดิม เพราะต้องมีอุปกรณ์และเครื่องมือ การออกมาเคลื่อนไหวผ่านทางยูทูป ถ้าหลบหนีไปเวียดนาม คงไม่สามารถเคลื่อนไหวเช่นนั้นได้ เพราะการยกเครื่องมือไปชายแดนไม่ใช่เรื่องง่าย  
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลไทยได้ติดตามตัวนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรมว.หมาดไทย ที่ถูกระบุว่าอยู่เบื้องหลังโกตี๋ ด้วยหรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า เราติดตามทุกคนที่มีหมายจับคดีอาญาอยู่แล้ว และติดตามว่ามีกิจกรรมเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง แต่นายจารุพงศ์ ไม่ได้อยู่ที่ สปป.ลาว ขณะนี้มุ่งติดตามตัวคนที่หลบหนีหมายจับและไม่มารายงานตัวจำนวน 6 คนที่อยู่ใน สปป.ลาวก่อน และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทางการลาวว่าจะร่วมมือมากแค่ไหน

‘คสช.’ ระบุยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง




โฆษก คสช. ระบุกรณีพรรคการเมืองอยากให้ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้นั้นยังทำไม่ได้ ต้องรอการร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับก่อน
 
8 เม.ย. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีคำสั่งมาตรา 44 ของ คสช. ภายหลังมีรัฐธรรมนูญบังคับใช้ ว่าขอย้ำว่าคสช.จำเป็นต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองก่อน จะเห็นได้ว่าสถานกานณ์ปัจจุบันยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย พร้อมขอความร่วมมือไม่ให้มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีลักษณะทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยในชาติบ้านเมือง ขอให้ทุกภาคส่วนใจเย็น ๆ อยากให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์อันดีของรัฐบาล และ คสช.ที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยแบบนี้ต่อไประยะหนึ่งก่อน ยืนยันว่ารัฐบาลและ คสช.จะบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง เป็นธรรม เหมาะสม โดยมุ่งหวังถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก
 
พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเรียกร้องของพรรคการเมืองที่อยากให้ คสช.ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้นั้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวต้องเข้าใจว่าขั้นตอนการร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งต้องเป็นไปตามกรอบระยะเวลา 8 เดือนที่กำหนดไว้ โดยการเตรียมการเลือกตั้งในอนาคตไม่ไกลนี้ ก็ไม่เกินกรอบโรดแมป และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตนขอให้พรรคการเมืองใจเย็น ๆ และอดทน
 
“ตอนนี้สถานการณ์บ้านเมือง แม้ว่าในภาพรวมมีความเรียบร้อย การบริหารราชการแผ่นดินก็ดำเนินไปได้ แต่ว่ายังมีคนที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองยังมีอยู่ เราพยายามระงับ ยับยั้งไม่ให้พวกคนเหล่านี้ก่อเหตุ จนทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศรู้สึกว่ามีความวุ่นวายมีความเดือดร้อน ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวจะทำให้บรรยากาศจากนี้ไปมีความสงบเรียบร้อย จากนั้นเมื่อถึงเวลาเหมาะสมแล้ว สถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายไปในทิศทางดีขึ้น และเหมาะสมต่อการจัดกิจกรรมทางการเมือง ทางรัฐบาล และคสช.คงจะพิจารณาให้” ทีมโฆษก คสช. กล่าว

รัฐบาลยืนยันข่าว 9 ข้อห้ามช่วงสงกรานต์ไม่จริง


โฆษกรัฐบาลแจงกรณีสื่อออนไลน์ระบุสำนักนายกฯ ออกข้อห้าม 9 ข้อช่วงสงกรานต์ไม่เป็นความจริง ระบุมีความพยายามลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล กรุงเทพโพลล์ ชี้ ม.44 คุมจราจรทำระวังมากขึ้น สงกรานต์ส่วนใหญ่ใช้จ่ายทำบุญ
 
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่าพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสื่อออนไลน์ระบุว่า สำนักนายกรัฐมนตรีแจ้ง 9 ข้อห้ามที่ห้ามเด็ดขาดในวันสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 5-18 เมษายนนี้ เช่น ห้ามแต่งกายโป๊รัดรูป เน้นการแต่งกายด้วยผ้าไทย ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน ห้ามเล่นน้ำที่มีสิ่งเจือปน ห้ามใช้ปืนฉีดน้ำที่มีแรงดันสูง ฯลฯ หากฝ่าฝืนจะมีโทษหนัก ว่า สำนักนายกรัฐมนตรีไม่ได้ออกระเบียบดังกล่าว หากพิจารณารายละเอียดเป็นข้อๆ จะพบว่า แต่ละข้อเป็นแนวทางที่คณะรัฐมนตรีเคยขอความร่วมมือประชาชนให้ร่วมกันรักษาประเพณีไทยด้วยการเล่นน้ำสงกรานต์ตามวิถีไทย เพื่อส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวในปีก่อนๆ อยู่แล้ว ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดีงาม
 
“มีความพยายามของคนบางกลุ่มที่ต้องการลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ด้วยการผนวกเรื่องการห้ามนั่งท้ายรถกระบะและการเล่นน้ำบนถนน หรือสาดน้ำข้างทางเข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่ารัฐบาลออกมาตรการเข้มงวดซ้ำเติมประชาชน พร้อมกับมีบทลงโทษหนัก เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งที่ความจริงถือเป็นเจตนาดี แต่กลับถูกมองเป็นเจตนาร้าย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
 
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า อยากให้ประชาชนเลือกนำข้อแนะนำที่ดีไปปฏิบัติ เพื่อรักษาคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามของไทย ให้คนในชาติเกิดความภาคภูมิใจ และเป็นที่ชื่นชมของนักท่องเที่ยว รวมทั้งขอความร่วมมือไม่แชร์หรือส่งต่อข่าวที่บิดเบือน ซึ่งอาจเป็นชนวนของความขัดแย้งระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยขอให้ช่วยกันนำข้อเท็จจริงไปอธิบาย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคม
 
กรุงเทพโพลล์ ชี้ ม.44 คุมจราจรทำระวังมากขึ้น สงกรานต์ส่วนใหญ่ใช้จ่ายทำบุญ
 
ด้านกรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “สงกรานต์ปีไก่ คนกรุงเตรียมการอย่างไร” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,178 คน พบว่า คนกรุงส่วนใหญ่ร้อยละ 67.5 วางแผนใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไปกับค่าทำบุญไหว้พระมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 52.4 ใช้จ่ายไปกับค่าเดินทาง/ ค่าน้ำมันไปท่องเที่ยว / กลับบ้านเกิด และร้อยละ 49.8 ใช้จ่ายไปกับค่าอาหาร กินเลี้ยงสังสรรค์
       
ทั้งนี้ เมื่อถามต่อว่าในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ การใช้จ่ายจะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ร้อยละ 51.1 คิดว่า น่าจะใช้จ่ายพอๆ กับปีที่ผ่านมา ขณะที่ ร้อยละ 26.5 คิดว่า น่าจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และ ร้อยละ 22.4 คิดว่า น่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา
       
ส่วนเรื่องที่กังวลหากต้องเดินทางออกต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.4 กังวลเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน รองลงมา ร้อยละ 34.1 กังวลเรื่องการจราจรติดขัด และ ร้อยละ 13.4 กังวลเรื่องคนเมาแล้วขับ
       
เมื่อถามว่า การใช้ ม.44 ควบคุมวินัยจราจร จะส่งผลให้ระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎจราจรเพียงใด ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนใหญ่ร้อยละ 77.8 จะระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎจราจรค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ ร้อยละ 22.2 จะระมัดระวัง และปฏิบัติตามกฎจราจรค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด 

โปรดเกล้าฯถอดยศ-เรียกคืนเครื่องราชฯ 'พ.อ.พงศ์ภพ ทองอุไทย'




            มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปลด พันเอก พงศ์ภพ ทองอุไทย ตําแหน่ง หัวหน้าคณะ/อาจารย์ กองบังคับการ คณะที่ 2 โรงเรียนนายทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ออกจากราชการ ให้ถอดยศทหาร และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
 
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ 8 เมษายน 2560 ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี 

 
             มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปลด พันเอก พงศ์ภพ ทองอุไทย ตําแหน่ง หัวหน้าคณะ/อาจารย์ กองบังคับการ คณะที่ 2 โรงเรียนนายทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ออกจากราชการ ให้ถอดยศทหาร และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2560 เนื่องจากบกพร่องหน้าที่ประมาทเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ ทั้งนี้ ตามข้อ 4 (2) ของข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการบรรจุ ปลด ย้าย เลื่อน และลดตําแหน่งข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2502 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติยศทหาร พ.ศ. 2479 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยศทหาร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2501 ประกอบกับข้อ 2.6 ของระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดํารงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. 2507 และตามข้อ 6 และข้อ 7 (4) ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548
 
ประกาศ ณ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560 
ผู้รับสนองพระราชโองการ 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 
นายกรัฐมนตรี