วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ศาลไม่ให้ประกันตัว ‘ไผ่ ดาวดิน’ ไปรับรางวัลที่กวางจู


ศาลขอนแก่นไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ‘ไผ่ ดาวดิน’ จำเลยคดี ม.112 หลังยื่นหลักทรัพย์ประกัน 7 แสน เพื่อขอไปรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 60 โดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ที่ประเทศเกาหลีใต้ ศาลให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง
เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 13.34 น. วิบูลย์ บุญภัทรรักษา หรือ ทนายอู๊ด พ่อของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุ คำสั่งศาลงมาแล้ว ผลไม่อนุญาตให้บุตรชายของตนได้รับสิทธิประกันตัว
คำสั่งศาล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กโดย วิบูลย์ 
สำหรับ จตุภัทร์ เป็นนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ขณะนี้เขาไม่ได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวและถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัด จังหวัดขอนแก่น มาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2559 เนื่องจากถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการแชร์เฟซบุ๊กข่าวเกี่ยวกับพระราชประวัติ ร.10 ที่เผยแพร่ในบีบีซีไทย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ในการยื่นประกันตัวครั้งนี้ วิบูลย์ ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลจังหวัดขอนแก่น โดยใช้เงินสด 700,000 บาท เพื่อขอให้ปล่อยตัวไผ่ไปรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2560 โดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ที่ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ค. 2560
คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุว่า จตุภัทร์ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี แต่ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามหมายเรียกโดยมาศาลตามคำสั่งทุกครั้ง จึงขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งนี้ เพื่อเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศเกาหลีใต้ด้วยตนเอง และให้จำเลยได้มีโอกาสเตรียมคดีและต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่งการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีย่อมทำให้ไม่กระทบต่อเสรีภาพของจำเลยด้วย ทั้งนี้ จำเลยย่อมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลตามกฎหมายทุกขั้นตอน ไม่หลบหนี หรือทำให้การดำเนินคดีของศาลได้รับผลเสียหาย
คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวยังระบุอีกว่า คดีนี้แม้จะเป็นคดีที่ข้อกล่าวหาร้ายแรง แต่พฤติการณ์การกระทำผิดของจตุภัทร์ ไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดตามข้อกล่าวหา ศาลจังหวัดขอนแก่นเองก็เคยอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว
จตุภัทร์ให้เหตุผลอีกว่า เขายังเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดี ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้มีความผิด อีกทั้งการถูกกล่าวหาในฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูงและเป็นข้อหาความมั่นคง ไม่ได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่า จตุภัทร์มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีของศาล
ทั้งนี้ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 (1) ที่ว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี” และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (1) กล่าวว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” เช่นเดียวกับที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รับรองสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไว้ตลอดมา การขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาไว้ก่อนเสมออาจถือเป็นการลงโทษจำเลยล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดขอนแก่นไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง
สำหรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งขึ้นโดยเหยื่อจากการปราบปรามการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู โดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) มีกิจกรรมมอบรางวัลให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของเอเชียทุกปี ในปีนี้ ไผ่ ดาวดิน ได้รับการเสนอชื่อจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะรางวัล คนไทยคนแรกที่เคยได้รับรางวัลนี้ คือ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่ถูกบังคับให้สูญหาย โดยได้รับรางวัลในปี 2549
ภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรม มองรางวัล 2017 Gwangju Prize for Human Rights จากว็บไซต์ The May 18 Memorial Foundation
ก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ได้ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้ง รมว. กระทรวงการต่างประเทศ, รมว. กระทรวงยุติธรรม และเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล ขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ได้รับประกันตัวและให้เดินทางไปยังเกาหลีใต้เพื่อรับรางวัลดังกล่าวด้วยตนเอง ในวันที่ 18 พ.ค. 2560 ที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ 
ต่อมา เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซลได้มีจดหมายตอบกลับถึงประธานมูลนิธิฯ โดยชี้เเจงว่าสถานทูตฯ รับทราบถึงกรณีที่มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ได้ตัดสินใจมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2560 แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยชี้แจงว่า จตุภัทร์ได้กระทำผิดกฎหมาย และปัจจุบันถูกคุมขังในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เขาเคยได้การประกันตัวในช่วงแรกที่ถูกจับกุม แต่ก็ถูกถอนประกันเนื่องจากเขาผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัวด้วยการกระทำความผิดซ้ำอีก ทั้งนี้ ทูตไทยย้ำว่า คดีของจตุภัทร์ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมโดยศาลยุติธรรม

6 นักศึกษายื่นคำคัดค้านคดีละเมิดอำนาจศาล หลังจัดกิจกรรมให้กำลังใจ 'ไผ่ ดาวดิน'


นักศึกษา 6 คน ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาล เข้ายื่นคำคัดค้านคำกล่าวหาต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ตามที่ศาลกำหนดนัดให้ยื่นภายใน 15 วัน ยืนยันแสดงความเห็นโดยสุจริต ภายใต้หลักการสิทธิและเสรีภาพ ชี้ไม่ได้รบกวนการพิจารณาคดีของศาลในคดี ‘ไผ่’
เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า นักศึกษา 6 คน ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีจัดกิจกรรมหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ 'ไผ่ ดาวดิน' เข้ายื่นคำคัดค้านคำกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ตามที่ศาลกำหนดนัดให้ยื่นภายใน 15 วัน ยืนยันแสดงความเห็นโดยสุจริต ภายใต้หลักการสิทธิและเสรีภาพ พร้อมระบุด้วยว่าไม่ได้รบกวนการพิจารณาคดีของศาลในคดี ‘ไผ่ ดาวดิน’ 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานรายละเอียดเพิ่มเติม จากกรณีที่เครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค จัดกิจกรรมหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 เพื่อให้กำลังใจ จตุภัทร์ และสะท้อนปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในวันดังกล่าว จตุภัทร์ถูกนำตัวมาศาลเพื่อสอบคำให้การ หลังอัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทความ “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ของเว็บข่าวบีบีซีไทย จากนั้น นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรม 7 คน ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นออกหมายเรียกให้มาแก้ข้อกล่าวหา เนื่องจากผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่นกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ต่อมา วันที่ 24 เม.ย. 60 นักศึกษา 6 คน ที่ถูกออกหมายเรียก ได้แก่ อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, พายุ บุญโสภณ, อาคม ศรีบุตตะ, จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (กลุ่มดาวดิน) และณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ นักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ (กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่) เดินทางมาศาล ขณะที่สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘นิว’ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ไม่ได้รับหมายเรียก จึงไม่ได้มาศาล  ศาลจังหวัดขอนแก่นได้แจ้งข้อกล่าวหานักศึกษาทั้ง 6 ว่า มีการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล
หลังผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 คน ให้การปฏิเสธ ศาลได้เลื่อนนัดไต่สวนไปเป็นวันที่ 31 พ.ค. 60 พร้อมทั้งให้ทำคำคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษรมายื่นต่อศาล ภายใน 15 วัน จากนั้นได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวทั้ง 6 โดยให้บุคคลอื่นทำสัญญาประกันในวงเงินคนละ 50,000 บาท
ทั้งนี้ คำคัดค้านข้อกล่าวหาที่ผู้อำนวยการฯ ศาลจังหวัดขอนแก่นกล่าวหาว่า ละเมิดอำนาจศาล จากการ “ทำการปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทาง และนำอุปกรณ์มาเป็นสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจการพิจารณาของศาล บริเวณหน้าศาล” ได้ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษายกคำกล่าวหา เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นการรบกวนและขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาลในคดีที่จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นจำเลย  โดยในวันเกิดเหตุ ศาลสามารถพิจารณาคดีได้โดยอิสระตั้งแต่เริ่มการพิจารณาจนเสร็จสิ้น
คำคัดค้านฯ ยืนยันว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาในวันดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกโดยสุจริต เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของนักศึกษาและเยาวชนต่อกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น  ซึ่งประชาชนทั่วไปในสังคมก็ได้มีแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกให้เห็นทั่วไปเป็นปกติ โดยไม่ได้ส่งผลขัดขวางการอำนวยการความยุติธรรมของศาลแต่อย่างใด  เนื่องจากศาลต้องยึดหลักการพิจารณาคดีและการใช้ดุลพินิจโดยถูกต้องและเป็นธรรมตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัดอยู่แล้ว
ผู้ถูกกล่าวหายังได้ชี้ว่า ตนไม่ได้กระทำความผิดอาญา เนื่องจากไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย  หรือก่ออันตรายใด ๆ อีกทั้งกิจกรรมของนักศึกษาไม่ได้กระทำในห้องพิจารณาคดีหรือในบริเวณศาล  ดังนั้น จึงไม่เป็นการรบกวนหรือขัดขวางการพิจารณาคดีของศาล และไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยอันถึงกับเป็นการละเมิดอำนาจศาล  เนื่องจากการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลจะต้องเป็นการกระทำที่รุนแรงพอจะขัดขวางการอำนวยความยุติธรรมของศาล
นอกจากนั้น ผู้ถูกกล่าวหาได้ระบุเหตุผลว่า ในวันดังกล่าว  ศาลจังหวัดขอนแก่นไม่ได้มีข้อกำหนดห้ามไม่ให้กระทำสิ่งใดก่อนหรือในระหว่างการพิจารณาคดี  และไม่ได้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมดังกล่าว พวกเขาจึงเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า สามารถแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นทั่วไปในสังคม  ทั้งนี้ เมื่อศาลมีการออกข้อกำหนดอย่างชัดเจนในวันอื่นต่อมา  ผู้ถูกกล่าวหาก็ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลเรื่อยมา
คำคัดค้านฯ ของนักศึกษา ได้ชี้แจงว่า  การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการตามสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและหลักการสิทธิมนุษยชนสากลรับรองไว้ ข้อกล่าวหาของผู้กล่าวหาจึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม  เนื่องจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมุ่งคุ้มครองกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปโดยอิสระและเรียบร้อย การใช้กฎหมายในฐานความผิดนี้จึงไม่ควรตีความอย่างกว้างขวาง ไปในทางเอาผิดผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อคำสั่งของศาล หรือกระบวนการยุติธรรมเป็นการทั่วไป  ในทางกลับกัน การที่มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรม จะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว ให้อำนวยความยุติธรรมในสังคมได้อย่างยั่งยืน
ผู้ถูกกล่าวหายังได้แสดงความเห็นว่า ความคิดเห็นของตนที่แสดงต่อกระบวนการยุติธรรมไม่อาจมีอิทธิพลเหนือความคิดของบุคคลอื่นได้  เนื่องจากประชาชนทุกคนมีเสรีภาพทางความคิดและเสรีภาพทางความเชื่อ สามารถใช้วิจารณญาณของตนได้อยู่แล้ว
นักศึกษาผู้ถูกกล่าวหาย้ำในคำคัดค้านฯ ว่า การกระทำของพวกตนอยู่ภายใต้หลักการสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการแสดงออกและในการแสดงความคิดเห็นตามตราสารระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีและมีผลผูกพันโดยตรง ทั้งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ซึ่งระบุในข้อ 19 ว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก” และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งระบุในข้อ 19 เช่นกันว่า “1.บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง 2.บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะหรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก” อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันก็ได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวไว้อย่างชัดแจ้งด้วย

ผบ.ทบ เผยกลาโหมรอชง 'รถเกราะจีน' 34 คัน เข้า ครม. 'ประวิตร' ไม่ทราบเรื่องซื้อรถถัง


ผบ.ทบ.เผยจัดซื้อรถถัง VT4 อยู่ระยะที่ 2 ได้รับอนุมัติ 10 คัน ก่อนหน้านั้นอีก 28 คัน ในส่วนรถถังออฟลอตมีอยู่ 20 คัน และจะมา 5 คัน ในปีนี้ ตามข้อตกลง จนครบ 48 คัน ขณะที่รถเกราะล้อยาง VN-1 จากจีน 34 คัน วงเงิน 2 พันล้าน อยู่ที่กระทรวงกลาโหมรอเข้าสู่การพิจารณาของครม. ประวิตร ไม่ทราบเรื่องซื้อรถถัง โยนถาม ผบ.ทบ. 

ภาพการฝึกการดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Army PR Center)
เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ช่วงเข้า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) เยี่ยมชมการฝึกการดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริงของกรมทหารม้าเฉพาะกิจที่ 4 กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ พร้อมด้วยหน่วยสนับสนุนการรบและหน่วยสนับสนุนทางการช่วยรบ โดยให้มีการบูรณาการการฝึกของหน่วยต่างๆ ตามวงรอบการฝึกประจำปี 2560 ณ บ้านดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบร่วมของหน่วยระดับกองพันและทหารหน่วยต่างๆ ในสถานการณ์เสมือนการปฏิบัติจริงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หน่วยเกิดความพร้อมรบ กำลังพลมีความมั่นใจในยุทโธปกรณ์มากขึ้น ซึ่งหากเมื่อมีภัยคุกคามเกิดขึ้นก็จะสามารถเข้าปฏิบัติการได้อย่างทันท่วงที
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) เยี่ยมชมการฝึกการดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริงของกรมทหารม้าเฉพาะกิจที่ 4 กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Army PR Center)
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวถึงยุทโธปกรณ์ที่ใช้ ว่า ถือเป็นการปฏิบัติของกรมทหารม้าที่ 4 ยุทโธปกรณ์หลัก ก็คือรถถัง M60 เป็นของ A3 เข้าประจำการปี 2539 โดยศักยภาพแล้วมีอายุการใช้งานที่ 20 กว่าปี ก็ยังสามารถใช้งานได้ ทั้งนี้ได้สอบถามในเรื่องของการซ่อมบำรุงเครื่อง ปัจจุบันก็ยังมีการซ่อมบำรุงน้อย เพียงแต่อัพเกรดขึ้นไป ถือเป็นกำลังหลัก แต่ที่เป็นปัญหาจริงๆ คือรถถังชนิด M 41 ที่รับมาตั้งแต่ปี 2505 จำนวน 272 คัน ซึ่งปัจจุบันส่วนหนึ่งได้มีการจำหน่ายไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังคงใช้งานอยู่ในกองพันรถถังทั้ง 4 กองทัพภาค ถือเป็นโครงการที่เราได้จัดหารถถังที่ทดแทนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการที่ผ่านมาก็คือ รถถังออปล็อตของประเทศยูเครนได้รับแล้ว 20 คันอีก 5 กำลังจะมา และที่มีการลงนามสัญญาในปีที่แล้วคือรถถัง VT4 จากจีน จำนวน 28 คัน ตามสัญญาจะมาในปีหน้าแต่จะเร่งรัดให้มาทันในปีนี้และจะนำไปบรรจุที่ กองร้อยกองบังคับการ กองพันทหารม้าที่ 6 (ม. พัน 6) และ กองร้อยกองบังคับการ กองพันทหารม้าที่ 21 (ม. พัน 21 )จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดร้อยเอ็ด 
เมื่อถามว่า ในการจัดซื้อรถถัง VT4 จะชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า สำหรับยุทโธปกรณ์ที่ใช้อยู่ค่อนข้างจะเก่ากว่า 50 ปี มีการจัดหามาใน 2 ระบบคือ จัดหามาจากประเทศยูเครน ซึ่งยังมีปัญหาในเรื่องของสงครามภายในประเทศการส่งยังไม่ครบขั้นตอน ส่วนระยะที่ 2 ได้ไปดูที่ประเทศจีนและมีคณะกรรมการเปรียบเทียบกัน 4 ประเทศคือจีน รัสเซีย ยูเครน สิงคโปร์ และท้ายที่สุดคณะกรรมการก็เลือกของประเทศจีน เพราะจากที่ได้ไปดูรายการส่งกำลังบำรุงค่อนข้างจะชัดเจน และข้อตกลงสุดท้ายคือการมาสร้างศูนย์ซ่อมสร้าง เพื่อมาดูแลเรื่องอะไหล่ในพื้นที่ของเราเอง ทำให้มีความมั่นใจจึงมีมากขึ้น ขณะที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในส่วนของการจัดศูนย์ซ่อมสร้างนั้นอยู่ในขั้นตอนของกระทรวงกลาโหมที่ดูในภาพรวมที่อยู่ในความดูแลของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือเป็นขั้นตอนใหญ่

เมื่อถามว่า การจัดซื้อ รถถัง VT4 ต้องจัดซื้อกี่ระยะถึงจะพบอัตราทดแทน พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า การจัดซื้ออยู่ในระยะที่ 2 ได้รับอนุมัติจำนวน 10 คัน และในก่อนหน้านั้นอีกจำนวน 28 คัน ในส่วนของรถถังออฟลอตมีอยู่ 20 คัน และจะมา 5 คัน ในปีนี้ ในปีต่อๆ ไปตามข้อตกลงทั้งหมด จนครบจำนวน 48 คัน
ไทยโพสต์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ผบ.ทบ.ระบุว่า การจัดหายานเกราะล้อยางระยะต่อไปในปีงบประมาณ 2560 ทบ. ได้คัดเลือกรถเกราะล้อยาง VN-1 จากจีน 34 คัน วงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ที่กระทรวงกลาโหมรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ไทยโพสต์ รายงานด้วยว่า ในปีนี้ถือเป็นการปรับแนวทางการใช้ยุทธยานยนตร์ของกองทัพบกครั้งใหญ่ เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกแบบของ ทบ.เห็นชอบให้จัดหารถถังหลัก VT-4 ของจีนในระยะที่ 1 (ปีงบประมาณ 2559) จำนวน 28 คัน ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2560) 11 คัน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ไปแล้ว และมีโครงการจะซื้อให้ครบ 49 คันในปีงบประมาณ 2561 เพื่อใช้ทดแทน M-41 ที่กำลังปลดประจำการ ขณะที่คณะกรรมการ ทบ.ยังเห็นชอบเลือกรถเกราะล้อยาง VN-1 ของจีน โดยส่งเรื่องไปที่ กห.แล้วรอความเห็นชอบจาก ครม.

ประวิตร ไม่ทราบเรื่องซื้อรถถัง โยนถาม ผบ.ทบ. 

ขณะที่วันนี้ (9 พ.ค.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประวิตร กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงเรื่องการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก ว่า ยังไม่มีการเสนอเรื่องมาที่ตน ถ้าผ่านตนแล้วจึงจะสามารถนำเข้าที่ประชุม ครม. ได้ ส่วนเรื่องการจัดซื้อรถถังนั้น ตนไม่ทราบขอให้ไปถามผู้บัญชาการทหารบก ส่วนเรื่องเรือดำน้ำ ได้ผ่านครม.ไปเรียบร้อยแล้ว ทางกองทัพเรือ ยืนยันมาว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน กองทัพเรือเป็นหน่วยงานดำเนินการทุกขั้นตอนแล้ว 
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการพัฒนาของกองทัพมีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์แบบอื่นที่มีราคาสูงกว่าเรือดำน้ำอีก แต่ไม่เป็นประเด็นมากนัก เพราะเข้าใจว่าเรือดำน้ำเป็นของใหม่และที่ผ่านมาโดนคัดค้านตลอด แต่ตอนนี้สำเร็จจึงถูกจับตาซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้  เงินที่ใช้เป็นงบประมาณของกองทัพในการดำเนินการจัดซื้อ ซึ่งทราบว่าทางกองทัพเรืออยากซื้อถึง 3 ลำ แต่งบประมาณไม่พอจึงต้องทยอยจัดซื้อ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของกองทัพให้เกิดความมั่นคง